สรุปความสำคัญ

“บังเอิญ” ศิลปินอิสระชาวขอนแก่นวัย 25 ปี ถูก ปอท. จับกุมและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์รูปภาพครอบครัวของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ซึ่ง อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ผู้กล่าวหา เห็นว่า มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • "บังเอิญ" (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

6 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 19.53 น. “บังเอิญ” ศิลปินอิสระจากจังหวัดขอนแก่นวัย 25 ปี ผู้เคยถูกดำเนินคดีจากการพ่นสีสเปรย์แสดงออกทางการเมืองที่กำแพงพระบรมมหาราชวัง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก บก.ปอท. และกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวม 10 นาย ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้าจับกุมที่ในปั๊มน้ำมันย่านบางบัวทอง ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 30 มี.ค. 2566 ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

บังเอิญถูกนำตัวไปถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในเวลาประมาณ 21.00 น. โดยมีทนายความเดินทางติดตามไป

ตำรวจได้จัดทำบันทึกจับกุม โดยระบุว่า ตำรวจได้รับแจ้งจาก “สายลับ” ที่ปกปิดนาม เพราะประสงค์เงินรางวัลนำจับ ว่าบุคคลตามหมายจับนี้จะเดินทางมาปรากฏตัวที่พื้นที่บางบัวทอง จึงได้เดินทางไปจับกุม

ว่าที่ พ.ต.ต.เครือณรงค์ ขมิ้นเครือ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พบเห็นผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์รูปภาพครอบครัวของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความที่ระบุว่าเป็นชื่อภาพ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ซึ่งอานนท์เห็นว่า มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 10 จึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว

น่าสังเกตว่าบังเอิญไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีมาก่อน ทั้งมีการขอออกหมายจับภายหลังเหตุการณ์พ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เพียง 2 วัน

บังเอิญได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่วหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน หลังการสอบสวน ตำรวจได้ควบคุมตัวบังเอิญไว้ 1 คืน โดยจะนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลต่อไป

ในช่วงเช้าวันที่ 7 เม.ย. 2566 พนักงานสอบสวนได้นำตัวบังเอิญไปยังศาลอาญาเพื่อยื่นขอฝากขัง ทั้งยังขอคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

ต่อมาหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความและนายประกันได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหา จนเวลา 17.28 น. ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 90,000 บาท พร้อมกำหนดให้มารายงานตัวในวันที่ 25 พ.ค. 2566 หลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 6 เม.ย. 2566, คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 7 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55100)

ภูมิหลัง

  • "บังเอิญ" (นามสมมติ)
    บังเอิญสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เด็กราว ๆ 10 ขวบ สมัยการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยติดตามพ่อไปในที่ชุมนุม ก่อนเริ่มศึกษาและทำงานศิลปะทางการเมืองประเภท ‘Dark Art’ เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 โดยตรง เคยแสดงงานร่วมกับกลุ่มศิลปะปลดแอก ตั้งแต่ปี 2563-2564 และเข้าร่วมชุมนุมทั้งที่กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่นอยู่หลายครั้ง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์