ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1278/2565
แดง อ.869/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร ตร.ภูธร จว.เชียงราย (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1278/2565
แดง อ.869/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร ตร.ภูธร จว.เชียงราย

ความสำคัญของคดี

“บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 29 ปี ถูกตำรวจเข้าจับกุมจากบ้านในอำเภอพาน ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงราย และนำตัวไปดำเนินคดีในข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กในวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 จำนวน 2 โพสต์ นับเป็นคดีที่ 3 แล้วที่เขาถูกกล่าวหา

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมให้การกระทำหลายอย่างเป็นความผิดเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย และใช้เป็นเครืองมือปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ชมชนก รัชตะวราโชติ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า จำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 จําเลยได้โพสต์ข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลยเกี่ยวกับการใส่เสื้อสีดำไว้อาลัย พร้อมโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10

2. เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565 จําเลยได้โพสต์ข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย พร้อมโพสต์ภาพจำเลยถือกรอบรูปภาพตัดต่อล้อเลียน

ข้อความและรูปภาพในโพสต์ทั้งสองทําให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า หมายถึง รัชกาลที่ 10 ซึ่งสื่อความหมายว่า พระมหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี ไม่ควรเคารพ ในลักษณะด้อยค่า และด้อยพระเกียรติ อันเป็นการใส่ความโดยหมิ่นประมาท, ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ อ.1278/2565 ลงวันที่ 4 พ.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมรวม 21 นาย จากกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, สภ.เมืองเชียงราย และ บก.ปอท. เข้าแสดงหมายจับลงวันที่ 9 ส.ค. 2565 และหมายค้นลงวันที่ 11 ส.ค. 2565 ที่ออกโดยศาลจังหวัดเชียงราย ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)(3) เพื่อจับกุมตัว มงคล ถิระโคตร หรือ “บัสบาส” พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย และตรวจค้นบ้านพักในอำเภอพาน ซึ่งมงคลอาศัยอยู่กับพ่อและแม่

    ในเบื้องต้น หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจค้น มีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของมงคล จำนวน 1 เครื่อง และเสื้อยืดที่มีข้อความ “น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” และ “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบัน” จำนวน 2 ตัว พร้อมกับมีการจัดทำบันทึกการจับกุมและบันทึกการตรวจค้นไว้เป็นหลักฐาน

    ระหว่างนั้นมงคลไม่ยอมลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ เพื่อรอให้ทนายความเดินทางมาถึงก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ให้มารดาของมงคลลงชื่อในบันทึกการตรวจค้นบ้านแทน เนื่องจากแม่มีสถานะเป็นเจ้าบ้านตามทะเบียน ก่อนจะนำตัวมงคลไปควบคุมไว้ที่กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ภายในตัวเมืองเชียงราย

    จนเวลาประมาณ 12.30 น. ทนายความได้เดินทางมาถึง สภ.เมืองเชียงราย พร้อมกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวมงคลมาส่งให้กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เจ้าของคดี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้อ่านบันทึกการจับกุมและบันทึกการตรวจค้นที่จัดทำไว้เพื่อให้มงคลลงลายมือชื่อในเอกสาร

    อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการแสดงคำสั่งอนุญาตของศาลจังหวัดเชียงราย ซึ่งอนุญาตให้ พ.ต.ต.นเรศร์ ปลื้มญาติ ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สามารถเข้าถึงและคัดลอกข้อมูลโทรศัพท์มือถือที่มีการตรวจยึด โดยให้มงคลทำการปลดล็อครหัสผ่านของโทรศัพท์ และส่งมอบให้กับตำรวจเพื่อทำการคัดลอกสำเนาข้อมูลต่อหน้ามงคล ก่อนจะเก็บใส่ซองพลาสติกล็อคไว้ และส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวนต่อไป

    หลังจากนั้นในช่วงพักเที่ยง มงคลถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย รอให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมาดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา

    จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ พนักงานสอบสวน เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำมงคล โดยมีการใส่กุญแจมือมงคลไว้ตลอดเวลาระหว่างการสอบสวน

    ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า จากการติดตามของหน่วยสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พบว่า มงคลมีการโพสต์ข้อความที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 ชุดสืบสวนจึงได้ทำการรายงานผู้บังคับบัญชาขึ้นไปตามลำดับจนถึงตำรวจภูธรภาค 5 ที่เป็นคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จนได้มีมติให้ดำเนินคดีกับมงคล จากการโพสต์ข้อความจำนวน 2 โพสต์ เมื่อวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย จึงได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับมงคลที่ สภ.เมืองเชียงราย และพนักงานสอบสวนได้ขอออกหมายจับและหมายค้น และเข้าจับกุมในที่สุด

    มงคลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หลังเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นเวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งหมดเวลาราชการแล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถส่งตัวมงคลไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงรายได้ทัน จึงจะมีการส่งฝากขังต่อศาลในวันรุ่งขึ้นแทน

    ด้านบิดาของมงคลได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนไปยังผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย แต่ต่อมาผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 15 ปี ประกอบกับผู้ต้องหาเคยได้กระทำความผิดลักษณะดังกล่าวมาก่อน ซึ่งได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีแล้ว แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลยังกระทำผิดซ้ำเดิมอีก หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและอาจไปกระทำความผิดหรือก่ออันตรายประการอื่น จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”

    วันต่อมา เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายความและพ่อแม่ของมงคลได้เดินทางไปที่ สภ.เมืองเชียงราย เพื่อติดตามเรื่องการฝากขังและประกันตัว แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่า จากการติดต่อประสานงานกับศาลจังหวัดเชียงราย วันนี้เป็นวันหยุดราชการเนื่องจากวันแม่ ศาลจึงหยุดในส่วนงานที่เกี่ยวกับการฝากขังผู้ต้องหา ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถฝากขังในวันนี้ได้ อีกทั้งระยะเวลาการควบคุมตัวของตำรวจภายใน 48 ชั่วโมง ก็ยังมีอยู่ จึงจะทำการฝากขังมงคลต่อศาลในวันที่ 13 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.สส.ภ.จว.เชียงราย ลงวันที่ 11 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47155)
  • เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้ยื่นขอฝากขังมงคลต่อศาลจังหวัดเชียงราย ผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยไม่ได้นำตัวผู้ต้องหาไปศาล

    จากนั้นศาลได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาอ่านข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาฟัง และแจ้งว่าพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขัง เป็นระยะเวลา 12 วัน และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง โดยให้ผู้ต้องหาสามารถยื่นขอประกันตัวได้ที่ศาล

    นอกจากนั้นในคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ยังขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีของมงคล 2 คดีก่อนหน้านี้ด้วย แต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถมีคำสั่งก้าวล่วงไปยังคดีอื่นได้ หากพนักงานสอบสวนจะขอเพิกถอนประกันตัว ให้ยื่นคำร้องเข้าไปในคดีดังกล่าวโดยตรงต่อไป

    จากนั้นเวลา 12.00 น. บิดาของมงคลได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลจังหวัดเชียงราย โดยในตอนแรกได้ขอวางหลักทรัพย์ 150,000 บาท แต่เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่าให้วางหลักทรัพย์ 300,000 บาท เพราะเห็นว่ามงคลเคยถูกกล่าวหาในคดีข้อหานี้มาก่อน

    จนเวลา 13.15 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 300,000 บาท ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาถูกจับกุมที่บ้าน อันเป็นที่อยู่ของผู้ต้องหา ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีก, ห้ามไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล โดยหากผิดเงื่อนไขดังกล่าว ยินยอมให้ศาลริบเงินประกัน

    ทั้งนี้ หลักทรัพย์ประกันตัวมาจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังได้สอบคำให้การในวันที่ 7 พ.ย. 2565

    ทั้งนี้ มงคลเคยถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 ในช่วงปี 2564 มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก ถูกจับกุมระหว่างไปนั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 ก่อนถูกส่งตัวมาดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงราย โดยถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความรวม 25 โพสต์

    ครั้งถัดมา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 มงคลถูกจับกุมจากบ้านพักในอำเภอพานมาดำเนินคดีอีก จากการโพสต์ข้อความรวม 2 โพสต์ ทั้งสองคดีนี้ อัยการได้ยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดเชียงรายไปแล้ว และศาลให้พิจารณาคดีไปพร้อมกัน โดยอยู่ระหว่างการรอสืบพยาน ทั้งศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาคดีของเขาเป็นการลับอีกด้วย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/47155)
  • พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายยื่นฟ้องมงคลต่อศาลจังหวัดเชียงราย ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5)

