สรุปความสำคัญ

เอก (นามสมมติ) พนักงานบาร์วัย 28 ปี ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หลังถูกตัวแทนกระทรวงดิจิทัลฯ เข้าร้องทุกข์กล่าวหาว่า เขาเหตุแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” มีเนื้อหาเกี่ยวกับคุกวังทวีวัฒนาเชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งโพสต์ข้อความประกอบ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565

ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาเอกถูกตำรวจ ปอท.บุกเข้าค้นห้องพักย่านลาดพร้าวเพื่อตรวจยึดเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หลังตรวจค้นและตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ ตำรวจบอกกับเอกให้ไปที่ บก.ปอท.เพื่อรับโทรศัพท์คืน แต่เมื่อเอกไปถึงเขากลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แม้ในชั้นตำรวจเอกจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกัน แต่เมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ศาลอาญากลับไม่ให้ประกันระหว่างพิจารณาคดี ทำให้เอกถูกคุมขังอยู่ถึง 44 วัน ศาลจึงให้ประกันในช่วงที่ตะวันและแบมอดอาหารเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • "เอก" (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

11 พ.ค. 2565 ราว 06.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) บุกเข้าค้นห้องพักย่านลาดพร้าวของ เอก (นามสมมติ) พนักงานบาร์วัย 28 ปี เพื่อตรวจยึดเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หัวหน้าชุดเข้าตรวจค้นคือ พ.ต.ท.กมล ทวีศรี รอง ผกก.3 บก.ปอท. และเจ้าหน้าที่อีก 7 นาย โดยอาศัยหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 10 พ.ค. 2565 ตลอดการเข้าตรวจค้น เอกมีเพียงแค่ภรรยาอยู่ร่วมเป็นพยานด้วยเท่านั้น ไม่มีทนายความร่วมด้วย

หลังตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเอกไว้เพื่อตรวจสอบ และได้จัดทำบันทึกการตรวจค้นและตรวจยึดของกลาง

การตรวจค้นเสร็จสิ้นในช่วงเวลาราว 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า ขอให้เอกเดินทางไปยัง บก.ปอท. เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม เป็นการแจ้งปากเปล่าโดยไม่ได้มีการออกหมายเรียกและไม่ได้มีหมายจับ เมื่อพนักงานบาร์รายนี้เดินทางมาถึง บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า จะดำเนินคดีเขาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เอกจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากทนายความ

เมื่อทนายเดินทางไปถึง ร.ต.อ.นัฐพล ทะเลน้อย รองสารวัตรสอบสวน ปรก.กก.3 บก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเอก โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย นวพล คนยัง ได้มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง เนื่องจากแชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ปรากฏรูปรัชกาลที่ 10 เป็นรูปประกอบ มีเนื้อหาเชื่อมโยงรัชกาลที่ 10 กับคุกวังทวีวัฒนา มีการอ้างอิงเนื้อหาจากสื่อต่างประเทศ ในโพสต์ที่แชร์มานั้น มีการตั้งแคปชั่นประกอบว่า “ออกข่าวทุกประเทศยกเว้นกะลาแลนด์” และตั้งค่าสาธารณะ โดยเป็นโพสต์เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565

พนักงานสอบสวนบรรยายต่อไปว่า การแชร์โพสต์ข้อความดังกล่าวถือเป็นการกล่าวหา ดูหมิ่นและใส่ความกษัตริย์โดยปราศจากข้อเท็จจริง มีเจตนาทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง หรืออาฆาตมาดร้าย และเป็นการส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เอกได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเนื่องจากเป็นการเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง ทางตำรวจจาก บก.ปอท. จึงปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังในชั้นสอบสวน และไม่ได้กำหนดหลักประกัน

หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว เอกเปิดเผยว่า “ที่ตัดสินใจตามไป ปอท. เพราะคิดว่า คงไม่มีอะไร เพราะโพสต์นั้นก็โดนศาลสั่งปิดกั้นไปแล้ว ตำรวจยังพูดทำนองอีกว่า ถ้าไปให้สอบสวนแล้วจะคืนโทรศัพท์ให้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คืน”

“การที่ผมโดนคดีมันเป็นเรื่องแปลก โพสต์ต้นทางเอง กระทรวงดิจิทัลฯ เขาก็ไปขอศาลให้ปิดกั้นแล้ว เข้าถึงไม่ได้ เป็นเรื่องไร้สาระที่มันเกิดขึ้น”

ทั้งนี้จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา มีคดีที่ตัวแทนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้แจ้งความไม่น้อยกว่า 11 คดี แล้ว

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 11 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43572)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์