ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • จัดการชุมนุมใกล้เขตวัง/ที่ประทับ/สถานที่ราชการ

ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • จัดการชุมนุมใกล้เขตวัง/ที่ประทับ/สถานที่ราชการ

ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • จัดการชุมนุมใกล้เขตวัง/ที่ประทับ/สถานที่ราชการ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • จัดการชุมนุมใกล้เขตวัง/ที่ประทับ/สถานที่ราชการ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ความสำคัญของคดี

“สายน้ำ” นภสินธุ์ (สงวนนามสกุล) และ “ออย” สิทธิชัย (สงวนนามสกุล) 2 นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 18 และ 25 ปี ถูกออกหมายจับและดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, บุกรุก, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากเหตุยืนถ่ายภาพชู 3 นิ้ว บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และโพสต์ลงเฟซบุ๊กของทั้งสอง เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 หลัง ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และ ผกก.สน.ดุสิต เข้าแจ้งความ กล่าวหาว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของสายน้ำและออยในพื้นที่เขตพระราชฐาน เป็นการดูหมิ่นหรือด้อยค่ากษัตริย์และพระราชินี และรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น อีกทั้งปัญหาการตีความขยายขอบเขตไปกว้างขวางทั้งผู้แจ้งความและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำร้องขอฝากขังระบุพฤติการณ์คดีว่า

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ผู้กล่าวหา เปิดเฟซบุ๊กของสายน้ำและออย ปรากฏภาพทั้งสองคนยืนถ่ายภาพรวมกันบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ภายในลานพระราชวังสวนดุสิต และแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว โดยมีฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชินี

ผู้กล่าวหาเห็นว่า การแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ดังกล่าว เป็นการสื่อความหมายถึง สันติภาพ เสรีภาพ และ ภราดรภาพ ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่เขตพระราชฐาน รวมถึงได้นำภาพดังกล่าวเผยแพร่ต่อสาธารณะในเฟซบุ๊ก โดยการสื่อความหมายดังกล่าวย่อมทำให้สมาชิกกลุ่มหรือประชาชนโดยทั่วไปที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเข้าใจไปในลักษณะเป็นการแสดงออกในการเรียกร้องตามหลักสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ โดยใช้สถานที่แสดงออกสัญลักษณ์ในพื้นที่เขตพระราชฐาน อันเป็นการดูหมิ่นหรือด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รวมถึงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว

ต่อมา พ.ต.อ.ไตรเทพ แพทย์รัตน์ ผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์เพิ่มเติมให้ดำเนินคดีกับสายน้ำและออยในข้อหา ร่วมกันบุกรุกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในเวลากลางคืน, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป และร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง โดยระบุว่า พฤติการณ์ของทั้งสองเป็นการเข้าไปกระทําการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข

การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองที่เข้าไปในเขตพระราชฐาน ซึ่งไม่ใช่สถานที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปได้ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะพระบรมรูป ร.5 เฉพาะช่วงเวลา 06.00- 22.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ทางสำนักพระราชวังกำหนด โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และเพื่อให้การเข้าไปสักการะของประชาชนเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทำในสิ่งที่มิบังควร หรือขัดต่อขนบธรรมเนียมศีลธรรมอันดี ตลอดจนต้องสำรวมกิริยาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่อันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป

แต่ผู้ต้องหาทั้งสองคนที่ถูกติดตามพฤติกรรมมาตั้งแต่แสดงสัญลักษณ์เรียกร้องชู 3 นิ้ว พร้อมตะโกน “ยกเลิกมาตรา 112” หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่น ๆ ในสถานที่ต่าง ๆ เข้าไปแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว โดยมีฉากหลังเป็นพระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ช่วงเวลาประมาณ 19.22 น.- 19.34 น. เชื่อว่า ย่อมมีเจตนาเข้าไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ซึ่งรู้ดีอยู่แล้วว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นเขตพระราชฐาน แต่ยังเข้าไปแสดงออกซึ่งการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งประทับอยู่ในบริเวณดังกล่าว

(อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.536/2566 ลงวันที่ 15 เม.ย. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • ช่วงเวลา 22.00 น. “สายน้ำ” นภสินธุ์ และ “ออย” สิทธิชัย สองนักกิจกรรมทางการเมืองวัย 18 และ 25 ปี เดินทางไปที่ สน.ดุสิต เพื่อเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หลังทราบว่า พวกเขาถูกออกหมายจับข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คาดมาจากเหตุโพสต์ภาพชูสามนิ้วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566

