ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.3133/2565
แดง อ.409/2567

ผู้กล่าวหา
  • นวพล คนยัง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลฯ (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.3133/2565
แดง อ.409/2567
ผู้กล่าวหา
  • นวพล คนยัง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลฯ

ความสำคัญของคดี

เอก (นามสมมติ) พนักงานบาร์วัย 28 ปี ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หลังถูกตัวแทนกระทรวงดิจิทัลฯ เข้าร้องทุกข์กล่าวหาว่า เขาเหตุแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” มีเนื้อหาเกี่ยวกับคุกวังทวีวัฒนาเชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งโพสต์ข้อความประกอบ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565

ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาเอกถูกตำรวจ ปอท.บุกเข้าค้นห้องพักย่านลาดพร้าวเพื่อตรวจยึดเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หลังตรวจค้นและตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ ตำรวจบอกกับเอกให้ไปที่ บก.ปอท.เพื่อรับโทรศัพท์คืน แต่เมื่อเอกไปถึงเขากลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แม้ในชั้นตำรวจเอกจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกัน แต่เมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ศาลอาญากลับไม่ให้ประกันระหว่างพิจารณาคดี ทำให้เอกถูกคุมขังอยู่ถึง 44 วัน ศาลจึงให้ประกันในช่วงที่ตะวันและแบมอดอาหารเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พ.ต.ท.ธงชัย อิทธินิติกุล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 บรรยายคำฟ้องใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565 จำเลยได้แชร์ภาพพร้อมข้อความจำนวน 4 ภาพ จากเพจ “KTUK — คนไทยยูเค” พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “ออกข่าวทุกประเทศยกเว้น กะลาแลนด์”

ภาพและข้อความดังกล่าว มีความหมายว่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เน้นปกครองด้วยความกลัวและโหดเหี้ยม มีคุกเถื่อนไว้ขังเหล่าข้าราชบริพารที่วังทวีวัฒนาเป็นเสมือนคุกนรกบนดิน อันเป็นความเท็จ ทำให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจำเลยตั้งค่าโพสต์และแชร์เป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ราว 06.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) บุกเข้าค้นห้องพักย่านลาดพร้าวของ เอก (นามสมมติ) พนักงานบาร์วัย 28 ปี เพื่อตรวจยึดเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หัวหน้าชุดเข้าตรวจค้นคือ พ.ต.ท.กมล ทวีศรี รอง ผกก.3 บก.ปอท. และเจ้าหน้าที่อีก 7 นาย โดยอาศัยหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 10 พ.ค. 2565 ตลอดการเข้าตรวจค้น เอกมีเพียงแค่ภรรยาอยู่ร่วมเป็นพยานด้วยเท่านั้น ไม่มีทนายความร่วมด้วย

    หลังตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเอกไว้เพื่อตรวจสอบ และได้จัดทำบันทึกการตรวจค้นและตรวจยึดของกลาง

    การตรวจค้นเสร็จสิ้นในช่วงเวลาราว 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า ขอให้เอกเดินทางไปยัง บก.ปอท. เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม เป็นการแจ้งปากเปล่าโดยไม่ได้มีการออกหมายเรียกและไม่ได้มีหมายจับ เมื่อพนักงานบาร์รายนี้เดินทางมาถึง บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า จะดำเนินคดีเขาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เอกจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากทนายความ

    เมื่อทนายเดินทางไปถึง ร.ต.อ.นัฐพล ทะเลน้อย รองสารวัตรสอบสวน ปรก.กก.3 บก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเอก โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย นวพล คนยัง ได้มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง เนื่องจากแชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ปรากฏรูปรัชกาลที่ 10 เป็นรูปประกอบ มีเนื้อหาเชื่อมโยงรัชกาลที่ 10 กับคุกวังทวีวัฒนา มีการอ้างอิงเนื้อหาจากสื่อต่างประเทศ ในโพสต์ที่แชร์มานั้น มีการตั้งแคปชั่นประกอบว่า “ออกข่าวทุกประเทศยกเว้นกะลาแลนด์” และตั้งค่าสาธารณะ โดยเป็นโพสต์เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565

    พนักงานสอบสวนบรรยายต่อไปว่า การแชร์โพสต์ข้อความดังกล่าวถือเป็นการกล่าวหา ดูหมิ่นและใส่ความกษัตริย์โดยปราศจากข้อเท็จจริง มีเจตนาทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง หรืออาฆาตมาดร้าย และเป็นการส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

    หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เอกได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเนื่องจากเป็นการเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง ทางตำรวจจาก บก.ปอท. จึงปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังในชั้นสอบสวน และไม่ได้กำหนดหลักประกัน

    ++“ตำรวจบอกให้ผมไป ปอท. แล้วจะคืนโทรศัพท์ให้ แต่พอไปถึง กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหา” เสียงจากผู้ต้องหา

    หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว พนักงานบาร์ผู้ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคงรายนี้เล่าว่า การบุกเข้าตรวจค้นเกิดขึ้นช่วงก่อน 7 โมงเช้า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยอื่นๆ อยู่ร่วมในกระบวนการตรวจค้น ราว 6 – 7 นาย การตรวจค้นเป็นไปโดยปกติ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีท่าทีคุกคาม ได้แสดงหมายค้นฯ ให้ดูตามระเบียบของกฎหมาย เมื่อตรวจค้นเสร็จและได้ยึดโทรศัพท์มือถือไปแล้ว ตำรวจได้แจ้งกับเขาว่า ขอให้เดินทางไปให้ปากคำต่อที่ บก.ปอท. ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นการบอกปากเปล่า แต่เมื่อไปถึง กลับกลายเป็นว่า เขาถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตาม มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งในเวลานั้น เอกยังไม่ได้ติดต่อทนายความ เพราะไม่คิดว่าจะโดนคดีทันที

    “ตำรวจบอกว่า ‘เดี๋ยวอาบน้ำเสร็จให้ตามไปที่ ปอท. หน่อยนะ ไปหาร้อยเวร ไปให้การสอบสวน’ ผมก็สมัครใจไปเอง แต่เขาไม่ได้บอกผมแต่แรกว่า ไปแล้วจะโดนดำเนินคดีนะ บอกแค่ให้ไปให้ปากคำกับร้อยเวร แล้วก็ไม่ได้บอกอะไรต่อ ผมเลยถามไปว่า ‘ผมต้องหาทนายไปด้วยไหม?’ เขาก็ตอบว่า ไม่ต้อง”

    “พอมาถึง ปอท. ได้คุยกับร้อยเวรถึงได้รู้ว่าเป็นการแจ้งข้อกล่าวหา เลยขอความช่วยเหลือจากทนาย”

    “ที่ตัดสินใจตามไป ปอท. เพราะคิดว่า คงไม่มีอะไร เพราะโพสต์นั้นก็โดนศาลสั่งปิดกั้นไปแล้ว ตำรวจยังพูดทำนองอีกว่า ถ้าไปให้สอบสวนแล้วจะคืนโทรศัพท์ให้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คืน”

    “การที่ผมโดนคดีมันเป็นเรื่องแปลก โพสต์ต้นทางเอง กระทรวงดิจิทัลฯ เขาก็ไปขอศาลให้ปิดกั้นแล้ว เข้าถึงไม่ได้ เป็นเรื่องไร้สาระที่มันเกิดขึ้น”

    ทั้งนี้จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา มีคดีที่ตัวแทนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้แจ้งความไม่น้อยกว่า 11 คดี แล้ว

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 11 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43572)
  • เอกเดินทางไปพบพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ในนัดส่งฟ้องต่อศาลอาญา หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องเอกในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5)

    คำฟ้องที่ยื่นต่อศาลโดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565 จำเลยได้แชร์ภาพพร้อมข้อความจำนวน 4 ภาพ จากเพจ “KTUK — คนไทยยูเค” พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “ออกข่าวทุกประเทศยกเว้น กะลาแลนด์”

    อัยการบรรยายฟ้องว่าภาพและข้อความดังกล่าว มีความหมายว่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เน้นปกครองด้วยความกลัวและโหดเหี้ยม มีคุกเถื่อนไว้ขังเหล่าข้าราชบริพารที่วังทวีวัฒนาเป็นเสมือนคุกนรกบนดิน อันเป็นความเท็จ ทำให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจำเลยตั้งค่าโพสต์และแชร์เป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    อัยการยังระบุในคำฟ้อง ขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลย เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    หลังศาลรับคำฟ้อง ทนายจำเลยได้ยื่นประกันเอกระหว่างพิจารณา ต่อมาในเวลา 14.17 น. ปริญญา สิตะโปสะ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วคดีนี้มีอัตราโทษสูง และผู้ร้องคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว หากปล่อยชั่วคราว เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตในชั้นนี้ ยกคำร้อง

    หลังจากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ทนายได้ดำเนินการเตรียมยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวเอกต่อไป ทำให้ในวันนี้เอกจะต้องถูกควบคุมตัวส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51769)
  • นายประกันเข้ายื่นคำร้องขอประกันเอกเป็นครั้งที่ 2 ระบุเหตุผลว่า จำเลยประสงค์ต่อสูคดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ นอกจากนี้ จำเลยทำงานมีภาระหน้าที่ต้องทำงานหาเลี้ยงภรรยาและบุตรซึ่งมีอายุเพียง 2 ขวบ หากศาลเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี จำเลยยินยอมให้ติด EM และปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยเคร่งครัด

    อย่างไรก็ตาม ชาญชัย ณ พิกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/52386)
  • ทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้ประกันเอกระหว่างพิจารณาคดี

    ต่อมา 29 ธ.ค. 2565 ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2565 ไม่อนุญาตให้ประกันเช่นกัน ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดในข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับโจทก์คัดค้านการปล่อยชั่วคราว แม้โจทก์จะยื่นฟ้องคดีแล้วแต่ยังมิได้มีการสืบพยาน หากอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รูปคดีได้ ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/52386)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอประกันเอกระหว่างพิจารณาเป็นครั้งที่ 3 ระบุเหตุผลสำคัญว่า จำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ประกอบสัมมาชีพสุจริต ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ ประกอบกับพยานหลักฐานในคดีอยู่ในความครอบครองของโจทก์แล้วทั้งสิ้น อีกทั้งบรรดาพฤติการณ์ของจำเลยที่เกิดขึ้นในคดีนี้ล้วนไม่เข้าเงื่อนไขการไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 แม้แต่น้อย

