ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.306/2567

ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิก ศปปส. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.306/2567
ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิก ศปปส.

ความสำคัญของคดี

“ตั้ม” จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักวาดการ์ตูน วัย 45 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ (3) โดยถูก ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ร้องทุกข์กล่าวโทษที่ บก.ปอท. กล่าวหาว่า เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “คนกลมคนเหลี่ยม” เพจการ์ตูนล้อเลียนและเสียดสีการเมือง วาดภาพเสียดสีใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 รวม 2 โพสต์ และใส่ร้ายรัชกาลที่ 9 อีก 2 โพสต์ ในช่วงเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2565

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภรัน สุกกสังค์ พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุประบุว่า

จำเลยเป็นผู้ใช้งานเพจเฟซบุ๊กชื่อ “คนกลมคนเหลี่ยม” ได้โพสต์ข้อความและภาพตามลำดับเวลาในแต่ละโพสต์จนถึงวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ที่มีผู้แจ้งข้อกล่าวหาไว้ โดยข้อความและภาพการ์ตูนที่ปรากฏนั้นทำนองพาดพิงถึงกษัตริย์ ซึ่งมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นจำนวนทั้งหมด 4 โพสต์

1. โพสต์เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 เป็นภาพการ์ตูนคล้ายอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแคนดิเดตนายกฯ แพรทองธาร ชินวัตร และมีข้อความ "ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ธุรกิจครอบครัว” และภาพคล้ายพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-10 ซึ่งอัยการเห็นว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเปรียบเทียบการสืบราชบัลลังค์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลกับการสืบตำแหน่งนายกฯ อันเป็นข้อมูลเท็จและเป็นการกล่าวหา ใส่ความ โดยมีเจตนาทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

2. โพสต์เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 เป็นภาพการ์ตูนคล้ายรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 สนทนากัน และอีกช่องเป็นภาพคล้ายรัชกาลที่ 9 เล็งปืนยิงออกไป ซึ่งอัยการเห็นว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่า รัชกาลที่ 9 เป็นผู้ลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 อันเป็นข้อมูลเท็จและเป็นการกล่าวหา ใส่ความ โดยมีเจตนาทำให้รัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติ และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธา

3. โพสต์เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นภาพการ์ตูนคล้ายรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 สนทนากัน ซึ่งอัยการเห็นว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่า รัชกาลที่ 9 เป็นผู้ลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 อันเป็นข้อมูลเท็จและเป็นการกล่าวหา ใส่ความ โดยมีเจตนาทำให้รัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติ และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธา

4. โพสต์เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 เป็นภาพการ์ตูนคล้ายรัชกาลที่ 10 ซึ่งอัยการเห็นว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 สนพระทัยแต่จะเสด็จไปต่างประเทศ ไม่ให้ความสำคัญในพระราชกรณียกิจ อันเป็นข้อมูลเท็จและเป็นการกล่าวหา ใส่ความ โดยมีเจตนาทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.306/2567 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2567)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประมาณ 10 นาย เดินทางไปยังที่พักอาศัยของ “ตั้ม” จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักวาดการ์ตูน วัย 45 ปี เพื่อตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และแท็บเล็ต 1 เครื่อง พร้อมทั้งเอกสารสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคาร และกระดาษโน้ตสรุปเวลาอ่านหนังสือ

    หลังจากตำรวจตรวจยึดสิ่งของแล้ว ตำรวจยังได้ควบคุมตัวตั้มไป บก.ปอท. โดยอ้างว่าเป็นการเชิญตัวไปเพื่อพูดคุยและเจรจา โดยไม่มีหมายจับแต่อย่างใด เมื่อไปถึง บก.ปอท. ตำรวจให้ตั้มถ่ายภาพคู่อุปกรณ์ไอแพดและมือถือที่ตำรวจยึดมาจากบ้าน พร้อมทั้งให้เจ้าตัวเซ็นเอกสารยืนยันสิ่งของเหล่านั้น ก่อนกลับออกจาก บก.ปอท. ตำรวจได้คืนซิมโทรศัพท์ให้

    จากนั้น ตำรวจพาตั้มกลับถึงบ้าน เวลาประมาณ 16.30 น. และมีการยื่นหมายเรียกในคดีนี้ให้ที่หน้าบ้าน พร้อมกับถ่ายรูปขณะที่เซ็นรับอีกด้วย โดยวันนั้นตั้มถูกคุมตัวอยู่ที่ ปอท. ราว 5-6 ชั่วโมง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/46142)
  • เวลา 10.00 น. ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตั้มพร้อมทนายความ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “คนกลมคนเหลี่ยม” เพจการ์ตูนล้อเลียนและเสียดสีการเมือง และถูกกล่าวหาว่าวาดภาพเสียดสีสถาบันกษัตริย์และการเมือง จำนวน 4 โพสต์

