ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2934/2565

ผู้กล่าวหา
  • อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ กับพวก (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2934/2565
ผู้กล่าวหา
  • อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ กับพวก

ความสำคัญของคดี

“นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ สื่ออิสระวัย 48 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญา ก่อนนำตัวไปดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการไปร่วมร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่า ร.8” ของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 หลังอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ “เต้” กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ กับพวก เข้าแจ้งความ

ทั้งนี้ มีศิลปิน นักข่าวอิสระ และผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร้องหรือเล่นดนตรีเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น ในการชุมนุมครั้งต่างๆ ถึง 5 คน โดยมีทั้งประชาชน “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ” และตำรวจเป็นผู้กล่าวหา แต่คดีของโชคดีมีตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเอง และการตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภัทรกร อุดมผล พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 จําเลยกับพวกอีกหนึ่งคนได้ร่วมกันร้องเพลง เล่นดนตรี และเต้นรํา ในเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ "ใครฆ่า ร.8" โดยเนื้อเพลงเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยกับพวกมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์

และจําเลยได้บันทึกและเผยแพร่ถ่ายทอดสดภาพเคลื่อนไหวและเสียง (Live) การร่วมกันร้องเพลง เล่นดนตรี และเต้นรําดังกล่าว ทางช่องยูทูบ “ศักดินาเสื้อแดง" ของจําเลย ให้ประชาชนทั่วไปพบเห็นได้ โดยจําเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2934/2565 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 19.30 น. มีรายงานว่า วรัณยา แซ่ง้อ หรือ “นุ้ย” สื่ออิสระวัย 48 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรา” โดยเป็นการจับกุมในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” จากกรณีการไปร่วมร้องเพลงของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565

    การจับกุมดังกล่าวเป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 31 ส.ค. 2565 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พญาไท เข้าจับกุม ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเลขา ผู้กำกับการ สน.พญาไท

    ในตอนแรกมีรายงานว่าตำรวจจะนำตัววรัณยาไปยัง สน.พญาไท สถานีตำรวจเจ้าของคดี แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจแทน

    เวลา 21.00 น. ทนายความเดินทางติดตามไปถึง บช.ปส. แต่ยังรอพนักงานสอบสวนเดินทางมาถึง จากนั้นได้มีการจัดทำบันทึกจับกุม โดยส่วนหนึ่งได้ระบุว่าตำรวจได้รับแจ้งจาก “สายลับ” ว่าวรัณยาจะมาปรากฏตัวที่ถนนงามวงศ์วานดังกล่าว

    พ.ต.ท.วิทยากร สุวรรณเรืองศรี รองผู้กำกับสอบสวน สน.พญาไท ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อวรัณยา โดยเหตุที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าวรัณยาพร้อมกับพวก ได้จัดกิจกรรมร้องเพลงเล่นดนตรีบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังป้ายรถเมล์ใต้สกายวอล์ค มีการไลฟ์สดผ่านช่องยูทูบ “ศักดินาเสื้อแดง” ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าดูได้ โดยมีเนื้อเพลงลักษณะเสียดสีใส่ร้ายทางการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์

    เจ้าหน้าที่ได้ยกเนื้อเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่า ร.8” ของวงไฟเย็น มากล่าวหา พร้อมระบุว่าบุคคลทั่วไปเมื่อได้ฟังเพลงดังกล่าวรู้ได้ทันทีว่า เจตนาด้อยค่าพระมหากษัตริย์ ทั้งพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันและในอดีต ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์ เป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จมาแสดงต่อสาธารณะและสื่อโซเชียลที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ตำรวจระบุว่าคดีนี้มี อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ “เต้” จากกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ กับพวก เป็นผู้มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา โดยวรัณยาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    หลังการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัววรัณยาไว้ที่ บช.ปส. 1 คืน

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.พญาไท ลงวันที่ 1 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47855)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาในการฝากขังผู้ต้องหา อ้างเหตุว่า ยังต้องรอสอบพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษ

    พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากได้รับการปล่อยตัว เกรงว่าจะหลบหนีและผู้ต้องหาเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน และอยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอาญากรุงเทพใต้ เกรงว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ หรือทำผิดเงื่อนไขของศาล

    ต่อมา ศาลอาญาได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นระยะเวลา 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่ามีเหตุจำเป็นเมื่อการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ทางทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว

    ก่อนที่เวลาประมาณ 17.15 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา หรือกระทำไปในทางที่ทำให้เสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวกับผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน ในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน

    นัดรายงานตัวต่อศาลวันที่ 20 ต.ค. 2565 เวลา 08.30 น.

