สรุปความสำคัญ

หลังเหตุการณ์การจับกุมผู้ชุมนุมและประชาชนระหว่างการสลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ที่สนามราษฎร์ (สนามหลวง) และบริเวณใกล้เคียง เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 เยาวชน 2 ราย "เสกจิ๋ว" อายุ 15 ปี และ "โป๊ยเซียน" อายุ 14 ปี ถูกจับกุมจากบริเวณถนนพระราม 6 ขณะทั้งสองนั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน และถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ทั้งสองคนเกี่ยวข้องกับการพ่นสี ทิ้งขยะ รวมถึงจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในระหว่างการชุมนุม

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งการดำเนินคดีกับเยาวชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเด็กตามพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้ต่อประชาคมโลก อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมไทยยังมีแนวโน้มที่จะสร้างภาระทางคดีแก่เยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่อีกด้วย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • โป๊ยเซียน (นามสมมติ)
    • เสกจิ๋ว (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

20 มี.ค. 2564 ภายหลังจากที่กลุ่ม REDEM และแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ เช่น #เยาวชนปลดแอก, #นักเรียนไท, #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, #ศิลปะปลดแอก #กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และ #คณะราษสเก็ต นัดหมายชุมนุม เวลา 18.00 น. ที่สนามหลวง โดยมีเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ส่งสาส์นเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์และลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ถูกเจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งแนวกั้นขวางเอาไว้ และเมื่อผู้ชุมนุมพยายามช่วยกันเลื่อนเปิดแนว ก็ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้สื่อข่าวและประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ถูกจับกุมหลายราย

ราว 21.00 น. “เสกจิ๋ว” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี และ “โป๊ยเซียน” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 14 ปี ถูกจับกุมบริเวณ ถ.พระราม 6 ขณะทั้งสองนั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน โดยตำรวจได้ให้แท็กซี่หยุดรถและแสดงตัวเข้าจับกุม อ้างว่าทั้ง 2 คน พ่นสี ทิ้งขยะ รวมถึงจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในระหว่างการชุมนุม พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือของทั้งสอง จากนั้นได้ควบคุมตัวทั้ง 2 คน ไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 จ.ปทุมธานี

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในชั้นจับกุมรวม 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 215, มาตรา 216, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยระบุพฤติการณ์ว่า ระหว่างการชุมนุมวันที่ 20 มี.ค. 2564 เวลา 18.48 น. ขณะ พ.ต.ต.อภิสิทธิ์ ธัยยามาตร์ สว.กก.สส. 1 บก.สส. อยู่บริเวณภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ได้มีผู้นำขญะมาโยนใส่ภาพ นำสีสเปรย์มาพ่น และเทของเหลวในขวดพลาสติกใส่ภาพ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ ก่อนจะมีประชาชนดับไฟดังกล่าว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ร่วมติดตามจับกุมผู้ต้องหา โดยมีผู้ปกครองร่วมรับฟัง

ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุม เนื่องจากตำรวจชุดจับกุมไม่ได้แจ้งสิทธิให้ทั้งสองทราบตามที่ระบุในบันทึกจับกุม อีกทั้งไม่ลงชื่อในบันทึกการตรวจยึดโทรศัพท์ โดยเขียนข้างท้ายว่า ไม่ยินยอมให้ยึดโทรศัพท์และเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ เนื่องจากไม่ใช่สิ่งของที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และไม่ใช้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งไม่มีคำสั่งของศาลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

จากนั้นตำรวจได้ปล่อยตัวทั้งสองคนไปกับผู้ปกครอง และนัดหมายให้ผู้ปกครองพาไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในช่วงสายของวันที่ 21 มี.ค. 2564

21 มี.ค. 2564 เสกจิ๋ว, โป๊ยเซียน พร้อมผู้ปกครองเดินทางไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย ศาลได้ตรวจสอบการจับกุมของตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ ก่อนวินิจฉัยว่าเป็นการจับกุมโดยชอบแล้ว และอนุญาตให้ออกหมายควบคุมตัวระหว่างสอบสวน จากนั้นได้ให้ประกันเยาวชนทั้งสองคน โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท ก่อนปล่อยตัวกลับ

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม บก.ตชด.ภาค 1 ลงวันที่ 21 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27246)

ภูมิหลัง

  • เสกจิ๋ว (นามสมมติ)
    ก่อนถูกดำเนินคดีในคดีนี้ เสกจิ๋วแสดงออกและทำกิจกรรมการเมืองทั้งในและนอกโรงเรียนบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้ถูกจับตามองเป็นพิเศษจากครูในโรงเรียน และถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ จนทำให้เสกจิ๋วรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนและมีอคติต่อโรงเรียน

    (อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2021/08/94412)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • โป๊ยเซียน (นามสมมติ)
    หลังถูกจับกุมจากรถแท็กซี่ โป๊ยเซียนและเสกจิ๋วถูกนำตัวไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี และถูกสอบปากคำโดยไม่ให้ทนายความและผู้ปกครองเข้าร่วมด้วย ตำรวจหลายนายยืนจ้อง กดดัน บังคับให้รับสารภาพ เหตุการณ์การจับกุมและสอบปากคำดังกล่าวสร้างผลกระทบและเป็นบาดแผลทางใจให้กับโป๊ยเซียน

    (อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2021/05/92888)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์