ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.530/2565

ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.530/2565
ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ.

ความสำคัญของคดี

“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและแกนนำกลุ่มราษฎรถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ 2 ข้อความในเฟซบุ๊กตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้สนามหลวง และถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในวันคล้ายวันประสูติ ในลักษณะล้อเลียน พร้อมทั้งกล่าวพาดพิงถึงสุจาริณี วิวัชรวงศ์ รวมถึงรัชกาลที่ 10 คดีนี้มีนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความขยายความคุ้มครองไปเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภัทรกร อุดมผล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1. เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” ซึ่งจำเลยเป็นผู้ดูแล โพสต์รูปภาพที่มีข้อความเกี่ยวกับสนามหลวง ที่นักกิจกรรมไม่สามารถจัดกิจกรรมเผากุ้งได้ และคำถามว่าจะเก็บไว้ประกอบพิธีเผาศพอย่างเดียวหรือ

2. เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในวันคล้ายวันประสูติ โดยกล่าวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 เกี่ยวกับสุจาริณี วิวัชรวงศ์ และลูกชาย 4 คน รวมทั้งเรียกร้องให้เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไม่ให้นำเงินภาษีของประชาชนไปโปรโมทแบรนด์เสื้อผ้าส่วนพระองค์ พร้อมทั้งแนบลิงค์ยูทูบคลิปเสียง “พี่รู้พี่มันเลว” และโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์

ทั้ง 2 โพสต์ดังกล่าว เป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.530/2565 ลงวันที่ 8 มี.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 12.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.ท.หญิง รัฐฐานนท์ คชนนท์ รองสารวัตร (สอบสวน) ปรก.กก.3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 นพดล พรหมภาสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak”

    สืบเนื่องมาจาก เฟซบุ๊กดังกล่าวได้ปรากฏข้อความที่ผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 2 โพสต์ ได้แก่

    1. เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ได้โพสต์รูปภาพที่มีข้อความเกี่ยวกับสนามหลวง ที่นักกิจกรรมไม่สามารถจัดกิจกรรมเผากุ้งได้ และคำถามว่าจะเก็บไว้ประกอบพิธีเผาศพอย่างเดียวหรือ

    ทั้งนี้ ในวันที่ 31 ธ.ค. ดังกล่าว ได้มีเหตุการณ์ที่สมาชิกกลุ่ม We Volunteer ซึ่งทำกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง ทำการจำหน่ายกุ้งเพื่อช่วยผู้ค้ากุ้งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมดำเนินคดีที่บริเวณสนามหลวง และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

    2. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ได้โพสต์ข้อความถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในวันคล้ายวันประสูติ โดยกล่าวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 เกี่ยวกับสุจาริณี วิวัชรวงศ์ และลูกชาย 4 คน รวมทั้งเรียกร้องให้เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไม่ให้นำเงินภาษีของประชาชนไปโปรโมทแบรนด์เสื้อผ้าส่วนพระองค์ พร้อมทั้งแนบลิงค์ยูทูบคลิปเสียง “พี่รู้พี่มันเลว” ลงไปในโพสต์ดังกล่าว

    ผู้กล่าวหาระบุว่า การโพสต์เฟซบุ๊กทั้ง 2 โพสต์ดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทําให้ รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

    จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูงคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขออ้างพยานเป็นอดีตหม่อมสุจารินี และท่านชายทั้ง 4 องค์ มาเป็นพยานในประเด็นว่า เหตุใดจึงต้องออกไปอยู่ต่างประเทศ ใครมีความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง และทั้ง 5 ประสงค์ที่จะกลับประเทศไทยหรือไม่ พร้อมจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 15 ก.ค. 2564

    พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันไว้ และให้ปล่อยตัวพริษฐ์ไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

    ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของพริษฐ์ พนักงานสอบสวนได้มีการตั้งกล้องวิดีโอบันทึกการสอบปากคำ และขอให้ผู้ไว้วางใจที่เข้าร่วมทุกคนลงบันทึกว่าเข้าร่วมการสอบสวน และทำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนด้วย

