ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ต่อสู้/ ขัดขวางการปฎิบัติของเจ้าพนักงาน (มาตรา 138)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.17/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ชยาคมน์ โพธิ์ปรึก (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ต่อสู้/ ขัดขวางการปฎิบัติของเจ้าพนักงาน (มาตรา 138)

หมายเลขคดี

ดำ อ.17/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ชยาคมน์ โพธิ์ปรึก

ความสำคัญของคดี

อติรุจ (สงวนนามสกุล) โปรแกรมเมอร์ วัย 25 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กล่าวหาว่าอติรุจไม่ยอมนั่งลงเพื่อรอรับเสด็จและตะโกนวิจารณ์ว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จของ ร.10 และพระราชินี ขณะเคลื่อนผ่านศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อติรุจยังถูกดำเนินคดีข้อหา ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ด้วย เนื่องจากขัดขืนการควบคุมตัวออกจากที่เกิดเหตุไปยังภายในศูนย์การประชุมฯ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

วรวัตร สีหะ พนักงานอัยการ สำนักงานพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 บรรยาฟ้องใจความโดยสรุปว่า
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 18.30 น. จำเลยได้กระทำผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีได้เสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงเปิดอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขณะที่ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของทั้งสองพระองค์เสด็จกลับออกไป มีประชาชนต่างพร้อมใจนั่งเฝ้ารับเสด็จตรงบริเวณเส้นทางเข้าและเส้นทางออกอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และต่างพากันเปล่งเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” จําเลยซึ่งยืนอยู่บริเวณที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนขบวนผ่านได้ตะโกนเสียงดังหันหน้าไปทางขบวนเสด็จว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ”

อันเป็นถ้อยคํากล่าวที่มิบังควร จาบจ้วง มุ่งหมายใส่ความให้ประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จและบุคคลทั่วไปเห็นว่า การเสด็จพระราชดําเนินนั้นเป็นการสร้างปัญหา สร้างภาระให้ประชาชน เสด็จไปที่ใดทําให้ประชาชนเดือดร้อน เอาแต่ประโยชน์ส่วนพระองค์ ไม่คํานึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทําให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี

2. หลังจากที่จำเลยได้ตะโกนประโยคดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยในบริเวณนั้นประมาณ 5 นาย ได้เข้าจับกุมจำเลยทันที เพื่อให้จําเลยหยุดการกระทําดังกล่าว แต่จําเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ใช้กำลังประทุษร้าย โดยใช้เท้าถีบตํารวจผู้จับกุมถูกบริเวณแขนของ ร.ต.อ.อรรถพร คนไหวพริบ อย่างแรง ทำให้ได้รับบาดเจ็บเกิดบาดแผลถลอกช้ำบริเวณแขนซ้าย ขนาดกว้าง 0.5 ซม. ยาว 3 ซม. และทำให้ ร.ต.อ.ชิณกรณ์ ภูพันนา ได้รับบาดเจ็บฟกช้ำบริเวณกลางหลังช่วงเอว

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.17/2566 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 10 นาย ควบคุมตัวอติรุจออกไประหว่างขบวนเสด็จขากลับของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เคลื่อนผ่านบริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวหาว่าอติรุจไม่ยอมนั่งลงเพื่อรอรับเสด็จและตะโกนวิจารณ์ว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จที่เคลื่อนผ่านไป

    ต่อมาอติรุจถูกควบคุมจากพื้นที่บริเวณศูนย์การประชุมฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะควบคุมตัวไปยัง สน.ลุมพินี บุคคลใกล้ชิดและประชาชนจำนวนหนึ่งจึงติดตามไปที่ สน.ลุมพินี แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี กลับปฏิเสธการให้ข้อมูลว่า อติรุจถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจหรือไม่

    ขณะเดียวกัน ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี เรียกตั้งแถวระดมกำลังเจ้าหน้าที่บริเวณหน้า สน. จำนวนประมาณ 30 นาย และมีการตั้งแผงเหล็กกั้นรอบพื้นที่ สน. พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนประจำการอยู่รอบบริเวณ

    กระทั่งเวลาผ่านไปราว 4 ชั่วโมง ในเวลาประมาณ 22.00 น. ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี จึงยืนยันว่า อติรุจถูกควบคุมอยู่ภายใน สน.ลุมพินีจริง ทนายความจึงเดินทางติดตามไปโดยทันที

    เมื่อไปถึงพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำบันทึกจับกุมและดำเนินการตรวจปัสสาวะผู้ต้องหาไปแล้ว โดยไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนและแจ้งหาข้อกล่าวหาแต่อย่างใด อติรุจยังปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกที่เจ้าหน้าที่จัดทำ

    หลังทนายความเข้าถึงตัวอติรุจได้ตรวจสอบด้วยตาเปล่า พบว่าอติรุจได้รับบาดเจ็บจากการเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 10 นาย โดยพบว่ามีรอยถลอก 3 จุด ที่ข้อเท้าซ้าย ข้อศอกซ้าย และข้อศอกขวา ส่วนนิ้วกลางขวาพบว่าเล็บฉีกขาด

    บีม (สงวนชื่อ-นามสกุล) ประชาชนผู้ถ่ายคลิปวิดีโอเหตุการณ์ในขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมอติรุจได้ เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เข้ามาอุ้มอติรุจออกไปทันที พร้อมยังใช้มือปิดปากอติรุจเพื่อไม่ให้ส่งเสียง ก่อนควบคุมตัวพาเข้าไปใส่กุญแจมือในศูนย์การประชุมฯ ในท่านอนคว่ำราบลงกับพื้น

    บันทึกจับกุมโดยสรุป ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลา 17.20 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินี เสด็จไปทรงเปิดอาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

    เวลาประมาณ 18.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นชายไม่ทราบชื่อ ต่อมาทราบว่า คือ อติรุจ ได้ยืนอยู่บริเวณทางขึ้นประตูเอเทรียมของศูนย์การประชุม จึงได้เข้าไปตรวจสอบและชักชวนให้นั่งลงเฝ้ารับเสด็จ แต่อติรุจไม่ยินยอมนั่งลง พร้อมยืนยันจะขอยืนดู เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ข้างเคียงให้ช่วยกันเข้ามาเฝ้าระวัง

    หลังจากนั้นไม่นานเมื่อขบวนเสด็จขากลับเคลื่อนผ่าน ผู้ต้องหาได้ตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ในขณะที่ประชาชนคนอื่นต่างพากันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” เจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณดังกล่าว เห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นภัยคุกคามต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระราชินี จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาออกจากพื้นที่ไปยังภายในศูนย์การประชุมฯ ปรากฏว่าผู้ต้องหาขัดขืน โดยใช้เท้าถีบเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย ได้รับบาดเจ็บบริเวณหลังแขนด้านซ้ายและผู้ต้องหาหลุดจากการควบคุมตัว กระแทกพื้น

    พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหากับอติรุจ ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

    อติรุจได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป หลังการสอบสวน ตำรวจยังได้ควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีต่อไป โดยเตรียมจะนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลในวันจันทร์ที่เปิดทำการ

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.ลุมพินี ลงวันที่ 15 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/49650)
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี นำหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 16 ต.ค. 2565 ไปขอตรวจค้นบ้านพักของอติรุจ ที่ จ.ปทุมธานี ในเวลา 14.00 – 17.50 น. แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/49650)
  • เวลาประมาณ 09.00 น. พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ยื่นคำร้องขอฝากขังอติรุจต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นระยะเวลา 12 วัน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านฝากขังทันที ศาลได้สั่งให้มีการไต่สวนการฝากขังขึ้นในเวลาประมาณ 13.00 น.