    แต่เมื่อทั้งสองและกลุ่มเพื่อนไปถึง สน.ดุสิต พนักงานสอบสวนเวรกลับแจ้งว่า จะไม่ดำเนินการรับมอบตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นสายน้ำและออยจึงตัดสินใจเดินทางกลับ โดยได้ถ่ายรูปและโพสต์เป็นหลักฐานว่า ได้เดินทางมาที่ สน.ดุสิต แล้ว ขณะจะออกจาก สน. ตำรวจชุดสืบจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เดินทางมาพร้อมหมายจับ ก่อนจะมีการพูดคุยกับทั้งสอง แจ้งว่าจะทำบันทึกจับกุม และนำตัวไปสอบสวนที่ สน.ฉลองกรุง ที่อยู่ห่างออกไปราว 40 กิโลเมตร แม้สายน้ำและออยจะขอให้สอบสวนที่ สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งอยู่ใกล้กว่า แต่ชุดสืบไม่ยินยอม

    ก่อนทำบันทึกจับกุม ชุดสืบจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวนฯ ได้แสดงหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 11 เม.ย. 2566 ซึ่งกล่าวหาว่าทั้งสอง

    1. ร่วมกันดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    2. ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    3. ร่วมกันบุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2)

    4. ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7

    5. ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10

    บันทึกจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมสืบทราบว่า ทั้งสายน้ำและออยอยู่ระหว่างการเดินทางไปยัง สน.ดุสิต จึงรีบติดตามมาที่สถานีตำรวจ แสดงตนว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอตรวจสอบ ก่อนแสดงหมายจับและอ่านให้ฟัง

    โดยทั้งสายน้ำและออยต่างให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกจับกุมดังกล่าว

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.ดุสิต ลงวันที่ 14 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55231)
  • เวลา 02.30 น. สายน้ำและออยถูกคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังเพื่อไปสอบปากคำที่ สน.ฉลองกรุง

    พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เดินทางตามมาและเริ่มแจ้งพฤติการณ์พร้อมทั้งข้อกล่าวหาในเวลาประมาณ 04.00 น. โดยระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ผู้กล่าวหา เปิดเฟซบุ๊กของสายน้ำและออย ปรากฏภาพทั้งสองคนยืนถ่ายภาพรวมกันบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ภายในลานพระราชวังสวนดุสิต และแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว โดยมีฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชินี

    ผู้กล่าวหาเห็นว่า การแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ดังกล่าว เป็นการสื่อความหมายถึง สันติภาพ เสรีภาพ และ ภราดรภาพ ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่เขตพระราชฐาน รวมถึงได้นำภาพดังกล่าวเผยแพร่ต่อสาธารณะในเฟซบุ๊ก โดยการสื่อความหมายดังกล่าวย่อมทำให้สมาชิกกลุ่มหรือประชาชนโดยทั่วไปที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเข้าใจไปในลักษณะเป็นการแสดงออกในการเรียกร้องตามหลักสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ โดยใช้สถานที่แสดงออกสัญลักษณ์ในพื้นที่เขตพระราชฐาน อันเป็นการดูหมิ่นหรือด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รวมถึงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนยังแจ้งอีกว่า ต่อมา พ.ต.อ.ไตรเทพ แพทย์รัตน์ ผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์เพิ่มเติมให้ดำเนินคดีกับสายน้ำและออยในข้อหา ร่วมกันบุกรุกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในเวลากลางคืน, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป และร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง โดยระบุว่า พฤติการณ์ของทั้งสองเป็นการเข้าไปกระทําการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข

    พนักงานสอบสวนระบุว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองที่เข้าไปในเขตพระราชฐาน ซึ่งไม่ใช่สถานที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปได้ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะพระบรมรูป ร.5 เฉพาะช่วงเวลา 06.00- 22.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ทางสำนักพระราชวังกำหนด โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และเพื่อให้การเข้าไปสักการะของประชาชนเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทำในสิ่งที่มิบังควร หรือขัดต่อขนบธรรมเนียมศีลธรรมอันดี ตลอดจนต้องสำรวมกิริยาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่อันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป

