ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.345/2567

ผู้กล่าวหา
  • ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.345/2567
ผู้กล่าวหา
  • ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน

ความสำคัญของคดี

“สินธุ” (นามสมมติ) พนักงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้าชาวจันทบุรีวัย 27 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์แสดงความเห็นล้อเลียนท้ายโพสต์ในเพจ The MalaengtaD ซึ่งได้เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมข้อความประกอบ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 โดยมี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้เข้าแจ้งความที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความขยายความออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

นนทวัฒน์ เกลี้ยงเกลา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 บรรยายคำฟ้อง เนื้อหาโดยสรุประบุว่า

ประมาณเดือนมิถุนายน 2565 มีเพจเฟซบุ๊กแบบสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ชื่อ The MalaengtaD ได้เผยแพร่ภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมข้อความบนภาพว่า “ในหลวง พระราชินี” ไม่เคยได้รับเงินเดือนหรือทรงไม่รับเงินปีที่รัฐบาลถวายพระองค์ละ 60 ล้านบาทต่อปี เงินทั้งหมดคืนให้ประชาชนทุกบาททุกสตางค์ อันเป็นโพสต์เพื่อเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงและพระราชินี

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลยแสดงความคิดเห็นในเพจดังกล่าว ซึ่งข้อความที่จำเลยโพสต์มีความหมายว่า ให้เก็บเงินไว้ใส่ปากยามที่เสียชีวิต อันเป็นการหมิ่นประมาท ล้อเลียนให้กษัตริย์และพระราชินีต้องเสื่อมเสียเกียรติ เป็นที่ตลกขบขันของประชาชนทั่วไป เป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และราชินี อันเป็นการทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ อ.345/2567 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2567)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สภ.ตะโหมด จังหวัดพัทลุง “สินธุ” (นามสมมติ) พนักงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้าจากจังหวัดจันทบุรี วัย 27 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามหมายเรียกของตำรวจ

    ก่อนหน้านี้ สินธุได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 16 ก.พ. 2566 ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่มี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา โดยเขาได้ขอเลื่อนนัดในช่วงเดือนมีนาคมออกมา เนื่องจากยังไม่สามารถลางานเดินทางไปที่จังหวัดพัทลุงได้

    ในการเดินทางมายัง สภ.ตะโหมด สินธุเปิดเผยว่าเขาต้องเดินทางจากจังหวัดจันทบุรี เข้ามาที่กรุงเทพฯ ก่อนต่อเครื่องบินเดินทางมาที่สนามบินหาดใหญ่ และหารถเช่า เพื่อเดินทางไปยังสถานีตำรวจ โดยเขาเล่าว่าในชีวิตก่อนหน้านี้ เดินทางลงมาใต้สุดคือถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น ยังไม่เคยเดินทางมาที่จังหวัดพัทลุงมาก่อน

    สินธุได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีทนายความเครือข่ายในพื้นที่ภาคใต้เดินทางไปร่วมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วย

    ร.ต.อ.อาคม ปานจันทร์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.ตะโหมด แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 ต่อสินธุ โดยระบุถึงพฤติการณ์ในคดีว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. ทรงชัย เนียมหอม ได้เข้าใช้งานบัญชีเฟซบุ๊ก และปรากฏการแจ้งเตือนจากเพจเฟซบุ๊กชื่อเพจ The MalaengtaD ซึ่งได้เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมสมเด็จพระบรมราชินี พร้อมข้อความอักษรประกอบภาพ ระบุว่า “‘ในหลวง-พระราชินี’ ไม่เคยรับเงินเดือน หรือ ‘ทรงไม่รับเงินปี’ ที่รัฐบาลถวายองค์ละ 60 ล้านต่อปี เงินทั้งหมดคืนให้ประชาชนทุกบาททุกสตางค์” และยกข้อความในโพสต์ดังกล่าวมา ซึ่งอ้างอิงว่ามีที่มาจาก “วาสนา นาน่วม” และเพจ “ฤๅ – Lue History” โดยโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่เข้าสู่โซเชียลเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 เวลา 21.41 น.

    ผู้กล่าวหาอ้างว่าจากโพสต์ดังกล่าว ได้พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายอื่นเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยตนได้เลื่อนอ่านข้อความไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพบการแสดงความคิดเห็นจากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ ส่งผลให้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นเข้ามาแสดงความรู้สึกตลกขบขัน

    ผู้กล่าวหาจึงได้เข้าไปตรวจสอบการโพสต์และรูปภาพอย่างอื่นในเฟซบุ๊กดังกล่าวอีก ทำให้เชื่อว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวคือสินธุ และเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ล้อเลียนต่อรัชกาลที่ 10 หวังผลให้พระมหากษัตริย์ อันเป็นประมุขของราชอาณาจักรไทยในรัชกาลปัจจุบันต้องเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นแสดงความรู้สึกตลกขบขัน จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    สินธุได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันและให้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ ก่อนปล่อยตัวไป เนื่องจากเห็นว่าเขาเดินทางมาตามหมายเรียก โดยจะติดต่อนัดหมายมาส่งสำนวนคดีให้กับอัยการต่อไป
    .
    สินธุเปิดเผยความรู้สึกหลังการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่า ยังงง ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ทำไมถึงถูกดำเนินคดี เพราะไม่เคยรู้จักผู้กล่าวหามาก่อน รู้สึกเหมือนโดนกลั่นแกล้ง โดยก่อนหน้านี้เขาก็เคยติดตามข่าวสารเรื่องคดีมาตรา 112 มาบ้าง แต่ก็ไม่เคยนึกว่าจะมาเจอกับตัวเอง ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเองจริง ๆ ข้อความที่ถูกกล่าวหาก็ไม่น่าเข้าข่ายมาตรา 112 โดยเขายืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป

    แต่การถูกดำเนินคดึไกลถึงพัทลุงก็สร้างความกังวลให้กับสินธุ เนื่องจากเขาทำงานเป็นลูกจ้าง และมีข้อจำกัดในการลางาน ไม่สามารถลางานมาได้บ่อย ๆ ไม่แน่ใจว่าอาจจะส่งผลกระทบถึงขั้นต้องออกจากงานหรือไม่ ทั้งการเดินทางไกล ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ไป-กลับเที่ยวหนึ่งเกือบ 10,000 บาท ทำให้กังวลเรื่องภาระในการต่อสู้คดีในส่วนนี้ด้วย

    สินธุยังระบุว่า ก่อนหน้าที่เขาจะได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา แฟนของเขาในจังหวัดจันทบุรีก็ได้รับหมายเรียกพยาน ให้ไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยแฟนได้เดินทางไปพบตำรวจเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. แล้ว โดยมีการสอบถามยืนยันเรื่องผู้ใช้เฟซบุ๊กในคดีนี้ และทัศนคติทางการเมืองของสินธุด้วย

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้แจ้งความคดีมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในภาคใต้ไว้นับสิบคดี

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ตะโหมด ลงวันที่ 3 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55043)
  • เวลา 13.00 น.สินธุพร้อมทนายความได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง โดยตำรวจแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มเติม จากที่เคยแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

    เนื่องจากหลังพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนคดีส่งให้กับคณะทำงานของตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง คณะทำงานได้มีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับเกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้พนักงานสอบสวนติดต่อเรียกให้สินธุเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกครั้ง

