สรุปความสำคัญ

อติรุจ (สงวนนามสกุล) โปรแกรมเมอร์ วัย 25 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กล่าวหาว่าอติรุจไม่ยอมนั่งลงเพื่อรอรับเสด็จและตะโกนวิจารณ์ว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จของ ร.10 และพระราชินี ขณะเคลื่อนผ่านศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อติรุจยังถูกดำเนินคดีข้อหา ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ด้วย เนื่องจากขัดขืนการควบคุมตัวออกจากที่เกิดเหตุไปยังภายในศูนย์การประชุมฯ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อติรุจ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

15 ต.ค. 2565 เวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 10 นาย ควบคุมตัวอติรุจออกไประหว่างขบวนเสด็จขากลับของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เคลื่อนผ่านบริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวหาว่าอติรุจไม่ยอมนั่งลงเพื่อรอรับเสด็จและตะโกนวิจารณ์ว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จที่เคลื่อนผ่านไป

ต่อมาอติรุจถูกควบคุมจากพื้นที่บริเวณศูนย์การประชุมฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะควบคุมตัวไปยัง สน.ลุมพินี บุคคลใกล้ชิดและประชาชนจำนวนหนึ่งจึงติดตามไปที่ สน.ลุมพินี แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี กลับปฏิเสธการให้ข้อมูลว่า อติรุจถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจหรือไม่

ขณะเดียวกัน ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี เรียกตั้งแถวระดมกำลังเจ้าหน้าที่บริเวณหน้า สน. จำนวนประมาณ 30 นาย และมีการตั้งแผงเหล็กกั้นรอบพื้นที่ สน. พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนประจำการอยู่รอบบริเวณ

กระทั่งเวลาผ่านไปราว 4 ชั่วโมง ในเวลาประมาณ 22.00 น. ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี จึงยืนยันว่า อติรุจถูกควบคุมอยู่ภายใน สน.ลุมพินีจริง ทนายความจึงเดินทางติดตามไปโดยทันที

เมื่อไปถึงพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำบันทึกจับกุมและดำเนินการตรวจปัสสาวะผู้ต้องหาไปแล้ว โดยไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนและแจ้งหาข้อกล่าวหาแต่อย่างใด อติรุจยังปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกที่เจ้าหน้าที่จัดทำ

หลังทนายความเข้าถึงตัวอติรุจได้ตรวจสอบด้วยตาเปล่า พบว่าอติรุจได้รับบาดเจ็บจากการเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 10 นาย โดยพบว่ามีรอยถลอก 3 จุด ที่ข้อเท้าซ้าย ข้อศอกซ้าย และข้อศอกขวา ส่วนนิ้วกลางขวาพบว่าเล็บฉีกขาด

บีม (สงวนชื่อ-นามสกุล) ประชาชนผู้ถ่ายคลิปวิดีโอเหตุการณ์ในขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมอติรุจได้ เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เข้ามาอุ้มอติรุจออกไปทันที พร้อมยังใช้มือปิดปากอติรุจเพื่อไม่ให้ส่งเสียง ก่อนควบคุมตัวพาเข้าไปใส่กุญแจมือในศูนย์การประชุมฯ ในท่านอนคว่ำราบลงกับพื้น

บันทึกจับกุมโดยสรุป ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลา 17.20 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินี เสด็จไปทรงเปิดอาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เวลาประมาณ 18.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นชายไม่ทราบชื่อ ต่อมาทราบว่า คือ อติรุจ ได้ยืนอยู่บริเวณทางขึ้นประตูเอเทรียมของศูนย์การประชุม จึงได้เข้าไปตรวจสอบและชักชวนให้นั่งลงเฝ้ารับเสด็จ แต่อติรุจไม่ยินยอมนั่งลง พร้อมยืนยันจะขอยืนดู เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ข้างเคียงให้ช่วยกันเข้ามาเฝ้าระวัง

หลังจากนั้นไม่นานเมื่อขบวนเสด็จขากลับเคลื่อนผ่าน ผู้ต้องหาได้ตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ในขณะที่ประชาชนคนอื่นต่างพากันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” เจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณดังกล่าว เห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นภัยคุกคามต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระราชินี จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาออกจากพื้นที่ไปยังภายในศูนย์การประชุมฯ ปรากฏว่าผู้ต้องหาขัดขืน โดยใช้เท้าถีบเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย ได้รับบาดเจ็บบริเวณหลังแขนด้านซ้ายและผู้ต้องหาหลุดจากการควบคุมตัว กระแทกพื้น

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหากับอติรุจ ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

อติรุจได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป หลังการสอบสวน ตำรวจยังได้ควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีต่อไป โดยเตรียมจะนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลในวันจันทร์ที่เปิดทำการ

วันถัดมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ยังได้นำหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 16 ต.ค. 2565 ไปขอตรวจค้นบ้านพักของอติรุจ ที่ จ.ปทุมธานี ในเวลา 14.00 – 17.50 น. อีกด้วย แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 09.00 น. พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอติรุจต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขังและอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต

ผลจากคำสั่งดังกล่าวทำให้อติรุจได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นหลังถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ลุมพินี 2 คืน

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.ลุมพินี ลงวันที่ 15 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/49650)

ภูมิหลัง

  • อติรุจ (สงวนนามสกุล)
    เริ่มติดตามการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเขาอยู่ในช่วงจบ ม.3 จะขึ้น ม.4 กระทั่ง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถูกบังคับสูญหายเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 ทำให้เขาค่อนข้างสะเทือนใจ เมื่อมีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองที่เริ่มจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก เขาจึงติดตามข่าวและออกไปร่วมด้วย โดยทุกครั้งเขาเลือกจะเดินทางไปคนเดียว

    อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/62155

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์