ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.713/2565
แดง อ.876/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กองม่วง สว.สส.สภ.เมืองอุดรฯ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.713/2565
แดง อ.876/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กองม่วง สว.สส.สภ.เมืองอุดรฯ

ความสำคัญของคดี

“ปีเตอร์” (นามสมมติ) พ่อค้าออนไลน์วัย 27 ปี ชาวกรุงเทพฯ แต่ไปทำงานที่เชียงใหม่ ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต เรื่องการพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง ที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาไปที่ทำงานอยู่ที่อุดรฯ

คดีนี้มีข้อน่าสังเกตถึงดุลพินิจในการสั่งฟ้องของอัยการ เนื่องจากศาลเคยวินิจฉัยไว้ในชั้นขอออกหมายจับว่า ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมกลับตีความกว้างขวางเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

นฤทชัย ผลจันทร์ พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงพูดหรือปราศรัยแก่ประชาชนหลายคน บริเวณแยกกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี

คำฟ้องได้กล่าวถึงบางตอนของคำปราศรัยซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์การพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “…ผมอยากฝากถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โปรดเถอะครับ ยกเลิกการพระราชทานยศแก่สุนัขทรงเลี้ยงอะไรพวกนี้อ่ะครับ เพราะว่าจะทําให้ราชการที่รับราชการเนี่ยเขาเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ําใจว่า ทําไมเนี่ยเรารับใช้รัชกาลจะตายเนี่ย แต่ทําไมถึงมียศไม่เท่ากับพลอากาศเอกฟูฟู เนี่ย ยกเลิกเถอะครับ พระราชทานยศให้สุนัขทรงเลี้ยงเนี่ย”

และ “คุณรู้ไหมว่า ปี 60 เนี่ย สถาบันพระมหากษัตริย์เนี่ย ได้รับภาษีของเราสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ภาษีของเราเนี่ยตัวเลขนี้อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท… ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตอนนี้ประเทศเราเนี่ย GDP ติดลบ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ทําไม ผมตั้งคําถามว่าทําไมสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงต้องเอาภาษีเราไปจํานวนมากขนาดนี้ 3.7 หมื่นล้าน ซึ่งมันมากเหลือเกิน แล้วภาษีของเราเนี่ยตกอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่หนึ่งของโลกเช่นกัน ผมจะยกตัวอย่างของสถาบันเบลเยี่ยมนะ เจ้าฟ้าชายฟิลิปเนี่ยเบลเยียม คุณเชื่อไหมว่าเขาได้รับภาษีจากประชาชนเบลเยียม แค่ 340 ล้านบาทต่อปี แต่คุณเชื่อไม่ว่าประชาชนเบลเยียม รวยอันเป็นอันดับ 6 ของโลก พอผมมองย้อนกลับไปดูที่บ้านเราเนี่ย โอ้โหสถาบันเรารวยถึง 1.376 ล้านล้าน แต่ประชาชนเนี่ย ประเทศไทยมันอยู่อันดับไหนเนี่ย”

เมื่อบุคคลทั่วไปได้ฟังคําพูดของจําเลยดังกล่าวข้างต้นแล้วย่อมทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการพูดปราศรัยโดยการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • “ปีเตอร์” (นามสมมติ) พ่อค้าออนไลน์วัย 27 ปี เดินทางจากจังหวัดทางภาคเหนือ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามที่ สภ.เมืองอุดรธานี ออกหมายเรียกเมื่อเดือน มี.ค. 2565 โดยมี พ.ต.ต.จักรกฤษณ์ กองม่วง สว.สส.สภ.เมืองอุดรธานี เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

    ทั้งนี้ หมายเรียกดังกล่าวถูกส่งไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้านซึ่งปีเตอร์ไม่ได้อยู่ และญาติที่รับหมายเรียกไม่ได้แจ้งเขาจนกระทั่งปลายเดือนเมษายน เมื่อทราบว่ามีหมายเรียกปีเตอร์จึงติดต่อพนักงานสอบสวนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 พ.ค. 2565

    ในการรับทราบข้อกล่าวหา คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคําสั่ง ภ.จว.อุดรธานี ที่ 39/2564 แจ้งปีเตอร์และทนายความถึงพฤติการณ์คดีโดยระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ปีเตอร์ได้เข้าร่วมชุมนุมที่จัดขึ้นบริเวณแยกกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ในชื่อกลุ่มกิจกรรมว่า "กลุ่มอุดรพอกันที" และได้ขึ้นพูดปราศรัยวิจารณ์การแต่งตั้งยศให้ฟูฟู ซึ่งเป็นการพูดบิดเบือนข้อเท็จจริง ใส่ความรัชกาลที่ 10 เนื่องจากไม่พบว่ามีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงเรื่องการพระราชทานยศ “พลอากาศเอก” ให้กับ “ฟูฟู” แต่อย่างใด

    และปราศรัยเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ โดยใช้ถ้อยคําส่อไปในทางพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในทางมิบังควรเป็นอย่างยิ่ง เป็นการก้าวล่วง ล่วงเกิน ลิดรอนพระราชอํานาจของพระองค์ท่าน ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงได้ฟังแล้วอาจเกิดความสับสนเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อาจเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกษัตริย์

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงคววามอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผุ้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

    อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นไม่ควรสั่งฟ้องปีเตอร์ในข้อหาตามมาตรา 112 โดยเห็นว่า ผู้ต้องหาปราศรัยด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม มีข้อความหมิ่นเหม่ แต่ไม่ถึงขนาดเป็นความผิด แต่เมื่อส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณา พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จึงต้องติดตามตัวปีเตอร์มาดําเนินคดี

    ปีเตอร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 6 มิ.ย. 2565 พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการวันเดียวกัน ก่อนปล่อยตัวกลับ เนื่องจากมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

    ปีเตอร์กล่าวถึงการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีแรก จากการขึ้นปราศรัยครั้งแรกและครั้งเดียวของเขาว่า “ผมเริ่มต้นการปราศรัยด้วยการบอกว่า ผมหวังดีกับสถาบันกษัตริย์ จริงๆ ผมเป็นคนที่รักสถาบันฯ แต่ผมคิดว่าถึงเวลาที่สถาบันฯ ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว”

    สำหรับเหตุในคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 กลุ่ม “อุดรพอกันที” ร่วมกับนักเรียนกลุ่ม “อุดรพิทย์ไม่ยอมเป็นทาส” และ “RN ปฏิวัติ” จัดชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยคนที่ถูกจับและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนขึ้นปราศรัยแสดงความเห็นหลายคน

    นอกจากปีเตอร์ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้ว ยังมีนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” อีก 2 ราย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมครั้งเดียวกันนี้

