ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.1584/2565
แดง อ.2179/2566

ผู้กล่าวหา
  • อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • อื่นๆ
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1584/2565
แดง อ.2179/2566
ผู้กล่าวหา
  • อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ความสำคัญของคดี

“ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 30 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้และดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการปราศรัยในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ "บุ้ง-ใบปอ" บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 โดย อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความร้องทุกข์หลังเกิดเหตุ 1 วัน ก่อนศาลอนุมัติหมายจับในวันถัดมา

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเอง และการตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พิชญา ตังกบดี พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 จำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ

1. จําเลยได้ปราศรัยแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนทั่วไปที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจํานวนมากอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

2. ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชการที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

จําเลยได้ใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวและที่ผ่านไปมาได้ฟัง และเผยแพร่ผ่านช่องยูทูบ ชื่อว่า “ไทยทีวีนิวส์” (thaitvnews) ซึ่งจําเลยเป็นผู้ดูแล ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า มีเจตนาพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย และเป็นการกระทํามิบังควร จงใจเสียดสีองค์พระมหากษัตริย์ หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

ทั้งนี้ ถ้อยคําที่จําเลยได้กล่าวปราศรัยนั้นกล่าวถึงการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การโอนย้ายกองกำลังทหารไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคดี และไม่ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน

อันเป็นความเท็จและเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ เมื่อบุคคลที่สามได้ฟังคํากล่าวปราศรัยของจําเลยดังกล่าวข้างต้นแล้วเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีเจตนาเอาทรัพย์สินของชาติและภาษีของประชาชนมาเป็นของส่วนตัว ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครอง และยึดเปลี่ยนอํานาจการปกครอง จากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นระบอบราชาธิปไตย โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1584/2565 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ได้เข้าจับกุม “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 30 ปี ถึงบ้านพักในจังหวัดนนทบุรี เป็นการจับกุมตามหมายจับออกโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565

    เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการจับกุมในคดีมาตรา 112 ของ สน.ยานนาวา จากเหตุเข้าร่วมปราศรัยกิจกรรมเรียกร้องขอคืนสิทธิการประกันตัวให้ “บุ้ง-ใบปอ” นักกิจกรรมทะลุวัง ที่อดอาหารมาเกือบ 2 เดือน ที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ก่อนที่ชินวัตรจะถูกนำตัวไปที่ บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) ภายในสโมสรตำรวจ ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ

    ก่อนหน้านี้ อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และเลขาฯ สมาชิกศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ไว้ที่ สน.ยานนาวา เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 โดยตำรวจมีการดำเนินคดีและร้องขอออกหมายจับภายในวันเดียว

    สำหรับบันทึกจับกุม ระบุว่า การจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สรเสริญ ใช้สถิตย์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 รวมทั้งสิ้น 5 นาย

    ในชั้นจับกุม ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และประสงค์ให้มีทนายความคอยอยู่ร่วมในกระบวนการด้วย

    ++แจ้ง ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุร่วมชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันตัว “บุ้ง-ใบปอ” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ วิจารณ์การถ่ายโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์-การบังคับใช้ ม.112

    สำหรับพฤติการณ์คดี พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 28 ก.ค. 2565 ชินวัตรได้ใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัยเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ฟัง รวมทั้งมีการไลฟ์สด ผ่านช่อง Youtube “ไทยทีวีนิวส์” ให้บุคคลทั่วไปรับฟังด้วย โดยมีข้อความบางส่วนกล่าวถึงการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์, เครือซีเมนต์ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

    ข้อกล่าวหาอ้างว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการบิดเบือนใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทําให้ประชาชนเกลียดชังและมองว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นคนโลภหรือเป็นคนคดโกง

    คำปราศรัยยังกล่าวถึงการโอนย้ายกองกำลังทหารไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ ทําให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงรวบอํานาจและต้องการตั้งกองทัพส่วนพระองค์ อันทําให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติ นอกจากนี้การใช้คําว่า ‘หากทรงคิดพิลึก’ เป็นการหมิ่นพระเกียรติ ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าพระเจ้าอยู่หัวจะยึดอํานาจจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบราชาธิปไตย เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยไร้หลักฐาน เป็นการใส่ร้ายเบื้องสูงว่าไม่ทรงเลื่อมใสศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ทรงอยู่เหนือการเมือง ทุกประการตามรัฐธรรมนูญ

