ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.1447/2565
แดง อ.2410/2566

ผู้กล่าวหา
  • อานนท์ กลิ่นแก้ว กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1447/2565
แดง อ.2410/2566
ผู้กล่าวหา
  • อานนท์ กลิ่นแก้ว กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ความสำคัญของคดี

“เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักศึกษาวัย 23 ปี ภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และนักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญา ในคดีตามมาตรา 112 ที่ออกหลังอานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความเพียง 6 วัน โดยกล่าวหาว่า คำปราศรัยของโสภณในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 เป็นการลดคุณค่าของพระราชินีสุทิดา หลังถูกจับกุมโดยไม่มีการออกหมายเรียกก่อน ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันโสภณในชั้นฝากขัง ก่อนให้ประกันหลังโสภณถูกคุมขังในเรือนจำ 1 เดือน แต่มีเงื่อนไขให้ติด EM และอยู่ในบ้าน 24 ชม.

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกตีความอย่างกว้างขวางและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นที่เห็นต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พาฝัน สิทธิสาท พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 บรรยายคำฟ้อง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และมีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาเป็นพระราชินี จําเลยนี้ได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 จําเลยได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชาชนที่มารวมกลุ่มชุมนุมทํากิจกรรมทัวร์เส้นทางสายประวัติศาสตร์ (ฝ่ายซ้าย) ภายใต้ชื่อกิจกรรม ทัวร์มูล่าผัว ด้วยข้อความที่ทําให้เข้าใจความหมายว่า รัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นคนไม่ดี โดยประการที่น่าจะทําให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทรงถูกดูหมิ่น หรือทรงถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี

2. จําเลยได้ปราศรัยแสดงความคิดเห็นต่อประชาชาชนที่มารวมกลุ่มชุมนุมทํากิจกรรม โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า (โทรโข่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 21.20 น. ตำรวจนอกเครื่องแบบได้เข้าอ่านหมายจับในคดีตามมาตรา 112 ต่อ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ขณะเขากำลังนั่งแท็กซี่เพื่อเดินทางออกจากกิจกรรมวันแรงงาน #ม็อบ1พฤษภา65 #รวมพลคนทำงาน ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

    ในขณะที่ตำรวจหลายสิบนายทั้งในและนอกเครื่องแบบได้ล้อมรถแท็กซี่ไว้ โดยโสภณยังไม่ยอมลงจากรถ ขณะที่มีมวลชนในบริเวณดังกล่าวเข้ามาเจรจากับเจ้าหน้าที่ และพยายามล้อมรถแท็กซี่ไว้ เพื่อไม่ให้ตำรวจนำตัวโสภณไป เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าจะนำตัวไปที่ใดและอยากให้รอจนกว่าทนายความจะเดินทางมาถึง

    22.05 น. หลังการล้อมรถและเจรจากับมวลชน โสภณจึงยอมลงจากรถแท็กซี่ไปขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีผู้ไว้วางใจและมวลชนจำนวนหนึ่งขอติดตามขึ้นรถไปด้วย ก่อนจะพาตัวไปถึง สน.สำราญราษฎร์ ในเวลาประมาณ 22.20 น. และมีทนายความติดตามไป โดยที่ด้านหน้าสถานีตำรวจได้ตั้งแผงรั้วเหล็กกั้นไว้ และมีมวลชนหลายสิบคนรอให้กำลังใจ

    ตำรวจชุดจับกุมได้ทำบันทึกจับกุมโสภณ โดยในการจับกุมครั้งนี้อยู่ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.นริศ ปรารถนาพร ผกก.สส. บก.น.6 และ พ.ต.ต.พลเชษฐ์ มาดี สารวัตรสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ โดยระบุว่ามีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.สส.บก.น.6 และ สน.สำราญราษฎร์ รวม 9 ราย และเป็นการจับกุมตามหมายจับที่ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 29 เม.ย. 2565 ลงนามโดย ปกฉัตร เผือกสุวรรณ โดยมีพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

    ในชั้นจับกุม โสภณได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมข้างต้น

    ต่อมา เวลาประมาณ 23.30 น. ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ยืนยันที่จะนำตัวโสภณไปสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ

    เวลาประมาณ 23.56 น. โสภณจึงได้ยื่นหนังสือขอให้ทำการสอบสวนตนต่อทันทีที่ สน.สำราญราษฎร์ และไม่ยินยอมให้ย้ายไปสอบสวนที่ บช.ปส. เพราะไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุและประกาศเรื่องกำหนดสถานที่ควบคุมตัวที่ 1/2563 ที่กำหนดให้ บช.ปส. เป็นสถานที่ควบคุมตัวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม, หนังสือขอให้สอบสวนและควบคุมตัวในท้องที่ที่รับผิดชอบ สน.สำราญราษฎร์ ลงวันที่ 1 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43145)
  • แม้โสภณจะคัดค้านการนำตัวไปสอบสวนที่ บช.ปส. อย่างไรก็ตาม เวลา 00.20 น. ตำรวจได้ควบคุมตัวโสภณไปที่ บช.ปส. โดยไม่มีทนายความขึ้นรถไปด้วย ทำให้ทนายความต้องเดินทางแยกไปต่างหาก และต้องรออยู่หน้าตึก บช.ปส. ก่อนจะตามเข้าไปให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับโสภณด้านในอาคารได้ในเวลาต่อมา

    ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ รองสารวัตรสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ แจ้งพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 08.00 น. ขณะที่อานนท์ กลิ่นแก้ว ผู้กล่าวหาพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักและได้เข้าไปดูเพจของ Friends Talk ในโทรศัพท์มือถือ พบว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 17.50 น. เพจมีคลิปการไลฟ์สด พบกลุ่มบุคคลกําลังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตํารวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ยืนกั้นแถวไม่ให้เดินเข้าไปยังบริเวณวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ซึ่งในวันดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา จะเสด็จพระราชดําเนิน เพื่อบําเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชและทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”

    ในคลิปมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 10 กว่าคน โดยมีโสภณ สุรฤทธิ์ธํารง ทราบชื่อและนามสกุลจริงภายหลัง ได้ปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง (โทรโข่ง) ซึ่งมีข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงการทำบุญของพระราชินีสุทิดา และกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    ผู้กล่าวหาอ้างว่า ข้อความดังกล่าวกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงต่อหน้าประชาชนผู้ชุมนุมจํานวนมาก และมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การกล่าวถ้อยคําเช่นนั้น เป็นทั้งถ้อยคําที่ไม่สุภาพและไม่สมควร แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ต้องหาที่ต้องการลดคุณค่าของสมเด็จพระราชินีสุทิดา อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เป็นการใส่ร้ายทําให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเกลียดชัง ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

    ครั้งแรกพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาโสภณตามหมายจับ คือ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อมา ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า โสภณไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจากเจ้าหน้าที่ จึงแจ้งอีก 1 ข้อหา คือ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โสภณได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา

    หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว โสภณได้ถูกคุมขังที่ บช.ปส. 1 คืน และทราบว่าพนักงานสอบสวนจะทำการขอฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จึงได้ทำการคัดค้านการฝากขังออนไลน์นี้ โดยการลงบันทึกประจำวันไว้

    ต่อมาช่วงเช้า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นระยะเวลา 12 วัน พร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยระบุว่าเป็นความผิดที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และในเดือนพฤษภาคม มีงานพระราชพิธีฉัตรมงคล พิธีสมโภชเครื่องราชกุธภัณฑ์ พระราชพิธีพืชมงคล และงานพระราชพิธีต่างๆ หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

    หลังทนายความทราบคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ฝากขังโสภณ จึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน

    เวลา 15.30 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโสภณ ระบุว่า กรณีนี้ปรากฏว่า โสภณผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลนี้ ในข้อหาร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณา อันเนื่องมาจากผู้ต้องหากับพวกรวมตัวกันชุมนุมมั่วสุมที่ศาลอาญา ปราศรัยเรียกร้อง รวมถึงแสดงความไม่พอใจในการทำหน้าที่ของศาล ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง พริษฐ์ หรือ ‘เพนกวิน’ ชิวารักษ์ ต่อศาลนี้ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ซึ่งคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล

    ผู้ต้องหายังกระทำการอันเป็นเหตุให้ถูกจับกุมเป็นคดีนี้อีก จึงน่าเชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปกระทำการในทำนองเดียวกันนี้ หรือก่อภัยอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ศาลได้ปิดชื่อผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไว้

    กิจกรรม "ทัวร์มูล่าผัว" ในวันที่ 22 เม.ย. 2565 จัดโดยกลุ่มมังกรปฏิวัติ เป็นทริปเที่ยวสถานที่สำคัญย่านเกาะรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกิจกรรมถูกตำรวจควบคุมฝูงชนสกัดกั้น จนกลุ่มมังกรปฏิวัติต้องประกาศยุติกิจกรรม

    สำหรับคดีที่ศาลกล่าวถึงว่าโสภณถูกกล่าวหามาก่อนหน้านี้ เป็นกรณีที่โสภณเข้ามอบตัวหลังถูกออกหมายจับร่วมกับนักกิจกรรมและประชาชนรวม 15 คน ในการชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา2564 หน้าศาลอาญา โดยกลุ่ม REDEM คดีนี้ เขาถูกแจ้งข้อหาดูหมิ่นศาล, ข้อหามาตรา 215, มาตรา 216, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียง และกีดขวางทางเท้า โดยคดีอยู่ระหว่างการรอสืบพยานในชั้นศาล

    หลังคำสั่งศาล โสภณถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทำให้ ณ วันที่ 2 พ.ค. 2565 มีจำนวนผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัว เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยจำนวน 9 คน

    ทั้งนี้ อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวแจ้งความนักกิจกรรมในคดีมาตรา 112 หลายคดี น่าสังเกตว่าการขอออกหมายจับโสภณของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดขึ้นหลังการแจ้งความเพียง 6 วันเท่านั้น โดยไม่มีการออกหมายเรียก และคดีนี้ยังเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่โสภณถูกกล่าวหา

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 2 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43145)
  • เวลา 10.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังโสภณครั้งที่ 2 หลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นขอฝากขังต่อไปอีกเป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างว่าต้องสอบสวนพยานอีก 3 ปาก ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังต่อ ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้อง

    ศาลได้เบิกตัวโสภณผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แม้ทนายความจะยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวผู้ต้องหามาร่วมการไต่สวนที่ศาลก็ตาม โดยอ้างถึงมาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งผู้ต้องหาได้แต่งตั้งทนายความในคดีแล้ว ซึ่งศาลเห็นว่า ทนายผู้ต้องหาสามารถคัดค้านการขอฝากขังแทนผู้ต้องหาได้ทุกประการ โดยไม่เสียสิทธิและผลประโยชน์ในการต่อสู้คดี

    เมื่อจะเริ่มการไต่สวน พบว่าระบบอินเทอร์เน็ตของศาลมีปัญหา เวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ศาลจึงจะทำการไต่สวนโดยไม่มีผู้ต้องหารับฟัง แม้ทางออนไลน์ก็ตาม

    จากนั้นทนายความได้แถลงต่อศาลว่า หากในวันนี้ศาลรับฝากขัง และครั้งหน้าพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาอีก ขอให้ศาลพิจารณาเบิกตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำมาเข้าร่วมการไต่สวนที่ศาลด้วย เนื่องจากการเบิกตัวผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ครั้งที่ผ่านๆ มาที่ศาลนี้ ผู้ต้องหาและทนายพบปัญหาการไม่ได้ยินเสียงหรือได้ยินไม่ชัดเจนจนจับใจความไม่ได้ อีกทั้งภาพและเสียงยังกระตุก ล่าช้า (Delay) กว่าความเป็นจริง ทำให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งกระทบโดยตรงต่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

    ศาลตอบว่า หากศาลอนุญาตให้ฝากขังในวันนี้ และผู้ร้องขอให้ศาลฝากขังผู้ต้องหาอีกในครั้งหน้านั้น การไต่สวนครั้งดังกล่าวอาจเป็นผู้พิพากษาท่านใดก็ได้ จึงไม่สามารถรับรองในครั้งนี้ได้ว่าจะเบิกตัวผู้ต้องหามาศาล เนื่องจากเรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษาท่านนั้นๆ ที่จะทำการไต่สวนในวันดังกล่าว

    ทนายแถลงต่อว่า ขอเพียงให้ศาลบันทึกข้อเท็จจริงส่วนนี้ตามที่ได้ร้องขอ แม้การไต่สวนครั้งหน้าจะเป็นผู้พิพากษาท่านอื่น แต่ทนายจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลได้บันทึกลงไปในรายงานกระบวนพิจารณาคดีวันนี้ไปเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพื่อประกอบการตัดสินใจให้ผู้พิพากษาท่านอื่นๆ เพื่อมีดุลยพินิจให้เบิกตัวผู้ต้องหามาศาล

    ++ตำรวจร้องศาลขอฝากขัง อ้างเพราะพฤษภาคมมี ‘งานพระราชพิธีเยอะ’ เกรงผู้ต้องหาไป “กระทำผิดซ้ำ” อีก++

    ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง เบิกความต่อศาลให้อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาต่อไปอีก 12 วัน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องสอบปากคำพยานอีก 3 ปาก ได้แก่

    1. พยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เพื่อให้ความเห็นด้านกฎหมาย
    2. พยานประชาชนทั่วไป เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคำปราศรัยของผู้ต้องหา
    3. เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้จัดทำรายงานการสอบสวนและบันทึกจับกุม

    นอกจากนี้ตำรวจยังอ้างว่าต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะผู้ต้องหาขึ้นปราศรัยในวันเกิดเหตุ รอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ รวมถึงประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

    จากนั้น ร.ต.อ.โยธี ได้ตอบคำถามทนายความของผู้ต้องหาถามค้านว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้องยื่นต่อพนักงานอัยการ ผู้ร้องไม่ทราบว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวน และไม่ได้มีข้อมูลส่วนนี้อยู่ในรายงานการสืบสวน

    ร.ต.อ.โยธี เบิกความตอบอีกว่า การตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือและของกลางซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีนั้น ผู้ร้องได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ยังกองพิสูจน์หลักฐานกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ส่วนการตรวจสอบประวัติการต้องโทษ ตนจะเป็นผู้ทำการตรวจด้วยได้ตัวเอง แต่ต้องรอทราบผลตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือและของกลางซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีก่อน

    ด้านพยานอีก 3 ปากที่อ้างว่าจะต้องทำสอบปากคำนั้น ผู้ร้องได้ติดต่อไปยังพยานปากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและพยานปากประชาชนทั่วไปแล้ว เหลือเพียงนัดหมายวันและเวลาเพื่อทำการสอบปากคำเท่านั้น ส่วนพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนผู้จัดทำรายงานการสืบสวนและบันทึกจับกุมนั้นเป็นพยานที่รับราชการอยู่ที่เดียวกัน คือ สน.สำราษราษฎร์

