สรุปความสำคัญ

“เบลล์” เยาวชนอายุ 18 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกับนักกิจกรรมตระเวนถ่ายภาพบริเวณต่าง ๆ ในจังหวัดพัทลุง นำไปใส่ข้อความประกอบ และโพสต์ในเพจ “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อเดือน พ.ย. 2563 จำนวนหลายภาพ ซึ่งในช่วงเกิดเหตุเบลล์อายุ 17 ปี

เหตุดังกล่าวยังมี 3 นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎรใต้” ได้แก่ ศุภกร ขุนชิต, อลิสา บินดุส๊ะ และชมพูนุท (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมดำเนินดคีในข้อกล่าวหาเดียวกันอีกด้วย

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมให้การกระทำหลายอย่างเป็นความผิดเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย และใช้เป็นเครืองมือปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เบลล์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 ก.ค. 2565 เวลา 09.30 น. ที่ สภ.เมืองพัทลุง “เบลล์” เยาวชนอายุ 18 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์รูปภาพถ่ายจุดต่าง ๆ ในพัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองประกอบ เมื่อปี 2563

ก่อนหน้านี้ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง ได้ร้องขอศาลออกหมายจับนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักกฎหมายอาสาจาก Law Long Beach รวมจำนวน 3 ราย ไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน และอัยการยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดพัทลุงไปแล้ว

ในส่วนของเบลล์ได้รับหมายเรียกจาก สภ.เมืองพัทลุง เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ระบุว่ามี ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว เป็นผู้กล่าวหา และให้เขาไปรับทราบข้อหาในวันที่ 12 ก.ค. 2565 แต่เนื่องจากกระชั้นชิด เขาจึงได้ขอเลื่อน โดยขณะเกิดเหตุนั้น เบลล์ยังมีอายุ 17 ปี ทำให้เขานับเป็นเยาวชนอีกรายหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 112

ร.ต.อ.ภูนท เรืองยิ่ง รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองพัทลุง แจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่า เมื่อคืนวันที่ 24 ส.ค. 2563 ได้มีกลุ่มบุคคลขับขี่รถยนต์เพื่อถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอศรีนครินทร์ นำมาใส่ข้อความในภาพ

จากนั้น ในวันที่ 25 พ.ย. 2563 ได้มีการนำรูปภาพประกอบข้อความต่าง ๆ ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ และในวันที่ 28 พ.ย. 2563 โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” รวมทั้งหมด 15 ภาพ ซึ่งตำรวจกล่าวหาว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว

เจ้าหน้าที่อ้างว่าภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นและใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ทำให้พระองค์ท่านเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ทั้งนี้ เบลล์ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมที่ปรึกษาทางกฎหมายและผู้ปกครอง โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวเบลล์ไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจังหวัดพัทลุง เพื่อตรวจสอบการมอบตัวและยื่นคำร้องขอให้ศาลควบคุมตัว โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 5,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ จังหวัดพัทลุง จำนวน 7 ครั้ง จนกว่าจะครบฟ้องในวันที่ 20 ต.ค. 2565

เบลล์นับเป็นเยาวชนรายที่ 17 แล้ว ที่ถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองพัทลุง ลงวันที่ 22 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46490)

ภูมิหลัง

  • เบลล์ (นามสมมติ)
    เริ่มติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อเห็นนักเรียน-นักศึกษาออกมาชุมนุมในหลายจังหวัดช่วงต้นปี 2563 โดยติดตามดูข่าวและศึกษาหาข้อมูล ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมและชุมนุมกับ ‘กลุ่มพัทลุงปลดแอก’

    อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/57260

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • เบลล์ (นามสมมติ)
    ต้องดร็อปเรียนไป 1 เทอม ครอบครัวก็เสียโอกาสในการหารายได้ เพราะต้องหยุดงานไปศาลกับเบลล์ในฐานะผู้ปกครอง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์