    ข้อกล่าวหายังระบุว่า มีการปราศรัยในเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคดี โดยมีการเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ และมีการกล่าวหาถึงการที่เคยไม่ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน ผู้กล่าวหาอ้างว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการเรียกร้องว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องห้ามดําเนินคดีมาตรา 112 เป็นเหตุให้ต้องทรงใช้พระราชอํานาจที่เหนือกฎหมาย คือทรงใช้พระราชอํานาจไม่ให้กฎหมายเกิดการบังคับใช้ เป็นการกระทําที่จะเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การกระทําดังกล่าวของผู้ต้องหาเป็นการกล่าวโทษและป้ายสีสถาบัน ให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติ

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งชินวัตร 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และใช้เครื่องขยายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

    หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว โดยชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส 2 คืน เพื่อรอส่งฝากขังในวันจันทร์ที่ 1 ส.ค. 2565

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.ยานนาวา ลงวันที่ 30 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46748)
  • พนักงานสอบสวนได้นำตัวชินวัตรไปยื่นขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง โดยอ้างเหตุว่า พนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 10 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือ

    ขณะเดียวกันยังคัดค้านการประกันตัว โดยระบุว่าผู้ต้องหาเคย “กระทำความผิด” ในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาก่อนหลายคดี แต่ผู้ต้องหายัง “กระทำผิดซ้ำ” จึงเห็นว่าหากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาจะกระทำความผิดในลักษณะเดิมอีก

    ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริงในคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตรถูกกล่าวหา ยังไม่มีคดีใดที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแต่อย่างใด

    ต่อมาหลังทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังในช่วงเช้า ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ในเวลา 14.30 น. โดยอนุญาตให้แค่ทนายความอยู่ในห้องพิจารณาได้เท่านั้น ครอบครัวของชินวัตร ทั้งญาติ ภรรยา และลูกชายอายุขวบครึ่ง ไม่สามารถเข้าร่วมฟังการไต่สวนได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้อ้างถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด

    ชินวัตรได้แถลงปฏิเสธ ไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี โดยขอถอนคำร้องคัดค้านฝากขัง ขอไม่ให้การต่อศาล ไม่ถามค้านพยานหากมีการสืบพยาน และไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล เนื่องจากกังขาต่อความเป็นกลางของศาล

    ++'ชินวัตร’ ปฎิเสธกระบวนการพิจารณาคดี ชี้ไม่ยอมรับอำนาจศาลที่เป็นองค์กรใต้อำนาจคู่กรณี ก่อนถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    ชินวัตรได้เขียนแถลงการณ์เผยแพร่โดยมีใจความว่า ตนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้อง จึงจำเป็นต้องออกคำแถลงการณ์ดังกล่าวไว้เพื่อให้สื่อและประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน โดยเขาจะไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างถูกต้อง 

    “ตามที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อข้าพเจ้าเป็นคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้าพเจ้าของแถลงดังนี้”

    “ศาลไทยซึ่งได้ประกาศยืนยันสถานภาพองค์กรมาโดยตลอด อันเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ศาลกระทำการพิจารณาและพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการประกาศตนว่าเป็นองค์กรใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ปัญหาทางหลักการนิติปรัชญาต่อสถานะและอำนาจของศาลในคดีที่เกิดขึ้นต่อข้าพเจ้านี้คือ ในตัวบทกฎหมายคดีอาญามาตรา 112 ดังกล่าว มีระบุเนื้อความในตัวบทว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลผู้ถูกกระทำ โดยการดูหมิ่น การหมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์จึงถือเป็นผู้เสียหายแห่งคดีนี้โดยตรง” 

    “ไม่เพียงศาลไทยประกาศตัวเป็นองค์กรของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อทนายความของข้าพเจ้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่ง “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องหาตามคำร้องฝากขังเป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงถือเป็นภัยร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนีและไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานทำให้ยุ่งยากต่อการดำเนินการพนักงานสอบสวน ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ผู้ต้องหาและผู้ขอประกันทราบโดยเร็ววัน”

    “ในคำสั่งของศาลดังกล่าว มีลักษณะการพิพากษาคดีล่วงหน้า เห็นได้ชัดเจนว่าศาลได้เชื่อว่าผู้ต้องหากระทำการหรือมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาไปแล้ว ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายเบื้องต้นที่ต้องสันนิษฐานว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ทราบจนสิ้นสงสัยหรือพิพากษาว่ามีความผิดจริง โดยที่ในชั้นฝากขังยังไม่ได้มีกระบวนการพิสูจน์ทราบใดใดทั้งสิ้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ ทั้งยังไม่มีการสืบพยาน ยังไม่มีการสืบความทางคดีใดใดเลยเสียด้วยซ้ำ”

    “คำสั่งดังกล่าวจึงกลายเป็นการพิพากษาคดีล่วงหน้าในการลงโทษจำคุกจำเลยผู้ถูกกล่าวหาก่อนการยื่นฟ้องคดี ส่วนคำสั่งของศาลที่ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนี การคาดการณ์สิ่งใด ๆ ในคดีจะต้องปรากฏหลักฐานให้เชื่อถือได้เพราะการพิจารณาพิพากษาคดีขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หาใช่การ ‘คาดเดา’ ไม่ แต่ในคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลหรือแม้แต่”