    พยานยอมรับว่าผู้ต้องหา อายุ 23 ปี และเป็นเพียงนักศึกษาเท่านั้น ไม่มีอิทธิพลที่จะสามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ในคดีนี้ได้จับกุมผู้ต้องหาที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ คดีนี้ไม่เคยออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน โดยได้ขอออกหมายจับผู้ต้องหาเลย เนื่องจากคดีมีอัตราโทษเกินกว่า 3 ปี

    ทนายสอบถามว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โดยอาศัยอยู่กับพ่อดังที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ ซึ่งมีพ่อเป็นเจ้าของบ้าน แต่ผู้ร้องไม่ทราบเรื่องนี้

    ร.ต.อ.โยธี ยอมรับว่า คดีนี้หากไม่ขังผู้ต้องหาไว้ก็ยังสามารถทำสำนวนการสอบสวนเพื่อเสนอต่อพนักงานอัยการได้ แต่ทว่าที่ได้ขอให้ศาลขังผู้ต้องหาไว้ต่อไป เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์เป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และในเดือนพฤษภาคม มีงานพระราชพิธีฉัตรมงคล พิธีสมโภชเครื่องราชกุธภัณฑ์ พระราชพิธีพืชมงคล และงานพระราชพิธีต่างๆ เกรงว่าผู้ต้องหาอาจจะไป “กระทำผิดซ้ำ” ในลักษณะนี้อีก และหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

    สุดท้ายทนายความได้แถลงสรุปข้อเท็จจริงในการคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหา ต่อศาล 4 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้

    1. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของพนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง
    2. ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีอายุ 23 ปี และเป็นเพียงนักศึกษาภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ไม่จำเป็นจะต้องออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 66
    3. แม้ศาลไม่รับฝากขังผู้ต้องหาในผัดนี้ พนักงานสอบสวนก็สามารถทำสำนวนคดีจนแล้วเสร็จได้
    4. กรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า ขอฝากขังต่อไปเพราะผู้ต้องหาจะไป “กระทำผิดซ้ำ” นั้น เป็นเพียงคำกล่าวหาของผู้ร้อง ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ จะยืนยันคำกล่าวหาดังกล่าวได้

    หลังดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้ในช่วงบ่าย

    ++ศาลสั่งให้ฝากขังเก็ทต่อ 7 วัน และให้ฝากขังเป็นครั้งสุดท้าย ระบุ ตร.ทำสำนวนใกล้เสร็จแล้วไม่ควรขังผู้ต้องหาไว้เกินเหตุและความจำเป็น++

    เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโสภณต่อไปอีก 7 วัน มีรายละเอียดคำสั่งโดยสรุป ดังนี้

    ผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดูหมิ่นศาลของศาลนี้ไปแล้ว แต่ยังไปก่อเหตุจนถูกดำเนินคดีในคดีนี้อีก จึงเกรงว่าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปกระทำการในลักษณะนี้ซ้ำอีก และเมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 และมาตรา 66 ซึ่งกล่าวไว้ว่า ไม่ให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินเหตุและความจำเป็นอันสมควรนั้น เมื่อพิจารณาคำร้องของผู้ร้องที่อ้างจะต้องทำการสอบปากคำพยานอีก 3 ปาก ศาลเห็นว่าพยานปากผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายและพยานปากประชาชนทั่วไปเป็นเพียงพยานความเห็นไม่ใช่ประจักษ์พยาน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอความเห็นมาประกอบสำนวนคดี

    ส่วนพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จัดทำรายงานการสืบสวนและบันทึกจับกุมนั้น ศาลเห็นว่าเป็นพยานที่อยู่หน่วยงานเดียวกับผู้ร้อง สามารถขอความเห็นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเวลา ส่วนการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหานั้น ผู้ร้องสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ทำให้การสอบสวนเหลือเพียงรอผลตรวจพิสูจน์ของกลางซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีและลายพิมพ์นิ้วมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ศาลจึงเห็นว่าการทำสำนวนคดีใกล้จะแล้วเสร็จแล้ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้เพียง 7 วันเท่านั้น โดยจะอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

    หลังศาลมีคำสั่งให้ฝากขังต่อ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวโสภณอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ทันที โดยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน ต่อมาศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

    ทั้งนี้ระหว่างถูกคุมขังเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 โสภณได้เริ่มต้นการอดอาหารเพื่อประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมและเรียกร้องสิทธิประกันตัวร่วมกับ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ โดยจนถึงวันนี้โสภณอดอาหารเข้าสู่วันที่ 8 แล้ว ส่วนตะวันอดอาหารเข้าวันสู่วันที่ 22 แล้ว

    ภายหลังทนายความให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ที่ศาลไม่เบิกตัวผู้ต้องหามาร่วมกระบวนการไต่สวนว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยแล้ว ทั้งทางเรือนจำและศาลเองก็ได้มีมาตรการในการป้องกันและดูแลการแพร่ระบาดของโรคนี้ โดยที่สามารถเบิกตัวผู้ต้องหามาศาลได้ โดยทราบว่าเรือนจำมีการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ทั้งไป-กลับจากศาลอยู่แล้ว และให้ผู้ต้องหาแยกไปกักตัวเป็นเวลา 14 วันหลังกลับจากศาล ซึ่งผู้ต้องหายินดีจะปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวหากถูกเบิกตัวมาศาล

    ทนายยังเน้นย้ำอีกว่า กรณีที่จะไต่สวนผู้ต้องหาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่กลับประสบปัญหาทางเทคนิคของศาลนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจส่งผลเป็นการปิดกั้นโอกาสและสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาโดยสิ้นเชิง

    “ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจกลายเป็นการทำให้ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการที่จะตัดสินว่าตัวเองจะถูกขังต่อไปหรือไม่ ไม่สามารถออกเสียงคัดค้าน โต้แย้งผู้ที่จะทำให้ตนเองถูกขังต่อ”

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/43658)
  • ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังเก็ทในผัดที่ 3 หลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นขอฝากขังต่อไปอีกเป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างว่าต้องรอสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปาก รอผลตรวจพิสูจน์ของกลาง ลายพิมพ์นิ้วมือ และผลตรวจประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ขณะทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจึงนัดไต่สวน โดยเบิกตัวโสภณผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แม้ทนายความจะระบุในคำร้องขอให้เบิกตัวผู้ต้องหามาศาลก็ตาม

    11.45 น. ปรากฏภาพโสภณบนหน้าจอภาพ เขาเดินเข้ามาในห้องที่จัดไว้สำหรับการไต่สวนผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ด้วยชุดเสื้อสีฟ้า กางเกงสีน้ำตาล และสังเกตเห็นได้ว่าโสภณถูกตัดผมแล้วจนสั้นเกรียน ทำให้ไม่เหลือเค้าเดิมก่อนจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำเลย

    การไต่สวนเริ่มขึ้น โดยมีพยาน 1 ปาก คือ ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน สน. สำราญราษฎร์ ผู้ร้องขอฝากขังโสภณ เบิกความว่า ตนยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มอีก 1 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง (แผ่น DVD) รอผลตรวจลายพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา และตรวจสอบประวัติการต้องโทษ ประกอบกับผู้ต้องหาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวการเมืองกลุ่มโมกหลวงริมน้ำซึ่งมีพฤติการณ์เป็นบุคคลเฝ้าระวังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเหตุผลข้อสุดท้ายคือ ต้องมีการสรุปสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาระดับกองบังคับการและระดับกองบัญชาการเพื่อพิจารณาตามลำดับ

    ด้านพยานบุคคล 1 ปาก ที่พยานอ้างว่าจะต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น คือ ผู้อำนวยการกองกฎหมายของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งจะให้พยานปากนี้มาดูคลิปวิดิโอและถ้อยคำซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้แล้วให้ความเห็นว่าเข้าองค์ประกอบตามข้อกล่าวหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาหรือไม่

    ส่วนผลตรวจพิสูจน์หลักฐานแผ่น DVD และลายพิมพ์นิ้วมือนั้น พยานยังไม่ได้รับมาแต่อย่างใด พยานจึงได้ส่งหนังสือทวงถามไปยังกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบกลับมาแต่อย่างใด ส่วนการตรวจประวัติการต้องโทษของโสภณนั้น พยานสามารถทำได้เอง แต่จะสามารถทำได้หลังจากได้รับผลตรวจพิสูจน์ของกลางและการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือก่อน

    ร.ต.อ.โยธี ตอบคำถามศาลเพิ่มเติมในเหตุขอฝากขังที่เพิ่มมาในรอบนี้ว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษที่การสรุปสำนวนนั้นต้องเสนอต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเป็นคณะทำงานในระดับกองบังคับการและระดับกองบัญชาการตามลำดับ พยานจึงขอฝากขังโสภณต่อเป็นครั้งที่ 3 อีกเป็นเวลา 12 วัน

    จากนั้นศาลให้ข้อแนะนำกับพนักงานสอบสวนว่า ควรนำเสนอระเบียบภายในหรือหนังสือแต่งตั้งคณะทำงานมาให้เรียบร้อยในคราวหน้า ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้เบิกความถึงรายละเอียดของคณะทำงานในสองระดับนั้นต่อศาลแต่อย่างใด

    ร.ต.อ.โยธี ตอบทนายผู้ต้องหาถามค้านว่า ในการรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางและลายพิมพ์นิ้วมือนั้น ไม่ว่าอย่างไรผู้ต้องหาจะไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงหรือยุ่งเกี่ยวกับความเห็นของหน่วยงานนั้นได้อยู่แล้ว ส่วนพยานบุคคลที่จะต้องสอบสวนเพิ่มอีก 1 ปากนั้น ผู้ร้องเองไม่สามารถบังคับให้พยานมาให้ความเห็นในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ อีกทั้งผู้ต้องหาเองก็ไม่สามารถที่จะสั่งการพยานปากนี้ได้เช่นเดียวกัน

    นอกจากนี้ พยานยังยืนยันคำเบิกความในการไต่สวนฝากขังครั้งก่อนว่า “การปล่อยตัวโสภณไม่มีผลต่อการสอบสวนและทำสำนวนคดี” แต่พยานตอบเพิ่มเติมว่า “แต่เกรงว่าเมื่อมีการสรุปสำนวนแล้วหากไม่มีตัวผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจศาลหรือจะให้ทำการหมายเรียกผู้ต้องหาเองก็จะเป็นการยาก”

    ร.ต.อ.โยธี รับว่า คดีนี้ตนไม่เคยออกมาเรียกโสภณให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาก่อน แต่ขอศาลให้ออกหมายจับเลย โดยอ้างว่าเนื่องจากคดีนี้มีโทษเกิน 3 ปี ซึ่งกฎหมายให้กระทำการเช่นนั้นได้ อีกทั้งจำได้ว่าการไต่สวนครั้งก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังต่อเพียง 5 วัน และกำชับว่าจะอนุญาตให้ฝากขังเป็น “ครั้งสุดท้าย”

    ++ศาลให้ฝากขังเก็ทต่ออีก 7 วัน (21-27 พ.ค.) แม้ครั้งก่อนศาลเคยมีคำสั่งให้ฝากขังเป็น “ครั้งสุดท้าย” อ้างให้เวลาพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีให้แล้วเสร็จ-เสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา++

    เวลาประมาณ 14.00 น. สมบัติ บุญหิรัญ และครรชิต ช่อเกตุ ผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโสภณต่ออีก 7 วัน เนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนยังทำสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ ซึ่งต้องทำการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก รอผลตรวจพิสูจน์ของกลาง ลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา มีรายละเอียดคำสั่ง ดังนี้

    “พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวน คำร้องขอคัดค้านของผู้ต้องหาแล้วได้ความจากผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้ส่งหนังสือให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตรวจพิสูจน์หลักฐานแผ่น DVD และรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับผลการตรวจพิสูจน์กลับคืนมา

    และการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหานั้น ผู้ร้องสามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาแล้ว อีกทั้งผู้ร้องได้ออกหมายเรียกพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก เพื่อมาให้การเพิ่มเติม ซึ่งพยานเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมายมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อมาให้ความเห็นในประเด็นเกี่ยวกับคลิปเหตุการณ์กระทำความผิดของผู้ต้องหาว่าพยานมีความเห็นอย่างไร อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาสั่งคดีของผู้ร้อง อีกทั้งผู้ร้องต้องเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาในระดับกองบังคับการและระดับกองบัญชาการพิจารณาสำนวนการสอบสวนก่อน

    ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่ผู้ต้องขังผู้ต้องหาอีกครั้ง ประกอบกับพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเคยให้ความเห็นว่า “การไม่ฝากขังผู้ต้องหาไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน” กรณีจึงไม่จำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหา ขอให้ศาลยกคำร้อง

    เห็นว่า ในการฝากขังครั้งนี้ผู้ร้องยังจะต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 1 ปาก ทั้งจะต้องสอบประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหา ซึ่งต้องดำเนินการภายหลังได้รับการการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว และผู้ร้องได้อ้างเพิ่มเติมในการฝากขังครั้งนี้ว่าจะต้องส่งสำนวนให้กับผู้บังคับบัญชา ซึ่งการเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาจะต้องกระทำภายหลังที่การสอบสวนในส่วนอื่นๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

    กรณีจึงมีเหตุจำเป็นแค่การสอบสวนที่จะอนุญาตให้ผู้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไปได้ ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อภยันตรายอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะขังผู้ต้องหานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรค 1 บัญญัติว่า เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

    ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่า เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ 1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ดังนั้น บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายครั้งผู้ต้องหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 (1)

    กรณีการฝากขังของผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 (2) ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน

    แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การดำเนินการสอบสวนในส่วนที่เหลือดังกล่าวไม่น่าจะใช้ระยะเวลานานถึง 12 วัน จึงอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 3 นี้ 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 21 – 27 พ.ค. 2565 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106”

    หลังมีคำสั่ง ทนายความได้ยื่นขอประกันโสภณเป็นครั้งที่ 3 โดยใช้เงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ต่อมา เวลา 15.50 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้อง “พิเคราะห์แล้วศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนตลอดการพิจารณาโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกคำร้อง”

    โสภณเล่าว่า อดอาหารเกินครึ่งเดือนทำน้ำหนักตัวลดลงไปกว่า 5 กิโลกรัมแล้ว ประกอบกับมีอาการหน้ามืดและอ่อนเพลีย โสภณยังฝากข้อความถึงพ่อว่า “ให้พ่อเข้มแข็งไว้ รู้ดีว่าลูกโดนคดีคงทำให้พ่อแม่รู้สึกกังวลแต่ขอให้พ่อแม่ยังมีความสุขได้และมีชีวิตอยู่ต่อไป เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมยังคาดหวังได้”

