ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1901/2566

ผู้กล่าวหา
  • อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1901/2566
ผู้กล่าวหา
  • อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส.

ความสำคัญของคดี

“บังเอิญ” ศิลปินอิสระชาวขอนแก่นวัย 25 ปี ถูก ปอท. จับกุมและดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์รูปภาพครอบครัวของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ซึ่ง อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ผู้กล่าวหา เห็นว่า มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อิทธิพัฒน์ เพชรกวินกุล พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 บรรยายฟ้อง ใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 จําเลยได้โพสต์รูปภาพเป็นพื้นหลังของเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงค์จักรีพระองค์อื่น ๆ ซึ่งมีการดัดแปลงตกแต่งรูปให้ผิดไปจากรูปภาพเดิม ด้วยการนําหน้ากากมาใส่บนพระพักตร์ของรัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10, พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่น ๆ พร้อมคำบรรยายภาพ

ซึ่งรูปภาพและข้อความดังกล่าว จําเลยทําให้ปรากฏในเฟซบุ๊กของจําเลยตั้งแต่วันกระทําผิดตลอดมา ทําให้ประชาชนทั่วไปที่ได้พบเห็นรูปภาพและข้อความดังกล่าวเข้าใจความหมายได้ว่า รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ มีความคลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เสียสติคล้ายคนบ้า ใช้อํานาจมนต์ดํา ใช้อํานาจมืด ปกครองบ้านเมือง โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1901/2566 ลงวันที่ 28 มิ.ย. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 19.53 น. “บังเอิญ” ศิลปินอิสระจากจังหวัดขอนแก่นวัย 25 ปี ผู้เคยถูกดำเนินคดีจากการพ่นสีสเปรย์แสดงออกทางการเมืองที่กำแพงพระบรมมหาราชวัง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก บก.ปอท. และกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวม 10 นาย ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้าจับกุมที่ในปั๊มน้ำมันย่านบางบัวทอง ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 30 มี.ค. 2566 ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    บังเอิญถูกนำตัวไปถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในเวลาประมาณ 21.00 น. โดยมีทนายความเดินทางติดตามไป

    ตำรวจได้จัดทำบันทึกจับกุม โดยระบุว่า ตำรวจได้รับแจ้งจาก “สายลับ” ที่ปกปิดนาม เพราะประสงค์เงินรางวัลนำจับ ว่าบุคคลตามหมายจับนี้จะเดินทางมาปรากฏตัวที่พื้นที่บางบัวทอง จึงได้เดินทางไปจับกุม

    ว่าที่ พ.ต.ต.เครือณรงค์ ขมิ้นเครือ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พบเห็นผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์รูปภาพครอบครัวของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความที่ระบุว่าเป็นชื่อภาพ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ซึ่งอานนท์เห็นว่า มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นพระเกียรติรัชกาลที่ 10 จึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว

    น่าสังเกตว่าบังเอิญไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีมาก่อน ทั้งมีการขอออกหมายจับภายหลังเหตุการณ์พ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เพียง 2 วัน

    บังเอิญได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่วหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน หลังการสอบสวน ตำรวจได้ควบคุมตัวบังเอิญไว้ 1 คืน โดยจะนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 6 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55100)
  • ในช่วงเช้า พนักงานสอบสวนได้นำตัวบังเอิญไปยังศาลอาญาเพื่อยื่นขอฝากขัง ทั้งยังขอคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

