สรุปความสำคัญ

“มิ้นท์” (นามสมมติ) นักกิจกรรมจากกลุ่มนาดสินปฏิวัติ ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน หลังปิยกุล วงษ์สิงห์ ประชาชน เข้าแจ้งความตำรวจ สน.ยานนาวา ให้ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) กรณีที่มีการโพสต์ภาพชูป้ายข้อความวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการพิจารณาในคดีมาตรา 112 ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ในเดือน ก.ค. และ ส.ค. 2565 จำนวน 3 โพสต์

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมให้การกระทำหลายอย่างเป็นความผิดเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย และใช้เป็นเครืองมือปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • มิ้นท์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

4 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับ เข้าจับกุมตัว “มิ้นท์” นักกิจกรรมจากกลุ่มนาดสินปฏิวัติ (สงวนชื่อสกุล) ที่บ้านพัก ในคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

หมายจับดังกล่าว ลงวันที่ 25 ก.ค. 2565 โดยมี พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ สารวัตรสอบสวน สน.ยานนาวา เป็นผู้ร้องขอศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมาย ด้วยเหตุว่าน่าเชื่อว่าได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี โดยผู้พิพากษาที่อนุมัติออกหมายจับเพียงแต่เซ็นชื่อ แต่ไม่ได้ระบุชื่อสกุลไว้แต่อย่างใด โดยที่คดีนี้ ตำรวจไม่เคยออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน

หลังการจับกุม ในตอนแรกทางตำรวจระบุว่าจะนำตัวไปที่ สน.ยานนาวา ซึ่งเป็นเจ้าของคดี แต่ต่อมามีการเปลี่ยนสถานที่ โดยนำตัวไปที่ บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) ภายในสโมสรตำรวจ แทน

หลังทนายความติดตามไปที่ บช.ปส. พบว่าในตอนแรก ทางตำรวจไม่ยินยอมให้ผู้ไว้วางใจของมิ้นท์ ซึ่งติดตามไป เข้าพบกับผู้ต้องหา จนมีการพูดคุยให้เข้าไปพร้อมกับทนายความ

บันทึกจับกุมระบุว่า การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สรเสริญ ใช้สถิตย์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 สั่งการให้ตำรวจรวม 8 นายจากนครบาล 6 เข้าจับกุม

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าการจับกุมนี้เกิดขึ้น 1 วันภายหลัง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 ศาลอาญาธนบุรีมีการยกคำร้องของตำรวจที่ขอให้ถอนการประกันตัวมิ้นท์ ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ โดยที่หมายจับในคดีใหม่นี้ออกตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 เมื่อเทียบกับกรณีชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ศาลออกหมายจับทันที โดยเป็นคดีของสถานีตำรวจเดียวกันและชุดจับกุมภายใต้การอำนวยการของกองบัญชาการเดียวกัน

ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหา โดยทราบเหตุที่ถูกกล่าวหามาจากการโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก จำนวน 3 โพสต์ ได้แก่

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “ปลดรูปคู่กรณีก่อนพิพากษาคดี 112 ตำรวจของคู่กรณี อัยการของคู่กรณี ศาลของคู่กรณี อะไรคือความยุติธรรม” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “ยุติการพิพากษาคดี 112 ในนามพระปรมาภิไธย” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “การปฏิเสธอำนาจศาล ซึ่งเป็นองค์กรของคู่กรณีมาตรา 112 ย่อมกระทำได้ ดังนั้นศาลไม่มีศักดิ์และสิทธิ์ใดมาขังผู้ต้องหาคดี 112” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

มิ้นท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ก่อนตำรวจจะควบคุมตัวมิ้นท์ไว้ภายใน บช.ปส. ในช่วงคืนที่ผ่านมา

ทั้งนี้น่าสังเกตว่าในโพสต์ข้อความสุดท้ายที่นำมากล่าวหาผู้ต้องหา ถูกระบุว่าโพสต์ในวันที่ 1 ส.ค. 2565 เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลออกหมายจับคือวันที่ 25 ก.ค. 2565

5 ส.ค. 2565 เวลา 11.10 น. พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้นำตัวมิ้นท์ไปขออำนาจฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี หลังศาลไต่สวนได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัว ตีราคาประกัน 200,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำการในลักษณะทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางการสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือการพิจารณาของศาล ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19.00 น. ถึง 6.00 น. เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ลงนามโดย นายสันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

ทั้งนี้ มิ้นท์ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ก่อนหน้านี้ถูกกล่าวหาจากกรณีการปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ฝ.360/2565 ลงวันที่ 5 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46918)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์