    สินธุต้องใช้เวลาถึงสองวันในการเดินทางจากจันทบุรี นั่งรถเข้ามาต่อเครื่องบินที่กรุงเทพฯ มาลงที่หาดใหญ่ และเช่ารถจักรยานยนต์ขี่มายังอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งห่างจากหาดใหญ่ราว 65 กิโลเมตร ในเส้นทางที่ไม่รู้จักและไม่เคยไปมาก่อน ทั้งยังมีฝนตกมาตลอดทาง

    “ครั้งที่แล้วที่มา ฝนก็ตก วันนี้ก็ตก” คำทักทายแรกจากพนักงานสอบสวน

    ร.ต.อ.อาคม ปานจันทร์ ได้แจ้งข้อหาและสอบปากคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งมีพนักงานสอบสวนอีกนายหนึ่งร่วมนั่งฟังอยู่ด้วย โดยมีการยกโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายภาพผู้ต้องหา และทนายความระหว่างสอบสวนด้วย สินธุได้รับทราบข้อหา และยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยไม่ขอให้การใดๆ เพิ่มเติม ก่อนตำรวจให้เดินทางกลับไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57684)
  • พนักงานสอบสวนนัดสินธุไปพบเพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 พ.ย. 2566
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ยื่นฟ้องสินธุต่อศาลจังหวัดพัทลุง ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    เนื้อหาคำฟ้องโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลยแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ The MalaengtaD ซึ่งเผยแพร่ภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมข้อความประกอบ โดยอัยการกล่าวหาว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์มีความหมายว่า ให้เก็บเงินไว้ใส่ปากยามที่เสียชีวิต อันเป็นการหมิ่นประมาท ล้อเลียนให้กษัตริย์และพระราชินีต้องเสื่อมเสียเกียรติ เป็นที่ตลกขบขันของประชาชนทั่วไป เป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และราชินี อันเป็นการทำลายสถาบันกษัตริย์

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี

    หลังศาลรับฟ้องและสินธุถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขังใต้ถุนศาล ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกัน ต่อมาเวลาประมาณ 15.33 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันสินธุในระหว่างพิจารณาคดี โดยมีคำสั่งให้ทำสัญญาประกันในวงเงิน 300,000 บาท แต่ให้วางหลักประกันเป็นเงินสดไว้ 150,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ จากนั้นศาลได้นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 14 มี.ค. 2567 และนัดสอบคำให้การในวันที่ 1 เม.ย. 2567

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ อ.345/2567 ลงวันที่ 29 ก.พ. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/65103)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง สินธุให้การปฏิเสธ หลังทั้งสองฝ่ายตรวจพยานหลักฐานแล้ว ตกลงวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 23-25 ก.ค. 2567
  • โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 6 ปาก ได้แก่ ทรงชัย เนียมหอม ผู้กล่าวหา, เอกอนันต์ มงคล ครูสอนภาษาไทย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย, พีรพล อังศุธนสมบัติ ทนายความ พยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย, วนิดา กวดขัน และมุทิตา ซาร์ดาทาน สมาชิกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน และ ร.ต.อ.อาคม ปานจันทร์ พนักงานสอบสวน รวมทั้งฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์อีก 4 ปาก ทำให้โจทก์ไม่ติดใจนำพยานโจทก์ทั้ง 4 ปากนี้เข้าเบิกความ

    ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ สินธุ จำเลยอ้างตนเป็นพยาน และพัชรพล สู่สุข พยานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

    ฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องเป็นของจำเลยจริง แต่ไม่สามารถเข้าใช้งานได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้เป็นผู้คอมเมนต์ข้อความตามฟ้อง

    ตามพยานเอกสารของโจทก์ URL ของคอมเมนต์ตามฟ้องและต้นโพสต์ที่ปรากฏไม่ตรงกัน และไม่มีการตรวจสอบ IP Address เพื่อระบุตัวตนของผู้โพสต์ นอกจากนี้ รายงานการตรวจสอบต้นโพสต์จากเพจ The MalaengtaD ของ บก.ปอท. ก็ไม่ปรากฏว่ามีคอมเมนต์ตามฟ้อง

    ทั้งนี้ ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ก่อนการสืบพยานจะเริ่มขึ้น เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาคดีได้สอบถามว่าบุคคลที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีคือใครบ้าง และสั่งห้ามมิให้มีการจดบันทึกในระหว่างการพิจารณาคดี แต่สามารถนั่งฟังการพิจารณาได้

    พนักงานอัยการแถลงขอให้พิจารณาคดีเป็นการลับ แต่ศาลไม่อนุญาต โดยยืนยันให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผย

    ++ผู้กล่าวหา ประธานกลุ่ม ปภส. ระบุ คอมเมนต์มีความหมายให้เอาเงินจากรัฐบาลไว้ใส่ปาก ตามประเพณีงานศพของคนไทย – ยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้งหรือตัดต่อพยานเอกสาร

    ทรงชัย เนียมหอม ผู้กล่าวหา เบิกความว่า จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังทำงานด้านสังคมกลุ่มภาคประชาชน ชื่อกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม 38 คนทั่วประเทศ มีพยานเป็นประธานของกลุ่ม

    กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน มีเพจเฟซบุ๊กชื่อประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน มีพยานเป็นแอดมินเพจ และมีทวิตเตอร์ชื่อ Secret News Agency นอกจากนี้ยังมีเพจเฟซบุ๊ก Secret News Agency อีกเพจหนึ่ง โดยเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่คุณงามความดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อพสกนิกรและช่วยดูแลความมั่นคงของประเทศ และเปิดเผยทุกอย่างที่กระทบต่อความมั่นคง โดยพยานไม่ได้รับเงินเดือน แต่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน

    เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ช่วงบ่าย ในขณะที่พยานกำลังไปหาลูกค้าที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยนั่งรถไปพร้อมกับคนขับ พยานได้ใช้โทรศัพท์มือถือเปิดเฟซบุ๊กเพื่อดูข่าวสาร เจอโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก The MalaengtaD เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมทั้งข้อความมีใจความว่า ในหลวงไม่ทรงรับเงินปีให้นำเงินส่วนนั้นคืนประชาชน และพยานอ่านคอมเมนต์ที่ส่วนใหญ่เข้ามายกย่องสรรเสริญ จนมาเจอคอมเมนต์ตามฟ้องที่แสดงความคิดเห็นทำนองว่าให้เก็บเงินไว้ใส่ปาก และมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในลักษณะเห็นด้วย

    พยานอ่านแล้วมีความรู้สึกว่า ตามประเพณีงานศพของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ มีการนำเงินใส่ไว้ในปากผู้ตายก่อนที่จะทำการฌาปนกิจ เมื่อดูข้อความจากโพสต์ของ The MalaengtaD คอมเมนต์ดังกล่าวจึงมีความหมายในลักษณะว่าให้เอาเงินจากรัฐบาลไว้ใส่ปาก

    พยานทำการสืบค้นตัวผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวโดยเข้าไปที่โปรไฟล์ พบโพสต์ใบสำคัญสมรสซึ่งปรากฏชื่อสินธุ และภาพรถยนต์กระบะปรากฏหมายเลขทะเบียนรถ นอกจากนี้ พยานยังเก็บ URL หรือลิงค์ของโพสต์และภาพ ประกอบกับวันที่ที่มีการโพสต์ ภายหลังจากรวบรวมหลักฐานได้ประมาณ 4 – 5 วัน พยานไปที่ สภ.ตะโหมด แล้วได้นำเอกสารที่รวบรวมส่งให้กับพนักงานสอบสวน และได้ให้ปากคำในฐานะผู้กล่าวหา

