ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2366/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สว.กก.2 บก.ส.2 (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2366/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สว.กก.2 บก.ส.2

ความสำคัญของคดี

ทอปัด อัฒอนันต์ ศิลปินนักวาดภาพอิสระวัย 27 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หลังตำรวจสันติบาลเข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้ IG รายหนึ่ง ที่โพสต์ภาพวาดของรัชกาลที่ 10 มีลักษณะบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง และนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชน ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภัทรกร อุดมผล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 จําเลยได้ใช้บัญชีอินสตาแกรมโพสต์ภาพวาดรัชกาลที่ 10 และมีข้อความประกอบภาพว่า “Playboy #ยกเลิก112” อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดย จําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง โดยจําเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพและข้อความประกอบภาพดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2366/2565 ลงวันที่ 21 ก.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 06.30 น. ตำรวจ ปอท. รวม 11 นาย นำโดย พ.ต.ท.ฉัตรชัย ถาวรทรัพย์ สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 1 บก.ปอท. เข้าจับกุม ทอปัด อัฒอนันต์ อายุ 27 ปี ศิลปินนักวาดภาพอิสระ ซึ่งวาดภาพเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตยเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ ตามหมายจับของศาลอาญาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ถึงที่บ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการ โดยทอปัดไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน จากนั้นนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมและดำเนินคดีที่ บก.ปอท.

    บันทึกจับกุมโดยสรุปว่า ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม สืบสวนติดตามจับกุมบุคคลผู้มีหมายจับ เพื่อระดมกวาดล้างอาชญากรรม ในห้วงเดือนมิถุนายน 2565 ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับที่ขอปกปิดนามเพื่อความปลอดภัย ว่า พบบุคคลตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 26 เม.ย. 2565 ในบริเวณจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง ชุดจับกุมจึงได้ขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2565 ก่อนนำหมายจับและหมายค้นเดินทางไปยังบ้านที่ได้รับแจ้ง

    ในการตรวจค้น ตำรวจยังได้ทำการตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง ภาพวาดระบายสี 1 แผ่น และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง เป็นของกลาง โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้คัดถ่ายหมายค้นและหมายจับ

    สำหรับข้อกล่าวหาในคดีนี้ พนักงานสอบสวนระบุว่า มี พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เป็นผู้กล่าวหาในคดี โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 ผู้กล่าวหาได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้อินสตาแกรม (IG) รายหนึ่ง ที่โพสต์ภาพวาดของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มีลักษณะบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564

    ผู้กล่าวหาเห็นว่าการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจากการสืบสวนสอบสวน “น่าเชื่อว่า” บัญชีอินสตาแกรมดังกล่าวเป็นของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับ

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทอปัดว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ทอปัดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการสอบสวน ร.ต.ท.วิฑิตพงษ์ ราชู พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญาผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสอบพยานอีก 4 ปาก และรอผลตรวจพิสูจน์ของกลาง ผลตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการประกันตัว แต่ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล ต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหา

    เวลา 15.36 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยมีประกันในวงเงิน 90,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำการใดในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน ให้ตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

    ขณะเดียวกัน ศาลยังกำหนดให้ผู้ต้องหามารายงานกับศาลในวันที่ 17 ส.ค. 2565 ด้วย และจากคำสั่งประกันตัวดังกล่าว ทำให้ผู้ต้องหาต้องไปดำเนินการหาบุคคลมาเป็นผู้กำกับดูแล และต้องนำหนังสือยินยอมการเป็นผู้กำกับดูแลมายื่นต่อศาลภายในวันที่ 1 ก.ค. 2565 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้กำกับดูแลต่อไป

    ทั้งนี้ หลักทรัพย์ประกันตัวในคดีมาจากกองทุนราษฎรประสงค์

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังจากการกลับมาบังคับใช้ข้อหามาตรา 112 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้อย่างน้อย 203 คน ใน 218 คดีแล้ว โดยเป็นกรณีการแสดงออกบนโลกออนไลน์ 111 คดี หรือเกินครึ่งหนึ่งของคดีเท่าที่ทราบข้อมูล

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/45468)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นฟ้องทอปัดต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) กล่าวหาว่า จําเลยโพสต์ภาพวาดรัชกาลที่ 10 และข้อความประกอบว่า “Playboy #ยกเลิก112” ลงในอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564

    ท้ายคำฟ้อง อัยการคัดค้านการให้ประกัน อ้างเหตุว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และนอกจากขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว อัยการยังขอให้ริบของกลางทั้ง 3 อย่างที่ตำรวจ ปอท. ยึดจากบ้านพักในวันจับกุม

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2366/2565 ลงวันที่ 21 ก.ย. 2565)
  • ทอปัดเดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลอาญาตามนัดเป็นครั้งที่ 4 และได้รับแจ้งว่าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วในกำหนดฝากขัง ทอปัดยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามฟ้องของโจทก์ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ต.ค. 2565 เวลา 13.30 น.
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดว่าความในศาลอื่น ศาลให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 16 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
  • กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1, 15 ธ.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 31 ม.ค. 2567
  • อานนท์ นำภา ทนายจำเลย ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้เบิกตัวอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาทำหน้าที่ทนายจำเลยในนัดสืบพยานคดีนี้ในวันที่ 1, 15 ธ.ค. 2566 และ 31 ม.ค. 2567 หลังเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องต่อคำร้องที่อานนท์ยื่นขอให้เบิกตัวมาทำหน้าที่ทนายความของจำเลยในนัดสืบพยานดังกล่าว

