สรุปความสำคัญ

“เตอร์” มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ นักกิจกรรมชาวโคราชวัย 23 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยถูกกล่าวหาว่า พูดใส่ความ ร.10 ขณะไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก Korat Movement เรียกร้องให้ยกเลิก 112 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมยืนหยุดขัง บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เมื่อเย็นวันที่ 17 เม.ย. 2564

กรณีนี้สะท้อนให้ถึงปัญหาสำคัญประการหนึ่งของมาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 3-15 ปี แต่เปิดกว้างให้เจ้าหน้าที่หรือผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ทำให้เกิดการตีความอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

13 ธ.ค. 2565 “เตอร์” มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ เดินทางไป สภ.เมืองนครราชสีมา ตามหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจาก พ.ต.ท.อุกฤษฏ์ แพงไธสง สว.สส.สภ.เมืองนครราชสีมา เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งเตอร์เองยังไม่ทราบสาเหตุที่เขาถูกออกหมายเรียกครั้งนี้มาจากเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ใด

เวลา 10.00 น. ท่ามกลางตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 50 นาย เฝ้าระวังอยู่บริเวณสถานีตำรวจ พร้อมแจ้งกำชับกับทนายความว่า จะมีเพียงเตอร์ ทนาย และบุคคลผู้ไว้วางใจ เข้ารับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาได้เท่านั้น เมื่อไปถึงห้องประชุมของ สภ.เมืองนครราชสีมา ที่ใช้เป็นห้องสอบสวนชั่วคราว พ.ต.ท.โกสินทร์ แจ่มทองหลาง พนักงานสอบสวนได้อ่านบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาใจความว่า

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 เวลา 17.30 น. เตอร์กับคนอื่น ๆ ราว 15 คน ทำกิจกรรมยืนหยุดขัง 112 นาที บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี มีการถือป้ายผ้าเขียนข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา, ป้ายกระดาษเขียนข้อความ ยกเลิก 112 พร้อมชูภาพแกนนำที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น

พ.ต.ท.โกสินทร์ ระบุด้วยว่า มีการเปิดเพลงปลุกระดม และไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก Korat Movement มีการกล่าวถึงจุดประสงค์ในการทำกิจกรรม คือ โจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังจากการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

พนักงานสอบสวนอ้างว่า ระหว่างไลฟ์สด เตอร์ได้พูดใส่ความ ร.10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ไทย โดยประการจะทำให้ ร.10 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ถูกเหยียดหยาม และเป็นการลดคุณค่าทางสังคม โดยยกถ้อยคำมาเป็น 4 ตอน มีเนื้อหาในทำนองว่า ให้ยกเลิก 112 และปฏิรูปสถาบัน เนื่องจากกษัตริย์ไทยใช้ภาษีประชาชนไปในการดูแลตนเองและครอบครัว ไม่ดูแลประชาชน ทั้งที่มีสถานการณ์โควิด วัคซีนที่กล่าวกันว่าเป็นวัคซีนที่พระราชทานก็ไม่ได้มาตรฐาน

พ.ต.ท.โกสินทร์ แจ้งว่า การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

เตอร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่ตำรวจจะพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและลงบันทึกประจำวัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่า วันนี้จะไม่ควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน และนัดส่งตัวให้อัยการในวันที่ 12 ม.ค. 2566 เตอร์จึงเดินทางกลับในช่วงเวลา 11.45 น.

เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามหลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 คดีของเตอร์นับเป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คดีที่ 2 ของ จ.นครราชสีมา (คดีแรกทราบเพียงว่ามีผู้ถูกดำเนินคดี แต่ไม่ทราบชื่อและพฤติการณ์คดี) เตอร์กล่าวว่า การถูกดำเนินคดีครั้งนี้สร้างภาระ ทำให้เสียเวลาในการต้องมาต่อสู้คดีอีกครั้ง ทั้งที่เขาเองเคยคาดหวังว่า ชีวิตนับจากนี้จะไม่ต้องมาเสียเวลาทำงานเพื่อสร้างชีวิตอีกแล้ว ยิ่งกับมาตรา 112 ที่อัตราโทษสูง การที่ต้องมาสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล ก็คงจะใช้เวลาอีกไม่น้อย

ก่อนหน้านี้ คดีของเตอร์ที่ถูกถูกกล่าวหาว่าจัดคาร์ม็อบ “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 และคดีสาดสีประณามที่ตำรวจทำรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ทั้งสองคดีศาลแขวงนครราชสีมาต่างมีคำพิพากษายกฟ้อง

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51532)

ภูมิหลัง

  • มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ
    เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2557 ศึกษาอย่างจริงจังในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก และรู้สึกถึงความไม่โปร่งใส ทำให้ยิ่งอยากขับเคลื่อนให้เห็นสิ่งชอบธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ในต้นปี 2563 เกิดแฟลชม็อบในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมและขึ้นปราศัยครั้งแรกในชีวิต

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/50507)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์