ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.452/2565
แดง อ.144/2566

ผู้กล่าวหา
  • พรลภัส ศรีช่วย แกนนำกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จังหวัดกระบี่ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.452/2565
แดง อ.144/2566
ผู้กล่าวหา
  • พรลภัส ศรีช่วย แกนนำกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จังหวัดกระบี่

ความสำคัญของคดี

"สุรีมาศ" หรือ "จีน่า" ชาวกระบี่วัย 52 ปี ถูกตำรวจไซเบอร์เข้าจับกุมตามหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หลังแชร์ลิงก์คลิปพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" โดยมี พรลภัส ศรีช่วย ประชาชนด้วยกันเองเข้าแจ้งความดำเนินคดี กล่าวหาว่า สุรีมาศโพสต์ข้อความพร้อมแปะลิงค์ ซึ่งเมื่อกดเข้าไปดูพบภาพ ร.10 (รูปโปรไฟล์ของกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส) จึงเข้าใจว่าโพสต์ของสุรีมาศกล่าวถึง ร.10 และเห็นว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม หลังถูกจับตำรวจฝากขังสุรีมาศต่อศาล ทำให้ครอบครัวต้องใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 150,000 บาท เพื่อประกันตัว

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ที่ถูกตีความอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง แม้การกระทำจะไม่เข้าข่ายที่กฎหมายบัญญัติ

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ณัฐนนท์ ลิ่มสกุล พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่ บรรยายาคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 จําเลยได้ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล รูปภาพ ข้อความ และตัวอักษร ผ่านทางเฟซบุ๊กที่มีการกําหนดเป็นค่าสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีข้อความว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่เด่วกูจัด !!” พร้อมปรากฏ URL และรูปภาพของบุคคลรูปครึ่งท่อน ไม่เห็นใบหน้ากําลังเล่นสไลเดอร์อยู่ ด้านล่างภาพ เขียนข้อความว่า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง เมื่อกดเข้าไปพบว่า รูปภาพคนที่เล่นสไลเดอร์คือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งจําเลยเป็นผู้จัดทํา ผู้ให้บริการและเป็นผู้ดูแล เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อมูล ข้อความ และตัวอักษรดังกล่าวเข้าใจว่า มีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย และทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ อันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกระบี่ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.452/2565 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 11.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมสุรีมาศ (สงวนนามสกุล) ประชาชนชาวจังหวัดกระบี่วัย 52 ปี ที่บ้านพัก โดยแสดงหมายจับออกโดยศาลจังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 โดยมี พ.ต.ท.โสภณ คงทอง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ทั้งนี้ สุรีมาศไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีมาตรา 112 นี้มาก่อน แต่กลับถูกออกหมายจับในทันที ก่อนหน้านี้เธอเคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยเธอเดินทางไปพบตำรวจ สภ.เมืองกระบี่ และอัยการโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา และเพิ่งถูกฟ้องคดีที่ศาลแขวงกระบี่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 โดยเธอไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับมีการขอออกหมายจับในคดีนี้ และเพิ่งมีการจับกุมโดยหมายจับที่ออกตั้งแต่ 6 เดือนก่อนหน้านี้

    เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 สุราษฎร์ธานี ได้พาตัวสุรีมาศไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.เหนือคลอง โดยสุรีมาศไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากระบุพฤติการณ์จับกุมไม่ตรงข้อเท็จจริง ก่อนชุดจับกุมพาตัวเธอไปยัง สภ.เมืองกระบี่ โดยมีญาติและทนายความอาสาติดตามไปที่สถานีตำรวจ และต้องรอพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเดินทางมาสอบปากคำในเวลาประมาณ 20.00 น.

    พ.ต.ท.ชาติชาย นาคปักษี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ ได้เป็นผู้แจ้งข้อหาทั้งสองข้อหาต่อสุรีมาศ กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.30 น. น.ส.พรลภัส ศรีช่วย ได้เข้าดูเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อเดียวกันกับสุรีมาศ และได้พบโพสต์ข้อความว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่..เด๋วกูจัด!!” พร้อมกับแนบลิงก์ไปยังกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส-ตลาดหลวง ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าเมื่อกดลิงก์เข้าไปดู เป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 กำลังเล่นสไลเดอร์อยู่ จึงเห็นว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

    พนักงานสอบสวนอ้างว่าจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กที่แชร์โพสต์ดังกล่าว ยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกับสุรีมาศ จึงได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดกระบี่

    หลังทราบข้อกล่าวหา สุรีมาศได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการสอบสวนและพิมพ์ลายนิ้วมือ ตำรวจควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองกระบี่ 1 คืน เพื่อนำตัวไปฝากขังต่อศาลในวันรุ่งขึ้น

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.เหนือคลอง ลงวันที่ 7 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42343)
  • ในช่วงเช้า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสุรีมาศต่อศาลจังหวัดกระบี่ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา จึงขอฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน นอกจากนั้นตำรวจยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุว่าเกรงว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    ต่อมาเวลา 14.05 น. ศาลจังหวัดกระบี่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้สุรีมาศได้รับการปล่อยตัว โดยศาลนัดรายงานตัวในวันที่ 20 เม.ย. 2565

    ภายหลังได้รับการปล่อยตัว สุรีมาศได้เล่าเรื่องราวขณะถูกจับกุมในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนถูกจับกุมโดยตำรวจนอกเครื่องแบบและพยายามจะจับตนใส่กุญแจมือ ขณะที่ตนยังแต่งกายไม่เรียบร้อยใส่เพียงกระโจมอก โดยมีการขึ้นคร่อมตัวขณะที่ตนนั่งทรุดลงกับพื้นเพื่อพยายามจับกุมใส่กุญแจมือ แม้ว่าตนไม่ได้ขัดขืนการจับกุม ขณะนั้นมีมารดาของสุรีมาศอยู่ในเหตุการณ์แต่ถูกกันตัวออกไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 8 เม.ย. 2565, https://tlhr2014.com/archives/42343 และ https://tlhr2014.com/archives/44625)
  • อัยการจังหวัดกระบี่มีความเห็นสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องสุรีมาศต่อศาลจังหวัดกระบี่ ในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)

    ณัฐนนท์ ลิ่มสกุล เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้องในคดีนี้ โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 จําเลยได้โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีข้อความว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่เด่วกูจัด !!” พร้อมปรากฏ URL และรูปภาพของบุคคลรูปครึ่งท่อน ไม่เห็นใบหน้ากําลังเล่นสไลเดอร์อยู่ ด้านล่างภาพ เขียนข้อความว่า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง เมื่อกดเข้าไปพบว่า รูปภาพคนที่เล่นสไลเดอร์คือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

    อัยการบรรยายอ้างว่า จําเลยเป็นผู้จัดทํา ผู้ให้บริการและเป็นผู้ดูแล เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อมูล ข้อความ และตัวอักษรดังกล่าวเข้าใจว่า มีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง

    ทั้งนี้ อัยการยังคัดค้านการประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่าเนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษต่อจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีคาร์ม็อบจังหวัดกระบี่ ซึ่งสุรีมาศถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงกระบี่

    สุรีมาศได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 29 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. และได้ให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ในชั้นสอบสวน