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองอุดรธานี ลงวันที่ 9 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46032)
  • ปีเตอร์เดินทางข้ามภาคอีกครั้งตามนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการ หลังรับสำนวน อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ทั้งนี้ ปีเตอร์ได้รับแจ้งว่า พนักงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนเปลี่ยนคนไปจากคนเดิมที่เคยรับสำนวนไว้พิจารณาและมีความเห็นสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้
  • ปีเตอร์เดินทางจากจังหวัดทางภาคเหนือไปที่ศาลจังหวัดอุดรธานีในนัดส่งฟ้องคดีมาตรา 112 หลังทราบเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ว่า อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีแล้ว แต่เขาได้ขอเลื่อนนัดส่งฟ้องมาเป็นวันที่ 11 ก.ค. 2565 เพื่อเตรียมเรื่องการประกันตัว

    พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานีเป็นโจทก์ฟ้องปีเตอร์ในฐานความผิด “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยบรรยายคำฟ้องกล่าวถึงบางตอนของคำปราศรัยซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์การพระราชทานยศให้ “ฟูฟู” สุนัขทรงเลี้ยง และงบสถาบันกษัตริย์

    อัยการระบุว่า เมื่อบุคคลทั่วไปได้ฟังคําพูดของจําเลยดังกล่าวข้างต้นแล้วย่อมทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการพูดปราศรัยโดยการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

    เวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการจังหวัดอุดรฯ เดินทางมายื่นฟ้องและนำตัวปีเตอร์ไปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไว้ในห้องขังด้านหลังศาล ขณะเจ้าหน้าที่ศาลดำเนินการรับคำฟ้องและออกหมายเลขคดีดำ ก่อนทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปีเตอร์ระหว่างพิจารณาคดี ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ประมาณ 16.00 น. หลังศาลใช้วิธีคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามาที่ห้องขังเพื่ออ่านคำฟ้องโดยสรุป และถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งปีเตอร์ให้การปฏิเสธ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ นอกจากให้มาศาลตามนัด พร้อมทั้งนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ส.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

    ปีเตอร์ได้รับการปล่อยตัวในเวลาเกือบ 17.00 น. รวมเวลาถูกขังกว่า 3 ชม.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46032)
  • ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลย เข้ายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากทนายจำเลยเพิ่งได้รับแต่งตั้ง ประกอบกับติดนัดว่าความในคดีอื่นที่ได้นัดไว้แล้ว ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ก.ย. 2565
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ปีเตอร์ฟัง และถามคำให้การ ปีเตอร์ให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงขออ้างส่งพยานเอกสารรวม 23 ฉบับ และพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 12 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้สังเกตการณ์, ผู้ถอดเทปคำปราศรัย, ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยศของสุนัข, กอ.รมน.ฝ่ายข่าว, อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความ, คนขายพวงมาลัย และพนักงานสอบสวน ใช้เวลาสืบ 3 นัด

    ด้านทนายจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลรวม 15 ปาก และพยานเอกสาร 18 ฉบับ แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับพยานบุคคล 8 ปาก อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และพยานเอกสาร 5 ฉบับ อาทิ รายการและรายละเอียดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, ตารางการเดินทางเข้าออกประเทศไทยและเยอรมัน โดยระบุว่า ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี แม้ทนายยืนยันว่าเกี่ยวข้อง คงเหลือพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 7 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัดครึ่ง

    ในส่วนพยานเอกสารที่จำเลยจะนำสืบ เนื่องจากอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก จึงต้องให้ศาลออกหมายเรียกก่อน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ย. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2565)
  • จำเลยและผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยมาศาล ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจากเหตุสุดวิสัย ศาลอนุญาตเลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 ม.ค. 2566 เวลา 10.00 น.
  • ทนายจำเลยยื่นพยานเอกสาร 7 ฉบับ ให้ฝ่ายโจทก์ตรวจ ทั้งโจทก์และทนายจำเลยยืนยันสืบพยานบุคคลตามที่เคยแถลงไว้ นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 13-15 มิ.ย. 2566 สืบพยานจำเลยวันที่ 16, 22, 23 มิ.ย. 2566
  • อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 8 ปาก ด้านพยานจำเลย มีจำเลยเข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียงปากเดียว

    พยานโจทก์มีทั้งที่เบิกความว่า คำปราศรัยของจำเลยตามฟ้อง ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจรัชกาลที่ 10 ในทางที่ไม่ดี แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุถึงรัชกาลที่ 10 โดยตรง และมีทั้งที่เบิกความว่า ทำให้ประชาชนมองสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบ ทั้งมีพยานโจทก์ที่เบิกความว่า ไม่เข้าใจความหมายของคำปราศรัยเลยด้วย ขณะที่พนักงานสอบสวนระบุว่า คดีนี้ศาลยกคำร้องขอออกหมายจับจำเลยถึง 2 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 คณะพนักงานสอบสวนจึงสั่งไม่ฟ้อง แต่เมื่อสำนวนไปถึงอัยการ อัยการกลับมีความเห็นสั่งฟ้อง

    ซึ่งเมื่อทนายจำเลยซักถาม พยานโจทก์เหล่านี้ยอมรับว่า ที่จำเลยปราศรัยเรื่องฟูฟูและเสนอไม่แต่งตั้งยศให้สุนัขทรงเลี้ยงนั้น จำเลยพูดด้วยความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ ส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณสถาบันกษัตริย์ก็เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ประชาชนวิจารณ์ได้

    ด้านจำเลยก็เบิกความยืนยันว่า ที่ตนปราศรัยในทั้งสองเรื่องนั้นมีเจตนาหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่อยากให้ประชาชนมองในแง่ลบ โดยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวตนรับรู้มาจากอินเตอร์เน็ตซึ่งมีการเผยแพร่ทั่วไป

    ++ชุดสืบสวน 3 นาย: จำเลยไม่ได้เอ่ยพระนาม ร.10 – เฉพาะคำปราศรัยถึง พล.อ.อ.ฟูฟู ที่เข้าข่ายเป็นความผิด แต่รับว่าหากเสิร์ชกูเกิลก็พบข้อมูลในหลายเว็บ – จำเลยพูดด้วยหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์

    พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กองม่วง ผู้กล่าวหา, พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญนิจ และ ร.ต.อ.พิศุทธิ์ธรรม ศรีบูจันดี ตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองอุดรฯ ที่แฝงตัวสังเกตการณ์ในที่ชุมนุม เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุทำนองเดียวกันว่า

    ก่อนเกิดเหตุมีการโพสต์ในในเพจเฟซบุ๊กชื่อ อุดรพอกันที, เสรีประชาธิปไตย และอุดรไม่ยอมเป็นทาส เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมชุมนุมในวันที่ 22 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. เริ่มตั้งขบวนที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ถนนประจักษ์ แล้วเคลื่อนขบวนไปที่วงเวียนกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มีเป้าหมายเพื่อขับไล่นายกฯ และวิจารณ์ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง

    ต่อมา วันที่ 21 ต.ค. 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมทำหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการ สภ.เมืองอุดรฯ หลังจากนั้นผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนรับผิดชอบการชุมนุมในครั้งนี้

    วันที่ 22 ต.ค. 2563 พยานทั้งสามซึ่งเป็นฝ่ายสืบสวนตามคำสั่งดังกล่าว ร่วมกับตำรวจ สภ.เมืองอุดรฯ อีกหลายนาย ได้ไปสังเกตการณ์โดยแต่งกายนอกเครื่องแบบแฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเดินขบวนถึงวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ ก็มีการติดตั้งเครื่องเสียง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวก ผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 500 คน กระจายอยู่รอบวงเวียน มีคนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล

    จนเวลา 19.30 น. จำเลยได้ขึ้นปราศรัยเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และการแต่งตั้งยศสุนัขทรงเลี้ยงเป็นพลอากาศเอก เปรียบเทียบกับเพื่อนซึ่งเป็นนายสิบ รวมถึงพูดถึงการใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้จากรัฐบาลปีหนึ่งประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท

    พ.ต.อ.ยศวัจน์ ได้ไปบอก ผกก.สภ.เมืองอุดรฯ ว่า จำเลยปราศรัยหมิ่นเหม่เข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ผกก.จึงเดินไปบอกผู้แจ้งการชุมนุมให้ยุติการปราศรัยของจำเลย สักพักหนึ่งจำเลยก็หยุดพูด การชุมนุมยุติในเวลา 21.00 น.

    ต่อมา คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ประชุมร่วมกันเพื่อสรุปว่า ในการชุมนุมดังกล่าวมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยนำบันทึกการถอดคลิปเสียงของจำเลยมาพิจารณา และจัดทำรายงานข้อเท็จจริงเสนอผู้บังคับบัญชา หลังจากนั้นทางผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย

    ชุดสืบสวนทั้งสามยังให้ความเห็นต่อคำปราศรัยของจำเลยด้วย ในส่วนคำปราศรัยเกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยง พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ระบุว่า ทำให้ประชาชนที่ได้ยินรู้สึกไม่ดีกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องจากคำปราศรัยมีลักษณะเปรียบเปรย ด้อยค่าข้าราชการที่ทำงานมาด้วยความอุตสาหะ แต่สถาบันกษัตริย์เห็นค่าของสุนัขทรงเลี้ยงมากกว่า โดยการพระราชทานยศให้แก่สุนัขทรงเลี้ยงสูงกว่า

    แต่ พ.ต.อ.ยศวัจน์ และ ร.ต.อ.พิศุทธิ์ธรรม เข้าใจว่าจำเลยพูดถึงรัชกาลที่ 10 ที่แต่งตั้งสุนัขทรงเลี้ยง ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เนื่องจากทำให้ประชาชนที่ได้ฟังเข้าใจพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่ดี เห็นสุนัขดีกว่าข้าราชการ

    ร.ต.อ.พิศุทธิ์ธรรม ยังได้รับมอบหมายให้ไปสืบค้นข้อมูลฟูฟูเพิ่มเติม ซึ่งไม่พบข้อมูลของ พลอากาศเอกฟูฟู ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา แต่พบทั้งประวัติและภาพถ่ายในวิกิพีเดีย ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นคนจัดทำ และข้อมูลจะเป็นความจริงหรือไม่

    ส่วนคำปราศรัยเรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ มีเพียง พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เบิกความให้ความเห็นว่า บุคคลทั่วไปที่ได้ฟังย่อมเห็นว่า รัฐบาลให้งบประมาณแก่พระมหากษัตริย์ไปบริหารจัดการส่วนตัว และรู้สึกเกลียดชังที่พระมหากษัตริย์ใช้เงินภาษีของประชาชนตามอำเภอใจ ซึ่งตามที่พยานเข้าใจ งบดังกล่าวจัดสรรให้สำนักงานต่างๆ ไปบริหารจัดการ ไม่ใช่จัดสรรให้พระมหากษัตริย์

    แต่ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ และ ร.ต.อ.พิศุทธิ์ธรรม รับว่า คำปราศรัยของจำเลย ไม่มีการเอ่ยถึงพระนามของรัชกาลที่ 10 พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ รับด้วยว่าถ้อยคำ “พระมหากษัตริย์โปรดเถอะครับ ยกเลิกการพระราชทานยศแก่สุนัขทรงเลี้ยง…” นั้น จำเลยพูดด้วยความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถทำได้

    ด้าน ร.ต.อ.พิศุทธิ์ธรรม รับว่า คนทั่วไปที่ฟังการปราศรัยในวันดังกล่าวต้องมีความรู้มาก่อนว่า ฟูฟูเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10 จึงจะเข้าใจข้อความที่จำเลยพูดได้ นอกจากนี้ ที่พยานเบิกความว่า ไม่พบข้อมูลของพลอากาศเอกฟูฟู ในเว็บราชกิจจาฯ นั้น พยานไม่ทราบว่า ในความเป็นจริงมีการแต่งตั้งยศให้สุนัขทหารหรือสุนัขตำรวจหรือไม่ และในการแต่งตั้งยศจำเป็นต้องมีการประกาศในราชกิจจาฯ หรือไม่

    อีกทั้งที่พยานเบิกความว่า ไม่ทราบว่าข้อมูลของฟูฟูในวิกิพีเดียจะเป็นความจริงหรือไม่นั้น จนถึงปัจจุบันจะมีการดำเนินคดีวิกิพีเดียฐานนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ และนอกจากวิกิพีเดีย หากเสิร์ชในกูเกิลด้วยคำว่า “พลอากาศเอกฟูฟู” ก็จะมีข้อมูลในเว็บอื่นๆ อีกจำนวนมาก

    ตำรวจสืบสวนทั้งสามนายยังให้ความเห็นต่อการแต่งตั้งยศข้าราชการโดยไม่ได้คำนึงถึงผลงานว่า ไม่เห็นด้วย และประชาชนก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าว

    เกี่ยวกับคำปราศรัยเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ตอบทนายจำเลยว่า จำเลยปราศรัยว่า เป็นงบประมาณส่วนที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่สถาบันกษัตริย์ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลก็เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถวิจารณ์ได้ นอกจากนี้ ถ้อยคำของจำเลยก็มีลักษณะเป็นการตั้งคำถามกับรัฐบาล ไม่ได้วิจารณ์การใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ และในชั้นสอบสวนพยานก็ไม่ได้ให้การต่อประเด็นนี้ไว้ เนื่องจากคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนรวมถึงพยานมีความเห็นว่า เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนที่เข้าข่ายเป็นความผิดมีเฉพาะคำปราศรัยเรื่องการพระราชทานยศแก่สุนัขทรงเลี้ยง