    ต่อมา หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความและนายประกันได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหา จนเวลา 17.28 น. ศาลได้อนุญาตให้ประกันชั้นสอบสวนตลอดถึงชั้นพิจารณา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 90,000 บาท พร้อมกำหนดให้มารายงานตัวในวันที่ 25 พ.ค. 2566 หลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    สำหรับ "บังเอิญ" ศิลปินอิสระชาวขอนแก่น ปัจจุบันอายุ 25 ปี ชอบใช้ชีวิตสันโดษ ทำงานศิลปะเพียงคนเดียว สนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เด็กราว ๆ 10 ขวบ สมัยการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยติดตามพ่อไปในที่ชุมนุม ก่อนเริ่มศึกษาและทำงานศิลปะทางการเมืองประเภท ‘Dark Art’ เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 โดยตรง เคยแสดงงานร่วมกับกลุ่มศิลปะปลดแอก ตั้งแต่ปี 2563-2564 และเข้าร่วมชุมนุมทั้งที่กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่นอยู่หลายครั้ง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 7 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55100)
  • พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบังเอิญต่อศาลอาญา ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5)

    อัยการบรรยายคำฟ้อง มีใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 จําเลยได้โพสต์รูปภาพเป็นพื้นหลังของเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมคำบรรยายภาพ โดยเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีการดัดแปลงตกแต่งรูปให้ผิดไปจากรูปภาพเดิม ด้วยการนําหน้ากากมาใส่บนพระพักตร์

    อัยการระบุว่า รูปภาพและข้อความดังกล่าว ทําให้ประชาชนทั่วไปที่ได้พบเห็นเข้าใจความหมายได้ว่า รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ มีความคลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เสียสติคล้ายคนบ้า ใช้อํานาจมนต์ดํา ใช้อํานาจมืด ปกครองบ้านเมือง โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

    ท้ายคำฟ้อง อัยการขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีพ่นสีใส่กำแพงวัดพระแก้ว และพ่นสีใส่ สน.สำราญราษฎร์ นอกจากนี้ยังคัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีนี้ โดยอ้างเหตุคดีมีอัตรโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1901/2566 ลงวันที่ 28 มิ.ย. 2566)


  • บังเอิญเดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลตามกำหนดนัด และรับทราบคำฟ้องของอัยการ

    ต่อมา อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยให้มีประกันในวงเงิน 180,000 บาท ทำให้นายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ต้องวางเงินประกันเพิ่มจากเงินประกันในชั้นสอบสวนอีก 90,000 บาท ศาลกำหนดเงื่อนไขประกัน ห้ามจำเลยกระทำใด ๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกฟ้องร้องในคดีนี้อีก

    ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ก.ย. 2566 เวลา 13.30 น.
  • ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีเนื่องจากทนายติดว่าความอีกคดีที่ศาลอาญาธนบุรี นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานครั้งใหม่ในวันที่ 30 ต.ค. 2566 เวลา 13.30 น.
  • บังเอิญเดินทางมาศาล ขณะ อานนท์ นำภา ในฐานะทนายจำเลย ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาลอาญา โดยมีเครื่องพันธนาการเป็นกุญแจข้อเท้าเช่นเดียวกับทุกครั้งที่ถูกเบิกตัวมาศาล

    ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังก่อนถามคำให้การ บังเอิญให้การปฏิเสธ และแถลงแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับทนายจำเลยว่า ภาพที่จำเลยโพสต์เป็นภาพศิลปะ ไม่ได้เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    โจทก์อ้างพยานบุคคล 9 ปาก ฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามเอกสารรวม 3 ปาก คือ แม่ของจำเลย, ตำรวจชุดผู้จับกุม และพนักงานสอบสวน ทำให้โจทก์ติดใจสืบพยาน 6 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, นักวิชาการและประชาชนผู้ให้, ชุดสืบสวน และพนักงานสอบสวน ใช้เวลาสืบพยานโจทก์ 1 นัดครึ่ง

    ทนายจำเลยอ้างพยานบุคคล 2 ปาก คือ ตัวจำเลย และพยานความเห็นอีก 1 ปาก ขอใช้เวลาสืบพยานจำเลยครึ่งนัด นัดสืบพยานในวันที่ 26-27 พ.ย. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1901/2566 ลงวันที่ 30 ต.ค. 2566)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"บังเอิญ" (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"บังเอิญ" (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์