ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.701/2565
แดง อ.1766/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ยงยุทธ พิชัยวรชิต รอง ผกก.สส. สน.บุปผาราม (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.701/2565
แดง อ.1766/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ยงยุทธ พิชัยวรชิต รอง ผกก.สส. สน.บุปผาราม (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.701/2565
แดง อ.1766/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ยงยุทธ พิชัยวรชิต รอง ผกก.สส. สน.บุปผาราม (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.701/2565
แดง อ.1766/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ยงยุทธ พิชัยวรชิต รอง ผกก.สส. สน.บุปผาราม

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.701/2565
แดง อ.1766/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ยงยุทธ พิชัยวรชิต รอง ผกก.สส. สน.บุปผาราม

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.701/2565
แดง อ.1766/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ยงยุทธ พิชัยวรชิต รอง ผกก.สส. สน.บุปผาราม

ความสำคัญของคดี

“เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, "โจเซฟ" (นามสมมติ) และ "มิ้นท์" (นามสมมติ) 3 นักกิจกรรม ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ซึ่งจัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ โดยคำปราศรัยกล่าวถึงการสวรรคตของพระเจ้าตากสิน และการสถาปนาราชวงศ์จักรี

ทั้งสามถูกศาลอาญาธนบุรีออกหมายจับ โดยไม่เคยถูกออกหมายเรียกมาก่อน หลังถูกจับกุมโจเซฟและมิ้นท์ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขังด้วยเงินสดคนละ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ส่วนโสภณถูกแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำขณะถูกขังเนื่องจากไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในคดีมาตรา 112 #ทัวร์มูล่าผัว

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ขยายครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ ทั้งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการความเห็นของประชาชน กระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ธวัชชัย จิตต์ขันติวงศ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 บรรยายคำฟ้องมีใจความสำคัญระบุว่า

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันจักรี ในหัวข้อ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน และจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันโฆษณาโดยปราศรัยแสดงความคิดเห็นต่อดาบตำรวจพรชัย วิชัยโย และประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันจักรีดังกล่าว โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

2. โสภณ จำเลยที่ 1 ปราศรัยถึงความเป็นมาของวันจักรี นำเสนอประเด็นที่ว่ารัชกาลที่ 1 เป็นคนแรกที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสิน โดยเห็นว่าพระเจ้าตากสินไม่ได้เป็นบ้าตามที่มีการนำเสนอ ทั้งยังเชื่อมโยงกับปัญหาของกษัตริย์ราชวงศ์จักรีจนถึงรัชกาลที่ 10 ที่ต้องทำพิธีทางศาสนาทั้งพุทธ ผี และฮินดู

3. โจเซฟ จำเลยที่ 2 ปราศรัยถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าตากถูกนายทองด้วงประหาร ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน มีการฆ่าฟันพระญาติ 131 คน

4. มิ้นท์ จำเลยที่ 3 ปราศรัยถึงการเสียชีวิตของพระเจ้าตากว่า ไม่ได้โดนทุบด้วยท่อนจันทร์ หรือหนีไปบวช ตามที่มีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ แต่ถูกทองด้วงสั่งประหารชีวิตด้วยการตัดคอ รวมทั้งกล่าวถึงการสร้างอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 5

คำกล่าวปราศัยของจำเลยทั้งสามดังกล่าว เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 1, กษัตริย์ในอดีตองค์อื่นๆ และรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้กษัตริย์ทุกพระองค์ดังกล่าวเสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ทุกพระองค์ดังกล่าว

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.701/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ประมาณ 12.00 น. “โจเซฟ” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งออกโดยศาลอาญาธนบุรี กรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ซึ่งจัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่

    เวลา 14.00 น. ทนายความได้เข้าพบโจเซฟ ซึ่งถูกนำตัวจากศูนย์การค้าแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี มาควบคุมไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ก่อนตำรวจจะเริ่มทำบันทึกจับกุม

    จากนั้น พ.ต.ท.ยุทธนา นังคลา พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ได้แจ้งพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า โจเซฟได้ปราศรัยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าตากถูกนายทองด้วงประหาร ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน มีการฆ่าฟันพระญาติ 131 คน ทั้งนี้ การปราศรัยไม่ได้มีข้อความใดที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

    ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาโจเซฟว่า กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยโจเซฟให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2565

    โจเซฟยังให้การไว้ด้วยว่า หนังสือต่างๆ เขียนกันถึงเหตุการณ์ที่ตนปราศรัยไว้มากมาย เช่น หนังสือศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีนักคิดนักเขียนหลายรายที่มีการตั้งประเด็นวิเคราะห์เรื่องการถูกประหาร หรือลี้ภัยของพระเจ้าตากไว้หลายท่าน เช่น ส.ศิวรักษ์, นิธิ เอียวศรีวงศ์ หรือสุจิตต์ วงษ์เทศ และได้กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลที่ว่า มาตรา 112 ไม่คุ้มครองไปถึงอดีตกษัตริย์

    ต่อมา ในเวลา 15.30 น. พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวโจเซฟเดินทางไปยังศาลอาญาธนบุรีเพื่อขออำนาจศาลฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน และคัดค้านการประกันตัว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ฝากขัง และให้ประกันตัวในเวลา 17.00 น. ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลกำหนดเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ ห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีกหรือกระทำการอันเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ศาลนัดรายงานตัวในวันที่ 23 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    หลังโจเซฟได้ประกันไม่นาน ราว 17.20 น. “มิ้นท์” นักกิจกรรมกลุ่ม “นาดสินปฏิวัติ” ก็ถูกจับกุมอีกรายตามหมายจับในข้อหาและจากเหตุเดียวกัน ที่ร้านส้มตำแห่งหนึ่งแถวแจ้งวัฒนะ ขณะกำลังเดินทางออกจากร้าน หลังเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับ มิ้นท์ได้ขอขับรถไปเอง โดยมีสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรม ร่วมเดินทางไปพร้อมกับชุดจับกุม 2 นาย เจ้าหน้าที่แจ้งให้ขับรถไปยัง บช.ปส. เช่นเดียวกับโจเซฟ เมื่อไปถึงตำรวจได้เร่งทำบันทึกจับกุมเสร็จก่อนทนายความจะเดินทางไปถึง

    จากนั้น พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ได้แจ้งพฤติการณ์คดีให้มิ้นท์ทราบ ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 16.00 – 17.15 น. มีการชุมนุมของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ หัวข้อ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ที่บริเวณวงเวียนใหญ่ ในระหว่างการชุมนุม มีโสภณ หรือเก็ท สุรฤทธิ์ธํารง ผู้ต้องหาที่ 1, โจเซฟ ผู้ต้องหาที่ 2 และมิ้นท์ ผู้ต้องหาที่ 3 ขึ้นปราศรัย โดยผู้ต้องหาทั้งสามได้ปราศรัย มีข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ทั้งนี้ ในส่วนของมิ้นท์ พนักงานสอบสวนได้ยกคำปราศรัย ที่กล่าวถึงการเสียชีวิตของพระเจ้าตากว่า ไม่ได้โดนทุบด้วยท่อนจันทร์ หรือหนีไปบวช ตามที่มีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ แต่ถูกทองด้วงสั่งประหารชีวิตด้วยการตัดคอ รวมทั้งกล่าวถึงการสร้างอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 5

    พนักงานสอบสวนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาตามหมายจับเช่นเดียวกับโจเซฟ โดยมิ้นท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2565 หลังสอบปากคำ มิ้นท์ถูกควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. 1 คืน เพื่อจะนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังในวันรุ่งขึ้น

    คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีกราย คือ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจับกุมและไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวนในคดี 112 กรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว โดยเก็ทถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2565 โดยตำรวจจะเดินทางเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้กับเก็ทในเรือนจำในวันที่ 17 พ.ค. 2565

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม บช.ปส. ลงวันที่ 10 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43563)
  • เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ควบคุมตัวมิ้นท์ไปยังศาลอาญาธนบุรีเพื่อขออำนาจศาลฝากขังครั้งที่ 1 หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง ศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง ก่อนทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวน และศาลอนุญาตให้ประกันด้วยหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลกำหนด 3 เงื่อนไข เช่นเดียวกับโจเซฟ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/43563)
  • พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม เข้าแจ้งข้อหา “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักศึกษาและนักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีตามมาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่

    ในคดีนี้ ตำรวจ สน.บุปผาราม ได้ขอศาลอาญาธนบุรีออกหมายจับผู้ต้องหา 3 ราย ได้แก่ “โจเซฟ”, “มิ้นท์” และโสภณ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน

    ในส่วนของโสภณ พนักงานสอบสวนได้ประสานงานกับทนายความ เพื่อเข้าร่วมฟังการแจ้งข้อกล่าวหาภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีครอบครัวของโสภณ 1 คน ในฐานะผู้ไว้วางใจ เข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อหาด้วย

    พ.ต.ท.ยุทธนา นังคลา รองผู้กำกับสอบสวน และ พ.ต.ท.ศุภวุฒิ แป้นชุม สารวัตรสอบสวน สน.บุปผาราม ได้แจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า โสภณได้ร่วมขึ้นปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” จัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ โดยตำรวจมีการถอดเทปเนื้อหาคำปราศรัยของโสภณราว 1 หน้ากระดาษ ที่มีเนื้อหากล่าวถึงความเป็นมาของวันจักรี นำเสนอประเด็นที่ว่ารัชกาลที่ 1 เป็นคนแรกที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสิน โดยเห็นว่าพระเจ้าตากสินไม่ได้เป็นบ้าตามที่มีการนำเสนอ รวมทั้งยังเชื่อมโยงกับปัญหาของสถาบันกษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 10 ที่มีความเชื่อทั้งทางศาสนาพุทธ ผี และฮินดู

    พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า ข้อความปราศรัยของโสภณเข้าข่ายการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โสภณได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน

    ทั้งนี้ โสภณถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่สองแล้ว โดยมีรายงานว่าเขายังถูกออกหมายจับในคดีที่ สน.นางเลิ้ง อีกคดีหนึ่ง ซึ่งพนักงานสอบสวนกำลังจะประสานงานการเข้าแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ลงวันที่ 17 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43759)
  • ในช่วงค่ำ หลังศาลอาญาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโสภณในคดี 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว และโสภณกำลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตำรวจ สน.บุปผาราม ได้เดินทางไปอายัดตัวโสภณตามหมายจับในคดีนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาโสภณในเรือนจำแล้ว เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 หมายจับจึงควรจะสิ้นผลไป

    ตำรวจยืนยันว่าจะนำตัวโสภณไปที่ บช.ปส. โดยอ้างว่าหมายจับที่ออกโดยศาลอาญาธนบุรีนั้นยังไม่สิ้นผล อย่างไรก็ตาม โสภณได้ขอให้รอทนายความก่อน เมื่อทนายความเดินทางไปถึงได้ยืนยันว่า หากมีการอายัดตัวไป ทางครอบครัวของโสภณจะไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามมาตรา 157 ที่ สน.ประชาชื่น ทำให้ในท้ายที่สุด ตำรวจไม่ได้ควบคุมตัวโสภณไป ระบุว่า จะออกหมายเรียกโสภณไปในภายหลัง ทำให้โสภณจึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 30 วัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44337)
  • ศาลอาญาธนบุรีนัดไต่สวนคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวมิ้นท์ของพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 6 มิ.ย. 2565 คำร้องดังกล่าวอ้างถึงการที่มิ้นท์เข้าร่วม 2 กิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ “เทิดวีรชนคนเสื้อแดง” เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 และกิจกรรม “บิดหยุดขัง” เมื่อ 29 พ.ค. 2565 โดยกล่าวหาว่า เข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขปล่อยชั่วคราวที่ศาลกําหนดไว้ กล่าวคือ ห้ามกระทําการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

    บริเวณด้านในศาลอาญาธนบุรี มีเจ้าหน้าที่คอยคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร ศาลจึงจำกัดคนเข้าห้องเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง และยังคงใช้มาตรการนั่งเว้นระยะห่าง

    ++ตร.อ้าง ร่วมชุมนุม-แสดงโขนฟันฉัตร ผิดเงื่อนไขศาล ด้านมิ้นท์ยันเป็นการแสดงทั่วไปและชุมนุมโดยสงบ ไม่ผิดเงื่อนไข

    เวลา 10.30 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยมีตำรวจผู้ยื่นคำร้อง นายประกัน ผู้ต้องหา และทนายความของผู้ต้องหา มาศาล