    หลังศาลดำเนินการไต่สวนคัดค้านฝากขังแล้วเสร็จ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอติรุจตามคำร้องของพนักงานสอบสวนที่อ้างเหตุผลว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา มีความจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้

    ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอติรุจต่อทันที ด้วยวงเงิน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง โดยกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต นัดรายงานตัววันที่ 6 ธ.ค. 2565

    ผลจากคำสั่งดังกล่าวทำให้อติรุจได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็น หลังถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ลุมพินี 2 คืน

    ++อติรุจเผย ระหว่างถูกคุมตัวอยู่ สน.ถูก ตร.พาไป รพ.จิตเวช ถูกมัดมือ-เท้าติดเก้าอี้ ก่อนถูกเค้นถามด้วยชุดคำถามประหลาด ซ้ำถูกเจาะเลือดโดยไม่ยินยอม

    อติรุจเปิดเผยว่า หลังถูกจับกุมเขาเองก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน โดยพบว่ามีรอยถลอก 3 จุด ที่ข้อเท้าซ้าย ข้อศอกซ้าย และข้อศอกขวา ส่วนนิ้วกลางขวาพบว่าเล็บฉีกขาด

    ขณะถูกจับกุมเขาไม่ทราบเลยว่าเหล่าบุคคลที่เข้าถึงตัวเขานั้นเป็นใครบ้าง เพราะทุกคนแต่งกายด้วยชุดธรรมดา ไม่ใช่ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร ไม่มีบัตรประจำตัว และไม่มีการแสดงตัวหรือแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

    ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ลุมพินี และยังไม่ได้พบกับทนายความ ตำรวจก็ได้ควบคุมตัวเขาไปตรวจเช็คสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยไม่รอให้ทนายความหรือผู้ไว้วางใจมาถึงและเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวด้วย

    เมื่อถึงโรงพยาบาลจิตเวช อติรุจถูกมัดมือและเท้าติดกับเก้าอี้และถูกเจ้าหน้าที่พยาบาลถามคำถามคัดกรองผู้ป่วยทางจิตเบื้องต้น แม้อติรุจจะพยายามทัดทานแล้วว่าไม่ได้มีอาการป่วยทางจิตเวชหรือจะสร้างอันตรายกับใครได้ และไม่จำเป็นต้องมัดเขาไว้กับเก้าอี้ แต่ก็ไม่เป็นผล หลังพยายามอธิบายเหมือนว่าพยาบาลจะยิ่งรัดเชือกให้แน่นยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

    พยาบาลถามคำถามคัดกรองเบื้องต้นไปเรื่อย ๆ แต่อติรุจรู้สึกว่าคำถามช่วงหลังนั้นจะดูไม่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองผู้มีอาการป่วยทางจิต เนื่องจากมีการใช้คำถามที่เกี่ยวข้องกับการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายคำถาม เช่น “รู้สึกอย่างไรบ้างกับสถาบันฯ” “เคยไปม็อบมาก่อนหรือเปล่า” เป็นต้น นอกจากนี้พยาบาลยังได้ทำการเจาะเลือดไปโดยที่อติรุจไม่ให้ความยินยอมอีกด้วย

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 17 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/49650 และ https://tlhr2014.com/archives/52090)
  • อติรุจพร้อมทนายความเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดย พ.ต.ต.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ พนักงานสอบสวน แจ้งว่า การกระทำของอติรุจเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เป็นการ "ต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง อีก 1 ข้อหา อติรุจให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อท้ายบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

    พนักงานสอบสวนนัดอติรุจมาส่งตัวให้อัยการในวันที่ 15 ธ.ค. 2565

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.ลุมพินี ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2565)
  • พนักงานสอบสวนส่งตัวอติรุจพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 9 ม.ค. 2566
  • ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอติรุจ ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 และมาตรา 138 วรรคสอง

    โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 18.30 น. ขณะขบวนรถยนต์พระที่นั่งของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จําเลยได้ตะโกนเสียงดังหันหน้าไปทางขบวนเสด็จว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ”

    อัยการอ้างว่า ประโยคข้างต้นเป็นถ้อยคํากล่าวที่มิบังควร จาบจ้วง มุ่งหมายใส่ความให้ประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จและบุคคลทั่วไปเห็นว่าการเสด็จพระราชดําเนินนั้นเป็นการสร้างปัญหา สร้างภาระให้ประชาชน เสด็จไปที่ใดทําให้ประชาชนเดือดร้อน เอาแต่ประโยชน์ส่วนพระองค์ ไม่คํานึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อทั้งสองพระองค์

    นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยในบริเวณนั้นประมาณ 5 นาย ได้เข้าจับกุมจำเลย จําเลยได้ต่อสู้ขัดขวาง ใช้กำลังประทุษร้าย โดยใช้เท้าถีบตํารวจผู้จับกุมถูกบริเวณแขนของ ร.ต.อ.อรรถพร คนไหวพริบ อย่างแรง ทำให้ได้รับบาดเจ็บเกิดบาดแผลถลอกช้ำบริเวณแขนซ้าย ขนาดกว้าง 0.5 ซม. ยาว 3 ซม. และทำให้ ร.ต.อ.ชิณกรณ์ ภูพันนา ได้รับบาดเจ็บฟกช้ำบริเวณกลางหลังช่วงเอว

    อย่างไรก็ตาม อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    ภายหลังศาลรับฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอติรุจ โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวน จำนวน 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 ก.พ. 2566

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.17/2566 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52090)
  • หลังศาลอ่านและอธิบายฟ้อง อติรุจให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงขอสืบพยาน 15 ปาก ใช้เวลา 4 นัด ฝ่ายจำเลยขอสืบพยาน 3 ปาก ใช้เวลา 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-27 ต.ค. 2566 สืบพยานจำเลยในวันที่ 31 ต.ค. 2566
  • ก่อนเริ่มการสืบพยานในนัดแรก อติรุจขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แต่ยืนยันปฏิเสธและต่อสู้คดีข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 138

    อัยการได้นำพยานโจทก์เข้าสืบพยานทั้งสิ้น 9 ปาก ได้แก่ ทหารผู้ถ่ายวิดีโอขณะเกิดเหตุ 1 นาย, ตำรวจผู้จับกุม 5 นาย, ทหารผู้จับกุม 1 นาย, ตำรวจ บก.ปอท. 1 นาย และพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี 1 นาย ส่วนทนายความจำเลยได้นำพยานจำเลยเข้าสืบพยานทั้งสิ้น 1 ปาก คือ อติรุจผู้เป็นจำเลยในคดี

    โจทก์นำสืบว่า เจ้าหน้าที่ได้รับมอบหมายให้แต่งกายนอกเครื่องแบบด้วยสีเสื้อต่าง ๆ และมีบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ติดที่เสื้อทุกคน มีการเฝ้าระวังหลังจากที่จำเลยไม่นั่งลง เมื่อจำเลยตะโกนขึ้นจึงต้องระงับเหตุเนื่องจากไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่จำเลยขัดขืนไม่ยอมให้ควบคุมตัวจึงต้องมีการอุ้มในลักษณะหิ้วปีก จำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางขณะถูกจับกุมโดยการดิ้นและใช้เท้าถีบเจ้าพนักงานจนได้รับบาดเจ็บ

    ด้านจำเลยต่อสู้ว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งมายืนประกบตัวจำเลยไม่ได้แต่งกายด้วยเครื่องแบบ และไม่สามารถสังเกตเห็นบัตรประจำตัวได้ อีกทั้งตั้งแต่ก่อนจับกุมจนกระทั่งถูกอุ้มตัวไปในห้องปฏิบัติการที่ลับตาคน เจ้าหน้าที่ไม่เคยตอบคำถามหรือพูดคุยกับจำเลย จำเลยไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ที่มาควบคุมตัวอยู่นั้นเป็นใคร จึงทำให้โกรธและดิ้นในขณะที่ถูกจับกุม รวมถึงขณะที่ถูกอุ้มรู้สึกได้ว่ามีมือมากระทบใบหน้าเพื่อให้จำเลยหยุดดิ้น

