สรุปความสำคัญ

ทอปัด อัฒอนันต์ ศิลปินนักวาดภาพอิสระวัย 27 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หลังตำรวจสันติบาลเข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้ IG รายหนึ่ง ที่โพสต์ภาพวาดของรัชกาลที่ 10 มีลักษณะบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง และนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชน ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ทอปัด อัฒอนันต์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

30 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 06.30 น. ตำรวจ ปอท. รวม 11 นาย นำโดย พ.ต.ท.ฉัตรชัย ถาวรทรัพย์ สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 1 บก.ปอท. เข้าจับกุม ทอปัด อัฒอนันต์ อายุ 27 ปี ศิลปินนักวาดภาพอิสระ ซึ่งวาดภาพเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตยเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ ตามหมายจับของศาลอาญาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ถึงที่บ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการ โดยทอปัดไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน

ก่อนนำตัวทอปัดไปทำบันทึกการจับกุมและดำเนินคดีที่ บก.ปอท. ตำรวจยังได้แสดงหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรปราการ และเข้าตรวจค้นบ้านพักและตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง ภาพวาดระบายสี 1 แผ่น และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง เป็นของกลาง โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้คัดถ่ายหมายค้นและหมายจับ

สำหรับข้อกล่าวหาในคดีนี้ พนักงานสอบสวนระบุว่า มี พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เป็นผู้กล่าวหาในคดี โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 ผู้กล่าวหาได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้อินสตาแกรม (IG) รายหนึ่ง ที่โพสต์ภาพวาดของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มีลักษณะบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564

ผู้กล่าวหาเห็นว่าการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจากการสืบสวนสอบสวน “น่าเชื่อว่า” บัญชีอินสตาแกรมดังกล่าวเป็นของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับ

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทอปัดว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ทอปัดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการสอบสวน ร.ต.ท.วิฑิตพงษ์ ราชู พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญาผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยไม่ได้คัดค้านการประกันตัว แต่ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล ต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหา

เวลา 15.36 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยมีประกันในวงเงิน 90,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำการใดในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน ให้ตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ขณะเดียวกัน ศาลยังกำหนดให้ผู้ต้องหามารายงานกับศาลในวันที่ 17 ส.ค. 2565 ด้วย และจากคำสั่งประกันตัวดังกล่าว ทำให้ผู้ต้องหาต้องไปดำเนินการหาบุคคลมาเป็นผู้กำกับดูแล และต้องนำหนังสือยินยอมการเป็นผู้กำกับดูแลมายื่นต่อศาลภายในวันที่ 1 ก.ค. 2565 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับดูแลต่อไป

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ประกันตัวในคดีมาจากกองทุนราษฎรประสงค์

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังจากการกลับมาบังคับใช้ข้อหามาตรา 112 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้อย่างน้อย 203 คน ใน 218 คดีแล้ว โดยเป็นกรณีการแสดงออกบนโลกออนไลน์ 111 คดี หรือเกินครึ่งหนึ่งของคดีเท่าที่ทราบข้อมูล

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/45468)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์