    ต่อมา พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเป็นทั้งแอดมินและประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เคยแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อบุคคลมาแล้วมากกว่า 30 คน ในคดีความผิดตามมาตรา 112 และรับว่าอาจมากถึง 100 คดี โดยแยกไปแจ้งความในสถานีตำรวจท้องที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งหลังจากมีการแจ้งความจะนำเรื่องมาโพสต์ในเพจประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน

    พยานรู้จักกับ มุทิตา ซาร์ดาทาน ซึ่งเป็นพยานในคดีนี้ด้วยเช่นกัน โดยเป็นเลขาของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน

    พยานมีรายได้จากการเป็นแอดมินกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน จากการไปช่วยเหลืองานสังคมหรือดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ซึ่งเมื่อประชาชนเห็นก็จะมีการสนับสนุนเงินให้กลุ่มตามเลขบัญชีของกลุ่มที่โพสต์ไว้ในเพจ

    เอกสารที่รวบรวมส่งพนักงานสอบสวน พยานเป็นผู้จัดทำขึ้นคนเดียวทั้งหมด โดยการแคปหน้าจอแล้วนำมาวางใน Microsoft Word พร้อมแนบ URL หรือลิงค์ที่เป็นการระบุที่อยู่ของข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เพื่อให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบได้ง่ายและป้องกันกรณีที่ผู้ต้องหาจะลบโพสต์หรือ คอมเมนต์

    พยานรับว่า พยานทราบว่าสามารถปรินท์ภาพหน้าจอจากทาง Browser ได้เลย ซึ่งจะปรากฏ URL ท้ายกระดาษระบุว่ามาจากแหล่งเดียว แต่พยานเลือกวิธีการแคปหน้าจอเนื่องจากต้องการลิงค์และเก็บหลักฐานเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

    ทนายความให้พยานดูพยานเอกสารของจำเลย ซึ่งเป็นการแคปภาพหน้าจอจากคอมพิวเตอร์ปรากฏรูปภาพของโพสต์ตามฟ้องและมีข้อความรวมทั้งคอมเมนต์อยู่ทางฝั่งขวามือจำนวน 3 แผ่น และปรากฎ URL ตรงกันทุกแผ่น ทำให้บอกได้ว่าภาพและคอมเมนต์มาจากแหล่งเดียวกัน พยานรับว่า พยานสามารถปรินท์ภาพหน้าจอให้เหมือนกันเอกสารดังกล่าวได้ แต่เอกสารที่พยานรวบรวมไม่ได้แคปหน้าจอในลักษณะดังกล่าว (ตามเอกสารแนบท้ายประกอบการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ รูปภาพมีลักษณะเป็นการแคปหน้าจอในส่วนของโพสต์และคอมเมนต์แยกจากกันเป็น 2 รูป)

    พยานเบิกความว่า URL ที่ปรากฏในพยานเอกสารของจำเลยดังกล่าวเป็น URL ของรูปภาพ แต่พยานเก็บ URL จากโพสต์ ไม่ได้เก็บจากภาพ ซึ่งทั้งสองแบบจะแสดง URL ที่ต่างกัน

    พยานรู้จักโปรแกรม Photoshop ว่าเป็นโปรแกรมที่ใช้ตัดต่อภาพหรือเสียง แต่พยานไม่เคยใช้งานโปรแกรมดังกล่าว

    พยานเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า เมื่อก่อนการลงทะเบียนเฟซบุ๊กไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตน แต่ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ การลงทะเบียนเฟซบุ๊กจะต้องแสดงตัวตนผ่านทางเบอร์โทรศัพท์และอีเมล ส่วนบัญชีเฟซบุ๊กจะสามารถมีชื่อซ้ำกันได้หรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ แต่ไอดีของเฟซบุ๊กซึ่งเปรียบเสมือนทะเบียนบ้านจะไม่ซ้ำกัน การพิสูจน์ว่าบัญชีใดเป็นบัญชีเดียวกันหรือไม่ต้องดูจากไอดี

    ในตอนที่พยานเข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลย พยานไม่ได้ดูว่าบุคคลดังกล่าวมีการโพสต์เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หรือไม่ เพียงแต่เข้าไปรวบรวมข้อมูลว่าบุคคลดังกล่าวคือใครเท่านั้น

    ในวันที่แจ้งความ พยานไม่ได้เปิดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือให้พนักงานสอบสวนดูเกี่ยวกับรายละเอียดในเฟซบุ๊กของจำเลย เพียงแค่นำเอกสารที่รวบรวมได้มาส่งเท่านั้น

    พยานเบิกความตอบอัยการอีกว่า พยานเอกสารของจำเลยมีทั้งหมด 2 ลิงค์ คือ ลิงค์โพสต์ และลิงค์ภาพ ส่วนพยานเอกสารที่พยานรวบรวมเป็นลิงค์โพสต์

    ในการกล่าวหาจำเลย พยานไม่ได้กลั่นแกล้งโดยไปนำโพสต์จากที่อื่นมารวบรวมเป็นหลักฐาน โดยสามารถตรวจสอบได้จาก URL ที่พยานแนบมาในเอกสาร และพยานไม่สามารถใช้โปรแกรม Photoshop ได้เนื่องจากเป็นโปรแกรมขั้นสูง ซึ่งเอกสารที่พยานรวบรวมก็ไม่ได้จัดทำโดยใช้โปรแกรม Photoshop

    พยานไม่สามารถตรวจสอบไอดีเฟซบุ๊กได้ ทำได้เพียงเก็บข้อมูลลิงค์ของบัญชีเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

    พยานเป็นพนักงานขายของบริษัท หากพยานเดินทางไปที่ใดแล้วพบเห็นการกระทำความผิดก็จะไปแจ้งความที่นั่น
    .
    ทั้งนี้ ในการสืบพยานปากผู้กล่าวหา พนักงานอัยการได้มีการอ้างส่งเอกสารที่ผู้กล่าวหาได้รวบรวมให้พนักงานสอบสวนหลายฉบับต่อศาล ซึ่งเป็นพยานเอกสารที่ไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและไม่ปรากฏว่าโจทก์นำส่งต่อศาลเพื่อให้ฝ่ายจำเลยตรวจสอบในนัดตรวจพยานหลักฐานมาก่อน

    ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173/2 วางหลักไว้ว่า “ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ยังอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจสอบ เว้นแต่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจําเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้นเอง หรือพยานหลักฐานนั้นเป็นบันทึกคําให้การของพยาน…” กล่าวคือ พยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของคู่ความทั้งหมดต้องนำส่งต่อศาล เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายมีโอกาสได้ตรวจสอบก่อนการสืบพยาน ยกเว้นคำให้การในชั้นสอบสวนเท่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องส่งในวันตรวจพยานหลักฐาน

    ทนายความจำเลยจึงยื่นคำร้องคัดค้านพยานเอกสารดังกล่าว เนื่องจากเมื่อเป็นเอกสารในสำนวนก็จำต้องอ้างส่งในนัดตรวจพยานหลักฐานให้ฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบก่อน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเปรียบต่อตัวจำเลย โดยเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีเนื้อหาในทางเทคนิคเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลทางออนไลน์ ซึ่งสมควรได้รับมาเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง

    อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการอ้างว่า พยานเอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การชั้นสอบสวนจึงไม่จำเป็นต้องอ้างส่งในนัดตรวจพยานหลักฐาน