    ++ทหารผู้ถ่ายวิดีโอในเหตุการณ์เบิกความว่าสังเกตเห็นชายต้องเฝ้าระวัง จึงยืนถ่ายวิดีโอเผื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น หลังจำเลยตะโกนมีการระงับเหตุ ชี้การกระทำเป็นภัยต่อสถาบันฯ

    พลโทสุเมธ พรหมตรุษ ขณะเกิดเหตุ รับราชการทหารอยู่ที่กองบังคับการ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

    พยานเบิกความว่า ในหลวงและพระราชินีมาเปิดศูนย์ประชุมสิริกิติ์ตามหมายกำหนดการวันที่ 15 ต.ค. 2565 ซึ่งพยานได้รับแจ้งล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน มีการประชุมเตรียมพร้อมเป็นระยะ ในวันเกิดเหตุมีการประชุมเวลา 13.00 น. เพื่อเตรียมการรับเสด็จ การแต่งกายของเจ้าหน้าที่จะมีทั้งในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบ และใส่สูท มีบัตรประจำตัวติดที่เสื้อทุกคน

    ในวันเกิดเหตุพยานใส่ชุดสูท อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ในช่วงขามา เสด็จถึงก่อน 18.00 น. และเสด็จกลับประมาณ 19.00 น. เมื่อรถเตรียมออก พยานต้องเตรียมพื้นที่และตรวจสอบความปลอดภัย เพราะต้องย้ายคนจากจุดทางเข้ามายังจุดทางออก

    ก่อนเกิดเหตุ ในวันนั้นชั้นใต้ดินมีงานสัปดาห์หนังสือ จำเลยซึ่งใส่เสื้อสีดำ กางเกงสีดำ สะพายกระเป๋า สวมหน้ากากอนามัยสีดำเดินมาจากชั้นใต้ดินและเห็นพฤติกรรมแปลก ๆ จึงมีการเฝ้าระวัง

    วันนั้นจะมีการเชิญชวนให้ประชาชนไปนั่งเพื่อรอรับเสด็จ ใครจะไม่นั่งลงก็ไม่เป็นไร จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ซึ่งใส่เสื้อสีน้ำเงิน กางเกงสีดำ และติดบัตรประจำตัวไปเชิญให้จำเลยนั่งลง แต่จำเลยไม่ได้นั่งลง ซึ่งคนทั่วไปจะเข้าใจได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากบัตรประจำตัว

    เมื่อเห็นว่าจำเลยไม่นั่งลง เจ้าหน้าที่ก็จะเตรียมการหากเกิดเหตุ เนื่องจากจำเลยมีกระเป๋า ซึ่งไม่ทราบว่ามีอาวุธหรือไม่ และการที่จำเลยยืนจะควบคุมตัวได้ยากกว่านั่ง พยานถ่ายวิดีโอเผื่อเกิดเหตุขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่เตรียมรับเหตุทั้งซ้ายและขวาประมาณ 4-5 นาย ส่วนจำเลยนั้นยืนหันหน้าเข้าหาขบวนเสด็จ เมื่อขบวนเสด็จผ่าน มีการตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” มีการระงับเหตุโดยการปิดปาก เนื่องจากไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกว่ามีคนประสงค์ต่อพระองค์ท่านไม่ดีและเกิดการกระทบกระทั่ง

    หลังจากเจ้าหน้าที่ยกตัวจำเลยทั้งแขนและขา มีการใช้เท้าถีบ ดิ้นรนขัดขืน และด่าทอ จุดประสงค์ของพยานคืออยากให้จำเลยใจเย็นลง จึงพาลงไปข้างล่างในห้องปฏิบัติการ โดยไม่มีการทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ เวลาเกิดเหตุเป็นเวลาค่ำ มีโคมไฟ และแสงไฟจากศูนย์ประชุมฯ จึงมองเห็นได้ชัดเจน

    พยานเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศและไม่เหมาะสมต่อหน้าประชาชนที่จงรักภักดี

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานกล่าวว่าที่เกิดเหตุไม่ได้มีการปิดถนน ประชาชนสามารถเดินได้ ยกเว้น 1 นาที ในช่วงที่มีขบวนเสด็จ วันดังกล่าวทหารมีหลายส่วน รวมแล้วประมาณ 100 นาย ในจุดเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณ 50 นาย บางส่วนปะปนอยู่กับประชาชน มีหลากหลายสีเสื้อ ไม่ได้สวมเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ แต่จะติดบัตรประจำตัว

    ก่อนเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเชิญให้จำเลยนั่ง แต่จำเลยไม่นั่งลง ก็เป็นสัญชาตญาณที่ทำให้รู้ได้ ทำให้มีตำรวจ 4 นายเดินประกบ พยานไม่ได้ยินที่จำเลยพูดขณะที่ถูกประกบตัวว่า “มาประกบตัวทำไม” ทั้งนี้ พยานได้สั่งเจ้าหน้าที่ว่าอย่าไปทำอะไรเพราะจำเลยยังไม่ได้ก่อเหตุ ให้ระงับเหตุให้ทันเพื่อไม่ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทั้งนี้ จากสายตาของพยาน ไม่เห็นว่ามีใครเข้าไปคุยกับจำเลยหลังจากที่มีเจ้าหน้าที่ไปคุยครั้งแรก

    พยานใส่สูทยืนถ่ายคลิปวิดีโออยู่ด้านหลังก่อนที่จำเลยตะโกนด้วยเสียงดังว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” จนถูกล็อกตัว ความยาววิดีโอประมาณ 4 นาที เริ่มถ่ายตั้งแต่รถขบวนออก จนสิ้นสุดในวิดีโอ พยานได้พูดว่า “เอาลงไปข้างล่าง”

    พยานยืนยันว่ามีการกดให้จำเลยนั่งลง แต่จำเลยไม่ไปและขัดขืนจึงมีการหิ้วปีก จับแขนและขา ขณะนั้นยังไม่ได้ใส่กุญแจมือ ซึ่งขณะควบคุมตัวไปที่ห้องปฏิบัติการ จำเลยดิ้นตลอดเพื่อให้หลุดพ้น และยืนยันว่าหลังจากเกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บจากการดิ้นของจำเลย และเนื่องจากจำเลยกำหมัด จึงเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้จำเลยหลุดออกจากการจับกุม แต่ก็มีขาและแขนหลุดออกเป็นช่วง ๆ

    ในห้องปฏิบัติการ พยานเห็นว่าจำเลยเอาเท้าวางไว้บนโต๊ะ แสดงกิริยาไม่พอใจ แต่ไม่เห็นว่าจำเลยได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม และมีการตรวจค้นอาวุธหลังเกิดเหตุ พยานกล่าวว่าไม่ได้แนะนำตัวกับจำเลย เนื่องจากพยานมีหน้าที่เฝ้าระวัง

    ++ตำรวจเบิกความไปเชิญชวนให้จำเลยนั่งลง แต่จำเลยไม่นั่ง พยานจึงส่งสัญญาณให้ผู้อื่นเฝ้าระวัง เมื่อมีการตะโกน ก็เข้าไปปิดปากจำเลยร่วมกับทหารอีกคนหนึ่งทันที

    พันตำรวจโทชยาคมน์ โพธิ์ปรึก ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับสอบสวน สน.หลักสอง และพลตรีธีรเดช กลัมพสุต ขณะเกิดเหตุเป็นทหารที่ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย

    พยานทั้งสองคนเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ได้รับคำสั่งให้ถวายความปลอดภัยที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ในวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลา 17.00 น. ซึ่งพลตรีธีรเดชเบิกความต่อว่า พยานมีหน้าที่ในการประมวลและรายงานข่าวสารที่จะส่งผลกระทบต่อขบวนเสด็จ