    พ.ต.ท.ศุภวุฒิ แป้นชุม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ผู้ยื่นคำร้องขอถอนประกัน แถลงว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 สืบทราบว่าผู้ต้องหาเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงนาฏศิลป์ หนึ่งในกิจกรรมรําลึกถึงกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ โดยติดตามความเคลื่อนไหวจากการรวบรวมข้อมูลในเฟซบุ๊กของผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้มีภาพกิจกรรมดังกล่าวมาแสดงต่อศาล

    ส่วนในกิจกรรม “บิด หยุด ขัง” เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2565 ตนได้ทราบข้อมูลจากตำรวจ สน.สําราญราษฎร์ ว่า ผู้ต้องหาเข้าร่วมกิจกรรม และได้ขึ้นกล่าวปราศรัย ทั้งภายหลังจบกิจกรรมผู้ต้องหายังได้ชูป้ายข้อความที่เขียนขึ้นเองและโพสต์ลงในเฟซบุ๊กของตนเอง ป้ายมีข้อความว่า “ปลดรูปคู่กรณี ก่อนพิพากษาคดี 112”

    พ.ต.ต.พลเชษฐ์ มาดี สารวัตรสืบสวน สน.สําราญราษฏร์ แถลงยืนยันข้อเท็จจริงตามเอกสารที่ยื่นต่อศาล และยอมรับต่อศาลว่า ตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาหรือผู้ชุมนุมรายใดจากการชุมนุมครั้งดังกล่าว รวมถึงยอมรับว่า การชุมนุมทั้งสองเหตุการณ์นั้นเป็นไปโดยสงบ ปราศจากความวุ่นวาย

    ด้านมิ้นท์ยอมรับว่า เข้าร่วมการชุมนุมทั้งสองวันจริงและโพสต์ภาพตามที่ตำรวจอ้างจริง เนื่องจากพิจารณาแล้วว่ากิจกรรมที่เข้าร่วมไม่น่าจะผิดเงื่อนไขการประกันตัว สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรม บิด หยุด ขัง เป็นการเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ

    พร้อมทั้งยืนยันว่า การเข้าร่วมชุมนุมทั้งสองวันเป็นไปโดยสงบ ไม่มีเหตุวุ่นวาย และตนทราบถึงวัตถุประสงค์ของการชุมนุมทั้งสองวันเป็นอย่างดี และเข้าร่วมในฐานะของ “ผู้ชุมนุม” ไม่ใช่ในฐานะ “แกนนำ” แต่อย่างใด

    ศาลกล่าวกับมิ้นท์ว่า ศาลไม่ได้จะห้ามเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพียงแต่อยากให้หลีกเลี่ยง และตระหนักถึงเงื่อนไขของศาล

    สำหรับกิจกรรม “เทิดวีรชนคนเสื้อแดง” มิ้นท์เบิกความว่า ตนได้ร่วมแสดงโขนรามเกียรติ์ โดยสวมบทเป็นพระลักษณ์ถือพระขรรค์ ไม่ใช่ดาบ ซึ่งตนและผู้ร่วมแสดงคนอื่นได้แต่งกายถูกต้องตามหลักนาฏศิลป์ อีกทั้งการแสดงดังกล่าวยังเป็นการแสดงโขนที่แสดงกันทั่วไปอีกด้วย

    มิ้นท์ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นที่พนักงานสอบสวนระบุว่า ตนใช้ดาบฟันเศวตฉัตร หรือ ฉัตร 9 ชั้น ที่กษัตริย์ใช้ทำพิธีต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณีนั้น ไม่จริง เนื่องจากฉัตรดังกล่าวเป็นฉัตรที่ใช้ในพิธีทั่วไป และการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสองนั้น ตนได้คำนึงถึงเงื่อนไขของศาลจึงตัดสินใจเข้าร่วม และกิจกรรมที่เข้าร่วมนั้นเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวาย หรือสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ

    เนื่องจากกิจกรรมในวันดังกล่าว พนักงานสอบสวนไม่ได้มีภาพกิจกรรมมาแสดงต่อศาลเพื่อประกอบคําร้อง ศาลจึงถามถึงรายละเอียดเครื่องแต่งกายของผู้ต้องหา ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุว่า จำรายละเอียดไม่ได้ แต่รวบรวมข้อมูลของกิจกรรมจากเฟซบุ๊กของผู้ชุมนุม

    ก่อนศาลถามนายประกันว่า นายประกันทราบหรือไม่ว่าผู้ต้องหาเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสองวันดังกล่าว นายประกันแถลงว่า ไม่ทราบ ซึ่งศาลกล่าวเตือนให้นายประกันคำนึงถึงหน้าที่ รวมถึงให้นายประกันคอยดูแลกำชับผู้ต้องหาไม่ให้ทำผิดเงื่อนไข

    ด้านทนายความแถลงสรุปต่อศาลว่า กิจกรรมรำลึกวีรชนเสื้อแดงถูกจัดขึ้นทุกปี และกิจกรรม “บิด หยุด ขัง” เป็นเพียงกิจกรรมแสดงเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งผู้ต้องหาขึ้นพูดถึงจุดประสงค์งานเท่านั้น ไม่ได้ปราศรัยแต่อย่างใด และเข้าร่วมในฐานะ “ผู้ชุมนุม”

    หลังการไต่สวน ศาลแจ้งว่าหากฝ่ายใดต้องการจะเพิ่มเติมในประเด็นไหนก็สามารถแจ้งศาลได้ พร้อมย้ำว่า ศาลเปิดกว้างและรับฟังทุกฝ่าย ก่อนเสร็จสิ้นการไต่สวนในเวลา 10.45 น.

    ++ศาลยกคำร้อง แต่ตักเตือน พฤติการณ์เสี่ยงฝ่าฝืนเงื่อนไขศาล พร้อมกำชับผู้ต้องหาและนายประกันให้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยเคร่งครัด

    เวลา 13.00 น. ศาลอ่านคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวน ระบุว่า พิเคราะห์คําร้อง คําคัดค้าน และข้อเท็จจริงที่ได้จากการจากการสอบถามทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ผู้ต้องหาเข้าร่วมกิจกรรมในการชุมนุมทั้งสองเหตุการณ์จริง

    โดยการชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อรําลึกถึงการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง และเพื่อเรียกร้องการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบ ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

    ทั้งผู้ต้องหายังแถลงรับว่า เป็นผู้ร่วมแสดงนาฏศิลป์โขนรามเกียรติ์ ที่แต่งกายตามแบบของชุดโขนทั่วไป และฉัตรที่นํามาแสดงทําด้วยโฟม 8 ชั้น ไม่ใช่เศวตฉัตร ซึ่งข้อนี้ผู้ร้องก็ไม่ได้นําภาพถ่ายเกี่ยวกับการแสดงโขนมายืนยัน

    ส่วนเหตุการณ์ที่ผู้ต้องหาขึ้นกล่าวปราศรัย ก็เป็นเพียงข้อความพูดชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการทํากิจกรรมเท่านั้น รวมถึงประเด็นป้ายข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้ต้องหากล่าวอ้างว่าเป็นการรณรงค์ให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ที่ถูกดําเนินคดีจากการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนามุ่งหมายอย่างอื่น ประกอบกับพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุก็ไม่ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาสอบปากคําและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาเกี่ยวกับพฤติการณ์และการกระทําของผู้ต้องหาทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงยังรับฟังได้ไม่ถนัดนักว่าผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จึงให้ยกคําร้อง

    อย่างไรก็ตาม ศาลระบุเพิ่มเติมว่า แม้ในวันนี้จะยกคำร้อง แต่พฤติการณ์ของผู้ต้องหาที่เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมต่าง ๆ อาจนำไปสู่ความเสี่ยง จึงได้ว่ากล่าวตักเตือนผู้ต้องหาและนายประกัน พร้อมกำชับให้ทำตามเงื่อนไขประกันโดยเคร่งครัด

    ลงนามคำสั่งโดย ชิดพงศ์ ปั้นวิจิตร เลขานุการศาลอาญาธนบุรี

    หลังอ่านคำสั่ง ศาลยังได้กำชับกับผู้ต้องหาและนายประกันให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันอย่างเคร่งครัดอีกรอบ พร้อมทั้งกล่าวเตือนให้ระวังพฤติการณ์ที่อาจผิดเงื่อนไข หากมีคำร้องเพิกถอนและเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน ศาลก็จำเป็นต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44858)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 ยื่นฟ้องโสภณ, โจเซฟ และมิ้นท์ ต่อศาลอาญาธนบุรี ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาต ระบุว่า การที่จำเลยทั้งสาม ได้กระทำการจัดกิจกรรมเนื่องในวันจักรี ในหัวข้อ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” และมีการกล่าวปราศรัยนั้น คำปราศรัยของจำเลยทั้งสามนั้น เป็นการใส่ความและดูหมิ่นรัชกาลที่ 1, กษัตริย์ในอดีตองค์อื่นๆ และรัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทำให้กษัตริย์ทุกพระองค์ดังกล่าวเสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสามระหว่างพิจารณา โดยขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสามในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นของศาลอื่นด้วย

    ในวันนี้อัยการได้นัดเก็ทมาส่งตัวต่อศาลด้วย หลังศาลรับฟ้องและทนายยื่นประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน ตีราคาหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขประกัน ห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้จำเลยมาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด

    นอกจากนี้ ในวันที่ 2 ส.ค. 2565 ซึ่งศาลนัดโจเซฟรายงานตัวเพื่อรับทราบฟ้อง ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ประกันโจเซฟ โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง คือเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และมีเงื่อนไขประกันเช่นเดิม

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาธนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.701/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46836)
  • ศาลอาญาธนบุรีนัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันมิ้นท์ หลังพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ยื่นคำร้องขอถอนประกันในชั้นสอบสวนเป็นครั้งที่ 2 มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสวีเดนเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ก่อนที่ทนายความและนายประกัน พร้อมทั้งจำเลยจะเข้ามาในห้องพิจารณาคดี

    เวลา 10.15 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยถามจำเลยทันทีว่า ได้เห็นคำร้องขอถอนประกันของพนักงานสอบสวนแล้วใช่หรือไม่ มิ้นท์ตอบว่า ได้เห็นแล้ว จากนั้นศาลให้มิ้นท์ทบทวนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลกำหนด มิ้นท์แถลงว่าตนจำเงื่อนไขทุกประการได้ และยังคงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

    พนักงานสอบสวนจาก สน.บุปผาราม แถลงว่า ในการยื่นคำร้องขอถอนประกันในครั้งนี้เป็นเหตุมาจากที่จำเลยได้เข้าร่วมกิจกรรม “ทวงคืนพลังงาน ให้ประชาชน” ซึ่งจัดโดยกลุ่มคณะหลอมรวมประชาชน เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 โดยจัดบูธทำกิจกรรมรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยยังได้ชูป้ายพร้อมข้อความ ‘ยกเลิก 112’ และ ‘ปล่อยนักโทษการเมือง’ ทั้งยังโพสต์เกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวทางเฟซบุ๊ก และไลฟ์สดทางยูทูบ อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้

    นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนผู้ร้องได้นำ ร.ต.อ.ชนายุส พุทธลา รองสารวัตรสืบสวนจาก สน. สำราญราษฎร์ มายืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว โดย ร.ต.อ.ชนายุส แถลงว่า ในวันดังกล่าวได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปสังเกตการณ์กิจกรรม ศาลถามว่า กิจกรรมดังกล่าวสร้างความวุ่นวายใด ๆ หรือไม่ ร.ต.อ.ชนายุส ตอบว่า กิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยไม่ได้ก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด ทางตำรวจก็ไม่ได้ดำเนินคดีใด ๆ จำเลย

    ศาลถามมิ้นท์ว่า การไปทำกิจกรรมดังกล่าวมีเจตนาอะไร มิ้นท์ตอบว่า การชูป้ายเป็นเพียงการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองอย่าง บุ้ง – ใบปอ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและอดอาหารอยู่ในตอนนี้เท่านั้น โดยได้ขออนุญาตคณะทำงานแล้วด้วย

    มิ้นท์กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กนั้น ตนมีเจตนาเพียงต้องการอธิบายบรรยากาศของกิจกรรม รวมถึงบอกเล่าเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้ามาทำลายทรัพย์สินและฉีกแผ่นป้ายต่าง ๆ

    ศาลถามมิ้นท์อีกว่า ในเอกสารของพนักงานสอบสวน มีป้ายที่เขียนว่า “ใครสั่งฆ่าประชาชนด้วย” จำเลยได้เห็นหรือไม่ มิ้นท์ตอบว่า ป้ายดังกล่าวเป็นของคนอื่นที่มาร่วมงาน ตนเองไม่ได้จัดเตรียมไป และไม่ได้ส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