    จากการตรวจสอบคลิปที่สุรีมาศแชร์เข้ามาในเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้น พบว่าเป็นคลิปล้อเลียนที่มาจากโปรแกรม Tiktok ปรากฏภาพผู้หญิงและผู้ชายกำลังทำพิธีจุดเทียน พร้อมมีเสียงสวดภาษาเขมร และมีรูปภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางอยู่ โดยมีข้อความประกอบว่า ​“ในเมื่อไล่ทุกวิธีแล้วไม่ไป ก็ต้องพึ่งวิธีสุดท้าย มนต์ดำเขมร เสกหนังควายเข้าตัวควาย” ทั้งคลิปและข้อความไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด เพียงแต่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่อยู่กลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ซึ่งมีภาพรัชกาลที่ 10 เป็นภาพปกของกลุ่มเท่านั้น

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกระบี่ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.452/2565 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44625)

  • สุรีมาศเดินทางไปศาลเพื่อรายงานตัวตามสัญญาประกัน อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการได้ยื่นฟ้องแล้ว ศาลจึงควบคุมตัวไว้ระหว่างพิจารณาคดี โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี

    หลังศาลสอบคำให้การเบื้องต้น โดยสุรีมาศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 29 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. และได้ให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ในชั้นสอบสวน

    จากการตรวจสอบคลิปที่สุรีมาศแชร์เข้ามาในเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้น พบว่าเป็นคลิปล้อเลียนที่มาจากโปรแกรม Tiktok ปรากฏภาพผู้หญิงและผู้ชายกำลังทำพิธีจุดเทียน พร้อมมีเสียงสวดภาษาเขมร และมีรูปภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางอยู่ โดยมีข้อความประกอบว่า ​“ในเมื่อไล่ทุกวิธีแล้วไม่ไป ก็ต้องพึ่งวิธีสุดท้าย มนต์ดำเขมร เสกหนังควายเข้าตัวควาย” ทั้งคลิปและข้อความไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด เพียงแต่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่อยู่กลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ซึ่งมีภาพรัชกาลที่ 10 เป็นภาพปกของกลุ่ม ทำให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเมื่อกดเข้าไปดูลิงก์จะเห็นภาพปกดังกล่าว แต่จะไม่สามารถเห็นคลิปต้นทางที่ถูกโพสต์ในกลุ่มได้

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกระบี่ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.452/2565 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44625)
  • นัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การ สุรีมาศยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 8 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • โจทก์แถลงขอสืบพยานโจทก์ 2 นัด ฝ่ายจำเลยขอสืบพยานจำเลย 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23, 24 พ.ย. 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 25 พ.ย. 2565
  • อัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 10 ปาก โดยเป็นพยานผู้กล่าวหาและพยานความเห็นรวม 5 ปาก ทั้งหมดล้วนแต่เป็นสมาชิกของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ในจังหวัดกระบี่ โดยกลุ่มดังกล่าวนั้นเคยมีความขัดแย้งกับกลุ่มของสุรีมาศ ในครั้งการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบกระบี่ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และไม่กี่วันหลังจากนั้น ก็มีสมาชิกของกลุ่มไปแจ้งความดำเนินคดีกับสุรีมาศ

    พยานหลายปากได้ยอมรับว่า สุรีมาศเป็น “กลุ่มฝั่งตรงข้าม” กัน และพยายามนำสืบว่าโพสต์ข้อความของจำเลยที่พบว่าเมื่อคลิกลิงก์จะพบภาพของรัชกาลที่ 10 นั้น เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ++พยานโจทก์ปากที่ 1 พรลภัส ศรีช่วย ผู้กล่าวหาในคดี และเป็นแกนนำของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จังหวัดกระบี่

    พรลภัสเบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ระหว่างพยานอยู่บริเวณร้านค้าชุมชนในจังหวัดกระบี่ ได้ข่าวสารมาว่าจำเลยกำลังเคลื่อนไหว ทราบจากสื่อ “ปูดำนิวส์” และเพจเฟซบุ๊กเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยปกติ พยานจะเข้าติดตามและเข้าตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นระยะ โดยพยานไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับจำเลย แต่เฟซบุ๊กของจำเลยเปิดเป็นสาธารณะ ทำให้สามารถเข้าไปดูได้

    ครั้งนี้ เมื่อเข้าไปดูในเฟซบุ๊กของจำเลย ได้พบการแชร์ลิงก์ข้อความ เมื่อกดเข้าไป ปรากฏเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 โดยพยานไม่ได้อยู่ในกลุ่มดังกล่าว และไม่ทราบว่าคือกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” และไม่ได้เข้าไปดูความคิดเห็นในโพสต์ เมื่อเห็นภาพดังกล่าว พยานเกิดความรู้สึกไม่พอใจ รู้สึกเป็นการไม่แสดงความเคารพนับถือ ไม่ให้เกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

    พยานเบิกความอ้างว่า ตนทราบว่าจำเลยเป็นแกนนำของกลุ่มกระบี่ไม่ทน โดยมีการทำกิจกรรมโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ โจมตีรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมา

    ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พรลภัสรับว่าเป็นแฟนคลับของ อัญชลี ไพรีรัก ผู้สื่อข่าวช่องท็อปนิวส์ โดยพยานเคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ไปร่วมของจังหวัดกระบี่ พยานยังรู้จักกับพยานโจทก์อีก 5 ปากในคดีนี้ เพราะอยู่ในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เหมือนกัน

    พรลภัสยังเบิกความรับว่า ก่อนมาแจ้งความในคดีนี้ ได้ปรึกษากับสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ เนื่องจากเวลานั้นอยู่ที่ร้านค้าชุมชนด้วยกัน ส่วนเหตุที่พยานติดตามเฟซบุ๊กของจำเลย พยานอ้างว่าเข้าไปดู เพราะอยากรู้ว่ามี “การโจมตีสถาบันฯ” หรือไม่ โดยพยานระบุว่าจำเลยเป็นสมาชิก “กลุ่มสามนิ้ว” ซึ่งเป็นกลุ่มฝั่งตรงข้ามของพวกพยาน

    ++พยานโจกท์ปากที่ 2 ขจิต ผลอินทร์ แกนนำของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จังหวัดกระบี่

    ขจิตเบิกความว่า พยานไม่ได้เป็นเพื่อนกับจำเลยในคดีนี้ แต่ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มของจำเลย ทุกครั้งที่จำเลยออกมาเคลื่อนไหว พยานก็จะทราบจากการเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลย

    เมื่อทราบว่า พรลภัส ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้มาแจ้งความดำเนินคดีจำเลย จึงได้ติดต่อขอเข้าร่วมเป็นพยานในคดี พยานระบุว่า ตนเป็นคนไทย และเป็นคนจังหวัดกระบี่โดยกำเนิด ไม่ต้องการให้กลุ่มบุคคลใดมาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์

    ขจิตเบิกความว่าจากเอกสารในคดีนี้ ไม่น่าจะมีคนไทยที่มากระทำแบบนี้ได้ พยานได้ดูความคิดเห็นใต้โพสต์ของจำเลย เข้าใจว่าเป็นการจงใจจะแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์โดยตรง โพสต์จึงมีความหมายในทางต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์