    แต่ผู้ต้องหาทั้งสองคนที่ถูกติดตามพฤติกรรมมาตั้งแต่แสดงสัญลักษณ์เรียกร้องชู 3 นิ้ว พร้อมตะโกน “ยกเลิกมาตรา 112” หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่น ๆ ในสถานที่ต่าง ๆ เข้าไปแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว โดยมีฉากหลังเป็นพระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ช่วงเวลาประมาณ 19.22 น.- 19.34 น. เชื่อว่า ย่อมมีเจตนาเข้าไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ซึ่งรู้ดีอยู่แล้วว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นเขตพระราชฐาน แต่ยังเข้าไปแสดงออกซึ่งการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งประทับอยู่ในบริเวณดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาสายน้ำและออยรวม 5 ข้อหา ตามหมายจับ ทั้งสองยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม โดยจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

    การสอบปากคำเสร็จสิ้นในราว 05.30 น. พนักงานสอบสวนแจ้งกับทนายความว่า จะนำตัวสายน้ำและออยไปยื่นฝากขังที่ศาลอาญาในตอนเช้า ระหว่างนี้ทั้งสองจะถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.ฉลองกรุง ก่อน

    ที่ศาลอาญา สายน้ำและออยถูกคุมตัวมาถึงช่วง 10.00 น. หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ระบุมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ประกอบกับการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นต้องสอบสวนพยานอีก 6 ปาก รวมถึงรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา จึงขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาทั้งสอง รวมถึงคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ระบุคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีภายหลัง

    ก่อนที่ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังและขอให้ศาลไต่สวน แต่เมื่อศาลไต่สวนแล้วก็มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว

    ก่อนเวลา 12.30 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยให้วางหลักประกันในวงเงินคนละ 90,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข ห้ามมิให้ผู้ต้องหาทั้งสองกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ต้องหาทั้งสองผิดสัญญาประกัน นัดรายงานตัวที่ศาล ในวันที่ 2 มิ.ย. 2566

    ทั้งนี้ ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ซึ่งเป็นสมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรม รวมถึงสื่ออิสระในข้อหาตามมาตรา 112 มาแล้วหลายคดี โดยมีผู้ถูกออกหมายเรียกหรือจับกุมมาดำเนินคดีรวมคดีของสายน้ำและออย 5 คดีแล้ว

    สำหรับทั้ง “สายน้ำ” นภสินธุ์ และ “ออย” สิทธิชัย ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2566 เพิ่งถูกจับกุมและถูกแจ้ง 3 ข้อหา จากการพ่นสีสเปรย์ตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ เครื่องหมายอนาคิสต์ และข้อความ “หยกโดน 112 ตรงนี้” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า ภายหลังจับกุมและถูกส่งไปขอฝากขัง ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขัง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายขัง

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.536/2566 ลงวันที่ 15 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55231)
  • เวลา 09.00 น. สายน้ำและออยเดินทางไปรายงานตัวตามนัดของศาล ก่อนจะพบว่า พ.ต.ท.พงศพัศ บัวรุ่ง พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้ยื่นคำร้องขอถอนการประกันทั้งคู่ และศาลจะไต่สวนคำร้องดังกล่าว แต่ทั้งคู่ไม่ได้มีทนายความมาด้วย จึงแถลงขอให้เลื่อนการไต่สวน ศาลจึงนัดไต่สวนใหม่ในวันที่ 8 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. และกำชับให้ผู้ต้องหาทั้งสองมาตามนัดพร้อมกับทนายความ มิเช่นนั้นจะถือว่าสละสิทธิในการมีทนายความ

    ต่อมาหลังการตรวจสอบคำร้องของพนักงานสอบสวน พบว่าคำร้องระบุถึง 3 การกระทำที่อ้างว่าผิดเงื่อนไขการขอประกันตัว ได้แก่

    1. เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 สายน้ำ ผู้ต้องหาที่ 1 กับกลุ่มโมกข์หลวงริมน้ำ ไปจัดกิจกรรมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อยื่นคําร้องขอให้ปล่อยตัว ธนลภย์ หรือหยก ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เวลาประมาณ 15.56 น. สายน้ำได้นอนบริเวณป้ายศาลเยาวชนฯ ลักษณะใช้เท้ายกขึ้นใส่ป้ายศาล และนําป้ายผ้าเขียนข้อความ “เยาวชนอายุ 15 อยู่ในคุกเพราะ 112” ไว้บริเวณที่ป้ายศาล โดยได้มีการประกาศเชิญชวน และส่งต่อภาพกิจกรรมทั้งหมดไปยังเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุแก๊ส”