    ทั้งนี้ ความหมายของคำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ในความเข้าใจของ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ และ พ.ต.อ.ยศวัจน์ ที่ตอบทนายจำเลย หมายถึง กษัตริย์องค์ปัจจุบัน, พระบรมวงศานุวงศ์, อดีตกษัตริย์และอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58749)
  • ++กอ.รมน.: ชี้จำเลยจาบจ้วง กล่าวหาสถาบันกษัตริย์ใช้งบสิ้นเปลือง แต่ถอดเทปคำปราศรัยไม่ปรากฏเนื้อหาดังกล่าว-รับ จำเลยเสนอไม่ควรแต่งตั้งยศโดยไม่อิงผลงาน เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

    จ.ส.อ.ธวัชชัย มุ่งภู่กลาง นายสิบกองข่าว มลฑลทหารบกที่ 24 และ กอ.รมน.จ.อุดรฯ ซึ่งแฝงตัวหาข่าวในที่ชุมนุมเช่นกัน เบิกความว่า พยานติดตามข่าวสารของกลุ่มเคลื่อนไหวมาโดยตลอด จึงทราบก่อนหน้าว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ที่วงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ ในวันที่ 23 ต.ค. 2563 จากการสืบสวนหาข่าวทราบว่า เป็นกิจกรรมของกลุ่มเห็นต่าง รอง ผอ.รมน.จ.อุดรฯ จึงมอบหมายให้พยานไปร่วมสังเกตการณ์

    พยานแต่งกายนอกเครื่องแบบไปถึงวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ ในเวลา 18.00 น. โดยนั่งอยู่ที่ร้านค้าห่างจากจุดปราศรัยประมาณ 200 เมตร มีผู้ที่ขึ้นปราศรัยรวมประมาณ 5 คน เน้นปราศรัยในลักษณะโจมตีการทำงานของรัฐบาล

    เวลาประมาณ 20.00 น. จำเลยได้ขึ้นปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และมีการปราศรัยถึงสุนัขทรงเลี้ยง ฟูฟู ว่า สถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบแต่งตั้งยศให้สุนัขทรงเลี้ยง

    เนื่องจากพยานเป็นทีมประชาคมข่าวจึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมกับคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งจากข้อความที่จำเลยพูดนั้น ไม่ได้ระบุชื่อพระมหากษัตริย์องค์ใด แต่ในฐานะของทีมข่าวเข้าใจว่า หมายถึง กษัตริย์องค์ปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อความ “…แต่ทำไมกษัตริย์ถึงต้องไปประทับอยู่ที่เยอรมัน” ซึ่งประชาชนรู้กันทั่วไปว่าในช่วงเกิดเหตุรัชกาลที่ 10 ประทับอยู่ที่เยอรมัน ส่วน พลอากาศเอกฟูฟู ถ้าหากเป็นทีมข่าวหรือทหารตำรวจจะเข้าใจว่า เป็นสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10 แต่หากเป็นบุคคลอื่นก็อาจจะไม่ทราบ

    ข้อความที่จำเลยกล่าว เป็นไปในทางลบ เป็นการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ อาจทำให้ข้าราชการเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และทำให้ประชาชนทั่วไปมองสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบ

    โจทก์ให้พยานดูคำให้การในชั้นสอบสวน พยานเบิกความใหม่ว่า ที่จริงมีการชุมนุมในวันที่ 22 ต.ค. 2563

    จากนั้น จ.ส.อ.ธวัชชัย ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หากจำเลยจะพูดถึงพระมหากษัตริย์ จะใช้คำว่า กษัตริย์ แต่หากจะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะใช้คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ แยกกันชัดเจน

    ตามบันทึกการถอดคลิปเสียง จำเลยใช้คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ในการปราศรัยเรื่องการพระราชทานยศให้สุนัขทรงเลี้ยง ส่วนเรื่องงบประมาณ จำเลยก็ปราศรัยว่า ในปี 2564 สถาบันกษัตริย์ได้งบประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท และไม่ได้บอกว่าใช้งบฟุ่มเฟือย

    สถาบันพระมหากษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ และอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย ซึ่งพยานไม่ทราบว่าเฉพาะราชวงศ์จักรีรวมแล้วจะมีกี่พระองค์ แต่ทราบว่าหลายพระองค์มีสุนัขทรงเลี้ยง

    รัชกาลที่ 10 มีสุนัขทรงเลี้ยงกี่ตัว ชื่ออะไรบ้าง พยานไม่ทราบ ประชาชนทั่วไปก็ไม่น่าจะทราบ ส่วนที่พยานเบิกความว่า รู้จักว่า คุณฟูฟูเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของในหลวงรัชกาลที่ 10 นั้น ในชั้นสอบสวนพยานไม่ได้ให้การไว้

    ที่จำเลยปราศรัยนั้นต้องการจะเปรียบเทียบว่า ไม่ควรมีการแต่งตั้งยศให้กับใครก็ตามโดยที่ไม่ได้อ้างอิงจากผลงาน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ พยานไม่ทราบว่า มีการแต่งตั้งยศให้แก่สุนัขทหารหรือสุนัขตำรวจด้วย

    ทนายจำเลยให้พยานดูภาพถ่ายฟูฟู แล้วถามว่า เป็นการแต่งกายเครื่องแบบทหารใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่น่าใช่ เห็นไม่ชัด ทนายจำเลยให้ดูอีกภาพ พยานตอบว่า ดูคล้ายเครื่องแบบทหาร

    ++แม่ค้าขายพวงมาลัย: ไม่ได้สนใจว่าใครปราศรัยเรื่องอะไรในวันชุมนุม ไม่รู้จักฟูฟู ทั้งไม่เข้าใจคำปราศรัยของจำเลย
    มณี พันพินิจ แม่ค้าขายพวงมาลัย พยานอีกรายที่อยู่ในที่ชุมนุมเบิกความว่า พยานมีอาชีพขายพวงมาลัยอยู่ที่วงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ ประมาณ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา จำวันที่ไม่ได้ พยานมาขายของตามปกติ ช่วงเย็น มีคนมาชุมนุมที่วงเวียนเป็นจำนวนมาก แต่ชุมนุมจะทำอะไรหรือปราศรัยเรื่องอะไร พยานไม่ได้สนใจ ตั้งใจขายพวงมาลัยอย่างเดียว

    ต่อมามีตำรวจมาเชิญพยานและเพื่อนแม่ค้าอีกคนไปให้การที่ สภ.เมืองอุดรฯ พยานจำไม่ได้ว่า ตำรวจนำอะไรมาให้ดูบ้าง รวมทั้งจำไม่ได้ว่าตำรวจถามว่าอย่างไร และพยานได้ให้การตามที่ปรากฏในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานหรือไม่ เนื่องจากพยานความจำไม่ดี และเหตุการณ์เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่รับว่า ลายเซ็นในบันทึกคำให้การเป็นของพยานจริง