    “นอกจากนี้ คำสั่งของศาลดังกล่าวในส่วนที่ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนีและไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานทำให้ยุ่งยากต่อการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า หากปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ถูกกล่าวหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานอะไรได้อย่างไร จึงเป็นการคาดเดาไปเองของศาลโดยไร้พยานหลักฐานใดใดสนับสนุน ซึ่งเป็นโทษต่อผู้ต้องหาที่ยังบริสุทธิ์”

    “ข้าแต่ศาลที่เคารพ ตามตัวบทกฎหมายมาตรา 112 นี้ และด้วยการแสดงตนเป็นองค์กรใต้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดีนี้ ศาลจึงไร้สิ้นซึ่งความเป็นกลางทางคดี ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัยตามหลักนิติศาสตร์เบื้องต้น ศาลไทยที่แสดงตนเป็นองค์กรใต้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดี จึงไร้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ใด ๆ ในการพิจารณาหรือพิพากษา คดีมาตรา 112 ที่ข้าพเจ้าถูกแจ้งข้อกล่าวหาพิพาทกับคู่กรณีซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์”

    “ข้าพเจ้าขอประกาศต่อศาลและสาธารณชน รวมถึงวิญญชนทุกหมู่เหล่าว่า ข้าพเจ้าไม่ขอยอมรับอำนาจศาลที่เป็นองค์กรใต้อำนาจแห่งคู่กรณีดังกล่าว ในการพิจารณาคดีอาญามาตรา 112 นี้ และข้าพเจ้าจะไม่ขอเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาและกระบวนการพิพากษาคดีนี้ทั้งสิ้น โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล และกระบวนการพิพากษาคดีนี้ทั้งสิ้น แต่ก็มิขัดขวางใดๆ หากศาลต้องการดำเนินการใดต่อ ก็ขอให้ดำเนินการต่อไปแต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น มิได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการยอมรับอำนาจศาลในคดีนี้ของข้าพเจ้า จนกว่าศาลจักหาข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด ในทางพฤตินัยและนิตินัย จนเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเชื่อได้ว่า ศาลมิได้เป็นองค์กรใต้อำนาจของคู่กรณีแห่งคดี ตามตัวบทมาตรา 112 ดังกล่าว จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ข้าพเจ้าจึงจะรับพิจารณาการยอมรับหรือไม่ยอมรับอำนาจศาลอีกครั้ง” 

    ด้วยความเคารพอำนาจตุลาการที่ต้องมาจากประชาชน

    ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    .
    ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน ตามคำร้องขอพนักงานสอบสวน  ทำให้ชินวัตรถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

    สำหรับคดีนี้ นับเป็นคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตรถูกกล่าวหาคดีที่ 7 แล้ว

    (อ้างอิง: คำแถลงขอถอนคำร้องและปฏิเสธการเข้าร่วมกระบวนการของศาล ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46748)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอประกัน เนื่องจากไบรท์ต้องการสู้คดีจนถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ว่านักกิจกรรมทางการเมืองไม่ใช่อาชญากร ระบุเหตุผลสำคัญหลายประการ ดังนี้

    1. คดีนี้ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้ต้องหามิได้กระทำผิดตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหามีหนทางที่จะต่อสู้คดีได้ทั้งในส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อีกทั้งผู้ต้องหาประสงค์ที่จะนำพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นหลักฐานเพื่อเสนอต่อศาล ในการต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อที่จะได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

    2. พฤติการณ์ต่างๆ ในคดีดังกล่าว ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหานั้น เป็นการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิสูจน์โดยศาล พนักงานสอบสวนระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอย เคลือบคลุมเท่านั้น ไม่มีหลักฐานตามสมควรที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดอย่างไรบ้าง

    ในการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด และมีพยานหลักฐานที่เพียงพอที่จะกล่าวหาได้ มิใช่การตีความโดยอำเภอใจ เพียงเพื่อจะกล่าวหาว่าบุคคลกระทำความผิดเท่านั้น และการคุมขังตัวผู้ต้องหาไว้เป็นการกระทำที่เกิดกว่าเหตุ และเกินความจำเป็นในกรณีดังกล่าว

    ทั้งนี้ การที่พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงมาหลายคดี และผู้ต้องหายังมากระทำผิดซ้ำในคดีนี้อีก หากมีการปล่อยตัวชั่วคราวอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้นั้น แต่ในทุกคดีดังกล่าว ผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา และศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในคดีใด ดังนั้นจะปฏิบัติกับผู้ต้องหาในคดีนี้ อย่างกับผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของพนักงานสอบสวนจึงมิชอบด้วยกฎหมาย