    คดีนี้ ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 เพื่อดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊กชื่อ “คนกลมเหลี่ยม” จากการโพสต์ข้อความและรูปภาพที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 4 โพสต์ ในจำนวนนี้เข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวน 2 โพสต์

    ร.ต.อ.หญิงณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ มีรายละเอียดโดยสรุปว่า หลังได้รับการร้องทุกข์จากระพีพงษ์ให้ดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนจนเชื่อว่าเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวมีตั้มเป็นผู้ดูแล (Admin) โดยพบว่าบัญชีดังกล่าวเปิดมาตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2562 และได้ทำการโพสต์ข้อความและภาพตามที่ถูกกล่าวหา จำนวน 4 โพสต์ ดังนี้

    1. การ์ตูนล้อคล้ายว่าเป็น ‘ธุรกิจครอบครัว’ เหมือนตระกูลชินวัตร

    เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.18 น. ได้โพสต์ข้อความว่า “ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนเพจด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 2 ช่อง ลักษณะแนวตั้ง จำนวน 1 ภาพ

    ในช่องแรกเป็นตัวการ์ตูน 5 ตัว ตัวแรก (จากซ้ายมือ) มีใบหน้าคล้ายทักษิณ ชินวัตร, “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการ์ตูนผู้หญิง 2 คนสวมใส่เสื้อเหลือง มีกล่องข้อความลักษณะเป็นคำพูดมีข้อความว่า “555 ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ธุรกิจครอบครัว”

    ช่องที่ 2 เป็นภาพตัวการ์ตูนคล้ายพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-10 และตัวการ์ตูนเพศหญิง 2 คนทำท่าทางหมอบกราบอยู่ด้านข้าง

    ผู้กล่าวหาเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการพูดและแสดงท่าทางเยาะเย้ยว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-10 เป็นธุรกิจครอบครัวส่งต่อกันเป็นทอดๆ เป็นการเปรียบเทียบและสื่อถึงการเมืองว่าคล้ายครอบครัวชินวัตร

    ผู้กล่าวหาระบุว่า ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นการสืบราชสันตติวงศ์ (สืบราชสมบัติ) ที่ถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้เข้าใจได้ว่าการสืบราชสมบัติเป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกันมาเป็นรุ่นสู่รุ่นเพื่อหาประโยชน์ของประเทศชาติให้แก่พวกพ้องของตนเอง เป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าการสืบราชสมบัติเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของคนในครอบครัว โดยมุ่งหวังกำไรจากประเทศชาติและประชาชน เป็นการดูหมิ่นพระเกียรติและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติและถูกดูหมิ่น เจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ

    2. การ์ตูนล้อคล้าย ร.9 ถก ร.8

    เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 เวลา 09.48 น. โพสต์ข้อความว่า “ไม่มีใครร้ายเท่าน้องเล็ก ตัวการ์ตูนเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อแสดงความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปภาพวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 3 ช่อง จำนวน 1 ภาพ

    ในช่องแรก เป็นตัวการ์ตูนมีใบหน้าคล้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ช่องที่ 2 เป็นตัวการ์ตูนมีใบหน้าคล้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

    และช่องที่ 3 เป็นตัวการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 9 สวมเสื้อขาว ท่าทางยิงอาวุธปืน

    ผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการบิดเบือนความจริง

    3. การ์ตูนล้อคล้ายสื่อ ร.9 ในกรณีสวรรคต ร.8

    เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 เวลา 14.37 น. โพสต์ข้อความว่า “เล็กยิ่งพี่ทำมายยยยย ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อแสดงความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 5 ช่อง จำนวน 1 ภาพ

    ผู้กล่าวหาเห็นว่า ผู้โพสต์ต้องการสื่อถึงการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 8 สนทนากับการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการสร้างข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ถูกต้อง เพื่อให้บุคคลที่พบเห็นเข้าใจว่าเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 เกิดจากรัชกาลที่ 9

    รวมทั้งในภาพช่องสุดท้ายมีการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้าย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่มักจะพูดถึงหรือกล่าวอ้างเรื่องราวเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งการโพสต์ดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นพระเกียรติของรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการบิดเบือนความจริง

    4. การ์ตูนล้อคล้ายเสียดสี ร.10

    เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 เวลา 07.08 น. โพสต์ข้อความว่า “เฝ้าไปนร้าาา ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนเพจด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 4 ช่อง จำนวน 1 ภาพ

    ผู้กล่าวหาเห็นว่าผู้โพสต์ต้องการสื่อให้บุคคลที่พบเห็นเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่มีความห่วงใยประชาชน ไม่มีความสนใจในกิจการบ้านเมืองใดๆ แต่กลับเที่ยวเล่น ณ ต่างประเทศเป็นการเสียดสี ต้องการด้อยค่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติสักการะ

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาต่างกันไปในแต่ละโพสต์

    โพสต์ที่ 1 และ 4 ถูกแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ส่วนโพสต์ที่ 2 และ 3 ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”

    หลังรับทราบข้อกล่าวหา ตั้มให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน อีกทั้งไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาอีกด้วย

    คดีนี้ถือเป็นคดีจากการแสดงออกและแสดงความเห็นทางการเมืองคดีที่ 2 ของตั้ม โดยเมื่อปี 2559 เขาเคยถูกดำเนินคดีจากกรณีร่วมในเหตุการณ์ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ที่หน่วยออกเสียงประชามติเขตบางนา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาจำคุกเขาและจำเลยอีก 2 รายในคดีนี้ คนละ 6 เดือน พร้อมทั้งปรับคนละ 6,000 บาท แต่ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 4 เดือนปรับ 4,000 บาท เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 18 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46142)
  • ตั้มพร้อมทนายความเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งและนัดหมาย

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตั้มเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ในส่วนของโพสต์ที่ 1 และ 4 โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาอีกครั้ง ดังนี้

    โพสต์ที่ 1 และ 4 เป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง”

    ส่วนโพสต์ที่ 2 และ 3 เป็นความผิดฐาน “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

    โดยตั้มยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม และจะยื่นคำให้การเป็นเอกสารเพิ่มเติมในวันที่ 18 ส.ค. 2565

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา (เพิ่มเติม) กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 2 ส.ค. 2565)
  • ตั้มเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท. ตามหมายเรียกผู้ต้องหา ก่อนพนักงานสอบสวนส่งตัวตั้มพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 หลังอัยการรับสำนวนคดีแล้ว ได้นัดตั้มมาฟังคำสั่งในวันที่ 21 มี.ค. 2566
  • เวลา 10.00 น. ที่ บก.ปอท. ตั้มพร้อมทนายความเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามหมายเรียก

    พ.ต.ต.หญิงณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ รองสารวัตรสอบสวน กองกำกับการ 3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์คดีซึ่งกล่าวหาว่า ตั้ม เป็นผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “คนกลมคนเหลี่ยม” และโพสต์ข้อความพร้อมภาพการ์ตูนทำนองพาดพิงถึงกษัตริย์ จำนวนทั้งหมด 4 โพสต์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค., 27 พ.ค., 9 มิ.ย. และ 31 พ.ค. 2565

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาในแต่ละโพสต์ใหม่ว่า ทั้ง 4 โพสต์ เป็นการ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์, โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)(3)

    ตั้มได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวตั้มไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา (เพิ่มเติม) กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 8 ม.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/62930)
  • เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องตั้ม ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)(3)

    พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 บรรยายฟ้องโดยสรุประบุว่า จำเลยเป็นผู้ใช้งานเพจเฟซบุ๊กชื่อ “คนกลมคนเหลี่ยม” ได้โพสต์ข้อความและภาพตามลำดับเวลาในแต่ละโพสต์จนถึงวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ที่มีผู้แจ้งข้อกล่าวหาไว้ โดยข้อความและภาพการ์ตูนที่ปรากฏนั้นทำนองพาดพิงถึงกษัตริย์ รวม 4 โพสต์

    อัยการระบุว่า โพสต์ทั้งสี่ข้อมูลเท็จและเป็นการกล่าวหา ใส่ความ โดย 2 โพสต์ มีเจตนาทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ และอีก 2 โพสต์ มีเจตนาทำให้รัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติ

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    หลังรับทราบฟ้องของพนักงานอัยการแล้ว ตั้มได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีทนายความและนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ยื่นขอประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี เสนอวงเงินประกันจำนวน 90,000 บาท

    ต่อมา เวลา 17.45 น. ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราว แต่ให้เพิ่มหลักทรัพย์ประกัน รวมเป็นจำนวน 200,000 บาท ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันใด ๆ และนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 1 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.306/2567 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/64390)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ตั้ม (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ตั้ม (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์