สรุปความสำคัญ

“บีม” อรรฆพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์อิสระ วัย 25 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ ในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังถนอมศักดิ์ บุญภักดี อาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา เข้าแจ้งความที่ สภ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งข้อความที่ถูกกล่าวหา บางข้อความไม่ได้กล่าวถึงบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง ทำให้อรรฆพลต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปต่อสู้คดีไกลถึง จ.ระยอง ระยะทางกว่า 160 กม.

อรรฆพลถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ 2 โดยในคดีนี้ถูกกล่าวหจากโพสต์เดียวกันกับคดีแรกด้วย 1 โพสต์

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความขยายความคุ้มครองไปถึงบุคคลในราชวงศ์ ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีโทษทางอาญาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อรรฆพล (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

29 ต.ค. 2564 อรรฆพล (สงวนนามสกุล) หรือ “บีม” กราฟิกดีไซเนอร์อิสระ วัย 25 ปี เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สภ.แกลง จังหวัดระยอง ในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยมี ถนอมศักดิ์ บุญภักดี อาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้กล่าวหา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 อรรฆพลได้เคยเดินทางไปให้การในฐานะพยานตามหมายเรียกพยานมาแล้ว 1 ครั้ง ก่อนที่จะถูกออกหมายเรียกผู้ต้องหาในครั้งนี้ ในครั้งนั้นอรรฆพลไม่ได้ให้การใดๆ ทั้งสิ้นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ตั้งความเพียร รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.แกลง เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดีให้อรรฆพลรับทราบ โดยมีทนายความเข้าร่วมรับฟัง

พนักงานสอบสวนระบุว่า มูลเหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 เวลาประมาณ 20.00 น. ถนอมศักดิ์ได้เปิดเฟซบุ๊ก พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความลงบนไทม์ไลน์ของตนเองในลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ข้อความที่อรรฆพลถูกกล่าวหามาจากข้อความในเฟซบุ๊ก 8 ข้อความ โพสต์ระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2564 โดยผู้กล่าวหาพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่เชื่อว่าเป็นของอรรฆพล มีผู้ติดตามจำนวน 3,058 คน (ณ วันเกิดเหตุ) และทุกข้อความข้างต้นมีผู้เข้ามากดไลค์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตพระมหากษัตริย์

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

อรรฆพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จนเวลา 13.00 น. หลังพนักงานแจ้งข้อกล่าวหาในคดีเสร็จสิ้นได้ปล่อยตัวอรรฆพลกลับ โดยไม่ได้ควบคุมตัวไว้ และจะประสานงานแจ้งวันนัดสำนวนส่งให้อัยการต่อไป

ทั้งนี้ คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของอรรฆพล โดยก่อนหน้านี้เขาเคยถูกแน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือ “ศชอ.”กล่าวหาจากโพสต์เฟซบุ๊กเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในครั้งนี้ จำนวน 1 โพสต์

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.แกลง ลงวันที่ 29 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37346)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์