สรุปความสำคัญ

เชน ชีวอบัญชา สื่ออิสระเพจ “ขุนแผน แสนสะท้าน” วัย 55 ปี และ “มานี” เงินตา คำแสน ประชาชนวัย 43 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ดูหมิ่นศาล, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได่รับอนุญาต จากการร่วมกันร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ชูป้ายและติดป้ายวิจารณ์ศาล บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ระหว่างจัดกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” เรียกร้องให้ประกัน “ใบปอ” และ “บุ้ง” โดยมีระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่ม ศปปส. เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีมาตรา 112

ทั้งนี้ มีศิลปิน นักข่าวอิสระ และผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร้องหรือเล่นดนตรีเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น ในการชุมนุมครั้งต่างๆ อย่างน้อย 5 คน โดยมีทั้งประชาชน “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ” และตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเอง และการตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดต่างทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เชน ชีวอบัญชา
    • เงินตา คำแสน
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

9 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. เชน ชีวอบัญชา สื่ออิสระเพจ “ขุนแผน แสนสะท้าน” ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าจับกุมระหว่างปักหลักที่หน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก โดยแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 24 ม.ค. 2566 มี พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ยานนาวา เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี, ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเชนไม่เคยได้รับหมายเรียกใดๆ มาก่อน

เจ้าหน้าที่ได้นำตัวเชนขึ้นรถตำรวจ ไปยัง สน.พหลโยธิน ซึ่งเป็นท้องที่จับกุมก่อน จากนั้นตำรวจจึงนำตัวเชนไปยัง สน.ยานนาวา ซึ่งเป็นสถานีตำรวจเจ้าของคดี โดยไปถึงสถานีในเวลาประมาณ 16.45 น.

บันทึกจับกุม ระบุว่า ชุดจับกุมมีทั้งตำรวจจาก สน.ยานนาวา และ สน.พหลโยธิน รวมกัน 9 นาย นำโดย พ.ต.ท.นพดล ปิ่นพงศ์พันธ์ รองผู้กำกับการสืบสวน สน.ยานนาวา เจ้าหน้าที่ยังระบุว่า ตำรวจชุดจับกุมได้สืบทราบว่าเชนได้มาปรากฏตัวอยู่บริเวณประตูหน้าศาลอาญา จึงเดินทางไปตรวจสอบ ทั้งที่เชนได้ร่วมปักหลักไลฟ์สดกิจกรรมทั้งที่หน้าศาลอาญาและศาลฎีกาในรอบเดือนที่ผ่านมาโดยตลอด แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้าจับกุมตามหมายที่ออกตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

ระหว่างที่เชนถูกควบคุมตัวอยู่ภายใน สน.ยานนาวา เวลาประมาณ 18.25 น. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุม “มานี” เงินตา คำแสน ที่เดินทางติดตามมาให้กำลังใจเชนที่หน้า สน.ยานนาวา โดยมีการแสดงหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ออกเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 เช่นเดียวกัน และระบุข้อหาเดียวกับเชน ทั้งเงินตาก็ไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนเช่นกัน

เงินตาได้ถูกตำรวจควบคุมตัวเข้าไปทำบันทึกจับกุมภายใน สน.ยานนาวา โดยชุดจับกุมนอกจากตำรวจ สน.ยานนาวา แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการตํารวจนครบาล 6 ร่วมด้วย

หลังทนายความเดินทางติดตามไปที่ สน.ยานนาวา พ.ต.ท.ฐิติวัชร์ พรศิวัฒน์ และ พ.ต.ท.อินศร อุดติ๊บ คณะพนักงานสอบสวนได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเชนและเงินตา ใน 4 ข้อกล่าวหาที่ระบุตามหมายจับของทั้งสองคน

พฤติการณ์ในคดีระบุว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.00-18.20 น. ผู้ต้องหาทั้งสองคน กับพวก ได้จัดกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันชูป้ายและติดป้ายข้อความอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ซึ่งเกี่ยวข้องหรือมุ่งหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ได้แก่ “ใบปอ” และ “บุ้ง” ในขณะนั้น

นอกจากนี้แล้ว จากการตรวจสอบภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ พบว่าผู้ต้องหาทั้งสองกับพวก ได้ร่วมกันร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ที่มีเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ โดยข้อกล่าวหาได้ยกเนื้อร้องของเพลงดังกล่าวมาประกอบ

เชนและเงินตาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ระบุว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหามีพฤติการณ์ในการกระทำผิดชัดเจน จึงคัดค้านการประกันตัว และจะนำตัวทั้งสองคนไปขอฝากขังต่อศาลในวันรุ่งขึ้น ทำให้ทั้งสองคนถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ยานนาวา ตลอดคืน

จนวันที่ 10 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 09.00 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวเชนและเงินตาไปยื่นขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจึงให้มีการไต่สวนการฝากขัง

จนเวลา 15.20 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจับกุมโดยชอบ และการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต่อมาทนายความได้ยื่นขอประกันตัวทั้งสองคน ก่อนศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน โดยระบุว่าพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ประกอบกับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้ว เห็นว่าพฤติกรรมของผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง ดังนั้นหากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ลงนามคำสั่งโดย ไพบูลย์ ทองน่วม รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้เชนถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเงินตาถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยเป็นการถูกคุมขังครั้งที่ 2 ของเงินตา หลังเคยถูกคุมขังในคดีดูหมิ่นศาลเป็นเวลา 9 วันเมื่อปี 2565

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม, รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี สน.ยานนาวา คดีอาญาที่ 567/2565 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54209)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์