    ศาลระบุว่า ศาลจะมีคำสั่งต่อคำร้องคัดค้านของทนายจำเลยในวันนัดฟังคำพิพากษา

    ++ครูภาษาไทยระบุ ถ้อยคำที่ตามฟ้องเป็นคำกลาง ๆ – ไม่ยืนยันว่าเป็นคอมเมนต์ของโพสต์ที่มีภาพ ร.10 และพระราชินีหรือไม่

    เอกอนันต์ มงคล ครูสอนภาษาไทย เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้พนักงานสอบสวนขอให้พยานตีความ 6 คำ โดยให้พยานไปที่ สภ.ตะโหมด พนักงานสอบสวนนำโพสต์มาให้ดูโดยเป็นภาพรัชกาลที่ 10 และพระราชินี แต่ข้อความในโพสต์ไม่ปรากฏอยู่ พนักงานสอบสวนได้อ่านข้อความให้ฟังมีใจความว่าในหลวงและพระราชินีไม่รับเงินแต่คืนให้กับรัฐบาล

    พยานเห็นว่า ถ้อยคำที่พนักงานสอบสวนให้ตีความซึ่งประกอบด้วย 6 คำ เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถให้ความคิดเห็นได้ โดยพยานได้ให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนว่า คำดังกล่าวเป็นคำกลาง ๆ ในภาษาอีสานก็มีเงินปากผี หมายถึงการให้ผู้ตายได้นำเงินไปใช้ในภพหน้า

    พยานเบิกความว่า โดยปกติเงินจะเก็บรักษาไว้ที่บัญชีธนาคาร พยานไม่เคยเห็นคนเก็บเงินไว้ในปาก แต่ต้องเป็นบุคคลที่ตายแล้ว ซึ่งในขณะที่มีการโพสต์ข้อความดังกล่าว ในหลวงและพระราชินียังมีชีวิตอยู่

    พนักงานอัยการถามต่อว่า การเก็บเงินไว้ใส่ปากของคนที่มีชีวิตอยู่หมายความว่าอะไร พยานตอบว่า เป็นการเก็บไว้เพื่อนำไปใช้ในภพชาติถัดไป

    อัยการให้พยานดูคำให้การในชั้นสอบสวน ซึ่งพยานให้ความเห็นไว้ว่า ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นสำนวนพูดที่มีความหมายในทางลบ หมายถึงให้เก็บทรัพย์สินเงินทองไว้ใช้ในยามที่เสียชีวิต หรือแปลความได้อีกอย่างในทางศาสนาพุทธว่า ในยามที่เสียชีวิตแล้วให้เก็บเงินไว้ใส่ปากของผู้ตาย เชื่อว่า บุคคลนั้นจะนำไว้ใช้จ่ายในโลกหน้า ซึ่งลักษณะการพูดเป็นการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม พยานยืนยันว่าคำให้การดังกล่าวจัดทำโดยไม่มีบุคคลใดบังคับ

    จากนั้นพยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ภาพถ่ายที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูมีเฉพาะภาพ ไม่มีข้อความหรือคอมเมนต์ โดยข้อความแสดงความเห็นว่า ทรงพระเจริญ และข้อความตามฟ้องนั้น พนักงานสอบสวนเป็นผู้อ่านให้พยานฟัง ดังนั้น ข้อความแสดงความเห็นตามฟ้องจะเป็นของโพสต์หรือภาพตามพยานเอกสารหรือไม่ พยานไม่ทราบและไม่ยืนยัน

    ++ทนายความระบุ คอมเมนต์มีลักษณะใส่ความบุคคลตาม ม.112 ทำให้ประชาชนเกลียดชัง แต่รับว่าพยานอ่านแล้วไม่ได้เคารพกษัตริย์น้อยลง

    พีรพล อังศุธนสมบัติ ทนายความ เบิกความว่า พยานประกอบอาชีพทนายความ ว่าความมาแล้ว 50 คดี เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวน สภ.ตะโหมด ได้ติดต่อพยานเพื่อให้ความเห็นทางกฎหมายว่า ข้อความที่นำมาให้ดูจะมีลักษณะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่

    พนักงานสอบสวนส่งข้อความที่ต้องการให้ดูมาให้พยานก่อน จากนั้นพยานได้เขียนความเห็นลงในเอกสาร ข้อความที่พนักงานสอบสวนส่งมานั้นมีลักษณะเป็นข้อความที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กในทำนองว่า รัฐบาลสนับสนุนเงินจำนวน 60 ล้านบาทให้แก่พระมหากษัตริย์และพระราชินี แต่ทั้งสองพระองค์ไม่ประสงค์ที่จะรับไว้ แล้วคืนให้กับรัฐบาล และมีข้อความแสดงความเห็นตามฟ้อง ซึ่งพยานเห็นว่ามีลักษณะเป็นการใส่ความบุคคลตามมาตรา 112 ต่อบุคคลที่สาม เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อบรรดาประชาชนที่มาพบเห็นข้อความ

    พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านในเวลาต่อมาว่า ข้อมูลที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้นั้น เป็นคำถามตามเอกสารคำให้การในชั้นสอบสวนของพยาน มีลักษณะให้เติมคำตอบตามที่ถาม และยังมีไฟล์ข้อมูลอีกประมาณ 10 กว่าหน้า

    พยานเห็นว่า ข้อความคอมเมนต์ตามฟ้องเชื่อมโยงกับข้อความเกี่ยวกับการคืนเงินให้แก่รัฐบาล ทำให้พยานรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์และพระราชินีต้องเสื่อมเสียพระเกียรติ แต่ไม่ได้ทำให้พยานเคารพพระองค์น้อยลง

    พยานเบิกความตอบอัยการถามติงต่อมาว่า ถึงแม้พยานจะรู้สึกเคารพพระมหากษัตริย์และพระราชินีเท่าเดิม แต่เมื่อพยานเห็นข้อความในลักษณะดังกล่าวกลับรู้สึกว่าไม่พอใจที่มีคนมาโพสต์ในลักษณะนี้

    ++สองสมาชิก ปภส. ระบุ คอมเมนต์เป็นการสาบแช่ง ด้อยค่ากษัตริย์ – ผู้กล่าวหาส่งลิงค์โพสต์มาสอบถามความเห็นในการประชุมกลุ่มไลน์ ก่อนเข้าแจ้งความ

    วนิดา กวดขัน และมุทิตา ซาร์ดาทาน สมาชิกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เกี่ยวกับคดีนี้ กลางเดือนมิถุนายน 2565 มีการประชุมกลุ่มไลน์ โดยทรงชัย ประธานกลุ่ม ได้ส่งลิงค์โพสต์ในเฟซบุ๊กซึ่งมีการแสดงความเห็นใต้โพสต์มาสอบถามในกลุ่มว่า มีความคิดเห็นอย่างไร พยานเห็นข้อความแล้วรู้สึกว่าเป็นการสาปแช่งในหลวงและพระราชินี หลังจากมีการพูดคุยกัน ทรงชัยได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้คอมเมนต์

    วนิดาเบิกความว่า ตามประเพณีไทย หากมีบุคคลใดตายญาติจะนำเงินใส่ไว้ที่ปากเพื่อคนตายจะได้นำไปใช้ในภพหน้า พยานเห็นว่าผู้ที่คอมเมนต์มีความรู้สึกจงเกลียดจงชังจึงได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวออกมา โดยเฉพาะบุคคลที่ถูกคอมเมนต์เป็นถึงประมุขของประเทศ ซึ่งพยานในฐานะที่เป็นคนไทยซึ่งนับถือราชวงศ์รู้สึกว่า บุคคลที่คอมเมนต์คิดไม่ดีต่อราชวงศ์หรือไม่

