ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ผู้กล่าวหา
  • 1

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

"เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา นักกิจกรรม "ราษฎร" ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีปราศรัยในกิจกรรม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 ในประเด็นงบสถาบันกษัตริย์ และการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์ โดยตำรวจเห็นว่า มีเนื้อหาเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ที่ถูกตีความอย่างกว้างขวาง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการความเห็นของประชาชน กระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหาได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าติดตามการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลที่ทำการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับมอบหมายให้บันทึกเทปปราศรัย

ในเวลาต่อมา เมื่อ 19.55 น. พริษฐ์ได้ปราศรัยถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์ด้วยประโยค ดังนี้ “ไม่เคยมีรัฐบาลไหนเลยที่จะสนองพระราชประสงค์ได้เพียงนั้น ไม่เคยมีหมาตัวไหนเลยที่จะจงรักภักดีต่อเจ้านายได้ขนาดนี้และรับใช้มันได้ขนาดนี้”

จากนั้น อานนท์ นำภาได้ขึ้นปราศรัยในเวลา 20.20 น. ถึงประเด็นทรัพย์สินกษัตริย์ และประเด็นการถือหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ของรัชกาลที่ 10 รวมไปถึงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากในครอบครองของรัฐเป็นการครอบครองในนามของกษัตริย์รัชกาลที่ 10

ผู้กล่าวหากับพวกสังเกตการณ์และฟังคำปราศรัยโดยตลอด พบว่ามีการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์

(อ้างอิง: บันทีกการแจ้งข้อกล่าวหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 18 ก.พ. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาแก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จากกิจกรรม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 โดยทั้งอานนท์และพริษฐ์ได้ขึ้นปราศรัยกล่าวถึงประเด็นทรัพย์สินของกษัตริย์ และงบประมาณสถาบันกษัตริย์

    คดีนี้ทั้งสองคนยังไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้ระบุว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกหมายจับที่ 69/2564 สำหรับพริษฐ์ และ 70/2564 สำหรับอานนท์ ลงวันที่ 5 ก.พ. 2564 อย่างไรก็ตาม ทั้งสองถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ทำให้พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ไม่สามารถปฏิบัติตามหมายโดยการจับกุมส่งพนักงานตามหมายจับ จึงเดินทางมาแจ้งข้อหาทั้งสองคนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    ร.ต.อ.สมโภช น้อยคง รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ได้บรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้กล่าวหาได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าติดตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับมอบหมายให้บันทึกเทปปราศรัย

    ในเวลาต่อมา เมื่อ 19.55 น. พริษฐ์ได้ปราศรัยถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์ด้วยประโยค ดังนี้ “ไม่เคยมีรัฐบาลไหนเลยที่จะสนองพระราชประสงค์ได้เพียงนั้น ไม่เคยมีหมาตัวไหนเลยที่จะจงรักภักดีต่อเจ้านายได้ขนาดนี้และรับใช้มันได้ขนาดนี้”

    จากนั้น อานนท์ นำภาได้ขึ้นปราศรัยในเวลา 20.20 น. ถึงประเด็นทรัพย์สินกษัตริย์ และประเด็นการถือหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ของรัชกาลที่ 10 รวมไปถึงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากในครอบครองของรัฐเป็นการครอบครองในนามของกษัตริย์รัชกาลที่ 10

    ผู้กล่าวหาเห็นว่า คำปราศรัยข้างต้นมีเนื้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จึงประสานเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตํารวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ให้ถอดเทปคำปราศรัยและทำรายงานถึงกิจกรรมนี้ เสนอไปยังผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้น

    ต่อมา คณะกรรมการพิจารณาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตํารวจภูธรภาค 5 ได้มีมติเห็นชอบให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาในความผิดตามมาตราดังกล่าว และผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ผู้กล่าวหามาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคําร้องขอให้ศาลออกหมายจับ

    อานนท์และพริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ทั้งคู่ได้ให้การเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้อยคําดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อันเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ++เพนกวินขอให้เรียกพยานผู้เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา ให้การถึงประเด็นมาตรา 112, ทรัพย์สินและงบประมาณสถาบันกษัตริย์++
    นอกจากนี้ พริษฐ์ยังขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและออกหมายเรียกพยานเอกสาร ดังนี้

    1. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบสวนในประเด็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เคยมีพระราชดํารัสไม่ให้ใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จริงหรือไม่ ปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงมีพระราชดํารัสให้ใช้หรือไม่ และในคดีนี้พระองค์ได้มีพระราชดํารัสให้ใช้หรือไม่

    2. ให้สอบถามเลขาธิการพระราชวังว่า ข้อความตามที่กล่าวหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ สร้างความเสียหายแก่ในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่

    ขอให้สอบสวนรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็นว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช. จนถึงปัจจุบัน คณะรัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรบ้าง

    ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการออกหมายเรียกพยานเอกสารไปยังสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงบประมาณแห่งชาติ สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเอกสารงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2564

    3. ขอให้สอบสวนรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนสํานักงบประมาณ และตัวแทนสํานักงาน ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในประเด็นว่าตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2564 ได้มีการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ในแต่ละปีเป็นจํานวนเท่าใด ใช้จ่ายไปเท่าใดบ้าง และคงเหลือเท่าใด

    4. ขอให้ออกหมายเรียกผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาสอบถามในประเด็นว่า นับตั้งปี 2557 ถึงปี 2564 ได้มี การจัดซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะจํานวนกี่ลํา และเป็นเงินจํานวนเท่าใดและขอให้สอบถามประเด็นว่า ได้มีการโอนย้ายกําลังพลของทหารไปเป็นกําลังพลในสังกัดของในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่ พร้อมขอให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