    พนักงานอัยการให้พยานดูภาพที่จำเลยไปร่วมคาร์ม็อบขับไล่รัฐบาล ที่เป็นภาพปกเฟซบุ๊กของจำเลย มีข้อความว่า “ประเทศกระบี่ไม่ได้มีแต่สลิ่ม” ขจิตได้ให้ความหมายข้อความดังกล่าวว่า หมายความว่า “กระบี่ไม่ได้มีแต่คนเสื้อเหลือง” โดยคนเสื้อเหลืองคือประชาชนผู้รักสถาบันกษัตริย์

    พยานยืนยันว่าตนไม่เคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

    ขจิตตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ว่าตนไม่ได้สนใจติดตามข่าวสารทางการเมือง แต่สนใจเพียงว่าไม่ให้คนที่ไม่รักสถาบันฯ อยู่ในจังหวัดกระบี่ ยืนยันว่าไม่ได้รู้จักกับจำเลยมาก่อน เพียงแต่ได้ติดตามดูพฤติกรรมของคนที่ดูหมิ่นสถาบันฯ

    ขจิตเบิกความว่ากลุ่มปกป้องสถาบันฯ ของพยาน มีสมาชิกในจังหวัดกระบี่กว่า 4,000 คน โดยรับว่าทั้งผู้กล่าวหา ตัวพยาน และพยานโจทก์อีก 4 ปาก ในคดีนี้ ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยกลุ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ละเดือนจะมีการประชุมหารือกันในกลุ่มไลน์กันตลอด โดยจะตรวจสอบบุคคลที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง

    ขจิตรับว่าตนดูโพสต์ที่กล่าวหานี้เพียงคร่าวๆ ไม่ได้ดูละเอียด ส่วนอื่นๆ จำเลยจะไม่ได้โพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ พยานก็ไม่ได้สนใจ โดยก่อนที่พรลภัสจะมาแจ้งความดำเนินคดีนี้ พยานกับสมาชิกคนอื่นๆ ได้มีการพูดคุยกันมาก่อนในไลน์แล้ว และตกลงให้พรลภัสมาแจ้งความ

    พยานไม่ทราบว่ากลุ่ม “ตลาดหลวง” นั้น มีสถานะอย่างไร ตนไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม จะเป็นกลุ่มส่วนตัวหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่พยานไม่ได้เห็นโพสต์ในกลุ่ม ส่วนโพสต์ของจำเลยจะมีเนื้อหามากกว่าในเอกสารของผู้กล่าวหาหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ

    ขจิตยังเบิกความรับว่า ในกิจกรรมคาร์ม็อบขับไล่รัฐบาลของกลุ่มจำเลย เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นั้น กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ของพยาน ก็ได้ไปร่วมสังเกตการณ์ โดยตัวพยานได้ถูกตำรวจดำเนินคดีเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคดีเดียวกับกลุ่มของจำเลยด้วย ส่วนพยานจะได้ให้การรับสารภาพในคดีดังกล่าว และในกลุ่มของจำเลย ศาลจะได้มีคำพิพากษายกฟ้องหรือไม่นั้น พยานไม่ได้ตอบคำถาม และระบุว่าไม่เกี่ยวกับคดีนี้

    ++พยานโจทก์ปากที่ 3 สมเจตน์ เสียนอุ่น เป็นสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ในจังหวัดกระบี่เช่นกัน

    สมเจตน์เบิกความว่า ในวันที่ 9 ส.ค. 2564 ตนนั่งอยู่กับกลุ่มเพื่อนในที่ประชุมของกลุ่มร้านค้าวิสาหกิจชุมชน และพรลภัส ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เล่นเฟซบุ๊ก และได้พบข้อความของจำเลยในคดีนี้ จึงนำมาให้ดู โดยพยานไม่เคยรู้จักและเคยพบจำเลยมาก่อน

    จากข้อความที่เห็นในโพสต์ พยานเบิกความว่าตนรู้สึกรับไม่ได้ เหมือนเป็นการอาฆาตมาดร้าย เหมือนมีคนมาด่าพ่อเรา ไม่ได้โกรธแค้น แต่ทำให้ไม่พอใจ

    พยานไม่ทราบรายละเอียดของกลุ่ม “ตลาดหลวง” และไม่ทราบรายละเอียดของคอมเมนต์ในโพสต์ที่อัยการนำมาให้ดู แต่ยืนยันว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

    สมเจตน์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ตนอยู่ในกลุ่มชุมชนสร้างสรรค์สังคมไทยกระบี่น้อย เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ดินทำกิน โดยมีสมาชิกประมาณ 100 หลังคาเรือน พยานรู้จักกับพยานโจทก์ที่มาให้ความเห็นในวันนี้ทั้งหมด โดยมีขจิต พยานปากที่ 2 ที่เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มชุมชนฯ ดังกล่าว ส่วนพรลภัสเป็นชาวบ้าน ที่เข้ามาอยู่ในที่ดินชุมชนดังกล่าว สมาชิกกลุ่มยังทำกิจกรรมปกป้องสถาบันฯ เช่น มีการจัดงานถวายพระพรทุกวันที่ 5 ธันวาคม

    เมื่อทนายจำเลยสอบถามถึงเหตุการณ์วันที่ 1 ส.ค. 2564 ที่มีกิจกรรมคาร์ม็อบ และพยานได้เดินทางไปที่เกิดเหตุ พร้อมกับชาวบ้าน 2 คันรถ โดยพยายามสอบถามว่าได้เกิดเหตุทะเลาะกันระหว่างสองกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาห้ามปราม พยานพยายามไม่ตอบคำถามในเรื่องนี้ โดยตอนแรกรับว่าพยานได้เห็นจำเลยในเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนขอแก้ไขเป็นว่าจำไม่ได้ เนื่องจากแต่ละคนสวมหน้ากากอนามัย

    สมเจตน์รับว่า ไม่ได้ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลย ส่วนเหตุว่าทำไมที่ประชุมจึงให้พรลภัสเป็นผู้มาแจ้งความ พยานไม่ได้ตอบคำถาม เพียงแต่อ้างว่าในกลุ่มพยานที่เห็นโพสต์จำเลย เห็นร่วมกันว่าเป็นเรื่องรับไม่ได้ โดยพยานได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจพร้อมกับพรลภัส และได้ขอเป็นพยานด้วย

    แม้ทนายความนำภาพข้อความที่จำเลยแชร์ให้พยานดู พยานก็ไม่ทราบว่าถ้าคลิกไปตามลิงก์จริงๆ แล้ว เป็นการด่าทอผู้ใด แต่ตามที่พรลภัสให้พยานดู เมื่อกดลิงก์ จะไปเจอรูปภาพที่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    สมเจตน์รับว่า ในเหตุชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นั้น ตนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคดีเดียวกับกลุ่มของจำเลย โดยพยานได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง

    พยานโจทก์ปากถัดมา ที่เป็นสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เช่นกัน แต่พยานไม่ได้เดินทางมาศาล และอัยการโจทก์แจ้งว่าติดต่อไม่ได้ โดยได้สอบถามไปที่อัยการจังหวัด เห็นว่ายังติดใจการสืบพยานปากนี้ แต่ต่อมาศาลให้ตัดพยานปากนี้ออกไป จึงได้นำพยานอีกปากเข้าเบิกความ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 4 จุฑารัตน์ เบ็ญฮา พยานความคิดเห็น

