สรุปความสำคัญ

อานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (3) จากโพสต์เฟซบุ๊ก 2 โพสต์ ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชนในทางวิพากษ์วิจารณ์ แม้ว่าจะเป็นการติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อานนท์ นำภา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

8 ก.ย. 2564 ขณะอานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกขังระหว่างการสอบสวนโดยไม่ได้รับการประกันตัวในคดีปราศรัยในการชุมนุม #แฮร์รี่พอตเตอร์2 พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งข้อหาจาก 2 โพสต์เฟซบุ๊ก ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10

พ.ต.ท.ทศพร ศรีสัจจา สารวัตร (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์ให้อานนท์ทราบผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง โดยมีทนายความร่วมฟังการสอบสวนอยู่ด้วย โดยบรรยายว่า

ร.ต.อ.ณัฐภัทร เรืองศิลป์ประเสริฐ ผู้กล่าวหา ได้รับคําสั่งจาก ผู้บังคับบัญชา และขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบติดตามความเคลื่อนไหวและเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้พบผู้ใช้เฟซบุ๊ก บัญชีชื่อ “อานนท์ นําภา” มีการลงเผยแพร่ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 และ 3 ก.พ. 2564 จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิเวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

เบื้องต้นอานนท์รับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวและเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่ปฏิเสธว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต และต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตย โดยจะทำคำให้การในประเด็นอื่นเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน พร้อมทั้งระบุพยานเอกสารและพยานบุคคล

อานนท์ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” หรือมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 14 แล้ว ทั้งหมดถูกดำเนินคดีหลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งอานนท์ได้เริ่มปราศรัยในที่สาธารณะถึงประเด็นปัญหาสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ก่อนจะนำไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยคดีทั้งหมดถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยในการชุมนุมต่างๆ รวม 11 คดี และจากการโพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นดังกล่าวอีก 3 คดี

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.2 บก.ปอท. ลงวันที่ 8 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34791)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์