    5. ขอให้สอบนายอนุทิน ชาญวีรกุล ในประเด็นว่าเหตุใดถึงเลือกบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ จํากัดให้เป็นผู้ ได้รับการผลิตและจําหน่ายวัคซีนต่อต้านโรคโควิด 19 พร้อมทั้งขอให้ส่งเอกสารประกอบ อันได้แก่ หนังสือ เสนอราคา หนังสือประกวดราคา สัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทดังกล่าว

    6. ขอให้ออกหมายเรียกสอบถามเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย ในประเด็นว่าในหลวง รัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่ปี 2559 พระองค์ได้ทรงเสด็จไปประทับที่โรงแรมในประเทศเยอรมนีหรือไม่ เป็นจํานวนกี่ครั้ง ในการเสด็จประทับดังกล่าวใช้เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนหรือไม่ เป็นจํานวนเงินเท่าใด มีการใช้พระราชพาหนะของแผ่นดินหรือไม่ และมีการใช้กําลังพลเจ้าหน้าที่รัฐไปดูแลที่ประเทศเยอรมันนีหรือไม่

    7. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทําหนังสือ หรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังพรรคกรีน ของประเทศเยอรมนี เพื่อขอข้อมูลการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยทั้งหมด ซึ่งพรรคกรีนได้อภิปรายในการประชุมสภาประเทศเยอรมันนี และรายละเอียดอื่นๆ ที่กล่าวมาทั้ง 7 ข้อ

    ++อานนท์ขอให้เรียกผู้เกี่ยวข้อง สอบเรื่องทรัพย์สินประเภทต่างๆ และที่ดินเกี่ยวกับกษัตริย์++
    ด้านอานนท์ได้ให้การเพิ่มเติมว่า ข้อความดังกล่าวที่เจ้าหน้าที่อ้างถึงในพฤติการณ์คดีนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นไปบนพื้นฐานข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นไปโดยสุจริต โดยมีความมุ่งหวังเพื่อที่จะปกปักรักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าหากมีการโอนที่ดินของรัฐเปลี่ยนชื่อให้เป็นของในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิซึ่งจะเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็อาจจะทําให้ในอนาคต ไม่มีทรัพย์สินส่วนกษัตริย์หรือส่วนของราชบัลลังก์เหลืออยู่อีกต่อไป และอาจจะทําให้ที่ดินของรัฐที่เป็นชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 ตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมายลักษณะมรดก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

    หรือหากในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช้ทายาท ทรัพย์สินทั้งหมดก็จะตกเป็นของบุคคลภายนอกจนไม่สามารถนํากลับมาคืนได้ ดังนั้น คำปราศรัยดังกล่าวจึงเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    นอกจากนี้ อานนท์ยังขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและออกหมายเรียกพยาน ดังต่อไปนี้

    1. ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนออกหมายเรียก ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาให้การเกี่ยวกับประเด็นประวัติศาสตร์ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้

    2. ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนออกหมายเรียก นายธนาพล อิ๋วสกุล มาให้การเกี่ยวกับประเด็นประวัติศาสตร์ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้

    3. ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนออกหมายเรียกรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล มาให้การเกี่ยวกับประเด็นการตีความบทบัญญัติกฎหมายเนื้อหาของพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่าย พระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 รวมทั้งเจตนารมณ์และความเป็นมาของพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย และขอให้สอบสวนในประเด็นเปรียบเทียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น เปรียบเทียบกับประเทศไทย และประเด็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้

    4. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) มาให้การในประเด็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวหรือไม่ เป็นจํานวน เท่าใดและได้เข้าถือหุ้นตั้งแต่เมื่อวันที่เท่าใดถึงวันที่เท่าใด มีผลกําไร ขาดทุนอย่างไรบ้าง พร้อมขอให้ส่ง เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาในคดี

    5. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCG มาให้การในประเด็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวหรือไม่ เป็นจํานวนเท่าใดและได้เข้าถือหุ้นตั้งแต่เมื่อวันที่เท่าใดถึงวันที่เท่าใด มีผลกําไร ขาดทุนอย่างไรบ้าง พร้อมขอให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาในคดี

    6. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกอธิบดีกรมที่ดินมาสอบสวนในประเด็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 และสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ทรงถือครองที่ดินในประเทศไทยหรือไม่ เป็นจํานวนเท่าใด และขอให้ส่งสารบบที่ดินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดี

    7. ขอให้ออกหมายเรียกไปยังอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อเรียกเอกสารดังนี้ สําเนาโฉนดที่ดินและสารบบที่ดิน ฉบับรับรองสําเนาถูกต้อง ซึ่งมีชื่อสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์และสําเนาโฉนดที่ดินและสาระบบที่ดินฉบับรับรองสําเนาถูกต้องที่มีชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์

    8. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบสวนในประเด็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เคยมีพระราชดํารัสไม่ให้ใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จริงหรือไม่ ปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงมีพระราชดํารัสให้ใช้หรือไม่ และในคดีนี้พระองค์ได้มีพระราชดํารัสให้ใช้หรือไม่

    9. ให้สอบถามเลขาธิการพระราชวังว่าข้อความตามที่กล่าวหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ สร้างความเสียหายแก่ในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่

    ขอให้สอบสวนรองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็นว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช. จนถึงปัจจุบันคณะรัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรบ้าง

    และขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการออกหมายเรียกพยานเอกสารไปยังสํานักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้อง เพื่อขอเอกสารงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2564

    10. ขอให้สอบสวนรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนสํานักงบประมาณ และตัวแทนสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในประเด็นว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2564 ได้มีการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในแต่ละปีเป็นจํานวนเท่าใด ใช้จ่ายไปเท่าใดบ้าง และคงเหลือเท่าใด