    ต่อมา ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเอก ระบุว่า พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 14 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52386)
  • จากกรณีที่ "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ "แบม" อรวรรณ ภู่พงษ์ อดอาหารและน้ำล่วงเข้าวันที่ 7 เรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวและปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีอีกครั้ง โดยยื่นประกันจำเลยทั้งหมด 11 ราย ที่ศาลอาญา รวมทั้งเอก และยื่นประกันที่ศาลอาญากรุงเทพใต้อีก 1 ราย คือ สมบัติ ทองย้อย

    เวลา 16.10 น. กีรติ กีรติยุติ ผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเอกและคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีรวม 9 ราย ระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52786)

  • ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองระหว่างพิจารณาคดีจำนวน 9 ราย อีกครั้ง

    ต่อมา กีรติ กีรติยุติ ผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเอกและคนอื่นๆ ระบุคำสั่งว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ประกอบกับศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยมาโดยตลอด ทั้งได้ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2566)
  • ทนายความพร้อมกลุ่มญาติเข้ายื่นคำร้องขอประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีอีกครั้ง โดยยื่นประกันจำเลยทั้งหมด 11 ราย ที่ศาลอาญา รวมทั้งเอก และยื่นประกันที่ศาลอาญากรุงเทพใต้อีก 1 ราย

    ต่อมา กีรติ กีรติยุติ ผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเอกและคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีรวม 9 ราย ส่วนอีก 2 ราย ซึ่งคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์มีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ในส่วนคำสั่งไม่ให้ประกันเอก ระบุว่า "พิเคราะห์แล้วข้อหาหนัก พฤติการณ์ร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งใกล้ถึงวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งตามฟ้องมีข้อมูลโยงจากสื่อออนไลน์ โจทก์คัดค้านประกัน และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตมาแล้วเพราะเกรงว่าจะเสียรูปคดีในกระบวนการยุติธรรม ในชั้นนี้จึงยังคงเกรงว่าจะหลบหนีหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง"
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันเอกอีกครั้งเป็นครั้งที่ 7 โดยขอวางหลักประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท พร้อมทั้งระบุในคำร้องว่า ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันที่ศาลกำหนดทุกเงื่อนไข รวมทั้งยินยอมให้ติด EM

    17.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันเอก ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลาตามสมควรแล้ว ซึ่งคดีได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 ก.พ. ศกนี้ จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยมีหลักประกันในวงเงิน 100,000 บาท กำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำการใดหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้อง และห้ามเดินทางออกจากราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

    ทำให้เอกได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ รวมเวลาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีทั้งสิ้น 44 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 3 ก.พ. 2566)
  • เอกและทนายจําเลยเดินทางไปศาลในนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังอีกครั้ง จําเลยให้การปฏิเสธตามคําให้การของจําเลยฉบับลงวันที่วันนี้

    โจทก์แถลงประสงค์สืบพยานรวม 10 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, นักวิชาการ, ประชาชนที่อ่านข้อความและให้ความเห็น, ตํารวจผู้ตรวจโทรศัพท์ สืบสวน ตรวจค้น และพนักงานสอบสวน ใช้เวลาสืบ 2 นัดครึ่ง จําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จําเลยไม่ได้กระทําความผิดตามฟ้องและไม่ใช่เฟซบุ๊กของจําเลย ประสงค์จะสืบพยาน 2 ปากคือ จําเลยและผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ใช้เวลาสืบครึ่งนัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 26-28 ธ.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 28 ธ.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 ลงวันที่ 13 ก.พ. 2566)
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน เอกแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ โดยขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลมีคำสั่งให้จำเลยไปพบเจ้าพนักงานคุมประพฤติเพื่อสืบเสาะ ก่อนนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 13 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น.
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 808 เอกเดินทางมาฟังคำพิพากษากับครอบครัว ก่อนในเวลา 09.19 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี

    พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว เห็นว่า นิสัยและความประพฤติของจำเลยที่ผ่านมาไม่ปรากฏข้อเสียหายที่ร้ายแรง จำเลยประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งที่มั่นคง อาศัยอยู่กับครอบครัวและมีลูกอายุเพียง 3 ปี อีกทั้งจำเลยได้บริจาคดวงตาและร่างกายไว้กับสภากาชาดไทย นับว่าจำเลยมีจิตสำนึกต่อบุคคลอื่นและสังคมส่วนรวม ประกอบกับจากการประเมินของพนักงานคุมประพฤติแนวโน้มความเสี่ยงการกระทำผิดซ้ำของจำเลยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี พร้อมให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี และให้ทำงานบริการสังคม 48 ชั่วโมง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3133/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.409/2567 ลงวันที่ 13 ก.พ. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/64724)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"เอก" (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"เอก" (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 13-02-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์