ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1646/2566
แดง อ.3007/2566

ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขา ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1646/2566
แดง อ.3007/2566
ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขา ศชอ.

ความสำคัญของคดี

“เวฟ” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดนนทบุรีวัย 30 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) จากการแชร์ภาพพร้อมข้อความและโพสต์ข้อความประกอบตั้งคำถามถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทสยามไบโอไซน์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 โดยมี นพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนจำนวนมาก

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ตามตะวัน ยอแสงรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 จําเลยได้แชร์ภาพและข้อความทางเฟซบุ๊กของจำเลย ตั้งค่าเป็นสาธารณะ ปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 และมีข้อความในภาพตั้งคำถามถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทสยามไบโอไซน์ พร้อมทั้งมีข้อความประกอบภาพในทำนองเดียวกัน

อัยการกล่าวหาว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทยตามประมวลกฎหมายอาญา

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1646/2566 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • “เวฟ” (นามสมมติ) ประชาชนจากนนทบุรีวัย 30 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพียงลำพังคนเดียวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังได้รับหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยเป็นหมายเรียกจาก สน.บางพลัด แต่ตำรวจ สน.บางพลัด แจ้งให้เขาไปที่ บก.ปอท.

    พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาว่า มาจากการแชร์และโพสต์ข้อความประกอบในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการผลิตวัคซีนจากภาษีประชาชน โดยมี นพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาเวฟ 2 ข้อหา ตามหมายเรียก เวฟให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ก่อนพนักงานสอบสวนปล่อยเวฟกลับ ได้ขอตรวจสอบโทรศัพท์ ซึ่งเวฟแสดงความบริสุทธิ์ใจให้ตรวจสอบแต่โดยดี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56697)
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นฟ้องเวฟ หลังมีความเห็นสั่งฟ้อง ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5)

    โดยอัยการกล่าวหาว่า การแชร์ภาพพร้อมข้อความและโพสต์ข้อความประกอบตั้งคำถามถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทสยามไบโอไซน์ ในเฟซบุ๊กของจำเลย เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 เป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์

    หลังศาลอาญารับฟ้อง เวฟได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยทนายความได้ยื่นประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ส.ค. 2566

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1646/2566 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56697)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง ก่อนถามคำให้การ เวฟตัดสินใจให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติสืบเสาะจำเลยรายงานต่อศาลภายใน 15 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษา นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 ต.ค. 2566 เวลา 09.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1646/2566 ลงวันที่ 28 ส.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60478)
  • เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลนั่งพิจารณาคดี โดยเรียกให้จำเลยลุกขึ้นยืนรายงานตัวเอง ก่อนจะเริ่มอ่านรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ โดยบรรยายพฤติการณ์ของจำเลยมีใจความสำคัญว่า จำเลยเป็นคนอารมณ์เย็น ปัจจุบันมีครอบครัวและอาศัยอยู่กับภรรยาในหมู่บ้านที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการประกอบอาชญากรรม จำเลยไม่ได้เป็นคนที่มีนิสัยลักขโมย หรือติดยาเสพติดใด ๆ อีกทั้งจำเลยยังแสดงความสำนึกผิดต่อการกระทำของตัวเอง ตลอดจนไม่เคยมีประวัติการก่ออาชญากรรมมาก่อน

    เมื่ออ่านรายงานการสืบเสาะเสร็จ ศาลได้อ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า พิเคราะห์จากพยานหลักฐานของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทตามฟ้อง ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

    เมื่อพิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติแล้วเห็นว่า จำเลยมีความสำนึกผิด อยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงตัวเองให้เป็นคนดีได้ สมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายใน 1 ปี 6 เดือน ให้งานบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ภายใน 2 ปี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60478)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"เวฟ" (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"เวฟ" (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 11-10-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์