    2. เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 เวลาประมาณ 18.00 น. สายน้ำและออยร่วมกับพวก ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ชักธงสีดํา ปรากฏข้อความต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคํา “112” โบกสะบัดวิ่งโดยรอบบริเวณพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับถ่ายทอดทางสื่อโซเชียล อันเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกระทําในพื้นที่ใกล้ชิดกับพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) ซึ่งไม่แตกต่างจากการกระทําความผิดตามมาตรา 112 กรณีชู 3 นิ้วในเขตพระราชฐานในคดีนี้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่ง สน.พระราชวัง ได้รับคําร้องทุกข์ไว้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสอง ในความผิดฐาน “ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวังฯ และไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมายกําหนด” และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ

    3. เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 ผู้ต้องหาทั้งสองได้นัดหมายรวมตัวกันผ่านเฟซบุ๊ก ที่บริเวณ สน.สําราญราษฎร์ เวลาประมาณ 16.00 น. โดยจัดกิจกรรมชื่อว่า “ใครใคร่ด่า ด่า ใครใคร่สาด สาด #SAVE หยก” โดยมีผู้ต้องหาทั้งสองเป็นนแกนนํา พร้อมกับพวกประมาณ 30 คน เดินทางมายัง สน.สําราญราษฎร์ นําสีทาบ้านแบบประป๋อง, เลือด, กระป๋องสเปรย์ เชิญชวนมวลชนที่มาร่วมชุมนุมสาดสีบริเวณบันไดทางขึ้นและโดยรอบ สน.สําราญราษฎร์, ปิดทางเข้า-ออก, พ่นสีสเปรย์ใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจและตัวอาคารที่ทําการ, พ่นสีใส่ศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลเจ้าพ่อปู่ขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของเจ้าหน้าที่ตํารวจและประชาชนโดยรอบ, จุดพลุควันปาใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ, ตะโกนด่าทอ, ใช้กําลังทําลายทรัพย์สินของทางราชการ, ปากระป๋องสีและถุงเลือดใส่เจ้าหน้าที่ โดยออยได้ปากระป๋องสีใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะแตกเป็นแผลฉกรรจ์ พยายามนํามวลชนบุกรุกขึ้นไปบริเวณชั้น 2 ของ สน.สําราญราษฎร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตํารวจ ตั้งแผงเหล็กกั้นเป็นเขตหวงห้าม

    เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงจับกุมตัวสายน้ำและออยกับพวกรวม 4 คน ในข้อหา ร่วมกันทําให้ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์เสียหาย, ร่วมกันบุกรุก โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันทําให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย ซึ่งเหตุผลในการเดินทางมาที่ สน.สําราญราษฎร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของพนักงานสอบสวน ซึ่งดําเนินคดีธนลภย์ ในความผิดตามมาตรา 112 กระทั่งถูกนําตัวไปควบคุมที่ศาลเยาวชนฯ

    คำร้องขอถอนประกันสายน้ำและออยยังระบุว่า พฤติการณ์และการกระทําของผู้ต้องหาทั้งสองข้างต้น เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง หากแต่ผู้ต้องหาทั้งสองไม่สํานึกในโอกาสที่ตนได้รับ กลับท้าทายอํานาจศาลและกฎหมายบ้านเมือง โดยกลับไปกระทําความผิดซ้ำในลักษณะเดิม, ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, ก่อเหตุอันตรายประการอื่น, เป็นอุปสรรคและเกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (2), (3), (5) ตามลําดับ

    (อ้างอิง: คำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ประกัน ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.536/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56489)
  • เวลา 10.00 น. สายน้ำและออยเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 903 พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งที่มาเข้าร่วมฟังการไต่สวนในวันนี้ด้วย อาทิเช่น “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, “แบม” อรวรรณ และเอกชัย หงส์กังวาน

    10.15 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้ถามทนายผู้ต้องหาว่า มีข้อคัดค้านอะไรบ้าง ซึ่งทนายได้ชี้แจงต่อศาลว่า ในคำร้องขอถอนประกันของตำรวจผู้ร้อง ไม่มีมูลความจริงที่จะเพิกถอนประกันตัวผู้ต้องหา โดยผู้ต้องทั้งสองคนรับว่า ตนเองได้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทั้ง 3 ครั้งจริง แต่ไม่ได้มีกิจกรรมใดที่ผู้ต้องหากระทำการที่ผิดเงื่อนไขการประกันตัวในคดีนี้