    11. ขอให้ออกหมายเรียกผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาสอบถามในประเด็นว่า นับตั้งปี 2557 ถึงปี 2564 ได้มี การจัดซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะจํานวนกี่ลํา และเป็นเงินจํานวนเท่าใดและขอให้สอบถามประเด็นว่า ได้มีการโอนย้ายกําลังพลของทหารไปเป็นกําลังพลในสังกัดของในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่ พร้อมขอให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

    12. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทําหนังสือ หรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังพรรคกรีน ของประเทศเยอรมนี เพื่อขอข้อมูลการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยทั้งหมด ซึ่งพรรคกรีนได้อภิปรายในการประชุมสภาประเทศเยอรมนี และรายละเอียดอื่นๆ ที่กล่าวมาทั้ง 12 ข้อ

    ทั้งนี้ ทั้งคู่ยังขอลงข้อความในเอกสารบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นบุคคลตามหมายจับ และได้ปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนให้ทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ดังนั้น หมายจับดังกล่าวจึงสิ้นผลตามกฎหมาย ไม่สามารถนํามาใช้จับกุมหรืออายัดตัวผู้ต้องหาได้อีก และขอให้พนักงานสอบสวนไปยื่นคำร้องเพิกถอนหมายจับดังกล่าว

    ปัจจุบัน อานนท์และพริษฐ์ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลา 10 วันแล้ว จากคดีมาตรา 112-116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว

    (อ้างอิง: บันทีกการแจ้งข้อกล่าวหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 18 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26129)
  • รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน เกี่ยวกับกฎหมายในการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    กรณีที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2560) และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561) กฎหมายทั้งสองฉบับมีความแตกต่างในประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

    หนึ่ง เปลี่ยนจาก ชื่อ พ.ร.บ. เดิมที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์” มาเป็น “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

    สอง มีการแก้ไขนิยามศัพท์ใหม่ ได้แก่ คำว่า “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” แก้ไขเป็น “ทรัพย์สินในพระองค์”, คำว่า “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” แก้ไขเป็น “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” (มาตรา 4) รวมทั้งชื่อ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” แก้ไขเป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” (มาตรา 6) เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561 ที่ใช้คำว่า “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

    ในคำนิยามที่ถูกเปลี่ยนชื่อไปของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561 มีการแก้ความหมายที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2560 คือ ส่วน ใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2560 คำว่า “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ (มาตรา 4) แต่ใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561 คำว่า “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์

    สาม มีการเพิ่มข้อความว่า “ในกรณีที่มีปัญหาว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีให้เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัย” (ถูกระบุไว้ในมาตรา 5)

    ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ทั้งสองฉบับที่มีความแตกต่างไปจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ก่อนหน้านี้ (พ.ศ. 2479, 2484, 2491) และนำมาซึ่งข้อสงสัยให้เกิดขึ้นก็คือ

    ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ก่อนหน้านี้ ได้มีการจำแนกประเภททรัพย์สินไว้ 3 ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ทั้ง พ.ศ. 2560 และ 2561 กำหนดให้มีทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีเพียงทรัพย์สิน 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ กล่าวโดยสรุป ส่วนที่ถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ ก็คือทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง หรือทรัพย์สินอื่นที่ใช้ในประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ได้ถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์

    การจำแนกให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดินให้กลายเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงอย่างสำคัญว่าอำนาจการบริหารจัดการทรัพย์สินประเภทดังกล่าวนั้นจะมีลักษณะเช่นไร เนื่องจากในกฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา 6) จากแต่เดิมที่การดูแลจัดการทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รัฐบาลโดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจะเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ทั้ง 2560 และ 2561 ได้กำหนดให้เป็นเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งไม่มีอยู่ในรูปแบบหรือองค์กรที่ชัดเจน

    บทบัญญัติที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจึงอาจไม่มีความชัดเจนและทำให้เกิดความสงสัยขึ้นแก่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำหรับกรณีทรัพย์สินที่เป็นของส่วนพระองค์ย่อมมีความชัดเจนว่าอยู่ภายใต้พระราชอำนาจที่ดำเนินการได้ แต่สำหรับทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ไม่มีความชัดเจนว่าผลในทางกฎหมายจะเป็นเช่นไร ทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งตาม พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561 ได้กลายเป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นั้น จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในมรดกที่ตกทอดไปแก่รัชทายาทหรือบุคคลอื่นๆ ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 หรือไม่ หรือในด้านของการบริหารจัดการจะเป็นไปในลักษณะเช่นไร ซึ่งควรจะได้มีการชี้แจงให้กระจ่างเนื่องจากแต่เดิมมาทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่จะมิได้เป็นของบุคคลคนใดคนหนึ่งหากเป็นของสังคมโดยรวม

    ต่อกรณีปัญหาดังกล่าว รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้มีการให้คำอธิบายหรือคำชี้แจงที่ชัดเจนออกมาในทางสาธารณะ จึงยิ่งเป็นการทำให้เกิดข้อสงสัยสะสมเพิ่มพูนมากขึ้น