    กล่าวหาว่า ข้อความและภาพที่จำเลยโพสต์ในวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 ทําให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ว่าเป็นบุคคลที่ไม่ดี ไม่ควรเคารพ ในลักษณะด้อยค่า และด้อยพระเกียรติ อันเป็นการใส่ความ

    ท้ายคำฟ้อง อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดี 112 อีก 2 คดีของศาลนี้

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงราย คดีหมายเลขดำที่ อ.1278/2565 ลงวันที่ 4 พ.ย. 2565)
  • มงคลเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน เจ้าหน้าที่แจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องแล้ว ก่อนควบคุมตัวไว้ ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ก่อนศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้สัญญาประกันเดิม นัดคุ้มครองสิทธิวันที่ 17 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 3 มี.ค. 2566 เวลา 08.30 น.
  • นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 15-18 ส.ค. 2566
  • โจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 9 ปาก โดยพยานโจทก์ปากตำรวจ บก.ปอท. ฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การ จึงไม่ต้องนำเข้าสืบ ฝ่ายจำเลยมีมงคลเข้าเบิกความในฐานะพยาน 1 ปาก

    มงคลรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งสอง 2 โพสต์จริง แต่ต่อสู้ว่าข้อความไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีลักษณะเป็นการล้อเลียน ขณะเดียวกันก็พยายามต่อสู้ถึงปัญหาของมาตรา 112 และการสั่งให้บังคับใช้หรือหยุดบังคับใช้ไปตามสถานการณ์ทางการเมือง

    ก่อนสืบพยาน มงคลแถลงว่าตนเชื่อในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การใช้มาตรา 112 เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์ด่างพร้อย ตนเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ด้วยจำนวนกรรมมากที่สุด ตั้งแต่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นต้นมา

    ในวันแรกของการสืบพยาน มีเพื่อนสนิทของมงคลเดินทางมาร่วมรับฟังด้วย แต่เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาเข้ามาแจ้งว่า คดีนี้ศาลพิจารณาเป็นการลับ และให้เพื่อนออกจากห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลก็ยังมาแจ้งในลักษณะเดียวกัน เพื่อนของมงคลจึงต้องออกจากห้องพิจารณาไป

    แต่พบว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับแต่อย่างใด และยังมีตำรวจศาล (Court Marshal) และ รปภ. มานั่งฟังการพิจารณาด้วยโดยตลอด

    ในการบันทึกคำเบิกความพยาน ศาลใช้เครื่องบันทึกเสียงและส่งให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ตามปกติ ไม่ได้ใช้การบันทึกภาพและเสียงเหมือนในสองคดีแรกของมงคล ทำให้พบว่ามีเนื้อหาบางส่วนที่ทนายจำเลยถามค้าน แต่ศาลไม่ได้บันทึกในคำเบิกความพยานด้วย


    ++ผู้กล่าวหาติดตามจำเลยในฐานะบุคคลเฝ้าระวัง มีชุดตำรวจคอยดูโพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ

    พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร ผู้กล่าวหาในคดี ระบุว่า พยานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ตั้งแต่ในช่วงปี 2564 โดยมีหน้าที่สืบสวนหาข้อมูลในคดีมาตรา 112

    พ.ต.ต.ปราโมทย์ ระบุว่า การติดตามบุคคลเฝ้าระวัง ได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางเฟซบุ๊ก และจำเลยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลดังกล่าว ที่พยานติดตามในเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2564 โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวซึ่งเป็นของจำเลยมีการโพสต์หมิ่นเหม่ในประเด็นสถาบันกษัตริย์ จึงทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา และได้ดำเนินคดีไปบางส่วนแล้ว

    พยานได้ให้ ด.ต.เฉลิมกิจ เฟื่องฟูกิจการ, ร.ต.อ.เขตต์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ด.ต.สินชัย ศรีมนเทียร ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นชุดสืบสวนคอยติดตามเฝ้าระวังจำเลย โดยจะต้องรายงานโพสต์ที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทุกโพสต์ พร้อมได้จัดทำรายงานการเฝ้าระวังบัญชีเฟซบุ๊กเอาไว้ด้วย

