ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
ดำ ยชอ.57/2565
แดง ยชอ.51/2566

ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ ยชอ.57/2565
แดง ยชอ.51/2566
ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว

ความสำคัญของคดี

“เบลล์” เยาวชนอายุ 18 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกับนักกิจกรรมตระเวนถ่ายภาพบริเวณต่าง ๆ ในจังหวัดพัทลุง นำไปใส่ข้อความประกอบ และโพสต์ในเพจ “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อเดือน พ.ย. 2563 จำนวนหลายภาพ ซึ่งในช่วงเกิดเหตุเบลล์อายุ 17 ปี

เหตุดังกล่าวยังมี 3 นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎรใต้” ได้แก่ ศุภกร ขุนชิต, อลิสา บินดุส๊ะ และชมพูนุท (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมดำเนินดคีในข้อกล่าวหาเดียวกันอีกด้วย

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมให้การกระทำหลายอย่างเป็นความผิดเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย และใช้เป็นเครืองมือปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สาธร พูลสวัสดิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิดรวม 2 กรรม กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 เวลากลางคืน จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ อนุสรณ์สถาน พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความที่จัดทำขึ้น แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ โดยมีข้อความที่ประกอบภาพสถานที่ต่างๆ ได้แก่ “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล ไปด้วยความรักความสามัคคี”, “EAT THE RICH”, “คิดถึงยอด SCB ใจจะขาด” และ “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ”

2. เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 เวลากลางคืน จนถึงวันที่ 28 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้นำภาพสถานที่ต่างๆ ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง ไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความ โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 15 ภาพ โดยมีข้อความที่ประกอบภาพสถานที่ต่างๆ ได้แก่ “เลียตีนให้ตายยศมึงก็ไม่เท่า ฟู ฟู #สุนัขทรงเลี้ยงด้วยภาษีประชาชน” “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ” “1 2 3 4 5 ไอ้เหี้ย…” “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “#ภาษีกู #ภาษีกู #ภาษีกู”, “ก็เสียภาษีเหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีรถไฟฟ้า ให้ดูที่บ้านเราบ้าง“, ภาพสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว, “จะปรับตัวทั้งที ช่วยมีสมองหน่อยน้า”, “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”, “3,008 ศพ ถีบลงเขา เผาลงถัง”, “#เราต้องช่วยกันเอาความจริงกันออกมา”, “King Killer”, “เราคือคนไทย เพราะเราถูกล่า อาณานิคม”, “ประชาชน=เจ้าของประเทศ” และ “30 นี้เจอกันแบบเบิ้มๆ ที่หอนาฬิกาหาดใหญ่”

ภาพและข้อความดังกล่าวมีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ แสดงความอาฆาตมาดร้าย และทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

การโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวมิได้กระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งมีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินได้ อีกทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.57/2565 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 09.30 น. ที่ สภ.เมืองพัทลุง “เบลล์” เยาวชนอายุ 18 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์รูปภาพถ่ายจุดต่าง ๆ ในพัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองประกอบ เมื่อปี 2563

    ก่อนหน้านี้ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง ได้ร้องขอศาลออกหมายจับนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักกฎหมายอาสาจาก Law Long Beach รวมจำนวน 3 ราย ไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน และอัยการยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดพัทลุงไปแล้ว

    ในส่วนของเบลล์ได้รับหมายเรียกจาก สภ.เมืองพัทลุง เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ระบุว่ามี ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว เป็นผู้กล่าวหา และให้เขาไปรับทราบข้อหาในวันที่ 12 ก.ค. 2565 แต่เนื่องจากกระชั้นชิด เขาจึงได้ขอเลื่อน โดยขณะเกิดเหตุนั้น เบลล์ยังมีอายุ 17 ปี ทำให้เขานับเป็นเยาวชนอีกรายหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 112

    ร.ต.อ.ภูนท เรืองยิ่ง รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองพัทลุง แจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่า เมื่อคืนวันที่ 24 ส.ค. 2563 ได้มีกลุ่มบุคคลขับขี่รถยนต์เพื่อถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอศรีนครินทร์ นำมาใส่ข้อความในภาพ

    จากนั้น ในวันที่ 25 พ.ย. 2563 ได้มีการนำรูปภาพประกอบข้อความต่าง ๆ ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ และในวันที่ 28 พ.ย. 2563 โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” รวมทั้งหมด 15 ภาพ ซึ่งตำรวจกล่าวหาว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว

    เจ้าหน้าที่อ้างว่าภาพและข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นและใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ทำให้พระองค์ท่านเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

    ทั้งนี้ เบลล์ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมที่ปรึกษาทางกฎหมายและผู้ปกครอง โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวเบลล์ไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจังหวัดพัทลุง เพื่อตรวจสอบการมอบตัวและยื่นคำร้องขอให้ศาลควบคุมตัว โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 5,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ จังหวัดพัทลุง จำนวน 7 ครั้ง จนกว่าจะครบฟ้องในวันที่ 20 ต.ค. 2565