    3. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่สามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีนี้ พนักงานสอบสวนเป็นผู้รวบรวมและครอบครองไว้ทั้งหมด หากมีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและดำเนินคดีในศาลได้แต่อย่างใด

    อีกทั้งผู้ต้องหายังประกอบอาชีพค้าขาย เป็นหัวหน้าครอบครัว มีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่มีอายุเพียง 1 ปีเศษ นอกจากนี้ยังเป็นเสาหลักในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว หากผู้ต้องหาถูกคุมขังไว้ในระหว่างการสอบสวนจะทำให้กระทบต่อการประกอบอาชีพและส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก

    ต่อมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันไบรท์ โดยระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของผู้ต้องหาตามคำร้องขอฝากขังพนักงานสอบสวน ประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าผู้ต้องหากระทำการในคดีนี้ต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดับอยู่หน้าอาคารศาลแพ่ง และอาญากรุงเทพใต้ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันสำคัญของคนไทยทั้งชาติ

    “เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวมาฝากขังต่อศาลก็ยื่นแถลงการณ์ติดไว้ในสำนวน ไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาคดีของศาล โดยแถลงการณ์ด้วยถ้อยคำที่ร้ายแรง ทั้งก่อนคดีนี้ผู้ต้องหายังถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการเข้าร่วมชุมนุม มั่วสุม ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมถึง 16 คดี ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ตามพฤติกรรมของผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง ดังนั้น หากปล่อยตัวชั่วคราวจึงเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ให้ยกคำร้อง”

    อย่างไรก็ตาม ในวันที่เกิดเหตุดังกล่าว พฤติการณ์ข้อกล่าวหาต่อไบรท์ เป็นการปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีพฤติการณ์ใดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าศาลแต่อย่างใด

    อีกทั้ง ในวันที่ 5 ส.ค. 2565 ทนายความได้เข้าเยี่ยมไบรท์เป็นครั้งแรก หลังจากที่เขาแถลงปฏิเสธกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และเมื่อทนายได้อ่านข่าวเรื่องของบุ้ง – ใบปอ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หลังยื่นคำร้องขอประกันในครั้งที่ 8 ให้ไบรท์ทราบ เขาก็เริ่มมีหวังอีกครั้งและขอให้ทนายทำเรื่องประกันตัว

    “หลังจากผมทราบว่าบุ้งและใบปอได้ประกัน ผมจึงขอให้ทนายประกันตัว ผมขอเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคน เพราะทุกคนไม่ใช่อาชญากร เขาแค่เพียงมีความเห็นแตกต่างกัน” ไบรท์แจ้งระหว่างการเยี่ยมในเรือนจำ

    ไบรท์ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 7 แล้ว โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี ยังไม่มีคดีในที่ศาลมีพิพากษาถึงที่สุด รวมทั้งคดีจากการชุมนุม

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 6 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46979)
  • ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พ.ต.ต เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังไบรท์เป็นครั้งที่ 2 ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง และขอให้มีการไต่สวนความจำเป็นของการฝากขังดังกล่าว ต่อมาศาลสั่งงดการไต่สวน และอนุญาตให้ฝากขังไบรท์เป็นครั้งที่ 2 ต่ออีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 13-24 ส.ค. 2565

    คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 พนักงานสอบสวนระบุเหตุผลสั้นๆ ว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยต้องสอบพยานเพิ่มอีก 5 ปาก และรอผลการตรวจสอบพิมพ์มือผู้ต้องหา

    ในขณะที่ทนายความได้เข้ายื่นคัดค้านการฝากขัง โดยสรุปว่า พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นที่จะต้องออกหมายขังผู้ต้องหาแล้ว และการขังผู้ต้องหาต่อไปเป็นการขังไว้เกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ด้วยเหตุผลดังนี้

    1. พนักงานสอบสวนได้ถามคำให้การผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว โดยผู้ต้องหาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา การคุมขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ทำให้ไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้

    2. การตรวจสอบประวัติลายพิมพ์นิ้วมือจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรเป็นขั้นตอนภายในระหว่างพนักงานสอบสวนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนที่ผู้ต้องหาเข้าไปเกี่ยวข้องได้ และผู้ต้องหาไม่มีทรัพย์สินหรืออิทธิพลใดที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขั้นตอนเหล่านั้นได้ อีกทั้งพยานที่ต้องสอบเพิ่มเติม 10 ปาก (ตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1) ซึ่งพนักงานสอบสวนอ้างนั้น ไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร ทั้งยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ ผู้ต้องหาย่อมไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานบุคคลเหล่านั้นได้