    สำหรับสิ่งที่อยากทำมากที่สุดตอนนี้โสภณบอกว่า นั่นคือ “การยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง” เพื่อจะได้ออกจากเรือนจำมาใช้ชีวิตปกติ โสภณบอกอีกว่า การถูกฝากขังระหว่างสอบสวนทำให้เขาไม่มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เนื่องจากจะไปสืบเสาะหาพยานหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ไม่มีความเป็นส่วนตัว มีข้อจำกัดหลายอย่างมาก

    สุดท้าย โสภณฝากถึงคนข้างนอกว่า “ผมขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดี อยู่ในนี้มันก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว ทำอะไรไม่ค่อยได้ ดูแลตัวเองดีๆ นะครับ”

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/43937)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเก็ทอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 4 โดยระบุเพิ่มเหตุผลสำคัญ เรื่องความจำเป็นจะต้องไปร่วมสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ซึ่งเปิดสอบเพียงปีละครั้ง โดยปีนี้เปิดสมัครในวันที่ 1-30 มิ.ย. 2565 นี้ และกำหนดสอบในวันที่ 24 ก.ค. 2565 เพียงวันเดียว

    ต่อมา อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโสภณ โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้วศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนตลอดจนชั้นพิจารณา โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44054)
  • เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังโสภณครั้งที่ 4 หลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อไปอีก 12 วัน ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังต่อ ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวน

    ที่ห้องพิจารณาคดี 916 มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 10 คน โดยมีตัวแทนจากสถานทูตเบลเยียมและสวีเดนเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย รวมถึงยังมีพ่อและแม่ของโสภณเข้าร่วมการไต่สวนเป็นครั้งแรกด้วย

    10.17 น. โสภณปรากฏตัวผ่านจอภาพวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ แต่พบปัญหาขัดข้องเทคนิคด้านเสียง โดยที่ศาลอาญาไม่ได้ยินเสียงที่ถ่ายทอดจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ประมาณ 20 นาที จึงกลับมาติดต่อสื่อสารกันได้ตามปกติ

    ทั้งนี้พบว่า ที่ศาลอาญาประสบปัญหาด้านเทคนิคและการถ่ายทอดสัญญาณหลายครั้ง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาที่ศาลแทนการประชุมผ่านจอภาพ แต่ศาลก็ไม่ได้อนุญาต โดยอ้างเหตุผลว่าไปเป็นตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

    การไต่สวนเริ่มต้นขึ้น โดยวันนี้มีพยาน 1 ปาก คือ ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ในฐานะผู้ร้อง เบิกความว่า วันนี้ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาในผัดที่ 4 ต่อไปอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. จนถึงวันที่ 8 มิ.ย. 2565 เนื่องจากยังทำการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ

    ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของผู้บังคับบัญชาระดับกองบังคับการตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ที่ 166/2565 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2565 และหากเสร็จสิ้นจะต้องเสนอผู้บังคับบัญชาระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

    ร.ต.อ.โยธี ตอบทนายถามค้านพยานว่า ทราบว่าผู้ต้องหาสำเร็จการศึกษาแล้ว แต่ไม่ทราบว่ายังมีสถานะเป็นนักศึกษาอยู่ โสภณแถลงว่า ตนเองสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และขณะนี้กำลังรอสอบใบประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิคอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีสถานะเป็นนักศึกษาอยู่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นปริญญาอีกใบหนึ่งด้วย

    ร.ต.อ.โยธี รับว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหา เพราะมีหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเท่านั้น และยอมรับว่า แม้ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ก็สามารถทำสำนวนและรอความเห็นผู้บังคับบัญชาต่อไปได้ และไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำสำนวนคดีแต่อย่างใด แต่หากเมื่อต้องสรุปความเห็นส่งพนักงานอัยการมีความจำเป็นต้องมีตัวผู้ต้องหาอยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นอัยการจะไม่รับฟ้อง

    ร.ต.อ.โยธี เบิกความอีกว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรอความเห็นการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อมีความเห็นสั่งฟ้อง โดยต้องรอความเห็นดังกล่าวก่อน ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด

    จากนั้นทนายความผู้ต้องหาแถลงขออนุญาตให้พ่อของโสภณได้แถลงต่อศาล เพื่อประกอบดุลยพินิจการมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ฝากขังโสภณหรือไม่ในวันนี้ ซึ่งศาลได้อนุญาต

    พ่อขอโสภณแถลงว่า ตนเป็นทันตแพทย์ชำนาญการสังกัดกรุงเทพฯ ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ตนได้เดินทางไปพบกับอาจารย์ภาควิชารังสีเทคนิค ที่วชิรพยาบาล โดยอาจารย์ได้บอกว่าในวันที่ 3, 4, 5, 24 และ 25 มิ.ย. 2565 จะมีการทบทวนความรู้เพื่อเตรียมสอบขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะรังสีเทคนิค และอาจารย์ได้มีหนังสือเป็นเอกสาร พร้อมลงชื่อผู้รับผิดชอบของคณะแพทย์ศาสตร์ได้นำส่งศาลแล้ว

    พ่อโสภณเบิกความอีกว่า โสภณต้องไปเตรียมทบทวนกับอาจารย์เพื่อเตรียมสอบใบประกอบโรค หากถูกขังไว้จะเป็นการเสียโอกาสโดยไม่จำเป็น โดยจะทำให้ไม่สามารถฟังบรรยายดังกล่าวได้

    นอกจากนี้วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป สถานพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้นักศึกษารังสีเทคนิคทุกคนต้องเข้ารับการตรวจร่างกายและรับใบรับรองผลตรวจ รวมถึงต้องส่งเอกสารประกอบการสมัครขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นความจำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพและการทำหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยต่อไป

    พ่อของโสภณเบิกความทิ้งท้ายว่า “ในฐานะทันตแพทย์คนหนึ่ง ไม่อยากให้โสภณเสียโอกาสการสอบเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้ไปโดยไม่จำเป็น และไม่ควรถูกขังไว้อีกต่อไป”

    โสภณแถลงทิ้งท้ายว่า “ตำรวจให้ฝากขังนานถึง 27 วันแล้ว ยังทำสำนวนไม่แล้วเสร็จอีกหรือ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดเจนมากๆ”

    พ่อบอกกับเก็ทว่า “พ่อแม่มาหาความยุติธรรมให้กับลูกนะครับ” ส่วนแม่บอกว่า “คิดถึงนะเก็ท แม่มาหาทุกวันเลย ไว้เจอกันนะครับ”

    จากนั้นศาลได้นัดฟังคำสั่งในเวลา 13.30 น.

    เวลา 13.30 น. ตามกำหนดที่ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ฝากขังโสภณต่อไปหรือไม่นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลถ่ายทอดสัญญาณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลับพบปัญหาทางเทคนิคอีกครั้ง โดยพบว่าไม่สามารถถ่ายทอดสัญญาณภาพได้ เจ้าหน้าที่ศาลจึงได้พยายามทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนานถึง 1 ชั่วโมง ก่อนจะกลับมาใช้งานการประชุมทางจอภาพได้ปกติ

    14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโสภณต่อไปอีก 7 วัน มี รายละเอียดคำสั่งโดยสรุปดังนี้

    "เห็นว่าการที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาในผัดที่ 4 นี้ เนื่องจากรอผู้บังคับบัญชาพิจารณา 2 ระดับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อผู้บังคับบัญชาระดับกองบังคับการ และเมื่อแล้วเสร็จจะต้องเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาระดับกองบัญชาการพิจารณาอีก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเกี่ยวกับคดีความมั่นคงกรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นให้ฝากขังต่อไปได้

    กรณีที่ฝั่งผู้ต้องหาคัดค้านว่ามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีพฤติการณ์ไปยุ่งเกี่ยวหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรค 1 บัญญัติไว้ว่าให้สามารถออกหมายขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนไว้ได้ เนื่องจากคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ระวางโทษจำคุก 3 – 15 ปี จึงเป็นกรณีให้สามารถออกหมายขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 71 ไว้ได้ ซึ่งศาลได้เคยวินิจฉัยมีคำสั่งในครั้งก่อนแล้ว

    ทั้งนี้ ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 และมาตรา 130 บัญญัติไว้ว่า ไม่ให้คุมขังผู้ต้องหาไว้นานเกินสมควรและให้เร่งรัดการสอบสวนโดยไม่ชักช้า และศาลเห็นว่าการสอบสวนใกล้แล้วเสร็จแล้ว ไม่น่าจะใช้เวลานานถึง 12 วัน จึงอนุญาตให้ฝากขังต่อไปในผัดที่ 4 นี้เพียง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. ถึงวันที่ 3 มิ.ย. 2565 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการให้ผู้ต้องหายื่นขอประกันตัว

    หลังศาลมีคำสั่ง โสภณได้ถามศาลว่า “ฝากขังผัดที่ 2 ศาลบอกจะให้ฝากขังเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’ ครั้งที่ 3 ก็บอกแบบนี้ นี่ครั้งที่ 4 ยังจะผัดต่อไปอีก ผมไม่เข้าใจว่าศาลมีจุดยืนไหม จะให้มีความเชื่อมั่นต่อศาลต่อไปได้อย่างไร”

    ศาลตอบว่า “ต้องพิจารณาตามคำร้องขอฝากขังเป็นครั้งๆ ไปว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และครั้งนี้ศาลก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่ามีความจำเป็นให้ฝากขัง”

    โสภณตอบว่า “แล้วผมจะเชื่ออะไรศาลได้อีก ศาลบอกว่าจะให้ฝากขังเป็นครั้งสุดท้ายไม่มีอยู่จริงเลย ฟังคำว่า ‘ครั้งสุดท้าย’ มาหลายครั้งแล้ว …”

    โสภณยังไม่ทันพูดจบ แต่เจ้าหน้าที่ศาลก็ได้ตัดสัญญาณการถ่ายทอดไปในทันที จากนั้นผู้พิพากษาก็รีบลุกเดินออกไปจากห้องพิจารณาทันทีเช่นกัน

    ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันโสภณอีกครั้งเป็นครั้งที่ 5 ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอประกันในวันที่ 31 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. โดยให้ผู้ร้องเตรียมพยานเข้าไต่สวนให้พร้อม

    แม่ของโสภณเปิดเผยว่า โสภณสอบสัมภาษณ์และมีสิทธิเข้าทำงานด้านรังสีเทคนิคที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยจะต้องเริ่มต้นงานวันแรกเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ขณะนั้นโสภณยังถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำ และไม่แน่ใจว่าหากโสภณถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว โรงพยาบาลจะยังรับเข้าทำงานอยู่หรือไม่

    ขณะเดียวกันในเดือนมิถุนายน โสภณจะต้องเข้ารับการทบทวนความรู้กับอาจารย์ที่คณะแพทย์วชิรพยาบาลเพื่อเตรียมสอบใบประกอบโรคศิลปะรังสีเทคนิคในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเปิดให้สมัครและสอบคัดเลือกเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

    ทั้งนี้ปลายปีนี้โสภณและครอบครัวยังวางแผนไว้ว่า จะให้โสภณเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์หลักสูตร 4 ปี ถึง 4 ปี ครึ่ง สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาสายสุขภาพเพื่อสำเร็จการศึกษาเป็นแพทย์ต่อไป

    แม่ของโสภณเล่าอีกว่า หลังลูกชายถูกจับกุม แม่ไปให้กำลังใจโสภณที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทุกวัน แม้จะเข้าเยี่ยมหรือพบหน้าไม่ได้ก็ตาม แต่แค่ได้ไปให้กำลังใจอยู่ด้านนอกอย่างใกล้ที่สุดก็เพียงพอแล้ว

    วันนี้ระหว่างไต่สวน โสภณเล่าว่าอดอาหารจนน้ำหนักตัวลดลงจนเห็นเส้นเลือดปูดตามร่างกายชัดเจน เรื่องนี้แม่แสดงความเป็นห่วงโดยเล่าว่า ก่อนหน้านี้โสภณเคยอ่านหนังสือสอบจนไม่ได้กินข้าวหลายวัน เมื่อต้องกินข้าวมื้อแรกเพียงไม่กี่คำ ก็เกิดอาการปวดท้องจนต้องพาตัวส่งโรงพยาบาล

    ประกอบกับเดิมโสภณมีโรคกระเพาะเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว แม่จึงแสดงความกังวลว่าลูกชายจะเผชิญอาการเหล่านี้หนักขึ้นไปอีก เมื่อต้องอดอาหารในช่วงที่ผ่านมา

    จากความกังวลข้างต้น แม่ได้พยายามส่งยารักษาโรคกระเพาะและยาธาตุน้ำขาวให้โสภณ แต่ถูกทางเรือนจำปฏิเสธไม่สามารถนำยาเหล่านั้นเข้าให้โสภณได้

    ทั้งนี้ พ่อและแม่ของโสภณยังเล่าอีกว่า ปู่ของโสภณรักและเป็นห่วงมาก ถามหาโสภณทุกวัน โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาปู่ถึงขนาดกับร้องไห้ เพราะเป็นห่วงและคิดถึงหลานชายมาก

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44108)
  • นัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัว โสภณไม่ได้ถูกเบิกตัวมาร่วมการไต่สวน แต่เข้าร่วมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่อ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

    เวลา 10.00 น. บรรยากาศในห้องพิจารณาคดี 703 แม่ของโสภณในฐานะผู้ร้องขอประกันตัว ได้เดินทางมาพร้อมพ่อ และมีญาติของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์คดีในวันนี้ด้วย

    ก่อนการพิจารณาคดี แม่ของโสภณได้ถามไถ่สุขภาพและความเป็นอยู่ของลูกชาย ส่วนพ่อได้กำชับให้เขาดื่มนมและน้ำให้มากในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ และกล่าวกับเขาว่า “พ่อกับแม่สบายดี ดูแลตัวเองและกินข้าวทุกมื้อ เพื่อรอเก็ทออกมาในวันนี้”

    ++แม่แถลงต่อศาลว่าลูกชายตนเป็นผู้ประพฤติดี มีความรับผิดชอบ แต่เงื่อนไขหากให้ติด EM อาจกระทบต่อการประกอบอาชีพ++

    ศาลเริ่มการไต่สวนประกันตัวในเวลา 10.10 น. โดยแม่โสภณได้เข้าเบิกความต่อศาลเป็นคนแรก ระบุว่าตนเป็นผู้เลี้ยงดูลูกตั้งแต่แรกเกิดจนปัจจุบัน อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้าน ซึ่งมี พ่อ แม่ ปู่ ย่า และน้องชายของโสภณอยู่ร่วมด้วย

    ระหว่างที่แม่ของโสภณแถลงต่อศาล สัญญาณภาพจากวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ก็ได้หลุดออกไป ก่อนเชื่อมต่อได้อีกครั้งในเวลา 10.30 น. ทนายความได้ถามแม่ว่า โดยปกติแล้วผู้ต้องหามีนิสัยเป็นอย่างไร แม่ของโสภณอธิบายว่า เก็ทเป็นคนเรียบร้อย อ่อนโยน ทำงานบ้านและช่วยเหลือดูแลคุณปู่ คุณย่าอยู่ตลอด ตลอดจนไม่เคยละเลยหมาแมวที่ตนนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน เขาเป็นคนมีความรับผิดชอบ