    จุฑารัตน์เบิกความว่า ในวันที่ 9 ส.ค. 2564 ได้นั่งคุยกับเพื่อนที่ร้านค้าชุมชน ก่อนเพื่อนของพยานได้พบเจอเฟซบุ๊กของสุรีมาศ โพสต์ภาพและข้อความที่รู้สึกว่าเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ เมื่อพยานได้ดูก็ไม่ชอบข้อความดังกล่าว

    พยานไม่ทราบว่ากลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” คือกลุ่มอะไร แต่พยานแค่ไม่พอใจโพสต์ข้อความและคอมเมนต์ โดยพยานไม่รู้จักส่วนตัวกับจำเลยมาก่อน แต่รู้ว่าเป็นแกนนำกลุ่ม “กระบี่ไม่ทน” โดยไม่ทราบว่ากลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นมาทำไม ส่วนพยานก็ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองใดๆ

    จุฑารัตน์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่เคยเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลยมาก่อน การได้ดูโพสต์ที่กล่าวหานี้ เพราะเพื่อนนำมาให้ดู โดยดูจากโทรศัพท์ของเพื่อน ไม่ได้เปิดดูด้วยตนเอง ส่วนที่พยานให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ได้ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นประจำนั้น ไม่เป็นความจริง แต่เขียนตามที่ตำรวจบอกให้เขียน และได้ลงชื่อในคำให้การดังกล่าว

    จุฑารัตน์รับว่า ถ้าหากในรูปประกอบข้อความเป็นรูปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนก็ไม่ได้โกรธเคือง ส่วนที่มีการระบุว่าเป็น “กลุ่มส่วนตัว” นั้น พยานรับว่าเข้าใจว่า คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มจะไม่เห็นเนื้อหา แต่สามารถเห็น “ภาพปก” ของกลุ่มได้

    พยานเบิกความตอบอัยการถามติงว่า หากดูแค่ภาพปกที่เป็นภาพของรัชกาลที่ 10 นั้น พยานรู้สึกไม่ชอบใจ และหากดูข้อความในโพสต์ของจำเลย ที่ว่า “หนทางเดียวของกูละ..” พยานก็ยิ่งไม่ชอบใจ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 5 ณัฏฐธิดา สารสิทธิ์

    ณัฏฐธิดาเบิกความสั้นๆ ว่าในวันเกิดเหตุ ได้ยินเพื่อนๆ พูดกันว่ามีคนกระบี่โพสต์ดูหมิ่นพ่อหลวง จึงได้นำโทรศัพท์ของตนเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลยในคดีนี้ โดยจำเลยตั้งโพสต์เป็นสาธารณะ ทำให้พยานเข้าไปดูได้ เมื่อได้ดูภาพและข้อความ ก็รู้สึกไม่ดีและโกรธ เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

    พยานเบิกความว่าไม่ทราบว่ากลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” หมายถึงอะไร และพยานไม่ได้ดูคอมเมนต์ในข้อความ พยานไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าจำเลยมาก่อน แต่รู้ว่าจำเลยอยู่ในกลุ่มกระบี่ไม่ทน เพราะได้เคยเข้าไปส่องเฟซบุ๊กของจำเลย แต่พยานไม่ทราบว่ากลุ่มดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร แต่พยานรักสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมาเป็นพยานในคดีนี้

    ในการตอบคำถามค้านพยานรับว่า ตนไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มตลาดหลวง และรับว่าเหตุที่ทราบว่าจำเลยอยู่กลุ่มกระบี่ไม่ทน เพราะเพื่อนๆ บอก ไม่ได้รู้ด้วยตนเอง พยานยังไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง โดยที่เคยดูเฟซบุ๊กของจำเลยผ่านๆ นั้น ไม่ได้มีการโพสต์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในส่วนการไปเป็นพยาน พยานได้เดินทางไปสถานีตำรวจพร้อมกับพรลภัส และได้ร่วมให้การในวันนั้นเลย

    พยานรับว่าไม่รู้ความหมายของคำว่า “สายมู” และหากเห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมข้อความลักษณะเดียวกับของจำเลย ก็ไม่ได้โกรธเคือง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53671)
  • ++พยานโจทก์ปากที่ 6 พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ อดีตรองผู้กำกับการ กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

    พ.ต.ท.ไพรัช เบิกความว่า พยานได้รับหนังสือจาก สภ.เมืองกระบี่ ให้ตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์และบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย และได้จัดทำเอกสารการตรวจสอบส่งกลับไปยังพนักงานสอบสวน โดยการตรวจสอบเฟซบุ๊ก พบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานจริง โดยการไลฟ์สดต่างๆ ซึ่งพบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้

    ข้อความตามฟ้อง พยานระบุว่ามีการแปะลิงก์ไปยังกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” การจะกดเข้าดู หรือเข้าโพสต์ได้ ก็จะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่มก่อน แต่หากยังไม่ได้เข้า ก็สามารถดูรูปหน้าปกของกลุ่มได้อยู่เช่นกัน โดยพยานทราบว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มของผู้มีทัศนคติไม่ชื่นชอบสถาบันฯ ของประเทศไทย

    พยานได้ตรวจสอบโดยกดเข้าไปในลิงก์ที่จำเลยแปะเอาไว้ พบว่าเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 และพระองค์ท่านกำลังเล่นสไลด์เดอร์ โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพโปรไฟล์ของกลุ่มตลาดหลวง ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มก็สามารถมองเห็นได้

    พยานระบุว่า ตนตรวจสอบเพียงประเด็นยืนยันตัวผู้ใช้งานเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่ได้ตรวจสอบประเด็นอื่นอีก

    ในการถามค้าน ทนายจำเลยถามว่า ในการขอให้ตรวจสอบคดีนี้ สภ.เมืองกระบี่ ได้ระบุมาด้วยใช่หรือไม่ว่าให้พยานตรวจสอบในเรื่องความผิดตามมาตรา 112 พยานระบุว่า จำไม่ได้ว่าระบุมาตราไหน แต่อยู่ในรายงานการตรวจสอบที่ส่งไป และพยานก็เน้นตรวจสอบเพียงการยืนยันตัวบุคคล

    ทนายถามว่า ตามโพสต์ต้นทางในกลุ่มตลาดหลวง ไม่ปรากฏว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า จำไม่ได้ แต่ตนไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม จึงไม่ทราบว่าเนื้อหาในกลุ่มเป็นอย่างไร และพยานรับว่าจริงๆ แล้ว เนื้อหาต้นโพสต์ที่จำเลยแชร์ลิงก์มาจะเป็นอย่างไร พยานก็ไม่ทราบ และรับว่า โดยปกติกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ ก็จะมีกลไกที่แสดงภาพปกให้คนภายนอกกลุ่มเห็น ไม่ว่าจะมีเนื้อหาใดๆ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 7 วัลลภ ประกอบนพเก้า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ โดยเคยทำงานวิจัยด้านภาษาและการตีความ