    ทั้งนี้ ศาลได้ให้ พ.ต.ท.พงศพัศ บัวรุ่ง ผู้ร้องขอถอนประกัน เบิกความถึงเหตุที่มาร้องขอให้ถอนประกันสายน้ำและออย พ.ต.ท.พงศพัศ แถลงว่า ในคำร้องขอถอนประกันนั้นได้มีมูลเหตุให้ร้องถอนประกันตัวผู้ต้องหาอยู่ 3 ประการ ก่อนบรรยายถึง 3 เหตุการณ์ ตามคำร้อง

    ทั้งนี้ พ.ต.ท.พงศพัศ ได้แจ้งต่อศาลว่า คดีนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการฝากขังเป็นครั้งที่ 5 แล้ว และใกล้จะสรุปสำนวนคดีส่งให้อัยการได้แล้ว ซึ่งแม้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองจะได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนนี้ แต่เหตุที่ทำให้ต้องมาแจ้งถอนประกัน เนื่องจาก 3 เหตุการณ์ข้างต้น เป็นการสร้างความวุ่นวายและไม่สงบในบ้านเมือง

    ทนายผู้ต้องหาได้แถลงต่อศาลว่า ในคำร้องขอถอนประกันสายน้ำและออย ผู้ร้องได้ระบุว่า การร้องขอถอนประกันนั้นเป็นเหตุเนื่องมาจากเกรงว่าผู้ต้องหาทั้งสองจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานที่ตำรวจได้รวบรวมไว้แล้ว ซึ่งทนายขอใช้สิทธิคัดค้านเพิ่มว่า ผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีอิทธิพลและไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ได้

    ต่อมา ทนายได้ถามค้าน พ.ต.ท.พงศพัศ ว่า ในกิจกรรมเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 ที่ผู้ต้องหาทั้งสองคนเข้าร่วม พยานทราบหรือไม่ว่า ผู้จัดกิจกรรมได้มีการแจ้งการชุมนุมแล้ว และผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมเท่านั้น ไม่ได้เป็นแกนนำในการทำกิจกรรมแต่อย่างใด พยานตอบว่า ทราบแล้ว แต่ในการแจ้งการชุมนุมกับการอนุญาตให้ชุมนุมก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งพยานไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ ได้อนุญาตให้จัดได้หรือไม่ ทนายจึงได้ค้านพยานผู้ร้องว่า ในการแจ้งการชุมนุมเป็นการแจ้งให้ทราบเท่านั้น และตามกฎหมายไม่จำเป็นต้องขออนุญาตตำรวจในท้องที่

    ทนายถามต่อไปว่า พยานทราบหรือไม่ว่า กิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นกิจกรรมอะไร พยานได้หันไปถามคณะเจ้าหน้าที่ที่เดินทางมาพร้อมกัน ก่อนจะตอบทนายว่า น่าจะเป็นการเรียกร้องให้ปล่อยตัว “หยก” ผู้ต้องหาคดี ม.112 โดยในกิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน

    อย่างไรก็ตาม พยานรับข้อเท็จจริงตามที่ทนายผู้ต้องหาถามว่า ในเหตุการณ์วันดังกล่าว พยานไม่มีหลักฐานอื่นนอกจากภาพถ่ายมายืนยันว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งหลักฐานที่ผู้ร้องนำส่งศาลมีเพียงภาพถ่ายของสายน้ำ แต่ไม่มีภาพของออย ซึ่งพยานรับว่า ไม่ทราบว่า ออยได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วยหรือไม่

    พ.ต.ท.พงศพัศ ยังรับว่า ในกิจกรรมวันที่ 3 พ.ค. 2566 ยังไม่มีการดำเนินคดีกับบุคคลใด มีเพียงรายงานการสืบสวน และอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีว่าจะดำเนินการแจ้งความหรือไม่

    นอกจากนี้ พยานยังได้ทราบตามที่ทนายผู้ต้องหาถามว่า หยก นักกิจกรรม วัย 15 ปี ได้รับการปล่อยตัวออกจากบ้านปรานีแล้ว โดยได้ทราบว่าจากข่าวทั่วไป