    ทนายความถามต่อว่า ถ้าศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะมีเงื่อนไขใดหรือไม่ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของลูก โดยแม่ระบุว่า “ไม่อยากให้ติด EM เพราะจะทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพของเขาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากตัวเก็ทเรียนวิชาชีพทางการแพทย์ที่มีการเข้าห้องแล็บ และห้องรังสี ซึ่งสัญญาณคลื่นจากกำไล อาจส่งผลต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้มีคลื่นรบกวนหรือส่งเสียงร้องตลอดเวลา”

    แม่ยังระบุว่า ในการสอบใบประกอบวิชาชีพจะต้องไปสนามสอบ ซึ่งมีการสอบภาคปฏิบัติ หากติด EM จะทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษาด้วย

    อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ถามแม่ของโสภณว่าหากศาลกำหนดเงื่อนไขอื่น แม่และพ่อจะสามารถดูแลผู้ต้องหาให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้หรือไม่ แม่ของโสภณก็ได้ตอบชัดเจนว่าสามารถควบคุมกำกับลูกให้อยู่ในเงื่อนไขประการอื่นได้

    นอกจากนี้ ศาลได้ถามแม่ของโสภณว่า ถ้าปล่อยตัวออกไปแล้ว ผู้ต้องหาจะมีการไปทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกหรือไม่ แม่ของโสภณได้แถลงต่อว่า “หากลูกได้รับการปล่อยตัว จะบังคับไม่ให้ไปขึ้นเวทีปราศรัยใดๆ อีก และจะมีการกำกับการดูแลอย่างเข้มงวด”

    ++พ่อขอให้ลูกได้ทำภารกิจทางการศึกษาให้สำเร็จ++

    ทนายความได้สอบถามพ่อของโสภณต่อ ในฐานะผู้กำกับดูแล และเป็นทันตแพทย์ โดยให้อธิบายเรื่องเงื่อนไขการติด EM และการออกนอกเคหสถานที่จะเป็นอุปสรรคต่อภารกิจทางการศึกษา

    พ่อของโสภณได้อธิบายว่า ในฐานะที่ตนประกอบวิชาชีพแพทย์ ช่วงนี้คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแพทย์รังสี โดยในวันที่ 3 – 5 มิ.ย. 2565 นี้ จะมีการบรรยายอบรมเตรียมความพร้อมนักศึกษาแพทย์ของภาควิชารังสีเทคนิค ที่วชิรพยาบาล โดยอาจารย์ที่ปรึกษาจะทำการทบทวนความรู้ให้นักศึกษาแพทย์ได้ไปเตรียมสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ซึ่งอาจารย์ได้ฝากบอกมาว่าหากเก็ทได้ออกไปภายในวันนี้ ขอให้เขามารายงานตัวกับอาจารย์โดยตรงทันที

    นอกจากนี้ พ่ออธิบายต่อศาลว่า ในวันที่ 1 – 30 มิ.ย. 2565 จะเป็นช่วงที่นักศึกษาแพทย์จะต้องทำการยื่นใบสมัครเพื่อสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะรังสีเทคนิค ที่กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ หากไม่ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด จะทำให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ได้เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งทำให้เสียเวลาและโอกาสการประกอบอาชีพของเก็ทไป

    พ่อของโสภณยังแถลงว่า เนื่องจากเก็ทต้องประกอบวิชาชีพในโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์เยอะ การติด EM นั้น เหมือนการตัดแข้งตัดขาในการประกอบอาชีพ และจะเป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วย

    “ผมขอความเมตตา เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน อย่าติดกำไล EM เลยครับ” พ่อของโสภณแถลงต่อศาลด้วยน้ำเสียงสั่นคลอน ก่อนจะพูดต่อว่า “ขอให้ศาลพิจารณาให้เก็ทสามารถเดินทางไปทำงานที่โรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้”

    ทนายได้ถามพ่อของโสภณต่อว่า หากศาลกำหนดเป็นเงื่อนไขอื่นใด จะสามารถกำกับดูแลให้ลูกอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวได้หรือไม่ พ่อของโสภณได้ตอบว่า “ยืนยันว่าทำได้ ผมไม่อยากให้ลูกอยู่ในแวดวงการเมืองอีกแล้ว อยากให้เขามุ่งมั่นกับการอาชีพทางการแพทย์ที่เรียนมา และจะไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้อีก”

    นอกจากนี้ศาลได้ถามถึงผู้กำกับดูแลอีกคน ซึ่งเป็นปู่ของโสภณว่าเดินทางมาในวันนี้หรือไม่ พ่อของโสภณแถลงว่าตนเป็นผู้รับมอบฉันทะจากปู่ด้วยในวันนี้ เนื่องจากปู่นั้นอายุมากแล้ว จึงไม่สะดวกในการเดินทางมาเบิกความในศาล

    ต่อมาในเวลา 11.10 น. เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลได้สอบถามว่า ผู้ร้องและผู้กำกับดูแลมีอะไรจะแถลงเพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากศาลจะไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจออกคำสั่ง โดยขอให้รอฟังคำสั่งในช่วงบ่ายวันนี้ เนื่องจากต้องนำถ้อยคำแถลงไปปรึกษากับ “ท่านรองฯ” ก่อน

    อย่างไรก็ตาม ศาลได้แจ้งว่าจะบันทึกถ้อยคำที่แม่และพ่อของ ตลอดจนเอกสารคำแถลงจากปู่ของโสภณในฐานะผู้กำกับดูแลอีกคน ลงในสำนวนเพื่อทำการปรึกษากับคณะผู้บริหารศาลในวันนี้ด้วย

    ++เก็ทยืนยัน EM จะเป็นปัญหาต่อการสอบและประกอบวิชาชีพแพทย์รังสี++

    ในเวลา 13.15 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยถามโสภณว่า หากได้รับการปล่อยตัวออกไปจะให้คำมั่นต่อศาลได้หรือไม่ว่า จะตั้งใจเรียนและทำเพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่งโสภณได้ยืนยันว่าจะทำตามคำมั่นดังกล่าว

    อย่างไรก็ตาม ศาลได้ถามผู้ต้องหาถึงเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถติด EM ได้คืออะไร โดยโสภณได้อธิบายว่า EM จะส่งคลื่นและแรงดูดที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองได้ โดยเฉพาะในการเข้าห้องแลป หรือห้อง MRI ตลอดจนการทำ CT scan ผู้ป่วย ซึ่ง EM อาจส่งคลื่นสัญญาณรบกวนผลภาพเอ็กซเรย์ของผู้ป่วยให้ผิดพลาดได้

    ทั้งนี้ ศาลได้ถามต่อว่าการกำหนดเวลาออกนอกเคหสถานจะมีผลต่อการประกอบวิชาชีพอย่างไรบ้าง โดยโสภณได้แถลงว่า การทำงานของแพทย์จะมีการออกเวรเป็นกะ ซึ่งจะต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ การกำหนดเวลาออกนอกเคหสถานอาจส่งผลให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพหรือช่วยเหลือผู้ป่วยได้

    เมื่อผู้ต้องหาได้แถลงจนหมดข้อสงสัย ศาลจึงได้ให้รอฟังคำสั่งต่อไป โดยให้ทนายความและครอบครัวของโสภณลงไปรอฟังคำสั่งที่ห้องงานประกันในชั้นล่างของศาล ก่อนจะตัดการเชื่อมต่อการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไป ทนายความได้ถามโสภณว่ามีสิ่งใดอยากจะฝากต่อสังคมหรือไม่ หากไม่ได้รับการประกันตัวในวันนี้ โสภณได้เล่าว่าช่วงนี้ตนได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับกาลิเลโอ มีตอนที่เล่าถึงเหตุการณ์ที่ศาสนจักรได้บังคับให้กาลิเลโอถอนคำพูดในหนังสือของเขา ที่บอกว่าโลกกลมนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล กาลิเลโอก็ได้กล่าวตามที่ทางศาสนจักรต้องการ โดยพ่วงท้ายว่าถึงอย่างไรเสีย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกนี้กลม ซึ่งโสภณได้เปรียบมันกับผู้มีอำนาจในสังคมนี้โดยกล่าวว่า “ต่อให้สังคมผู้มีอำนาจจะคิดว่าสังคมมีชนชั้นวรรณะอย่างไรก็ตาม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์นี้เท่ากันทุกคน”

    ++ศาลให้ประกัน ไม่ต้องติด EM แต่ห้ามออกนอกเคหสถาน 24 ชม. เว้นป่วย-เพื่อการศึกษา++

    ต่อมาเวลา 16.20 น. กว่า 2 ชั่วโมงในการรอฟังคำสั่ง ศาลอาญาได้มีคำสั่งระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีผู้ต้องหายืนยันว่าหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว จะไม่ไปกระทำการในลักษณะ หรือทำนองเดียวกันในคดีนี้อีก และมารดาของผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และบิดาของผู้ต้องหายืนยันในทำนองเดียวกันว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว จะช่วยกันควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ไม่ให้ผู้ต้องหาไปกระทำการในลักษณะ หรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา

    เพียงแต่ขอให้ศาลไม่กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ให้ติด EM เนื่องจากผู้ต้องหาเรียนคณะแพทย์ศาสตร์รังสี ในการเรียนและประกอบวิชาชีพต้องการเข้าไปในห้องรังสี หากติด EM ดังกล่าวแล้ว จะทำให้รบกวนห้องรังสีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการทำงาน ประกอบกับการสอบใบประกอบโรคศิลป์ ต้องมีการไปฝึกปฏิบัติที่ภาคสนาม ต้องเข้าอบรมต่างๆ ซึ่งไม่สะดวก

    คำร้องของปู่ของผู้ต้องหา ยืนยันรับรองว่าเป็นผู้เลี้ยงดูผู้ต้องหามาโดยตลอด ผู้ต้องหาเป็นเด็กมีความตั้งใจเรียน กำลังศึกษาเพื่อประกอบวิชาชีพนักรังสีเทคนิค และตั้งใจต่อเป็นแพทย์ในอนาคต เป็นเด็กนิสัยดี ไม่เกเร หากศาลมีคำสั่งเงื่อนไขใดๆ ในการกำกับดูแลก็จะร่วมกับศาลทุกประการในการดูแลให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด เพราะตนเป็นผู้เชื่อมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งนามสกุลของตนซึ่งเป็นของผู้ต้องหาด้วยนั้น ได้รับพระราชทานมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9

    จึงเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนในชั้นนี้ เป็นระยะเวลาจำกัดก่อนมีกำหนด 1 เดือน นับตั้งแต่วันนี้ ตีราคาประกันในวงเงิน 100,000 บาท ทำสัญญาประกัน โดยกำหนดเงื่อนไขผู้ต้องหา

    1. ห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

    2. ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

    3. ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

    4. ห้ามผู้ต้องหาออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่เพื่อการศึกษา หรือรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย โดยได้รับอนุญาตจากศาลล่วงหน้า หากเป็นกรณีเพื่อการศึกษา ให้แสดงหลักฐานโดยมีการรับรองจากสถาบันการศึกษาและอาจารย์ผู้ควบคุมดูแลในแต่ละรายวิชาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน หากเป็นกรณีให้เหตุเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ ต่อศาลภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ไปพบแพทย์

    ศาลยังให้แต่งตั้ง ปู่ บิดา และมารดาของโสภณ ร่วมกันเป็นผู้กำกับดูแล ควบคุมความประพฤติของผู้ต้องหา ตักเตือนและควบคุมให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไข จะถือว่าผู้กำกับดูแลทั้ง 3 ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในอันที่จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ต้องหาอีกต่อไป และถือว่าผู้ร้องปล่อยตัวชั่วคราวผิดสัญญาประกัน แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ ศาลกำหนดวันนัดรายงานตัวครั้งแรก ในวันที่ 20 มิ.ย. 2565

    ทั้งนี้ หลักทรัพย์ประกันตัวในคดีมาจากกองทุนราษฎรประสงค์

    เวลา 20.20 น. โสภณจึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 30 วัน โดยอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวรวม 22 วัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญา ลงวันที่ 31 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44337)
  • พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโสภณในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยกล่าวหาโสภณว่ากระทำความผิดรวม 2 กรรม กล่าวคือ

    1. เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 จําเลยได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชาชนที่มารวมกลุ่มชุมนุมทํากิจกรรมทัวร์เส้นทางสายประวัติศาสตร์ (ฝ่ายซ้าย) ภายใต้ชื่อกิจกรรม ทัวร์มูล่าผัว ด้วยข้อความที่ทําให้เข้าใจความหมายว่า รัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นคนไม่ดี โดยประการที่น่าจะทําให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทรงถูกดูหมิ่น หรือทรงถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี

    2. จําเลยได้ปราศรัยแสดงความคิดเห็นต่อประชาชาชนที่มารวมกลุ่มชุมนุมทํากิจกรรม โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า (โทรโข่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต

    ท้ายฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ขอให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในอีกคดีของศาลนี้

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2565)
  • โสภณเดินทางไปรายงานตัวตามสัญญาประกันในชั้นสอบสวน หลังอัยการยื่นฟ้องแล้ว ทนายจึงต้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาอีกครั้ง โดยใช้หลักประเดิมในชั้นสอบสวน

    ต่อมา หลังศาลถามคำให้การ โดยโสภณให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 ก.ค. 2565 และมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยโสภณชั่วคราวในระหว่างพิจารณามีกำหนด 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขประกันและผู้กำกับดูแลเช่นเดิม

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2565)
  • โสภณพร้อมทนายจำเลยเดินทางไปในนัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์แถลงว่า มีพยานบุคคลที่จะนำสืบรวม 11 ปาก ใช้เวลาสืบพยานรวม 2 นัด ด้านจําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า คําพูดที่กล่าวในคําฟ้อง จําเลยไม่ยอมรับว่ามีการคัดมาครบถ้วนหรือไม่ เพราะจําเลยมีเจตนาที่จะปราศรัยหรือกล่าวต่อเจ้าตํารวจที่มาขัดขวางจําเลยกับพวก จําเลยไม่ได้มีเจตนากล่าวถึงพระมหากษัตริย์และพระราชินี ซึ่งผู้ที่ได้อ่านข้อความและผู้ที่อยู่ในที่ชุมนุมซึ่งได้ฟังคําปราศัยก็เข้าใจว่า จําเลยไม่ได้เจตนากล่าวพาดพิงสถาบันกษัตริย์ตามที่โจทก์ฟ้อง และจําเลยไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงที่จะต้องขออนุญาต จําเลยมีพยานบุคคลรวม 12 ปาก ใช้เวลาสืบรวม 2 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 4-5 ก.ค. 2566 นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 6-7 ก.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 25 ก.ค. 2565)
  • ทนายเข้ายื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งประกัน เนื่องจากศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจนถึงวันที่ 20 ก.ย. 2565 เป็นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา หรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน จากเดิมมีกำหนด 24 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็นมีกำหนดระยะเวลาช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร เนื่องจากจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องออกนอกเคหสถานเพื่อสมัครงานหารายได้และฝึกฝนความรู้เพิ่มประสบการณ์ในสายวิชาชีพ

