สรุปความสำคัญ

“เวฟ” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดนนทบุรีวัย 30 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) จากการแชร์ภาพพร้อมข้อความและโพสต์ข้อความประกอบตั้งคำถามถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทสยามไบโอไซน์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 โดยมี นพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนจำนวนมาก

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • "เวฟ" (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

23 พ.ค. 2565 “เวฟ” (นามสมมติ) ประชาชนจากนนทบุรีวัย 30 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพียงลำพังคนเดียวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังได้รับหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยเป็นหมายเรียกจาก สน.บางพลัด แต่ตำรวจ สน.บางพลัด แจ้งให้เขาไปที่ บก.ปอท.

พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาว่า มาจากการแชร์และโพสต์ข้อความประกอบในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการผลิตวัคซีนจากภาษีประชาชน โดยมี นพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาเวฟ 2 ข้อหา ตามหมายเรียก เวฟให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ก่อนพนักงานสอบสวนปล่อยเวฟกลับ ได้ขอตรวจสอบโทรศัพท์ ซึ่งเวฟแสดงความบริสุทธิ์ใจให้ตรวจสอบแต่โดยดี

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56697)

ภูมิหลัง

  • "เวฟ" (นามสมมติ)
    ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • "เวฟ" (นามสมมติ)
    เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งเกิดความวิตกกังวล นอนไม่หลับ

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์