    จากนั้นศาลได้ถามนายประกันว่า ที่ผ่านมาจำเลยได้แจ้งนายประกันบ้างหรือไม่ เวลาที่จะออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ นายประกันตอบว่า ไม่ได้แจ้ง แต่หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา นายประกันจะคอยติดตามและควบคุมการกระทำของจำเลยให้มากขึ้น

    ทั้งนี้ ศาลได้แสดงความกังวลต่อการแสดงออกทางการเมืองของมิ้นท์ โดยกล่าวว่า “ศาลไม่ได้ห้ามจำเลยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือห้ามแสดงความคิดเห็น แต่ศาลกังวลว่า การแสดงออกจะเข้าข่ายหมิ่นเหม่และสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ และขออย่าไปเป็นแกนนำในการชุมนุมใด ๆ”

    ศาลถามทนายจำเลยว่า มีสิ่งใดที่จะแถลงหรือไม่ ทนายจึงแถลงว่า การเคลื่อนไหวของจำเลยยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขประกัน ทั้งนี้ ไม่อยากให้ศาลเติมนักโทษทางการเมืองเข้าไปในเรือนจำอีก 1 คน

    สุดท้ายศาลขอให้มิ้นท์ให้ความมั่นใจว่า หากศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาแล้ว จำเลยจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งกล่าวว่า “เงินที่ต้องนำมาประกันตัวจำเลยนั้น ศาลเข้าใจว่าเป็นเงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชน เรื่องนี้ไม่น่าเป็นเรื่องของแค่จำเลยนะ” มิ้นท์ตอบยืนยันว่าจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้อย่างแน่นอน

    เมื่อเสร็จการไต่สวน ศาลแจ้งว่าจะนำคำเบิกความเข้าปรึกษากับอธิบดีผู้พิพากษาของศาลก่อน และจะมาอ่านคำสั่งให้ฟังในเวลา 12.00 น.

    ต่อมา เวลา 12.15 น. ศาลกลับเข้าห้องพิจารณาคดี และอ่านคำสั่งระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว เมื่อความปรากฏว่าคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นความผิดตามที่ผู้ร้องได้แจ้งข้อกล่าวหา และนายประกันได้ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดต่อศาลแล้ว ถือว่าสัญญาประกันในระหว่างสอบสวนสิ้นสุดลง กรณีจึงไม่จำเป็นต้องสั่งคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนอีก

    “อนึ่ง ศาลได้แจ้งต่อผู้ต้องหาทราบว่าพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดี ตามที่ปรากฏในระหว่างปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน จะเป็นข้อพิจารณาในคำร้องของปล่อยชั่วคราวของจำเลยในระหว่างพิจารณาต่อไป”

    เวลา 17.45 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันมิ้นท์ในชั้นพิจารณา โดยเรียกหลักประกันเพิ่มจากเดิม เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท รวมเป็นหลักทรัพย์ 300,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขประกันเช่นเดิม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/46836)
  • โจทก์แถลงมีพยานบุคคลจะนำเข้าสืบ 7 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด ทนายจำเลยแถลงขอสืบพยาน 6 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 4 และ 11 ก.ย. 2566 นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 18 และ 25 ก.ย. 2566
  • ศาลอาญาธนบุรีนัดไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการในการขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวโจเซฟ โดยอ้างเหตุกรณีที่โจเซฟเข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565

    การนัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 พ.ต.อ.รัตน์เกล้า อาณานุการ ผู้กำกับการ สน.บุปผาราม ได้ส่งหนังสือถึงธวัชชัย จิตต์ขันติวงศ์ อัยการโจทก์เจ้าของสำนวนคดีนี้ เพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนประกันโจเซฟ โดยระบุว่า สน.บุปผาราม ได้รับรายงานการสืบสวนจาก สน.ลุมพินี ว่า โจเซฟและพวกได้เข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ที่บริเวณแยกอโศกมนตรี ต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่ย่านคลองเตย

    ในรายงานการสืบสวนของ สน.ลุมพินี ที่แนบประกอบมาด้วยระบุว่า ในเวลาประมาณ 14.10 น. ของวันที่ 17 พ.ย. 2565 ซึ่งอยู่ระหว่างการชุมนุมนั้น โจเซฟได้ใช้โทรโข่งปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ (ไม่ได้ระบุเนื้อหาคำปราศรัย) ก่อนการชุมนุมจะยุติลงในเวลาประมาณ 15.10 น. ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้

    ต่อมา อัยการโจทก์ในคดีนี้จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกันโจเซฟ และศาลได้นัดไต่สวนคำร้อง

    ++ศาลตำหนิอัยการ-ตำรวจ ต้องกลั่นกรองคำร้องก่อนยื่นให้ศาลวินิจฉัย ชี้พฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไขประกันจะต้องร้ายแรง ‘เทียบเท่า’ พฤติการณ์ในคดีที่ถูกฟ้องเท่านั้น

    เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ศาลอนุญาตให้เพียงคู่ความเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ แม้ประชาชนและสื่อพลเมืองประมาณ 7-8 คน ที่เดินทางมาให้กำลังโจเซฟจะขออนุญาตนั่งรอหน้าห้องพิจารณาคดีแทน ศาลก็ไม่ได้อนุญาตแต่อย่างใด ภายในห้องพิจารณาจึงมีเพียงคู่ความและพยานที่จะเข้าเบิกความเท่านั้น

    ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้กล่าวตำหนิพนักงานอัยการในทำนองว่า ศาลได้ตรวจสอบคำร้องขอถอนประกันแล้ว พบว่าในคำร้องระบุกว้าง ๆ เพียงว่า จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว พร้อมแนบรายงานการสืบสวนของตำรวจมาให้ศาลอ่านเท่านั้น อัยการไม่ได้ระบุในคำร้องเลยว่า พฤติการณ์ใดของจำเลยที่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว และฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อใด

    ศาลเน้นย้ำว่า การยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้กระทำการที่มีลักษณะความรุนแรงเทียบเท่ากับพฤติการณ์ที่ถูกฟ้องเป็นคดีความในตอนแรกเท่านั้น เช่น หากจำเลยถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” แต่ต่อมาได้ไปก่อเหตุขับรถชนผู้อื่นขณะมึนเมา พฤติการณ์เช่นนี้ไม่สามารถมาร้องขอให้ศาลถอนประกันได้ เพราะพฤติการณ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในคดีแม้แต่น้อย

    ศาลกล่าวกับอัยการอีกว่า ต่อไปนี้ขอให้ตรวจสอบเนื้อหาในคำร้องและกลั่นกรองข้อเท็จจริงให้ดีเสียก่อนที่จะยื่นคำร้องมาให้ศาลวินิจฉัย โดยคำร้องจะต้องมีรายละเอียดว่า พฤติการณ์ใดของจำเลยที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่จะได้เข้าใจและเบิกความคัดค้านได้ถูกประเด็น อีกทั้งจะได้เป็นบรรทัดฐานของการยื่นคำร้องขอถอนประกันในอนาคตของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนคนอื่น ๆ ด้วย

    อัยการแถลงว่า เดิมทีจะนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ศุภวุฒิ แป้นชุม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน อีกปากหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ซึ่งรู้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในขณะเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 แต่พยานปากหลังนี้ติดกิจราชการจึงไม่สามารถเดินทางมาได้ วันนี้ฝ่ายผู้ร้องจึงมีพยานเพียงปากเดียวเท่านั้น

    พ.ต.ท.ศุภวุฒิ ตอบศาลถามว่า ตนไม่ใช่ประจักษ์พยาน ไม่ได้รู้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในขณะเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมาเลย พยานผู้ที่รู้เห็นข้อมูลส่วนนี้คือเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ลุมพินี ซึ่งรับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุชุมนุมและจัดทำรายงานการสืบสวนประกอบคำร้อง พยานกล่าวอีกว่า “ยังรู้สึกงงอยู่ว่าเหตุใดต้องให้ผมมายื่นคำร้องขอถอนประกันด้วย เพราะผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย”

    ศาลจึงกล่าวว่า แสดงว่าในการไต่สวนครั้งนี้ฝ่ายผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยาน แล้วศาลจะดำเนินการไต่สวนได้อย่างไร พร้อมตำหนิการทำงานของอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งว่าทำให้คู่ความเสียเวลา พร้อมเน้นย้ำว่าต่อไปขอให้ทำงานอย่างรอบคอบและใส่ใจมากกว่านี้ด้วย

    ++โจเซฟแถลงยึดหลักชุมนุมโดยสงบ ตั้งใจอยู่ในกรอบเงื่อนไขศาล เหตุที่ถูกร้องขอศาลถอนประกันเพียงเพราะปราศรัยภาษาอังกฤษวิจารณ์ประยุทธ์ไม่เหมาะเป็นนายกฯ ไทย ในการประชุมเอเปค

    จากนั้นโจเซฟแถลงต่อศาลว่า เหตุที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ตนได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงการประชุมเอเปค 2022 ก่อนเข้าร่วมการชุมนุมจำเลยตระหนักอยู่เสมอถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวและได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

    จำเลยได้ตรวจสอบคำร้องขอให้ถอนประกันแล้ว สิ่งเดียวที่จำเลยได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา คือ การปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ไม่มีความเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำของประเทศเข้าร่วมการประชุมเอเปค 2022

    ส่วนในรายงานการสืบสวนประกอบคำร้องขอเพิกถอนประกัน ซึ่งเป็นภาพถ่ายจำเลยถือป้ายประท้วงบางอย่างซึ่งเห็นไม่ชัดนั้น โจเซฟแถลงว่า ป้ายดังกล่าวเป็นป้ายกระดาษที่เขียนข้อความว่า “ไล่ไอ้ทรราชประยุทธ์” และ “ยกเลิก 112” ทั้งนี้ การเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวจำเลยยึดถือหลักการชุมนุมโดยสงบ ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่ได้ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ

    สุดท้ายศาลกล่าวว่า ในตอนแรกศาลคิดว่าจะไม่นัดไต่สวนคำร้องในครั้งนี้ด้วยซ้ำไป เพราะเนื้อหาในคำร้องนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสั่งถอนประกันจำเลยได้ แต่สาเหตุที่นัดไต่สวนในวันนี้เป็นเพราะศาลต้องทำหน้าที่ตามกระบวนยุติธรรมในการรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย พร้อมเน้นย้ำกับจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอย่างเคร่งครัดด้วย

    ++ศาลสั่งไม่ถอนประกัน ชี้ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดเงื่อนไขประกันอย่างไร

    ต่อมา เวลา 11.30 น. ศาลมีคำสั่งไม่ถอนประกันโจเซฟในคดีนี้ รายละเอียดคำสั่งโดยสรุประบุว่า พิเคราะห์ตามคำแถลงและพยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า การเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยก่อให้เกิดความไม่สงบและวุ่นวาย แต่เงื่อนไขอย่างหนึ่งในคดีนี้ คือ “ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง” จึงได้เน้นย้ำให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดแล้ว

    ผลจากคำสั่งดังกล่าว โจเซฟจึงยังคงได้รับอิสรภาพต่อไปจากคำสั่งของศาลที่เคยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ตั้งแต่ตอนต้น เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมเงื่อนไข 3 ประการ

    อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วงการประชุมเอเปค 2022 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีกหลายรายถูกยื่นคำร้องขอถอนประกัน โจเซฟถือว่าเป็นรายแรกที่ศาลนัดไต่สวนที่ศาลนี้ โดยกรณีอื่นๆ จะดำเนินการไต่สวนที่ศาลอื่นต่อไป อาทิ ในวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ศาลอาญานัดไต่สวนขอถอนประกัน “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ “ใบปอ” ในคดีมาตรา 112 เป็นต้น

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/51338)
  • ในช่วงเช้า โจเซฟเดินทางมาศาล ขณะที่มิ้นท์ลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศสแล้ว ส่วนโสภณซึ่งถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในม็อบ #ทัวร์มูล่าผัว และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวจากเรือนจำ เพื่อมาร่วมการพิจารณาคดีในวันนี้ โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เบิกตัว และโสภณถูกนำตัวมาถึงศาลในเวลาประมาณ 13.30 น.

