ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ผู้กล่าวหา
  • อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ผู้กล่าวหา
  • อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

ความสำคัญของคดี

อานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ "ยุยงปลุกปั่น" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 จากการปราศรัยงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 โดยมีอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความร้องทุกข์

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมบรรยายพฤติการณ์คดีมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00-20.30 น. ที่ลานเอนกประสงค์ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ พบอานนท์ นำภากับพวก ร่วมจัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ปราศรัยถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ และประเด็นทรัพย์สินของกษัตริย์ พร้อมกับมีการนำเอกสารมาแจกจ่าย ซึ่งข้อความที่ปราศรัยและปรากฏในเอกสารมีเนื้อหาโดยรวมเป็นการล่วงละเมิดถึงสถาบันกษัตริย์ และกล่าวถึงรัฐบาลอย่างบิดเบือน

ต่อมา วันที่ 3 ธ.ค. 2563 อภิวัฒน์ ขันทอง ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.เมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 18 ก.พ. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 04.00 น. บริเวณแยกวิสุทธิกษัตริย์ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้เริ่มปฎิบัติการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลและใกล้เคียง ก่อนควบคุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมอย่างน้อย 27 คน จำนวน 24 คน ถูกนำตัวไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวมทั้งอานนท์ นำภา และประสิทธิ์ ครุทาโรจน์ นักศึกษา ซึ่งตำรวจนอกเครื่องแบบที่เข้าจับกุมได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 1 ก.ย. 2563 จากกรณีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563

    จากนั้นอานนท์และประสิทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยคอมมานโดติดอาวุธครบมือควบคุมตัวขึ้นเครื่องบินตำรวจที่กองทัพอากาศดอนเมือง เพื่อนำตัวไปยังจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่อนุญาตให้ทนายความติดตามไปด้วย

    เมื่อถึงกองบิน 41 จ.เชียงใหม่ ในเวลา 15.44 น. พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาอานนท์และประสิทธิ์ถึงห้องรับรองกองบิน 41 รวม 5 ข้อกล่าวหา ทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการสอบปากคำ และเร่งพาตัวทั้งสองไปที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขออำนาจศาลฝากขังในเวลา 18.10 น.

    19.12 น. หลังการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันประสิทธิ์ โดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และขอประกันอานนท์ด้วยเงินสดจำนวน 200,000 บาท

    19.22 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันทั้งสองคน โดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและข้อกล่าวหา มีลักษณะเป็นการยุยง ปลุกปั่น ส่งเสริม สนับสนุน ก่อให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วน ไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจจะไปกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว จึงให้ยกคำร้อง

    ทั้งสองคนจึงถูกส่งตัวไปยังเรือนจำกลางเชียงใหม่ อำเภอแม่แตง ทันที

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 และ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/pfbid0NzAu8rmRk8YTXVrqj3LAYUDWXeG4dxVhm6LE3QrRDbWoNJYYAYwrvVYzm2Vh7hg4l)
  • ช่วงเช้า ทนายความอาสาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยยืนยันว่า อานนท์มีภาระต้องรับผิดชอบต่อลูกความในฐานะทนายความ การไม่ได้รับการประกันตัวส่งผลกระทบทางคดีต่อลูกความในการได้รับการอำนวยความยุติธรรม ส่วนประสิทธิ์ยังเป็นนักศึกษา มีกำหนดการในการเรียนและการสอบ การไม่ได้รับการประกันตัวส่งผลกระทบต่อสิทธิและอนาคตทางการศึกษา

    คำร้องอุทธรณ์ยังระบุถึงการคุมขังผู้ต้องหาไว้ เสมือนทำให้ได้รับโทษทางอาญาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ขัดต่อทั้งหลักการสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ ที่ระบุหลักเรื่องการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

    อีกทั้งสองทั้งสองคนไม่ได้มีพฤติการณ์จะไปก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ไม่เคยต้องโทษทางอาญาในคดีใด ๆ มาก่อน ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายอื่นใด อีกทั้งการที่พนักงานสอบสวนอ้างการคัดค้านการประกันตัวว่าเกรงผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดแบบเดิมอีก ก็เป็นเสมือนการคาดการณ์ล่วงหน้าของพนักงานสอบสวนเอง

    ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคน โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 มีพฤติการณ์หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับผู้ต้องหาที่ 1 เป็นทนายความ และผู้ต้องหาที่ 2 เป็นนักศึกษา มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่ชัด จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตีราคาหลักประกันคนละ 200,000 บาท

    จากนั้นในส่วนของประสิทธิ์ ได้มีนักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้ตำแหน่งยื่นขอประกันตัว และศาลจังหวัดเชียงใหม่อนุญาต พร้อมนัดให้มารายงานตัวในวันที่ 27 ต.ค. 2563 ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ในช่วงประมาณ 19.15 น.