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโสภณเป็นเวลา 3 เดือน และยกคำร้องในส่วนที่ขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน

    (อ้างอิง: คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 16 ก.ย. 2565)
  • ที่ศาลอาญา ทนายจำเลยเข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ หลังเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 โสภณได้ยื่นคำร้องขอออกนอกเคหสถานเพื่อไปประกอบอาชีพ ต่อมาศาลได้มีคําสั่งว่า "นัดไต่สวนเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. แจ้งโจทก์และพนักงานสอบสวนให้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมชุมนุมของจําเลยต่อศาลก่อนหรือในวันนัด ให้นายประกันส่งตัวจําเลยมาศาล ในวันนัดคําขออื่นให้ยก ให้ผู้กํากับดูแลมาศาลในวันนั้น"

    อุทธรณ์ของโสภณระบุว่า คําสั่งดังกล่าวเป็นคําสั่งที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และเป็นคําสั่งที่นอกจากจะเกินไปจากคําขอของจําเลยแล้ว ยังเป็นคําสั่งที่ขาดเหตุผลที่เกี่ยวกับการยกคําร้องที่จําเลยขออนุญาตออกไปทํางานประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักในคําร้องขอของจําเลย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และมีคําสั่งอนุญาตให้จําเลยออกนอกเคหสถานได้ตามคําร้องของจําเลย และยกคําสั่งที่เกินคําขอของศาลอาญาด้วย

    ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 28 พ.ย. 2565)
  • เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนการถอนประกันโสภณในคดีนี้ และ “ใบปอ” ในคดีแชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565

    ในช่วงเช้าก่อนเริ่มการพิจารณา ได้มีสื่ออิสระ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร ญาติ และผู้มาให้กำลังใจ “เก็ท-ใบปอ” ส่วนหนึ่งทยอยมานั่งรอเต็มห้องพิจารณาคดี 703 เพื่อติดตามสถานการณ์การไต่สวนการถอนประกันนักกิจกรรมทั้ง 2 ราย

    เวลา 10.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนเริ่มการไต่สวน ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า กรณีการไต่สวนวันนี้ ทนายจำเลยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าวหาและกล่าวหาจากเหตุใด รวมถึงโจทก์มีเอกสารที่อ้างส่งประกอบการไต่สวนเป็นจำนวนมาก และจำเลยประสงค์นำพยานเข้าสืบจำนวนหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทนายจำเลยจึงขอเลื่อนไปอีกสักนัด เพื่อเตรียมตัวและยื่นบัญชีระบุพยานเพื่อโต้แย้ง นอกจากนี้ ทนายจำเลยแถลงอีกว่า ประสงค์จะรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ต่ออุทธรณ์ที่ทนายจำเลยยื่นเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565

    ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ติดตามคำสั่งมาโดยตลอด ทราบว่าได้มีการส่งศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งลงมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับทนายจำเลยว่าคำสั่งดังกล่าวยังไม่ออก รวมถึงศาลเจ้าของสำนวนก็ไม่ทราบเรื่องคำสั่งรับคำอุทธรณ์ของจำเลยแต่อย่างใด

    ด้านศาลชี้แจงว่า การไต่สวนเกิดจากเจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลว่า “ใบปอ” มีพฤติการณ์ผิดเงื่อนไขสัญญาประกัน จากภาพข่าวสารที่ศาลได้รับรายงานมาได้ปรากฏภาพของจำเลยที่เข้าร่วมการชุมนุมในช่วงการประชุม APEC ทั้งนี้ศาลย้ำว่าวันนี้เป็นเพียงการดูข้อเท็จจริงสั้นๆ ว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ จึงจะให้มีการไต่สวนวันนี้ โดยศาลได้ปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแล้ว

    ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ขอโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่อยากให้ใครมีอำนาจเหนือผู้พิพากษาเจ้าของคดี โดยทนายจำเลยและจำเลยจะขอปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ว่าจะสามารถเลื่อนการไต่สวนถอนประกันตัวออกไปได้หรือไม่

    ต่อมา 11.00 น. รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาออกนั่งพิจารณา ทนายจำเลยแถลงว่า โสภณและใบปอได้ถูกเจ้าหน้าที่เรียกมาศาล โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอัยการโจทก์เพิ่งมีการยื่นเอกสารหลักฐานเมื่อเช้า และมีพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการผิดสัญญาการประกันตัว ซึ่งทนายจำเลยจะขอใช้เวลาตรวจสอบดูก่อนและขอเลื่อนนัดไปสักนัด

    ด้านศาลชี้แจงว่า นี่เป็นเรื่องที่ศาลพิจารณาและสามารถไต่สวนเองได้ ไม่จำเป็นต้องมีใครร้องขอ ในส่วนประเด็นเรื่องอุทธรณ์ ศาลเห็นว่าคำสั่งรับคำอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เป็นกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ พิเคราะห์ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำอุทธรณ์ เป็นคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

    อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนการถอนประกันตัวไปเป็นวันที่ 19 ธ.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51556)
  • ก่อนเริ่มการไต่สวนถอนประกันตัวเก็ทกับใบปอ ศาลได้แจ้งว่าตนมีหน้าที่เพียงมาจดบันทึกการไต่สวนและรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะต้องนำเข้าปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาต่อไป

    อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่า ในการร้องขอถอนประกัน เหตุเนื่องจากโสภณได้เคลื่อนไหวและเข้าร่วมการชุมนุมในระหว่างการประชุม APEC 2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 และกระทำผิดเงื่อนไขประกัน

    อัยการได้ขอเบิกตัวพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนและสอบสวนหาข้อเท็จจริงเข้าเบิกความ 1 ปาก คือ ร.ต.อ.หัตถพล เทพภักดี รองสารวัตรสืบสวน สน.ลุมพินี ซึ่งไปสังเกตการณ์ในวันเกิดเหตุ

    พยานเบิกความว่า ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 มีกลุ่มมวลชนนัดจัดกิจกรรมยื่นหนังสือต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา แต่พยานไม่ทราบว่าหนังสือฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาว่าอย่างไรหรือเป็นเรื่องอะไร โดยภายหลังการยื่นหนังสือเสร็จ พยานเบิกความว่า ใบปอได้มีการประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนว่า จะจัดกิจกรรมเดินขบวนไปยื่นหนังสือต่อผู้นำโลกที่เข้าร่วมการประชุม APEC 2022 ในวันที่ 17 พ.ย. 2565

    ในวันดังกล่าว บริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จัดเป็นพื้นที่หวงห้ามชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ตั้งแต่วันที่ 11 – 19 พ.ย. 2565 พยานพบมวลชนราว 30 คน บริเวณแยกอโศกซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้าม โดยห้ามประชาชนสัญจรตั้งแต่แยกอโศกจนถึงแยกพระราม 4 และมีการชูป้ายข้อความว่า ‘ยกเลิก 112’ และ ‘หยุดฟอกเขียวทุนเจ้า’ แต่ป้ายหยุดฟอกเขียวดังกล่าว พยานไม่เข้าใจว่ามีความหมายว่าอย่างไร ตลอดจนการพูดแถลงการณ์ของเก็ทที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่พยานไม่เข้าใจเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่สันทัดภาษาอังกฤษ

    หลังจากการอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้นแล้ว มีเจ้าหน้าที่เขาไปเจรจาแจ้งว่า การชุมนุมผิด พ.ร.บ.การชุมนุมฯ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการโปรยกระดาษเอสี่ ลงบนพื้นถนนและราดน้ำสีเขียวลงบนป้ายผ้าที่เตรียมมา พยานเบิกความว่ามีผู้ชุมนุมนำน้ำเปล่าและสีสเปรย์พ่นใส่ตำรวจในบริเวณแยกอโศก

    อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมวันที่ 17 พ.ย. 2565 พยานไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ แต่เข้าใจว่าการที่กลุ่มจำเลยพยายามเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม เพราะต้องการยื่นหนังสือเรื่องความไม่เป็นธรรมของรัฐบาลไทย แต่พยานทราบมา ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งผู้ชุมนุมแล้วว่าให้ยื่นหนังสือผ่านตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่ไม่เป็นผล โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มาตั้งขบวนกันที่ถนนสุขุมวิท การชุมนุมยุติลงในเวลาประมาณ 15.00 น.

    ทนายจำเลยถามค้านพยานว่า ตามประกาศของนายกรัฐมนตรีที่มีคำสั่งเกี่ยวกับการชุมนุม ก็มีเพียงแค่ในบริเวณหน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และโรงแรมที่พักของผู้นำประเทศต่างๆ เท่านั้นใช่หรือไม่ พยานตอบว่า การยื่นหนังสือหน้าสถานทูตสหรัฐในวันที่ 15 พ.ย. 2565 ไม่ได้มีกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวาย และกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาเพียง 20 นาที ก่อนแยกย้ายกันกลับ และในวันที่ 17 พ.ย. 2565 ช่วงที่มีการอ่านแถลงการณ์ใช้เวลาเพียงคนละ 10 นาทีเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่าบริเวณบริเวณแยกอโศกที่จัดกิจกรรมนั้น เป็นพื้นที่หวงห้ามตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และพยานไม่ทราบว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมทำกิจกรรมนั้นเป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

    ร.ต.อ.หัตถพล ยืนยันว่าพยานเป็นผู้ทำรายงานการสืบสวนด้วยตนเอง โดยเนื้อหาและข้อความในรายงานพยานเป็นคนจัดทำมาจากเหตุการณ์ที่เห็นด้วยตนเองทั้งหมด

    ทนายถามพยานต่อว่า ในการประชุม APEC มีหัวข้อหลักในการประชุมคือประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย แต่พยานเบิกความว่าไม่ทราบ และเมื่อทนายถามว่าการเรียกร้องของกลุ่มจำเลย เป็นการเรียกร้องทางด้านสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นประเด็นที่มีอยู่ในการประชุมดังกล่าว พยานตอบว่า ไม่มีความเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะสามารถชุมนุมเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มผู้นำเอเปคได้หรือไม่ต้องไปถามผู้กล่าวหา ซึ่งพยานเองก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร

    นอกจากนี้ ทนายยังได้ถามต่อพยานว่า ในช่วงเวลาของการจัดประชุม APEC มีกลุ่มนักกิจกรรมกรีนพีซมาจัดกิจกรรมว่ายน้ำที่บริเวณสระน้ำหน้าศูนย์ประชุมในวันที่ 13 – 14 พ.ย. 2565 ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวน ของ สน.ในท้องที่ พยานทราบเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ พยานบอกว่าจำไม่ได้ว่าเคยได้รับรายงานหรือยัง

    หลัง ร.ต.อ.หัตถพล เบิกความเสร็จ โจทก์แถลงมีพยานที่ประสงค์จะสืบอีก 1 ปาก เป็นพยานที่รับเอกสารจาก ร.ต.อ.หัตถพล ศาลเห็นว่า ร.ต.อ.หัตถพล นำสืบรับรองเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงให้งดสืบพยานปากดังกล่าว โจทก์แถลงหมดพยาน

    ทนายจำเลยแถลงว่า ประสงค์จะสืบพยาน 4 ปาก แต่เนื่องจากในวันนี้หมดเวลาราชการและยังคงมีเอกสารอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องทำการพิจารณา ตลอดจนความคลุมเคลือของตัวผู้กล่าวหาและร้องขอถอนประกันตัว ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด จึงขอเลื่อนออกไปนัดหน้า ศาลเห็นสมควรให้เลื่อนไต่สวนพยานจำเลยไปเป็นวันที่ 26 ธ.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 19 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/52039)
  • วันนี้ครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโสภณ ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอต่อสัญญาประกันไปอีก 3 เดือน แต่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2565 เท่านั้น
  • เก็ทและใบปอเดินทางมาศาลพร้อมกับครอบครัว โดยมีประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีและให้กำลังใจทั้งสองคนเป็นจำนวนมากเต็มพื้นที่ห้องพิจารณา และมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรมาร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย นอกจากนี้ยังมีตำรวจศาลกว่า 7 นาย มาดูแลรักษาความปลอดภัยทั้งในและนอกห้องพิจารณา โดยมีการตั้งโต๊ะตรวจและขอถ่ายรูปบัตรประชาชนของทุกคนที่เข้าห้องพิจารณา

    เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ทนายจำเลยแถลงว่า จากการไต่สวนพยานโจทก์ในนัดที่ผ่านมา พบว่าพยานโจทก์เองไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะขอถอนประกันได้ จึงไม่จำเป็นต้องนำพยานจำเลยเข้าไต่สวน

    อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการไต่สวนเพิกถอนประกันในครั้งนี้ โดยมีสาเหตุ 2 ประการ ดังนี้

    1. คำสั่งให้มีการนัดไต่สวนเพิกถอนประกันในคดีนี้อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์

    เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 เก็ทได้ยื่นคำร้องขอออกนอกเคหสถาน แต่ศาลมีคำสั่งต่อคำร้องดังกล่าวว่า ให้นัดไต่สวนเพิกถอนการประกันตัวในวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ซึ่งไม่ไช่เรื่องที่จำเลยยื่นคำร้อง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการสั่งเกินกว่าคำขอ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จำเลยจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์แล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 และศาลอาญามีคำสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 1 ธ.ค. 2565 และส่งไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว โดยศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ในวันที่ 6 ธ.ค. 2565

    ดังนั้น การที่ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์จำเลย เป็นไม่รับอุทธรณ์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอุทธรณ์แล้ว ดังนั้นจำเลยจึงขอให้ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกการไต่สวนกรณีนี้ไว้ก่อน เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อน

    2. การขอให้เพิกถอนประกันในครั้งนี้เป็นกรณีที่ศาลมีความเห็นเอง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว

    คดีนี้เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมเป็นผู้ขอให้มีการเพิกถอนประกัน โดยพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นการไต่สวนเพิกถอนประกันในครั้งนี้จึงไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว เห็นได้จากที่ศาลยังต้องอาศัยโจทก์และพนักงานสอบสวนขวนขวายหาพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาข้ออ้างในการเพิกถอนประกัน การกระทำของจำเลยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดต่อบทกฎหมายใดๆ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ผิดเงื่อนไขการประกันตัว

    เมื่อทนายความร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการไต่สวนถอนประกันในครั้งนี้ ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาในวันนี้จึงกล่าวว่าตนเป็นเพียงผู้พิพากษาที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารศาลให้มาไต่สวนเอาข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนเท่านั้น ดังนั้นคำร้องที่ทนายความส่งมาในวันนี้ จึงต้องนำไปปรึกษากับผู้บริหารศาลก่อน