    วัลลภเบิกความว่า ตนได้มาให้การในคดีนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ เชิญไป โดยได้ดูข้อความ พร้อมกับภาพที่เป็นภาพรัชกาลที่ 10 เห็นว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยพนักงานสอบสวนยังให้ดูคอมเมนต์ข้อความ ที่มีลักษณะสนับสนุนให้ไปจัดการ โดยพยานไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กด้วยตนเอง แต่ดูจากภาพของพนักงานสอบสวน

    พยานได้อธิบายความหมายของชื่อกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ด้วยว่า “รอยัล” หมายถึง การจงรักภักดี “มาร์เก็ต” หมายถึง ตลาดที่ทุกคนสามารถจับจ่าย เมื่อนำมารวมกันจึงหมายความว่า พื่นที่ที่ทุกคนลงมาเสพข้อมูลเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการเปิดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม

    พยานไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

    ในการตอบคำถามค้าน วัลลภเบิกความตนมาให้การในคดีนี้ได้ เพราะทางตำรวจส่งตัวหนังสือไปที่โรงเรียนของ อบจ.กระบี่ ขอความเห็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษา ทางโรงเรียนจึงให้พยานไป โดยพยานไปตีความด้านภาษาตามที่เห็น ประกอบกับความรู้สึกส่วนตัว

    เมื่อทนายให้พยานดูภาพคลิปต้นทาง ที่เป็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ พยานเห็นว่าเป็นเจตนากล่าวถึงนายกรัฐมนตรี ส่วนในความเห็นท้ายข้อความ มีการกล่าวถึง“สายมูก็มา พี่ 555” พยานอธิบายว่าคือ “มูเตลู” เป็นลักษณะของการใช้ไสยศาสตร์ เวทมนต์

    พยานรับว่าแม้ไม่รู้จักจำเลย แต่ทราบว่าจำเลยเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มกระบี่ไม่ทน และมีการแสดงออกในพื้นที่จังหวัดกระบี่มาหลายครั้ง ทั้งพยานทราบเกี่ยวกับกลุ่มตลาดหลวงจากสันติบาลว่า เป็นกลุ่มเกี่ยวกับสถาบันฯ โดยเป็นกลุ่มส่วนตัว ผู้เป็นสมาชิกต้องขอเข้าไปในกลุ่มก่อน จึงจะเห็นข้อความ แต่ก็มีสมาชิกหลายล้านคน โดยพยานไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว

    ++พยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.ท.สัญญา ธรรมรัตน์ สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองกระบี่ ผู้สืบสวนข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด และจัดทำรายงานการสืบสวน

    พ.ต.ท.สัญญา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 พรลภัสมาแจ้งความดำเนินคดีสุรีมาศ จากข้อความในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ได้พบข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 โดยมีการนำเอกสารมาแจ้งความ โดยพยานเห็นว่า เป็นภาพลิงก์ไปยังเว็บที่พบว่ามีภาพบุคคลเปลือยครึ่งท่อน ไม่เห็นใบหน้า กำลังเล่นสไลเดอร์ ข้างล่างระบุข้อความ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” และพยานเชื่อว่า ภาพและข้อความนั้นเข้าข่ายเป็นความผิด

    ในการตอบคำถามค้านพยานรับว่า ดูแล้วเป็นการแชร์คลิปมาจากกลุ่มในเฟซบุ๊ก โดยในลิงก์ตามเอกสารของโจทก์ และที่จำเลยจัดทำมานั้นเป็นลิงก์เดียวกัน แต่ภาพที่ปรากฏนั้นแตกต่างกัน โดยพยานไม่ทราบว่าหากมีการแชร์เนื้อหาจากกลุ่มเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยที่พยานไม่ได้อยู่ในกลุ่ม เมื่อเข้าไปดูตามลิงก์จะปรากฏเป็นภาพปกของกลุ่มเท่านั้น และพยานยังไม่ทราบว่าข้อความในคอมเมนต์ต่างๆ ในเอกสารนั้น เป็นการมาคอมเมนต์ก่อนหรือหลังเห็นโพสต์ของจำเลย ทั้งพยานไม่ทราบว่าได้มีการดำเนินคดีต่อผู้ที่มาคอมเมนต์หรือไม่

    พยานรับว่าจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่เคยเห็นโพสต์ข้อความที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

    ++พยานโจทก์ปากที่ 9 พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ยองแข รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองกระบี่ ร่วมสืบสวนคดีที่มีผู้มาแจ้งความว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กล้อเลียนพระมหากษัตริย์

    พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ เบิกความว่า เคยพบกับจำเลยมาก่อน ระหว่างติดตามผู้ทำกิจกรรมทางการเมือง และรู้ว่าจำเลยอยู่ในกลุ่มกระบี่ไม่ทน โดยกลุ่มดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวลักษณะต่อต้านรัฐบาล และยืนยันว่าจำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามที่ถูกฟ้องนี้

    สำหรับกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘ตลาดหลวง’ พยานเบิกความว่า ไม่ทราบเกี่ยวกับกลุ่มดังกล่าว เพราะไม่ได้ติดตาม โดยหากดูจากภาพที่กล่าวหาจำเลย เห็นว่าเป็นข้อความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10

    สำหรับเอกสารที่ พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ ร่วมจัดทำ ได้แก่ การสืบสวนว่าจำเลยในคดีนี้ได้ร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองที่ใดบ้าง และเวลาไหนบ้าง การทำกิจกรรมของจำเลยแต่ละครั้งได้มีการต่อต้านรัฐบาล และชักชวนให้ประชาชนทั่วไปต่อต้านด้วยหรือไม่ โดยการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พยานเห็นว่าจำเลยยังใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กรณีโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้นเกินสิทธิตามกฎหมาย

    พ.ต.ท.ทวีศักดิ์ รับว่า ได้ติดตามกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในกระบี่มาหลายปี โดยกลุ่มกระบี่ไม่ทน ก็ติดตามตั้งแต่เริ่ม พยานพอทราบว่าบ้านจำเลยอยู่ที่ใด โดยจากข้อมูลที่พยานรวบรวมการเคลื่อนไหวของจำเลย ไม่พบว่ามีข้อไหนที่จำเลยได้เคยพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์

    ++พยานโจทก์ปากที่ 10 พ.ต.ท.โสภณ คงทอง พนักงานสอบสวนในคดี

    พ.ต.ท.โสภณ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.30 น. พรลภัสได้เดินทางมาร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับสุรีมาศ ในฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยมอบภาพถ่าย 2 ภาพ ให้พยานดู ผู้กล่าวหาระบุว่าได้เห็นโพสต์ข้อความดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 พยานจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และทำการสอบสวนคดี

    พ.ต.ท.โสภณ ได้เรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ และได้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของสุรีมาศ พร้อมส่งเรื่องไปตรวจสอบที่ บก.ปอท. พบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจริง พยานยังได้ร้องขอศาลจังหวัดกระบี่ออกหมายจับจำเลยมาดำเนินคดี โดยในชั้นสอบสวน สุรีมาศให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

