ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

ผู้กล่าวหา
  • ปิยกุล วงษ์สิงห์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ผู้กล่าวหา
  • ปิยกุล วงษ์สิงห์

ความสำคัญของคดี

“มิ้นท์” (นามสมมติ) นักกิจกรรมจากกลุ่มนาดสินปฏิวัติ ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน หลังปิยกุล วงษ์สิงห์ ประชาชน เข้าแจ้งความตำรวจ สน.ยานนาวา ให้ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) กรณีที่มีการโพสต์ภาพชูป้ายข้อความวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการพิจารณาในคดีมาตรา 112 ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ในเดือน ก.ค. และ ส.ค. 2565 จำนวน 3 โพสต์

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมให้การกระทำหลายอย่างเป็นความผิดเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย และใช้เป็นเครืองมือปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำร้องขอฝากขังระบุพฤติการณ์ของผู้ต้องหาว่า ได้โพสต์ภาพถ่ายของตนเองในขณะที่ชูป้ายข้อความหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ จำนวน 3 ครั้ง โดยป้ายข้อความในภาพถ่าย รวมทั้งข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กมีเนื้อหาเรียกร้องให้ปล่อยตัวสองนักกิจกรรมอย่าง บุ้ง – ใบปอ มีข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาต มาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

อีกทั้งในคำร้องฝากขัง ได้ระบุว่า ข้อความที่กล่าวหาพระมหากษัตริย์ คือคู่กรณี โดยเจาะจงพูดถึงรูปของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่หน้าบัลลังก์พิพากษาของศาล และในทางกฎหมายพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การกล่าวเช่นนี้ จึงเป็นการดึงสถาบันฯ ลงมาไม่อยู่ที่เคารพสักการะสูงสุด และมาเป็นคู่กรณีโดยตรงกับจำเลย

พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกันตัว โดยระบุเหตุว่าผู้ต้องหาเคยมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและถูกดำเนินคดีในความผิดเดียวกันนี้มาก่อน และเนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหาที่กระทำหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ หากให้ประกันตัวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะกระทำการอันเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะเดิมอีก หรือผู้ต้องหาอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ฝ.360/2565 ลงวันที่ 5 ส.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 17.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับ เข้าจับกุมตัว “มิ้นท์” นักกิจกรรมจากกลุ่มนาดสินปฏิวัติ (สงวนชื่อสกุล) ที่บ้านพัก ในคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    หมายจับดังกล่าว ลงวันที่ 25 ก.ค. 2565 โดยมี พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ สารวัตรสอบสวน สน.ยานนาวา เป็นผู้ร้องขอศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมาย ด้วยเหตุว่าน่าเชื่อว่าได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี โดยผู้พิพากษาที่อนุมัติออกหมายจับเพียงแต่เซ็นชื่อ แต่ไม่ได้ระบุชื่อสกุลไว้แต่อย่างใด โดยที่คดีนี้ ตำรวจไม่เคยออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน

    หลังการจับกุม ในตอนแรกทางตำรวจระบุว่าจะนำตัวไปที่ สน.ยานนาวา ซึ่งเป็นเจ้าของคดี แต่ต่อมามีการเปลี่ยนสถานที่ โดยนำตัวไปที่ บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) ภายในสโมสรตำรวจ แทน

    หลังทนายความติดตามไปที่ บช.ปส. พบว่าในตอนแรก ทางตำรวจไม่ยินยอมให้ผู้ไว้วางใจของมิ้นท์ ซึ่งติดตามไป เข้าพบกับผู้ต้องหา จนมีการพูดคุยให้เข้าไปพร้อมกับทนายความ

    บันทึกจับกุมระบุว่า การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สรเสริญ ใช้สถิตย์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 สั่งการให้ตำรวจรวม 8 นายจากนครบาล 6 เข้าจับกุม

    ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าการจับกุมนี้เกิดขึ้น 1 วันภายหลัง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 ศาลอาญาธนบุรีมีการยกคำร้องของตำรวจที่ขอให้ถอนการประกันตัวมิ้นท์ ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ โดยที่หมายจับในคดีใหม่นี้ออกตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 เมื่อเทียบกับกรณีชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ศาลออกหมายจับทันที โดยเป็นคดีของสถานีตำรวจเดียวกันและชุดจับกุมภายใต้การอำนวยการของกองบัญชาการเดียวกัน

    ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหา โดยทราบเหตุที่ถูกกล่าวหามาจากการโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก จำนวน 3 โพสต์ ได้แก่

    เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “ปลดรูปคู่กรณีก่อนพิพากษาคดี 112 ตำรวจของคู่กรณี อัยการของคู่กรณี ศาลของคู่กรณี อะไรคือความยุติธรรม” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

    เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “ยุติการพิพากษาคดี 112 ในนามพระปรมาภิไธย” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

    เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ได้โพสต์และข้อความเป็นภาพตนเองถือป้ายข้อความ “การปฏิเสธอำนาจศาล ซึ่งเป็นองค์กรของคู่กรณีมาตรา 112 ย่อมกระทำได้ ดังนั้นศาลไม่มีศักดิ์และสิทธิ์ใดมาขังผู้ต้องหาคดี 112” หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

    มิ้นท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ก่อนตำรวจจะควบคุมตัวมิ้นท์ไว้ภายใน บช.ปส. ในช่วงคืนที่ผ่านมา

    ทั้งนี้น่าสังเกตว่าในโพสต์ข้อความสุดท้ายที่นำมากล่าวหาผู้ต้องหา ถูกระบุว่าโพสต์ในวันที่ 1 ส.ค. 2565 เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลออกหมายจับคือวันที่ 25 ก.ค. 2565

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม บช.ปส. ลงวันที่ 4 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46918)
  • เวลา 11.10 น. พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้นำตัวมิ้นท์ไปขออำนาจฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ คำร้องขอฝากขังระบุพฤติการณ์ของผู้ต้องหาว่า ได้โพสต์ภาพถ่ายของตนเองในขณะที่ชูป้ายข้อความหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ จำนวน 3 ครั้ง โดยป้ายข้อความในภาพถ่าย รวมทั้งข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กมีเนื้อหาเรียกร้องให้ปล่อยตัวสองนักกิจกรรมอย่าง บุ้ง – ใบปอ มีข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาต มาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

    อีกทั้งในคำร้องฝากขัง ได้ระบุว่า ข้อความที่กล่าวหาพระมหากษัตริย์ คือคู่กรณี โดยเจาะจงพูดถึงรูปของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่หน้าบัลลังก์พิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงรัชกาลที่ 10 และในทางกฎหมายพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การกล่าวเช่นนี้ จึงเป็นการดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา ไม่อยู่ในที่เคารพสักการะสูงสุด และมาเป็นคู่กรณีโดยตรงกับจำเลย

    พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกันตัว โดยระบุเหตุว่าผู้ต้องหาเคยมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและถูกดำเนินคดีในความผิดเดียวกันนี้มาก่อน และเนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหาที่กระทำหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ หากให้ประกันตัวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะกระทำการอันเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะเดิมอีก หรือผู้ต้องหาอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้

    ส่วนทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง ระบุใจความสำคัญว่า พฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ต้องหาตามคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 และพยานหลักฐานในสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอย เคลือบคลุม ไม่มีพยานหลักฐานตามสมควร อันควรเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดอย่างไรบ้าง แต่เป็นเพียงการกล่าวหาผู้ต้องหาโดยฝ่ายเดียว

    เวลา 13.50 น. ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องฝากขังผู้ต้องหา โดยแจ้งข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนผู้ร้องแจ้งต่อผู้ต้องหา และได้บอกกับทนายว่าการไต่สวนในวันนี้จะเป็นการพิจารณาในประเด็นของผู้ร้องที่อ้างว่าการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ จึงขอให้ฝากขังผู้ต้องหาในคดีนี้

    ทนายความแถลงต่อศาลว่า ในคดีนี้มีอีกประเด็นที่อยากให้ศาลบันทึกลงในรายงานด้วย กล่าวคือการที่พนักงานสอบสวนไม่เคยออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีนี้แต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหายังมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ซึ่งศาลได้ยอมรับคำแถลงของทนาย

    14.25 น. ศาลให้พนักงานสอบสวนผู้ร้องเข้าเบิกความ พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ เบิกความว่า ในคดีนี้เป็นหมายจับที่ได้รับจากศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เหตุที่ให้นำมาฝากขังในวันนี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ และต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมเป็นจำนวน 10 ปาก

    ทนายได้ถามค้านพยานว่า ชุดจับกุมได้แจ้งต่อพยานหรือไม่ว่า ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาในบริเวณแถวที่พักอาศัยของผู้ต้องหา และในขณะที่จับกุมผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี พยานตอบว่า ไม่แน่ใจเนื่องจากพยานไม่ใช่ชุดจับกุม ซึ่งศาลได้ถามความแน่ใจจากพยานอีกครั้งว่าเข้าใจที่ทนายความถามหรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่าตนไม่ทราบเรื่องการจับกุม และไม่ได้นำเอกสารมาพร้อม จึงไม่รู้ว่าจับกุมที่บริเวณใด และไม่ทราบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนีหรือไม่

    ทนายจึงถามต่อพยานว่า พยานทราบหรือไม่ว่าในคดีอื่นของผู้ต้องหา ก็ยังไม่มีคดีใดถึงที่สุดเลยสักคดีเดียว พยานได้ตอบว่าจากการตรวจสอบประวัติของผู้ต้องหาในคดีนี้ พยานทราบว่ายังไม่มีคดีใดที่ถูกตัดสินจากศาล