    พยานเรียนจบ ป.4 อ่านหนังสือได้แต่คำง่ายๆ ถ้าเป็นข้อความยาวๆ ก็อ่านไม่รู้เรื่อง จำเนื้อหาไม่ได้ ประกอบกับสายตาไม่ดี มองไม่เห็น

    จากนั้นโจทก์ได้อ่านข้อความในบันทึกการถอดคลิปเสียงส่วนที่เกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยงทั้งหมดให้พยานฟัง แล้วถามพยานว่า รู้มั้ยว่าเขาพูดถึงใคร พยานตอบว่า ไม่รู้ เพราะไม่เข้าใจเลย

    มณียังตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่รู้จักฟูฟู ไม่รู้ว่าหมายถึงใครหรืออะไร และไม่รู้เรื่องพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงการแต่งตั้งยศ ส่วนบันทึกคำให้การนั้น พนักงานสอบสวนได้พิมพ์ไว้อยู่แล้ว เมื่อพยานไปถึงพนักงานสอบสวนก็เล่าให้ฟัง แล้วให้ลงลายมือชื่อ

    ++อาจารย์สอนภาษาไทย-กฎหมายแพ่ง: จำเลยปราศรัยถึงสถาบันกษัตริย์ แต่สื่อถึง ร.10 เพราะอยู่ในรัชสมัย ร.10 – การจัดสรรงบประมาณสถาบันกษัตริย์เป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชนวิจารณ์ได้

    สุภัทร แก้วพัตร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เบิกความในฐานะพยานความเห็นว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านภาษาไทย ปัจจุบัน สอนภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

    เมื่อปี 2563 จำเดือนไม่ได้ อธิการบดีได้มอบหมายให้พยานมาช่วยให้ความเห็นเกี่ยวกับภาษาในคดีนี้ ต่อมามีตำรวจนำบันทึกการถอดคลิปเสียงมาให้ดูที่มหาวิทยาลัย พยานอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เพราะมีการพูดพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

    ในย่อหน้าที่ 2 กล่าวถึงสุนัขทรงเลี้ยงในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เปรียบเทียบกับข้าราชการ และใช้คำที่ไม่ควรใช้กับสถาบันกษัตริย์ เช่น ใช้คำว่า “มัน” แทนฟูฟู หรือคำว่า “โอ้โห” และ “อุ๊ย” ซึ่งสื่อถึงการส่อเสียด ประชดประชัน

    ข้อความ “เฮ้ย ผมอยากฝากถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โปรดเถอะครับ ยกเลิกการพระราชทานยศแก่สุนัขทรงเลี้ยงอะไรพวกนี้นะครับ” ตามข้อความไม่ได้หมายความไปถึงรัชกาลที่ 10 แต่สามารถคิดต่อแล้วเชื่อมโยงไปได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากพยานเคยไปช่วยงานพระราชทานปริญญาและเคยเห็นพลอากาศเอกฟูฟู และหากผู้ฟังดูข่าวในพระราชสำนักเป็นประจำก็อาจจะเข้าใจได้ว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10

    พยานเห็นว่า ถ้อยคำของผู้พูดเป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในภาพรวม ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงบุคคลใด และคำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ แต่หากคนทั่วไปอ่านข้อความทั้งหมดแล้วก็จะเข้าใจได้ว่า ผู้พูดหมายถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากพูดในช่วงเวลาปี 2563 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 และพูดถึงสุนัขทรงเลี้ยง ประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังก็อาจจะเกิดความเข้าใจผิดว่า ในเรื่องการเลื่อนยศสุนัขกับข้าราชการว่า เป็นพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และรู้สึกดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในภาษาไทย คำว่า ดูหมิ่น หมายถึง ทำให้อีกฝ่ายดูแย่ ดูไม่ดี

    ในส่วนของผู้พูดนั้น หากตีความจากภาษาก็จะเป็นคนที่ก้าวร้าว ชอบเสียดสีประชดประชัน

    จากนั้น สุภัทรตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานศาลยุติธรรม ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและปริญญาเอกเกี่ยวกับการตีความความหมายของถ้อยคำในแต่ละบริบท

    ในการตีความความหมายของถ้อยคำนั้นต้องทราบว่าผู้ที่ส่งสารมีวิธีคิดหรือมีภูมิหลังทางความคิดอย่างไรด้วย ซึ่งในคดีนี้พยานไม่รู้จักจำเลย ไม่ทราบภูมิหลังความคิดจำเลยมาก่อน ที่พยานให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนไปนั้น ส่วนหนึ่งมาจากภูมิความรู้ของพยาน อีกส่วนหนึ่งก็มาจากบริบทของถ้อยคำเหล่านั้น

    คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ หมายความรวมถึง องค์พระมหากษัตริย์ในอดีต และพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีตทุกราชวงศ์หากวันนี้เราพูดว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ จะหมายถึงรัชกาลที่ 9 ดังนั้น คำว่า สถาบันกษัตริย์ที่จำเลยพูดก็อาจจะไม่ได้หมายถึงรัชกาลที่ 10 เสมอไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของข้อความที่จำเลยพูดด้วย

    ในหลวงรัชกาลอื่นก็มีสุนัขทรงเลี้ยงเช่นกัน เช่น คุณทองแดง เป็นสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 9

    ที่พยานให้การเป็นการให้ความเห็นทางวิชาการ ซึ่งนักวิชาการหรือบุคคลอื่นก็อาจมีความเห็นแตกต่างจากพยานได้

    กฤษฎา นารินทร์รักษ์ อาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พยานความเห็นอีกรายเบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายเอกชน เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรฯ ได้ขอความร่วมมือให้พยานที่มีความรู้ทางนิติศาสตร์ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวน โดยได้นำบันทึกการถอดคลิปเสียงมาให้พยานดูที่มหาวิทยาลัยแล้วถามความเห็น

    พยานอ่านข้อความทั้งหมดแล้วรู้สึกว่าเป็นถ้อยคำที่รุนแรง กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลปัจจุบัน เนื่องจากขณะเกิดเหตุอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 รวมทั้งในบันทึกการถอดคลิปเสียงมีคำว่า สถาบัน (วรรค) พระมหากษัตริย์, พลอากาศเอกฟูฟู, สุนัขทรงเลี้ยง ซึ่งจะใช้กับสัตว์เลี้ยงของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