    หลังจากปรึกษากับผู้บริหารศาลแล้ว ศาลมีคำสั่งรับคำร้องของทนายจำเลยไว้พิจารณา และนัดฟังคำสั่งว่าจะเพิกถอนประกันทั้งสองหรือไม่ ในวันที่ 9 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51831)
  • วันนี้ครบกำหนดที่ศาลอาญาให้ประกันโสภณ ทนายจึงได้ยื่นคำร้องขอต่อสัญญาประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้จนถึงวันที่ 9 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำสั่งไต่สวนถอนประกัน
  • เวลา 09.20 น. เก็ทและใบปอ พร้อมครอบครัวได้เดินทางมาถึงที่ห้องพิจารณาคดีที่ 912 โดยในวันนี้มีการตั้งจุดตรวจสัมภาระที่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีและให้กำลังใจจำเลยทั้งสองคนเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งในวันนี้มีนัดไต่สวนถอนประกันตัวในเหตุเดียวกันอีกด้วย

    ต่อมาในเวลา 10.00 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ออกนั่งอ่านคำสั่งด้วยตนเอง ระบุว่า “พิเคราะห์ พยานหลักฐานของโจทก์และรายงานเจ้าหน้าที่แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลเคยอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสองคน โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง

    ศาลเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองคน เข้าร่วมชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 จนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมามีการนำมวลชนมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจำเลยทั้งสองคนไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงหรือเหตุผลใดในการกระทำของจำเลย การกระทำของจำเลยทั้งสองคนจึงเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขประกันตัวที่ศาลกำหนดไว้”

    หลังจากศาลมีคำสั่ง ทั้งสองคนได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว และนำตัวไปยังเรือนจำ โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้งสองคนอีกครั้ง โดยขอวางหลักทรัพย์คดีละ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ต่อมาเวลา 16.20 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเก็ทในคดีนี้ และใบปอในอีก 2 คดี ระบุว่า “จำเลยมีพฤติการณ์ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวจนศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าหากศาลปล่อยชั่วคราวจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นและกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก รวมทั้งผิดเงื่อนไขที่ศาลจะกำหนดแก่จำเลย กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ยกคำร้อง”

    ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้เก็ทถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากถูกคุมขังในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 มาแล้ว 30 วัน ขณะที่ใบปอถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากเคยถูกคุมขังในช่วงปี 2565 เป็นระยะเวลา 94 วัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52039)
  • ขณะ "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ "แบม" อรวรรณ ภู่พงษ์ อดอาหารเพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองเป็นวันที่ 34 ทนายความได้ยื่นประกันผู้ต้องขังคดีการเมืองจำนวน 6 ราย ได้แก่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ ใบปอ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังถูกศาลสั่งถอนประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566, “พรพจน์ แจ้งกระจ่าง”, “คทาธร” และ “ถิรนัย, ชัยพร (สงวนนามสกุล)” ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิด

    คำร้องขอประกันของเก็ทในคดีนี้ มีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยประสงค์ที่จะยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท และในคดีนี้ จำเลยได้มีปัญหาสุขภาพเนื่องจากอดนอนเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2566 จนถึงปัจจุบันมาเป็นระยะเวลา 14 วัน หรือมากกว่า 336 ชั่วโมงแล้ว โดยมีอาการเจ็บหน้าอก มือสั่นตลอดเวลา และแขนขาอ่อนแรง มีการตอบสนองช้า และรับประทานอาหารได้น้อย จึงขอประกันเพื่อให้จำเลยได้ออกมาเข้ารับการรักษา ตลอดจนต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ซึ่งไม่อาจก่ออุปสรรคหรือสร้างความเสียหายต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้แต่อย่างใด

    ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันเก็ทและใบปอ ตีราคาประกัน 90,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดี หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมทำกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วันภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น”

    ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้เป็นการสิ้นสุดการคุมขังเก็ทและใบปอซึ่งกินเวลารวม 43 วัน หลังถูกถอนประกัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/53763)
  • โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมดรวม 11 ปาก ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ จำเลยอ้างตนเป็นพยาน และ สรัช สินธุประมา พยานผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา

    ++ผู้กล่าวหาระบุผู้ชุมนุมกับตำรวจทะเลาะกัน เพราะตำรวจกักให้อยู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และตลอดเวลาที่ดูไลฟ์สด ไม่ปรากฏว่ามีขบวนเสด็จผ่านมา

    อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 เวลา 08.00 น.ขณะอยู่บ้าน พยานดูคลิปไลฟ์สดในเพจ เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมประมาณ 10 กว่าคน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินนำทัวร์ ชื่อ “มูล่าหาผัว”

    พยานเบิกความว่า จังหวะที่เดินผู้ชุมนุมมีการปะทะกับตำรวจเป็นช่วง ๆ ฝ่ายผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จึงถอยมาตั้งหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สักพักผู้ชุมนุมเดินเจอรั้วเหล็กของตำรวจ และมีการใช้โทรโข่งปราศรัย โดยโสภณใช้โทรโข่งปราศรัยด่าไปทางตำรวจ

    พยานพยายามเบิกความถึงถ้อยคำปราศรัยของโสภณและแสดงความคิดเห็น แต่ศาลกล่าวว่า ขอให้พยานเบิกความตามลำดับ อย่าเอาความรู้สึกเข้ามาเจือปน อย่าเอาความรู้สึกมาตัดสินว่าผิดหรือถูก

    พยานเบิกความต่อไปว่า หลังจากดูคลิป พยานได้เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้มอบแผ่นซีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ดังกล่าวให้กับพนักงานสอบสวนด้วย

    พยานเบิกความยืนยันว่า เหตุการณ์ในคลิปเกิดเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันที่พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จไปวัดสระเกศ ร่วมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”

    อานนท์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานประกอบอาชีพทำกิจการส่วนตัว รับจ้างตกแต่งภายใน และเป็นประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านคนที่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ โดยจะแจ้งความร้องทุกข์ต่อทุกฝ่ายที่ดูหมิ่น จาบจ้วง และล่วงเกินสถาบันกษัตริย์

    พยานเบิกความตอบว่า ก่อนเกิดเหตุ พยานไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อจำเลยมาก่อน ทราบชื่อเล่นและชื่อจริงของจำเลยในภายหลัง

    ทนายจำเลยถามว่า พยานเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ กลิ่นแก้ว” หรือไม่ พยานยืนยันว่า ใช่ ทนายความจึงให้ดูโพสต์ของพยานก่อนหน้านี้ 2-3 วัน และถามว่าโพสต์ถึงโสภณใช่หรือไม่ ศาลกล่าวว่า ต่อให้ทนายถามเรื่องนี้ก็ไม่มีผลต่อศาล ทนายความแถลงว่า ต้องถามเพื่อมองว่าพยานมีเจตนาอย่างไร พยานจึงตอบว่า โพสต์ถึงใครก็ได้

    ทนายความถามว่า นอกจากคดีนี้ พยานร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 กับคนอื่นๆ อีกหลายคนใช่หรือไม่ พยานถามกลับว่า คำถามเกี่ยวกับคดีนี้หรือไม่ ทนายความขอให้พยานตอบคำถาม พยานไม่ตอบ โดยระบุว่าจะตอบแค่ในคดีนี้เท่านั้น

    ทนายความเปิดคลิปวิดีโอที่พยานพูดถึงนักกิจกรรมเยาวชนคนหนึ่งให้ดู และถามว่ามีการข่มขู่เยาวชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานได้ไลฟ์สดตามคลิปวิดีโอจริง แต่หมายถึงพวกที่ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ยอมรับกระบวนการ ถ้ามีคนมากระทืบหรือทำร้ายจะไม่แจ้งความใช่หรือไม่ ไม่ได้พูดถึงเยาวชน

    ทนายความถามว่า พยานเคยทำร้ายผู้เห็นต่าง โดยศาลแขวงดุสิตตัดสินแล้วว่ามีความผิดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไปจ่ายค่าปรับแล้ว

    พยานเบิกความตอบว่า เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุจำได้ว่าผู้ชุมนุมมีการปะทะกับตำรวจ พอเดินออกมาก็เจอกับตำรวจอีก จึงเกิดเหตุการณ์อย่างในคลิป โดยผู้ชุมนุมกับตำรวจทะเลาะกัน เพราะตำรวจไม่ยอมให้เดินไปทางเสาชิงช้า กักให้อยู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพยานได้ยินคำว่า “ตำรวจตระบัดสัตย์”

    ทนายความถามว่า มีผู้ชุมนุมถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานดูช่วงที่มีผู้หญิงล้มลงได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ได้ดูโดยตลอด ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ทำร้ายหรือไม่ และผู้ชุมนุมมีประมาณ 10 กว่าคน ส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมากกว่าหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

    ทนายความถามว่า จุดเกิดเหตุในคดีนี้ห่างจากวัดสระเกศประมาณ 1 กิโลเมตรใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ และตลอดเวลาที่พยานดูไลฟ์สด ไม่ปรากฏว่ามีขบวนเสด็จผ่านมา

    พยานเบิกความตอบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เอาบันทึกถอดเทปให้พยานดู ที่พยานมาเบิกความวันนี้มาจากความทรงจำตอนดูไลฟ์สด ทนายความจึงให้พยานดูเอกสารถอดเทป ศาลไม่อนุญาตให้พยานอ่านข้อความในเอกสาร ทนายความจึงถามว่า จำเลยพูดว่า “ตำรวจตระบัดสัตย์” และ “พวกมึง” จำเลยพูดถึงตำรวจใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้ว่าพูดว่า “พวกมึง” ศาลจึงกล่าวว่า เป็นเรื่องการตีความความหมาย ศาลจะเป็นผู้ตีความเอง

    ทนายความถามว่า โสภณพูดตามเอกสารถอดเทปประมาณ 30 นาทีจริงหรือไม่ พยานตอบว่า ส่วนอื่นจำไม่ได้ ยกเว้นในข้อความที่ขีดเส้นใต้ (ถ้อยคำปราศรัยส่วนที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112)

    ทนายความถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าเหตุที่โสภณมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อทำกิจกรรมอะไร พยานตอบว่า จัดกิจกรรมทัวร์ บอกว่าจะไปสถานที่ประวัติศาสตร์ แต่จะไปที่ไหนบ้างนั้น พยานไม่ทราบ

    พยานเบิกความตอบอัยการถามติงว่า ส่วนที่จำเลยพูดว่า “จะไปผ่านเสด็จ” พยานจำได้ แต่ขบวนเสด็จอยู่ที่ใดนั้น พยานจำไม่ได้

    ++นักวิชาการรัฐศาสตร์ระบุการให้ความเห็นมาจากข้อความที่ขีดเส้นใต้เท่านั้น และหากคำว่า “พวกมึง” หมายถึงตำรวจก็คงไม่เข้าข่ายมาตรา 112

    ไชยันต์ ไชยพร ศาสตราจารย์ที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมืองตะวันตก ประชาธิปไตยตะวันตก ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ และสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองสมัยใหม่ เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อมาให้เป็นพยาน

    พยานเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือเอกสารหลักฐานมาให้ดูเกี่ยวกับคำพูดที่จำเลยมีต่อรัชกาลที่ 10 และพระราชินี โดยพนักงานสอบสวนส่งเป็นข้อความที่พิมพ์มาแล้วให้ ไม่ได้มีการส่งเทปวิดีโอมาให้ เพื่อให้ช่วยพิจารณาว่าเข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่ พยานพิจารณาแล้ว เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112

    ทนายความถามค้านว่า พนักงานสอบสวนส่งเอกสารถอดเทปให้พยานทั้งหมด หรือส่งเฉพาะข้อความในส่วนที่ขีดเส้นใต้ พยานตอบว่า พนักงานสอบสวนส่งเอกสารเล่าเหตุการณ์ และคำพูดที่ขีดเส้นใต้

    พยานเบิกความว่า ตอนสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เล่าให้ฟังว่าเกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจ และไม่ได้เล่าว่ามีการด่าทอตำรวจ การให้ความเห็นของพยานมาจากข้อความ 4-5 บรรทัดที่ขีดเส้นใต้เท่านั้น

    ทนายความถามว่า จำเลยใช้คำว่า “พวกมึง” และ “เสียตั้งแต่ยอดหอคอย” หากหมายถึงตำรวจก็ไม่เป็นความผิดใช่หรือไม่ ศาลกล่าวว่า ขอให้ถามแค่ความถูกต้องของข้อความเท่านั้น พยานจึงยืนยันว่า ข้อความเป็นไปตามนั้น และหากคำว่า “พวกมึง” หมายถึงตำรวจก็คงไม่เข้าข่ายมาตรา 112

    พนักงานอัยการถามติงว่า พยานเข้าใจว่า “พวกมึง” หมายถึงตำรวจหรือไม่ พยานตอบว่า อ่านแล้วคิดว่าหมายถึงในหลวงและพระราชินี อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ศาลบันทึกว่า พนักงานอัยการไม่ถามติง

    ++ประชาชนทั่วไประบุข้อความเป็นการหมิ่นพระบารมีของพระราชินี โดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย และทำให้ประชาชนอาฆาตแค้นสถาบันกษัตริย์

    รัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ ติวเตอร์สอน IC License เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ โทรมาขอให้เป็นพยานในคดีมาตรา 112 บอกว่ามีหลักฐานชัดเจน โดยตอนโทรมาแจ้งไม่ได้มีการส่งคลิปหรือเอกสารมาให้ดูก่อน

    พยานเบิกความว่า ตอนไปให้ปากคำที่ สน.สำราญราษฎร์ ตำรวจเปิดคลิปให้พยานดู เป็นคลิปนานพอสมควร เนื้อหาหลักคือจำเลยพูดถึงพระราชินีและหมิ่นพระบารมีของพระราชินี

    พนักงานอัยการให้พยานดูเอกสารถอดเทป พยานเบิกความว่า เมื่อเห็นคลิปและข้อความ ทำให้เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นพระบารมีของพระราชินี โดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย และข้อความ “ถ้าท่านเลือกรับใช้สถาบันกษัตริย์ โดยเหยียบหัวประชาชน ท่านก็คือศัตรูของประชาชน” ทำให้ประชาชนอาฆาตแค้นสถาบันกษัตริย์

    พยานเบิกความตอบทนายความถามค้านว่า พยานไม่รู้จัก อานนท์ กลิ่นแก้ว และไม่ได้อยู่ในกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน

    ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้ พยานไม่เคยดูคลิปการปราศรัยของจำเลยมาก่อน ตำรวจเปิดให้ดูเฉพาะส่วนที่เป็นความผิด พยานไม่ได้ดูคลิปในช่วงอื่นๆ และไม่รู้ว่าก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในที่ชุมนุมบ้าง

    ++สี่ตำรวจสืบสวนระบุเหตุที่ตำรวจจัดแนวกั้น 2 จุด ทำให้เกิดการปะทะกัน เนื่องจากได้รับแจ้งว่าผู้ชุมนุมจะเดินไปวัดสระเกศ ส่วนขบวนเสด็จไม่ผ่านอนุสาวรีย์ฯ และเป็นไปตามกำหนดการ

    ส.ต.อ.กษิตินาถ น้อยยม, พ.ต.ท.พลเชษฐ์ มาดี และ พ.ต.ท.ภานุพงศ์ จินดาหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ และ พ.ต.ท.คชภพ คงสมบูรณ์ สารวัตรสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล เบิกความในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุ คือ วันที่ 22 เม.ย. 2565 มีพิธีที่วัดสระเกศ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จไปร่วมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” และจากการสืบสวนหาข่าว พบว่ามีเพจเฟซบุ๊ก “มังกรปฏิวัติ” ได้จัดกิจกรรมทัวร์มูล่าผัว โดยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 16.00 น.