    การตั้งคำถามขอบเขตและความหมายของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ทั้งสองฉบับ จึงย่อมเป็นสิ่งที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะสามารถกระทำได้ตามหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างชัดเจน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/29660)
  • ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดย ศ.ดร.นิธิ ได้จัดทำคำให้การเป็นหนังสือ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    1. คํากล่าวทั้งหมดของผู้ต้องหาจะมีความหมายและหนักเบาอย่างไร ขึ้นอยู่กับสองปัจจัย หนึ่ง คือประวัติความเป็นมาของการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์พ.ศ.2560 และ 2561 และ สอง บริบทและสภาพแวดล้อมทางการเมืองในขณะที่กล่าวคํานั้น ซึ่งมุ่งจะชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของพ.ร.บ.ใหม่ทั้งสองฉบับนั้นว่าจะเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มากกว่าเป็นคุณ นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2563 ยังเป็นช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งทําให้มีบรรยากาศ เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การกระทําของคณะรัฐประหาร คสช. ได้อย่างปลอดภัยขึ้นด้วย

    2. การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (อันเป็นสมบัติของสถาบัน ไม่ใช่ของบุคคล) ได้เริ่มอย่างเป็นจริงในประเทศไทย เพื่อแยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ใน “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479″ โดยจัดแยกพระราชทรัพย์ซึ่งถือว่า เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากที่เป็นของส่วนพระองค์อย่างชัดเจน

    มักเข้าใจกันว่าการแยกทรัพย์สินเช่นนี้ทํากันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2433 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อทรงตั้งกรมพระคลังข้างที่ขึ้นในกระทรวงการคลัง แต่ที่มาของรายได้กรมพระคลังข้างที่ปะปนกันกับเงินแผ่นดินหรือได้มาด้วยอํานาจแผ่นดินเป็นอันมาก อันเป็นปรกติธรรมดาของระบอบปกครองสมัยนั้นที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทั้งหมด การแยกสินทรัพย์นี้ออกจากกันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัญหาซึ่งอาจโต้แย้งกันได้ในสมัยนั้น สืบมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ทรงเห็นว่า “เพราะเป็นการยากที่จะแบ่งแยกว่า อะไรเป็นของส่วนพระองค์ อะไรเป็นของแผ่นดิน ด้วยปนเปเช่นนี้มานานแล้ว” (พระราชหัตถเลขาถึงพระยาราชวังสันลงวันที่ 20 ก.ย. 2477)

    3. พ.ร.บ.เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง และแม้ว่าใน พ.ร.บ.ที่แก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังบางฉบับ (เช่น ฉบับ 2491 แก้ไขเพิ่มเติม 2479) แต่ที่จริงแล้วได้เปลี่ยนเนื้อหาไปเกือบจะสิ้นเชิง คือการแก้ไข เพิ่มเติมหลังการรัฐประหาร 2490 ได้เปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์เข้ามาจัดการสินทรัพย์ของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้อย่างเต็มที่

    แม้กระนั้น ก็ยังรักษาหลักการสําคัญของการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือแบ่งแยกระหว่างทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไว้อย่างชัดเจน หลักการอีกประการหนึ่งที่ยังยืนยันอยู่ก็คือ การจัดการทรัพย์สินนั้นแม้ในทางปฏิบัติเป็นพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด แต่ประธานของคณะกรรมการทรัพย์สินฯ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตําแหน่งเสมอ แม้ว่ากรรมการที่เหลือล้วนมาจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มี “ฝ่ายการเมือง” รู้เห็นการจัดการนั้น ในฐานะประธานอยู่ด้วยเสมอ ความเป็นทรัพย์ของแผ่นดินจึงปรากฏอยู่ในเชิงสัญลักษณ์เป็นอย่างน้อย

    ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ใน พ.ร.บ.ฉบับ พ.ศ. 2479 นั้น ได้แยกทรัพย์สินออกเป็นสามส่วน คือทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณะ (เช่น วัง, วัด, เครื่องราชูปโภค) และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินสองส่วนหลังนี้ไม่ต้องเสียภาษี และที่น่าจะหมายถึงด้วยก็คือ ทรัพย์สินสาธารณะย่อมไม่ถูกนําไปใช้ในเชิงพาณิชย์ (เช่น เอาไปค้ำประกันเงินกู้) เพราะเสี่ยงที่จะสูญได้ เนื่องจากแม้เป็นเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ แต่ก็ทรงใช้ในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศเท่านั้น

    การแยกให้ชัดเจนเช่นนี้จึงยิ่งทําให้เห็นชัดว่าจุดมุ่งหมายของการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น กระทําเพื่อรักษาสินทรัพย์ของสถาบัน ไม่ใช่ของบุคคล

    แม้ว่า พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2491 ไม่ได้แยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกเป็นทรัพย์สินสาธารณะ แต่การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานของคณะกรรมการ และการยกเว้นภาษีให้แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ทําให้เห็นได้ชัดในทํานองเดียวกันว่า ทรัพย์สินส่วนนี้ทั้งหมดเป็นของสถาบันไม่ใช่ของบุคคล เพื่อใช้ประโยชน์แก่แผ่นดิน

    ไม่ว่าจะมีข้อดีข้อด้อยอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับ 2491 นี้ใช้สืบมาถึง 69 ปี

    4. ใน พ.ศ. 2560 และ 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ส.น.ช.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คสช. ได้ผ่านพระราชบัญญัติจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (หรือแก้เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใน พ.ร.บ. ฉบับหลัง) โดยการถวายให้การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดเป็นพระราชอํานาจแต่เพียงฝ่ายเดียว โดย “ฝ่ายการเมือง” ไม่เกี่ยวข้องเลย จนทําให้แยกได้ไม่ชัดว่าอะไรเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ อะไรเป็นทรัพย์สินส่วนสถาบัน และยังไม่แยกให้ชัดว่าพระราชอํานาจนั้นต้องถูกจํากัดไว้อย่างไร ในกรณีที่อาจทําให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของสถาบัน เราต้องไม่ลืมด้วยว่า สินทรัพย์จํานวนมากของสํานักงานทรัพย์สินฯ นั้น ถูกนําไปใช้เพื่อหาผลกําไร ซึ่งหากคิดในหลักทุนนิยม ก็ถูกต้องแล้ว เพราะมีจํานวนมากจึงไม่มีประโยชน์ในการเก็บไว้เปล่าๆ โดยไม่ใช้อะไรเลย และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจเกิดความเสียหายได้ และในความเป็นจริงก็เคยขาดทุนอย่างย่อยยับมาแล้วในรัชกาลที่ 6 และในวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 อันไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ สถานะทางการเงินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของชาติในอนาคต แต่โชคดีที่ผู้บริหารทรัพย์สินฯ และธุรกิจสามารถกอบกู้สถานการณ์กลับคืนมาได้