    ด้านมุทิตาเบิกความว่า พยานเป็นชาวมุสลิมแต่ทราบว่า มีวัฒนธรรมของชาวพุทธที่นำเงินใส่ปากผู้ตาย ซึ่งขณะที่มีการโพสต์ในหลวงและพระราชินียังมีชีวิตอยู่ พยานจึงเห็นว่าเป็นการสาปแช่ง โดยวัฒนธรรมของชาวมุสลิมไม่ได้มีประเพณีหรือวัฒนธรรมดังกล่าว

    มุทิตาเบิกความว่า พนักงานสอบสวน สภ.ตะโหมด ได้ประสานมายังทรงชัยเพื่อให้หาพยานบุคคลมา 2 คน ซึ่งพยานได้ไปให้การเป็นพยานโดยสมัครใจ

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน วนิดารับว่า เป็นสมาชิกของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ส่วนมุทิตารับว่า มีหน้าที่ทางด้านการเงินของกลุ่ม โดยมีบัญชีชื่อของพยานนำไปใช้โพสต์ในกลุ่มเพื่อรับบริจาคเงิน สำหรับเงินที่ได้รับบริจาคมาจะถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการแจ้งความดำเนินคดีและใช้ในกิจกรรมรับเสด็จ โดยค่าใช้จ่ายในการแจ้งความดำเนินคดีต้องทำรายการมาเพื่อเบิกจ่าย โดยมีทั้งค่าน้ำมันรถและค่าที่พัก โดยกลุ่มกำลังอยู่ในระหว่างขอยื่นจดทะเบียนเป็นสมาคม

    วนิดาตอบทนายจำเลยว่า พยานไม่ได้เป็นพยานในคดีมาตรา 112 ที่ทรงชัยแจ้งความทุกคดี เป็นพยานในคดีนี้เป็นคดีแรก ก่อนพยานเข้าเบิกความได้พบทรงชัยและไปทานข้าวด้วยกันแต่ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับการเบิกความของทรงชัยในช่วงเช้า

    วนิดาเบิกความว่า การที่ทรงชัยส่งลิงค์ของโพสต์มาให้พยานก็เพื่อสอบถามความเห็น ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้พยานเป็นพยานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามลิงค์ที่ทรงชัยส่งมามีภาพในหลวงและพระราชินีพร้อมข้อความใต้ภาพ แต่ไม่มีข้อความคอมเมนต์ตามฟ้องปรากฏอยู่ด้วย พยานต้องเลื่อนดูคอมเมนต์ใต้โพสต์จึงพบ แต่ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน พยานให้การไว้ว่า เข้าไปในเพจ The MalaengtaD ไม่ได้ให้การว่าเข้าไปในลิงค์ที่ทรงชัยส่งมาให้

    ด้านมุทิตาก็รับว่า ในชั้นสอบสวนพยานไม่ได้ให้การว่าทรงชัยส่งลิงค์เข้ามาในกลุ่มตามที่พยานเบิกความตอบอัยการไป

    ทนายความถามวนิดาว่า เมื่ออ่านข้อความที่ปรากฏตามโพสต์และคอมเมนต์แล้วจะต้องมีการโกรธเคืองหรือก่อความไม่สงบในประเทศไทยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่เรื่องความไม่สงบหรือความวุ่นวาย แต่เป็นเรื่องที่แสดงถึงความไม่เคารพต่อสถาบันและไม่สมควรที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ส่วนประชาชนที่เข้าดูโพสต์และคอมเมนต์ที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะจะมีความโกรธแค้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งนอกจากทรงชัยก็ไม่ปรากฏว่ามีประชาชนคนอื่นที่นำโพสต์ในเรื่องนี้ไปดำเนินคดีอีก

    พยานทั้งสองเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ถึงแม้ได้อ่านคอมเมนต์ก็ยังมีความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดิม

    แต่เมื่อพนักงานอัยการถามติง พยานทั้งสองเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ถึงจะเคารพศรัทธาเหมือนเดิม แต่ความคิดเห็นดังกล่าวทำให้พยานรู้สึกว่าเป็นการด้อยค่าพระมหากษัตริย์และพระราชินี

    วนิดาเบิกความตอบว่า เหตุที่โพสต์และคอมเมนต์ไม่ต่อเนื่องกันตามพยานเอกสารโจทก์นั้น เนื่องจากมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถทำให้อยู่ในเอกสารเดียวกันได้

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ อ.345/2567 ลงวันที่ 23 ก.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/70755)
  • ++พนักงานสอบสวนระบุ พนักงานสอบสวนคนอื่นเปิดเฟซบุ๊กให้ดูว่ามีคอมเมนต์ตามฟ้องจริง แต่รับว่า ปอท. ตรวจสอบไม่พบคอมเมนต์ตามฟ้อง

    ร.ต.อ.อาคม ปานจันทร์ พนักงานสอบสวน สภ.ตะโหมด เบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 เวลา 16.30 น. ทรงชัยได้เดินทางมาพบพยานเพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับสินธุ ผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งเข้าไปคอมเมนต์ในโพสต์ของเพจแมลงตาดีว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยนำพยานเอกสารซึ่งเป็นภาพแคปหน้าจอโพสต์ของเพจแมลงตาดีมาประกอบการแจ้งความ

    ทรงชัยได้ค้นหาข้อมูลบุคคลที่ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่ามีการโพสต์ภาพใบสำคัญการสมรส นอกจากนี้ยังมีการโพสต์ภาพรถยนต์กระบะ พยานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ทรงชัยได้ให้การถึง โดยให้พนักงานสอบสวนอีกคนซึ่งใช้เฟซบุ๊กเปิดให้ดู ส่วนพยานไม่ได้ใช้เฟซบุ๊ก พบข้อมูลตรงตามเอกสารที่ทรงชัยนำมาอ้างจึงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงได้สอบปากคำทรงชัยในฐานะผู้กล่าวหา

    หลังจากนั้นพยานได้ส่งพยานเอกสารที่ทรงชัยมอบไว้ให้ต่อไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทราบว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ มีการตัดต่อหรือไม่ และบุคคลที่โพสต์ข้อความคือใคร ต่อมาวันที่ 19 ก.ค. 2565 พยานได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย พ.ต.ท.กมล ทวีศรี เป็นผู้ทำรายงานตรวจสอบ แต่พยานไม่ได้สอบปากคำไว้ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่และมีการลงลายมือชื่อรับรองเอกสารทุกแผ่น

    ตามรายงานการตรวจสอบเชื่อว่า สินธุน่าจะเกี่ยวข้องกับบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว โดยได้ตรวจสอบภาพโปรไฟล์และภาพจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์เชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง คือ คู่สมรสของสินธุกับผู้ถือกรรมสิทธิ์และครอบครองรถยนต์กระบะที่มีการโพสต์ โดยบุคคลทั้งสองอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี พยานจึงได้ส่งประเด็นการสอบสวนไปยังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี

    ภายหลังพยานได้รับประเด็นการสอบสวน โดยเจ้าของรถยนต์ได้ให้การว่ารู้จักกับสินธุเนื่องจากเป็นญาติ ก่อนเกิดเหตุได้ยืมรถไปใช้อยู่บ่อยครั้ง ส่วนสินธุจะมีการนำไปโพสต์หรือไม่นั้น ไม่ได้ให้การถึง ส่วนคู่สมรสของสินธุยืนยันว่าจดทะเบียนสมรสกับสินธุจริงและใบสำคัญการสมรสที่โพสต์ในเฟซบุ๊กเป็นของจริงและยอมรับว่าสินธุเป็นบุคคลที่ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจริง แต่ภายหลังไม่ได้ใช้แล้ว

    พยานยังได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมเป็นบุคคลที่นับถือศาสนาต่างกัน ทนายความ และครูภาษาไทย เพื่อดูว่าบุคคลดังกล่าวนั้นมีความรู้สึกหรือมีความเห็นไปในทางใดเมื่อเห็นการโพสต์พร้อมคอมเมนต์ดังกล่าว

    จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเชื่อว่าสินธุเป็นเจ้าของผู้ใช้เฟซบุ๊กจริงจึงออกหมายเรียกให้มาให้การในฐานะผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ซึ่งต่อมาสินธุได้มาพบพยานพร้อมทนายความ และต่อมาพยานก็ได้หมายเรียกให้จำเลยมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยสินธุให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน และพยานมีความเห็นควรสั่งฟ้อง

    ต่อมา ทนายจำเลยได้ถามค้านโดยเข้าเฟซบุ๊กแล้วค้นหาชื่อบุคคลว่า อาคม ปานจันทร์ แล้วนำมาให้พยานดูสอบถามถึงความเกี่ยวข้อง พยานตอบว่า บัญชีเฟซบุ๊กชื่อดังกล่าวที่ไม่ปรากฏภาพโปรไฟล์นั้น พยานไม่ได้ทำขึ้น ส่วนอีกบัญชีหนึ่งที่ปรากฏภาพโปรไฟล์เป็นรูปตำรวจ คือ พยาน โดยพยานเปิดใช้เพียงครั้งเดียวเมื่อ 10 ปีที่แล้วเพื่ออบรมเกี่ยวกับงานสอบสวน ซึ่งต้องเข้าอบรมผ่านระบบเฟซบุ๊ก แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว ทนายความจึงถามต่อว่า แสดงว่าในการสมัครใช้เฟซบุ๊กสามารถที่จะตั้งชื่อตรงกันและเปิดใช้ได้มากกว่าหนึ่งบัญชีใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ

    พนักงานสอบสวนที่เปิดเฟซบุ๊กในวันสอบคำให้การทรงชัย คือ พ.ต.ต.ปิยะพงศ์ เต็มนิล แต่พยานเบิกความใหม่ว่าจำไม่ได้ว่าคือพนักงานสอบสวนคนใด แต่พยานไม่ได้สอบคำให้การพนักงานสอบสวนคนดังกล่าวไว้

    นอกจากทรงชัยจะนำพยานเอกสารที่เป็นกระดาษมาให้ ยังมีแฟลชไดรฟ์มาให้ด้วย โดยมีภาพข้อความโพสต์รวมทั้งคอมเมนต์

    การส่งเรื่องไปที่ บก.ปอท. เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่พยานไม่ได้ส่งแฟลชไดรฟ์เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าภาพหรือข้อความเกิดจากการตัดต่อหรือไม่ไปด้วย โดยพยานส่งข้อมูลไปให้ บก.ปอท. ตรวจสอบ 3 วันหลังทรงชัยมาแจ้งความและเป็นเวลาก่อนที่จะมีการส่งประเด็นไปสอบคำให้การของภรรยาจำเลย ซึ่งตามรายงานการตรวจสอบต้นโพสต์จากเพจ The MalaengtaD ของ บก.ปอท. ไม่ปรากฏคอมเมนต์ตามฟ้อง

    พยานรับว่า ตามพยานเอกสารโจทก์แผ่นหนึ่งปรากฏเพียงภาพในหลวงและพระราชินีและข้อความต้นโพสต์ ส่วนอีกแผ่นหนึ่งปรากฏเฉพาะความคิดเห็นแต่ไม่ปรากฏภาพในหลวงและพระราชินีและข้อความต้นโพสต์

    พยานไม่เคยเข้าไปดูในเฟซบุ๊กของสินธุว่ามีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเมืองหรือสถาบันกษัตริย์หรือไม่

    พยานไม่ได้ควบคุมตัวจำเลยในชั้นสอบสวน เนื่องจากจำเลยให้ความร่วมมือมาตามนัดทุกครั้ง

    ร.ต.อ.อาคม ตอบพนักงานอัยการถามติงว่า จำไม่ได้ว่า พ.ต.ต.ปิยะพงศ์ เต็มนิล หรือ ร.ต.อ.กฤษณะ เพียสุระ ที่เปิดเฟซบุ๊กในวันที่ธงชัยมาให้การ เนื่องจากพยานกำลังสอบปากคำทรงชัยอยู่

    สาเหตุที่พยานไม่ได้เก็บแฟลชไดรฟ์ไว้ เนื่องจากเมื่อเข้าดูข้อมูลแล้วปรากฏว่ามีข้อมูลตรงกันกับเอกสารที่ทรงชัยนำมาให้

    เหตุที่ต้นโพสต์และคอมเมนต์ ไม่ได้อยู่ในเอกสารเดียวกันเนื่องจากมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก หากให้มาอยู่ในเอกสารเดียวกันจะต้องใช้กระดาษที่มีความยาวอย่างมาก แต่หากดูผ่านทางคอมพิวเตอร์สามารถเข้าดูแล้วจะเห็นว่าคอมเมนต์ดังกล่าวมาจากการแสดงความคิดเห็นของต้นโพสต์ ซึ่งพยานได้ตรวจสอบดูแล้วด้วย

    ตามรายงานของ บก.ปอท. ที่ระบุว่าไม่ปรากฏข้อความเห็นนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากที่ทรงชัยแจ้งความแล้ว

    พยานได้เข้าไปดูข้อความซึ่งมีผู้มาแสดงความเห็นต่อจากคอมเมนต์ตามฟ้องด้วย

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ อ.345/2567 ลงวันที่ 24 ก.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/70755)
  • ++จำเลยระบุบัญชีไม่สามารถเข้าใช้ได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ – ไม่ได้เป็นผู้คอมเมนต์ตามฟ้อง – ในการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนไม่ได้นำภาพคอมเมนต์มาให้ดู

    สินธุ จำเลยอ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ปัจจุบันพยานประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายของ เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีรายได้ประมาณเดือนละ 15,000 บาท

    พยานมีภรรยา 1 คน มีบุตรด้วยกัน 1 คน ปัจจุบันอายุ 2 ขวบ 3 เดือน บิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันบิดาอายุ 53 ปี มีโรคประจำตัวเป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่ม ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ส่วนมารดาอายุ 56 ปี ไม่ได้ประกอบอาชีพ มีโรคประจำตัวคือโรคไทรอยด์ โดยบิดามารดาเป็นคนเลี้ยงดูบุตรสาวของพยาน และพยานจะเป็นคนส่งเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 5,000 บาท

    นับตั้งแต่ถูกดำเนินคดีนี้ พยานไม่สามารถส่งเงินให้แก่บิดามารดาได้เป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว เนื่องจากต้องเก็บเงินไว้เป็นค่าเดินทางมาจังหวัดพัทลุง พยานยังประสบปัญหาถูกต่อต้านจากสังคมโดยบุคคลอื่นไม่อยากคุยกับพยานเนื่องจากถูกดำเนินคดีนี้