    พยานให้การกับพนักงานสอบสวนไว้ว่า เรื่องพลอากาศเอกฟูฟู เป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม มีการเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์เกินจริง เป็นการลดทอนและทำให้สังคมรู้สึกตลกขบขันกับพระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องงบประมาณ อ่านแล้วคล้ายกับว่า สถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจหน้าที่ตามอำเภอใจ อยากได้อะไรก็จะมีคนจัดสรรให้ คนที่ได้ฟังก็จะรู้สึกลดทอนคุณค่าของพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน (ศาลไม่บันทึก ระบุว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี) เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม

    เมื่อทนายจำเลยถามค้าน กฤษฎาตอบว่า พยานทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง สัญญาเช่า ไม่ได้ทำเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติเกี่ยวกับมาตรา 112

    ที่พยานเบิกความว่า สุนัขทรงเลี้ยง หมายถึง สุนัขที่พระมหากษัตริย์ทรงเลี้ยงนั้น ความจริงจะหมายถึงสุนัขที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงเลี้ยงด้วยก็ได้ ส่วนที่พยานเบิกความว่า ในบันทึกการถอดคลิปเสียงมีคำว่า สถาบัน (วรรค) พระมหากษัตริย์ นั้น พยานไม่ได้ดูคลิปที่จำเลยปราศรัย ซึ่งจำเลยจะพูดคำว่า สถาบัน ติดกับคำว่า พระมหากษัตริย์หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ

    และที่พยานเบิกความว่า จำเลยพูดเกินจริงนั้น พยานไม่ทราบว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องงบสถาบันกษัตริย์และการแต่งตั้งยศของสุนัขเป็นอย่างไร

    พยานไม่ทราบถึงหลักการที่ว่า กษัตริย์ปกเกล้า ไม่ปกครอง ว่าหมายถึง พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจที่แท้จริง เพียงแต่จะมีกระแสรับสั่งในเรื่องใดๆ แล้วมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

    การแต่งตั้งยศตำรวจหรือทหารเป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ การจัดสรรงบประมาณก็เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์ตามหลักประชาธิปไตยสากล การพูดถึงการแต่งตั้งยศสุนัขทรงเลี้ยงเปรียบเทียบกับข้าราชการ จึงไม่ได้เป็นการลิดรอนอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจในเรื่องดังกล่าว

    ตามบันทึกคำให้การพยานตอบพนักงานสอบสวนไว้ว่า ผู้ปราศรัยสื่อถึงสถาบันกษัตริย์และข้าราชการทหารตำรวจ เป็นการสื่อความหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งยศ ไม่ได้ให้การว่า สื่อถึงรัชกาลที่ 10

    การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งยศ เป็นสิ่งที่ประชาชนทำได้ และเป็นประโยชน์สาธารณะ เรื่องการจัดสรรภาษีก็เป็นประโยชน์สาธารณะ ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58749)
  • ++พนักงานสอบสวน: ศาลยกคำร้องขอออกหมายจับ 2 ครั้ง เหตุไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.112 ตร.จึงสั่งไม่ฟ้อง แต่อัยการสั่งฟ้อง

    พ.ต.ท.นิวัตร กุลศรี สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองอุดรฯ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดี เบิกความว่า เหตุที่คดีนี้ต้องมีคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งกำหนดวิธีปฏิบัติเอาไว้โดยเฉพาะ

    วันเกิดเหตุพยานไม่ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุม ต่อมา พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ สารวัตรสืบสวน ได้มาแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยพนักงานสอบสวนอีกคนเป็นผู้รับคำร้องทุกข์ไว้

    คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ทำหนังสือสอบถามการพระราชทานยศพลอากาศเอกแก่ฟูฟู และสอบปากคำพยานหลายคน จากนั้นพยานได้จัดทำรายงานข้อเท็จจริง พร้อมทั้งความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชา

    ต่อมา พยานได้ยื่นคำร้องต่อศาลนี้เพื่อขอออกหมายจับจำเลยในวันที่ 10 มี.ค. 2564 แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง พยานจึงรายงานผู้บังคับบัญชา จากนั้นวันที่ 5 ส.ค. 2564 พยานได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับจำเลยอีกครั้ง ศาลยกคำร้องเช่นเดิม ทั้ง 2 ครั้ง ศาลให้เหตุผลว่า ไม่เข้าองค์ประกอบการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนซึ่งมี ผบช.ภ.4 เป็นหัวหน้า เห็นว่า จากพยานหลักฐานแม้น่าเชื่อว่าการกระทำของผู้ต้องหาจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่เมื่อศาลยกคำร้องขอออกหมายจับทั้งสองครั้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงเห็นว่า การกระทำของผู้ต้องหาน่าจะยังไม่เพียงพอที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดย ผบช.ภ.4 ก็เห็นพ้อง แต่เมื่อเสนอสำนวนไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา และมีคำสั่งให้พยานนำตัวผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหา พยานจึงออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาพบเพื่อทำการสอบสวน

    จากการตรวจสอบไม่พบประวัติการกระทำความผิดของจำเลย

    พ.ต.ท.นิวัตร ตอบทนายจำเลยถามค้านในเวลาต่อมาว่า หลังจากศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับครั้งที่ 1 ผู้บังคับบัญชาได้ให้พยานไปสอบปากคำอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เพิ่มเติม แล้วยื่นคำร้องขอออกหมายจับครั้งที่ 2 โดยอ้างว่า คำให้การของอานนท์เป็นพยานหลักฐานใหม่ แต่ศาลก็ยกคำร้องเช่นเดิม

    ก่อนจะเดินทางไปสอบปากคำอานนท์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานได้ส่งบันทึกการถอดคลิปเสียงจำเลยไปให้อานนท์ดูก่อน จากนั้นอานนท์ได้พิมพ์คำตอบมาจากบ้าน พยานก็นำมาปรับพิมพ์ลงในแบบฟอร์มคำให้การ ก่อนให้อานนท์ตรวจดูและลงลายมือชื่อ

    ตามบันทึกคำให้การของอานนท์ ไม่ปรากฏว่าจบการศึกษาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือสถาบันกษัตริย์ หลังจากสอบปากคำอานนท์แล้ว พยานก็ไม่ได้ไปสอบปากคำผู้เชี่ยวชาญคนอื่นที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์อีก

    จังหวัดอุดรธานีและนครพนมอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 4 เช่นเดียวกัน แต่ในคดีนี้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนไม่เคยหยิบยกคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครพนมที่วินิจฉัยว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 112 มาประกอบการพิจารณา

    ตามที่พยานมีหนังสือไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามเกี่ยวกับการแต่งตั้งยศให้ฟูฟู สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งมาว่า ไม่มีการประกาศแต่งตั้งยศให้ฟูฟูในราชกิจจาฯ แต่ไม่ได้แจ้งว่า มีการแต่งตั้งยศดังกล่าวไว้หรือไม่ หลังจากได้รับคำตอบดังกล่าว พยานไม่ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังเลขานุการสำนักพระราชวังอีกว่า มีการแต่งตั้งยศให้กับสุนัขทรงเลี้ยงชื่อฟูฟูหรือไม่ เนื่องจากพยานได้หารือกับผู้บังคับบัญชาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

    สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีระเบียบในการแต่งตั้งยศให้แก่สุนัขตำรวจ แต่พยานไม่ทราบรายละเอียดว่า ตามระเบียบดังกล่าว การแต่งตั้งยศให้แก่สุนัขตำรวจไม่ต้องประกาศในราชกิจจาฯ แตกต่างไปจากการแต่งตั้งยศของตำรวจหรือไม่

    พยานไม่ทราบว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันจะมีสุนัขทรงเลี้ยงหรือไม่ และไม่ทราบว่า เคยมีการดำเนินคดีกับวิกิพีเดียที่ลงข้อมูลเกี่ยวกับฟูฟูหรือไม่ ทั้งไม่เคยมีหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นจริงหรือเท็จด้วย

    ++จำเลย: เห็นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต นำมาปราศรัยด้วยความหวังดี ไม่อยากให้ ปชช.มองสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบ

    จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า พยานมีอาชีพขายอาหารสัตว์ออนไลน์ พยานจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เคยเข้าร่วมพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพในหลวงรัชกาลที่ 9 และไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาก่อน

    เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งยศฟูฟู พยานเห็นข้อมูลจากในเว็บไซต์วิกิพีเดีย นอกจากนี้ หากพิมพ์คำว่า ฟูฟู ในกูเกิล ก็จะมีเว็บไซต์ที่มีข้อมูลว่า ฟูฟูได้รับพระราชทานยศเป็นพลอากาศเอก ขึ้นมาให้เห็นเป็นจำนวนมาก

    เจตนาที่พยานปราศรัยเรื่องฟูฟู เนื่องจากหวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่อยากให้เพื่อนหรือประชาชนมองในแง่ลบหรือรู้สึกไม่ดี และอยากให้สถาบันกษัตริย์ได้ทราบว่า ประชาชนหรือใครก็ตามที่รับรู้เรื่องฟูฟูจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ จึงเรียกร้องสถาบันกษัตริย์ไม่ให้มีการพระราชทานยศแก่สุนัขทรงเลี้ยง

    สำหรับเรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์พยานก็รับรู้มาจากอินเตอร์เน็ต ในเว็บไซต์ iLaw และงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานพูดเรื่องดังกล่าวโดยมีเจตนาหวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน

    พยานเคยได้ยินข่าวว่า อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ กับบุคคลอื่นไปยื่นหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้แก้ไขมาตรา 112 ให้เพิ่มความคุ้มครองถึงสถาบันกษัตริย์และอดีตกษัตริย์ด้วย พยานเห็นว่า อานนท์มีอคติต่อคนที่แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เท่าที่พยานทราบ อานนท์ไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 เกือบร้อยคดีและเอาผิดเกือบทุกคดี รวมทั้งคดีของทิวากร วิถีตน ในศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษายกฟ้อง
    .
    เสร็จการสืบพยาน ทนายจำเลยขอยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์และพยานจำเลย ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58749)
  • ++แถลงการณ์ปิดคดี: คำปราศรัยจำเลยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังไม่ถึงขนาดดูหมิ่นกษัตริย์ จึงไม่เป็นความผิดตาม ม.112

    จำเลยยื่นแถลงการณ์ปิดคดี เพื่อประกอบดุลยพินิจในการมีคำพิพากษาของศาลมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    1. ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นคือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่น คือ การด่า ดูถูก เหยียดหยาม และจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความหรือถูกดูหมิ่นว่าเป็นใคร หรือต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่โจทก์นำสืบได้แต่เพียงว่า จำเลยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และพยานโจทก์ปาก จ.ส.อ.ธวัชชัย ได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยไว้ว่า หากจำเลยจะพูดถึงพระมหากษัตริย์จะใช้คำว่ากษัตริย์ แต่หากจะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะใช้คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แยกจากกันชัดเจน

    2. พยานโจทก์หลายคนเบิกความไปในแนวทางเดียวกันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ หมายถึง อดีตพระมหากษัตริย์ อดีตพระราชินี และอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วย

    3. ศาลนี้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับ ฉบับลงวันที่ 10 มี.ค. 2564 ของพนักงานสอบสวน โดยมีคำสั่งว่า “เห็นว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหาขึ้นพูดปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 โดยพูดถึงสุนัขทรงเลี้ยงเป็นเพียงการพูดเปรียบเปรย เสียดสี ประชดประชัน แม้จะเป็นถ้อยคำที่มิบังควรอย่างยิ่งแต่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่ถึงขนาดเป็นการอาฆาตมาดร้าย หมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ส่วนถ้อยคำพูดที่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีลักษณะเป็นเพียงการแสดงความเห็นจากข้อมูลที่ตนได้รับมา ยังไม่ปรากฏเจตนาที่ชัดเจนว่า ผู้พูดมีเจตนาใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อมูล อีกทั้งการพูดดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยรวม ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นเดียวกัน ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุที่จะออกหมายจับ ให้ยกคำร้อง”

    ต่อมาพนักงานสอบสวนจึงได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับจำเลยอีกครั้ง เป็นฉบับลงวันที่ 5 ส.ค. 2564 ซึ่งศาลนี้ได้มีคำสั่งไว้ว่า “เห็นว่า ถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างเกี่ยวกับงบประมาณส่วนพระมหากษัตริย์นั้น เมื่องบประมาณดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นอำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ การกล่าวถึงข้อมูลดังกล่าวจึงไม่เป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด และไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ส่วนถ้อยคำอื่นๆ และถ้อยคำที่กล่าวถึงสุนัขทรงเลี้ยงที่แม้จะมีการกล่าวถึงยศของสุนัขทรงเลี้ยงอย่างไม่ถูกต้องก็ตาม ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นตามข้อมูลที่ได้รับมา ซึ่งการตีความหรือแปลความกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด เมื่อถ้อยคำดังกล่าวยังไม่แสดงให้เห็นเจตนาถึงขนาดเป็นการอาฆาตมาดร้าย หมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ โดยตรง อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง”

    ซึ่งพยานหลักฐานในชั้นขอออกหมายจับของพนักงานสอบสวน กับพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาคดีล้วนเป็นพยานชุดเดียวกันทั้งสิ้น จำเลยเห็นว่า การกระทำของจำเลยยังมิใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามแนวคำวินิจฉัยในคำสั่งข้างต้น

    เมื่อคำปราศรัยของจำเลยกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์องค์ใดโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล จึงไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    การที่จำเลยกล่าวปราศรัยในคดีนี้จึงมิใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเคยมีคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขแดงที่ อ.576/2565 และคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขแดงที่ อ.1001/2565 ได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว

    (อ้างอิง: คำแถลงปิดคดี ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58749)
  • ปีเตอร์เดินทางไปที่ศาลจังหวัดอุดรธานีอีกครั้งเพื่อฟังคำพิพากษา ตลอดเวลากว่า 1 ปี 3 เดือน ของการต่อสู้คดี ปีเตอร์ต้องเทียวเดินทางข้ามภาคเช่นนี้นับได้เกือบ 10 ครั้ง

    ในความเห็นของแม่ผู้เดินทางจากกรุงเทพฯ มาร่วมกระบวนการพิจารณาคดีของศาลกับปีเตอร์ด้วยในหลายครั้ง การถูกดำเนินคดีของลูกชายเป็นเรื่องที่เกินคาดหมายอยู่ทีเดียว หลายครั้งเธอพยายามบอกเล่ากับทนายว่า ครอบครัวของเธอรวมทั้งปีเตอร์รักและศรัทธาในสถาบันกษัตริย์เสมอมา “ความสุขของแม่และยายคือนั่งดูข่าวในพระราชสำนักตอน 2 ทุ่ม ทุกวัน แม่เชื่อมั่นในพระมหากษัตริย์ มองว่าเป็นรากของประเทศ ส่วนลูกเขาก็มีความคิดเป็นของตัวเอง”

    เวลา 09.40 น. ปีเตอร์ซึ่งเดินทางมาจากเชียงใหม่ถึงอุดรฯ ตอนเช้าตรู่ พร้อมแม่ และทนายจำเลย เข้าไปที่ห้องพิจารณาที่ 11 เพื่อรอฟังคำพิพากษา โดยมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมติดตามการอ่านคำพิพากษาของศาลในวันนี้ด้วย พร้อมทั้งมีตำรวจประจำศาลถือกุญแจมือเข้ามานั่งรอควบคุมตัวจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ

    อย่างไรก็ตาม เมื่อ ปวริศ หวังพินิจกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดอุดรฯ ออกนั่งพิจารณาคดีมาถึงคดีของปีเตอร์ ศาลได้ขอให้คู่ความในคดีอื่น ๆ รวมถึงผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายฯ ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีนี้ ออกจากห้องพิจารณาก่อน คงเหลือเพียงปีเตอร์ แม่ ทนายจำเลย และตำรวจศาล อยู่ฟังคำพิพากษา ส่วนอัยการโจทก์ไม่ได้เดินทางมาศาล

    ราว 10 นาที ตำรวจประจำศาลจึงออกจากห้องไป ขณะที่เจ้าหน้าที่เรียกให้คู่ความในคดีอื่นเข้าห้องพิจารณา

    พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายฯ ให้ข้อมูลว่า ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งว่า คำพิพากษาคดีนี้มีความเห็นแย้งจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาภาค 4 แต่ไม่ได้อ่านความเห็นแย้งให้ฟัง จากนั้นได้อ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า

    เห็นว่า ข้อมูลที่จำเลยนำมาปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงนั้นเป็นข้อมูลที่ปรากฏโดยทั่วไปในอินเตอร์เน็ต ในกรณีการใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนกรณีเกี่ยวกับฟูฟูสุนัขทรงเลี้ยงนั้น เมื่อผู้ที่มีความสนใจค้นหาข้อมูลโดยพิมพ์คำว่า ฟูฟู ก็จะปรากฏภาพถ่าย รวมถึงหัวข้อข่าวในอินเตอร์เน็ต

    โจทก์มีพยานปากอาจารย์มหาวิทยาลัยเบิกความว่า ที่พยานทราบว่าจำเลยปราศรัยถึงสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10 ก็เนื่องมาจากพยานเคยไปช่วยงานพระราชทานปริญญาและได้พบเห็นสุนัขทรงเลี้ยงสายพันธุ์พุดเดิ้ลที่ชื่อ คุณฟูฟู

    กับพยานโจทก์ปากนายทหารการข่าวก็เบิกความเช่นกันว่า เหตุที่พยานรู้จักคุณฟูฟูก็เนื่องมาจากรับราชการและต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ จึงทำให้ทราบว่าคุณฟูฟูคือสุนัขทรงเลี้ยงของพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน

    ดังนั้น การที่จำเลยพูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงเกี่ยวกับพลอากาศเอกฟูฟู โดยเปรียบเทียบกับข้าราชการทหารที่รับราชการมานานแต่ไม่มียศเท่ากับพลอากาศเอกฟูฟู และเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยกเลิกการแต่งตั้งยศให้สุนัขทรงเลี้ยง ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้ฟังทราบได้โดยชัดเจนว่า จำเลยหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นการเฉพาะ เพราะประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารการเมืองการปกครองก็อาจจะไม่ทราบว่า พลอากาศเอกฟูฟูหมายถึงใคร และเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของใคร หากต้องการทราบก็จำต้องค้นหาข้อมูลในภายหลัง

    เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์นั้น คำว่า หมิ่นประมาท หมายถึง การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่น คือ การด้อยค่า สบประมาท ทั้งนี้ จะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความหรือถูกดูหมิ่นว่าเป็นใคร หรือต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

    เมื่อการปราศรัยของจำเลยถึงพลอากาศเอกฟูฟูยังไม่ทำให้ประชาชนทั่วไปทราบในทันทีว่าหมายถึงผู้ใด ประกอบกับพยานโจทก์ปากตำรวจชุดสืบสวนก็ไม่สามารถระบุได้ว่า ถ้อยคำใดในคำปราศรัยเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทั้งยังเบิกความตอบทนายจำเลยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ หมายความรวมถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งมีเป็นจำนวนหลายพระองค์

    พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน พิพากษายกฟ้อง.
    .
    ภายหลังออกจากห้องพิจารณาคดีปีเตอร์เปิดเผยความรู้สึกสั้น ๆ ว่า ดีใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก ความกังวลเรื่องคดีน่าจะหมดไปและเดินหน้าลุยเรื่องธุรกิจออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับเขาที่จะต้องระมัดระวังเรื่องการแสดงออกให้มากขึ้น

    ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับออกจากศาล ทนายความได้ยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันซึ่งได้วางไว้กับศาลในการขอปล่อยชั่วคราวปีเตอร์ระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่อัยการยื่นฟ้องเมื่อ 11 ก.ค. 2565 โดยเป็นเงินของกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 150,000 บาท เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะเสนอศาล และจะโอนเงินประกันคืนภายใน 10 วัน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.876/2566 ลงวันที่ 29 ส.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58897)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปีเตอร์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปีเตอร์ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ปวริศ หวังพินิจกุล
  2. ญาณิศา ปรีชาวิบูลย์

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 29-08-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์