    พ.ต.ท.โสภณ อ้างว่า พยานที่ตนนำมาสอบ ล้วนมีความเห็นว่าโพสต์ดังกล่าวเข้าข่ายมาตรา 112 และมีความเห็นให้ควรดำเนินคดีต่อผู้แสดงความคิดเห็นในคอมเมนต์ด้วย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53671)
  • ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 3 ปาก โดยต่อสู้ว่า สุรีมาศเพียงแต่นำลิงก์จากโพสต์ที่เป็นคลิปการแสดงแบบ “มูเตลู” เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถูกโพสต์ในกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ มาแชร์ต่อที่หน้าเฟซบุ๊กตนเองเท่านั้น ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว หากกดเข้าไปในลิงก์ จะพบภาพปกของกลุ่ม ซึ่งจำเลยไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ แต่หากเป็นสมาชิกกลุ่ม ก็จะแสดงผลเป็นคลิปที่จำเลยแชร์มา การแสดงผลสองแบบจึงมีความแตกต่างกัน จำเลยจึงไม่ได้กระทำการที่มีเจตนาเข้าข่ายมาตรา 112 แต่อย่างใด

    ++พยานจำเลยปากที่ 1 สุรีมาศ หรือจีน่า จำเลย

    สุรีมาศเบิกความรับว่า ตนเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กตามฟ้องจริง แต่ไม่ได้แชร์โพสต์ข้อความแบบเดียวกับที่ฝ่ายโจทก์นำมากล่าวหา แต่เป็นเพียงการคัดลอกลิงก์มาวาง พร้อมเขียนข้อความประกอบ ซึ่งเป็นลิงก์ที่ไปยังคลิปที่เป็นการทำพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ภาพของรัชกาลที่ 10 ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

    สุรีมาศเบิกความว่า ตนสนใจการเมืองมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 2557 โดยก่อนหน้านั้น ตนประกอบอาชีพและมีรายได้ค่อนข้างดี แต่หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจเข้ามา รายได้ที่เคยมีก็ลดน้อยลงไป ก่อนหน้านี้แสดงความคิดเห็นทางเฟซบุ๊กอย่างเดียว โดยได้โพสต์วิจารณ์การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประจำ หลังจากนั้น จึงได้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองในช่วงหลัง

    ก่อนหน้านี้ สุรีมาศเคยถูกฟ้องคดีที่ศาลแขวงกระบี่ จากการร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ และศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2564 ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

    สุรีมาศเบิกความว่า ตนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ในเฟซบุ๊ก ทำให้เห็นเนื้อหาจากกลุ่มนี้ขึ้นมาในหน้าจอ ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาแต่ประเด็นสถาบันกษัตริย์ แต่มีผู้โพสต์ทั้งข่าวสารทางการเมือง คดีการเมือง หรือการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยตนไม่เคยเข้าไปโพสต์ข้อความใดในกลุ่มเลย เคยเข้าไปคอมเมนต์โพสต์คนอื่นบ้าง แต่ไม่เคยไปพาดพิงถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์

    สุรีมาศเบิกความต่อว่า ประมาณวันที่ 8 ส.ค. 2564 ตนได้เจอคลิปคนทำพิธีในลักษณะ “สายมู” เป็นการสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีการสวดมนต์เป็นภาษาเขมร ตนเห็นว่าคลิปดังกล่าวเป็นการล้อเลียนแบบขำๆ เป็นการแสดงออกรูปแบบหนึ่ง จึงคัดลอกลิงก์ไปวางในหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง เพราะอยากให้เพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กได้หัวเราะไปด้วยกัน

    ในช่วงนั้นตนไปรายงานตัวในคดีคาร์ม็อบเป็นระยะ และใช้ชีวิตตามปกติ จนช่วงสายๆ วันที่ 7 เม.ย. 2565 มีชาย 3 คน ระบุว่า เป็นตำรวจบุกเข้ามาที่บ้านพักของจำเลย แจ้งว่าจะมาจับตน เพื่อนบ้านแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทราบ ตนจึงได้รีบออกไปพบตำรวจทั้งที่เพิ่งอาบน้ำเสร็จ ตำรวจได้ถ่ายรูปในลักษณะที่ตนใส่แต่ผ้าถุง แม้ไม่ได้ยินยอมให้ถ่ายรูป จากนั้นตำรวจ 3 คน ก็ได้พยายามที่จะจับกุมตน อ้างว่าเป็นคดีมาตรา 112 โดยลูกสาวได้แจ้งตำรวจว่า ขอให้แม่ไปแต่งตัวก่อน ตอนแรกตำรวจกลับอ้างว่ากลัวจะหลบหนี แต่ต่อมาก็ได้อนุญาตให้ไปแต่งตัวก่อนเดินทางไปสถานีตำรวจ

    ทนายจำเลยพยายามยื่นภาพถ่ายเหตุการณ์วันเกิดเหตุดังกล่าวประกอบ แต่ศาลไม่รับไว้ โดยระบุว่าไม่เกี่ยวกับคดี

    ต่อมาเมื่อมีการนำตัวจำเลยไปที่สถานีตำรวจ ได้มีการประสานงานทนายความติดตามไป และจำเลยได้รับการประกันตัว โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    สุรีมาศเบิกความไว้ด้วยว่า “การมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องทำร้ายกัน และไม่ควรนำพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนความคิดตนเอง”

    ในการตอบคำถามค้านของอัยการ สุรีมาศยืนยันว่าตนไม่ใช่แกนนำของกลุ่มกระบี่ไม่ทน โดยไม่เคยมีบทบาทพูดชักชวนให้คนอื่นเข้าร่วมกิจกรรมด้วย และไม่เคยพาดพิงพระมหากษัตริย์ แต่ในการไปร่วมกิจกรรมต่างๆ สุรีมาศระบุว่า ตนชื่นชอบการไลฟ์สด และโพสต์ลงเฟซบุ๊กอยู่แล้ว โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะด้วยความบริสุทธิ์ใจ

    ในส่วนกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ จำเลยได้ไปกดเข้าร่วม โดยเคยเห็นภาพปก เป็นบุคคลเล่นสไลเดอร์ แต่ตนไม่รู้เลยว่า ถ้าแชร์โพสต์ข้อความจากกลุ่มที่เป็นส่วนตัว จะไม่มีเนื้อหาติดมาด้วย หากคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม จะไม่เห็นตัวโพสต์

    ++พยานจำเลยปากที่ 2 อานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน หรือ iLaw ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านการติดตามคดีสิทธิเสรีภาพ และเชี่ยวชาญด้านพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์

    อานนท์เบิกความถึง บัญชีเฟซบุ๊กซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

    1. บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เจ้าของบัญชีจะสามารถตั้งค่าได้ว่าจะโพสต์เป็นสาธารณะหรือส่วนตัวเฉพาะเพื่อนได้

    2. บัญชี “เพจ” เฟซบุ๊ก จะใช้กับเนื้อหาที่เป็นทางการมากขึ้น บุคคลทั่วไปจะเห็นได้ อ่านเนื้อหาได้ทั่วไป แต่สามารถจะตั้งปิดไม่ให้มีการแสดงความเห็นได้

    3. “กลุ่มเฟซบุ๊ก” จะสามารถตั้งกลุ่มเป็นส่วนตัวหรือสาธารณะก็ได้ ถ้า “ส่วนตัว” ผู้จะเข้าร่วมกลุ่ม จะต้องตอบคำถามที่เจ้าของกลุ่มกำหนดไว้ ถึงจะได้รับการอนุมัติเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยกลุ่มจะมีลักษณะเป็นเว็บบอร์ด