    อันตรายของ พ.ร.บ. สองฉบับที่เปลี่ยนสถานะของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปอย่างสุดโต่งนี้เห็นได้ชัด แต่ในเวลาของการปราศรัยสาธารณะระยะสั้น จะชี้แจงความซับซ้อนของกฎหมายและประวัติการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ผู้ฟังเห็นได้ยาก จึงต้องยกกรณีสุดโต่งเป็นตัวอย่าง ดังที่ผู้ต้องหากระทําด้วยการสมมติว่า ถ้าทรัพย์สินเหล่านั้นถูกครอบครองโดยไม่ถ่ายโอนแก่สถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป ก็จะเป็นอันตรายต่อพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคตได้อย่างไร

    ไม่มีข้อความตอนใดที่กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันจะทรงกระทําเช่นนั้นอย่างแน่นอน เป็นเพียงกรณีตัวอย่างสมมติให้เข้าใจได้ง่ายเท่านั้น

    5. ในประเพณีการปกครองของไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา แม้ในยามที่ประเทศถูกคณะรัฐประหารยึดอํานาจและตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เลย ย่อมถือเสมอว่าผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพ.ร.บ.ใด ๆ ก็ตาม คือ ผู้รับผิดชอบต่อคุณและโทษของ พ.ร.บ. นั้น พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบด้วย เพราะทรงทําหน้าที่ของประมุขประเทศเท่านั้น มิได้เป็นผู้ริเริ่มผลักดันกฎหมายใดๆ (ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์หาได้มีพระราชอํานาจที่จะบังคับให้รัฐบาลหรือ สภาต้องผ่านกฎหมายใดๆ ได้) ดังนั้นเมื่อกฎหมายใดผ่านสภาออกมา ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้รับสนองพระบรมราชโองการเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ – ในทางกฎหมายหรือทางการเมืองก็ตาม – ข้อนี้เป็นที่เข้าใจกันอย่างทั่วถึงมานานแล้ว

    คํากล่าวของผู้ต้องหาคือการคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ. ดังกล่าวทั้งสองฉบับ และโดยประเพณีการปกครองของไทย ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง แต่เมื่อตัวพ.ร.บ. มีเนื้อหาไปเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จึงจําเป็นต้องยกตัวอย่างสมมติให้เป็นการกระทําของพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/29660)
  • ธนาพลได้เดินทางเข้าให้การกับพนักงานสอบสวนที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ โดยได้จัดทำคำให้การเป็นหนังสือสรุปถึงความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกฎหมายในการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

    ++จัดระเบียบทรัพย์สินกษัตริย์ แยกเป็นสามประเภท หลังปฏิวัติสยาม 2475++
    ภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาณาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้เปลี่ยนสถานะของพระมหากษัตริย์จากเดิมเป็นทั้งประมุขและผู้บริหารสูงสุดของประเทศ มาเหลือแต่เพียงประมุขของรัฐแต่ฝ่ายเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด ‘ปกเกล้า ไม่ปกครอง’ หรือ ‘ทรงราชย์ ไม่ทรงรัฐ’ ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ปราชญ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้กล่าวไว้ [1] เพื่อให้ปลอดพ้นจากผลประโยชน์และคำติฉินนินทาใดๆ รัฐบาลคณะราษฎรจึงได้ออก พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479

    1) “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” หมายถึง ทรัพย์สินหรือสิทธิอันติดอยู่กับทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ หรือทรงได้มาหลังจากครองราชสมบัติแล้วจากบุคคลใดๆ ที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ หรือได้ซื้อมากเงินส่วนพระองค์

    (2) “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” หมายถึง ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น พระราชวัง

    และ (3) “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายถึง ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ที่นอกเหนือจากทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เฉพาะที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวัง ขณะที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นอกจากนั้น ให้อยู่ในความดูแลรักษาของกระทรวงการคลัง โดยปรึกษาคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรรมการอีก 4 นาย ซึ่งตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุมัติ

    แต่การเมืองไทยได้เกิดพลิกผัน ภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่เป็นการ “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร” หรือเรียกว่าเป็นการโต้กลับการปฏิวัติ 2475 ก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ในทันที ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2490-เมษายน 2491 ได้มีการเสนอแก้ไข “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479” และต่อมาได้กลายเป็น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491

    ++แก้ไข พ.ร.บ. ปี 2491 ตั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ดูแล “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ด้วยสถานภาพทาง กม. คลุมเครือ++
    พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้แก้ไข พ.ร.บ.ฉบับเก่าหลายมาตรา ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงเข้มแข็งขึ้นในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขให้ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” อยู่ในความดูแลรักษาของ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” จากเดิมที่เป็นกระทรวงการคลัง นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังสามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง หรือถูกฟ้องในคดีต่างๆ ได้ ซึ่งผิดจากหลักการ ‘ปกเกล้า ไม่ปกครอง’ อย่างสิ้นเชิง

