สรุปความสำคัญ

เวหา แสนชนชนะศึก ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังถูก กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิก ศปปส. เข้าแจ้งความกล่าวโทษ กรณีเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวหาได้โพสต์ข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอาญาในคดีของ “นรินทร์” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์ กูKult ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เวหา แสนชนชนะศึก
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

11 ก.ค. 2565 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.) เวหา แสนชนชนะศึก พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียกที่มี กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา สืบเนื่องจากการโพสต์ข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอาญาในคดีของ “นรินทร์” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์ กูKult ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565

พ.ต.ต.คมสัน ทุติยานนท์ และ ร.ต.ท.เมธา ช่วยบำรุง พนักงานสอบสวน กก.1 บก. ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์คดีมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวหาได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์ข้อความเกี่ยวกับคำพิพากษาจำคุก “นรินทร์” ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์คำว่า “กูkult” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า ตนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์น้อมรับคำพิพากษาของศาล และจะปกป้องไม่ให้ใครผู้ใดมากระทำการอันมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้รูปที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะมิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถเอาสติกเกอร์ไปแปะให้ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก

พร้อมกับโพสต์ภาพผู้ชายสวมเสื้อแขนยาวสีแดง กางเกงขายาวสีดำ ยืนอยู่บนแท่นเฉลิมพระเกียรติ ทรงพระเจริญ มีกรอบรูปที่ไม่ปรากฏรูปภาพอยู่ด้านหลัง

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

เวหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน ก่อนพนักงานสอบสวนจะให้ไปปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

เวหาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 3 ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 หลังถูกคุมขังรวม 99 วัน โดยการถูกคุมขังในคดีแรกเนื่องจากศาลเพิกถอนประกันจากเหตุที่เวหาโพสต์เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ซึ่งเป็นเหตุเดียวกันกับที่ถูกดำเนินคดีคดีที่ 3 นี้

ทั้งนี้ เท่าที่ทราบข้อมูลพบว่า กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล เข้าแจ้งความกล่าวหาคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 4 แล้ว

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/45955)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์