    ในประเทศไทย ช่วงปี 2563 มีการเปิดกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการตั้งกลุ่มขายสินค้าฝากร้านขึ้นหลายกลุ่ม แยกไปตามสังกัดต่างๆ รวมทั้งกลุ่มทางการเมืองที่มีชื่อเสียงคือกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ และยังมีกลุ่มอาทิ ‘ควายแดงมาร์เก็ตเพลส’ ซึ่งเป็นการขายของ และมีข่าวสารทางการเมือง

    อานนท์ระบุว่า ในกลุ่มที่เป็นส่วนตัวนั้น จะไม่มีปุ่มให้กดแชร์ แต่ต้องคัดลอกลิงค์หรือข้อความไปโพสต์เองหากอยากเผยแพร่ไปภายนอกกลุ่ม โดยพยานได้จำลองสถานการณ์การแชร์ข้อความจากกลุ่มส่วนตัวให้ดูในห้องพิจารณา โดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มที่เป็นส่วนตัว เมื่อกดลิงก์ที่แชร์ไว้ จะเข้าไปเห็นแค่ภาพหน้าปกของกลุ่มเท่านั้น

    ++พยานจำเลยปากที่ 3 สมาชิกกลุ่มนักกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)

    พยานเบิกความถึงรายละเอียดของงานของกลุ่มนักกฎหมายอาสา ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ และในคดีของสุรีมาศนี้ พยานก็ได้เข้าไปติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น

    พยานเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ 7 เม.ย. 2565 ซึ่งตำรวจได้จับกุมตัวจำเลย ตัวพยานได้เดินทางติดตามไปให้ความช่วยเหลือในชั้นฝากขัง และได้ติดตามคดีเรื่อยมา สุรีมาศได้ยืนยันกับพยานมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ตามที่ถูกกล่าวหาดังกล่าว แต่อาจจะมาจากการที่คัดลอกลิงก์ส่วนตัวมาวาง พยานเองก็ได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย เมื่อตรวจดูแล้วพบว่าไม่มีการแก้ไข

    พยานทราบว่ากลุ่มเฟซบุ๊กส่วนตัว ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่เห็นเนื้อหาภายในกลุ่มนั้น จะเห็นแค่ภาพปกของกลุ่ม ถ้าไม่ได้ใช้งานเฟซบุ๊กจนเชี่ยวชาญ ก็อาจจะไม่ทราบเรื่องนี้

    พยานได้ยื่นคลิปวิดีโอการพิสูจน์ว่าลิงก์ที่ปรากฏนั้น หากเปิดในอุปกรณ์ที่ต่างกัน ก็จะแสดงผลของภาพที่มีความต่างกัน และหากอยู่เป็นสมาชิกในกลุ่มส่วนตัวนั้น ก็จะเห็นเนื้อหาที่ปรากฏตามโพสต์ต้นทางในกลุ่มได้

    เมื่อสิ้นสุดการสืบพยานทั้งหมด ศาลได้แจ้งว่าจะต้องส่งร่างคำพิพากษาไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 ตรวจสอบก่อนอ่าน โดยนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 ก.พ. 2566

    คดีนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า การตัดสินใจต่างๆ ของอัยการเจ้าของสำนวน เช่น การตัดพยานโจทก์ที่ไม่มาศาล จะต้องโทรศัพท์ปรึกษากับอัยการจังหวัดก่อน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53671)
  • สุรีมาศเดินทางมาศาลพร้อมกับลูกและญาติมิตร โดยมีทนายความ และมีผู้มาให้กำลังใจทยอยมาศาล

    เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็ก ทำให้ผู้เดินทางมาคดีนี้เข้าไปนั่งฟังคำพิพากษาได้เพียง 4 คนเท่านั้น โดยมีประชาชนที่เดินทางมาในคดีอื่น ๆ รอการพิจารณาของตนเอง พร้อมกับตำรวจศาลที่มารอผลคำพิพากษา ห้องพิจารณาจึงแน่นขนัด

    เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาในคดีอื่น ๆ ก่อน จนเวลา 10.00 น. จึงได้อ่านคำพิพากษาในคดีของสุรีมาศ โดยสรุปใจความได้ว่า พิเคราะห์พยานโจทก์แต่ละปากเบิกความว่าตนไม่ได้รู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะสมคบคิดกันมากลั่นแกล้งจำเลย ทั้งพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่า มีข้อความ ลิงก์ และภาพตามฟ้อง ปรากฏอยู่ที่หน้าเฟซบุ๊กของจำเลยจริง

    ขณะที่พยานของจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้เบิกความจำลองถึงสถานการณ์การใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว โพสต์ข้อความและคัดลอกลิงก์จากกลุ่มเฟซบุ๊กส่วนตัวมาประกอบ แสดงให้เห็นว่าหากไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มส่วนตัว ก็จะปรากฏเห็นเพียงภาพหน้าปกของกลุ่มส่วนตัวเท่านั้น การที่จะเห็นลิงก์ตามโพสต์ต้นทางได้นั้น จะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มส่วนตัวก่อน โดยพยานมีการทำคลิปจำลองสถานการณ์อย่างละเอียด เป็นลำดับขั้นตอน มีน้ำหนัก และมีความน่าเชื่อถือ

    ประกอบกับพยานโจทก์หลายปากเบิกความเจือสมกันว่า พยานใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวในการเข้าดูเฟซบุ๊กของจำเลย และพยานก็ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส-ตลาดหลวง” และจากการตอบคำถามค้านของพยานโจทก์หลายคน ก็ตอบในทำนองเดียวกันว่า ไม่ทราบว่าหากสมาชิกกลุ่มส่วนตัวคัดลอกลิงก์จากกลุ่มส่วนตัวมาเผยแพร่แล้ว บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม ก็จะไม่เห็นเนื้อหาตามลิงก์ แต่จะเห็นภาพหน้าปกของกลุ่มแทน

    พยานผู้เชี่ยวชาญได้เบิกความว่า การจะทราบเรื่องดังกล่าวได้ ต้องมีความชำนาญในการใช้เฟซบุ๊ก และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความชำนาญในการใช้เฟซบุ๊กถึงขนาดที่จะทราบได้ว่า การที่จำเลยคัดลอกลิงก์จากกลุ่มส่วนตัวมาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กของตนโดยเปิดเป็นสาธารณะนั้น จะทำให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว จะเห็นเพียงภาพหน้าปกของกลุ่มเท่านั้น

    ประกอบกับเมื่อพิจารณาข้อความที่มีผู้ได้มาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของจำเลยที่ว่า “สายมูก็มา พี่ 555” ประกอบกับพยานโจทก์ได้อธิบายความหมายของคำว่า “สายมู” หมายถึง การทำพิธีเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกันกับคลิปวิดีโอตามลิงก์ที่มีการทำพิธีขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่จำเลยได้อ้างถึงว่าได้แชร์โพสต์ดังกล่าวมา

    กรณีจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

    สำหรับคดีนี้มี สุรศักดิ์ ศรีศุภรางค์กุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดกระบี่ เป็นเจ้าของสำนวน และสิรินาถ วิสุทธิวัชรกุล เป็นองค์คณะผู้พิพากษา