    3. การที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าผู้ต้องหาเคยทำความผิดในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาก่อนหลายคดีและมาทำความผิดซ้ำอีกในคดีนี้ หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดในลักษณะเดิมหรืออาจจะก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้

    ผู้ต้องหายืนยันว่าคดีเหล่านั้นเป็นคดีเกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม และที่สำคัญคดีเหล่านั้น ศาลยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าผู้ต้องหากระทำความผิดดังกล่าว จึงจะถือว่าการกระทำของผู้ต้องหาในคดีเหล่านั้นเป็นความผิดไม่ได้

    อีกทั้งที่ผ่านมาผู้ต้องหาได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลตามกำหนดทุกนัด โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามทะเบียนบ้าน การติดตามมาพบพนักงานสอบสวนก็ติดต่อได้ทันที

    4. ผู้ต้องหายังประกอบอาชีพค้าขาย เป็นหัวหน้าครอบครัว มีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรที่มีอายุ 1 ปีเศษ นอกจากนี้ยังเป็นเสาหลักในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว

    การคุมขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวน ย่อมเป็นการคุมขังที่เกินจำเป็น และสร้างภาระกับผู้ต้องหาที่กระทบต่อโอกาสในการต่อสู้คดี กระทบต่อการประกอบอาชีพ และส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ต้องหาอย่างมาก

    ทั้งนี้ ผู้ต้องหาขอให้มีการไต่สวนฝากขังในครั้งนี้ต่อหน้าผู้ต้องหา เพื่อแก้ไขปัญหาระบบอินเตอร์เน็ตล่าช้าที่จะทำให้ผู้ต้องหาได้ยินข้อความไม่ครบถ้วนและทักท้วงข้อมูลกับทนายความได้ทันท่วงที จนกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดี และขอให้ได้ปรึกษาคดีกับทนายความอย่างเต็มที่ตามสิทธิในการต่อพบทนายความเป็นการเฉพาะตัวตามกฎหมายรับรองไว้

    ต่อมา เวลา 13.10 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกคำร้องคัดค้านขอฝากขังครั้งที่ 2 และให้งดการไต่สวน และมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน. ยานนาวา ต่ออีกเป็นระยะเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 13-24 ส.ค. 2565 ลงนามคำสั่งโดย นฤพาน สุรำไพ

    ในขณะเดียวกันทนายความได้เข้าเยี่ยมไบรท์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อเตรียมประเด็นในการคัดค้านฝากขัง แต่จนเวลาประมาณ 13.00 น. ไม่ปรากฏว่า ศาลได้สอบถามผู้ต้องขังว่ามีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ตามขั้นตอนทางกฎหมายตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใด

    ทนายความเตรียมดำเนินการขออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2565 ต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2, คำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 11 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47119)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันไบรท์ของศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2565 มีรายละเอียดโดยสรุป คือ

    1.คดีนี้ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา การทำกิจกรรมของผู้ต้องหา หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันเกิดเหตุ ไม่ได้มีความมุ่งหมายทำร้าย หรือทำลายสถาบันกษัตริย์ให้เสื่อมเสีย แต่มุ่งหวังการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นอกจากนี้ยังมีเจตนารมณ์เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง การที่ผู้ต้องหาปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์

    2. ความสำคัญของวันที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ และองค์ประกอบภาพในวันเกิดเหตุ เป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลต้องวินิจฉัย แต่มิใช่เหตุที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ต้องนำมาพิจารณาในการสั่งให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาถึงเนื้อหาแห่งคดี และเชื่อตามคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวน ทั้งที่ผู้ต้องหายังมิได้ถูกฟ้องคดีต่อศาลเลยนั้น ย่อมขัดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์

    3. ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวน 16 คดี ก่อนหน้านี้ แต่ผู้ต้องหาก็ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด ผู้ต้องหาไม่เคยมีพฤติการณ์ในการหลบหนี ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ไม่เคยถูกถอนประกันในคดีใด

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 19 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47436)
  • ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว หลังจากวานนี้ (23 ส.ค. 2565) ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวนเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม รายละเอียดว่า

    “ศาลอุทธรณ์ตรวจสํานวนแล้ว ผู้ต้องหาอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน ซึ่งในการวินิจฉัยคําร้องขอปล่อยชั่วคราวจําเป็นที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏและพฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (2) (3)

    “โดยก่อนคดีนี้ ผู้ต้องหายังถูกดําเนินคดีรวม 16 คดี ซึ่งผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นส่งคําร้องที่บรรยายถึงการกระทําของผู้ต้องหาอันเป็นความผิด ยังไม่เพียงพอที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยสั่งคําร้องได้