    ส.ต.อ.กษิตินาถ เบิกความว่า ตนมีหน้าที่สืบสวนหาข่าวในพื้นที่ ในวันเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้รักษาความปลอดภัยประจำจุดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยปราศรัย และหลังจากนั้น ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้เป็นผู้ถอดเทปเวลา 16.00 ถึง 18.00 น. (ช่วงเวลาที่มีการปราศรัย) พยานยืนยันว่าในการถอดเทปไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อความจากในคลิปวิดีโอ

    พ.ต.ท.พลเชษฐ์ เบิกความว่า ตนมีหน้าที่สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ในวันเกิดเหตุ ได้รับมอบหมายหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่วัดสระเกศและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินทางระหว่างทั้ง 2 จุดโดยรถจักรยานยนต์ตำรวจ และหลังจากนั้น เป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวน รายงานการถอดเทป ติดตามเฝ้าระวังบุคคล และเป็นหนึ่งในคณะร่วมจับกุมจำเลย

    พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ตนมีหน้าที่ถวายความปลอดภัยในทางเสด็จและโดยรอบ โดยอยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์ตลอดเวลา

    พ.ต.ท.คชภพ เบิกความว่า ตนมีหน้าที่สืบสวนหาข่าวเพื่อป้องกันทางที่เสด็จ ในวันเกิดเหตุประจำจุดอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเห็นเหตุการณ์ตลอดเวลา แต่ไม่ได้ยินว่าจำเลยปราศรัยว่าอย่างไร

    พ.ต.ท.พลเชษฐ์, พ.ต.ท.คชภพ และ พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในทางเสด็จมีการจัดกำลังรายทาง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน 2 จุด คือ หน้าหอศิลป์ร่วมสมัย และซอยสำราญราษฎร์ ข้างประตูผี โดยเหตุที่จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ 2 จุดดังกล่าว เนื่องจากได้รับแจ้งว่ากลุ่มจัดกิจกรรมจะเดินทางไปวัดสระเกศ และทั้ง 2 จุดสามารถมุ่งหน้าไปวัดสระเกศได้

    พ.ต.ท.พลเชษฐ์, พ.ต.ท.คชภพ และ พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความว่า บริเวณจุดแนวกั้นที่ซอยสำราญราษฎร์ ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจ ในขณะที่ตำรวจต้องการให้ผู้ชุมนุมถอยและยุติการชุมนุม ทำให้เกิดการปะทะกัน มีการขว้างปาสิ่งของ และด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นมวลชนรวมทั้งจำเลยเดินกลับไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินต่อไปทางหอศิลป์ร่วมสมัยและพบแนวกั้นของตำรวจอีก จำเลยจึงปราศรัยผ่านโทรโข่ง

    พ.ต.ท.พลเชษฐ์, พ.ต.ท.คชภพ และ พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เส้นทางขบวนเสด็จนั้น ไม่มีเส้นทางใดผ่านถนนราชดำเนินกลางหรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขบวนเสด็จเป็นไปตามกำหนดการ หลังจากพระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จกลับ ผู้ชุมนุมไม่ได้เดินไปในเส้นทางที่มีการปะทะอีก ยังคงชุมนุมอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแค่เฝ้าระวัง ไม่ได้ห้ามหรือขัดขวาง

    พ.ต.ท.ภานุพงศ์ เบิกความว่า ได้ยินจำเลยปราศรัยว่า “ตำรวจตระบัดสัตย์” เข้าใจว่าจำเลยด่าตำรวจเพราะคิดว่าผู้ชุมนุมจะสามารถเข้าไปรับเสด็จได้ แต่ความจริงไม่สามารถทำได้

    พ.ต.ท.พลเชษฐ์ เบิกความว่า หลังเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนขอหมายจับจำเลยต่อศาล ศาลอนุมัติ เมื่อจำเลยปรากฏตัวที่หอศิลป์กรุงเทพฯ จึงเข้าจับกุมตามหมายจับขณะที่จำเลยอยู่บนรถแท็กซี่ จำเลยเปิดกระจกแง้ม ขอเวลาคุยกับผู้ที่ไว้ใจ หลังจากนั้นมีผู้ไว้วางใจติดตามจำเลยไป สน. สำราญราษฎร์ 1 คน จำเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ แต่ข้อเท็จจริงอื่นไม่ประสงค์จะให้การ

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 4 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58631)
  • ++ตำรวจพิสูจน์หลักฐานระบุวิดีโอทั้งสองเป็นภาพเคลื่อนไหวที่อัดหรือสำเนาเทปมาจากแหล่งอื่น ไม่ทราบว่าหากต้นฉบับมีการตัดต่อมาก่อนทำสำเนาจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่

    พ.ต.ท.หญิง สมร ดีแสง นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เบิกความว่า ในคดีนี้ได้ตรวจพยานหลักฐานเป็นข้อมูลภาพเคลื่อนไหวในแผ่นซีดี 2 แผ่น โดยทั่วไปจะตรวจสอบความต่อเนื่อง สภาพแวดล้อม เสียงรบกวน เพื่อแยกเสียงในสภาพแวดล้อมว่ามาจากที่เดียวกัน และต้องใช้เครื่องมือตรวจดูว่าคลิปมีการตัดต่อหรือไม่โดยใช้โปรแกรม

    พยานเบิกความว่า ผลการตรวจสอบมีความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ โดยในคดีนี้ได้ตรวจแผ่นซีดีและจัดทำรายงานเอาไว้ตามพยานเอกสาร

    พยานเบิกความตอบทนายความถามค้านว่า ทั้งสองเป็นภาพเคลื่อนไหวที่อัดหรือสำเนาเทปมาจากแหล่งอื่น ทนายความถามต่อว่า หากภาพต้นฉบับมีการตัดต่อมาก่อนทำสำเนาจะสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

    ทนายความถามว่า วัตถุพยานแผ่นที่ 1 มีความยาว 25 วินาที แผ่นที่ 2 มีความยาว 32 วินาที ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าถูกต้อง

    ++ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตระบุไม่ทราบว่าถ้าเครื่องขยายเสียงนั้นไม่ได้ใช้กำลังไฟฟ้า ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตตามกฎหมายหรือไม่

    อรศรี ผลถาวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต สำนักงานเขตพระนคร เบิกความว่า ในการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยผู้ว่ากรุงเทพฯ ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเขตเป็นผู้อนุญาต

    พยานเบิกความว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ในความรับผิดชอบของเขตพระนคร และจากการรายงาน ไม่ปรากฏว่ามีการขอใช้เครื่องขยายเสียงในวันเกิดเหตุ

    ทนายความถามค้านว่า ตามกฎกระทรวงมีกำหนดขนาดกำลังไฟฟ้าของเครื่องขยายเสียงต่ำสุดที่ไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่ พยานตอบว่า โดยหลักต้องมีการขออนุญาต ไม่มีกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องขออนุญาต และไม่ทราบว่ามีระเบียบหรือกฎกระทรวงที่กำหนดหรือไม่

    ทนายความถามว่า ถ้าเครื่องขยายเสียงนั้นไม่ได้ใช้กำลังไฟฟ้า ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตตามกฎหมายใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

    ++ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาระบุถ้อยคำที่พนักงานสอบสวนให้ดูเป็นการคัดถ้อยคำบางส่วน ราชบัณฑิตยสถานไม่สามารถตีความโดยรวม แต่ให้ความหมายในแต่ละคำได้

    กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร รับราชการอยู่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เบิกความว่า ราชบัณฑิตยสถานมีหน้าที่ศึกษาการใช้ภาษาไทย ทำให้การใช้ภาษาไทยไม่แปรเปลี่ยน เกี่ยวกับคดีนี้ ได้รับการติดต่อให้มาให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา

    พยานเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูข้อความ แต่ไม่ได้ให้ดูคลิป เป็นข้อความที่ตำรวจคัดลอกมาให้ส่วนหนึ่งตามที่ขีดเส้นใต้ไว้

    พยานเบิกความต่อว่า ด้วยอำนาจหน้าที่ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ไม่สามารถตีความความหมายของถ้อยคำ เนื่องจากภาษาไทยต้องอาศัยบริบท ทั้งพฤติกรรมการกระทำ และความนึกคิดของประชาชนด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องเอามาประกอบ ราชบัณฑิตยสถานทำได้แค่ให้ความหมายเป็นคำๆ ตามพจนานุกรม

    พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ถ้อยคำที่พนักงานสอบสวนให้ดูเป็นการคัดถ้อยคำบางส่วนของข้อความที่ขีดเส้นใต้ ในเอกสารไม่มีรูปภาพอันใดประกอบ ราชบัณฑิตยสถานไม่สามารถตีความโดยรวม แต่ให้ความหมายในแต่ละคำได้

    พยานเบิกความว่า สรรพนามบุรุษที่ 2 หมายถึงบุคคลที่เราพูดด้วย คำว่า “พวกมึง” หรือ “พวก” ก็ต้องอ้างอิงตามความหมายในพจนานุกรมและคำให้การ

    กุลศิรินทร์ตอบพนักงานอัยการถามติงว่า การสื่อสารอาจแปลได้หลายความหมาย ต้องดูบริบทแวดล้อม ประสบการณ์ อคติ และความรู้สึกของผู้พูดประกอบกัน

    ++พนักงานสอบสวนระบุคณะทำงานฯ มีความเห็นส่งอัยการให้สั่งฟ้อง ไม่ทราบว่ารายการถอดเทปไม่ได้ถอดจากแผ่นซีดีที่ส่งตรวจพิสูจน์

    ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เบิกความว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เนื่องจากเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โดยเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้ง

    พยานเบิกความว่า คดีนี้มี อานนท์ กลิ่นแก้ว มาร้องทุกข์ พยานได้รับหลักฐานเป็นแผ่นซีดี 2 แผ่น ซึ่งเป็นการปราศรัยของจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 โดยพยานได้จัดทำบัญชีของกลางและรับมอบของกลาง

    หลังจากพยานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานสืบสวนสอบสวน คณะทำงานฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งแผ่นซีดีของกลาง และความเห็นของผู้ให้ปากคำ เห็นว่าคดีมีมูล จึงขออนุมัติหมายจับจำเลย และจับกุมจำเลยได้ประมาณเดือนพฤษภาคม ปี 2565

    พยานเบิกความต่อว่า หลังการจับกุม ชุดจับกุมนำจำเลยไปที่ สน.สำราญราษฎร์ แต่เนื่องจากมีผู้ชุมนุมตามมาให้กำลังใจเยอะ ผู้บังคับบัญชาจึงให้ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พยานได้สอบปากคำจำเลย และในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ต่อมาแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เพิ่มเติม จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    พยานเบิกความว่า คณะทำงานฯ มีความเห็นส่งพนักงานอัยการให้สั่งฟ้องทั้งสองข้อกล่าวหา

    พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลายคดี

    พยานยืนยันตามเอกสารว่า ในบัญชีของกลางระบุว่ามีแผ่นซีดีจำนวน 3 แผ่น แต่ส่งตรวจพิสูจน์เพียง 2 แผ่น โดยรายการซีดีที่ส่งตรวจแผ่นหนึ่ง 25 วินาที อีกแผ่นหนึ่ง 32 วินาที รวมเพียง 57 วินาที

    ทนายความถามว่า รายการถอดเทปคำปราศรัยซึ่งอยู่ในสำนวนการสอบสวนระบุว่า การชุมนุมเริ่ม 16.05 ถึง 18.25 น. การถอดเทปเป็นไปตามระยะเวลาปราศรัย คือ 2 ชั่วโมงเศษ ดังนั้นรายการถอดเทปจึงไม่ได้ถอดจากแผ่นซีดีที่ส่งตรวจใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

    พยานตอบว่า ไม่ได้ส่งโทรโข่งไปตรวจพิสูจน์ว่าใช้กำลังไฟฟ้าหรือไม่ เท่าใด

    พยานตอบอัยการถามติงว่า แผ่นซีดีที่ส่งตรวจรวม 57 วินาที เป็นช่วงระหว่างที่จำเลยปราศรัย และเหตุที่ไม่ส่งโทรโข่งไปตรวจพิสูจน์เพราะไม่มีการยึดโทรโข่ง

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58631)
  • ++จำเลยระบุเห็นว่าพระราชินีจะไปทำบุญ จึงเพียงอ้างอิงนำมาด่าตำรวจ ข้อความที่ปราศรัยไม่ได้กล่าวถึงพระราชินี

    โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยอ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนหน้านี้จบการศึกษาจากสาขารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อยู่ระหว่างทำงานเพิ่มพูนประสบการณ์เพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ

    เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเห็นว่า มีกิจกรรมในเฟซบุ๊กเพจ “มังกรปฏิวัติ” จัดทัวร์ประวัติศาสตร์ ทราบว่าเป็นการชุมนุมของราษฎร โดยตอนแรกพยานไม่ได้คิดจะเป็นผู้ปราศรัย แค่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น พยานไม่ได้แชร์โพสต์ดังกล่าว ไม่ใช่แกนนำ และไม่ใช่สมาชิกกลุ่มมังกรปฏิวัติ

    วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมรวมตัวกันในแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อถึงเวลานัดหมายก็ยังไม่เห็นผู้จัดงาน จนมวลชนเริ่มเยอะและล้นออกมาจากร้าน จึงเห็นคนถือโทรโข่งคอยจัดการการชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าใครคือเจ้าของโทรโข่ง เนื่องจากโทรโข่งถูกส่งต่อให้หลายคน พยานเป็นเพียงแค่คนหนึ่งที่ได้จับโทรโข่ง และตอนที่มวลชนมีท่าทีจะปะทะกับตำรวจ พยานเพียงพยายามช่วยเจรจาประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น

