สรุปความสำคัญ

“สายชล” (นามสมมติ) ผู้ช่วยแพทย์ในคลินิกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถูกดำเนินคดีที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) หลังชุมพล ศรีวิชัยปัก ประชาชนทั่วไปเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้ TikTok ซึ่งโพสต์ลิปซิงค์เพลง “พระราชาในนิทาน” เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 โดยระบุว่า คลิปดังกล่าวมีถ้อยคําหยาบคายด่ารัชกาลที่ 10 อันเป็นการดูหมิ่น และเป็นการใช้ถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมต่อพระมหากษัตริย์

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สายชล (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 ธ.ค. 2564 “สายชล” (นามสมมติ) ผู้ช่วยแพทย์ในคลินิกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร ตามที่ ร.ต.อ.ปรัชญา ทาบ้านฆ้อง พนักงานสอบสวน ออกหมายเรียกผู้ต้องหา ซึ่งระบุชื่อ ชุมพล ศรีวิชัยปัก ประชาชนทั่วไปเป็นผู้กล่าวหา

ร.ต.อ.ปรัชญา ได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาให้สายชลทราบโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม มีเพียงมารดาร่วมฟังในฐานะผู้ไว้วางใจเท่านั้น รายละเอียดว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ขณะชุมพล ศรีวิชัยปัก ใช้แอพพลิเคชั่นติ๊กต่อก (TikTok) ได้พบผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพเคลื่อนไหวของตนเองร้องเพลงลิปซิงค์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยมีถ้อยคําหยาบคายด่ารัชกาลที่ 10 อันเป็นการดูหมิ่น และเป็นการใช้ถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมต่อพระมหากษัตริย์ ชุมพลจึงเข้าร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้ TikTok รายดังกล่าว

จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่าผู้ใช้ TikTok รายดังกล่าวคือ สายชล พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยสายชลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ เพลงที่มีการร้องลิปซิงค์ใน TikTok ที่พนักงานสอบสวนกล่าวถึงคือเพลง “พระราชาในนิทาน” ที่เป็นกระแสนิยมเล่นกันในช่วงเดือน ส.ค. 2564

7 ต.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกสายชลอีกครั้ง หลังส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการแล้ว อัยการได้มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนลงวันที่ 16 ก.ย. 2565 ให้แจ้งข้อกล่าวหาสายชลเพิ่มเติม

ร.ต.อ.ปรัชญา จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา โดยสายชลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในจังหวัดกำแพงเพชร อย่างน้อย 5 ราย ใน 5 คดี ทุกคดีมีบุคคลทั่วไปเป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร และ สภ.ขาณุวรลักษบุรี ผู้ถูกกล่าวหา 4 จาก 5 ราย ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด จึงมีภาระต้องเดินทางไปต่อสู้คดีซึ่งดำเนินมากว่า 1 ปีแล้ว

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองกำแพงเพชร ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2564 และ 7 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/55979)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์