    “ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยคําร้องอุทธรณ์คําสั่งขอปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน อาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรคสอง จึงให้ศาลชั้นต้นเรียกพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทําของผู้ต้องหาเพิ่มเติมจากผู้ร้อง รวมทั้งให้ไต่สวนข้ออ้างตามคําร้องอุทธรณ์คําสั่งของผู้ต้องหาและข้อคัดค้านของพนักงานสอบสวน เสร็จแล้วให้ส่งสํานวนคืนศาลอุทธรณ์เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคําร้องดังกล่าวโดยเร็ว”

    ++“ไบรท์” แถลงยืนยันเจตจำนงว่ากิจกรรมในวันเกิด ร.10 เพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น

    ที่ห้องพิจารณาคดี 502 ไบรท์ถูกนำตัวมาเข้าร่วมพิจารณาคดีผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งในวันนี้ได้มีผู้ไว้วางใจของผู้ต้องหา เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ในคดีด้วย 1 คน

    ศาลออกพิจารณาคดี โดยเริ่มสอบถาม พ.ต.ท. คมสัน เลขาวิจิตร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ถึงเหตุผลในการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้ พ.ต.ท.คมสัน อธิบายว่า เพราะเกรงว่าไบรท์จะไปก่อเหตุอันเป็นภัยความมั่นคงประการอื่นอีก

    ทนายความผู้ต้องหาได้ถามค้านก่อนแถลงสรุปว่า คดีทั้งหมดจำนวน 16 คดี ที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นเหตุในการคัดค้านการประกันตัวนั้น ไม่มีคดีไหนเลยที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินถึงที่สุดว่าไบรท์ได้กระทำผิดแต่อย่างไร

    ต่อมา ศาลได้ให้ไบรท์เบิกความผ่านจอภาพ ไบรท์กล่าวยืนยันเจตนารมณ์การเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ว่าคือการเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังในคดีการเมืองอย่าง “บุ้ง – ใบปอ” เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นหรือทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียแต่อย่างใด โดยเขาได้อธิบายว่า

    “ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เห็นความไม่ถูกต้อง และกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่มีคำตัดสินของน้องผู้หญิงสองคนนั้น ผมเพียงออกมาเพื่อประท้วงต่อศาลและประยุทธ์”

    “ผมจำได้ที่ประยุทธ์เคยบอกกับประชาชนว่าในหลวงทรงมีราชโองการไม่ให้ใช้มาตรา 112 มาดำเนินคดีกับประชาชน หรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนนี้ มันคือการกลั่นแกล้ง”

    ส่วนเหตุการณ์ที่มีการโกนหัวต่อหน้ารูปของในหลวงรัชกาลที่ 10 เขาได้แถลงต่อศาลว่า “การชูภาพของในหลวงในโทรศัพท์มือถือ และโกนหัวนั้น เป็นการส่งสารบอกพระองค์ท่านว่า มีพสกนิกรของท่านถูกรังแก”

    นอกจากนี้ ไบรท์ยังได้แถลงต่อไปว่า ในส่วนของการชูป้ายและร้องเพลงตามคำร้องคัดค้านการประกันของพนักงานสอบสวน ก็ไม่ได้มีข้อความที่ดูหมิ่นต่อกษัตริย์แต่อย่างใด มีเพียงข้อความที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังทั้งสองคนเท่านั้น

    “ในการออกแถลงการณ์ไม่รับกระบวนการยุติธรรม ก็เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าผมประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่ตอนถูกคุมขังแล้วน้องสองคนนั้นได้รับการประกัน มันทำให้ผมมีหวังและสามารถกลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการได้อีกครั้ง ผมจึงขอให้ทนายทำเรื่องประกันตัว”

    ต่อมาเวลา 15.00 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีระบุว่า เนื้อหาการไต่สวนในวันนี้จะถูกรวบรวมพร้อมกับคำร้องอุทธรณ์ที่ทนายยื่น รวมถึงคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวน เพื่อส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณามีคำสั่งต่อไป โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 วัน

    ++ไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 3 — ผู้ร้องอ้างว่าไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำได้ แม้ผู้ต้องหาจะไม่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ แต่ศาลอนุญาตฝากขังต่อ

    เวลา 15.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 404 ไบรท์ถูกเบิกตัวเข้าร่วมไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 3 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยศาลให้ผู้ร้องคือ พ.ต.ท.คมสัน เบิกความถึงเหตุจำเป็นในการขอฝากขังครั้งที่ 3 พ.ต.ท.คมสัน ระบุว่า ต้องสอบปากคำพยานบุคคลอีกจำนวน 8 ปาก และรอผลลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา

    ศาลถามถึงระยะเวลาในการดำเนินการเท่าใด ผู้ร้องแถลงว่าไม่สามารถชี้แจงวันเวลาได้ เนื่องจากการสืบเสาะหาตัวพยาน มีความจำเป็นที่จะต้องทำหนังสือแจ้ง ซึ่งการส่งหนังสือก็ใช้เวลาประมาณ 15 วัน เพราะกลุ่มพยานบุคคลที่จะนำมาสอบปากคำนั้นไม่ได้มีเพียงแค่บุคคลธรรมดา แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้วย

    ทนายความถามว่า การสอบปากคำพยานบุคคลและรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ เป็นกระบวนการภายในองค์กรตำรวจ และผู้ต้องหาก็ไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวใช่หรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่า ใช่

    ทนายถามต่อว่า หากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขัง ไบรท์ก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับกระบวนการใดๆ ของตำรวจได้ใช่หรือไม่ พนักงานสอบสวนผู้ร้องตอบว่า ถึงแม้ผู้ต้องหาจะไม่ถูกฝากขังต่อ ก็จะมีเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ชอบนำชื่อพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนจะเรียกสอบปากคำไปเผยแพร่ลงบนโซเชียล ทำให้พยานหลายคนไม่กล้ามาให้ปากคำ และทำให้กระบวนการล่าช้า

    ทนายความได้ทวนคำถามต่อผู้ร้องอีกครั้งว่า หากผู้ต้องหาถูกปล่อยตัวก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการสอบปากคำพยานบุคคลในคดีนี้ได้ใช่หรือไม่ ส่วนการเผยแพร่ชื่อพยานบุคคลที่ผู้ร้องจะสอบสวนนั้นจะสามารถทำได้อย่างไร ในเมื่อผู้ร้องไม่เคยส่งรายชื่อพยานมาให้ทนายหรือผู้ต้องหาทราบเลย ผู้ร้องจึงได้ยืนยันตามข้อเท็จจริงที่ถาม

    ทนายได้ถามต่อว่า ในคำร้องขอฝากขัง ที่อ้างว่าผู้ต้องหามีคดีอื่นอยู่อีก 16 คดี ซึ่งยังไม่มีคดีใดที่ศาลตัดสินถึงที่สุด และผู้ต้องหาก็ไปตามหมายทุกครั้ง ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และไม่เคยทำผิดเงื่อนไขประกันแต่อย่างใด จะมีเพียงแต่คดีนี้เท่านั้นที่ถูกออกหมายจับจาก สน.ยานนาวา โดยผู้ร้องได้ตอบทนายว่าไม่ทราบในรายละเอียดในคดีอื่น

    ทนายถามต่อว่า ในคดีนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนใช่หรือไม่ และหากการแบ่งหน้าที่ปฏิบัติงานภายในคณะจะสามารถช่วยลดระยะเวลาการเรียกตัวพยานมาสอบปากคำได้ไหม แต่ผู้ร้องก็ได้ตอบว่ามันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากวันว่างของพยานแต่ละคนไม่เหมือนกัน

    ทนายความได้คัดค้านคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน เนื่องจากพบว่าในเอกสารคำร้องระบุการสอบปากคำพยานบุคคลเพียง 3 ปากเท่านั้น แต่ผู้ร้องเบิกความต่อศาลว่าต้องการสอบพยานจำนวน 8 ปาก ซึ่งผู้ร้องได้แถลงตอบศาลว่าจำนวนพยานในคำร้องคือบุคคลที่ตอบรับหนังสือเชิญสอบปากคำแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงมีพยานที่ต้องการสอบจำนวน 8 ปาก ศาลจึงให้พนักงานสอบสวนแก้ไขคำร้อง

    ต่อมา 16.20 น. ศาลกลับเข้าห้องพิจารณาคดี เพื่ออ่านคำสั่ง มีใจความสำคัญเห็นว่า ผู้ร้องยังต้องสอบสวนพยานบุคคลในชั้นสอบสวนอีก 8 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือ และพยานบุคคลทั้งหมดมีความเกี่ยวพันกับผู้ต้องหา ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องมีความจำเป็นจะต้องขอฝากขังต่อ

    ในส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในระหว่างสอบสวนนั้น เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ไม่เกี่ยวกับเหตุที่ศาลจะเอามาพิจารณาว่าจะให้ฝากขังหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาต่อ 12 วัน

    ไบรท์ได้ฝากข้อความถึงมวลชนที่ยังสู้อยู่ข้างนอกว่า “ขอบคุณทุกคนที่ดูแลครอบครัวผม ตอนนี้ผมสบายดี ยังสู้อยู่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง”

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา, คำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 24 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47511)
  • ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันไบรท์ ระบุว่า พิเคราะห์คำคัดค้านของพนักงานสอบสวน ที่อ้างว่าผู้ต้องหากระทำความผิดซ้ำอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงจำนวน 16 คดี หากปล่อยชั่วคราวจะไปกระทำผิดซ้ำและก่ออันตรายประการอื่น ประกอบการถามค้านของทนายผู้ต้องหาแล้ว