    พันตำรวจโทชยาคมน์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุพนักงานตำรวจสอบสวนกลางจะใส่เสื้อสีขาวและกางเกงสีครีม ส่วนพยานได้รับมอบหมายให้ใส่เสื้อสีน้ำเงินและกางเกงสีดำ ส่วนพลตรีธีรเดชแต่งกายด้วยสูทสากลสีเข้ม เนคไทสีเหลือง โดยทั้งสองคนติดบัตรประจำตัว

    หลังจากประชุมชี้แจงแผนงาน พลตรีธีรเดชและพลโทสุเมธไปดูแลความเรียบร้อยบริเวณสถานที่รับเสด็จ เมื่อถึงเวลาขบวนเสด็จกลับ

    ส่วนพันตำรวจโทชยาคมน์เบิกความว่า ได้รับมอบหมายให้ประจำจุดเพื่อรักษาความปลอดภัยบริเวณประตูเอเทรียมซึ่งเป็นประตูทางออกของขบวนเสด็จ และเป็นทางขึ้นลงไปดูนิทรรศการ ขณะนั้นพยานสังเกตเห็นจำเลยที่ใส่เสื้อสีดำใส่หน้ากากอนามัยเดินขึ้นมาจากชั้นใต้ดิน จึงไปสอบถามว่ามารับเสด็จหรือไม่ ถ้ามาก็ให้นั่งลง แต่จำเลยไม่นั่งลงและขอยืน พยานจึงส่งสัญญาณให้ผู้อื่นและเฝ้าระวังชายคนนั้นด้วยการมายืนด้านหน้าจำเลยและหันหน้าไปทางเดียวกัน ซึ่งจุดที่พยานยืนอยู่ห่างจากขบวนเสด็จประมาณ 5 เมตร

    ด้านพลตรีธีรเดชเบิกความว่า พยานได้รับรายงานว่ามีจำเลยที่แต่งกายเสื้อสีดำ สะพายกระเป๋าสีดำ ใส่หน้ากากอนามัยสีดำเดินขึ้นมาจากชั้นใต้ดินมายังบริเวณที่มีขบวนเสด็จ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่แจ้งให้จำเลยนั่งลงด้วยความสุภาพ แต่จำเลยเดินหลบไปอีกทาง เจ้าหน้าที่จึงเดินตาม พยานพิจารณาดูแล้วอาจส่งผลกระทบต่อการเสด็จ จึงมีการเฝ้าระวังบุคคลดังกล่าวโดยที่พยานยืนอยู่ด้านหลังทางขวาของจำเลย ส่วนด้านซ้ายมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใส่เสื้อสีขาวและเสื้อสีน้ำเงินอยู่ 2 นาย

    พยานทั้งสองคนเบิกความตรงกันว่าเมื่อขบวนเสด็จผ่าน มีการตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” พยานทั้งสองคนใช้มือปิดปากจำเลย โดยพันตำรวจโทชยาคมน์เบิกความต่อว่า เหตุที่ทำเช่นนั้นเพราะว่าน้ำเสียงมีความเกรี้ยวกราด เห็นว่าการกระทำเป็นภัยต่อกษัตริย์ เป็นการเหยียดหยามและดูหมิ่นกษัตริย์ และพลตรีธีรเดชเบิกความว่าการกระทำของจำเลยทำให้กษัตริย์และพระราชินีเสื่อมเสียพระเกียรติยศ

    หลังจากมีการปิดปาก พันตำรวจโทชยาคมน์เบิกความว่า มีการจับและกดตัวเพื่อให้ขบวนเสด็จผ่านไป และในขณะที่เริ่มยกตัวจำเลย ประชาชนเริ่มหันมามอง จึงมีการบอกว่า มีคนเป็นลมชัก เพื่อเบี่ยงเบนประเด็น เพราะกลัวคนจะเข้ามาทำร้ายจำเลย จำเลยตะโกนขึ้นมาว่า “กูไม่ได้เป็นโว้ย”

    พันตำรวจโทชยาคมน์และพลตรีธีรเดชเบิกความต่อไปในทำนองเดียวกันว่า ขณะที่จับกุมจำเลยดิ้นและใช้เท้าถีบ โดยพันตำรววจโทชยาคมน์กล่าวต่อว่าจากการถีบทำให้รองเท้าจำเลยหลุด และจำเลยร่วง 1 ครั้ง แต่ก็มีการอุ้มใหม่

    พันตำรววจโทชยาคมน์เบิกความต่อว่า เมื่อถึงห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการซักประวัติ ฝ่ายสอบสวน สน.ลุมพินี ขอดูกระเป๋าเงินเพื่อหาชื่อ ทีมของพยานเป็นผู้ค้นตัวเพื่อที่จะนำชื่อนามสกุลให้กับ สน.ลุมพินี โดยบอกแล้วจำเลยก็ดิ้น ต่อมา จำเลยนั่งและเอาเท้าขึ้นมาไว้บนโต๊ะ หลังจากนั้นตำรวจพาตัวจำเลยไปที่ สน.ลุมพินี เพื่อทำบันทึกการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา

    พยานทั้งสองเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้ค่ำ มีแสงจากอาคารและจากไฟริมทาง จึงทำให้มองเห็นได้

    ในช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน พันตำรวจโทชยาคมน์ตอบทนายว่าไม่ทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรววจมาปฏิบัติงานทั้งหมดกี่นาย และลักษณะการยืนของพยานที่ล้อมตัวจำเลยไว้ เป็นการยืนที่พร้อมจะระงับเหตุ

    พลตรีธีรเดชตอบทนายว่า ทราบถึงการจัดงานสัปดาห์หนังสือที่ชั้นใต้ดิน แต่ไม่ทราบว่าจุดทางเข้างานจะมีจุดคัดกรองอาวุธด้วยหรือไม่ ส่วนที่เกิดเหตุเป็นจุดที่พยานยืนอยู่ ซึ่งไม่ได้มีจุดคัดกรองอาวุธ และก่อนเกิดเหตุพยานไม่สามารถค้นตัวจำเลยได้ เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้กระทำความผิด บริเวณนั้นมีเจ้าหน้าที่ทั้งยืนและนั่งอยู่ด้วย รวมกันแล้วมีหลายนาย ในช่วงที่มีการยืนประกบตัว พยานยืนยันว่า จำเลยได้ถามว่า “มาล้อมทำไม พวกพี่เป็นใคร” แต่พยานไม่ได้ตอบออกไป ในขณะที่พันตำรวจโทชยาคมน์เบิกความว่า ไม่ได้ยินที่จำเลยถาม

    พลตรีธีรเดชยืนยันว่าขณะที่จับกุมแล้ว จำเลยได้ตะโกนออกมาว่า “จับผมทำไม” แต่ไม่มีใครตอบออกไป และกล่าวต่อว่าพยานปิดปากจำเลยตลอดทางจนไปถึงห้องดังกล่าว จำเลยดิ้นเพื่อให้พ้นจากการจับกุม แต่จำเลยก็ไม่ได้หลุดออกจากการควบคุมตัว ส่วนพันตำรวจโทชยาคมน์ตอบว่าพยานไม่ได้ปิดปากจำเลยแน่นมากเพื่อที่จะให้จำเลยหายใจได้ และพยานไม่ทราบว่าขณะที่ดิ้นจะมีการชกต่อยใบหน้าจำเลยหรือไม่

    ทั้งนี้ พยานทั้งสองคนยืนยันว่าในขณะที่ปิดปากจำเลยไม่ได้กัดมือหรือนิ้วของพยาน และในระหว่างทางที่เดินมายังห้องปฏิบัติการ ทั้งสองระบุว่ามีเจ้าหน้าที่เดินตามมาด้วยอีกจำนวนหนึ่ง