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดกระบี่ คดีหมายเลขดำที่ อ.452/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.144/2566 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/53805)
  • เกษม ถิระพัฒน์พิบูล อัยการอาวุโส อัยการศาลสูงจังหวัดกระบี่ ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีใจความโดยสรุปว่า แม้ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นสมาชิกของกลุ่มส่วนตัว กับไม่ได้เป็น จะมีการแสดงผลแตกต่างกันในการรับชมเนื้อหา แต่ผลของการโพสต์ข้อความในลักษณะการโพสต์ลิงก์จากกลุ่มส่วนตัว ‘รอยัลลิสต์ฯ’ ส่งผลให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเห็นภาพหน้าปกของกลุ่มส่วนตัว อันเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยย่อมทราบได้จากการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มตั้งแต่แรกแล้ว ว่ากลุ่มดังกล่าวใช้พระบรมฉายาลักษณ์เป็นภาพปก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

    อัยการศาลสูงยังอ้างความเห็นของพยานโจทก์ปากต่าง ๆ และสรุปว่า แม้โพสต์ข้อความประกอบคลิปวิดีโอดังกล่าว จะเป็นการโพสต์พาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความตามโพสต์ของจำเลย ประกอบกับภาพหน้าปกของกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์ฯ’ อันเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ การกระทำของจำเลยจึงส่อความหมายไปในลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แล้ว

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลจังหวัดกระบี่ คดีหมายเลขดำที่ อ.452/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.144/2566 ลงวันที่ 31 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60822)
  • สุรีมาศ และทนายความ เดินทางมาตามนัดศาล พร้อมด้วยผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)

    ศาลจังหวัดกระบี่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีใจความโดยสรุปว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ปากตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สภ.เมืองกระบี่ ที่สืบสวนทราบว่าจำเลยเป็นแกนนำกลุ่มกระบี่ไม่ทน ซึ่งเคยจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดกระบี่ แต่ไม่ได้ความจากพยานทั้งสองว่า จำเลยเป็นแกนนำหรือร่วมขบวนการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเบิกความว่า จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่พบโพสต์อื่น ๆ ที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์ จึงไม่มีข้อมูลว่าจำเลยเป็นคนมีพฤติกรรมต่อต้านหรือพาดพิงในทางเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ มาก่อน

    ส่วนพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.ปอท. ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการกระทำผิดทางเทคโนโลยี ได้ตรวจสอบลิงก์เฟซบุ๊กที่จำเลยโพสต์ แต่ไม่สามารถเข้าไปดูเนื้อหาของกลุ่มรอยัลลิสต์ฯ ได้ จึงเห็นปรากฏเพียงภาพรัชกาลที่ 10 เพราะมิใช่สมาชิกกลุ่มกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว ก็ไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าการเข้าถึงข้อมูลของทางราชการ หรือจากสมาชิกกลุ่มรอยัลลิสต์ฯ คนอื่น ว่ากลุ่มดังกล่าวใช้ภาพหน้าปกตามเอกสารที่นำมากล่าวหาหรือไม่ แสดงว่าโจทก์ได้ข้อมูลโปรไฟล์ของเฟซบุ๊กดังกล่าวมาจากผู้กล่าวหาเพียงแหล่งข้อมูลเดียวเท่านั้น

    ส่วนผู้กล่าวหา เบิกความว่ามิได้เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับจำเลย แต่จำเลยเปิดเฟซบุ๊กของตนเป็นสาธารณะ จึงเข้าไปดูได้ โดยได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลยเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 แต่ปรากฏว่าในเอกสารพยานหลักฐานที่นำมากล่าวหา มีทั้งที่ระบุในสำเนาเฟซบุ๊กที่ด้านมุมบนซ้าย ว่า “1 วัน” แสดงถึงการที่เจ้าของเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความมาแล้ว 1 วัน และมีสำเนาเฟซบุ๊กที่ด้านมุมบนซ้าย ระบุว่า “8 ส.ค. เวลา 19.26 น.” แสดงว่าเจ้าของเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความในวันเดียวกับที่เยี่ยมชม

    ความน่าสงสัยในข้อนี้ โจทก์มิได้นำผู้เชี่ยวชาญสื่อสังคมออนไลน์ มาเบิกความว่า หากมีการโพสต์ผ่านไปหลายวัน และมีลิงก์ในโพสต์ปรากฏอยู่ เมื่อกดที่ลิงก์จะพบโพสต์เดิมที่มุมบนซ้ายในโพสต์ แสดงถึงวันเวลาเริ่มต้นของการโพสต์ไว้ด้วย ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีพยานจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน และนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน มาเบิกความถึงการดูวันเวลาที่โพสต์ในเฟซบุ๊ก โดยให้ความเห็นว่า สำเนาเฟซบุ๊กสองภาพของผู้กล่าวหาน่าจะเป็นการดูโพสต์คนละช่วงเวลากัน

    ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงว่าต่อภาพสำเนาเฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหานำมา ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่

    ขณะที่จำเลยนำสืบถึงความไม่พอใจในการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของจำเลย โดยจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มรอยัลลิสต์ฯ และเห็นคลิปวิดีโอที่สมาชิกกลุ่มโพสต์พิธีกรรมสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเห็นว่าเป็นเรื่องตลก และได้คัดลอกลิงก์ของกลุ่มดังกล่าว มาไว้ในเฟซบุ๊กของตนเอง และพิมพ์ข้อความประกอบ โดยมุ่งหมายถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์

    ตามพยานวัตถุฝ่ายจำเลย เมื่อเข้าไปดูลิงก์ดังกล่าว ก็ปรากฏคลิปดังกล่าวจริง เมื่อพิจารณาถึงความคิดเห็นใต้โพสต์ ก็มิได้มีข้อความกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเห็นด้วยกับการมุ่งร้ายต่อองค์ประมุขแต่อย่างใด คลิปที่อยู่ในลิงก์ข้างต้น น่าจะมุ่งหมายถึงความไม่พอใจในตัวนายกรัฐมนตรี มิใช่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

    จำเลยยังนำสืบด้วยว่าเฟซบุ๊กของจำเลยได้รับการแจ้งเตือนว่ามีบุคคลอื่นเข้าใช้จากแอพพลิเคชั่นอื่น จึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พยานโจทก์ที่นำสืบจึงมีข้อสงสัยตามสมควรอยู่ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ในระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นยกประโยชน์แห่งความสงสัยดังกล่าวให้จำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นพ้องด้วย

    ลงนามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดย มานิตย์ ตันติวัชรพันธุ์, ยุวิสส์ร์ชญา ยกซิ่ว และนนทวัฒน์ โชติพิมาย

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีหมายเลขดำที่ อ.452/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.144/2566 ลงวันที่ 25 ก.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60822)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สุรีมาศ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สุรีมาศ (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สุรศักดิ์ ศรีศุภรางค์กุล
  2. สิรินาถ วิสุทธิวัชรกุล

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 20-02-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สุรีมาศ (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. มานิตย์ ตันติวัชรพันธุ์
  2. ยุวิสส์ร์ชญา ยกซิ่ว
  3. นนทวัฒน์ โชติพิมาย

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 24-10-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์