    พยานเบิกความถึงการพบโพสต์ของจำเลยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่เกี่ยวกับสถาบันฯ โดยมีภาพถ่ายจำเลยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงได้ประสานไปยัง ตำรวจ สน.ยานนาวา และสืบสวนพบว่าจำเลยไปอยู่ในกิจกรรมที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้จริง

    ต่อมาพยานได้จัดทำรายงานผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับขั้น ก่อนมีมติให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับจำเลย ในสองโพสต์ข้อความตามฟ้องนี้ และพยานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.เมืองเชียงราย หลังจากนั้น ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยพยานเป็นคณะทำงานด้วย และพยานยังไปร่วมจับกุมและตรวจค้นบ้านของจำเลยด้วย

    พยานรับกับทนายจำเลยว่า เคยให้ความเห็นในชั้นสอบสวนว่าข้อความของจำเลยเป็นการ “ล้อเลียน เปรียบเทียบ และด้อยค่า” แต่ไม่มีการระบุว่าเป็นการ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย” โดยพยานรับว่าเป็น “การแซว” แต่ต่อมาได้ตอบอัยการถามติงว่า แม้จะเห็นว่าข้อความเกินกว่าคำว่า “แซว” แต่พยานไม่ได้ลงความเห็นไว้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจ

    พยานยังรับว่า เคยเห็นรายงานข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112 และถ้าประชาชนทั่วไปได้อ่านข่าวดังกล่าว ก็เข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงไม่ให้ใช้มาตรา 112

    ++ตำรวจชุดสืบสวน คอยเฝ้าติดตามจำเลยต่อเนื่องตั้งแต่ปี 63

    พยานโจทก์ปากที่ 2 ด.ต.เฉลิมกิจ เฟื่องฟูกิจการ กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ทำหน้าที่ด้านการข่าวเกี่ยวกับความมั่นคง เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ต.ปราโมทย์ ให้ทำหน้าที่เฝ้าระวังบุคคลเฝ้าระวังในสื่อออนไลน์

    ด.ต.เฉลิมกิจ เบิกความว่า ตนเฝ้าติดตามจำเลยในคดีนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณตั้งแต่ปี 2563 และเคยมีการดำเนินคดีมาก่อน จึงมีการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา ได้มีการติดตามโพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ บนเฟซบุ๊ก และได้พบข้อความที่เกี่ยวกับสถาบันฯ บนเฟซบุ๊กของจำเลย จึงได้ร่วมกันจัดทำรายงานผู้บังคับบัญชา โดยทีมสืบสวนยังได้ตั้งกล้องบันทึกวิดีโอบันทึกหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่พบข้อความ เพื่อยืนยันว่ามีการติดตามผ่านทางจอมอนิเตอร์จริงด้วย

    ต่อมา พยานยังได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่มีหน้าที่สืบสวน ไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาว่าข้อความใดเป็นความผิดหรือไม่ โดยมีกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เป็นผู้พิจารณาว่าเป็นความผิดหรือไม่

    ในการถามค้าน ทนายจำเลยพยายามสอบถามถึงการที่ตำรวจไปติดตามถึงบ้านของจำเลย ซึ่งพยานระบุว่าไม่ทราบ และรับว่านอกจากจำเลย มีประชาชนคนอื่น ๆ ที่ถูกติดตามเฝ้าระวังอีกด้วย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60984)
  • ++ประธานสภา อบจ.– ทนายความ ถูกตำรวจเชิญให้ความเห็น

    พยานโจทก์ปากที่ 3 สุธีระพงษ์ วันไชยธนวงศ์ ขณะเกิดเหตุเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เบิกความถึงการได้รับหนังสือจากตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย ให้มาให้ความเห็นในคดีนี้ และได้เข้าให้ปากคำเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565

    พยานได้ดูโพสต์ของจำเลย และเห็นว่าทั้งสองโพสต์สื่อถึงรัชกาลปัจจุบันในแง่ลบ อาจทำให้บุคคลทั่วไปรู้สึกไม่ถูกต้อง-เหมาะสม พยานระบุว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ไม่ควรทำเช่นนี้ ตราบใดที่ยังมีระบอบนี้อยู่