    นอกจากนี้ ทนายยังได้ถามต่อพยานว่า ในคดีนี้พฤติกรรมของผู้ต้องหามีเพียงการยืนชูป้ายเท่านั้น ตลอดจนไม่ได้ทำลายรูปพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ได้กระทำการอันก่อให้เกิดความวุ่นวายใดๆ ในบริเวณที่เกิดเหตุ พยานตอบว่า ป้ายที่ชูมีข้อความที่ปรากฏความหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้สร้างความวุ่นวาย หรือทำลายรูปภาพแต่อย่างใด

    เมื่อถามถึงพยานที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องสอบปากคำเพิ่มเติมทั้ง 10 คน นั้นเป็นใครบ้าง พยานได้ตอบว่ายังไม่ทราบว่าจะเป็นใครบ้าง ต้องไปประเมินกันดูก่อน ทนายได้ถามต่อในทันทีว่า เมื่อพยานไม่สามารถระบุกลุ่มคนที่จะสอบปากคำได้ ดังนั้นผู้ต้องหาก็ไม่สามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ใช่หรือไม่ พยานก็ได้ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว

    อย่างไรก็ตาม ทนายได้ถามพยานถึงความหมายของ “คู่กรณี” ที่พยานได้ใส่ลงไปในคำร้องขอฝากขังนั้น หมายถึงพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ และในเมื่อพยานได้กล่าวอ้างถึงพระมหากษัตริย์ พยานได้มีการทำหนังสือคำร้องสอบถามต่อสำนักงานพระราชวังว่ามีความเห็นอย่างไรในเรื่องคดีนี้ พยานตอบทนายว่าในส่วนนี้ขอไม่ตอบคำถาม

    ศาลจึงถามต่อพยานว่า ในส่วนของผู้กล่าวหาในคดีนี้คือใคร พยานแถลงต่อศาลว่าเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ทราบชื่อว่า ปิยกุล แต่ไม่ทราบนามสกุล

    พยานผู้ร้องแถลงเพิ่มเติมในส่วนของการยึดโทรศัพท์ของมิ้นท์ เนื่องจากพนักงานสอบสวนเชื่อว่า เป็นอุปกรณ์ที่มีความเชื่อมโยงกับการกระทำผิดในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงต้องยึดไว้

    ทั้งนี้ ทนายความได้ถามพยานถึงคดีอื่นของมิ้นท์ว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณาคดีจากศาลอาญาธนบุรี พยานผู้ร้องตอบว่าไม่ทราบรายละเอียดในคดี รู้เพียงแต่ว่าเป็นคดีของ สน.บุปผาราม และโดนดำเนินคดีในข้อหามาตรา112 เท่านั้น

    นอกจากนี้ ทนายความถามต่อพยานในประเด็นเรื่องของการสอบปากคำบุคคลอื่นเพิ่มเติมว่า หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวในคดี ก็ไม่ได้เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถสอบปากคำกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ใช่หรือไม่ พยานตอบทนายว่า “ใช่ แต่ว่าการฝากขังกับประกันเป็นคนละอย่างกัน” อย่างไรก็ตามศาลไม่ได้บันทึกคำเบิกความของพยานผู้ร้องในส่วนนี้ บันทึกเพียงข้อเท็จจริงว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว พนักงานสอบสวนก็ยังสามารถสอบปากคำบุคคลอื่นเพิ่มเติมได้

    ต่อมา 15.24 น. ศาลออกจากห้องพิจารณาคดีเพื่อเข้าปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษา และให้ทนายความและผู้ต้องหารอฟังคำสั่งต่อไป

    เวลา 16.00 น. ศาลกลับเข้ามาอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี มีคำสั่งระบุว่า อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน เนื่องจากข้อกล่าวหาเป็นความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกสูง และกำชับให้ผู้ร้องเร่งรัดการสอบสวนพยานบุคคลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

    ต่อมาเวลา 16.48 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่าพิเคราะห์คำร้องฝากขังและคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอ้างว่าให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจในการจับกุม มิได้ต่อสู้ขัดขวางหรือมีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีพฤติการณ์จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และการปล่อยตัวชั่วคราวไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล และผู้ต้องหาจะไม่กระทำการใดๆ อันทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยผิดกฎหมาย และยินยอมที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมหรือการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

    เห็นว่าภายหลังผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญาธนบุรี เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 ผู้ต้องหายังคงมาศาลนี้โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตีราคาประกัน 200,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    ศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำการในลักษณะทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางการสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือการพิจารณาของศาล ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19.00 น. ถึง 6.00 น. เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล หากผู้ต้องหาละเมิดเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว

    ลงนามโดย สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

    ทั้งนี้ มิ้นท์ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ก่อนหน้านี้ถูกกล่าวหาจากกรณีการปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ฝ.360/2565 ลงวันที่ 5 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46918)

  • มิ้นท์พร้อมทนายความเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกเพื่อรับทราบคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ที่พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลาง

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มิ้นท์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์