    ในส่วนอานนท์ ต้องจัดเตรียมหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท เพื่อขอประกันตัว ประกอบกับมีรายงานว่าพนักงานสอบสวนในคดีการชุมนุมอื่น ๆ ที่มีการขอออกหมายจับเขาไว้ เตรียมจะอายัดตัวเขาต่อ ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสถานะและความปลอดภัยของเขาหากได้รับการปล่อยตัวในช่วงกลางคืน ทางทีมทนายความและนักกิจกรรมจึงได้รอการจัดเตรียมหลักทรัพย์และยื่นเอกสารการประกันตัวในวันถัดไปแทน

    อย่างไรก็ตาม ภายหลังปรึกษาหารือกับทนายความแล้ว อานนท์ตัดสินใจที่จะไม่ยื่นประกันตัว เนื่องจากกังวลเรื่องการอายัดตัวไปดำเนินคดีในท้องที่อื่นหลังได้รับการปล่อยตัว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อานนท์เห็นว่าควรนำเงินจำนวน 200,000 บาท ไปใช้ในการประกันตัวประชาชนหรือนักศึกษาที่อาจถูกจับกุมหรือดำเนินคดีในอนาคตดีกว่า

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44239 และ https://tlhr2014.com/archives/22319)
  • พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ครั้งที่ 2 แต่ก่อนหน้านี้ ทนายความก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้มีการไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 โดยขอให้เบิกตัวอานนท์มาร่วมในการไต่สวนด้วย

    ผู้พิพากษาเวรพิจารณาคำร้องเห็นว่า นโยบายของศาลและเรือนจำได้ลดการนำตัวผู้ต้องขังออกนอกเรือนจำ หากไม่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงให้อานนท์ร่วมไต่สวนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และให้เรียก พ.ต.ท.สมคิด ภูสด พนักงานสอบสวนผู้ร้องขอฝากขัง มาไต่สวนถึงความจำเป็นในการขอฝากขังต่อ

    เวลา 11.35 น. ผู้พิพากษาเวรได้ออกพิจารณา พนักงานสอบสวนอ้างว่า แม้การสอบสวนผู้ต้องหาจะเสร็จสิ้น และได้ส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการแล้ว แต่อัยการได้มีคำสั่งให้สอบสวนพยานความเห็นต่อข้อความการปราศรัยของผู้ต้องหาเพิ่มเติม ทั้งนักวิชาการและประชาชนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทำให้ยังต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติมเป็นระยะเวลาอีก 12 วัน

    ศาลได้สอบถามถึงจำนวนพยานที่จะสอบเพิ่มเติม พ.ต.ท.สมคิด แถลงว่า คณะพนักงานสอบสวนพิจารณาจะสอบพยานนักวิชาการทางนิติศาสตร์และภาษาไทยจำนวน 3-5 ปาก โดยติดต่อได้แล้ว 1 ปาก ส่วนพยานประชาชนทั่วไป พิจารณาจะสอบเพิ่มเติมประมาณ 2 ปาก และการสอบพยานจะทำให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาการฝากขังผัดที่สองนี้

    ทางฝ่ายทนายผู้ต้องหาได้แถลงคัดค้านการฝากขังต่อ เนื่องจากการสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมดังกล่าว พนักงานสอบสวนสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ และการสอบสวนพยานดังกล่าว ผู้ต้องหาก็ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงและเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานได้ อีกทั้งผู้ต้องหามีอาชีพเป็นทนายความ มีภารกิจต้องว่าความและช่วยเหลือประชาชนในคดีต่าง ๆ อยู่

    ขณะที่อานนท์ได้แถลงผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ยืนยันว่าการสอบพยานเพิ่มเติมดังกล่าวของพนักงานสอบสวน สามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องควบคุมตัวตนไว้แต่อย่างใด

    เวลา 14.40 น. ผู้พิพากษาเวรได้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ต่อเป็นผัดที่ 2 โดยศาลเห็นว่าตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ยังมีเหตุจำเป็นในการสอบสวนเพิ่มเติมอยู่ และยังมีอำนาจขอฝากขังได้ทั้งหมด 4 ครั้ง เป็นระยะเวลา 48 วันตามกฎหมาย

    ต่อมา ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอานนท์ โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ซึ่งมาจากกองทุนการประตัวของเครือข่ายนักวิชาการ ก่อนศาลมีคำสั่งให้ประกันอานนท์

    อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ อานนท์ถูกอายัดตัวตามหมายจับของศาลอาญาในคดีชุมนุม 19 ก.ย. 2563 และถูกควบคุมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถตู้ในทันที
    .
    วันเดียวกันนี้ นักศึกษาและประชาชนที่คาดว่าตนเองมีหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 พร้อมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เตรียมเข้าประกันตัว ได้เดินทางเข้าแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งรายชื่อผู้ที่ถูกออกหมายจับจำนวน 7 ราย ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร, วิธญา คลังนิล, สุปรียา ใจแก้ว, ณัฐวุฒิ ตติเวชกุล, สุริยา แสงแก้วฝั้น และเพ็ญสุภา สุขคตะ ก่อนตำรวจชุดสืบสวนได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้ง 7 ราย รวม 5 ข้อหา เช่นเดียวกับที่แจ้งอานนท์และประสิทธิ์ โดยผู้ต้องหาทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน พนักงานสอบสวนให้ทำสัญญาประกันในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน มีคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และญาติของผู้ต้องหาเป็นนายประกัน และมีเงื่อนไขว่า หากผิดสัญญาประกันตัวไม่มาตามนัดหมายของพนักงานสอบสวน ให้ปรับเงินคนละ 105,000 บาท ก่อนปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ด