    นับเป็นคดีแรกที่พริษฐ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหลังได้รับการประกันตัวจากการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดี MobFest เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 และเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 20 ซึ่งพริษฐ์ถูกกล่าวหาอีกด้วย

    ทั้งนี้ นพดล พรหมภาสิต ผู้กล่าวหา มีตำแหน่งเป็นรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และยังมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีการดำเนินการไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

    นพดลได้แจ้งความกล่าวหานักกิจกรรมหลายรายไว้ที่ บก.ปอท. อาทิ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว จากกรณีการโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” และกล่าวหา “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ จากการโพสต์วิจารณ์พาดพิงถึงการใช้ภาษีของกษัตริย์

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บก.ปอท. ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30851)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นฟ้องพริษฐ์ต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กล่าวหาว่า พริษฐ์โพสต์เฟซบุ๊กของตนเองรวม 2 โพสต์ ได้แก่ โพสต์รูปภาพที่มีข้อความเกี่ยวกับสนามหลวง และโพสต์ข้อความถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในวันคล้ายวันประสูติ โดยกล่าวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 เกี่ยวกับสุจาริณี วิวัชรวงศ์ และลูกชาย 4 คน รวมทั้งเรียกร้องให้เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไม่ให้นำเงินภาษีของประชาชนไปโปรโมทแบรนด์เสื้อผ้าส่วนพระองค์ พร้อมทั้งโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และ 8 ม.ค. 2564 ตามลำดับ

    อัยการระบุว่า ทั้ง 2 โพสต์ดังกล่าว เป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ท้ายคำฟ้อง อัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกของพริษฐ์ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นอีก 17 คดี

    ต่อมา ศาลรับฟ้อง และนัดพริษฐ์มาสอบคำให้การในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.530/2565 ลงวันที่ 8 มี.ค. 2565)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากจำเลยป่วย แพทย์ให้พักรักษาตัว ศาลอนุญาตให้เลื่อนสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 30 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • พริษฐ์เดินทางมาศาล และให้การปฏิเสธ จากนั้นทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวมีกำหนดเวลา 3 เดือน (ครบกำหนดวันที่ 30 ส.ค. 2565) ตีราคาหลักประกัน 90,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข

    1. ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือการทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    2. ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
    4. ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียนไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ หรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

    อนึ่งหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคำสั่งเดิมตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ นอกจากนี้กรณีครบกำหนดการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีกำหนดระยะเวลาแล้วหากจำเลยไม่มีพฤติการณ์ผิดเงื่อนไขศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมต่อไป

    นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 4 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.530/2565 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2565)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากจำเลยติดนัดสืบพยานจำเลยที่ศาลแขวงขอนแก่น ศาลอนุญาตให้เลื่อนตรววจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 8 ก.ค. 2565 เวลา 13.30 น.
  • โจทก์แถลงประสงค์สืบพยานโจทก์รวม 7 ปาก เป็นผู้กล่าวหา, เจ้าหน้าที่สอบสวนเกี่ยวกับเพจตามฟ้อง, พยานความเห็น 4 ปาก และพนักงานสอบสวน ศาลพิจารณาแล้วให้ตัดพยานความเห็นทั้ง 4 ปาก เนื่องจากการพิจารณาว่าข้อความตามฟ้องเป็นความผิดหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของศาล โจทก์ไม่ค้านแต่ขออ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนแทนการสืบพยาน 4 ปากดังกล่าว คงเหลือพยานโจทก์ที่ต้องสืบ 3 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัด

    ด้านพริษฐ์และทนายจำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า เพจตามฟ้องไม่ใช่เพจของจำเลย จำเลยไม่ใช่ผู้โพสต์ และข้อความตามฟ้องไม่ได้เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ประสงค์สืบพยานบุคคลรวม 7 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัดครึ่ง

    นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1 พ.ค. 2567 สืบพยานจำเลยในวันที่ 2-3 พ.ค. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.530/2565 ลงวันที่ 8 ก.ค. 2565)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดนัดพิจารณาในคดีอื่นของศาลนี้ ซึ่งนัดไว้ก่อนแล้ว ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 18-20 ธ.ค. 2567

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์