สรุปความสำคัญ

สถาพร (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับศาลอาญาในข้อหาตามมาตรา 112 ที่โรงแรมในตัวเมืองจังหวัดอุดรฯ จากการแสดงออกระหว่างมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา ผ่านบริเวณหน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สถาพร (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

2 เม.ย. 2566เวลาประมาณ 13.30 น. สถาพร (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 13 นาย เข้าจับกุมที่โรงแรมในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี ตามหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 โดยตำรวจประสานกับเจ้าหน้าที่โรงแรมเพื่อขอเข้าตรวจค้นห้องพัก แม้ว่าไม่ได้มีหมายค้นแต่อย่างใด จากนั้นตำรวจชุดจับกุมได้นำตัวสถาพรไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.เมืองอุดรธานี โดยพบว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่ 518/2566 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2566 และเป็นคดีของ สน.ชนะสงคราม

ต่อมา ทราบว่าเหตุในคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 โดยกล่าวหาว่าสถาพรได้เข้าร่วมกิจกรรมที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนในช่วงเวลาประมาณ 19.06 น. ได้ชูมือเป็นสัญลักษณ์ พร้อมตะโกนใส่ขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา

ตำรวจของ สภ.เมืองอุดรธานี ได้แจ้งกับทนายความที่ติดต่อสอบถามไปว่า ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวไว้จนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เจ้าของสำนวนคดีจะเดินทางมารับตัวผู้ต้องหาไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาช่วงกลางดึกถึงจะออกเดินทางได้

3 เม.ย. 2566 เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เดินทางถึง สภ.เมืองอุดรธานี และรับตัวสถาพรเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยแจ้งทนายความว่า จะนำตัวสถาพรไปสอบปากคำที่ สน.ฉลองกรุง เนื่องจาก สน.ชนะสงคราม ไม่มีสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา

สถาพรถูกควบคุมตัวมาถึงกรุงเทพฯ เวลาประมาณ 21.20 น. โดยมีทนายความติดตามไปร่วมในการสอบสวน พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม แจ้งพฤติการณ์คดีว่า วันที่ 2 พ.ค. 2565 เวลา 19.06 น. ผู้ต้องหาซึ่งร่วมกิจกรรม #พับหยุดขัง ของกลุ่มมังกรปฏิวัติ ในร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ยืนหันหน้ามาทางขบวนเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 10 กำลังเสด็จผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และชูมือสองข้างขึ้น มือข้างขวาชูนิ้วกลาง ซึ่งคนทั่วไปมักใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคำด่าที่หยาบคาย มือข้างซ้ายชู 3 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์ที่กลุ่มของผู้ต้องหาแสดงออกในการจัดกิจกรรมต่อต้านสถาบันฯ ในครั้งที่ผ่านๆ มา และผู้ต้องหายังตะโกนคำด่าอีก 4 ครั้ง

พ.ต.ท.ศรายุทธ บุญธรรม กับพวก ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา เห็นว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่มิบังควรอย่างแรง จาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 และกระทบกระเทือนต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างมาก

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งสถาพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ภายหลังการสอบสวนเสร็จสิ้น สถาพรได้ถูกควบคุมตัวที่ สน.ฉลองกรุง ข้ามคืน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น

4 เม.ย. 2566 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา โดยคัดค้านการประกันตัว ระบุว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา อาจมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง และผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีกได้

หลังศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง และทนายความได้ยื่นขอประกันตัว ต่อมา เวลา 16.00 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสถาพรในชั้นสอบสวน ระบุคำสั่งว่า “อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดี เว้นแต่ว่าโจทก์จะฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า ให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท” โดยได้รับความช่วยเหลือหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 4 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55055)

ภูมิหลัง

  • สถาพร (สงวนนามสกุล)
    เดิมทีสถาพรเป็นคนที่ชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และเริ่มสนใจการเมืองในยุครัฐบาล คสช. เพราะเขาเห็นว่าการเข้ามาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการปล้นอำนาจไปจากรัฐบาลพลเรือนของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

    เส้นทางการลงสนามติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิดของสถาพรเริ่มต้นตั้งแต่ขบวนเดินทะลุฟ้า นำโดย “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากจังหวัดนครราชสีมาเข้ามายังกรุงเทพฯ ท่ามกลางสถานการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยตลอดช่วงระยะเวลาปี 2563 – 2565 นอกจากสถาพรจะมีบทบาทเป็นผู้ร่วมการชุมนุมในหลาย ๆ ม็อบไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แล้ว เขายังทำหน้าที่ไลฟ์สดการชุมนุมให้กับเพจ “กระเทยแม่ลูกอ่อน” ซึ่งเป็นสื่อพลเมืองอิสระในขณะนั้น เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุมให้สาธารณะได้รับรู้

    (อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/72284)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์