สรุปความสำคัญ

“สายน้ำ” นภสินธุ์ (สงวนนามสกุล) และ “ออย” สิทธิชัย (สงวนนามสกุล) 2 นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 18 และ 25 ปี ถูกออกหมายจับและดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, บุกรุก, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากเหตุยืนถ่ายภาพชู 3 นิ้ว บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และโพสต์ลงเฟซบุ๊กของทั้งสอง เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 หลัง ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และ ผกก.สน.ดุสิต เข้าแจ้งความ กล่าวหาว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของสายน้ำและออยในพื้นที่เขตพระราชฐาน เป็นการดูหมิ่นหรือด้อยค่ากษัตริย์และพระราชินี และรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น อีกทั้งปัญหาการตีความขยายขอบเขตไปกว้างขวางทั้งผู้แจ้งความและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สายน้ำ (นามสมมติ)
    • สิทธิชัย (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

14 เม.ย. 2566 ช่วงเวลา 22.00 น. “สายน้ำ” นภสินธุ์ และ “ออย” สิทธิชัย สองนักกิจกรรมทางการเมืองวัย 18 และ 25 ปี เดินทางไปที่ สน.ดุสิต เพื่อเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หลังทราบว่า พวกเขาถูกออกหมายจับข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คาดมาจากเหตุโพสต์ภาพชูสามนิ้วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566

แต่เมื่อทั้งสองและกลุ่มเพื่อนไปถึง สน.ดุสิต พนักงานสอบสวนเวรกลับแจ้งว่า จะไม่ดำเนินการรับมอบตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นสายน้ำและออยจึงตัดสินใจเดินทางกลับ โดยได้ถ่ายรูปและโพสต์เป็นหลักฐานว่า ได้เดินทางมาที่ สน.ดุสิต แล้ว ขณะจะออกจาก สน. ตำรวจชุดสืบจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เดินทางมาพร้อมหมายจับ ก่อนจะมีการพูดคุยกับทั้งสอง แจ้งว่าจะทำบันทึกจับกุม และนำตัวไปสอบสวนที่ สน.ฉลองกรุง ที่อยู่ห่างออกไปราว 40 กิโลเมตร แม้สายน้ำและออยจะขอให้สอบสวนที่ สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งอยู่ใกล้กว่า แต่ชุดสืบไม่ยินยอม

ก่อนทำบันทึกจับกุม ชุดสืบจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวนฯ ได้แสดงหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 11 เม.ย. 2566 ซึ่งกล่าวหาว่า ทั้งสองร่วมกันดูหมิ่นพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ, บุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน, จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง, ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

บันทึกจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมสืบทราบว่า ทั้งสายน้ำและออยอยู่ระหว่างการเดินทางไปยัง สน.ดุสิต จึงรีบติดตามมาที่สถานีตำรวจ แสดงตนว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอตรวจสอบ ก่อนแสดงหมายจับและอ่านให้ฟัง

โดยทั้งสายน้ำและออยต่างให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุมดังกล่าว เวลา 02.30 น. สายน้ำและออยถูกคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังเพื่อไปสอบปากคำที่ สน.ฉลองกรุง

พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เดินทางตามมาและเริ่มแจ้งพฤติการณ์พร้อมทั้งข้อกล่าวหาในเวลาประมาณ 04.00 น. โดยระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ผู้กล่าวหา เปิดเฟซบุ๊กของสายน้ำและออย ปรากฏภาพทั้งสองคนยืนถ่ายภาพรวมกันบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ภายในลานพระราชวังสวนดุสิต และแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว โดยมีฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชินี อันเป็นการดูหมิ่นหรือด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รวมถึงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว

พนักงานสอบสวนยังแจ้งอีกว่า ต่อมา พ.ต.อ.ไตรเทพ แพทย์รัตน์ ผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์เพิ่มเติมให้ดำเนินคดีกับสายน้ำและออยในข้อหา ร่วมกันบุกรุกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในเวลากลางคืน, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป และร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง โดยระบุว่า พฤติการณ์ของทั้งสองเป็นการเข้าไปกระทําการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาสายน้ำและออยรวม 5 ข้อหา ตามหมายจับ ทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม โดยจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

การสอบปากคำเสร็จสิ้นในราว 05.30 น. พนักงานสอบสวนแจ้งกับทนายความว่า จะนำตัวสายน้ำและออยไปยื่นฝากขังที่ศาลอาญาในตอนเช้า ระหว่างนี้ทั้งสองจะถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.ฉลองกรุง ก่อน

15 เม.ย. 2566 ที่ศาลอาญา สายน้ำและออยถูกคุมตัวมาถึงช่วง 10.00 น. หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ระบุมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ประกอบกับการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ระบุคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีภายหลัง

ก่อนที่ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังและขอให้ศาลไต่สวน แต่เมื่อศาลไต่สวนแล้วก็มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า ให้วางหลักประกันในวงเงินคนละ 90,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามมิให้ผู้ต้องหาทั้งสองกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ต้องหาทั้งสองผิดสัญญาประกัน

ทั้งนี้ ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ซึ่งเป็นสมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรม รวมถึงสื่ออิสระในข้อหาตามมาตรา 112 มาแล้วหลายคดี โดยมีผู้ถูกออกหมายเรียกหรือจับกุมมาดำเนินคดีรวมคดีของสายน้ำและออย 5 คดีแล้ว

สำหรับทั้ง “สายน้ำ” นภสินธุ์ และ “ออย” สิทธิชัย ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2566 เพิ่งถูกจับกุมและถูกแจ้ง 3 ข้อหา จากการพ่นสีสเปรย์ตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ เครื่องหมายอนาคิสต์ และข้อความ “หยกโดน 112 ตรงนี้” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า ภายหลังจับกุมและถูกส่งไปขอฝากขัง ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขัง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายขัง

(อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.536/2566 ลงวันที่ 15 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55231)

ภูมิหลัง

  • สายน้ำ (นามสมมติ)
    ทำกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อวิพากษ์ระบบการศึกษาไทย โดยยืนเคารพธงชาติพร้อมชู 3 นิ้ว ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เช้าจนมืด ก่อนที่จะลาออกจากโรงเรียน เพราะรู้สึกว่าการเรียนในโรงเรียน ในระบบการศึกษาไทย ไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับตน และเริ่มต้นเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว พร้อมกับการเตรียมตัวอ่านหนังสือเพื่อสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย

    อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/27591

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์