    หลังจากที่ถึงห้องปฏิบัติการ พลตรีธีรเดชกล่าวว่า เห็นจำเลยนั่งอยู่กับพื้นและพยานก็เดินออกมาข้างนอก ในขณะที่พันตำรวจโทชยาคมน์ตอบทนายว่า พยานอยู่ในห้องและเห็นว่ามีการใส่กุญแจมือ แต่ไม่ทราบว่าจำเลยนั่งคุกเข่าที่พื้น และไม่ทราบว่าจะมีการใช้เท้าไปกดที่มือจำเลยหรือไม่

    พันตำรวจโทชยาคม์พยานกล่าวต่อว่า จำเลยน่าจะได้รับบาดเจ็บจากการหล่นลงที่พื้น แต่ก็ไม่ทราบว่าบาดเจ็บอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่มีแผลถลอก ยืนยันว่าจำเลยไม่มีอาวุธ มีเพียงแต่หนังสือ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62145)


  • ++ตำรวจ-ทหาร 4 นาย ที่จับแขนขา 4 ข้าง เบิกความว่าขณะจับกุมจำเลยดิ้นและใช้เท้าถีบ

    พันตำรวจตรีอรรถพร คนไหวพริบ ขณะเกิดเหตุรับราชการที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ, ร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์ ดูพันนา ขณะเกิดเหตุรับราชการที่ สน.ภาษีเจริญ, สิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์ ยางสิสาร ขณะเกิดเหตุรับราชการที่กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ และจ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมล ศิสารักษ์ ขณะเกิดเหตุรับราชการที่ สน.เทียนทะเล

    พยานทั้งสี่คนเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติภารกิจถวายความปลอดภัยให้กับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ศูนย์ประชุมฯ ในวันที่ 15 ต.ค. 2565 ในวันเกิดเหตุ แต่งกายด้วยเสื้อสีน้ำเงิน กางเกงสีดำ ยกเว้นสิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์ แต่งกายด้วยเสื้อสีขาว กางเกงสีครีม โดยพยานทั้งสี่คนระบุว่ามีการติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่

    พยานทั้งสี่คนเดินทางมารับภารกิจและเข้าประชุม จากนั้นจึงไปเตรียมความพร้อมในพื้นที่รับเสด็จ โดยหมายกำหนดการจะเสด็จมาถึงเวลา 17.00 น. และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปรอรับเสด็จบริเวณทางออก

    สิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์, จ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมล และร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์ เบิกความว่าพยานสังเกตเห็นชายที่ใส่เสื้อสีดำ กางเกงสีดำ มีลักษณะผิดแปลกไปจากคนทั่วไป ต่อมาพยานทั้งสี่สังเกตเห็นพันตำรวจโทชยาคมน์เข้าไปพูดคุยกับบุคคล มีร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์และสิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์ได้ยินการพูดคุยว่า ให้จำเลยนั่งลง ด้านจ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมลเห็นพันตำรวจโทชยาคมน์ส่งสัญญาณว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น ส่วนพันตำรวจตรีอรรถพรเข้าใจได้ว่า มีเรื่องต้องเฝ้าระวัง เพราะยืนส่งเสด็จ จากที่ปกติจะนั่งตลอด

    เมื่อเกิดเหตุขึ้น พันตำรวจตรีอรรถพรสังเกตเห็นว่า พันตำรวจโทชยาคมน์พยายามนำตัวจำเลยออกมาจากพื้นที่โดยการปิดปากและอุ้มตัว จำเลยดิ้นและขัดขืน พันตำรวจตรีอรรถพรจึงเข้าไปช่วยจับที่ขาซ้าย สิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์เข้าไปจับที่แขนข้างซ้าย จ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมลจับแขนข้างขวา หลังจากนั้นร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์เห็นว่ายังไม่มีคนจับที่ขาขวาจึงเข้าไปช่วยจับ

    ในขณะที่ถูกควบคุมตัว พยานทั้งสี่คนเบิกความตรงกันว่า จำเลยดิ้นและใช้เท้าถีบ โดยพันตำรวจตรีอรรถพรเบิกความว่า ไม่มีใครทำร้ายจำเลยขณะที่ควบคุมตัว ทั้งนี้ จำเลยถีบโดนแขนซ้ายของพยานหลายครั้งจนพยานได้รับบาดเจ็บและถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์เบิกความว่า โดนจำเลยถีบหลายครั้ง และถีบหน้าอกจนทำให้บัตรประจำตัวหลุดและเจ้าหน้าที่คนอื่นมาเก็บให้ จ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมลเบิกความว่า ระหว่างทาง จำเลยหลุดและหล่นไปที่พื้นบ้าง แต่ก็จับได้เหมือนเดิมและนำไปยังพื้นที่ปลอดภัย และพยานไม่ได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม

    ร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์และจ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมลเบิกความตรงกันว่า พื้นที่ปลอดภัยหรือห้องปฏิบัติการมีระยะห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร หลังจากถึงห้องแล้ว สิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์เบิกความว่าพยานอยู่ข้างในห้องด้วย มีการถามชื่อและเหตุว่าทำไมจึงตะโกนเช่นนั้น มีการใส่กุญแจมือจำเลย แต่ใครใส่พยานไม่ทราบ หลังจากนั้นจำเลยมีอาการไม่พอใจและเอาเท้าวางบนโต๊ะ ส่วนร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์ และจ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมล รออยู่ด้านนอก จากนั้นพยานทั้งสี่คนไปที่ สน.ลุมพินี เพื่อลงชื่อในบันทึกการจับกุม

    ในช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน จ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมลกล่าวว่า ในวันเกิดเหตุมีงานสัปดาห์หนังสือ แต่ไม่ทราบว่าทางเข้าและทางออกของงานจะมีจุดคัดครองอาวุธหรือไม่ โดยปกติแล้วจะต้องมีจุดตรวจ ส่วนร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์ทราบว่ามีการจัดงานอยู่ที่ชั้นใต้ดิน แต่ไม่ทราบว่าเป็นงานใด

    สิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์ และร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์ เป็นผู้ที่ประกบตัวจำเลยก่อนเกิดเหตุ สิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์จำไม่ได้ว่าจำเลยได้พูดอะไรด้วยหรือไม่ แต่พยานและเจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดอะไรกับจำเลย

    พยานทั้งสี่คนตอบทนายจำเลยในทำนองเดียวกันว่า การควบคุมตัวจำเลยเป็นไปในลักษณะยกตัวขึ้น จ่าสิบตำรวจศักดิ์สิริวิมล (จับแขนขวา) กล่าวว่าพยานใช้สองมือจับล็อก ไม่สามารถดิ้นหลุดได้ จนไปถึงที่ห้องก็ไม่หลุดจากมือพยาน ส่วนร้อยตำรวจเอกชิณกรณ์ (จับขาขวา) กล่าวว่าขณะเข้าไปจับกุมตัวในขณะที่จำเลยเอียงตัวอยู่ พยานจับจำเลยในลักษณะมือซ้ายคล้องขา มือขวาจับที่ข้อเท้า ไม่ทราบว่าจำเลยจะดิ้นเพื่อให้หลุดจากการจับกุมหรือไม่ ทราบแต่ว่าจำเลยดิ้นแรง ซึ่งมีหลุดจากการควบคุมบ้าง แต่ก็จับใหม่ พยานยืนยันว่า ในการจับกุมมีพันตำรวจโทชยาคมน์เพียงคนเดียวที่เป็นผู้ปิดปากจำเลย และยืนยันว่าไม่มีการชกใบหน้าจำเลย

