ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1262/2566
แดง อ.2629/2567
ผู้กล่าวหา
- พ.ต.ท.แทน ไชยแสง รอง ผกก.2 บก.ส.2 (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
หมายเลขคดี
ดำ อ.1262/2566
แดง อ.2629/2567
ผู้กล่าวหา
- พ.ต.ท.แทน ไชยแสง รอง ผกก.2 บก.ส.2
ความสำคัญของคดี
“อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ผู้ชุมนุมทางการเมืองวัย 31 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกตำรวจสันติบาลกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปบนเฟซบุ๊กจำนวน 8 โพสต์ ในช่วงวันที่ 8 ก.พ. - 1 เม.ย. 2565 มีเนื้อหาบิดเบือน ให้ร้าย ล้อเลียน เสียดสี รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นการแสดงออกและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นการแสดงออกและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี
พรทิพย์ บุตรภักดิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า
ระหว่างวันที่ 8 ก.พ. - 1 เม.ย. 2565 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ รวม 8 โพสต์ ที่มีลักษณะดูหมิ่น ล้อเลียนเสียดสี ล่วงละเมิด เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการกระทํามิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกินดูหมิ่น หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1262/2566 ลงวันที่ 10 พ.ค. 2566)
ระหว่างวันที่ 8 ก.พ. - 1 เม.ย. 2565 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ รวม 8 โพสต์ ที่มีลักษณะดูหมิ่น ล้อเลียนเสียดสี ล่วงละเมิด เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการกระทํามิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกินดูหมิ่น หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1262/2566 ลงวันที่ 10 พ.ค. 2566)
ความคืบหน้าของคดี
-
วันที่: 17-02-2023นัด: รับทราบข้อกล่าวหาเวลา 10.00 น. ที่ สน.ลาดพร้าว “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ผู้ชุมนุมทางการเมืองวัย 31 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของตำรวจ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (5)
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 กันต์ฤทัยเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจำนวน 8 นาย ไปติดตามตัวถึงห้องพัก อ้างว่าเธอโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องการเจรจาตกลงไม่ให้โพสต์ลักษณะเช่นนี้อีกและให้ปิดบัญชีเฟซบุ๊ก ก่อนตำรวจจะพาตัวเธอไป สน.ลาดพร้าว โดยไม่มีหมายใด ๆ แต่สุดท้ายตำรวจได้ทิ้งเธอไว้และขับรถหนีออกไป เธอจึงลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไว้ที่ สน.ลาดพร้าว
หลังจากนั้นวันที่ 1 ก.ค. 2565 ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนกว่า 6 นาย ระบุเป็นเจ้าหน้าที่สายสืบจาก สน.ลาดพร้าว นำหมายค้นออกโดยศาลอาญา เข้าตรวจค้นห้องพักของกันต์ฤทัย โดยได้มีการตรวจยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของเธอไป รวมทั้งสอบถามข้อมูลสมุดบัญชีธนาคารเอาไว้
ต่อมา กันต์ฤทัยได้รับหมายเรียกของ สน.ลาดพร้าว ลงวันที่ 8 ก.พ. 2566 ให้เข้ารับทราบข้อหาในวันนี้ โดยหมายระบุว่า คดีมี พ.ต.ท.แทน ไชยแสง รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เป็นผู้กล่าวหา เธอพร้อมกับทนายความ จึงได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อมฤทธิ์ วิเศษสิงห์ พนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว ตามหมายเรียก
คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ร่วม 20 นาย ได้ร่วมกันแจ้งข้อหา 2 ข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อกันต์ฤทัย โดยระบุพฤติการณ์คดีว่า บิดเบือนให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ก.พ. - 1 เม.ย. 2565 กันต์ฤทัยได้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ รวม 8 โพสต์ อันเป็นข้อมูลที่บิดเบือนให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยผู้ต้องหารู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ ต่อมา เจ้าพนักงานกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 โดย พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนและตรวจสอบการกระทำความผิด ก่อนได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลาดพร้าว
กันต์ฤทัยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนพนักงานสอบสวนได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ และแจ้งว่าจะนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลอาญา ทั้งที่กันต์ฤทัยเดินทางมาพบตามหมายเรียก
เวลา 12.40 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวกันต์ฤทัยขึ้นรถผู้ต้องขังไปยังศาลอาญา ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาได้มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก จึงไม่มีเหตุหรือพฤติการณ์ให้ต้องฝากขังผู้ต้องหา
ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยไม่ต้องประกันตัว และกำชับให้มาตามนัดหมายของศาล
คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่กันต์ฤทัยถูกกล่าวหา ก่อนหน้านี้เธอเคยถูกกล่าวหาคดีเกี่ยวกับการร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564 มาแล้ว 2 คดี ได้แก่ การชุมนุมของกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” #ม็อบ29กันยา64 ที่ดินแดง คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน และคดีก่อความเดือดร้อนรำคาญ จากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 ซึ่งตำรวจเปรียบเทียบปรับ ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว
(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.ลาดพร้าว ลงวันที่ 17 ก.พ. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/53679) -
วันที่: 07-04-2023นัด: รายงานตัวกันต์ฤทัยเดินทางไปรายงานตัวที่ศาลอาญาตามนัด เจ้าหน้าที่แจ้งว่า อัยการยังไม่ส่งฟ้อง นัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 18 เม.ย. 2566
-
วันที่: 18-04-2023นัด: รายงานตัวกันต์ฤทัยเดินทางไปรายงานตัวที่ศาลอาญาตามนัด เจ้าหน้าที่แจ้งว่า อัยการยังไม่ส่งฟ้อง นัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 1 พ.ค. 2566
-
วันที่: 01-05-2023นัด: รายงานตัวกันต์ฤทัยเดินทางไปรายงานตัวที่ศาลอาญาตามนัด เจ้าหน้าที่แจ้งว่า อัยการยังไม่ส่งฟ้อง นัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 12 พ.ค. 2566
-
วันที่: 10-05-2023นัด: ยื่นฟ้องพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 ยื่นฟ้องกันต์ฤทัยต่อศาลอาญา ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยกล่าวหาว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ก.พ. - 1 เม.ย. 2565 กันต์ฤทัยได้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ รวม 8 โพสต์ เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการกระทํามิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกินดูหมิ่น หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
ท้ายคำฟ้องอัยการคัดค้านการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และไปก่อคดีเช่นเดียวกันนี้อีก
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1262/2566 ลงวันที่ 10 พ.ค. 2566)
-
วันที่: 12-05-2023นัด: รายงานตัวกันต์ฤทัยเดินทางไปรายงานตัวตามที่ศาลนัด เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องคดีแล้ว นายประกันได้ยื่นประกันระหว่างพิจารณา ก่อนศาลอนุญาตให้ประกัน ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 ก.ค. 2566 เวลา 13.30 น.