    เบลล์นับเป็นเยาวชนรายที่ 17 แล้ว ที่ถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองพัทลุง ลงวันที่ 22 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46490)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเบลล์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116(2)(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    อัยการบรรยายคำฟ้องในลักษณะเดียวกันกับคดีของผู้ใหญ่ระบุว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในเขตอำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำมาใส่ข้อความประกอบลงในภาพ จากนั้นได้นำรูปภาพประกอบข้อความดังกล่าวโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเพจ “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ และเพจ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” รวม 15 ภาพ

    อัยการกล่าวหาว่าภาพและข้อความดังกล่าวมีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

    พร้อมระบุว่า การโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวมิได้กระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งมีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระด่างในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรs หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินได้ อีกทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.57/2565 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/49788)
  • เบลล์และครอบครัวเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามนัด หลังอัยการยื่นฟ้องและศาลรับฟ้องคดีไว้ ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวเบลล์ระหว่างพิจารณา โดยให้ใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางในชั้นสอบสวน พร้อมนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/49788)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องก่อนถามคำให้การ เบลล์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา นัดสืบพยานโจทก์ 6 นัด ในวันที่ 3,4,5,7,11,12 เม.ย. 2566 และสืบพยานจำเลย 2 นัด วันที่ 18,19 เม.ย. 2566
  • เลื่อนสืบพยานโจทก์มาจากวันที่ 3 เม.ย. 2566 ตามที่อัยการขอเลื่อน
  • เบลล์ ผู้ปกครอง ทนายความ และผู้สังเกตการณ์จากกลุ่ม Law Long Beach เดินทางไปศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง

    ศาลอ่านคำพิพากษามีเนื้อหาคำวินิจฉัยโดยสรุปเห็นว่า จากการนำสืบพยาน ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยและจำเลยอีกรายหนึ่งที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดพัทลุง ดำเนินการเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” จริง ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ มีสถานที่เกิดเหตุอยู่จริงยากที่จะตัดต่อ แต่งเรื่อง ทำให้น้ำหนักของพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้

    แม้จำเลยรับว่าเป็นผู้ติดตามและแสดงความเห็นในเพจพัทลุงปลดแอก โจทก์สืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเพจและตั้งค่าโพสต์สาธารณะ มีความเกี่ยวข้องและมีส่วนรู้เห็นกันกับโพสต์ดังกล่าว และยังพบภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุต่าง ๆ ว่า พบชายหญิงกลุ่มหนึ่ง 3-4 คน ในวันที่ 25 พ.ย. 2563 ข้อต่อสู้ของจำเลยว่าอยู่ในงานวันเกิดเพื่อน ไม่เกี่ยวกับโพสต์ข้อความ จึงไม่สามารถหักล้างกับพยานโจทก์ได้

    ศาลยังเห็นว่า ประเด็นเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” โพสต์ข้อความโดยอ้างชื่อของจำเลย ให้ติดต่อร้องเรียนกรณีมีเรื่องถูกคุกคามได้ แม้ตัวจำเลยจะอ้างว่ามิได้เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์หักล้างตามวิธีการที่พยานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเบิกความ คือไม่ได้ติดต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือติดต่อทางเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวว่า แอดมินคือใคร ประหนึ่งยินยอมให้ใช้ชื่ออ้างอิงดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความน่าเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจดังกล่าว

    กรณีโพสต์รูปภาพและข้อความที่เป็นมูลเหตุในคดี โจทก์มีพยาน 5 ปาก ต่างอาชีพ ต่างอายุกัน เป็นความเห็นของวิญญูชนทั่วไปอ่านแล้วรู้สึกว่า เป็นการหมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม เอาเปรียบประชาชน

    และข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ” ตีความได้ว่าหมายถึงให้องค์พระมหากษัตริย์พินาศย่อยยับ ซึ่งเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ลดทอนคุณค่า ความน่าเชื่อถือขององค์พระมหากษัตริย์ และอาจทำให้ประชาชนก่อความไม่สงบในสังคมได้ เป็นการสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินนั้น ปากคำพยานโจทก์ยังไม่ชัดนัก จึงให้ยกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3)

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 (2) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ในทั้ง 2 กระทง ขณะกระทำผิดจำเลยอายุต่ำกว่า 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน

    เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นเยาวชน ศาลจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จ.สุราษฎร์ธานี เป็นระยะเวลา 2 ปี

    หลังอ่านคำพิพากษา เบลล์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปใต้ถุนศาล เพื่อรอการประกันตัว

    ต่อมาเวลา 11.27 น. ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันจำนวน 7,500 บาท จากเดิมที่เคยวางไว้ในในชั้นพิจารณาคดีจำนวน 5,000 บาท จึงต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมอีก 2,500 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ให้มารายงานตัวต่อศาลตามที่กำหนดในทุกเดือน และห้ามกระทำในลักษณะเดิมอีก โดยฝ่ายจำเลยเตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.57/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ยชอ.51/2566 ลงวันที่ 12 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57371)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบลล์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบลล์ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ตรัสภณ ภัทรภรพงศ์
  2. อนุธิดา นรมาตย์
  3. สวัสดิ์ ชูเชียร, มธุภาณี เจ้ยชุม

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 12-07-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบลล์ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์