    เกี่ยวกับคดีนี้ พยานยืนยันให้การปฏิเสธ โดยพยานไม่ได้คอมเมนต์ข้อความตามฟ้องแต่อย่างใด เดิมพยานมีเฟซบุ๊กที่เริ่มเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2565 ประมาณเดือนมกราคม พยานได้กดเข้าไปในเฟซบุ๊กแต่ไม่สามารถเข้าได้เนื่องจากมีข้อความว่า คุณไม่สามารถเข้าระบบได้ ขณะนั้นพยานไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด อีกทั้งในเวลาทำงานพยานมักจะใช้ไลน์ จึงไม่ค่อยสนใจว่าเกิดเพราะเหตุใด แต่พยานคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการกดไปดูหนังออนไลน์ในเฟซบุ๊กแบบฟรี โดยเวลาที่พยานเข้าไปในเฟซบุ๊กแล้วกดรหัสจะขึ้นเป็นแถบแดงว่าไม่สามารถเข้าระบบได้

    ปกติพยานโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปในชีวิต ไม่ได้เจาะจงไปในทางใด และไม่ค่อยได้ใช้เฟซบุ๊กนัก พยานไม่เคยเข้าไปกดถูกใจเพจที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทางการเมือง รวมถึงเพจ The MalaengtaD และไม่เคยแชร์โพสต์ในเรื่องดังกล่าว

    นอกจากพยาน ภรรยาของพยานยังสามารถเข้าใช้เฟซบุ๊กของพยานได้ด้วย โดยทราบรหัสผ่าน เมื่อพยานไม่สามารถเข้าใช้เฟซบุ๊กได้ จึงติดต่อผ่านไลน์ไปหาภรรยาว่า ไม่สามารถเข้าเฟซบุ๊กได้ ให้ภรรยาลองเข้าเฟซบุ๊กดู ซึ่งปรากฏว่าไม่สามารถเข้าระบบได้เช่นเดียวกัน

    ในช่วงที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานจะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือชาวบ้านด้านอุปกรณ์การเกษตรหรือซ่อมรถจักรยานยนต์ ในช่วงวันเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพฯ ก่อนเบิกความในคดีนี้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2567 พยานก็ได้ทำกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 โดยทำความสะอาดเกาะกลางถนน ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

    สำหรับบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง เพื่อนสมัยเรียนของพยานเป็นผู้สมัครใช้งานให้ และนับตั้งแต่เข้าเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ได้ พยานก็ไม่ได้สมัครบัญชีเฟซบุ๊กใหม่แต่อย่างใด

    ข้อความคอมเมนต์ตามฟ้อง พยานไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้ให้พยานดูข้อความดังกล่าว แต่อธิบายข้อเท็จจริงและอ่านให้ฟัง

    สินธุเบิกความตอบอัยการถามค้านว่า ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาเป็นชื่อเล่นของพยาน ตามด้วยชื่อจริง บุคคลที่อยู่ในภาพโปรไฟล์คือพยาน ส่วนภาพใบสำคัญการสมรสและรูปรถยนต์กระบะเป็นภาพที่พยานโพสต์ลงเฟซบุ๊กเอง

    พยานทราบว่า มีบุคคลแจ้งความดำเนินคดีเป็นคดีนี้เมื่อได้รับหมายเรียก ซึ่งห่างจากวันที่มีการแจ้งความประมาณ 6 – 7 เดือน พยานมาพบพนักงานสอบสวนพร้อมกับทนายความ โดยพยานไปเจอทนายความที่โรงพัก ในการพูดคุยกับพนักงานสอบสวนทั้งการรับทราบข้อกล่าวหาครั้งแรกและครั้งที่ สองมีทนายความอยู่ด้วยตลอด พนักงานสอบสวนไม่ได้ขู่เข็ญหรือทำร้ายร่างกายพยานแต่อย่างใด พูดคุยกันโดยดี

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่ามีบุคคลที่ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ข้อความตามฟ้องให้พยานทราบแล้ว พยานให้การปฏิเสธ

    พยานไม่เคยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าเฟซบุ๊กของพยานไม่สามารถเข้าใช้งานได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 และไม่เคยให้การในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากพยานไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญ และพยานประสงค์ที่จะให้การในชั้นศาลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เฟซบุ๊กของพยานไม่สามารถเข้าใช้ได้

    จากนั้นสินธุตอบทนายจำเลยถามติงว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนไม่ได้นำภาพคอมเมนต์มาให้พยานดูแต่อย่างใด ใช้วิธีการพูดกับพยานเท่านั้น เมื่อพยานได้รับคำฟ้องจึงเพิ่งทราบว่ามีข้อความคอมเมนต์ตามฟ้องที่ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของพยาน

    การเข้าพบพนักงานสอบสวนทั้ง 2 ครั้งนั้น พยานไปพบกับทนายความที่สถานีตำรวจ ไม่ได้มีการพูดคุยกันก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด

    ++นักวิเคราะห์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระบุ URL ต้นโพสต์และคอมเมนต์ตามฟ้องไม่ตรงกัน แสดงว่าไม่ได้อยู่ในโพสต์เดียวกัน – การยืนยันตัวบุคคลที่โพสต์ต้องตรวจสอบ IP Address

    พัชรพล สู่สุข พยานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันทำงานตำแหน่งนักวิเคราะห์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับอาวุโส

    พยานเบิกความว่า ในการเปิดสมัครใช้งานเฟซบุ๊กไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเพื่อยืนยันตัวตน ใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล การสมัครอีเมลก็ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อที่แท้จริง การสร้างบัญชีเฟซบุ๊กก็สามารถใช้ชื่อและภาพของบุคคลอื่นได้และสามารถใช้ซ้ำกันได้หลายบัญชี

    URL คือ ที่อยู่ในการเข้าถึงข้อมูลทางเว็บไซต์แบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะเป็นตัวบอกถึงแหล่งข้อมูลนั้น ๆ การนำข้อมูลคอมพิวเตอร์มาเป็นกระดาษนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ปรินท์จาก Browser และแคปหน้าจอแล้วมาวางใน Microsoft Word ก่อนจากนั้นจึงปรินท์ออกมา

    ทนายความให้ดูพยานเอกสารของจำเลย พยานเบิกความว่า เป็นการปรินท์ผ่านทาง Browser โดยจะปรากฏ URL ด้านล่างของกระดาษ ซึ่งหากมีแหล่งที่มาเดียวกัน URL จะตรงกันทุกแผ่น ส่วนการแคปหน้าจอแล้วนำมาปรินท์นั้น URL จะอยู่ด้านบนตรงแถบแอดเดรสบาร์ ซึ่งหากแอดเดรสบาร์มีลักษณะตรงกัน แสดงว่ามาจากโพสต์เดียวกันทุกแผ่น

    ทนายความให้พยานเปรียบเทียบ URL ของคอมเมนต์ตามฟ้องและต้นโพสต์ ปรากฏว่า URL ที่แอดเดรสบาร์ไม่ตรงกัน แสดงว่าเอกสารทั้งสองไม่ได้อยู่ในโพสต์เดียวกัน