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44253 และ https://tlhr2014.com/archives/22405 )
  • พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาอานนท์เพิ่มเติมในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะอานนท์ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุม 19 กันยา

    พ.ต.ท.สมคิด ภูสด สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงใหม่ บรรยายพฤติการณ์คดีเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00-20.30 น. ที่ลานเอนกประสงค์ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ พบอานนท์ นำภากับพวก ร่วมจัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ปราศรัยถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ และประเด็นทรัพย์สินของกษัตริย์ พร้อมกับมีการนำเอกสารมาแจกจ่าย ซึ่งข้อความที่ปราศรัยและปรากฏในเอกสารมีเนื้อหาโดยรวมเป็นการล่วงละเมิดถึงสถาบันกษัตริย์ และกล่าวถึงรัฐบาลอย่างบิดเบือน

    ต่อมา วันที่ 3 ธ.ค. 2563 อภิวัฒน์ ขันทอง ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เพิ่มเติมกับอานนท์อีก 1 ข้อหา โดยอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    ทั้งนี้ อภิวัฒน์ ขันทอง มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขายังเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอให้ลบชื่ออานนท์ออกจากทะเบียนทนายความ

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.เมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 18 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26129)
  • อานนท์เดินทางเข้าพบพักงานสอบสวนตามนัดหมาย ในนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 5 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดเป็นวันที่ 6 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดเป็นวันที่ 6 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดในส่วนของผู้ต้องหา 8 คน ไปยังผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ ยกเว้นเฉพาะส่วนของอานนท์ที่อัยการยังพิจารณาสำนวนคดีในข้อหาตามมาตรา 112 อยู่ คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

    1. ในข้อหาตามมาตรา 116 (2) อัยการเห็นว่าเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่บัญญัติขึ้นโดยเพ่งเล็งไปในทางเจตนาต่อผล ซึ่งต้องวินิจฉัยเจตนาผู้กล่าวข้อความ จากถ้อยคำหรือข้อความทั้งหมดรวมกัน ไม่ใช่จับมาพิจารณาเฉพาะคำใดคำหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง โดยนอกจากต้องมีเจตนาให้การแสดงปรากฏต่อประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง ยังต้องมีเจตนาพิเศษโดยเฉพาะ กล่าวคือต้องเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะหมู่คนบางหมู่ และต้องมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

    อัยการเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ จะปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ผู้ต้องหาทั้งเก้าคนต่างขึ้นกล่าวปราศรัยโดยเปิดเผยต่อประชาชนโดยทั่วไปที่เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ผ่านไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง โดยอัยการได้สรุปเนื้อหาคำปราศรัยของผู้ต้องหาแต่ละคน พร้อมระบุว่าจากคำพูดของผู้ต้องหาทั้งเก้า ก็เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้ประชาชนรวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล 3 ประการ ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และผู้ต้องหาทั้งเก้าเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิจะกระทำได้ ทั้งการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและเปิดเผย ไม่มีการปิดถนน หรือกระทำการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการ

    การกระทำดังกล่าวจึงยังไม่อาจถือเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แต่เป็นการเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก

    2. ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นลักษณะการจัดกิจกรรมแบบแฟลชม็อบ เพื่อแสดงออกสัญลักษณ์ทางการเมือง และเป็นกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะแออัด อีกทั้งปรากฏว่าขณะจัดกิจกรรม ได้มีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การชุมนุมจึงไม่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ปรากฏว่าภายหลังชุมนุม มีผู้ติดเชื้อไวรัสและไม่มีเหตุการณ์ไม่สงบหรือเกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด

    3. ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 และ 28 เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 3 (6) บัญญัติไม่ให้ใช้พระราชบัญญตินี้ระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในช่วงระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

    4. ในข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34 (6) มีระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท ซึ่งทั้งสองฐานความผิดมีอายุความไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ คดีจึงขาดอายุความในสองข้อหานี้แล้ว

    อัยการจังหวัดเชียงใหม่จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในคดีนี้ ใน 3 ข้อหา และมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีในอีก 2 ข้อหา เนื่องจากขาดอายุความ

    ทั้งนี้ การสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ทำให้กรณีของประสิทธิ์ที่ถูกคุมขังหลังถูกจับกุมเป็นเวลา 7 วันนั้น สามารถเรียกร้องค่าชดเชยการถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดได้ต่อไป

    (อ้างอิง: หนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดี สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 26 ม.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/64753)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์