-
วันที่: 10-07-2023นัด: ตรวจพยานหลักฐานนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน กันต์ฤทัยพร้อมทนายจำเลยเดินทางมาศาล ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง กันต์ฤทัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
อัยการแถลงมีพยานบุคคล 7 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, ตำรวจสืบสวน และนักวิชาการที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความรวม 4 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด
ทนายจำเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความ และไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง ประสงค์สืบพยานบุคคล 3 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 - 9 พ.ค. 2567 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 10 พ.ค. 2567
(อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1262/2566 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2566) -
วันที่: 08-05-2024นัด: สืบพยานโจทก์ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากจำเลยติดโควิดไม่สามารถมาศาลได้ ศาลให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19 ก.ค. 2567 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 5 ก.ย. 2567
-
วันที่: 19-07-2024นัด: สืบพยานโจทก์นัดสืบพยานโจทก์วันแรก กันต์ฤทัยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลสั่งให้สืบเสาะและพินิจฯ อนุญาตให้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพภายใน 30 วัน นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น.
-
วันที่: 27-08-2024นัด: ฟังคำพิพากษาณ ห้องพิจารณาคดีที่ 714 เวลาประมาณ 09.40 น. ผู้พิพากษาอ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า จำเลยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เข้ารับการรักษาครั้งแรกเมื่อปี 2562 และได้รับยาเพื่อทานเป็นประจำทุกวัน โดยหากอาการของโรคกำเริบจำเลยจะมีอารมณ์ดิ่ง
จากนั้นผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) รวม 8 กรรม เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 8 กรรม จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี 48 เดือน ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
ภายหลังผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ กันต์ฤทัยยังอยู่ในห้องพิจารณาคดีต่ออีกครู่หนึ่งเพื่อพูดคุยกับครอบครัว เพื่อน และประชาชนที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา สุดท้ายเธอเข้าสวมกอดกับคนรัก พร้อมกับร่ำลากันด้วยน้ำตา จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงเดินเข้ามาควบคุมตัวเธอให้เดินออกจากห้องพิจารณาคดีไปพร้อมกัน โดยระหว่างทางเดินยังคงมีเพื่อนและประชาชนเข้าสวมกอดและจับมือให้กำลังใจอยู่เป็นระยะ ๆ
ทั้งนี้ ทนายความได้ยื่นประกันกันต์ฤทัยระหว่างอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 600,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 2-3 วัน ระหว่างนี้กันต์ฤทัยจะถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อรอฟังคำสั่ง ส่งผลให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย
ระหว่างถูกคุมขังเพื่อรอฟังผลคำสั่งประกัน กันต์ฤทัยมีความกังวลว่าจะไม่ได้รับยารักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งจะต้องรับประทานต่อเนื่องทุกวัน เนื่องจากการฝากยารักษาโรคเข้าไปในเรือนจำนั้นจะต้องใช้เวลาสำหรับขั้นตอนคัดกรองและดำเนินการของเจ้าหน้าที่มากกว่า 1 วันขึ้นไป หรือในบางกรณีต้องเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ในเรือนจำเพื่อขอรับยารักษาใหม่ หากเป็นกรณีหลังอาจใช้เวลามากถึง 1 สัปดาห์ อีกทั้งกันต์ฤทัยยังมีความกังวลเกี่ยวกับชีวิตและความเป็นอยู่ของลูกชายวัย 11 ขวบเศษอีกด้วย
นอกจากคดีนี้แล้ว กันต์ฤทัยยังมีคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ซึ่งมี อานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ บก.ปอท. เมื่อปี 2565 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน
ต่อมา วันที่ 28 ส.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันกันต์ฤทัยระหว่างอุทธรณ์ ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี 48 เดือน มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วย (โรคซึมเศร้า) นั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"
(อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ อ.2629/2567 ลงวันที่ 28 ส.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69418)
สถานะ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ผลการพิพากษา
ชั้นสอบสวน
ผู้ถูกดำเนินคดี :
กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ศาลชั้นต้น
ผู้ถูกดำเนินคดี :
กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
27-08-2024
ศาลอุทธรณ์
ผู้ถูกดำเนินคดี :
กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน
ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์