    หลังจากที่พยานได้รับการติดต่อให้เป็นพยานในคดีนี้ พยานได้เข้าไปในเพจ The MalaengtaD เพื่อดูโพสต์ พยานได้แคปหน้าจอไว้ ทนายความจึงอ้างส่งพยานเอกสารดังกล่าว ซึ่งสามารถเลื่อนดูคอมเมนต์บางข้อความแล้วบันทึกไว้เฉพาะข้อความที่ต้องการได้ โดยหน้าจอยังปรากฏ URL เดิมของต้นโพสต์บนแอดเดรสบาร์ และหากคลิกภาพในโพสต์ URL จะปรากฏคำว่า photo หากจะแคปความคิดเห็นใดก็สามารถทำได้โดยยังปรากฏรูปภาพและต้นโพสต์อยู่ด้วยและมี URL ตรงกับต้นโพสต์

    พยานเบิกความต่อไปว่า หากแคปหน้าจอมาแล้ว ในทางเทคนิคสามารถทำการตัดต่อได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางคอมพิวเตอร์มาก เช่น ใช้โปรแกรม Photoshop ดังนั้นการตรวจสอบบันทึกการใช้งานของเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กจาก IP Address และโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ จะตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันตัวตนบุคคลได้

    ต่อมา พัชรพลตอบอัยการถามค้านว่า พยานมีหน้าที่ดูแลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทและลูกค้า เช่น การโจมตีทางคอมพิวเตอร์หรือการปลอมแปลงข้อมูลทางโซเชียลมีเดียหรืออีเมล

    พยานไม่ได้เป็นพยานคดีนี้ในชั้นสอบสวน โดยพยานเคยเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีลักษณะนี้มาแล้วประมาณ 10 คดี

    พยานไม่เคยได้ใบรับรองจากประเทศไทยเพื่อยืนยันว่ามีความเชี่ยวชาญตามที่เบิกความมา

    พยานมีบัญชีเฟซบุ๊กเพียงบัญชีเดียว ในกรณีที่เฟซบุ๊กไม่สามารถเข้าใช้งานได้ต้องดูว่าเวลาเข้าระบบขึ้นข้อความอย่างไรจึงไม่สามารถใช้งานได้ ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าเฟซบุ๊กของตัวเองได้ต้องรีบติดต่อเฟซบุ๊กโดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งความต่อพนักงานตำรวจเพื่อให้ประสานต่อไปยังเฟซบุ๊กได้

    ในวันนี้ พยานไม่ได้นำหลักฐานว่าชื่อเฟซบุ๊กซ้ำกันได้มาแสดงต่อศาล

    พยานเข้าดูเพจ The MalaengtaD ประมาณวันที่ 20 ก.ค. 2567 ก่อนมาเบิกความในคดีนี้ ซึ่งในเพจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมบ้านเมือง เกี่ยวกับคดีนี้ในเพจดังกล่าวปรากฏต้นโพสต์เป็นภาพในหลวงและพระราชินี ไม่ปรากฏข้อความใด ๆ แต่มีข้อความแสดงความคิดเห็นอยู่เยอะ พยานไม่เห็นว่ามีข้อความเห็นตามฟ้องปรากฏอยู่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีการลบความคิดเห็นก่อนพยานเปิดเข้าไปดู หรืออาจจะไม่มีข้อความดังกล่าวแต่แรกอยู่แล้ว

    พยานดูพยานเอกสารของโจทก์แล้วตอบว่า พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าภาพในเอกสานเกิดจากการตัดต่อหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถยืนยันได้จากการดูเอกสารแต่ต้องเข้า URL ที่ระบุไว้ประกอบด้วย
    .
    หลังหมดพยานจำเลย ศาลนัดฟังพิพากษาวันที่ 28 ต.ค. 2567 เวลา 10.00 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลย ศาลจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ อ.345/2567 ลงวันที่ 25 ก.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/70755)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 เวลาประมาณ 09.20 น. เจ้าหน้าที่เรียกให้สินธุ พร้อมญาติ และทนายความ ที่รออยู่หน้าห้องพิจารณา เข้าฟังคำพิพากษาเป็นคดีแรกของวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเข้าใส่กุญแจจำเลยเอาไว้ ก่อนศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา

    ศาลได้เริ่มวินิจฉัยในประเด็นที่ฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า ระหว่างสืบพยานปากผู้กล่าวหา พนักงานอัยการได้อ้างส่งเอกสารที่ผู้กล่าวหาได้รวบรวมให้พนักงานสอบสวนหลายฉบับต่อศาล ซึ่งเป็นพยานเอกสารที่ไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและไม่ปรากฏว่าโจทก์นำส่งต่อศาลเพื่อให้ฝ่ายจำเลยตรวจสอบในนัดตรวจพยานหลักฐานมาก่อน โดยศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าว ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี จึงสามารถรับไว้พิจารณาได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย

    จากนั้น ศาลได้วินิจฉัยในส่วนข้อต่อสู้ของคู่ความ โดยสรุปเห็นว่า จากพยานหลักฐานโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กตามฟ้องจริง โดยเห็นว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเคยโพสต์ทะเบียนสมรสและป้ายทะเบียนรถ ที่เป็นข้อมูลส่วนตัวของจำเลย และจำเลยก็รับว่าเคยใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจริง แต่ระบุว่าตนไม่สามารถเข้าใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2565

    ศาลเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงในการพยายามนำบัญชีเฟซบุ๊กคืน ไม่ได้แจ้งกับทางเฟซบุ๊กถึงปัญหาการเข้าถึงดังกล่าว และจำเลยไม่ได้ให้การในประเด็นดังกล่าวไว้ในชั้นสอบสวน เพิ่งยกมาต่อสู้ในชั้นศาล อีกทั้งเห็นว่า พยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงมีน้ำหนักรับฟังได้

    ในส่วนถ้อยคำตามฟ้องที่โพสต์แสดงความคิดเห็นใต้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์นั้น ศาลเห็นว่ามีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์และพระราชินี ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานความคิดเห็นของฝ่ายโจทก์

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี เห็นว่าความผิดเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร จีงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำเลย

    ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ได้แก่ ณปภัช ศรีสุวรรณ

    หลังฟังคำพิพากษา จำเลยได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปยังห้องขังของศาล ขณะที่นายประกันได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์

    จนเวลา 14.10 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ให้วางหลักทรัพย์ประกัน 200,000 บาท (โดยเพิ่มจากเดิมที่วางในชั้นสั่งฟ้อง 50,000 บาท) แต่หากผิดสัญญาประกัน ให้ปรับนายประกัน 300,000 บาท โดยหลักประกันได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    การมาฟังคำพิพากษาครั้งนี้นับเป็นการเดินทางมาพัทลุงครั้งที่ 7 ของสินธุ โดยมีภรรยาเดินทางมาให้กำลังใจด้วย ทั้งคู่ต้องเดินทางออกจากภูมิลำเนามาล่วงหน้า 2 วัน เข้ากรุงเทพฯ และต้องนอนรอการเดินทางที่สนามบินในช่วงคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางมายังจังหวัดตรัง และนั่งรถต่อมายังพัทลุง

    คดีนี้นับเป็นหนึ่งในชุดคดีมาตรา 112 ซึ่งมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันเป็นผู้ไปกล่าวหาไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการไม่น้อยกว่า 12 คดีแล้ว กระจายไปในหลายสถานีตำรวจ

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดพัทลุง คดีหมายเลขดำที่ อ.345/2567 คดีหมายเลขแดงที่ อ./2567ลงวันที่ 28 ต.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/70778)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“สินธุ” (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“สินธุ” (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ณปภัช ศรีสุวรรณ
  2. พรรษมน หอรุ่งเรือง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 28-10-2024

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“สินธุ” (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์