    พยานไม่ทราบว่าโดยรวมของกิจกรรมจะต้องเดินไปทางใด เพียงแต่เดินไปตามแนวกั้นและคำแนะนำของตำรวจ เมื่อเดินไปซอยสำราญราษฎร์ เจอการปิดล้อมของตำรวจ ตำรวจบอกว่าไปไม่ได้ เนื่องจากอีก 2 ชั่วโมง ขบวนเสด็จจะมา ผู้ชุมนุมจึงเจรจาขอเดินไปก่อนเพื่อลดการปะทะกับตำรวจ แต่ตำรวจไม่ให้ โดยให้ถอยกลับไปทางเดิม หากยังดึงดันเดินต่อจะสลายการชุมนุมและเข้าจับกุม แต่พอผู้ชุมนุมจะถอยหลัง ก็โดนตำรวจควบคุมฝูงชนปิดกรอบด้านหลัง ทำให้เดินไปไหนไม่ได้ เป็นเหตุให้พยานปราศรัยด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ตระบัดสัตย์”

    พยานเพิ่งทราบว่าจะมีขบวนเสด็จในขณะที่ตำรวจแจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จ

    พยานเบิกความต่อว่า ที่พาดพิงถึงพระราชินี เพราะเห็นว่าพระราชินีจะไปทำบุญ จึงเพียงอ้างอิงนำมาด่าตำรวจ ข้อความที่ปราศรัยนั้น พยานไม่ได้กล่าวถึงพระราชินี และพระราชินีก็ยังเดินทางมาไม่ถึงที่เกิดเหตุ

    พยานเบิกความตอบอัยการถามค้านว่า วันเกิดเหตุพยานทราบล่วงหน้าว่ามีการชุมนุม จึงเดินทางมาจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยนั่งแท็กซี่มาเพียงคนเดียว และมาถึงก่อนกำหนดการ เมื่อมาถึงจึงเจอคุณลุงคุณป้าที่รู้จักในการชุมนุมมาร่วมกิจกรรม

    พยานเบิกความว่า ขณะอยู่ในแมคโดนัลด์ ไม่มีคนแสดงตัวว่าเป็นแกนนำ กิจกรรมเริ่มต้นเพราะมีคนถือโทรโข่งพูดว่า “เราต้องเดินแล้วนะ” พยานไม่มั่นใจว่าใครเป็นคนพูด และไม่แน่ใจว่าเป็นกลุ่มมังกรปฏิวัติหรือไม่ เมื่อเขาแสดงตัวพยานก็เดินตามไป เขาจะเป็นผู้จัดหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ และในการเดินก็มีจังหวะที่พยานเดินนำและเดินตาม

    พยานไม่ทราบปลายทางของกิจกรรม คนที่ถือโทรโข่งจะคอยบอกว่าเดินทางไปทางใดบ้าง จุดหนึ่งมีป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่พยานจำจุดอื่นไม่ได้ โดยในกิจกรรมจะมีแจกธงและพร็อบเป็นสัญลักษณ์เหมือนทัวร์จีน คนที่ถือธงไม่ได้หมายความว่าเป็นแกนนำ

    พยานเบิกความว่า จุดแรกที่เดินไป คือ ถนนที่ตั้งฉากกับถนนดินสอ และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซอยสำราญราษฎร์ พยานจึงทราบว่าจะมีขบวนเสด็จของพระราชินีไปทำบุญที่วัดภูเขาทอง แต่จะเป็นงานอะไรนั้น พยานไม่ทราบ

    ผู้ชุมนุมเดินตามทางที่ตำรวจแนะนำ แต่จะเป็นทางที่ถูกต้องหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ และขณะที่ตำรวจเอาแผงกั้นออกหลัง 18:00 น. ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้เดินไปวัดสระเกศเพราะไม่มีแกนนำ โดยในวันนั้นผู้ชุมนุมไม่ได้เดินไปที่ใดเลย เดินวนไปมาแค่บริเวณถนนดินสอ ถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มวลชนสลายตัวประมาณ 18.00 ถึง 19.00 น.

    พยานเบิกความว่า ก่อนที่จะเดินกลับไปอนุสาวรีย์ได้ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ ตำรวจทำร้ายประชาชน ส่วนผู้ชุมนุมปาของใส่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มีเกราะมีโล่ ในขณะที่ประชาชนมือเปล่า

    พยานเบิกความรับว่า เป็นสมาชิกของกลุ่ม “โมกหลวงริมน้ำ” แต่วันที่เกิดเหตุไปเป็นมวลชนอิสระ ไม่ได้ไปในฐานะกลุ่ม

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58631)
  • ++ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาระบุเมื่ออ่านข้อความแล้วเห็นว่าจำเลยด่าตำรวจ โดยดูจากบริบทเท่าที่มีในเอกสาร ไม่ทราบว่าวันนั้นมีขบวนเสด็จ

    สรัช สินธุประมา จบการศึกษาระดับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยของสถาบัน 101 Public Policy Think Tank เบิกความว่า มีความเชี่ยวชาญในภาคสังคม การเมือง การลงถนนของประชาชน และการใช้สื่อ

    ทนายความถามว่า จากข้อความขีดเส้นใต้ที่ได้ดู พยานเห็นว่าจำเลยด่าใคร พยานตอบว่า เมื่ออ่านข้อความแล้วเห็นว่าด่าตำรวจ โดยดูจากบริบทเท่าที่มีในพยานเอกสาร สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุมมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    พนักงานอัยการถามค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่าในวันนั้นมีขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์และพระราชินี พยานตอบว่า ไม่ทราบ ทราบเพียงแค่เท่าที่ปรากฏในเอกสาร
    .
    หลังเสร็จการสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 ลงวันที่ 7 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58631)
  • เวลา 09.00 น. หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 707 โสภณเดินทางมาศาล โดยมีครอบครัว เพื่อน และนักกิจกรรมเดินทางมาให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ เข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.36 น. ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9 และโจทก์ขอให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่ด้านหน้าของศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564

    พิเคราะห์แล้ว ฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยเข้าร่วมกิจกรรม “ทัวร์มูล่าผัว” ทัวร์เส้นทางสายประวัติศาสตร์ และปราศรัยต่อประชาชนผ่านเครื่องขยายเสียง คดีมีปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

    เห็นว่า วันเกิดเหตุกระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ณ วัดสระเกศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 กับสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจัดกำลังอารักขาตามเส้นทางพระราชดำเนิน

    คำปราศรัยมีบันทึกเสียงข้อความตอนหนึ่งว่า “จะไปผ่านเสด็จ จะไปผ่านขบวนที่พระราชินีสุทิดา จะไปไหว้พระบรมสารีริกธาตุที่ภูเขาทอง” ขบวนของจำเลยจะไปผ่านเส้นทางขบวนเสด็จ และเอ่ยพระนามของพระราชินีสุทิดาฯ แปลเจตนาได้ว่า จำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี

    ข้อความปราศรัยของจำเลยเป็นการเปรียบเทียบว่า ต่อให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินีทำบุญ พระบารมีก็ไม่สูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่จำเลยปราศรัย ความจริงแล้วรัชกาลที่ 10 และพระราชินีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์และสักการะพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นการสั่งสมพระบารมีเพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินีทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

    จำเลยทำกิจกรรมและปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ อีกกระทง

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9 ลงโทษจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ เนื่องจากอีกคดีศาลให้รอการลงโทษ จึงไม่มีโทษจำคุกให้นับต่อ คำขอส่วนนี้ให้ยก

    ผู้พิพากษาที่อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ สมพร เกิดทรัพย์

    หลังศาลมีคำพิพากษา โสภณถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที โดยมีครอบครัวและเพื่อนตามลงไปให้กำลังใจ ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดีในเวลา 17.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้ในวันนี้ โสภณถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า ในความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 นั้น มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 9 ซึ่งระวางโทษไว้เพียงโทษปรับไม่เกิน 200 บาท แต่ศาลกลับลงโทษจำคุกจำเลยถึง 6 เดือน ทำให้ทางทนายความเตรียมอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2410/2566 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58665)
  • เวลา 14.50 น. ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวโสภณ ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยปราศรัยด้วยข้อความที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/58665)
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) ได้ส่งคำร้องต่อกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures ทั้งหมด 5 หน่วยงาน ได้แก่ (1) คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (2) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (3) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (4) ผู้รายงานพิเศษเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (5) ผู้รายงานพิเศษเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ

    โดยศูนย์ทนายฯ ได้รายงานข้อเท็จจริงให้กับ UN เกี่ยวกับประเด็นผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 5 ราย ได้แก่

    1.เวหา แสนชนชนะศึก นักกิจกรรมวัย 39 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2566 และอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566

    2. “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 และอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566

    3. ทีปกร (สงวนนามสกุล) หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566

    4. วุฒิ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 50 ปี ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 ปัจจุบันเขาถูกคุมขังมาแล้ว 158 วัน

    5. ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ วัย 24 ปี ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566

    ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อาจขัดกับหลักการภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR กฎหมายระหว่างประเทศจะถือว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ หรือ arbitrary detention

    ในปี ค.ศ. 1996 รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี ICCPR ทำให้รัฐไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและบทบัญญัติภายใต้กติกาฯ ดังกล่าว โดยข้อ 9 วรรค 3 ของ ICCPR บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวไว้ว่า “บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้อง … ได้รับการปล่อยตัว มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น” (เน้นโดยผู้เขียน)

    ในความเห็นทั่วไปที่ 35 เกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Committee ได้อธิบายไว้ว่า การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือที่เรียกว่า pretrial detention ควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎ (“exception rather than the rule”) การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรเป็นการปฏิบัติทั่วไป การคุมขังดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น (necessary) เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำ

    สำหรับความผิดที่มีโทษสูง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า การคุมขังก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรถือว่าเป็นมาตรการจำเป็นสำหรับความผิดใดความผิดหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์คดีและปัจจัยแวดล้อม อีกทั้งศาลไม่ควรสั่งคุมขังบุคคลโดยอ้างอัตราโทษของความผิด การคุมขังบุคคลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งการที่ความผิดที่บุคคลถูกกล่าวหามีโทษสูง ไม่ได้ตอบคำถามว่าการคุมขังมีความจำเป็นหรือไม่ (ย่อหน้าที่ 38)

    ในคำร้องที่ศูนย์ทนายฯ ได้ยื่นไปที่ UN วันที่ 28 ส.ค. 2566 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้วอย่างน้อย 41 คน ปัจจุบัน (31 ส.ค. 2566) มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี มาตรา 112 ทั้งสิ้น 6 ราย โดยส่วนมากแล้ว คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจะอ้าง “ความหนักเบาแห่งข้อหา” หรือ “ข้อหามีอัตราโทษสูง” ก่อนจะสรุปว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งการให้เหตุผลดังกล่าวไม่ได้เป็นการพิจารณาความเหมาะสมของการไม่ให้ประกันตัวเป็นรายบุคคล (individualized determination) ขัดกับหลักการภายใต้ ICCPR ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    ไม่เพียงเท่านี้ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ประเทศ ได้เคยมีความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่หลายหน โดยมีความเห็นเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นในทุก ๆ กรณีว่า การคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ

    ในความเห็นของคณะทำงานฯ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา มีความคลุมเครือแล้วกว้างจนเกินไป (vague and overbroad) ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการคุมขังภายใต้ มาตรา 112 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19 ICCPR) เพราะเหตุนี้ การคุมขังภายใต้มาตรา 112 จึงถือว่าเป็นการคุมขังโดยพลการทุกกรณี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59016)
  • เวลา 09.30 น. ที่บริเวณหน้าศาลฎีกา ครอบครัวของเก็ทพร้อมด้วยนักกิจกรรมและประชาชนได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ร้องเรียนกรณีคำพิพากษาขัดกับตัวบทกฎหมาย อันสืบเนื่องมาจากศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีนี้ ให้จำคุก 3 ปี ในความผิดตามมาตรา 112 และจำคุก 6 เดือน ในความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 200 บาทเท่านั้น โดยมีผู้แทนประธานศาลฎีกาเป็นผู้ออกมารับหนังสือ

    จากนั้นในเวลาประมาณ 13.30 น. ครอบครัวเก็ทและนักกิจกรรมยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกมารับหนังสือเช่นเดียวกัน

    สำหรับหนังสือร้องเรียนซึ่งลงนามโดยบิดาของโสภณ, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีเนื้อความดังต่อไปนี้
    .
    เรื่อง ร้องเรียนกรณีคำพิพากษาขัดกับตัวบทกฎหมาย

    สืบเนื่องจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1447/2565 หมายเลขแดงที่ อ.2410/2566 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ระบุว่า “พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 9 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี จำคุก 3 ปี ฐานใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน”

    1. ใน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 กำหนดว่า ผู้ที่จะใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าต้องได้รับอนุญาต และมาตรา 9 กำหนดว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 4 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

    ดังนั้น คำพิพากษาดังกล่าวที่ลงโทษฐานใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน นั้น จึงเป็นการตัดสินลงโทษโดยปราศจากบทบัญญัติกฎหมายใด ๆ รองรับ ทั้งยังขัดกับบทบัญญัติในตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ในเรื่องนี้

    2. ข้าพเจ้าพร้อมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้รักความเป็นธรรมเห็นว่าประโยคคำพูดของโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ตามคำฟ้องในคดีนี้ เป็นประโยคที่จำเลยได้ใช้เพียงสรรพนามบุรุษที่สองเป็นประธานของประโยค ซึ่งตามหลักไวยากรณ์หมายถึงผู้ฟังซึ่งหน้าในขณะนั้นโดยตรง ได้แก่ ตำรวจที่กำลังฟังอยู่ มิใช่บุคคลอื่นใดทั้งสิ้น การกระทำจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในมาตรา 112

    (แม้มีการเอ่ยพระนามก็เป็นเพียงการกล่าวถึงขบวนเสด็จ และคำพูดที่ต่อว่าตำรวจนี้ก็เป็นการยกเอาการทำบุญมากล่าวเสียดสีตำรวจว่า ต่อให้ตำรวจจะไปทำบุญสักกี่วัดก็ตาม การสั่งสมบุญบารมีของตำรวจเหล่านี้ก็จะไม่เพิ่มขึ้นได้เลย ตราบใดที่ยังข่มหงรังแกประชาชนอยู่อย่างนี้ซึ่งพูดโดยใช้สรรพนามแทนตำรวจตรง ๆ)

    ข้าพเจ้าพร้อมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้รักความเป็นธรรมขอร้องเรียนเรื่องคำพิพากษาที่ขัดกับตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจนในข้อ 1. ซึ่งสร้างความเสียหายแก่วงการยุติธรรมอย่างใหญ่หลวง และในข้อ 2. ที่ตีความสรรพนามเป็นอื่นไปนั้น ขอร้องเรียนให้มีการตรวจสอบว่าการตัดสินดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่

    ทั้งนี้ หากเป็นความผิดพลาดก็ควรที่จะต้องมีการชี้แจงและแก้ไขความผิดพลาดนี้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรง อีกทั้งเพื่อเป็นการธำรงความเป็นธรรมในสังคมที่ประชาชนควรจะต้องได้รับจากศาลยุติธรรม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61409)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สมพร เกิดทรัพย์
  2. วรชาติ เกลี้ยงแก้ว

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 24-08-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์