    ต่อมา ทนายผู้ต้องหาได้ถาม พ.ต.ท.พงศพัศ ถึงเหตุในวันที่ 9 พ.ค. 2566 ว่า ตามรายงานของผู้ร้อง พบว่ามีการชี้ตัวผู้ถือธงดำ เป็นผู้ต้องหาที่ 1 หรือ สายน้ำ แต่ในภาพหลักฐาน ธงดังกล่าวไม่ได้มีสัญลักษณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้ตอบว่า ใช่

    ทำให้ทนายถามต่อไปว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว พยานทราบหรือไม่ว่าเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องใด พยานจึงได้อ่านตามรายงานการสืบสวนของ สน.พระราชวัง โดยตอบว่า มีการชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ซึ่งการชุมนุมอยู่ใกล้พระราชวังไม่เกิน 150 เมตร ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว หรือจะมีใครเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ และไม่ทราบว่าในพยานหลักฐานที่นำส่งศาล ภาพของสายน้ำจะเป็นภาพที่ทำกิจกรรมอยู่บริเวณวัดพระแก้วหรือไม่ และออยอยู่บริเวณใด ซึ่งนอกจากภาพถ่ายที่ส่งต่อศาลแล้ว พ.ต.ท.พงศพัศ ก็ไม่ได้มีหลักฐานอื่นใดมายื่นให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมอีก

    นอกจากนี้ ตามคำร้องที่ได้ระบุว่า เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ตามพยานหลักฐานก็ไม่ได้ปรากฏว่า ผู้ต้องหาทั้งสองได้มีการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร ซึ่งพยานตอบได้แค่ว่า เป็นการทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวเท่านั้น

    สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ทนายได้ถามพยานผู้ร้องว่า มีการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ซึ่งมีสายน้ำและออยรวมอยู่ด้วย และทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ อีกด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว

    ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์ พยานยอมรับตามที่ทนายถามค้านว่า ไม่ได้เรียกพยานบุคคลอื่นมาสอบปากคำเพิ่มเติม และไม่ทราบว่าในการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ได้ยอมรับตามที่ทนายถามค้านว่า ในท้ายคำร้องที่แนบประวัติการกระทำผิดของสายน้ำมาด้วย ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุที่ขอถอนประกันในครั้งนี้

    ในช่วงสุดท้าย ก่อนสิ้นสุดการไต่สวน ทนายผู้ต้องหาแถลงต่อศาลว่า ขอให้ผู้ต้องหาทั้งสองคนได้แถลงข้อเท็จจริงต่อศาลเพิ่มเติม ซึ่งศาลได้ตอบว่า ขอให้ยื่นคำร้องเข้ามาแทน จะได้ไม่ต้องเบิกความ และศาลจะรวบรวมบันทึกการไต่สวนวันนี้ไปพิจารณาพร้อมกับคำร้องของผู้ต้องหา โดยจะนัดฟังคำสั่งในวันถัดไปคือวันที่ 9 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น.

    อย่างไรก็ตาม สายน้ำและออยยืนยันว่า ต้องการแถลงต่อศาลในห้องพิจารณานี้ โดยสายน้ำแถลงว่า ในเหตุการณ์วันที่ 3 พ.ค. 2566 ตนไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และได้มีการแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว อีกทั้งในวันดังกล่าวยังได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกตลอดการจัดกิจกรรมอีกด้วย ซึ่งหากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็คงไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาอำนวยความสะดวกในวันดังกล่าว

    อีกทั้ง ในวันที่ 9 พ.ค. 2566 เป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง โดยเป็นการเรียกร้องต่อศาลให้คืนความยุติธรรมให้กับ หยก นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 15 ปี ไม่มีการสร้างความวุ่นวายแต่อย่างใด และไม่มีการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวในคดีนี้ตามคำร้องขอถอนประกันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา

    และสุดท้าย ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 สายน้ำและออยได้รับการประกันตัว โดยไม่มีกำหนดเงื่อนไขใดๆ จากศาลนี้ ทำให้ตนไม่ทราบว่าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาร้องขอถอนประกันด้วยเหตุผลใด ซึ่งออยได้ยืนขึ้นแถลงและยืนยันข้อเท็จจริงตามที่สายน้ำพูดทุกประการ

