สรุปความสำคัญ

“บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 29 ปี ถูกตำรวจเข้าจับกุมจากบ้านในอำเภอพาน ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงราย และนำตัวไปดำเนินคดีในข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กในวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 จำนวน 2 โพสต์ นับเป็นคดีที่ 3 แล้วที่เขาถูกกล่าวหา

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมให้การกระทำหลายอย่างเป็นความผิดเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย และใช้เป็นเครืองมือปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • มงคล ถิระโคตร
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

11 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมรวม 21 นาย จากกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงราย และตำรวจจาก บก.ปอท. ได้เข้าแสดงหมายจับลงวันที่ 9 ส.ค. 2565 และหมายค้นที่ลงวันที่ 11 ส.ค. 2565 ที่ออกโดยศาลจังหวัดเชียงราย ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)(3) เพื่อจับกุมตัว มงคล ถิระโคตร หรือ “บาส” พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย และตรวจค้นบ้านพักในอำเภอพาน ซึ่งมงคลอาศัยอยู่กับพ่อและแม่

ในเบื้องต้น หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจค้น มีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของมงคล จำนวน 1 เครื่อง และเสื้อยืดที่มีข้อความ “น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” และ “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบัน” จำนวน 2 ตัว พร้อมกับมีการจัดทำบันทึกการจับกุมและบันทึกการตรวจค้นไว้เป็นหลักฐาน

ระหว่างนั้น มงคลไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ เพื่อรอให้ทนายความเดินทางมาถึงก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ให้มารดาของมงคลลงชื่อในบันทึกการตรวจค้นบ้านแทน เนื่องจากแม่มีสถานะเป็นเจ้าบ้านตามทะเบียน ก่อนจะนำตัวมงคลไปควบคุมไว้ที่กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ภายในตัวเมืองเชียงราย

จนเวลาประมาณ 12.30 น. ทนายความได้เดินทางมาถึง สภ.เมืองเชียงราย พร้อมกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวมงคลมาส่งให้กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เจ้าของคดี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้อ่านบันทึกการจับกุมและบันทึกการตรวจค้นที่จัดทำไว้เพื่อให้มงคลลงลายมือชื่อในเอกสาร

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการแสดงคำสั่งอนุญาตของศาลจังหวัดเชียงราย ซึ่งอนุญาตให้ พ.ต.ต.นเรศร์ ปลื้มญาติ ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สามารถเข้าถึงและคัดลอกข้อมูลโทรศัพท์มือถือที่มีการตรวจยึด โดยให้มงคลทำการปลดล็อครหัสผ่านของโทรศัพท์ และส่งมอบให้กับตำรวจเพื่อทำการคัดลอกสำเนาข้อมูลต่อหน้ามงคล ก่อนจะเก็บใส่ซองพลาสติกล็อคไว้ และส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวนต่อไป

หลังจากนั้นในช่วงพักเที่ยง มงคลถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย รอให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมาดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป

จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ พนักงานสอบสวน เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำมงคล โดยมีการใส่กุญแจมือมงคลไว้ตลอดเวลาระหว่างการสอบสวน

ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า จากการติดตามของหน่วยสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พบว่ามงคลมีการโพสต์ข้อความที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 ชุดสืบสวนจึงได้ทำการรายงานผู้บังคับบัญชาขึ้นไปตามลำดับจนถึงตำรวจภูธรภาค 5 ที่เป็นคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จนได้มีมติให้ดำเนินคดีกับมงคล จากการโพสต์ข้อความจำนวน 2 โพสต์ เมื่อวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย จึงได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับมงคลที่ สภ.เมืองเชียงราย และพนักงานสอบสวนได้ขอออกหมายจับและหมายค้น และเข้าจับกุมในที่สุด

มงคลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หลังเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นเวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งหมดเวลาราชการแล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถส่งตัวมงคลไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงรายได้ทัน จึงจะมีการส่งฝากขังต่อศาลในวันรุ่งขึ้นแทน

ด้านบิดาของมงคลได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนไปยังผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย แต่ต่อมาผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 15 ปี ประกอบกับผู้ต้องหาเคยได้กระทำความผิดลักษณะดังกล่าวมาก่อน ซึ่งได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีแล้ว แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลยังกระทำผิดซ้ำเดิมอีก หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและอาจไปกระทำความผิดหรือก่ออันตรายประการอื่น จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”

วันต่อมา เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายความและพ่อแม่ของมงคลได้เดินทางไปที่ สภ.เมืองเชียงราย เพื่อติดตามเรื่องการฝากขังและประกันตัว แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่า จากการติดต่อประสานงานกับศาลจังหวัดเชียงราย วันนี้เป็นวันหยุดราชการเนื่องจากวันแม่ ศาลจึงหยุดในส่วนงานที่เกี่ยวกับการฝากขังผู้ต้องหา ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถฝากขังในวันนี้ได้ อีกทั้งระยะเวลาการควบคุมตัวของตำรวจภายใน 48 ชั่วโมง ก็ยังมีอยู่ จึงจะทำการฝากขังมงคลต่อศาลในวันที่ 13 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ต่อไป

13 ส.ค. 2565 พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังมงคลต่อศาลจังหวัดเชียงราย ผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง โดยให้ผู้ต้องหาสามารถยื่นขอประกันตัวได้ที่ศาล บิดาของมงคลจึงได้เดินทางไปยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลจังหวัดเชียงราย ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 300,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ห้ามผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีก, ห้ามไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.สส.ภ.จว.เชียงราย ลงวันที่ 11 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47155)

ภูมิหลัง

  • มงคล ถิระโคตร
    นักกิจกรรมจังหวัดเชียงราย ไม่สังกัดกลุ่มกิจกรรมใด แสดงออกทางการเมืองผ่านทางเฟซบุ๊คตั้งแต่ปี 2553

    อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/51613

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์