สรุปความสำคัญ

“มัมดิว” หรือ กิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ เจ้าของเพจ มัมดิวไดอารี่ และ "หนูรัตน์" หรือ ธิดาพร ชาวคูเวียง ถูกดำเนินคดีร่วมกับ "นารา เครปกะเทย" หรือ อนิวัต ประทุมถิ่น ตลอดจนบริษัทขายตรงและบริษัทโฆษณาที่เกี่ยวข้อง ในข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีจัดทำคลิปเพื่อใช้ในแคมเปญโฆษณาลาซาด้า 5.5 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยถูกกล่าวหาว่า มีการแสดงล้อเลียน เสียดสี เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดยมี ศรีสุวรรณ จรรยา เข้าแจ้งความร้องทุกข์

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความขยายความคุ้มครองไปถึงบุคคลในราชวงศ์ ทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • มัมดิว
    • หนูรัตน์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • บริษัทโฆษณา
    • บริษัทขายตรง
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

16 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าแสดงหมายจับ “มัมดิว” หรือ กิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ เจ้าของเพจ มัมดิวไดอารี่ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึงบ้านพัก พร้อมทั้งตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง สืบเนื่องมาจากแคมเปญโฆษณาลาซาด้า 5.5 ที่ทำร่วมกับ นารา - เครปกะเทย และหนูรัตน์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565

จากนั้นมัมดิวได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่กองกำกับการ 2 บก.ปอท. ระบุรายละเอียดว่า ตำรวจชุดจับกุมจาก บก.ปอท. 7 นาย ได้ร่วมกันทำการจับกุมมัมดิว ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1116/2565 ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2565 กล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน ‘ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์’

นอกจากมัมดิว ยังมีรายงานข่าวว่า อนิวัต ประทุมถิ่น หรือ “นารา” และธิดาพร ชาวคูเวียง หรือ “หนูรัตน์” ก็ถูกจับกุมและควบคุมตัวมาที่ กก.2 บก.ปอท. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ต่อมา พนักงานสอบสวน บก.ปอท.ได้แจ้งพฤติการณ์ของข้อกล่าวหาให้ทั้งสามทราบว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาได้มาพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. และร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 เว็บไซต์ LAZADA และ TikTok ได้โพสต์คลิปวีดิโอโปรโมทแคมเปญลดราคาสินค้าของลาซาด้า โดยมีผู้แสดงคือ นารา, หนูรัตน์ และมัมดิว ซึ่งมีลักษณะไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ผู้ป่วยหรือผู้พิการ อีกทั้งมีเนื้อหาในลักษณะล้อเลียน เสียดสี บุคคลอันเป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งหลายคนเห็นแล้วไม่สบายใจ เพราะมีรูปภาพหรือการแสดงที่มีลักษณะพาดพิง ดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หรือสถาบันกษัตริย์

พนักงานสอบสวนยังระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนพบการกระทำที่เป็นความผิดดังนี้

1. เป็นคลิปโฆษณาแคมเปญ LAZADA 5.5 เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของ LAZADA และบัญชี TikTok ของนารา ความยาว 1 นาที 26 วินาที โดยมีหนูรัตน์ได้แสดงบทบาทเป็นหญิงพิการแต่งชุดไทยประยุกต์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั่งรถเข็นในลักษณะเอียง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการเลียนแบบหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์ และนาราได้แสดงการพูดกับหนูรัตน์ว่า…ฉันจะจัดการกับแก แล้วหนูรัตน์ได้ลุกขึ้นแล้วพูดว่า ฉันลุกขึ้นได้ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว มีลักษณะในเชิงบิดเบือนว่า สมาชิกราชวงศ์ดังกล่าวโกหกให้คนหลงเชื่อว่าป่วย เพื่อให้เห็นใจ สงสาร ซึ่งเป็นการนำข้อมูลที่บิดเบือนเข้าสู่คอมพิวเตอร์

2. เป็นคลิปวิดีโอที่นาราแสดงร่วมกับหนูรัตน์และมัมดิว ซึ่งภาพที่ปรากฏในคลิปเป็นการที่นาราได้นําสินค้าของตนมอบให้กับมัมดิว โดยที่นารานั่งพับเพียบอยู่กับพื้น ส่วนมัมดิวนั่งอยู่บนโซฟา และหนูรัตน์นั่งอยู่บนรถเข็น แสดงเป็นคนพิการ โดยที่มัมดิวได้สวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ แต่งหน้า และทําทรงผม มีลักษณะที่คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงเลียนแบบพระราชินีในรัชกาลที่ 9 คลิปดังกล่าวเผยแพร่ผ่านบัญชี TikTok ของนารา เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาทั้งสามได้ร่วมกันจัดทำบท ร่วมกันแสดง โดยเจตนาล้อเลียน ด้อยค่า อดีตพระราชินีในรัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์คนดังกล่าว โดยมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากการสืบสวนสอบสวนเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสามเป็นผู้ร่วมแสดงในคลิปวีดีโอดังกล่าว โดยนาราเป็นผู้โพสต์คลิปในบัญชีเฟซบุ๊กและ TikTok ของตนเอง

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสามในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งยังแจ้งข้อกล่าวหานารา “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ประชาชน และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)(3) อีกด้วย

เน็ตไอดอลทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญาผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุว่า เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมีอัตราโทษสูง ทั้งเกรงว่าผู้ต้องหาทั้งสามอาจจะไปลบ แก้ไข เปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานในระบบคอมพิวเตอร์ ส่งผลเสียหายต่อรูปคดี รวมทั้งอาจมีกระทําความผิดในลักษณะซ้ำเดิมอีกได้ หรืออาจมีการโพสต์ในลักษณะหมิ่นเจ้าพนักงานตํารวจลงในสื่อสังคมออนไลน์

อย่างไรก็ตาม หลังศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ได้ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันในวงเงินคนละ 90,000 บาท ซึ่งมัมดิวได้ใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก และให้ทั้งสามมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน

จากนั้นช่วงเดือนสิงหาคม 2565 พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกบริษัทขายตรงและบริษัทโฆษณาที่เกี่ยวข้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ด้วย

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.2 บก.ปอท. และคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44935)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์