    ก่อนหน้านี้ วรัณยาได้เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116 มาก่อน จากกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โดยเธอไปไลฟ์สดกิจกรรมดังกล่าว แต่กลับถูกดำเนินคดีไปด้วย

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 2 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47855)
  • พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องวรัณยาในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวหาว่า เนื้อเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่า ร.8” ที่วรัณยากับพวกอีกหนึ่งคนร้องบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 พร้อมทั้งเผยแพร่ทางช่องยูทูบ “ศักดินาเสื้อแดง" เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยกับพวกมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์

    ท้ายคำฟ้อง พนักงานอัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี อ้างว่า คดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2934/2565 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2565)
  • วรัณยาเดินทางไปศาลในนัดรายงานตัวตามสัญญาประกัน โดยได้รับแจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องในกำหนดฝากขังแล้ว วรัณยาจึงต้องถูกควบคุมตัวเข้าห้องเวรชี้ เพื่อรอศาลสอบคำให้การเบื้องต้น ขณะนายประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวชั้นพิจารณาคดี

    หลังศาลสอบคำให้การ ศาลได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง พร้อมทั้งนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 ม.ค. 2566 เวลา 13.30 น.
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง วรัณยาให้การปฏิเสธตามคําให้การฉบับลงวันที่วันนี้ โจทก์แถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 32 ปาก เป็นผู้กล่าวหา 3 ปาก, ผู้ถอดเทป, นักวิชาการผู้ให้ความเห็น 3 ปาก, ประชาชนผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคํา 20 ปาก, ผู้ตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีของกลาง และพนักงานสอบสวน 4 ปาก เนื่องจากกลุ่มพยานที่ให้ความเห็นเป็นการให้ความเห็นในข้อเท็จจริงเดียวกัน ศาลจึงให้โจทก์เลือกนําพยานนักวิชาการมาสืบ 1 ปาก และประชาชน 2 ปาก คงเหลือพยานโจทก์ที่นําเข้าสืบรวม 12 ปาก ขอใช้เวลาสืบ 2 นัด

    จําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า การกระทําของจําเลยไม่เป็นความผิด ประสงค์นําพยานเข้าสืบรวม 4 ปาก ได้แก่ จําเลย, ผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์ นําสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางการปกครอง, ผู้เชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ นําสืบว่าจําเลยไม่ใช่บุคคลที่นําข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ ขอใช้เวลาสืบ 1 นัด

    นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 30 ม.ค., 23 ก.พ. 2567 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 15 มี.ค. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2934/2565 ลงวันที่ 23 ม.ค.. 2566)
  • เวลา 10.00 น. ที่ สน.พญาไท “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร วัย 53 ปี พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” เป็นคดีที่ 2 หลังจากได้รับการติดต่อจากตำรวจติดต่อ ก่อนพบว่าถูกกล่าวหาจากการเป็นผู้เล่นกีตาร์ให้วรัณยาร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่า ร.8” ของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 โดยมี อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ “เต้ อาชีวะ” กับพวก เป็นผู้กล่าวหา

    พ.ต.ท.วิทยากร สุวรรณเรืองศรี และ ร.ต.อ.พีรพงษ์ โพธิ์ศรี คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง บก.น.1 ลงวันที่ 1 ก.ย. 2565 เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาให้โชคดีทราบว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. โชคดีกับพวก มีการจัดกิจกรรม ร้องเพลง เล่นดนตรี บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใต้สกายวอล์คฝั่งเกาะพญาไท โดยมีเจตนาร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ มีบางคนเล่นดนตรี บางคนร้อง บางคนเต้น และร่วมกันร้องเพลง โดยพวกของผู้ต้องหาได้ไลฟ์สดถ่ายทอดทางช่องยูทูปศักดินาเสื้อแดง ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าดูได้ โดยมีเนื้อเพลงลักษณะเสียดสีใส่ร้ายทางการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์

    พฤติการณ์ข้อกล่าวหาได้มีการยกเนื้อหาบทสนทนาระหว่างทำกิจกรรมดังกล่าว บางท่อนมีการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และเพลง “ใครฆ่า ร.8” ของวงไฟเย็น โดยมีผู้ร้องหลักคือวรัณยา

    ผู้กล่าวหาเห็นว่าเมื่อได้ฟังเพลงดังกล่าว รู้ได้ทันทีว่าหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นการเจตนาด้อยค่าพระมหากษัตริย์ ทั้งองค์ปัจจุบันและพระมหากษัตริย์ในอดีต ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ต่อมาจากการสืบสวนสอบสวนพบว่า โชคดีอยู่ในที่เกิดเหตุ และร่วมกันกระทำกับกลุ่มดังกล่าว โดยเป็นคนเล่นกีตาร์และควบคุมเครื่องเสียง จึงเห็นว่าเป็นการร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    โชคดีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และตำรวจได้ให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ แต่นัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 17 มี.ค. 2566

    คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของโชคดี หลังเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 เขาถูกตำรวจ สน.นางเลิ้ง เรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาเหตุจากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ เช่นกัน แต่เป็นกรณีการร้องเพลงในระหว่างกิจกรรมหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในช่วงหัวค่ำวันที่ 23 ส.ค. 2565 หลังจากกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในคดีนี้แล้ว

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.พญาไท ลงวันที่ 3 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54007)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วรัณยา แซ่ง้อ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์