    เมื่อโสภณถูกควบคุมตัวมาถึงห้องพิจารณาคดี มีเพื่อนๆ นักกิจกรรมและครอบครัวมารอให้กำลังใจอยู่หลายคน ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีในช่วงบ่ายนี้ เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่า ระหว่างพิจารณาคดีไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์สื่อสาร โดยจะต้องฝากโทรศัพท์มือถือไว้กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น จากนั้นได้นำซองเอกสารสีน้ำตาลแจกจ่ายให้ใส่โทรศัพท์ซองละ 1 เครื่อง และให้เขียนชื่อแสดงความเป็นเจ้าของไว้หน้าซอง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำไปแยกเก็บไว้

    ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลแจ้งว่า อัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวโจเซฟ ทนายจำเลยที่ 2 จึงแถลงขอยื่นคำคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 19 ก.ย. 2566 ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องของโจทก์ไปเป็นวันที่ 25 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันนัดสืบพยานจำเลย

    โจทก์แถลงว่า ในวันนี้มีพยานมาศาลพร้อมสืบซึ่งเลื่อนมาจากช่วงเช้า 1 ปาก คือ พ.ต.ท.ยงยุทธ พิชัยวรชิต โสภณได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า ตนไม่ยอมรับอำนาจศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยจะขอ ‘ถอนทนายความ’ ของตนเอง และไม่ประสงค์จะมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในคดีนี้ รวมถึงไม่ขอลงลายมือชื่อในเอกสารทุกรายการของศาลตั้งแต่บัดนี้ ทั้งนี้ ตนจะยื่นเป็นคำร้องขอถอนทนายจำเลยที่ 1 ต่อไป

    ถ้อยคำที่โสภณแถลงต่อศาลมีรายละเอียด ดังนี้

    “ข้าพเจ้านายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เวลาที่ผ่านมาทั้งตัวผมและประชาชนจำนวนมากถูกปิดปาก ถูกทำร้ายโดยมาตรา 112 ผมถูกคุมขังทั้งในเรือนจำ ทั้งในบ้านของตนเองนานกว่า 7 เดือน

    “มีคนจำนวนมากที่ยังคงสู้เรื่องสิทธิประกันตัว ทั้งเวหาเอง วารุณีเอง ที่กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ให้สิทธินี้กับผู้ต้องขัง ผมขอน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่เคยตรัสเอาไว้ว่า ‘ไม่อยากให้นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชน’ แต่สุดท้ายก็มีการเอามาใช้กับประชาชน ซึ่งตอนนี้มีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก

    “ดังนั้น ผมจึงขอ ‘ปฏิเสธอำนาจศาล’ ผมไม่ได้พูดถึงท่านเพียงคนเดียว แต่ผมพูดถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด จนกว่าศาลจะคืนสิทธิประกันตัวและยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องขัง 112 ทุกคน ขอบคุณครับ”

    การแถลงขอถอนทนายความในคดีและปฏิเสธอำนาจศาลดังกล่าว โสภณมี 2 ข้อเรียกร้อง คือ ขอให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน และให้ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด

    ส่วนโจเซฟ จำเลยที่ 2 แสดงความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีต่อไป โดยทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเลื่อนนัดสืบพยานออกไปก่อน เนื่องจากวันนี้มีพยานโจทก์ปากที่ 1 มาศาลเพียงปากเดียว แต่ฝ่ายจำเลยประสงค์ที่จะให้สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 และปากที่ 2 ในนัดเดียวกัน เนื่องจากทั้งสองปากเป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์ด้วยกัน

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยานไปเป็นวันที่ 11 ก.ย. 2566 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59169)
  • ในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 7 ปาก โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน 3 ปาก, ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานและพนักงานสอบสวนฝ่ายละ 1 ปาก, นักวิชาการและอาจารย์ผู้ให้ความเห็น 2 ปาก โดยพยายามกล่าวหาว่าคำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ แม้ไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่การกล่าวถึงอดีตกษัตริย์ ก็กระทบมายังกษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันไปว่าการกล่าวข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ รวมถึงมาตรา 112 คุ้มครองไปถึงกษัตริย์พระองค์ใด

    ตลอดการพิจารณา มีเพียงทนายของจำเลยที่ 2 (โจเซฟ) ที่ทำหน้าที่ในคดี ทำให้เนื้อหาการถามค้านหลักเป็นประเด็นคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งฝ่ายจำเลยพยายามชี้ให้เห็นว่ามีเนื้อหาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการประหารพระเจ้าตากสิน มีการอ้างอิงไว้ในงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การใส่ความหรือไม่ได้พาดพิงกษัตริย์องค์ปัจจุบัน รวมทั้งฝ่ายโจทก์เองก็ไม่ได้มีการนำสืบให้เห็นว่าข้อความเป็นเท็จอย่างไร ไม่มีพยานที่เป็นนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ให้ความเห็น ทั้งคำปราศรัยเป็นไปโดยสุภาพ ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย

    ++ผู้กล่าวหาเบิกความ อ้างว่า คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองเข้าข่าย ม.112 แม้จะเป็นข้อเท็จจริงตาม ปวศ. แต่ก็ทำให้พระองค์เสียหาย

    พันตำรวจเอกยงยุทธ พิชัยวรชิต ผู้กล่าวหาในคดี ขณะเกิดเหตุ รับราชการเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สน.บุปผาราม เบิกความว่า ในวันที่ 5 เม.ย. 2565 ตนได้ตรวจสอบไปยังเพจโมกหลวงริมน้ำ และพบว่ามีการนัดหมายทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2565

    ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานเฝ้าระวังและตรวจสอบพฤติกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ในวันที่เกิดเหตุ พยานได้จัดกำลังชุดสืบสวน เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยวางกำลังตั้งแต่ 09.00 น.

    หลังจากนั้น เวลาประมาณ 16.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจึงทยอยเข้ามาที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน และเริ่มทำกิจกรรมชื่อว่า ‘ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก’ พยานอยู่ในเหตุการณ์และได้ยินจำเลยทั้งสามพูดปราศรัย โดยพยานสั่งการให้ ด.ต.พรชัย วิชัยโย เป็นคนบันทึกภาพและเสียงในวันเกิดเหตุ นอกจากนี้ พยานยังสั่งการให้ จ.ส.ต.อิทธิพล นามแสงผา ตรวจดูกล้องวงจรปิดในพื้นที่การชุมนุมตลอด และให้บันทึกภาพการถ่ายทอดสดในเพจ “สำนักข่าวราษฎร” ด้วย

    ภายหลังจากการชุมนุมยุติในเวลา 19.00 น. พยานได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถอดเทปคำปราศรัย จากนั้นพยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาในวันรุ่งขึ้น

    พยานยืนยันว่า จำเลยทั้งสามได้ใช้ลำโพงและไมโครโฟนในการปราศรัย ซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าซึ่งมีเสียงดัง และไม่ได้มีการขออนุญาตจาก สน.บุปผาราม

    หลังจากรายงาน ผู้บังคับบัญชาได้ส่งเรื่องต่อไปยังตำรวจนครบาลและมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการกระทำของผู้ชุมนุมว่าผิดกฎหมายหรือไม่ จากนั้นพยานก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรอีก

    พยานกล่าวว่า ตนรับรู้เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่แจ้งต่อจำเลยที่ 1 และ 2 ว่าเป็นความผิดตาม มาตรา 112 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ ทั้งรัชกาลที่ 10, รัชกาลที่ 5 รวมถึงรัชกาลที่ 1 ซึ่งตามความเห็นของพยาน คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เข้าข่ายหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 1 เท่านั้น แต่ก็พาดพิงรัชกาลที่ 10 และทำให้ท่านเสื่อมเสีย

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่าไม่ได้มีการตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของเครื่องเสียง ทั้งยังไม่ทราบว่าใครต้องเป็นคนไปขออนุญาตใช้ นอกจากนี้ พยานยังไม่ทราบว่าการขออนุญาตต้องไปขอจากผู้อำนวยการเขต ไม่ใช่ผู้กำกับการ สน.บุปผาราม

    พยานไม่ทราบว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเริ่มคุ้มครองตั้งแต่พระมหากษัตริย์พระองค์ไหน แต่เห็นว่าถ้าเป็นพระมหากษัตริย์ต้องคุ้มครองหมดทุกพระองค์ ทั้งพยานยังไม่แน่ใจว่า ถ้ามีบุคคลใดกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา กับสมัยธนบุรี จะผิดมาตรา 112 หรือไม่

    พยานเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของพระมหากษัตริย์ในอดีตได้ แต่ต้องเป็นไปในทางที่ไม่สร้างความเสียหายต่อกษัตริย์ แต่พยานไม่ทราบว่า ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทำตัวเสียหายเอง จะสามารถพูดถึงได้หรือไม่

    พยานไม่ขอตอบว่า ข้อความว่า “กษัตริย์ไม่ใช่เทพ หากแต่เป็นคนธรรมดา สามารถพูดถึงได้ ไม่ต่างจากประชาชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาการปราศรัยวันเกิดเหตุ จะเป็นความจริงหรือไม่ เหตุที่พยานไม่ขอตอบเนื่องจากในความรู้สึกของพยาน พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนเทพ เพราะท่านทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

    พยานรับกับทนายว่า ตามข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ประชาชนธรรมดา ไพร่ ทาส ก็ต้องหมอบกราบและให้ความเคารพกับพระมหากษัตริย์ในฐานะสมมติเทพ

    พยานรับว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ที่กล่าวว่า รัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 มีภรรยาหลายคนนั้น เป็นความจริง

    ตามประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระเจ้าตากสิน พยานเคยได้ยินว่ามีเรื่องราวที่เป็นที่รับรู้กันอยู่ 2 ตำรา คือตำราที่บอกว่า รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์และสั่งสังหารพระเจ้าตาก และตำราที่บอกว่าพระเจ้าตากทรงหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช พยานไม่ทราบว่าตนเชื่อแบบไหน แต่ในทางตำราพงศาวดารได้จารึกไว้ว่า รัชกาลที่ 1 สั่งสังหารพระเจ้าตาก รวมถึงตำราทางประวัติศาสตร์ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุไว้ว่า รัชกาลที่ 1 ทรงสั่งให้มีการประหารพระเจ้าตาก รวมทั้งเครือญาติของพระเจ้าตากด้วย

    พยานไม่ทราบว่าตำราเล่มอื่นที่จะมาขัดแย้งกับตำราเล่มนี้จะเป็นเล่มใด เนื่องจากเป็นเรื่องของคณะทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ต้องสอบถามไปทางคณะทำงานจึงจะทราบ

    พยานไม่ทราบว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 จะเป็นความจริงและไม่บิดเบือนหรือไม่ และไม่ขอตอบว่าจำเลยที่ 2 พูดความเท็จ แต่พยานเห็นว่าคำปราศรัยเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 1 แม้จะตรงตามตำรา แต่ก็เป็นการกล่าวคำปราศรัยในลักษณะทำให้พระองค์เสียหาย

    ในการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ใส่ความ รัชกาลที่ 1 พยานได้ข้อมูลมาจากคณะทำงานชุดดังกล่าว แต่จะเป็นตำราเล่มใดนั้นพยานไม่ทราบ ทั้งยังจำไม่ได้แล้วว่าคนที่เอาข้อมูลมาให้พยานนั้นชื่ออะไร โดยคณะทำงานได้ทำความเห็นกลับมาว่า จำเลยที่ 2 ปราศรัยเป็นเท็จในลักษณะทำให้เสียหาย

    ในชั้นสอบสวน พยานไม่ได้ให้การว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 จะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย หรือทำให้รัชกาลที่ 10 เสียหายหรือไม่ และจนถึงปัจจุบัน พยานไม่เคยไปให้การเพิ่มเติมว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ทำให้รัชกาลที่ 10 เสียหาย หรือถูกดูหมิ่นอย่างไร ทั้งยังไม่เคยสืบสวน หรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 จะเป็นเท็จอย่างไร

    พยานรับว่า ในวันเกิดเหตุ 6 เม.ย. 2565 ซึ่งตรงกับวันจักรี จริง ๆ แล้วนัยของวันนี้มีอยู่ 2 อย่าง คือเป็นวันที่รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ และเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

    พระมหากษัตริย์จากราชวงศ์จักรี จะนำพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์ของพระเจ้าตากทุกปี ประชาชนสามารถตั้งคำถามได้ว่า จะเป็นการทำไปเพื่อขอขมาพระเจ้าตากหรือไม่ แต่จะมีคำตอบของคำถามนี้หรือไม่ พยานไม่ทราบ

    ตำรวจ สน.บุปผาราม รวมถึงตัวพยาน ไม่เคยไปแจ้งความกับอาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ที่สอนว่ารัชกาลที่ 1 สั่งให้ประหารพระเจ้าตาก ส่วนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเรียน ไม่ควรศึกษา และไม่ควรพูดถึงใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