    ส่วนสิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์ (จับแขนซ้าย) กล่าวว่า พยานล็อกตัวจำเลยในลักษณะหิ้วปีก จำเลยดิ้นเพื่อให้หลุดจากการจับกุม มีขากับเท้าที่ดิ้นได้และจะหลุดบางครั้ง โดยมีช่วงหนึ่งที่จำเลยหลุดและหลังกระแทกลงที่พื้น ด้านพันตำรวจตรีอรรถพร (จับขาซ้าย) กล่าวว่าพยานใช้มือขวาจับกับมือซ้ายล็อค และมีบางช่วงที่หลุดจากการควบคุม

    ขณะที่จับกุมจำเลยไปที่ห้องปฏิบัติการ พยานทั้งสี่คนกล่าวในทำนองเดียวกันว่า จำไม่ได้ว่าจำเลยได้พูดว่า “จับผมทำไม” หรือไม่ โดยพันตำรวจตรีอรรถพรกล่าวด้วยว่า ไม่ได้พูดคุยกับจำเลย นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่เดินนำหน้าและตามหลังรวมแล้วประมาณ 14 นาย สิบตำรวจตรีอภิสิทธิ์กล่าวยืนยันว่า​มีการนำจำเลยคุกเข่าไขว้หลังและใส่กุญแจมือ แต่จำไม่ได้ว่าใช้เท้ากดหลังจำเลยด้วยหรือไม่ และหลังจากใส่กุญแจมือ จำเลยก็ไม่ได้ดิ้นอีก

    พันตำรวจตรีอรรถพรกล่าวตอบทนายจำเลยว่า มีบาดแผลถลอกจากการโดนถีบ จากการไปตรวจที่โรงพยาบาลได้ยาชนิดรับประทานกลับบ้าน

    ++ตำรวจ บก.ปอท. เบิกความพบภาพชุมนุม 2 ภาพ ในโทรศัพท์จำเลย แต่ไม่พบว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์-ถ่าย

    ร.ต.อ.สิทธิชัย มะเส รองสารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี บก.ปอท. มีอำนาจหน้าที่ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน วัสดุ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ที่กระทำความผิด

    พยานเบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลย โดยการทำสำเนาข้อมูล และโปรแกรมบีบอัดข้อมูล จึงได้ไฟล์มาตรวจสอบและพบ 2 ภาพ ซึ่งอยู่ในแอปพลิเคชั่น Telegram ซึ่งเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ มีความเกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112 ปรากฏตามสำนวนในคดี โดยเป็นภาพเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง

    สิทธิชัยตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานยืนยันว่า ทั้ง 2 ภาพ ไม่ได้เป็นภาพที่ถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ และไม่พบว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ ไม่ทราบว่าจะมีการโพสต์ต่อกันหรือไม่ และยืนยันว่าภาพที่เจอนั้นอยู่ในแอปพลิเคชั่น Telegram ซึ่งจะมีกลุ่มติดตามข่าวสารอยู่ และตอบว่าการเข้าถึงภาพนั้นหมายถึงการกดเข้าไปดู แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจำเลยเข้าไปดูกลุ่มใด เนื่องจากพยานใช้โปรแกรมดึงข้อมูลออกมา

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62145)
  • ++พนักงานสอบสวนเบิกความ ส่งเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล พบ 2 นาย ได้รับบาดเจ็บ ส่วนจำเลยได้รับบาดเจ็บที่แขนและขาจึงส่งไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเช่นกัน

    พ.ต.ต.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 01.00 น. มีตำรวจชุดจับกุมที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์นำตัวจำเลยมาส่งให้กับพยานที่ สน.ลุมพินี

    ข้อเท็จจริงเบื้องต้นทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับคำสั่งจากตำรวจนครบาลให้ไปถวายความปลอดภัย ระหว่างรัชกาลที่ 10 และพระราชินีเสด็จมาในพิธีเปิดอาคารศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ในช่วงขากลับหลังจากเสร็จสิ้นพิธี มีประชาชนมารอส่งเสด็จจำนวนมาก

    ในช่วงเกิดเหตุชุดจับกุมสังเกตเห็นความผิดปกติของจำเลย เนื่องจากคนอื่นนั่งรอรับเสด็จ แต่จำเลยยืน มีการบอกให้จำเลยนั่งแล้วแต่ไม่นั่ง จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 5 นาย ยืนประกบไว้ เมื่อรถพระที่นั่งขับผ่าน จำเลยตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” จากนั้น ชุดจับกุมปิดปากจำเลย และล็อกแขนขา เพื่อที่จะนำตัวออกไป

    ตำรวจชุดจับกุมกล่าวกับพยานว่า จำเลยต่อสู้ ไม่ยินยอมให้จับกุม มีการดิ้นและถีบเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ 5 นาย ไปตรวจที่โรงพยาบาลตำรวจ ผลการตรวจคือมี 2 นาย ได้รับบาดเจ็บ จำเลยซึ่งได้รับบาดเจ็บก็ถูกส่งไปตรวจร่างกายเช่นกัน มีภาพถ่ายชุดจับกุมที่ได้รับบาดเจ็บ และภาพจำเลยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณแขนและขา โดยขณะเกิดเหตุเป็นเวลาค่ำ พยานตรวจสอบจากแผ่นซีดีและการลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ พบว่ามีไฟข้างทางที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน

    ในชั้นสอบสวน พยานแจ้งข้อกล่าวหาตามที่ตำรวจชุดจับกุมแจ้งความ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 138

    หลังได้รับผลตรวจร่างกายแล้ว พยานแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า “โดยใช้กำลังประทุษร้าย” จากที่ตอนแรกที่แจ้งข้อกล่าวหาว่า “ต่อสู้ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่” โดยจำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองครั้ง

    ขณะเกิดเหตุที่มีการจับกุม มีวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ทหารได้บันทึกไว้ และแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ พยานได้ส่งไปพิสูจน์ว่ามีการตัดต่อหรือไม่อย่างไร และนำโทรศัพท์ที่ตรวจยึดจากจำเลยให้ ปอท.ตรวจสอบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ อย่างไร ส่วนการตรวจสอบเฟซบุ๊ก มีการตรวจสอบโดยตำรวจสืบสวน สน.ลุมพินี

    เกี่ยวกับข้อหาตามมาตรา 112 พยานได้สอบความเห็นของนักวิชาการและประชาชนเพิ่มเติมคือ ได้แก่ คมสัน โพธิ์คง, ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ และ อานนท์ กลิ่นแก้ว คำให้การของพยานเป็นไปตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ต.สุทวัฒน์ เบิกความว่า พยานไม่ทราบว่าในวันเกิดเหตุมีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และไม่เคยเข้าไปในงาน แต่ทราบว่า ปกติจะมีเครื่องสแกนโลหะและอาวุธบริเวณทางเข้า พยานไม่ได้เข้าไปตรวจสอบสถานที่ในศูนย์ประชุมฯ และไม่ทราบว่าห้องศูนย์ปฏิบัติการจะห่างจากจุดเกิดเหตุเท่าใด

    จากกล้องวงจรปิด จำเลยใส่เสื้อยืดสีดำคาดลายสีขาวเดินทางโดย MRT มางานหนังสือคนเดียวตั้งแต่ 15.23 น. และจากการตรวจค้นพบว่ามีหนังสือหลายเล่มอยู่ในกระเป๋า ไม่มีอาวุธ

    ที่พยานเบิกความว่า มีการนำโทรศัพท์ไปตรวจสอบ และพบว่ามีภาพที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์นั้น พยานไม่ทราบว่าเป็นภาพที่จำเลยกดเข้าไปดูเพียงอย่างเดียว และพยานไม่ได้ดำเนินคดีกับภาพดังกล่าว นอกจากนี้ จำเลยยินยอมให้ตรวจเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ได้มีการดำเนินคดีเช่นกัน

    จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาการต่อสู้ขัดขวางฯ ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการแสดงตน พาไปในที่ลับตาคน ไม่ได้พาไป สน. จำเลยให้การว่าได้รับบาดเจ็บ และจากการสอบสวนพบว่าได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้จำเลยดิ้นและหลุดเป็นช่วง ๆ

