ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.936/2566
แดง อ.1483/2567

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม สว.สส.สน.นางเลิ้ง (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.936/2566
แดง อ.1483/2567
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม สว.สส.สน.นางเลิ้ง

ความสำคัญของคดี

“อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร วัย 53 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และเล่นกีตาร์ประกอบ ที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถ.พิษณุโลก พร้อมทั้งเผยแพร่ในช่องยูทูบ ขณะร่วมกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 โดย สว.สส.สน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหาระบุว่า เนื้อหาเพลงดังกล่าวทำให้ประชาชนรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ มีศิลปิน นักข่าวอิสระ และผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร้องหรือเล่นดนตรีเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น ในการชุมนุมครั้งต่างๆ ถึง 5 คน โดยมีทั้งประชาชน “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ” และตำรวจเป็นผู้กล่าวหา แต่คดีของโชคดีมีตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเอง และการตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

กุลยา กัลยกร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1. เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ขณะที่จำเลยได้ร่วมชุมนุมบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร จำเลยได้ออกมาแสดงดนตรีร้องเพลงชื่อเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” อันมีเนื้อหาใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทำให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติ ถูกลบหลู่ และมีเจตนาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

2. จำเลยได้ร้องเพลงดังกล่าวขณะถ่ายทอดสดบนช่องยูทูบของจำเลย ซึ่งเป็นเว็บไซต์สาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ในหัวข้อ “23 ส.ค. 65 ประ ยุด ออกไป” มีการเข้าชมกว่า 71,000 ครั้ง โดยเนื้อหาของเพลงดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 และมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติ และเป็นการกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบเปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายต่อเบื้องพระยุคลบาทของรัชกาลที่ 10 อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.936/2566 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สน.นางเลิ้ง ประชาชนและนักกิจกรรม รวม 4 คน ได้แก่ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์, “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ และ “มานี” เงินตา คำแสน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของตำรวจ ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในกรณีการจัดกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23-24 ส.ค. 2565 หลัง พ.ต.ท.สำเนียง โสธร พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมด 4 ราย โดยหมายระบุว่ามี พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม เป็นผู้กล่าวหา

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15), ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เฉพาะวรัณยา ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหา ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เพิ่มเติมอีก 1 ข้อหาด้วย

    พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มราษฎรไล่ตู่, กลุ่มทะลุคุก 100% และกลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร ได้นัดหมายให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมกิจกรรมเดินไล่เหี้ย ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นแกนนำพร้อมมวลชนประมาณ 25 คน ได้เคลื่อนขบวนโดยการเดินเท้าเพื่อไปจัดกิจกรรมขับไล่นายกรัฐมนตรี บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

    เมื่อเดินเท้าไปถึงบริเวณแยกนางเลิ้ง ซึ่งมีแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งเป็นแนวกั้นปิดการจราจรไว้เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปชุมนุม พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผกก.สน.นางเลิ้ง ได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม โดยระบุว่า เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยุติ โดยได้ยกแผงเหล็กแนวแรกออก และเดินเท้ามาปักหลักชุมนุมที่หน้าแผงเหล็กแนวกั้นที่สอง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง โจมตีการทำงานของรัฐบาลและต้องการให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง และปักหลักค้างแรมเพื่อรอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

    จนวันที่ 24 ส.ค. 2565 กลุ่มผู้ชุมนุมยังปักหลักต่อไป และไม่ย้ายที่ชุมนุม หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยและ พ.ต.อ.สมยศ ได้เข้าไปเจรจาพูดคุย ตำรวจยังระบุว่า ขณะการชุมนุมในเวลาประมาณ 15.45 น. วรัณยายังได้กล่าวปราศรัยมีเนื้อหาโจมตี พ.ต.อ.สมยศ มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ จนมีการเลิกการชุมนุมในช่วงเวลาประมาณ 20.15 น.

    ทั้งสี่ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 20 วัน พนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา และลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนปล่อยตัวไป โดยนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 6 ต.ค. 2565 เวลา 10.00 น.

    ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 15) ที่อนุญาตให้ชุมนุมในพื้นที่เฝ้าระวัง แต่ระบุว่าให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม และกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท

    ทำให้การไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ ถูกเพิ่มโทษขึ้นไปจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยปกติ กลายเป็นการใช้กฎหมายลำดับรองเพิ่มโทษให้ข้อหาตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ

    ทั้งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในมาตรา 3 (6) ยังบัญญัติมิให้ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ประกาศหัวหน้าผู้รับชอบฯ ฉบับนี้ ขัดต่อกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ จึงไม่ควรมีผลบังคับใช้ได้

    กรณีการออกประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุดฉบับนี้ ตัวแทนนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนประกาศฉบับนี้ ซึ่งศาลได้รับฟ้องไว้ แต่ไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหลังการไต่สวนเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 12 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48241)

  • “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร พร้อมกับนักกิจกรรมและประชาชนกลุ่มอิสระ ได้จัดขบวนแห่ขันหมาก เดินเท้าจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อส่งตัวอาเล็กในฐานะ “เจ้าบ่าว” ไปรับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ที่ สน.นางเลิ้ง อาเล็กได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ก่อนหน้านี้ แม้อาเล็กจะถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-65 จำนวนถึง 22 คดี แต่ก็ยังไม่เคยถูกกล่าวหาในข้อหานี้มาก่อน โดยมากเป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีนี้จึงนับเป็นคดีข้อหามาตรา 112 คดีแรกของเขา

    สำหรับกิจกรรมแห่ขันหมาก โชคดีได้แต่งกายเป็น “เจ้าบ่าว” ที่นำขบวนไปยัง “สน.นางสาวนางเลิ้ง” โดยมีประชาชนแห่กลองยาว ถือต้นกล้วย และป้ายข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ยกเลิกมาตรา 112 และ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งยังมีกิจกรรม #มูเตลู จากกลุ่มมวลชนด้วย

    หลังเดินทางถึง สน.นางเลิ้ง และมีทนายความติดตามไป เวลาประมาณ 13.20 น. พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งข้อกล่าวหา โดยพบว่าเป็นคดีที่อาเล็กเคยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 พร้อมกับนักกิจกรรมอีก 3 คน จากการร่วมกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23-24 ส.ค. 2565

    ในวันนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยแจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ทำรายงานการสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชา ส่งมายัง สน.นางเลิ้ง พบว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 19.30 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมร้องเพลงพร้อมเล่นกีตาร์ประกอบ นำโดยโชคดี ร่มพฤกษ์ อยู่บริเวณถนนพิษณุโลก หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยมีการเผยแพร่คลิปในช่องยูทูบของโชคดีด้วย

    ข้อกล่าวหาระบุว่าเพลงที่โชคดีร้อง ได้แก่ เพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ซึ่งเนื้อหาเพลงดังกล่าวทำให้ประชาชนรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ประกอบกับเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ต่อมาในวันที่ 7 ต.ค. 2565 พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม ผู้กล่าวหา จึงมากล่าวหาเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับโชคดี

    โชคดีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนนำตัวโชคดีไปที่ศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังทันที

    หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างสอบสวน จนเวลาประมาณ 17.15 น. ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวโชคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ที่มีเหตุมาจากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ก่อนหน้านั้นมี “นุ้ย” วรัณยา แซ่ง้อ และ “เสี่ยวเป้า” วรินทร์ทิพย์ วัชรวงษ์ทวี ที่เคยถูกกล่าวหาจากการร้องเพลงดังกล่าวไว้ที่ สน.พญาไท และ สน.ประชาชื่น ตามลำดับ โดยมีประชาชน “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ” เป็นผู้ไปกล่าวหา แต่คดีของโชคดีมีตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

    ในส่วนเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” เป็นเพลงของวงไฟเย็น ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเพลงดังกล่าว ที่เผยแพร่ในช่องยูทูบของวง มี URL บางส่วนที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงในประเทศไทยไปแล้วอีกด้วย

