ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.848/2566
แดง อ.3839/2566

ผู้กล่าวหา
  • กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิก ศปปส. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.848/2566
แดง อ.3839/2566
ผู้กล่าวหา
  • กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิก ศปปส.

ความสำคัญของคดี

เวหา แสนชนชนะศึก ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังถูก กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิก ศปปส. เข้าแจ้งความกล่าวโทษ กรณีเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวหาได้โพสต์ข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอาญาในคดีของ “นรินทร์” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์ กูKult ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ณัฐนภา ดวงพรม พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวลากลางวัน จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งค่าเป็นสาธารณะมีใจความว่า ตนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์น้อมรับคำพิพากษาของศาล และจะปกป้องไม่ให้ใครผู้ใดมากระทำการอันมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้รูปที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะมิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถเอาสติกเกอร์ไปแปะให้ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก

พร้อมกับโพสต์ภาพผู้ชายสวมเสื้อแขนยาวสีแดง กางเกงขายาวสีดำ ยืนอยู่บนแท่นเฉลิมพระเกียรติ ทรงพระเจริญ มีกรอบรูปที่ไม่ปรากฏรูปภาพอยู่ด้านหลัง อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.848/2566 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.) เวหา แสนชนชนะศึก พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียกที่มี กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล สมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา สืบเนื่องจากการโพสต์ข้อความและรูปภาพเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอาญาในคดีของ “นรินทร์” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์ กูKult ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565

    พ.ต.ต.คมสัน ทุติยานนท์ และ ร.ต.ท.เมธา ช่วยบำรุง พนักงานสอบสวน กก.1 บก. ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์คดีมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวหาได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์ข้อความเกี่ยวกับคำพิพากษาจำคุก “นรินทร์” ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์คำว่า “กูkult” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า ตนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์น้อมรับคำพิพากษาของศาล และจะปกป้องไม่ให้ใครผู้ใดมากระทำการอันมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้รูปที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะมิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถเอาสติกเกอร์ไปแปะให้ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก

    พร้อมกับโพสต์ภาพผู้ชายสวมเสื้อแขนยาวสีแดง กางเกงขายาวสีดำ ยืนอยู่บนแท่นเฉลิมพระเกียรติ ทรงพระเจริญ มีกรอบรูปที่ไม่ปรากฏรูปภาพอยู่ด้านหลัง

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    เวหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน ก่อนพนักงานสอบสวนจะให้ไปปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

    เวหาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 3 ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 หลังถูกคุมขังรวม 99 วัน โดยการถูกคุมขังในคดีแรกเนื่องจากศาลเพิกถอนประกันจากเหตุที่เวหาโพสต์เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ซึ่งเป็นเหตุเดียวกันกับที่ถูกดำเนินคดีคดีที่ 3 นี้

    ทั้งนี้ เท่าที่ทราบข้อมูลพบว่า กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล เข้าแจ้งความกล่าวหาคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 4 แล้ว

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/45955)
  • เวหาเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ก่อนพนักงานสอบสวนนำตัวเวหาพร้อมสำนวนการสอบสวนไปส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 อัยการนัดมาฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 27 มี.ค. 2566
  • เวลา 10.00 น. เวหาเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และนำตัวเวหาไปยื่นฟ้องที่ศาลอาญา

    พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายคำฟ้องโดยกล่าวหาว่า การที่เวหาใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์ข้อความเกี่ยวกับคำพิพากษาจำคุก “นรินทร์” ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์คำว่า “กูkult” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในลักษณะว่า น้อมรับคำพิพากษาและจะปกป้องพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้ไม่มีปรากฏในที่สาธารณะอีกต่อไป ประกอบภาพผู้ชายยืนบนแท่นทรงพระเจริญ มีกรอบรูปที่ไม่ปรากฏรูปภาพอยู่ด้านหลังนั้น เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล และขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อกับโทษจำคุกของจำเลยในคดีตามมาตรา 112 อีก 2 คดีด้วย

    ต่อมาทนายความได้ยื่นประกันตัวเวหา และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดจำนวน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้กระทำการใดอันมีลักษณะตามที่ถูกฟ้องอีก และกำหนดนัดวันตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 29 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.848/2566 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54800)
  • เวหาไม่ได้มาศาลเนื่องจากถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกในคดีมาตรา 112 อีกคดี โดยไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และศาลไม่ได้เบิกตัวมาในวันนี้ ศาลจึงให้เลื่อนนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 12 มิ.ย. 2566

  • เวหาถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง เวหาให้การปฏิเสธ

    โจทก์มีพยานจะนำเข้าสืบ 7 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด ทนายจำเลยมีพยานที่จะสืบ 2 ปาก ใช้เวลาครึ่งนัด นัดสืบพยานในวันที่ 19-21 ธ.ค. 2566
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวเวหา ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล ก่อนที่จะเริ่มต้นการสืบพยาน เวหาได้ตัดสินใจขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

    ศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาในวันเดียวกันนี้ทันที โดยพิพากษาจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกใน 2 คดี ที่ศาลนี้มีคำพิพากษาไปแล้วก่อนหน้านี้

    ทำให้เวหาถูกพิพากษาจำคุกใน 3 คดี รวม 6 ปี 36 เดือน (หรือประมาณ 9 ปี)

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62439)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เวหา แสนชนชนะศึก

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เวหา แสนชนชนะศึก

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 19-12-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์