    เช้าวันที่ 16 ต.ค. 2565 พยานส่งจำเลยไปที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อตรวจอาการทางจิตเวช เท่าที่พยานทราบคือสรุปแล้วไม่ได้มีการตรวจที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา และได้ส่งตัวจำเลยกลับมาที่ สน. ซึ่งเหตุที่ส่งไปนั้น พยานต้องการรวบรวมพยานหลักฐานว่าจำเลยมีอาการใดหรือไม่ ที่จะนำมาต่อสู้คดี

    พยานกล่าวตอบทนายว่าจำเลยมีรูปร่างผอมสูง และจากการตรวจสอบจำเลยไม่มีประวัติอาชญากรรม

    ++จำเลยเบิกความต้องการเดินทางกลับบ้าน แต่โดนบุคคลประกบตัวไว้ ไม่มีใครตอบคำถามตั้งแต่ก่อนจับกุมจนกระทั่งถูกอุ้มตัวเข้าไปในห้อง ไม่ทราบว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าหน้าที่จึงทำให้ดิ้น ชี้เหตุที่ตะโกนออกไปเนื่องจากโกรธและกดดันที่ถูกยืนล้อม-เหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู-ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อน

    อติรุจ จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน ระบุว่า ปัจจุบันพยานทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2563

    เกี่ยวกับคดีนี้ ในวันเกิดเหตุพยานใส่เสื้อยืดสีดำคาดขาว กางเกงยีนส์ แมสสีดำ สะพายกระเป๋าสีกรมท่า เดินทางมาจากบ้านโดยใช้รถไฟฟ้า MRT ลงสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประมาณ 15.00 น. เพื่อมางานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ โดยปกติการโดยสารรถไฟฟ้าจะมีการตรวจอาวุธโดยเครื่องสแกนโลหะอยู่แล้ว และก่อนเข้าศูนย์ประชุมฯ ก็จะมีการตรวจอีกครั้งหนึ่ง

    พยานมาซื้อหนังสือและร่วมกิจกรรมประมาณ​ 2 ชั่วโมง จนเมื่อถึงเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ร่วมงานเริ่มทยอยกลับบ้านกัน พยานจึงกลับ โดยเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS เพราะรถไฟฟ้า MRT มีคนจำนวนมาก จึงเดินขึ้นจากชั้นใต้ดินมายังประตูเอเทรียม

    บริเวณประตูเอเทรียมไม่ได้เชื่อมกับรถไฟฟ้า ทำให้ต้องเดินออกมาด้านนอกและข้ามทางม้าลายไปฝั่งสวนเบญจกิติแล้วไปขึ้นวินมอเตอร์ไซค์หรือเดินต่อไปยังรถไฟฟ้า BTS สถานีอโศก ทันทีที่พยานเดินขึ้นมาก็มีผู้ชายสวมเสื้อยืดมาบอกว่าให้ไปนั่งรวมกับกลุ่มประชาชน พยานไม่ประสงค์นั่ง ต้องการเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้ พยานทราบว่าในวันดังกล่าวมีขบวนเสด็จ แต่ไม่ทราบว่าเป็นบริเวณนั้น

    พยานกล่าวต่อว่า แต่ก่อนที่จะเดินข้ามทางม้าลายมีบุคคลมาล้อมตัวพยาน ซึ่งไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และมาทราบในขณะที่สืบพยานในชั้นศาล เพราะวันนั้นบุคคลดังกล่าวแต่งกายแตกต่างกัน จากนั้นพยานจึงเดินไปมา แต่ก็พบว่าตนเองยังถูกล้อมตัวอยู่ จึงเลือกหยุดอยู่บริเวณที่มีคนเยอะและไม่อับสายตา พยานยืนอยู่ประมาณ 10 นาที และถามเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 2-3 ครั้ง ว่าเขาเป็นใคร มาล้อมพยานทำไม ก็ไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

    หลังจากนั้นเริ่มมีขบวนเสด็จผ่าน ประชาชนต่างเปล่งเสียง ‘ทรงพระเจริญ’ คนที่อยู่ใกล้พยานก็มีการโค้งคำนับ ซึ่งในขณะนั้นประชาชนก็ยังเดินข้ามทางม้าลายได้ พยานตะโกนใส่ขบวนว่า ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ ซึ่งมีหลายเหตุผลที่ทำให้เลือกตะโกนออกไป

    ประการแรก พยานโกรธและกดดันจากการถูกยืนล้อมเป็นเวลา 10 นาที

    ประการที่สอง ช่วงนั้น (6 ต.ค. 2565) มีเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู มีภาพข่าวการปูพรมแดงในที่เกิดเหตุและครอบครัวผู้สูญเสียมายืนรับเสด็จเป็นเวลานาน พยานเห็นว่า ทางครอบครัวสูญเสียมากพอที่จะไม่ต้องมาทำอะไรเช่นนี้แล้ว ซึ่งพยานเคยโพสต์เรื่องนี้ไว้ในโซเชียลมีเดียของตน

    และ ประการสุดท้าย ในปี 2565 เรื่องขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อน การจราจรติดขัด เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมออนไลน์มาก พยานเห็นว่าขบวนเสด็จไม่ควรที่จะทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว

    หลังจากตะโกนแล้ว มีกลุ่มคนเอามือมาปิดปาก ล็อคคอ และลากพยานออกไป เมื่อลากไปได้ประมาณ 2-3 เมตร ก็ถูกกดให้ย่อตัวลง และมีเจ้าหน้าที่มาล็อกแขนขาพาตัวไปโดยที่ยังถูกปิดปากอยู่ โดยที่ไม่ได้สังเกตว่าผู้ที่เข้ามาควบคุมตัวจะมีการติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่หรือไม่

    พยานถูกยกตัวไปในลักษณะที่นอนหงาย และยังไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะไม่มีผู้ใดบอก พยานถามว่าเป็นใคร มาจับพยานทำไม จะพาไปไหน พยานก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงทำให้พยานดิ้นเพื่อให้หลุดจากการจับกุม และยังรู้สึกว่ามีการใช้มือมากระทบใบหน้าเพื่อให้เลิกดิ้น บางจังหวะมีหล่นลงพื้น แต่ตลอดทางก็ไม่ได้หลุดออกจากการควบคุม

    จากจุดเกิดเหตุใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็ถึงห้องศูนย์ปฏิบัติการ ข้างในมีคนนั่งรออยู่แล้ว เมื่อไปถึงก็จับพยานนั่งคุกเข่าและกดหน้าลงที่พื้น มีการใช้แรงจากขาหรือเข่ากดที่ศีรษะเพื่อไม่ให้พยานเงยหน้าขึ้นมา โดยพยานยังถามคนเหล่านั้นอยู่ว่า เป็นใคร จับมาทำไม แต่ก็ไม่มีคำตอบ แต่หลังจากพยานถูกใส่กุญแจมือ ก็ไม่ได้ดิ้นแล้ว

    หลังจากนั้นประมาณ 5-10 นาที ก็ถูกจับไปนั่งเก้าอี้ มีกลุ่มคนเข้ามาคุยกับพยาน แต่ก็ไม่ได้ตอบเพราะไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ประชุมฯ เข้ามาแนะนำตัวพร้อมกับแสดงบัตรประจำตัว พยานก็พูดคุยตอบว่า มาซื้อหนังสือพร้อมกับแสดงหลักฐาน

    ที่พยานโจทก์เบิกความว่า พยานวางเท้าบนเก้าอี้นั้น เนื่องจากพยานโกรธที่ถูกจับกุม โดยไม่ทราบว่าคนที่จับเป็นเจ้าหน้าที่