    ยกตัวอย่างเช่น ซึ่งในกรณีที่ดิน มีคดีอยู่เป็นจำนวนมากที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นโจทก์หรือจำเลย นอกจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ พ.ศ. 2491 จะทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ มีสถานะเป็นนิติบุคคลแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการที่เดิมเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังในการดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุมัติ[4] ให้เรียกว่า” คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินฯ คณะกรรมการนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง แต่กรรมการอื่น ไม่น้อยกว่า 4 คนนั้น ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยหนึ่งในจำนวนนี้ ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน ด้วยตัวเองได้ หลังจากมี พ.ร.บ. ฉบับใหม่ได้มีการจัดตั้ง “สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์” ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนนี้ด้วย

    ฉบับที่แก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2491 นั้น ระบุว่า

    “รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่กล่าวในมาตรา 5 วรรคสอง [ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลและจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งไม่ใช่เครื่องอุปโภคบริโภคที่อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง] นั้น จะจ่ายได้ก็แต่เฉพาะในประเภทที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพัน รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือนบำเหน็จ บำนาญ เงินรางวัล เงินค่าใช้สอย เงินการจร เงินลงทุน และรายจ่ายในการพระราชกุศล เหล่านี้ฉะเพาะที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วเท่านั้นรายได้ซึ่งได้หักรายจ่ายตามความในวรรคก่อนแล้ว จะจำหน่ายใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใดๆ หรือโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฉะเพาะในกรณีเกี่ยวกับการพระราชกุศลอันเป็นการสาธารณะหรือในทางศาสนาหรือราชประเพณีบรรดาที่เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

    แต่กระนั้นระหว่างปี 2518-2544 ได้มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความสถานภาพของสำนักงานทรัพย์สินฯ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ถึง 5 ครั้ง คือในปี 2518, 2533, 2536, 2543 และ 2544 ซึ่งการวินิจฉัยแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป เช่น ใน 4 ครั้งแรกตีความว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ใช่ “รัฐวิสาหกิจ”ไม่ใช่ “ส่วนราชการ” ไม่ใช่ “หน่วยงานของรัฐ” มีครั้งหนึ่งตีความว่าเป็น “เอกชน” ด้วย โดยการตีความแต่ละครั้งมีเหตุผลสนับสนุนแตกต่างกันออกไป และไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ตลอด

    สถานะพิเศษของสำนักงานทรัพย์สินฯ (รวมทั้งความคลุมเครือในการวินิจฉัยสถานภาพของสำนักงานทรัพย์สินฯ) ส่วนหนึ่งที่สำคัญเกิดจากการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 ในสมัยรัฐบาลนิยมเจ้าของนายควง อภัยวงศ์ ที่ได้ให้อำนาจแก่สถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น ซึ่งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเห็นว่า นี่เป็นการยกเลิกหลักการสำคัญที่การปฏิวัติ 2475 สร้างขึ้น อันเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการปฏิวัติซ้อนหรือปฏิปักษ์ปฏิวัติ (counter-revolution)

    ++ยุค ร.10 แก้กม.ใหม่ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยิ่งออกห่างจากการเป็นทรัพย์สินของรัฐ++
    แต่กระนั้น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 ก็อยู่มาถึงเกือบ 7 ทศวรรษ เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และตามมาด้วย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560

    พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ได้ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทุกฉบับที่ผ่านมา แล้วจัดแบ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ใหม่ออกเป็น 2 ประเภท เหลือแค่

    (1) “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ซึ่งหมายถึง “ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย” และ
    (2) “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายถึง “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์” นั่นหมายความว่า ทรัพย์สินที่เคยถูกจัดให้เป็นทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กล่าวคือ ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น พระราชวังต่างๆ หรือสิ่งของในพิพิธภัณฑ์บางอย่างนั้น และเคยอยู่ในการดูแลของสำนักพระราชวัง จะถูกนำไปรวมเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทั้งหมด

    ส่วนเรื่องการจัดการ การดูแล และการจัดหาประโยชน์ หรือการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์แต่ละประเภทนั้น ไม่มีการกำหนดให้ชัดเจนลงไปว่าทรัพย์สินประเภทใดต้องอยู่ภายใต้การจัดการของหน่วยงานใดหรือบุคคลใด ภายใต้เงื่อนไขใด แต่ระบุไว้อย่างยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัยอย่างสมบูรณ์

    สำหรับเรื่องการเสียภาษี พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ฉบับใหม่ ไม่มีการกำหนดว่าทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่ต้องหรือไม่ต้องเสียภาษีอากร หากระบุเพียงว่าให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งหมายความว่า ทรัพย์สินส่วนพระองค์อาจไม่ต้องเสียภาษีอากรด้วยก็ได้ หากมีกฎหมายยกเว้นให้

    เมื่อเปรียบเทียบการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 3 ยุค ระหว่างยุคคณะราษฎร, ยุครัชกาลที่ 9, และยุครัชกาลที่ 10 ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฉบับ พ.ศ. 2479/2484, พ.ศ. 2491, และ พ.ศ. 2560 ตามลำดับ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นานวันเข้าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยิ่งมีแนวโน้มออกห่างจากการเป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งควรแยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ และนำไปใช้สำหรับสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศตามหลักของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ[6]

    นอกจากนั้นแล้ว ธนาพลยังได้ส่งสำเนาเอกสาร “เปรียบเทียบการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ระหว่าง 3 ยุค” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทความจากวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม- ธันวาคม 2560 แนบท้ายคำให้การมอบให้กับพนักงานสอบสวนด้วย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/30200)
  • อานนท์เดินทางเข้าพบพักงานสอบสวนตามนัดหมาย ในนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 5 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • พริษฐ์เดินทางเข้าพบพักงานสอบสวนตามนัดหมาย ในนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 5 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดเป็นวันที่ 6 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดเป็นวันที่ 6 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ยื่นฟ้อง อานนท์ นำภา และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดีที่ทั้งคู่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดีด้วยหลักทรัพย์คดีละ 1.5 แสนบาท กำหนดเงื่อนไข “ห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้”