    ทั้งนี้ อานนท์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ให้จำคุก 4 ปี และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ แม้จะยื่นประกันแล้ว 3 ครั้ง รวมถึงศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันหลังทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน

    คำร้องคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้เบิกตัวทนายอานนท์มาในคดีของทอปัดมีเนื้อหาดังนี้

    คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวทนายจำเลย ซึ่งถูกขังโดยอำนาจของศาลนี้มาปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ศาลมีคำสั่งยกคำร้องและไม่เบิกตัวทนายความจำเลยมาปฏิบัติหน้าที่โดยให้เหตุผลว่า ทนายความจำเลยถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีอาญา (คดีมาตรา 112) มีโทษจำคุก 4 ปี จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายได้

    ทนายจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

    1. ทนายความจำเลยยังมีศักดิ์และมีสิทธิ์ในวิชาชีพทนายความอย่างสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.ทนายความ เพราะคดีการเมืองที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญย่อมถือว่าทนายความจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งการสิ้นสุดลงของการเป็นทนายความย่อมเป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยทนายความ ซึ่งทนายความจำเลยยังมีชื่อเป็นทนายความ ไม่ได้ถูกเพิกถอนการเป็นทนายความแต่อย่างใด ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางไม่ให้ทนายความได้ปฏิบัติหน้าที่ในคดีได้

    2. การที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ทนายความจำเลยมาศาลเพื่อทำหน้าที่ ทั้งที่ทนายความจำเลยถูกขังโดยอำนาจศาล ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ในการสืบพยานโจทก์จะไม่มีทนายความที่จำเลยไว้วางใจและแต่งตั้งมาทำหน้าที่ กระบวนการพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงและเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ย่อมไม่อาจดำเนินไปด้วยความยุติธรรมได้

    ทั้งนี้ กระบวนพิจารณาคดีมาตรา 112 ได้ถูกจับตาโดยประชาคมโลกมาโดยตลอด รวมทั้งเนติบัณฑิตแห่งสหภาพยุโรปได้เคยทำหนังสือแสดงความกังวลในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความจำเลย ซึ่งถูกละเมิดจากการแสดงออกอย่างสันติทางการเมืองจนกระทบต่อการทำหน้าที่ ซึ่งหนังสือดังกล่าวถูกส่งไปยังสภาทนายและถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โดยตรง

    การออกคำสั่งของศาลในคดีนี้ยังตอกย้ำถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีมาตรา 112 อย่างชัดเจนว่า มีความไม่ปกติ และอาจเกิดความไม่ยุติธรรมในการพิจารณาคดี

    3. หากศาลเห็นว่า การแต่งกายในชุดนักโทษไม่เหมาะสมที่จะสวมครุยเนติบัณฑิตว่าความในห้องพิจารณา เหมือนในการพิจารณาคดีของศาลนี้ในหลายคดี หากศาลมีคำสั่งห้ามสวมชุดครุย ทนายความจำเลยก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งแม้จะไม่เห็นด้วย

    การที่ทนายความจำเลยไม่อาจแต่งกายด้วยชุดสุภาพแบบสากลนิยม แต่ต้องสวมชุดนักโทษ ก็เพราะศาลนี้และศาลอุทธรณ์ ตลอดจนศาลฎีกา ไม่ได้มีคำสั่งให้ประกันทนายความจำเลย ไม่ใช่เรื่องที่ทนายความแต่งกายไม่ถูกระเบียบเอง ทั้งการไม่อาจสวมครุยก็ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ ถึงขนาดจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะหากทนายความปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความยุติธรรม แม้อยู่ในชุดนักโทษก็สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้ แต่หากทำหน้าที่ไปด้วยอคติหรือมิจฉาทิฏฐิ แม้จะสวมชุดครุยที่ทอด้วยไหมก็คงไม่มีค่าอันใด

    (อ้างอิง: คำร้องคัดค้านการไม่เบิกตัวทนายจำเลยมาร่วมสืบพยาน ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2366/2565 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/61924)
  • ทอปัดเดินไปศาลตามนัดสืบพยาน ศาลออกนั่งพิจารณาและกล่าวถึงคําร้องคัดค้านการไม่เบิกตัวทนายจําเลยมาร่วมกระบวนพิจารณาสืบพยาน ที่อานนท์ยื่นเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ทำให้วันนี้จําเลยยังไม่มีทนายความ ทอปัดแถลงว่า ยังประสงค์จะขอใช้ทนายอานนท์ นําภา เป็นทนายความ

    ศาลจึงให้จำเลยื่นคำร้องอุทธรณ์คําสั่งศาลที่ไม่เบิกตัวอานนท์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่ง และให้รอฟังคําสั่งศาลอุทธรณ์ก่อน โดยยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยที่นัดไว้เดิมทุกนัด

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2366/2565 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2566)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ทอปัด อัฒอนันต์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ทอปัด อัฒอนันต์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์