    ศาลเห็นว่าคดีต่างๆ ทั้ง 16 คดี ผู้ต้องหาได้ให้ความร่วมมือไปรายงานตัวตามนัดทุกคดี บางคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือมีเพียงโทษปรับ คดีที่ขึ้นสู่ศาลและศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเคยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จึงเห็นควรให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาได้

    หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันผู้ต้องหา ทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัวชินวัตรต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ทันที ก่อน สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวน 150,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ในลักษณะเดียวกันนั้นอีก หากผิดเงื่อนไขขอให้ศาลชั้นต้น พิจารณาถอนประกันได้ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

    จึงเป็นการสิ้นสุดการถูกคุมขังรวม 26 วัน ศาลนัดรายงานตัววันที่ 19 ก.ย. 2565

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 26 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47577)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ยื่นฟ้องชินวัตรต่อศาลในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ชินวัตรได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง และเผยแพร่ผ่านช่องยูทูบ “ไทยทีวีนิวส์” ซึ่งจําเลยเป็นผู้ดูแล กล่าวถึงการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การโอนย้ายกองกำลังทหารไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคดี และไม่ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน

    อัยการอ้างว่า เนื้อหาคำปราศรัยเป็นความเท็จและเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ว่า ทรงมีเจตนาเอาทรัพย์สินของชาติและภาษีของประชาชนมาเป็นของส่วนตัว ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครอง และยึดเปลี่ยนอํานาจการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นระบอบราชาธิปไตย โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย

    นอกจากขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว อัยการยังขอให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อกับโทษจำคุกในคดีอื่นอีก 13 คดี แต่ไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1584/2565 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2565)
  • ชินวัตรเดินทางไปศาลในนัดรายงานตัวตามสัญญาประกัน โดยได้รับแจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องในกำหนดฝากขังแล้ว ก่อนควบคุมตัวชินวัตรเข้าห้องเวรชี้ เพื่อรอศาลสอบคำให้การเบื้องต้น ขณะนายประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นพิจารณาคดี

    หลังศาลสอบคำให้การ โดยชินวัตรให้การปฏิเสธ ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันและสัญญาประกันเดิมในชั้นฝากขัง พร้อมทั้งนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ธ.ค. 2565 เวลา 13.30 น.
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดว่าความในคดีอื่นที่ได้นัดไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้านโจทก์แถลงขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อนด้วย เนื่องจากยังไม่ได้ยังไม่ได้เตรียมพยานหลักฐานมา ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานไปเป็นวันที่ 2 ก.พ. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1584/2565 ลงวันที่ 19 ธ.ค. 2565)
  • ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 17-20 ต.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 1-3 พ.ย. 2566
  • ก่อนเริ่มการสืบพยานในตนัดแรก ชินวัตรตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง และได้จัดทำคำแถลงประกอบคำรับสารภาพยื่นต่อศาล ศาลจึงได้สั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาด้วย ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
  • เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 705 ศาลได้อ่านพิพากษาโดยสรุปแต่เพียงสั้น ๆ ว่า

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 100 บาท

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน อีกทั้งในคำแถลงประกอบคำให้การรับสารภาพจำเลยระบุว่า ตนกลับใจแล้ว อยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นคนดีได้ รวมถึงจำเลยยังได้เข้าร่วมกิจกรรมบริการทางสังคมต่าง ๆ หากคุมประพฤติจะเป็นผลดีกับจำเลยมากกว่า

    โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติจำเลย 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง บำเพ็ญประโยชน์ 24 ชั่วโมง ให้จำเลยงดเว้นกิจกรรมที่มีลักษณะเดียวกับการกระทำผิดนี้อีก ส่วนที่อัยการขอให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น เนื่องจากจำเลยยังไม่เคยถูกพิพากษาให้จำคุกในคดีใดมาก่อน จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

    คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่ชินวัตรถูกกล่าวหาและศาลมีคำพิพากษา โดยในชั้นสอบสวน หลังถูกจับกุม เขาเคยถูกคุมขังเป็นระยะเวลาทั้งหมด 26 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัว

    ทั้งนี้ ชินวัตรถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 7 คดี ขณะนี้อยู่ในชั้นศาลแล้ว 6 คดี โดยมีคดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อปี 2563 ที่ชินวัตรขอถอนคำให้การเดิม และให้การรับสารภาพตามฟ้องเช่นกัน ทำให้ศาลอาญากำหนดนัดฟังคำพิพากษาเฉพาะกรณีของชินวัตร ในวันที่ 13 ธ.ค. นี้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62075)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 07-12-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์