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 11 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52152)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 มีคำสั่งฟ้องคดี และยื่นฟ้องโชคดีต่อศาลอาญา ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ระบุในคำฟ้องว่า เพลง "โชคดีที่มีคนไทย" ที่โชคดีร้องและถ่ายทอดสดผ่านยูทูบขณะร่วมชุมนุมบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 มีเนื้อหาใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของโชคดีในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีของศาลแขวงพระนครเหนือและศาลแขวงดุสิตอีก 2 คดี ซึ่งคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลเช่นกัน

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.936/2566 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55075)
  • โชคดีเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามที่เจ้าหน้าที่นัดหมายหลังได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง โดยพบว่าอัยการได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว

    ต่อมาทนายความได้ยื่นประกันตัวโชคดี และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวน คือ เงินสดจำนวน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม และกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 12 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55075)
  • โชคดีเดินทางไปศาลตามนัด โจทก์ติดใจนำพยานบุคคลเข้าสืบ 7 ปาก ฝ่ายจำเลยประสงค์สืบพยาน 4 ปาก ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 26-27 มี.ค. 2567 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 28 มี.ค. 2567
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน โชคดีแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โจทก์และจำเลยไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณา

    ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยเสนอต่อศาลภายใน 30 วัน ด้านจำเลยและทนายจำเลยแถลงขอยื่นคำแถลงการณ์ประกอบคำรับสารภาพเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 13 พ.ค. 2567 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.936/2566 ลงวันที่ 26 มี.ค. 2567)
  • เวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 814 ศาลอาญา โชคดีพร้อมด้วยทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมีประชาชนมาให้กำลังใจ และสื่อพลเมืองมารอติดตามการฟังคำพิพากษา

    หลังจากนั้นเมื่อเวลา 14.00 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ความผิดตามมาตรา 112 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คงจำคุก 6 เดือน

    พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะและพินิจ พบว่าก่อนหน้านี้จำเลยถูกจับกุม 22 ครั้ง แต่เพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพเท่านั้น จำเลยไม่ได้เป็นผู้นำหลักในแนวความคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์

    นอกจากนี้ แพทย์ได้ให้ความเห็นว่าการมองเห็นของจำเลยอยู่ในระดับตาบอดถาวรทั้งสองข้าง อีกทั้งปัจจุบันจำเลยได้สำนึกแล้วว่าเป็นการกระทำที่มิบังควร และสำนึกความผิดของตน จะขอกลับตัวเป็นพลเมืองดี ยึดมั่นและเทินทูนประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งให้คำมั่นสัญญาและสาบานตนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำเช่นเดียวกับคดีนี้ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยหลงผิดในชั่วขณะ และเข้าใจถ่องแท้ภายหลัง ไม่ได้หวนไปทำความผิดซ้ำอีก

    นอกจากนี้จำเลยทำความดีต่อสังคมมาก่อน ประกอบกับนิสัยและความประพฤติอื่นไม่พบข้อเสื่อมเสียที่ร้ายแรงประการอื่นใด เห็นว่าควรให้โอกาสจำเลยโดยนำวิธีการคุมประพฤติจะเป็นคุณต่อสังคมโดยรวมและจำเลยมากกว่าการจำคุก โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน และให้ทำกิจกรรมบริการสาธารณะไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

    ส่วนที่โจทก์มีคำร้องขอให้มีการนับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นของจำเลย เนื่องจากคดีนี้ศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำคุก คำขอในส่วนนี้จึงให้ยก

    ผู้พิพากษาในคดีนี้คือ วรวัลคุ์ ชาญสตบุตร บังกันต์ และอำนาจ อาดำ

    หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ศาลได้กำชับกับโชคดีว่า ไม่ให้ไปกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้อีก เพราะได้รอลงอาญาไว้แล้ว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/66937)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โชคดี ร่มพฤกษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โชคดี ร่มพฤกษ์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วรวัลคุ์ ชาญสตบุตร บังกันต์
  2. อำนาจ อาดำ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 13-05-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์