    การปราศรัยในวันเกิดเหตุ เป็นการปราศรัยโดยเน้นข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ และใช้ข้อความที่สุภาพ ไม่มีคำหยาบ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62588)
  • ++เจ้าหน้าที่สืบสวนผู้ถอดเทป รับการปราศรัยพูดถึงข้อเท็จจริงตามปวศ. ทั้งในโพสต์ชวนชุมนุมก็ไม่ปรากฏถ้อยคำหยาบคาย

    ดาบตำรวจพรชัย วิชัยโย ขณะเกิดเหตุ รับราชการอยู่ฝ่ายสืบสวน สน.บุปผาราม เบิกความว่า ในวันที่ 5 เม.ย. 2565 เจ้าหน้าที่สืบสวนได้ตรวจสอบเพจโมกหลวงริมน้ำ และพบว่ามีการนัดหมายทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2565

    ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานลงพื้นที่ไปสืบสวนหาข่าว และถ่ายภาพนิ่งของการชุมนุมดังกล่าว โดยในวันเกิดเหตุ พยานลงพื้นที่ไปตั้งแต่เวลา 11.00 น. โดยไปคนเดียว ส่วนเจ้าพนักงานคนอื่นก็แยกย้ายกันไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย

    เวลา 16.20 น. ได้เริ่มการปราศรัยโดยใช้ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง พยานเริ่มบันทึกเทปตั้งแต่ช่วงการปราศรัยของจำเลยที่ 1 โดยใช้กล้องวิดีโอที่ติดกับเสื้อที่สามารถถ่ายภาพและเสียงได้ แต่พยานบันทึกได้ไม่หมด เนื่องจากมีมวลชนเข้ามากดดัน เลยต้องมีการเดินเข้า-เดินออกในพื้นที่การชุมนุม

    หลังจากจำเลยที่ 1 ปราศรัยเสร็จ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ก็ขึ้นมาปราศรัยตามลำดับ และพยานได้มีการบันทึกเทปไว้ตลอด จนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. ก็มีการประกาศยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับ

    ภายหลังการชุมนุม พยานได้มอบบันทึกเทปให้กับผู้บังคับบัญชาคือ พ.ต.ท.ยงยุทธ พิชัยวรชิต โดยพยานเป็นคนหนึ่งที่รวบรวมถอดเทปคำปราศรัย ทั้งในซีดีที่พยานบันทึกไว้ และซีดีที่ได้มาจากการบันทึกภาพใน Youtube และได้ร่วมทำรายงานการสืบสวนกับผู้บังคับบัญชาด้วย

    พยานขอยืนยันว่าจากการดูบันทึกเทปทั้งหมด เป็นสิ่งที่ตรงและสอดคล้องกับสิ่งที่พยานได้ไปรับฟังในวันเกิดเหตุ

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ คนที่ขออนุญาตจะต้องเป็นผู้จัดการชุมนุม โดยพยานไม่ได้สืบสวนว่าใครจะเป็นคนจัดเตรียมและนำเครื่องเสียมา ทั้งผู้ปราศรัยก็ไม่ได้มีการยุ่งเกี่ยวกับเครื่องเสียงใด ๆ

    พยานรับว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่พูดถึงได้ และมีการเรียนการสอนอยู่ทั่วไป และการปราศรัยในวันเกิดเหตุก็เป็นการพูดถึงข้อเท็จจริงที่ถกเถียงได้ตามประวัติศาสตร์

    ในโพสต์ประกาศเชิญชวนให้มาชุมนุมทางเพจโมกหลวงริมน้ำ ไม่ปรากฏถ้อยคำหยาบคาย และตามบันทึกถอดเทปของจำเลยที่ 2 ข้อความทั้งหมดก็เป็นไปด้วยความสุภาพ ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย หรือใส่ร้ายใด ๆ และข้อความในตอนท้ายของประกาศเชิญชวนที่ระบุว่า “กษัตริย์ไม่ใช่เทพ หากแต่เป็นคนธรรมดา สามารถพูดถึงได้ ไม่ต่างจากประชาชน” เป็นข้อเท็จจริงธรรมดาที่ทราบโดยทั่วไป

    พยานรับว่า วันที่ 6 เม.ย. ของทุกปี คือวันจักรี และ รัชกาลที่ 1 ก็ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าตากสินจริงตามที่จำเลยที่ 2 ปราศรัย  ส่วนการปราศรัยของจำเลยที่ 2 ที่บอกว่า บรรดาเครือญาติของพระเจ้าตากถูกสังหารไป 100 กว่าคน เป็นข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ที่มีตำรารับรอง โดยตรงกับตำราของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่อ้างอิงจากพงศาวดารระบุไว้

    พยานไม่ได้มีการไปสอบถามนักวิชาการหรืออาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ว่าสิ่งที่จำเลยที่ 2 พูด จะถูกต้องตามประวัติศาสตร์หรือไม่ และไม่ทราบว่า สน. ที่พยานสังกัดอยู่จะเคยมีการดำเนินคดีหรือเรียกอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกรุงธนบุรีมาสอบสวนหรือไม่

    นอกจากข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ พยานรับว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10

    ++ตำรวจฝ่ายเทคนิค รับ การศึกษาปวศ.จำเป็นต้องมีการถกเถียง ซึ่งเรื่องราวพระเจ้าตากก็มีความรับรู้กันอยู่ 2 กระแส โดนฆ่าตาย-หนีไปบวช

    จ่าสิบตำรวจอิทธิพล นามแสงผา ขณะเกิดเหตุ รับราชการอยู่ฝ่ายสืบสวน สน.บุปผาราม เบิกความว่า ในวันที่ 5 เม.ย. 2565 พยานได้ตรวจสอบไปยังเพจโมกหลวงริมน้ำ และพบว่ามีการนัดหมายทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2565

    หลังจากทราบเรื่องดังกล่าว พยานได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จึงมีคำสั่งให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ โดยได้มอบหมายให้พยานเชื่อมกล้อง และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ มาที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อเอาไว้ใช้สังเกตการณ์ต่าง ๆ พยานในฐานะฝ่ายเทคนิคของฝ่ายสืบสวน จึงต้องคอยเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ตามคำสั่ง

    ศูนย์ปฏิบัติการตั้งเสร็จเวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 เม.ย. 2565 และผู้บังคับบัญชาได้เข้ามาตรวจเยี่ยมตั้งแต่เวลานั้น โดยพยานอยู่ร่วมในศูนย์ปฏิบัติการตลอดเพราะเป็นฝ่ายเทคนิค

    นอกจากดูกล้องวงจรปิด ในช่วงที่มีการชุมนุม พยานได้สืบทราบว่าสื่อมวลชนอิสระได้มีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์การชุมนุมด้วย พยานเลยเปิดดูผ่านช่องทางถ่ายทอดสดทางช่อง Youtube ของ “สำนักข่าวราษฎร” กล่าวคือ ดูทั้งในกล้องวงจรปิด และใน Youtube ไปในคราวเดียวกัน

    พยานเริ่มบันทึกไฟล์วิดีโอจาก Youtube หลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุมแล้ว โดยไปบันทึกมาจากคลิปการถ่ายทอดสดของสำนักข่าวราษฎร หลังจากนั้น พยานได้บันทึกลงแผ่นซีดี และรายงานต่อผู้บังคับบัญชา

    พยานมีส่วนร่วมในการสืบสวนโดยเป็นคนถอดเทปหลัก และเป็นคนรวบรวม รวมถึงประมวลความถูกต้องเพื่อที่จะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานกล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบกล้องบริเวณรอบวงเวียนใหญ่ เพื่อเชื่อมต่อมายังห้องของศูนย์ปฏิบัติการ โดยพยานจำจำนวนกล้องที่แท้จริงไม่ได้ แต่โดยรวมแล้วมีประมาณ 10 กล้อง กล้องที่ติดอยู่ห่างจากบริเวณวงเวียนใหญ่ประมาณ 200-300 เมตร กล้องไม่สามารถบันทึกเสียงได้ จะเห็นได้แต่ภาพ ซึ่งก็จะไม่ค่อยชัด เลยต้องอาศัยไปเอาบันทึกภาพจากการถ่ายทอดสดของสำนักข่าวราษฎรอีกที

    พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 จะเป็นสมาชิกกลุ่มโมกหลวงฯ หรือไม่ เพราะไม่ทราบว่าสมาชิกจะมีใครบ้าง 

    เกี่ยวกับรายงานการสืบสวนที่พยานเบิกความว่าได้มีส่วนร่วมในการถอดเทป พยานไม่ได้ลงลายมือชื่อว่าเป็นคนถอดเทป และรับว่าพยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย ว่ามีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี และมีลักษณะดูหมิ่นรัชกาลที่ 1  

    พยานทราบว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยของพระเจ้าตาก กับรัชกาลที่ 1 ก็มีการเรียนการสอนอยู่ทั่วไป ซึ่งตามความเห็นของพยาน การศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์

    หลังจากพยานได้ดูการปราศรัยจบ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนฆ่าพระเจ้าตาก แต่ทราบว่ารัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระเจ้าตากตาย 

    พยานทราบว่าเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าตาก มีการถกเถียงและความรับรู้อยู่ 2 กระแส คือ 1. บอกว่าท่านถูกฆ่าตาย และ 2. ท่านหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช โดยรับว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 มีการปราศรัยถึงสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ไม่ได้กล่าวถึงหรือพาดพิงรัชกาลที่ 10
    .
    โสภณถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเข้าร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลเช่นเคย แต่เมื่อมาถึง เขาได้ ‘นั่งหันหลัง’ ให้กับผู้พิพากษาและปฏิเสธที่จะตอบคำถามใด ๆ ของศาลตลอดการพิจารณาคดี ตามเจตจำนงที่เคยได้แถลงไว้ว่าไม่ขอยอมรับอำนาจศาลและไม่ต้องการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี

    โสภณนั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษาตลอดทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยบางช่วงได้ใช้เวลาเพื่อนั่งคุยกับกลุ่มคนที่เดินทางมาให้กำลังใจ ทั้งครอบครัว เพื่อน และประชาชน

    กระทั่งการสืบพยานเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 15.00 น. โสภณได้เดินมาที่แท่นเบิกความพยาน และกล่าวแถลงต่อศาลเพื่อทวงถามความคืบหน้าของ 2 ข้อเรียกร้อง ขอให้คืนสิทธิประกันตัว และให้ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

    “ผม โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่ผมปฏิเสธอำนาจศาล ประกาศถอนทนาย และไม่ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาใด ๆ ของศาล ข้อเรียกร้องของผมยังคงชัดเจน คือ

    “ ‘หนึ่ง’ คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน และ ‘สอง’ ยุติการดำเนินคดี 112 ทั้งหมด

    “ผมขอบคุณศาลอาญาธนบุรีที่ให้สิทธิในการประกันตัวกับผมและจำเลยคนอื่น ๆ แต่การประท้วงของผมเป็นการประท้วงต่ออำนาจศาลทั้งหมด ตอนนี้มีคนอยู่ในคุก 32 คน 2 คนกำลังอดอาหารประท้วง หลายคนอาการย่ำแย่ ทั้งเวหา วารุณี เอกชัย รวมถึงผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่น ๆ ที่ต้องถูกพรากสิทธิประกันตัวไป

    “ในประวัติศาสตร์การปฏิเสธอำนาจศาลนั้น ล้วนเป็นการปฏิเสธอำนาจศาลในพระปรมาภิไธย ดังนั้น ผมไม่รู้ว่าเราจะหาความเป็นธรรมได้ไหม เพราะศาลเป็น ‘ศาลในนามของกษัตริย์’

    “ผมเคยแถลงไปแล้วว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดี ม.112 กับประชาชน ท่านเคยทวงถามถึงเพื่อนอัยการ เพื่อนตุลาการของพวกท่านหรือไม่ว่า ‘สิ่งที่พวกท่านกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่’ การที่พวกท่านทำแบบนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับแค่ตัวผม แต่มันส่งผลเสียต่อประชาชนและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แม้แต่ตัว ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ เองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

    “ขอให้รู้ไว้ว่า การประท้วงของผมไม่ได้ประท้วงต่อท่านเพียงคนเดียว แต่ผมประท้วงต่ออำนาจในกระบวนการยุติธรรม ‘ทั้งหมด’ ทำไมพวกท่านไม่ช่วยกันแก้ปัญหา เวลามีคนถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ศาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย ท่านไม่รู้สึกอะไรกันบ้างเลยหรือที่มีคนโดนดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากมายขนาดนี้ พวกท่านทำอะไรกันอยู่