    พยานรับว่าสำหรับตนอ่านแล้ว ไม่ได้รู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง เนื่องจากสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ แต่อาจทำให้คนอื่นได้รับข้อมูลที่ผิด และพยานตอบแทนบุคคลอื่นไม่ได้ ว่าหากอ่านข้อความ จะสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้หรือไม่

    พยานโจทก์ปากที่ 4 อภิชัย พรมมินทร์ อาชีพทนายความ เบิกความว่าได้รับการติดต่อจาก สภ.เมืองเชียงราย เพื่อขอความเห็นในคดีมาตรา 112 และได้ดูข้อความในคดีนี้ เห็นว่าสื่อความหมายไปในลักษณะหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เป็นข้อความในแง่ไม่ดี ดูหมิ่น เหยียดหยาม ในความรู้สึกของพยานเห็นว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากถือว่าเป็นสถาบันเบื้องสูง

    พยานรับว่า ตำรวจรู้จักพยานเป็นการส่วนตัว จึงได้โทรติดต่อให้พยานมาให้การ และรับว่าหลังดูข้อความ พยานก็ยังเคารพสถาบันกษัตริย์ แต่พยานไม่ทราบถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องความเดือดร้อนของพระมหากษัตริย์ในการใช้มาตรา 112 และไม่ทราบเรื่องคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ให้ใช้มาตรา 112

    ++นักวิชาการสามคน ถูกตำรวจไปขอความเห็นต่อข้อความถึงมหาวิทยาลัย

    พยานโจทก์ปากที่ 5 วิวรรธน์ ดำรงค์กุลนันท์ อาจารย์สำนักนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เบิกความว่า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้มีหนังสือมาถึงมหาวิทยาลัยขอความเห็นทางกฎหมาย อธิการบดีจึงได้มอบหมายให้คณะ และทางคณบดีมอบหมายให้พยานให้ความเห็น ก่อนที่ทางตำรวจจะเข้าไปพบพยานที่มหาวิทยาลัย และนำภาพข้อความในคดีนี้ให้ดู โดยพยานเห็นว่าเป็นข้อความที่ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

    พยานรับว่าทราบว่า มาตรา 112 มีการถูกบังคับใช้และไม่ใช้ไปตามนโยบาย สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง และรับว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เป็นคนละเรื่องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้นำมาพิจารณาร่วมกัน โดยบุคคลสาธารณะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต และเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ประเด็นส่วนตัว

    พยานโจทก์ปากที่ 6 ดิเรก ควรสมาคม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เบิกความว่า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ไปพบพยานที่มหาวิทยาลัยในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2565 และให้ดูข้อความตามฟ้องในคดีนี้ พยานอ่านแล้วเห็นว่าเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และน่าจะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112 เป็นการใส่ความ ให้ร้าย หรือกล่าวถึงความประพฤติในแง่ที่ลดเกียรติของผู้อื่น

    พยานไม่ทราบว่า การตีความมาตรา 112 ไม่ได้เกี่ยวกับการตีความมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเห็นว่าการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เป็นหลักทั่วไป ข้อความของจำเลยไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด โดยการหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 นั้น ใช้องค์ประกอบความผิดเดียวกันกับตามมาตรา 326

    พยานโจทก์ปากที่ 7 รุ่งโรจน์ ต้นประดิษฐ อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้ไปพบพยานที่มหาวิทยาลัย และให้ดูข้อความตามฟ้องในคดีนี้ พยานตีความหมายว่าน่าจะหมายถึงรัชกาลที่ 10 มีลักษณะเป็นการกล่าวร้าย ด้อยค่า และบุคคลทั่วไปก็สามารถตีความได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60984)
  • ++พนักงานสอบสวน 2 ปาก เบิกความถึงการสอบสวนก่อนมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ

    พยานโจทก์ปากที่ 8 ร.ต.อ.ศรีเดช สุวรรณ์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เบิกความว่า ประมาณวันที่ 28 ก.ค. 2565 ผู้กล่าวหาประสานว่าได้ตรวจพบข้อความหมิ่นเหม่เรื่องสถาบันฯ พยานได้รับคำสั่งให้สอบสวนเบื้องต้น ร่วมกับ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ

    ต่อมาพยานได้ทำการสอบสวนพยานบุคคลและนักวิชาการ รวม 2 ปาก เพื่อขอความเห็นว่าข้อความเข้าข่ายความผิดหรือไม่ แต่ยังไม่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อมาวันที่ 3 ส.ค. 2565 คณะกรรมการคดีความมั่นคงของตำรวจภูธรภาค 5 ได้ประชุมพิจารณาและมีความเห็นว่าข้อความเป็นความผิดจำนวน 2 โพสต์ จึงมีมติให้ดำเนินคดี และให้ พ.ต.ต.ปราโมทย์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์

    ร.ต.อ.ศรีเดช ได้ร่วมสอบสวนทั้งผู้กล่าวหา และพยานความเห็นเพิ่มเติม ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับจากศาลจังหวัดเชียงราย พยานเดินทางไปร่วมจับกุม และตรวจยึดของกลาง โดยพยานตรวจโทรศัพท์มือถือของจำเลย และพบว่ามีการใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่กล่าวหา และพบโพสต์ข้อความจริง

    ต่อมา พยานได้รับการแต่งตั้งร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ตามคำสั่งของตำรวจภูธรภาค 5 จากนั้นจึงสรุปสำนวนและพยานหลักฐาน มีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีเสนอต่อผู้บังคับบัญชา

    ร.ต.อ.ศรีเดช รับว่า ทนายความซึ่งเป็นพยานความเห็นนั้น รู้จักเป็นการส่วนตัวกับตนมาก่อน และรับว่าก่อนการสอบสวน ต้องมีการร้องทุกข์ก่อน แต่คดีนี้มีการสอบสวนก่อน เนื่องจากมีการรายงานการกระทำความผิด จึงรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น

    พยานรับว่า ในช่วงปี 2562-63 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เท่าที่ทราบไม่มีคดีมาตรา 112 แต่พยานไม่ทราบเรื่องไม่ให้มีการบังคับใช้มาตรานี้ โดยพยานได้อ่านข้อความของจำเลย แต่ยังเคารพรักสถาบันฯ อยู่ และสถาบันฯ ก็ยังคงดำรงอยู่ ไม่ได้สูญสลายไป

    พยานโจทก์ปากที่ 9 พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ ผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ได้รับการประสานจากฝ่ายสืบสวน พบว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กของบุคคลเฝ้าระวังโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันฯ พยานจึงทำการสอบสวนเบื้องต้นร่วมกับ ร.ต.อ.ศรีเดช โดยขอความเห็นต่อนักกฎหมายและนักวิชาการเพิ่มเติมว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ก่อนรวบรวมรายงานส่งคณะกรรมการของตำรวจภูธรภาค 5

    ต่อมาที่ประชุมมีความเห็นให้ดำเนินคดีใน 2 โพสต์ วันที่ 3 ส.ค. 2565 ผู้กล่าวหาจึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษ และคณะพนักงานสอบสวนได้สอบสวนพยานความเห็นปากต่าง ๆ เพิ่มเติมถึงความเข้าใจและความรู้สึกต่อข้อความ ก่อนมีการร้องขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาต่อมา

    ++จำเลยเบิกความ ที่มาที่ไปของการโพสต์ และปัญหาของ ม.112

    มงคล ถิระโคตร เบิกความในฐานะพยานจำเลยระบุว่า ตนประกอบอาชีพค้าขายออนไลน์ อยู่กับบิดามารดาที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว เนื่องจากมีโรคประจำตัว บิดาอายุ 71 ปี มารดาอายุ 60 ปี บิดาเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ มารดาเป็นไมเกรน

    พยานสนใจการเมืองในประมาณปี 2562-63 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ จึงเข้าร่วมการชุมนุมทั้งที่จังหวัดเชียงรายและกรุงเทพฯ พยานเคยไปร่วมปราศรัยสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งประเด็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    หลังพยานร่วมปราศรัย ในช่วงปี 2563-64 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาคอยติดตามพยานถึงบ้าน ระบุว่า มาเยี่ยมเยียนตามคำสั่งนาย และบ่อยครั้งพบว่ามีรถที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยวนเวียนมาที่บ้านพยานทุก ๆ วัน เพราะซอยที่บ้านพยานเป็นซอยตัน ปกติจะไม่มีรถเข้ามา บางครั้งมีการถ่ายรูปหน้าบ้านอย่างชัดเจน