    หลังพยานไม่มีการขัดขืนสักพักหนึ่ง ก็ได้รับการถอดกุญแจมือ แต่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องโดยที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นก็ถูกพาตัวไป สน. โดยรถตำรวจ พยานยินยอมให้ตรวจปัสสาวะ โดยผลคือไม่มีสารเสพติด จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ขอดูโซเชียลมีเดียในมือถือ พยานก็ให้ดู ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

    หลังจากนั้น พยานก็ให้ความยินยอมในการทำสำเนาข้อมูลโทรศัพท์ พบว่า มีภาพจาก Telegram ที่อยู่ในกลุ่มข่าวสารที่พยานกดติดตาม และพยานเคยเข้าไปดูเมื่อปี 2563 อีกภาพหนึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ชุมนุมจากที่กดติดตามด้วยเช่นกัน พยานกล่าวว่าการดึงข้อมูลออกมาอาจไม่ละเอียดนัก ซึ่งภาพดังกล่าว พยานเพียงติดตามข่าว ไม่ได้กดดาวน์โหลด โพสต์ หรือถ่ายภาพ

    หลังจากที่พยานถูกจับกุมมายัง สน. วันที่ 16 ต.ค. 2565 ในช่วงสาย พยานถูกส่งไปแผนกจิตเวช โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งไม่ทราบมาก่อน เพราะตอนแรกทราบว่าจะไปโรงพยาบาลตำรวจเพื่อตรวจร่างกาย พยานจึงไม่ยินยอมให้ตรวจ เพราะพยานไม่มีประวัติรักษาด้านจิตเวชมาก่อน จนได้รับคำยืนยันจากญาติว่าไม่ต้องการตรวจ จึงกลับไปที่ สน. และหลังจากนั้นก็ได้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งนี้ พยานก็ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกต่อย และได้มีการถ่ายภาพบาดแผลไว้

    พยานไม่เคยต้องคดีอาญาได้รับโทษมาก่อน และกล่าวว่าให้การรับสารภาพข้อหาตามมาตรา 112 และปฏิเสธข้อหาต่อสู้ขัดขวางฯ ตามมาตรา 138

    อติรุจตอบอัยการถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุพยานเดินทางไปงานสัปดาห์หนังสือ โดยเริ่มจากการขับรถส่วนตัวไปจอดที่คอนโด และนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่ MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยที่ไม่ต้องออกมาภายนอก จากนั้นอัยการกล่าวว่า พยานก็สามารถเดินทางกลับโดยใช้ MRT ได้เช่นกัน

    พยานยืนยันตามที่อัยการกล่าวว่า BTS สถานีอโศก อยู่ห่างจากศูนย์ประชุมฯ พอสมควร และกล่าวว่าถ้าหากต้องการเดินทางไป BTS อโศก ก็สามารถเดินทางโดยใช้ MRT ได้ แต่ต้องเพิ่มเงิน และมีคนจำนวนมาก

    พยานทราบว่าจะมีพิธีเปิดศูนย์ประชุมฯ ในขณะที่อยู่ในงานสัปดาห์หนังสือแล้ว จากนั้นพยานออกจากงาน โดยขาออกไม่ได้มีการตรวจอาวุธ และเดินขึ้นมาข้างบน พบว่ามีคนนั่งอยู่ ไม่ทราบว่าเป็นขบวนเสด็จเพราะอีกทางหนึ่งคนยังเดินได้ปกติ

    พยานเดินไปมาอยู่ประมาณ​ 10 นาที มีกลุ่มชายดังกล่าวเดินตามตลอดเวลา พยานไม่เห็นคนอื่นที่มีลักษณะเดียวกันในบริเวณนี้เพราะว่าโดนล้อมตัวอยู่ พยานไม่ได้คิดจะกลับลงไปชั้นใต้ดินเพราะจะข้ามทางม้าลาย แต่ไปไม่ได้เนื่องจากโดนล้อม

    เมื่อขบวนเสด็จมาถึงตรงหน้า และคนที่ยืนล้อมตัวพยานอยู่ก็ไม่ตอบคำถาม พยานจึงตะโกนขึ้น และถูกคนดังกล่าวเข้าควบคุมตัวทันที พยานจึงดิ้นให้หลุดจากการควบคุมและหล่นลงที่พื้นประมาณ 1-2 ครั้ง โดยที่พยานไม่ได้สังเกตว่าคนที่จับกุมติดบัตรประจำตัวหรือไม่

    ขณะที่พยานให้การในชั้นสอบสวน ไม่ได้ระบุว่าถูกชกที่ใบหน้า แต่ให้การว่าถูกใช้กำลังทำร้าย ขณะที่พนักงานสอบสวนถ่ายภาพการบาดเจ็บ รวมถึงผลการตรวจร่างกายจากแพทย์ ก็ไม่มีรายงานถึงอาการบาดเจ็บบริเวณใบหน้า

    อติรุจตอบทนายจำเลยถามติงว่า ขณะที่ถูกเจ้าหน้าที่ประชิดตัว ไม่ได้สังเกตเห็นบัตรประจำตัวพนักงาน เพราะยืนหันหน้าไปในทางเดียวกัน จึงทำให้ไม่ทราบว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใคร และแม้ทราบว่าจะมีการเสด็จ แต่ไม่ทราบกำหนดการว่าจะมาเวลาใด
    .
    หลังเสร็จการสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62145)
  • เวลาประมาณ 08.30 น. อติรุจ และครอบครัว พร้อมด้วยทนายความเดินทางมาศาล โดยอติรุจได้ผูกโบว์ขาวที่ข้อมือมาด้วย นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่จาก iLaw และประชาชนทั่วไปเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

    เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 403 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาราว 10 นาที โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า

    จากการสืบพยานโจทก์ พยานจำเลย และพิเคราะห์พยานหลักฐาน รับฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยเดินทางมายังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยขณะเดินทางขากลับ จำเลยได้ตะโกนใส่ขบวนเสด็จและถูกกลุ่มชายเข้าจับกุม มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

    ประการแรก ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 นั้นเห็นว่าการที่จำเลยตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” เป็นคำที่มิสมควร เป็นการใส่ความว่า การเสด็จเป็นการสร้างปัญหาและภาระให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามคำฟ้อง

    ในส่วนข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง พยานโจทก์นำสืบว่า เมื่อรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่าน เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาปิดปากจำเลยและตะโกนขึ้นว่ามีคนเป็นลม หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 5 นาย เข้ามาจับกุมแต่จำเลยไม่ยินยอม มีการต่อสู้ขัดขวางจนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวจำเลยไปที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วม

    จำเลยนำสืบว่ากลุ่มคนที่เข้ามาไม่อาจทราบได้ว่าเป็นใคร แต่พยานโจทก์ทั้งหมดเบิดความสอดคล้องกัน การนำสืบของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ โดยในขณะเกิดเหตุมีขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่าน มีเจ้าพนักงานถวายรักษาความปลอดภัยจึงเชื่อว่าจำเลยทราบว่าผู้ที่จับกุมเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดทุกข้อกล่าวหา ในข้อหามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ส่วนในข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 2 เดือน

    ทั้งนี้ อติรุจให้การรับสารภาพในข้อหามาตรา 112 จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 1 ปี 8 เดือน

    หลังศาลอ่านคำพิพากษา อติรุจถูกใส่กุญแจที่ข้อมือและนำตัวลงไปรอที่ใต้ถุนศาลทันที ก่อนทนายความจะยื่นคำร้องขอประกันตัว

    หลังจากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอติรุจในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์รวมจำนวน 300,000 บาท โดยต้องวางเพิ่มจากหลักประกันในศาลชั้นต้นจำนวน 100,000 บาท และมีเงื่อนไขการประกันตัวเช่นเดิม คือห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้ หลักประกันได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62202)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อติรุจ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อติรุจ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 12-12-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อติรุจ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์