    “สุดท้าย ผมขอฝากไปถึงตำรวจศาลด้วย ท่านไม่ให้พ่อแม่ของจำเลยเข้ามาฟังการพิจารณาคดี แต่สัปดาห์ที่แล้วท่านกลับปล่อยให้พยานโจทก์ปากที่ 2 เข้ามาฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ปากที่ 1 ได้ยังไง แล้วแบบนี้ความน่าเชื่อถือของพยานอยู่ตรงไหน”

    เมื่อโสภณแถลงเสร็จ ศาลไม่ได้กล่าวถ้อยคำใด ๆ โต้ตอบกลับมา แต่มีการบันทึกข้อเรียกร้องทั้งสองข้อของเขาลงไปในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย

    ไม่นานโสภณจึงถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวออกจากห้องพิจารณาเพื่อเตรียมตัวกลับเรือนจำในเวลาประมาณ 17.00 น. ส่วนการสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ยังคงเหลือในวันที่ 25 ก.ย. 2566 โดยศาลได้นัดวันสืบพยานเพิ่มเติมอีกสองนัดคือวันที่ 6 และ 13 พ.ย. 2566

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59638 และ https://tlhr2014.com/archives/62588)
  • ในการไต่สวนคำร้องขอถอนประกันของอัยการ อัยการได้นำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก คือ ร.ต.ท.ชูศักดิ์ บุญทอง สน.ดินแดง และ พ.ต.ท.ศุภวุฒิ แป้นชุม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน

    พ.ต.ท.ศุภวุฒิ ตอบศาลถามว่า ตนได้รับรายงานการสอบสวนมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ดินแดง ซึ่งรับผิดชอบในท้องที่เกิดเหตุชุมนุมและจัดทำรายงานการสืบสวนประกอบคำร้องมา แต่ไม่ได้รู้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในขณะเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 จึงขอยืนยันข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบสวนที่ได้รับมา

    ส่วน ร.ต.ท.ชูศักดิ์ ตอบศาลถามว่า ตนและทีมงานเป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวน โดยเมื่อวันพุธที่ 16 ส.ค. 2566 ผู้ชุมนุมได้มาขออนุญาตหัวหน้าสถานีตำรวจเพื่อจัดงานรำลึกให้กับวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้า สน.ดินแดง ซึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำเลยอยู่ด้วย

    จนถึงเวลาประมาณ 18.50 น. จำเลยได้ใช้สีผสมเลือดสาดไปที่ศาลพระภูมิ จากนั้นตนจึงได้รับมอบหมายจากผู้กำกับการ สน.ดินแดง ให้แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และก่อให้เกิดความรำคาญ โดยมีการจุดพลุส่งเสียงดัง โดยตอนนี้คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ส่วนจะมีการออกหมายเรียกจำเลยให้มารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ ตนไม่ทราบ

    ร.ต.ท.ชูศักดิ์ เบิกความต่อว่า จำเลยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมชุมนุมในวันนั้น โดยนอกเหนือจากการสาดสีใส่ศาลพระภูมิแล้ว จำเลยก็ไม่ได้กระทำการใด ๆ อีก

    จากนั้นโจเซฟลุกขึ้นแถลงต่อศาลมีรายละเอียดว่า

    “ผมขออนุญาตแถลงแบบนี้ครับท่าน ผมเนี่ยเป็นจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นคดี 112 และผมยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ผมยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด

    “ผมไม่รู้ว่าการที่ตำรวจกับอัยการมาถอนประกันผมโดยไม่เกี่ยวอะไรเลยกับ 112 มันเป็นไปตามหลักกฎหมายรึเปล่า ยกเว้นเสียแต่ว่าท่านอัยการจะมองว่า สน.ดินแดง เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    “ด้วยความเคารพนะครับท่าน การที่ท่านทำแบบนี้ ตำรวจส่งอะไรมาให้ท่านก็รับหมดโดยไม่มีการกลั่นกรองก่อน ถ้าท่านไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพคนที่ต้องโดนยิงตายหน้า สน. ก็ช่วยให้เกียรติชุดครุยที่ท่านใส่อยู่ด้วยเถอะครับ

    “มันเป็นเรื่องน่าตลกมากที่เด็กอายุ 14 โดนยิงตายหน้า สน.ดินแดง จนเวลาผ่านมากว่า 2 ปี ตำรวจยังไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

    “แต่การที่ผมไปสาดสีหน้า สน. ตำรวจกลับมีพยานหลักฐานทุกอย่างทั้งภาพทั้งคลิป เพื่อที่จะมาเอาผิดผมและถอนประกันผม

    “ในวันนั้นมี ‘คนตาย’ ทั้งคนนะครับ และเขาเป็นเพียงแค่เด็กอายุ 14 ปี ผมไม่อยากให้สังคมลืมวาฤทธิ์ สมน้อย ผมไม่อยากให้สังคมลืมเด็กที่ถูกยิงตายหน้า สน.ดินแดง ผมอยากให้สังคมจดจำเขาได้ครับ”

    โจเซฟยังตอบศาลถามต่อว่า ตนเป็นผู้ที่ไปร่วมชุมนุมวันนั้นจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และได้มีการสาดสีใส่ศาลพระภูมิจริง แต่ไม่ได้เป็นการสร้างความเสียหาย เพราะน้ำที่ใช้สาดเป็นน้ำผสมน้ำหวาน สามารถล้างออกได้ และเหตุที่ตนกระทำการดังกล่าวลงไปก็เนื่องจากต้องการให้สังคมได้รำลึกถึงผู้ตายซึ่งยังเป็นเด็ก ซึ่งจนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถสืบหาการตายของเขาได้ การกระทำของตนจึงมีความมุ่งหมายให้สังคมได้หันมาย้อนดูถึงการตายของเด็กอายุ 14 ปี ที่ถูกยิงตายหน้า สน.ดินแดง เท่านั้น

    ต่อมา ร.ต.ท.ชูศักดิ์ แถลงต่อศาลว่า เกี่ยวกับน้ำหรือของเหลวสีแดงที่สาดไปที่ศาลพระภูมิ ต่อมาได้มีการล้างแต่ยังมีคราบสีแดงหลงเหลืออยู่ไม่สามารถล้างออกจนหมดได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่มีหลักฐานภายหลังจากที่ล้างเสร็จมายืนยันต่อศาลและไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการล้างมานำเสนอในวันนี้ เพียงแต่ต้องการแจ้งให้ศาลทราบ ศาลจึงบันทึกไว้ และได้นัดหมายอ่านคำสั่งต่อคำร้องขอถอนประกันโจเซฟในวันที่ 28 ก.ย. 2566

    ช่วงบ่ายยังมีการสืบพยานโจทก์ต่ออีก 1 ปาก
    .
    ++ผู้ให้ความเห็นด้าน กม. ระบุ ม.112 เป็นกฎหมายอาญา ต้องตีความตามตัวบท ทั้งยังคุ้มครองเฉพาะกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น

    วัลลภ ห่างไธสง อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้ให้ความเห็นด้านกฎหมาย เบิกความให้ความเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เข้าข่ายดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

    ส่วนประโยคที่กล่าวว่า “ทุกคนครับกษัตริย์เป็นคนครับ เป็นคนที่มีกิเลสไม่ต่างจากเรา เป็นคนที่มีความโลภไม่ต่างจากเรา เราจะทำยังไงให้บ้านเมืองที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ รัชสมัยใหม่มีความสงบสุข มีความราบรื่น ก็ต้องฆ่าต้องทำลายยุคสมัยเก่าออกไปก่อนไงครับ นี่คือเหตุผลที่ทำไมนายทองด้วงถึงได้ฆ่าเพื่อนร่วมรบอย่างพระเจ้าตากไป” พยานเห็นว่ายังไม่เข้าข่ายผิดตาม ม.112 เนื่องจากเป็นการพูดถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต เป็นเพียงการพูดโน้มน้าวให้คนฟังเข้าใจว่าพระเจ้าตากถูกกระทำอย่างไรบ้าง ยังไม่ผิดตาม ม.112

    ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 พยานมองว่าเข้าข่าย ม.112 เนื่องจากจำเลยที่ 2 มีการปราศรัยซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังจงเกลียดจงชัง ไม่ให้การเคารพ และลดคุณค่าในตัวของพระองค์ เป็นการกล่าวกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เช่นประโยคที่กล่าวว่า “ปัจจุบันเราจะเห็นนะครับว่าพระมหากษัตริย์ของพวกเรา มีพระราชนามเป็นพุทธาวดาร ปัจจุบันเราเรียก พระรามที่สิบ หรือการอวตารของพระรามครั้งที่สิบ นั่นก็คือ วชิราลงกรณ์ในปัจจุบันนะครับผม”

    ส่วนการพูดโน้มน้าวให้คนฟังเข้าใจว่ารัชกาลที่ 1 มีส่วนในการฆ่าล้างบางเครือข่ายของพระเจ้าตาก พยานมองว่ายังไม่เข้าข่าย ม.112 เพราะไม่กระทบกับพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน

    พยานเบิกความว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกบัญญัติให้อยู่ในหมวดความมั่นคง และคำปราศรัยทั้งหมดมันอาจจะกระทบกับความรู้สึก ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองได้ อย่างไรก็ตาม ม.112 เป็นกฎหมายอาญา ดังนั้นต้องตีความอย่างเคร่งครัด ตามตัวบทกฎหมาย ไม่สามารถตีความได้กว้างแบบเรื่องความมั่นคง ดังนั้นตามความเห็นของพยาน คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองจึงมีบางประโยคที่เข้าและไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตนไม่เคยเขียนบทความหรือมีงานวิชาการเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พยานรับว่า พระนามของกษัตริย์ในอดีต เป็นการตั้งให้สอดคล้องกับชื่อของพระพุทธเจ้าหรือเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ซึ่งการกล่าวพระนามเฉย ๆ โดยไม่ได้กล่าวพระอิสริยยศ เช่น ‘วชิราลงกรณ์’ ไม่ผิด แต่ถ้ามีประโยคอื่นเข้ามา ซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าของพระองค์ และทำให้คนอื่นเข้าใจได้ว่าเป็นการลดคุณค่าจะมีความผิดได้

    พยานรับว่า เกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติมากกว่า รัชกาลที่ 10 เพราะมีเอกสารเป็นที่ประจักษ์  พยานรับอีกว่า ในอดีตไม่สามารถวิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ แต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ท่านเคยตรัสไว้ว่า พระมหากษัตริย์สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่พยานเห็นว่า ควรต้องเหมาะสม ไม่ใช่ไปดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระองค์

    พยานเบิกความรับว่า คำปราศรัยที่กล่าวถึงราชวงศ์จักรี หรือรัชกาลที่ 1 เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าเป็นการพูด การกล่าวถึงโดยสุจริตสามารถพูดถึงได้ทุกคน แต่ถ้าให้ร้ายจะเป็นความผิด

    พยานรับว่า หลังจากรัชกาลที่ 9 สวรรคตไป รัชกาลที่ 10 ได้ขึ้นครองราชย์ และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ รวมทั้งมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทัพส่วนพระองค์ด้วย

    พยานรับว่า ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือพระราชพิธีต่าง ๆ ต้องมีเรื่องของการดูฤกษ์ยาม ตามโหรหลวงกำหนด ซึ่งก็มีทั้งแบบพราหมณ์และพุทธ ซึ่งพระราชพิธีเหล่านี้ก็ล้วนสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์เป็นองค์เทพที่ลงมาจุติในร่างของมนุษย์

    ส่วนที่พยานเบิกความ เห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ผิด ม.112 เป็นสิ่งที่พยานไม่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนตั้งแต่แรก แต่เป็นการให้ความเห็นจากการอ่านคำปราศรัยในศาล 

    ส่วนเกี่ยวกับหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) พยานเบิกความว่า มีการกำหนดให้มีบุคคลผู้สนองพระบรมราชโองการ แต่ในปัจจุบัน การบริหารราชการ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อน ลด ปลดย้ายนายทหาร พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจโดยที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60078 และ https://tlhr2014.com/archives/62588)
  • ศาลยกคำร้องขอถอนประกันโจเซฟ ระบุในคำสั่งว่า เห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมขออนุญาตใช้พื้นที่หน้า สน.ดินแดง เพื่อจัดการชุมนุมสาธารณะ ไว้อาลัยให้กับเหตุการณ์ความรุนแรง และการเสียชีวิตของเด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ต่อมา กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปีนรั้วสถานีตำรวจ และใช้ของเหลวสีแดงสาดศาลพระภูมิของสถานีตำรวจ ทำให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำด้วย เป็นเรื่องที่ผู้ได้รับความเสียหายควรใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไป

    พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยังไม่พอฟังได้ว่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง กำชับจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลนี้อย่างเคร่งครัด

    ผลจากคำสั่งดังกล่าว โจเซฟจึงยังมีอิสรภาพต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60078)
  • ++ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ระบุ แม้จะพูดถึงข้อเท็จจริงทางปวศ. แต่ถ้าใช้คำไม่เหมาะสม-สร้างความเกลียดชัง ก็ยังถือว่าดูหมิ่น

    วรรณิสา จำปาทอง ข้าราชการครู เบิกความว่า ตนมีประสบการณ์เป็นครูสอนภาษาไทยมาแล้วประมาณ 13 ปี โดยก่อนหน้านี้ไม่ทราบว่ามีการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 แต่ได้รับการประสานให้มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 โดยพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม เป็นคนประสาน ซึ่งพยานได้ไปให้การไว้เกี่ยวกับถ้อยคำที่จำเลยทั้งสามปราศรัย

    พยานเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีการใช้คำที่ไม่เหมาะสมกับพระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะเป็นการเรียก รัชกาลที่ 1 ว่านายทองด้วง ซึ่งคำว่า ‘นาย’ ควรจะเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลธรรมดา ไม่ใช้ในการเรียกพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำว่า ‘เค้า’ ซึ่งเป็นการใช้คำสรรพนามที่ไม่เหมาะสมกับองค์พระมหากษัตริย์

    นอกจากการใช้คำที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังมีการกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 1 ทรงยึดอำนาจ ซึ่งถือว่าเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 1 เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงแน่นอน อีกทั้งยังเป็นการดูหมิ่นต้นตระกูลพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ว่า ส่งต่อสิ่งไม่ดีให้กับพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และปลุกระดมให้คนมองว่าราชวงศ์นี้ไม่ดีตั้งแต่ต้น หรือตั้งแต่ปฐมกษัตริย์

    เมื่อพยานอ่านการคำปราศรัยทั้งหมดแล้ว เห็นว่า เจตนาผู้พูดคือต้องการจะโน้มน้าวความคิดของประชาชน ให้รับรู้เกี่ยวกับข้อบิดเบือนในการสั่งฆ่าพระเจ้าตาก

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า นอกจากการสอนหนังสือในโรงเรียนแล้ว พยานไม่มีตำแหน่งทางวิชาการใด ๆ และไม่เคยตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์

    พยานเคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี’ และพยานรู้จัก ‘พงศาวดาร’ ซึ่งเป็นหลักฐานที่มีการบันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้ และเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ใช้ในการศึกษา ซึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ ก็สามารถถกเถียงกันได้ว่า ประวัติศาสตร์แบบไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

    พยานรับว่า ในหนังสือเล่มดังกล่าวของนิธิ มีการเขียนระบุว่า ได้มีการปรึกษาหารือถึงโทษของพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าจะสำเร็จโทษท่านอย่างไร โดยมีการอ้างอิงตามพงศาวดาร และมีการระบุถึงสาเหตุการตายว่า โดนตัดหัวที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งในทางประวัติศาสตร์คนที่ควบคุมตัวและมีคำสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าตาก ก็คือรัชกาลที่ 1

    พยานรับว่า ในหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่’ ของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์ ได้มีการระบุไว้ว่า จากพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อ้างอิงจากพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา พระยาจักรีได้ยกทัพกลับมาและตั้งศาลตัดสินว่าควรสำเร็จโทษเครือข่ายอำนาจของพระเจ้าตากทั้ง 150 คนเสีย

    ตำราทั้งสองดังกล่าว เป็นตำราที่อ้างอิงมาจากพงศาวดาร ซึ่งถือว่าเป็นที่ยอมรับทางวิชาการ และน่าเชื่อถือในทางประวัติศาสตร์ จนกว่าจะมีพยานหลักฐานอื่นมาหักล้าง

    พยานเบิกความว่า ตนได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน โดยเป็นการให้ความเห็นว่าถ้อยคำแต่ละคำที่จำเลยใช้นั้นหมายความว่าอะไร ส่วนความเห็นที่พยานเบิกความต่อศาลว่า จำเลยบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ นั้น พยานไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ทั้งพยานยังไม่ได้นำเสนอหลักฐานต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลนี้ว่า มีหลักฐานอื่น ๆ ที่หักล้างกับคำพูดของจำเลย และทำให้เห็นว่า สิ่งที่จำเลยพูดเป็นความเท็จ

    พยานไม่ทราบว่า พนักงานสอบสวนจะได้ไปติดต่อนักวิชาการ หรือหาหลักฐาน ตำรา มายืนยันในสิ่งที่พยานได้ให้ความเห็นไว้หรือไม่ และส่วนที่พยานไปให้การเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 พยานไม่ได้ระบุว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

    พยานรู้จักนายทองด้วง แต่พยานเห็นว่าในแง่ภาษาไทย คำ ๆ นี้มันไม่เหมาะสม เพราะขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วไม่ควรใช้คำเรียกแบบบุคคลธรรมดา

    พยานไม่ได้จบกฎหมาย และไม่ทราบว่าการพูด “พระนาม” เฉย ๆ จะผิดกฎหมายหรือไม่ และที่พยานบอกว่าคำพูดของจำเลยหมิ่นหรือไม่หมิ่น ก็เป็นการมองในแง่การใช้ภาษา การใช้คำ ซึ่งตามความรู้สึกของพยาน คำพูดของจำเลยเข้าข่ายหมิ่นประมาทเพราะเป็นการปลุกระดม สร้างความเกลียดชังต่อราชวงศ์จักรี ต่อให้ข้อความที่พาดพิงจะเป็นการพูดถึงข้อเท็จจริง แต่ถ้าเป็นการปลุกระดมและสร้างความเกลียดชัง ก็เป็นการหมิ่นประมาท

    ++จนท.พิสูจน์หลักฐาน ระบุ คลิปที่ตรวจไม่ใช่ต้นฉบับ-มีการแก้ไขเพิ่มเติมรูปภาพเข้าไป แต่ไม่พบการตัดต่อ

    พันตำรวจตรีธัญญสิทธิ์ เกิดโภคทรัพย์ ขณะเกิดเหตุ รับราชการตำรวจอยู่กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้ส่งดีวีดีมาให้พยานตรวจ จำนวน 1 แผ่น โดยให้ตรวจว่ามีการตัดต่อหรือไม่

    ผลก็คือพบแฟ้มข้อมูลภาพยนตร์จำนวน 1 รายการ และมีการเพิ่มสัญลักษณ์ และตัวอักษรเข้ามา แต่ไม่พบการตัดต่อ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า สอดคล้องกันทั้งภาพและเสียง เมื่อตรวจเสร็จก็ได้ออกรายงานการตรวจพิสูจน์ส่งให้พนักงานสอบสวน

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตามเอกสารที่พยานได้จัดทำเป็นรายงานการตรวจพิสูจน์ คลิปที่พยานตรวจไม่ใช่ต้นฉบับ มีการแก้ไขเพิ่มเติมรูปภาพเข้าไป และหลังจากที่ได้ดู-ได้ฟังคลิป พยานจะมีความรู้สึกดูหมิ่นรัชกาลที่ 1 หรือรัชกาลที่ 10 หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

    ++พงส. ยืนยัน การวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ แม้จะโดยสุจริตก็ไม่สามารถทำได้ และการเรียกพระนามเฉย ๆ ก็อาจเข้าข่าย ม.112 ได้

    พันตำรวจโทศุภวุฒิ แป้นชุม พนักงานสืบสวน สน.บุปผาราม เบิกความว่า ตนได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีผู้ชุมนุมมาจัดกิจกรรมในวันที่ 6 เม.ย. 2565 ที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ พอถึงวันเกิดเหตุ พยานจึงเตรียมความพร้อมประจำอยู่ที่ สน. เพื่อติดตามสถานการณ์

    หลังจากเสร็จการชุมนุม พยานได้ทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชา และเสนอไปยังกองบังคับการ ตามลำดับชั้น เมื่อคณะประชุมพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าผิดตามมาตรา 112 และมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยพยานเป็นหนึ่งในคณะทำงานนี้ด้วย รับหน้าที่สอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐาน

    วันที่ 2 พ.ค. 2565 พ.ต.อ.ยงยุทธ พิชัยวรชิต ได้รับมอบหมายให้มาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยร้องให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสามในความผิดตาม ม.112 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดย พ.ต.อ.ยงยุทธ ได้มอบดีวีดีบันทึกเหตุการณ์ และรายงานการสอบสวนให้พยานด้วย จากนั้นพยานได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาธนบุรี เพื่อขออนุมัติหมายจับ

    ต่อมา พยานได้สอบปากคำพยานความเห็นต่าง ๆ หลังจากนั้นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม ส่งให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาคดีต่อไป

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม และตามกฎหมาย ผู้จัดการชุมนุมต้องเป็นคนไปขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงกับผู้อำนวยการเขต ซึ่งพยานก็ไม่ได้มีหมายเรียก ผอ.เขต ให้มาเป็นพยานเพื่อสอบสวนเรื่องนี้

    พยานไม่ได้ดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่ขึ้นปราศรัยในวันดังกล่าว และไม่ได้มีการไปสอบผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

    ส่วนในความเห็นของคณะทำงานคดีนี้ มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะราชวงศ์จักรี แต่พยานรับว่าในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้มีการระบุว่า คุ้มครองเฉพาะราชวงศ์จักรี

    พยานไม่ทราบว่าแต่เดิมรัชกาลที่ 1 เป็นสามัญชน คือ นายทองด้วง ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสิงห์ ซึ่งต่อมาเสวยราชเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และไม่ทราบว่าการถกเถียงเรื่องการตายของพระเจ้าตากมีอยู่ 2 ความเห็นคือถูกประหาร และหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช

    พยานรับว่า รัชกาลที่ 1 เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งตามความเห็นทางด้านประวัติศาสตร์ก็คือ ต้องมีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าตากก่อน รัชกาลที่ 1 จึงจะสามารถขึ้นครองราชย์ได้

    พยานไม่ทราบว่า มีการเคารพสรรเสริญพระมหากษัตริย์ โดยสรรเสริญท่านว่าเป็นพระพุทธเจ้า หรือเทพเจ้าลงมาจุติในร่างมนุษย์ ซึ่งมีการเคารพนับถือท่านและตั้งชื่อล้อตามเทพเจ้า เช่น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

    พยานไม่ทราบว่า ตามหนังสือ หรือตำราทางวิชาการต่าง ๆ จะมีการเรียกกล่าวพระนามเฉย ๆ โดยที่ไม่ได้มีการฉลองพระยศหรือไม่ แต่พยานเห็นว่าการเรียกพระนามเฉย ๆ ผิด เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่จะผิดกฎหมายมาตราใด พยานตอบไม่ได้ พยานรู้เพียงแค่ว่า ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์ ก็ต้องใช้คำราชาศัพท์ การเรียกพระนามเฉย ๆ อาจเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้

    พยานไม่ทราบว่า ในอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

    พยานได้รับฟังคำปราศรัยและรู้สึกว่าไม่เหมาะสม แต่ตัวพยานเองเมื่อฟังแล้วก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกดูหมิ่น หรือรู้สึกไม่ดีต่อรัชกาลที่ 10, รัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 1

    พยานทราบว่า คำว่า ‘ในหลวง’ เป็นคำลำลอง และปัจจุบันก็มีการเรียกขานพระนามของ รัชกาลที่ 5 หรือ รัชกาลที่ 9 ว่า ‘พ่อ’, ‘พ่อหลวง’ ซึ่งคำว่าพ่อก็ไม่ได้ผิดกฎหมายและเป็นการยกตนเสมอท่าน สามารถเรียกได้เหมือนเป็นคำที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไป

    พยานไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 9 ทรงเคยบอกว่าไม่ควรนำมาตรา 112 มาใช้ เพราะทำให้พระองค์ได้รับความเสียหาย และโดนติเตียน ซึ่งรัชกาลที่ 9 เองก็ทรงมีพระราชดำรัสว่า พระมหากษัตริย์ต้องสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