    สำหรับคดีที่พริษฐ์และอานนท์ถูกฟ้องแบ่งออกเป็น 3 สำนวนคดีด้วยกัน คือ คดีที่หนึ่งและสอง เป็นกรณีที่อานนท์และพริษฐ์ถูกกล่าวหาจากการร่วมขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563

    ส่วนสำนวนที่สาม เป็นคดีเฉพาะของพริษฐ์ ในกรณีที่เขาถูก เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดกลุ่ม กปปส. ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.สันทราย จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2563 เนื้อหาเกี่ยวกับการนำพระแก้วมรกตไปขายในสมัยรัชกาลที่ 7 และความจำเป็นในการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

    เวลา 10.15 น. หลังพริษฐ์และอานนท์ พร้อมด้วยทนายความเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งคู่ได้ถูกนำตัวส่งให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยถูกนำตัวไปควบคุมไว้ภายในห้องขังของศาลเพื่อรอการประกันตัว ต่อมาเวลาประมาณ 11.45 น. ศาลได้นำตัวทั้งสองขึ้นห้องพิจารณาคดีที่ 3 เพื่ออ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังพร้อมกับสอบถามคำให้การจำเลย

    สำหรับคำฟ้องสองคดีแรก อานนท์และพริษฐ์ ถูกกล่าวหาจากการร่วมขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พนักงานอัยการบรรยายฟ้องคล้ายคลึงกันแตกต่างกันเฉพาะในส่วนถ้อยคำที่ปราศรัยโดยสรุปว่า

    เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 จำเลยได้ทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการใช้ไมโครโฟนพูดผ่านเครื่องเสียงท่ามกลางประชาชนที่มาร่วมชุมนุมและรับฟังการปราศรัยจำนวนหลายร้อยคน

    พริษฐ์ได้ปราศรัยเรื่องเงินประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ บางช่วงมีถ้อยคำกล่าวปราศรัยถึงองค์พระมหากษัตริย์ว่า “..เมื่อสิ้นธันวาคมเมื่อจบธันวาไปแล้ว GDP ประเทศไทยจะอยู่ที่ติดลบ 11 เปอร์เซ็นต์…เท่ากับว่าคนไทยจะจนลงอย่างมหาศาล…ด้านเศรษฐกิจนั้นเมื่อมาพิจารณางบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นคนเพียงครอบครัวเดียว จากปี 61 ถึงงบปีนี้ปี 64 เพิ่มขึ้นมา 50 เปอร์เซ็น นั่นคือรวบขึ้นครึ่งหนึ่ง แล้วผมขอถามว่า การที่เขารวยขึ้นนั้นเขารวยจากเงินของใคร” เป็นต้น

    โจทก์อ้างว่าข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยทำให้ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม เข้าใจและสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันที่เข้าไปควบคุมและแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล

    ส่วนอานนท์ได้ปราศรัยเรื่องทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ บางช่วงมีถ้อยคำกล่าวปราศรัยถึงองค์พระมหากษัตริย์ว่า “ปัจจุบันเนี่ย ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มีการขยายพระราชอำนาจไปมากเกินกว่าที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้อนุญาตไว้..” เป็นต้น

    ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยทำให้ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม เข้าใจและสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันที่ได้ขยายพระราชอำนาจเปลี่ยนแปลงการบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเอาทรัพย์สินของแผ่นดินมาเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในการตัดสินใจจำหน่าย จ่าย แจก ซึ่งเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของแผ่นดินเป็นของพระองค์เพียงพระองค์เดียว

    คำปราศรัยของทั้งสองเป็นความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทเบื้องสูง และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทยและจะละเมิดมิได้ โดยประการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

    ตอนท้ายคำฟ้องของทั้งสองคดี พนักงานอัยการได้บรรยายคดีที่ทั้งพริษฐ์และอานนท์ถูกกล่าวหากว่า 10 คดีเพื่อให้ศาลใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลด้วย อีกทั้งระบุว่าหากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานอัยการขอคัดค้านการปล่อยตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก

    ด้านจำเลยทั้งสองหลังได้รับทราบฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี โดยเสนอวงเงินประกันจำนวน 150,000 บาทต่อคน ต่อคดี

    จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.15 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสอง รวมวางหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 300,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    ศาลยังกำหนดเงื่อนไขหนึ่งประการคือ “ห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้” พร้อมกับกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจำเลยในวันที่ 2 ก.พ. 2566 เวลา 13.30 น. และนัดพร้อม-ตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 ก.พ. 2566 เวลา 9.00 น. ต่อไป

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ./2566 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52018)
  • ศาลจังหวัดเชียงใหมนัดสืบพยานในคดีของอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรม ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบ ๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563

    สำหรับคดีนี้ อานนท์ถูก พ.ต.ท.นรากร ปิ่นประยูร กล่าวหาไว้ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ร่วมกับ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่เป็นผู้ปราศรัยในกิจกรรมเดียวกัน แต่อัยการได้แยกฟ้องเป็นสองคดี การพิจารณาคดีของทั้งคู่จึงดำเนินแยกจากกัน

    .