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานผู้ร้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.536/2566 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56628)
  • กีรติ กีรติยุติ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำสั่งมีรายละเอียดว่า พิเคราะห์แล้ว ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสอง 3 ข้อ ได้แก่ (1) ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก (2) ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และ (3) ห้ามกระทำการให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

    ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี หรือก่อความเสียหายในระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (3) เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเหตุตามคำร้องว่า มิได้กระทำแล้ว จึงเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสองกระทำจริง แม้เหตุในวันที่ 3 พ.ค. 2566 และวันที่ 9 พ.ค. 2566 ผู้ต้องหาทั้งสองจะไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และมีการแจ้งการชุมนุมแล้ว แต่การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวของสายน้ำที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นพฤติการณ์ที่เกินเลยไปจากความเหมาะสม ส่อไปในทางกดดันศาลนอกเหนือขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

    จึงไม่ใช่การชุมนุมที่แสดงออกด้วยความสงบหรือสันติตามกฎหมาย และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ยังมิให้จัดการชุมนุมภายในพื้นที่ของศาล เว้นแต่มีการจัดให้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมภายในพื้นที่นั้น จึงถือว่าเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามเงื่อนไขที่ 2

    นอกจากนี้ ในเหตุวันที่ 9 พ.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีเพียงบันทึกข้อความจาก สน.พระราชวัง โดยไม่ได้มีประจักษ์พยานว่า ผู้ต้องหาเข้าร่วมกิจกรรมจริง ประกอบกับผู้ร้องเบิกความว่า ธงดำ ซึ่งสายน้ำเป็นผู้ถือ ก็ไม่ได้มีข้อความกล่าวถึงกษัตริย์ด้วย และศาลตรวจสอบรูปภาพใกล้เคียงแล้วพบแต่ธงดำที่มีข้อความว่า “Save หยก สหายน้อย” ทำให้พยานหลักฐานตามเหตุครั้งที่ 2 นี้ ไม่หนักแน่นพอ สมควรยกประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องหาทั้งสอง

    ในส่วนเหตุครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 ศาลได้นำสำนวนในคดีดังกล่าวมาพิจารณาแล้ว ปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งรับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกในเหตุการณ์ดังกล่าวจริง เนื่องจากมีความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จะต้องหมายขัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 แสดงว่ามีหลักฐานพอสมควรว่า น่าจะได้กระทำความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรค 1 และมาตรา 66 (1) โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 2 หรือ ออย มีพฤติการณ์ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บด้วย จึงเข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวที่ 2

    อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาในชั้นสอบสวนที่ใกล้จะครบระยะเวลาฝากขัง 84 วัน และผู้ร้องได้เคยเบิกความว่า ใกล้จะสรุปสำนวนการสอบสวนแล้ว การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่น่าเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนอีก ประกอบกับผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีนี้ จึงไม่มีเหตุให้สั่งเพิกถอนคำสั่งประกันระหว่างฝากขังแต่อย่างใด

    ดังนั้น ผู้ต้องหาทั้งสองจึงทำผิดสัญญาประกันบางส่วน โดยสายน้ำ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลเป็นคราวแรก จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันตัวใหม่ สมควรว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกิจกรรมเพื่อเรียกร้องต้องไปเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เสรีภาพ หรือศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น เพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง มิฉะนั้น ย่อมเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และกลับไม่เป็นไปตามประชาธิปไตยเสียเอง และการกระทำนั้นย่อมกลับมาเป็นโทษแก่ตนเองและครอบครัวในอนาคต

    ส่วนออย หรือผู้ต้องหาที่ 2 อายุกว่า 25 ปี มีวุฒิภาวะ ความสามารถ รู้ผิดชอบชั่วดีโดยสมบูรณ์แล้ว แต่กลับฝ่าฝืนเงื่อนไขประกันบางส่วน นอกจากตักเตือนเพื่อไม่ให่ไปกระทำผิดประการอื่นแล้ว อาศัยอำนาจตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรค 1 ปรับ 2,000 บาท มิฉะนั้น ให้ขังระหว่างนี้ระยะเวลา 4 วัน เสร็จแล้วจึงอนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยใช้สัญญาประกันและหลักประกันเดิมต่อไป

    (อ้างอิง: คำสั่งคำร้องเพิกถอนปล่อยชั่วคราวระหว่างฝากขัง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.536/2566 ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56628)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สายน้ำ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิทธิชัย (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์