    มงคลเบิกความรับว่า ตนเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งสองโพสต์ตามฟ้อง แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย เป็นเพียงการล้อเลียนเท่านั้น เนื่องจากในช่วงนั้นมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการทำโพลสำรวจความเห็นต่อขบวนเสด็จ และไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในการต่อสู้คดี ก่อนมีการเคลื่อนไหวอดอาหารประท้วงในเรือนจำ

    มงคลยังเบิกความถึงความเข้าใจของตนเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปมา มีทั้งข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ให้ใช้มาตรานี้ ก่อนในช่วงปลายปี 2563 จะมีการเปลี่ยนแปลงให้ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา และเริ่มมีการดำเนินคดีมาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำมาใช้ปราบปรามผู้ชุมนุมหรือผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยมงคลยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดึงสถาบันกษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน

    มงคลรับกับอัยการว่า โพสต์ทั้งสองของเขาไม่ใช่เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แต่เป็นการพูดถึงเรื่องส่วนตัว และรับทราบว่า การล้อเลียนเสียดสีมีขอบเขต หากกระทบต่อผู้อื่นให้เสียชื่อเสียง ก็อาจเป็นความผิดต่อกฎหมาย

    มงคลระบุว่า เขาเป็นเพียงสามัญชนธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือชื่อเสียง ข้อความไม่ได้ทำให้สถาบันกษัตริย์ด่างพร้อยได้ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หมายถึงการทำให้สถาบันฯ มีความทันสมัย เป็นสากล และยึดโยงกับประชาชน

    หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 ต.ค. 2566 เวลา 13.30 น. โดยต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อนด้วย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60984)
  • เวลา 13.00 น. มงคล พร้อมทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยศาลได้ให้ย้ายห้องพิจารณาไปยังห้องพิจารณาที่ 13 ซึ่งอยู่ใต้ถุนศาล ก่อนพบว่ามีคณะของอธิบดีผู้พิพากษามากกว่า 20 คน ซึ่งมาดูงานที่ศาลจังหวัดเชียงราย มาร่วมนั่งฟังการอ่านคำพิพากษาด้วย

    ศาลสอบถามมงคลว่าเป็นจำเลยในคดีเดียวกับคดีมาตรา 112 สองคดีก่อนหน้านี้ของศาลนี้ใช่หรือไม่ มงคลรับว่าใช่

    ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ทั้งสองข้อความ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักคือมาตรา 112 และลงโทษเรียงกระทงทั้ง 2 กรรม

    จำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 2 ปี กับให้เพิ่มโทษจำคุกอีก 6 เดือน จากคดีที่จำเลยบุกรุกเคหสถานที่ศาลจังหวัดเชียงรายนี้ ซึ่งศาลพิพากษาให้รอการลงโทษไว้ รวมจำคุกทั้งหมด 4 ปี 6 เดือน

    นอกจากนั้น ศาลยังสั่งให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีตามมาตรา 112 สองคดีของศาลนี้ที่ได้มีคำพิพากษาไปก่อนหน้านี้แล้ว

    หลังอ่านคำพิพากษา มงคลได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลควบคุมตัวไปยังห้องขังของศาล ก่อนทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    ต่อมาเวลาประมาณ 16.30 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย โดยนัดมาฟังคำสั่งอีกครั้งในช่วงบ่ายวันถัดไป (31 ต.ค. 2566) ทำให้มงคลต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายก่อน

    คดีนี้นับเป็นคดีที่สามที่มงคลถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ในสองคดีแรกซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายสั่งพิจารณารวมกัน มงคลถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กรวมถึง 27 โพสต์ โดยศาลพิพากษาว่ามีความผิดใน 14 ข้อความ จำคุก 28 ปี โดยคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61068)
  • เวลา 13.30 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 อ่านคำสั่งผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ไม่เคยผิดสัญญาประกันหรือมีพฤติการณ์จะหลบหนี เห็นควรปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

    โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 300,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว 1. ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หากผิดเงื่อนไขให้ศาลชั้นต้นพิจารณาถอนประกันได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61068)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มงคล ถิระโคตร

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มงคล ถิระโคตร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 30-10-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มงคล ถิระโคตร

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์