สรุปความสำคัญ

“อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร วัย 53 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และเล่นกีตาร์ประกอบ ที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถ.พิษณุโลก พร้อมทั้งเผยแพร่ในช่องยูทูบ ขณะร่วมกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 โดย สว.สส.สน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหาระบุว่า เนื้อหาเพลงดังกล่าวทำให้ประชาชนรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ มีศิลปิน นักข่าวอิสระ และผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร้องหรือเล่นดนตรีเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น ในการชุมนุมครั้งต่างๆ ถึง 5 คน โดยมีทั้งประชาชน “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ” และตำรวจเป็นผู้กล่าวหา แต่คดีของโชคดีมีตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเอง และการตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดต่างทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • โชคดี ร่มพฤกษ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

“อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร พร้อมกับนักกิจกรรมและประชาชนกลุ่มอิสระ ได้จัดขบวนแห่ขันหมาก เดินเท้าจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อส่งตัวอาเล็กในฐานะ “เจ้าบ่าว” ไปรับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ที่ สน.นางเลิ้ง อาเล็กได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ก่อนหน้านี้ แม้อาเล็กจะถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-65 จำนวนถึง 22 คดี แต่ก็ยังไม่เคยถูกกล่าวหาในข้อหานี้มาก่อน โดยมากเป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีนี้จึงนับเป็นคดีข้อหามาตรา 112 คดีแรกของเขา

สำหรับกิจกรรมแห่ขันหมาก โชคดีได้แต่งกายเป็น “เจ้าบ่าว” ที่นำขบวนไปยัง “สน.นางสาวนางเลิ้ง” โดยมีประชาชนแห่กลองยาว ถือต้นกล้วย และป้ายข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ยกเลิกมาตรา 112 และ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งยังมีกิจกรรม #มูเตลู จากกลุ่มมวลชนด้วย

หลังเดินทางถึง สน.นางเลิ้ง และมีทนายความติดตามไป เวลาประมาณ 13.20 น. พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งข้อกล่าวหา โดยพบว่าเป็นคดีที่อาเล็กเคยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 พร้อมกับนักกิจกรรมอีก 3 คน จากการร่วมกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23-24 ส.ค. 2565

ในวันนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยแจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ทำรายงานการสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชา ส่งมายัง สน.นางเลิ้ง พบว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 19.30 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมร้องเพลงพร้อมเล่นกีตาร์ประกอบ นำโดยโชคดี ร่มพฤกษ์ อยู่บริเวณถนนพิษณุโลก หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยมีการเผยแพร่คลิปในช่องยูทูบของโชคดีด้วย ซึ่งเนื้อหาเพลงดังกล่าวทำให้ประชาชนรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์

โชคดีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้นำตัวโชคดีไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังทันที

หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างสอบสวน จนเวลาประมาณ 17.15 น. ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวโชคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ที่มีเหตุมาจากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ก่อนหน้านั้นมี “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ และ “เสี่ยวเป้า” วรินทร์ทิพย์ วัชรวงษ์ทวี ที่เคยถูกกล่าวหาจากการร้องเพลงดังกล่าวไว้ที่ สน.พญาไท และ สน.ประชาชื่น ตามลำดับ โดยมีประชาชน “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ” เป็นผู้ไปกล่าวหา แต่คดีของโชคดีมีตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

ในส่วนเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” เป็นเพลงของวงไฟเย็น ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเพลงดังกล่าว ที่เผยแพร่ในช่องยูทูบของวง มี URL บางส่วนที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงในประเทศไทยไปแล้วอีกด้วย

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 11 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52152)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์