    พยานขอยืนยันว่า การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตนั้น ถ้าเป็นกรณีของคนธรรมดาสามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นกรณีของพระมหากษัตริย์ แม้จะสุจริต แต่ก็ไม่สามารถทำได้
    .
    โจทก์แถลงหมดพยาน ส่วนทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานบุคคลของฝ่ายจำเลยที่ 2 คดีจึงเสร็จการพิจารณา ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. และยกเลิกวันนัดสืบพยานในวันที่ 13 พ.ย. 2566
    .
    ตั้งแต่เวลา 09.00 น. โสภณซึ่งถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 ในคดีจากการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเข้าร่วมการพิจารณาคดีนี้ที่ศาลอาญาธนบุรีในชุดนักโทษพร้อมเครื่องพันธนาการ คือ กุญแจข้อเท้าเช่นเคย เมื่อมาถึงเขาได้นั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษาและปฏิเสธที่จะตอบคำถามใด ๆ ของศาลเหมือนในนัดสืบพยานครั้งก่อน ๆ ตามเจตจำนงที่เคยได้แถลงไว้ว่า ไม่ขอยอมรับอำนาจศาลและไม่ต้องการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี

    ในช่วงหนึ่งของการสืบพยาน โสภณได้ถอดเสื้อนักโทษของตนเองออกระหว่างนั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษา จนมีปากเสียงกับทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ควบคุมตัวเขา แต่สุดท้ายศาลยังอนุญาตให้สืบพยานต่อไปได้ โดยที่เขายังคงนั่งหันหลังและถอดเสื้อต่อไป

    ระหว่างการมีปากเสียงกัน โสภณกล่าวว่า “บอกว่าผมถอดเสื้อแบบนี้ไม่ได้ มันผิดปกติ แล้วคุณว่ามันปกติหรือที่ผมถูกขังแบบนี้ การสืบพยานแบบนี้มันปกติไหม การใช้ 112 กับประชาชนจำนวนมาก การไม่ให้ประกันมันปกติไหม เห็น ๆ กันหมดว่ากระบวนการมันไม่ปกติ การประท้วงของผมมันสันติวิธีมาก ๆ แต่คุณกลับบอกว่ามันไม่ปกติ

    “ผมขอประท้วงต่อศาล และต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด พวกคุณพูดแต่ว่ามันเป็นหน้าที่ ๆ แต่คุณไม่เคยทักท้วงต่อระบบที่เป็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่ว่ามันผิดปกติ

    “หน้าที่ของพวกคุณคือการทำให้กระบวนการยุติธรรมมันดีขึ้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกคนพร่ำบอกแต่ว่า ตัวเองทำตามหน้าที่ ๆ ซึ่งมันทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้กระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยว แทนที่เราทุกคนในระบบนี้จะช่วยกัน แต่เรากลับปล่อยให้มันแย่กว่าเดิม”

    หลังจากเสร็จการสืบพยานในช่วงเช้า โสภณไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวเขาไปที่ห้องควบคุมตัวของศาล เนื่องจากมีความกังวลว่าตนเองอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย จึงขอนั่งอยู่ในห้องพิจารณาจนกว่าจะถึงช่วงบ่ายที่มีการสืบพยานต่อ แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่อนุญาต โดยหลังจากการโต้เถียงเป็นระยะเวลาหนึ่ง เก็ทก็ยอมใส่เสื้อและยอมให้เจ้าหน้าที่คุมตัวไปที่ห้องควบคุมตัว ภายใต้เงื่อนไขว่า เจ้าหน้าที่ต้องไม่ทำอันตรายใด ๆ กับเขา

    โสภณได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ในช่วงหนึ่งของการพูดคุยว่า เขาไม่ได้มีปัญหากับเจ้าหน้าที่หรือทางราชทัณฑ์ แต่เขามีข้อพิพาทกับกระบวนการยุติธรรมที่มันดำเนินอยู่ เขาไม่อยากให้เจ้าหน้าที่กระโดดเข้ามาแทรกในความขัดแย้งตรงนี้ เพราะเขากำลังประท้วงต่อศาล ต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ไม่ได้ประท้วงเจ้าหน้าที่

    โสภณนั่งหันหลังให้ผู้พิพากษาและถอดเสื้อตลอดทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยบางช่วงได้ใช้เวลาพูดคุยกับกลุ่มคนที่เดินทางมาให้กำลังใจ ทั้งครอบครัว เพื่อน และประชาชน

    กระทั่งการสืบพยานเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 15.00 น. โสภณได้เดินไปที่แท่นสำหรับพยานเบิกความ ในลักษณะเปลือยร่างกายท่อนบน และยืนแถลงต่อศาลเพื่อทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาและอีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่ โดยมีรายละเอียดของถ้อยคำโดยสรุปดังนี้

    “ก่อนอื่นผมต้องขอโทษศาล ขอโทษทุก ๆ คนด้วยที่ต้องมาเห็นผมอยู่ในสภาพแบบนี้ ต้องมาเห็นผมทำตัวเหมือนลิง ทำอะไรที่แปลกประหลาด ผิดปกติ ผมทราบดีว่าการที่ผมถอดเสื้อออกในวันนี้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะได้กระทำต่อศาลหรือไม่ได้กระทำต่อศาลก็ตาม แต่เหตุที่ผมต้องทำแบบนี้เพราะผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้สึกถึงความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมที่ผมและเพื่อน ๆ อีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่

    “ตัวผมเองก็อยากเรียกร้องให้มันสันติที่สุด แต่ผมมีเพียงตัวเปล่า ผมก็ทำเท่าที่ผมจะทำได้ ผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้สึกถึงความผิดปกติที่มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมถามท่านหน่อยว่า ประชาชนที่ออกมาตั้งคำถาม ออกมาต่อสู้เรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรจะมีชะตากรรมแบบนี้หรือไม่ พวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายตามสิทธิที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทย และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัว พวกเขาไม่ควรถูกล่ามโซ่ตรวนและทำกับเค้าเหมือนหมูเหมือนหมา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการพิพากษาด้วยซ้ำว่ามีความผิด นี่หรือคือประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

    “ในหลวงทั้ง 2 พระองค์ ร.9 กับ ร.10 ท่านก็เคยตรัสไว้ว่า ไม่อยากให้มีการดำเนินคดี 112 กับประชาชน แต่การที่ 112 ถูกใช้แบบนี้ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมหรือที่ได้รับผลกระทบ

    “ผมอยากให้ท่านได้รับรู้ถึงความผิดปกติเหล่านี้ เพราะท่านเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ท่านไม่อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมมันดีขึ้นกว่านี้หรือครับ ผมมันเป็นเพียงแค่คนนอก ลำพังแค่ตัวผมเพียงคนเดียวมันไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าหากพวกท่านช่วยกัน ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไปได้ไกลกว่านี้ครับ

    “ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนาย ตำรวจศาล และบุคลากรอื่นๆ ผมอยากให้พวกท่านช่วยกันออกมาทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ อยากให้พวกท่านออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ เพื่อลูกหลานของพวกท่านเองในอนาคต เท่านี้แหละครับสิ่งที่ผมอยากจะพูด”

    เมื่อโสภณแถลงเสร็จ ศาลไม่ได้กล่าวถ้อยคำใด ๆ ตอบ แต่บันทึกคำแถลงของโสภณลงไปในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย จากนั้นไม่นานโสภณก็ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวออกจากห้องพิจารณาไปยังห้องควบคุมตัวอีกครั้งเพื่อเตรียมตัวกลับเรือนจำในเวลาประมาณ 17.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61257 และ https://tlhr2014.com/archives/62588)
  • บริเวณศาลอาญาธนบุรี มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา มีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางขุนเทียน เจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สำนักอำนวยการประจำศาลอาญาธนบุรี รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำพิเศษธนบุรี โดยตลอดห้องโถงก่อนเข้าห้องพิจารณาที่ 11 บนชั้น 3 ของอาคารศาล มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานดังกล่าวยืนเรียงตลอดสองข้างก่อนถึงห้องพิจารณา

    ทั้งนี้ มีผู้มาให้กำลังใจเก็ทและโจเซฟจำนวนมาก ทั้งครอบครัว คนใกล้ชิด อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อนนักกิจกรรม ภายใต้บรรยากาศหยุดยาวก่อนนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2567

    ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งให้ผู้มาให้กำลังใจและสังเกตการณ์คดีแยกเข้าไปนั่งฟังการถ่ายทอดวิดีโอที่ห้องข้าง ๆ และไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์สื่อสาร โดยจะต้องฝากโทรศัพท์ไว้ที่ตะกร้าหน้าห้องเท่านั้น

    เวลา 09.20 น. เก็ทถูกเบิกตัวจากห้องขังใต้ถุนศาลขึ้นมายังห้องพิจารณา โดยเขาถูกใส่กุญแจเท้าล่ามข้อเท้าทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน และในห้องพิจารณามีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล 2 นาย นั่งประกบตลอดเวลา ส่วนเจ้าหน้าที่อื่นอีก 4 นาย กระจายตัวกันอยู่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี ครอบครัว และคนใกล้ชิดอีก 3 คนเข้ามาในห้องพิจารณา

    เวลา 09.25 น. ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา มีรายละเอียดโดยสรุปใน 2 ประเด็น ดังนี้

    ++ข้อหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

    ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนวันเกิดเหตุมีการนัดหมายชุมนุมจริงตามสื่อออนไลน์ โดยไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลมาขอใช้เครื่องขยายเสียงจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และในวันเกิดเหตุพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยทั้งสองได้ขึ้นปราศรัยโดยใช้ไมค์ขยายเสียง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ห่างไปถึง 20 เมตรได้ยินเสียง จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

    จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 วรรคแรก, มาตรา 9 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ลงโทษปรับคนละ 200 บาท

    ++ข้อหาตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือไม่

    ศาลเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์และความรู้สึกของบุคคลประกอบด้วย พยานโจทก์เบิกความไปในทางสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยโดยมีการกล่าวถึงพระนามของรัชกาลที่ 10 ยืนยันข้อเท็จจริงว่า ไม่ทรงงาน และยังลุ่มหลงในไสยศาสตร์ เห็นว่า คำปราศรัยดังกล่าวทำให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ส่วนจำเลยที่ 2 คำปราศรัยไม่ได้มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 แต่กล่าวถึงรัชกาลที่ 1 ศาลเห็นว่า แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งถึงระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ยังคงได้รับการเคารพสักการะให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงงานโดยใช้อํานาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา อํานาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอํานาจตุลาการผ่านทางศาล มีการสืบราชสันตติวงศ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนทุกคนยังคงผูกพันกับสถาบันกษัตริย์ตลอดมา

    ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ปราศรัยโดยสรุปว่า ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง หมายถึงกษัตริย์เป็นเทวราชา เป็นเทพอวตารมาจุติ ประชาชนต้องหมอบกราบ และราชวงศ์เก่าในอดีตมีการฆ่าเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ ทั้งหมดควรเป็นการกระทำของเทวราชา เทพอวตารหรือไม่ ให้พี่น้องไปไตร่ตรองเอาเอง

    ศาลเห็นว่าคำกล่าวของจำเลยที่ 2 เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ว่าพระมหากษัตริย์มีเมียหลายคนหรือมีการแย่งชิงทรัพย์สมบัติกันก็เป็นเรื่องทั่วไป ส่วนที่จำเลยที่ 2 กล่าวถึงสาเหตุการตายของพระเจ้าตากสินก็เป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อยุติทางประวัติศาสตร์ ทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อแบบนั้นได้ การกล่าวถึงเทพอวตารไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง โดยจำเลยที่ 2 ได้ให้ผู้ฟังที่เป็นประชาชนไปคิดเองต่อ ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอะไร และเลือกหยิบบางประเด็นมาปราศรัยเท่านั้น

    ทั้งนี้ในคำฟ้อง ได้แยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จากกัน พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ยกฟ้อง

    พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ในข้อหามาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปี และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่ศาลอาญามีคำพิพากษาไปก่อนหน้านี้

    ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
    .
    หลังจากฟังคำพิพากษา โจเซฟได้จ่ายค่าปรับต่อศาลเป็นที่เรียบร้อย ส่วนเก็ทปฎิเสธที่จะจ่ายค่าปรับและไม่ขอประกันตัวในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ให้เวลาเก็ทได้พูดคุยกับครอบครัวและผู้ที่ศาลอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาได้ จากนั้นเก็ทถูกนำตัวออกจากห้องพิจารณาเพื่อเดินทางกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ที่รักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา

    ทั้งนี้ เก็ทถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 หลังถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว โดยลงโทษในข้อหามาตรา 112 จำคุก 3 ปี และลงโทษในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเขาไม่ได้รับการประกันตัวมานับแต่นั้น หากรวมโทษจำคุกในสองคดี เท่ากับ 6 ปี 6 เดือน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62629)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โจเซฟ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
มิ้นท์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โจเซฟ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-12-2023
ผู้ถูกดำเนินคดี :
โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-12-2023
ผู้ถูกดำเนินคดี :
มิ้นท์ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์