    ศาลให้ตัดพยาน พล.อ.ประยุทธ์-ผู้ว่ากทม. และไม่ให้ออกหมายเรียกเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
    ในกรณีของอานนท์ ถูกกล่าวหาเกี่ยวเนื่องจากคำปราศรัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ โจทก์กล่าวหาว่าคำปราศรัยของจำเลยทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันได้ขยายพระราชอำนาจเปลี่ยนแปลงการบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเอาทรัพย์สินของแผ่นดินมาเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว โดยอ้างว่าข้อความเป็นเท็จและเป็นความผิดตามมาตรา 112

    อานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าคำปราศรัยมีข้อเท็จจริงรองรับ และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

    ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ฝ่ายโจทก์ได้แถลงจะนำสืบพยานทั้งหมด 6 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยแถลงจะนำสืบพยาน 14 ปาก แต่ศาลให้ตัดพยานปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จำเลยขอให้นำสืบประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ภายหลังมีการออกเสียงประชามติแล้ว, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ลานพระรูปทรงม้า รัฐสภาเดิม สนามม้านางเลิ้ง สวนสัตว์เขาดิน โดยศาลเห็นว่ามิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จำเลยขึ้นปราศรัยและถูกฟ้องเป็นคดีนี้ จึงเหลือพยานจำเลยจำนวน 12 ปาก

    นอกจากนั้น ฝ่ายจำเลยได้ขอออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการโอนเปลี่ยนแปลงรายการทรัพย์สินจากชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยศาลได้อนุญาตให้ออกหมายเรียกจำนวน 4 รายการ แต่ไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินในพระองค์ ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้ระบุว่าทรัพย์สินใดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ แม้ฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งเอาไว้ว่าเอกสารดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับข้อกล่าวหาของโจทก์ ว่าจำเลยปราศรัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงรายการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

    ในนัดสืบพยานนัดแรกวันนี้ อานนท์ถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังเรือนจำกลางเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อช่วงวันที่ 5 ม.ค. 2567 โดยเขาระบุว่าถูกนำตัวเดินทางมาโดยรถตู้ของราชทัณฑ์ พร้อมกับผู้ต้องขังอีกหนึ่งราย ที่ถูกนำตัวย้ายเรือนจำมาด้วย ขณะเดินทางมีการใส่โซ่ข้อเท้าไว้ด้วย

    ในการพิจารณา มีนักกิจกรรม นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชน ราว 30-40 คน เดินทางมาให้กำลังใจและติดตามการพิจารณาคดีของอานนท์ด้วย โดยรอบศาล มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจากหน่วยต่าง ๆ จำนวนมากจัดกำลังดูแลพื้นที่ รวมทั้งพบว่ามีรถของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (S.W.A.T) อยู่อีกด้วย

    ขณะที่ด้านบนอาคารศาล มีเจ้าหน้าที่ตั้งแผงเหล็กบริเวณทางเดินไปสู่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ที่จะใช้พิจารณาคดีของอานนท์ ตั้งแต่ช่วงเช้า พร้อมกับจัดกำลังตำรวจศาลดูแลบริเวณดังกล่าว และตรวจกระเป๋าผู้จะเข้าฟังการพิจารณา

    โดยนอกจากคู่ความ เจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้เฉพาะตัวแทนของคู่ความ ฝ่ายโจทก์และจำเลย ฝั่งละ 5 คน เข้าไปยังห้องพิจารณา เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็ก และศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีห้องพิจารณาขนาดใหญ่ที่รองรับการพิจารณาคดีที่มีคนจำนวนมากได้ ทำให้ประชาชนหลายคนต้องรออยู่ภายนอก และไม่สามารถเข้าไปพูดคุยกับอานนท์ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีผู้เข้าฟังการพิจารณาที่มาจากฝั่งโจทก์แต่อย่างใด ทำให้ในห้องพิจารณายังเหลือที่นั่งว่าง

    ต่อมาหลังศาลนั่งพิจารณา ฝ่ายจำเลยได้แถลงว่าเอกสารหลักฐานที่จำเลยขอออกหมายเรียก และศาลอนุญาตให้ออกหมายนั้น ยังไม่ได้ออกหมายและจัดส่งหมายต่อผู้ครอบครองเอกสาร โดยเอกสารดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ถามค้านพยานของฝ่ายโจทก์ และเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาคดีนี้ของทั้งสองฝ่าย จึงต้องขอเลื่อนนัดสืบพยานออกไป เพื่อจัดส่งหมายเรียกก่อน

    ขณะที่ฝ่ายอัยการโจทก์ ได้แถลงว่าวันนี้ มีพยานโจทก์หนึ่งปากที่ยังไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากถูกย้ายไปประจำที่อื่น โจทก์จึงไม่คัดค้านการเลื่อนคดี

    จากนั้น ศาลจึงนำเรื่องไปปรึกษากับหัวหน้าศาล และอนุญาตให้เลื่อนคดีออกไป โดยให้เลื่อนไปสืบพยานไปวันที่ 9-11 เม.ย. 2567 ที่เคยนัดสืบพยานจำเลยไว้เดิม และอนุญาตให้ถอนประกันตัวจำเลยตามคำร้องขอก่อนหน้านี้

    หลังการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลอนุญาตให้ประชาชน 2-3 คน เข้าไปพูดคุยกับอานนท์ก่อนนำตัวออกจากห้องพิจารณา และนำตัวขึ้นรถของเรือนจำกลับไปยังเรือนจำกลางเชียงใหม่ทันที โดยมีประชาชนลงไปรอให้กำลังใจที่ด้านล่างของศาล

    คาดว่าอานนท์จะถูกนำตัวกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายในช่วงอาทิตย์นี้ทันที เนื่องจากมีนัดพิจารณาคดีอื่น ๆ รออยู่ที่ศาลในกรุงเทพฯ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62955)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์