สรุปความสำคัญ

“ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 30 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้และดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการปราศรัยในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ "บุ้ง-ใบปอ" บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 โดย อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความร้องทุกข์หลังเกิดเหตุ 1 วัน ก่อนศาลอนุมัติหมายจับในวันถัดมา

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเอง และการตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดต่างทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

30 ก.ค. 2565 เวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ได้เข้าจับกุม “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 30 ปี ถึงบ้านพักในจังหวัดนนทบุรี เป็นการจับกุมตามหมายจับออกโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการจับกุมในคดีมาตรา 112 ของ สน.ยานนาวา จากเหตุเข้าร่วมปราศรัยกิจกรรมเรียกร้องขอคืนสิทธิการประกันตัวให้ “บุ้ง-ใบปอ” นักกิจกรรมทะลุวัง ที่อดอาหารมาเกือบ 2 เดือน ที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ก่อนที่ชินวัตรจะถูกนำตัวไปที่ บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) ภายในสโมสรตำรวจ ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ

ก่อนหน้านี้ อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และเลขาฯ สมาชิกศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ไว้ที่ สน.ยานนาวา เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 โดยตำรวจมีการดำเนินคดีและร้องขอออกหมายจับภายในวันเดียว

ในชั้นจับกุม ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และประสงค์ให้มีทนายความคอยอยู่ร่วมในกระบวนการด้วย

สำหรับพฤติการณ์คดี พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 28 ก.ค. 2565 ชินวัตรได้ใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัยเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ฟัง รวมทั้งมีการไลฟ์สด ผ่านช่อง Youtube “ไทยทีวีนิวส์” ให้บุคคลทั่วไปรับฟังด้วย โดยมีข้อความบางส่วนกล่าวถึงการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์, เครือซีเมนต์ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การโอนย้ายกองกำลังทหารไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคดี รวมทั้งไม่ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน

ผู้กล่าวหาอ้างว่า การกระทําดังกล่าวของผู้ต้องหาเป็นการกล่าวโทษและป้ายสีสถาบัน ให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติ

พนักงานสอบสวนได้แจ้งชินวัตร 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และใช้เครื่องขยายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว โดยชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส 2 คืน เพื่อรอส่งฝากขังในวันจันทร์ที่ 1 ส.ค. 2565

1 ส.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้นำตัวชินวัตรไปยื่นขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง พร้อมทั้งคัดค้านการประกันตัว โดยระบุว่าผู้ต้องหาเคย “กระทำความผิด” ในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาก่อนหลายคดี แต่ผู้ต้องหายัง “กระทำผิดซ้ำ” จึงเห็นว่าหากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาจะกระทำความผิดในลักษณะเดิมอีก

ต่อมาหลังทนายความยื่นคำร้องคัดค้านฝากขัง ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอฝากขัง แต่ชินวัตรได้แถลงปฏิเสธ ไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี โดยขอถอนคำร้องคัดค้านฝากขัง ขอไม่ให้การต่อศาล ไม่ถามค้านพยานหากมีการสืบพยาน และไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล เนื่องจากกังขาต่อความเป็นกลางของศาล

ศาลจึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน ทำให้ชินวัตรถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

สำหรับคดีนี้ นับเป็นคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตรถูกกล่าวหาคดีที่ 7 แล้ว

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.ยานนาวา ลงวันที่ 30 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46748)

ภูมิหลัง

  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2, ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์