ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1835/2566
แดง อ.36/2568

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ศรายุทธ บุญธรรม รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1835/2566
แดง อ.36/2568
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.ศรายุทธ บุญธรรม รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม

ความสำคัญของคดี

สถาพร (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับศาลอาญาในข้อหาตามมาตรา 112 ที่โรงแรมในตัวเมืองจังหวัดอุดรฯ จากการแสดงออกระหว่างมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา ผ่านบริเวณหน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

กัมม์ธร ทองทิพย์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ขณะขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 เสด็จผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำเลยซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวและหันหน้าเข้าหาขบวนเสด็จ ได้แสดงออกให้ประชาชนทั่วไปเห็นและได้ยินโดยชัดแจ้ง โดยการชูมือทั้งสองข้างขึ้น มือข้างขวาชูนิ้วกลาง ซึ่งคนทั่วไปมักจะใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคําด่าที่หยาบคาย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น จาบจ้วง ล่วงเกิน และมือข้างซ้ายชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ที่ได้แสดงออกในการจัดกิจกรรมต่อต้านสถาบันกษัตริย์ แล้วตะโกนคําด่า จํานวน 4 ครั้ง ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นหรือได้ยินเข้าใจได้ว่า จำเลยได้แสดงต่อและตะโกนคําด่ารัชกาลที่ 10

การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย ทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1835/2566 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 13.30 น. สถาพร (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 13 นาย เข้าจับกุมที่โรงแรมในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี ตามหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 โดยตำรวจประสานกับเจ้าหน้าที่โรงแรมเพื่อขอเข้าตรวจค้นห้องพัก แม้ว่าไม่ได้มีหมายค้นแต่อย่างใด จากนั้นตำรวจชุดจับกุมได้นำตัวสถาพรไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.เมืองอุดรธานี โดยพบว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่ 518/2566 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2566 และเป็นคดีของ สน.ชนะสงคราม

    ต่อมา ทราบว่าเหตุในคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 โดยกล่าวหาว่าสถาพรได้เข้าร่วมกิจกรรมที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนในช่วงเวลาประมาณ 19.06 น. ได้ชูมือเป็นสัญลักษณ์ พร้อมตะโกนใส่ขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา

    ตำรวจของ สภ.เมืองอุดรธานี ได้แจ้งกับทนายความที่ติดต่อสอบถามไปว่า ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวไว้จนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เจ้าของสำนวนคดีจะเดินทางมารับตัวผู้ต้องหาไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาช่วงกลางดึกถึงจะออกเดินทางได้

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.เมืองอุดรฯ ลงวันที่ 2 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55055)
  • เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้เดินทางถึง สภ.เมืองอุดรธานี และรับตัวสถาพรเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยแจ้งทนายความว่า จะนำตัวสถาพรไปสอบปากคำที่ สน.ฉลองกรุง เนื่องจาก สน.ชนะสงคราม ไม่มีสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา

    สถาพรถูกควบคุมตัวมาถึงกรุงเทพฯ เวลาประมาณ 21.20 น. โดยมีทนายความติดตามไปร่วมในการสอบสวน พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม แจ้งพฤติการณ์คดีว่า วันที่ 2 พ.ค. 2565 เวลา 19.06 น. ผู้ต้องหาซึ่งร่วมกิจกรรม #พับหยุดขัง ของกลุ่มมังกรปฏิวัติ ในร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ยืนหันหน้ามาทางขบวนเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 10 กำลังเสด็จผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และชูมือสองข้างขึ้น มือข้างขวาชูนิ้วกลาง ซึ่งคนทั่วไปมักใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคำด่าที่หยาบคาย มือข้างซ้ายชู 3 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์ที่กลุ่มของผู้ต้องหาแสดงออกในการจัดกิจกรรมต่อต้านสถาบันฯ ในครั้งที่ผ่านๆ มา และผู้ต้องหายังตะโกนคำด่าอีก 4 ครั้ง

    พ.ต.ท.ศรายุทธ บุญธรรม กับพวก ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา เห็นว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่มิบังควรอย่างแรง จาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 และกระทบกระเทือนต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างมาก

    พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งสถาพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    ภายหลังการสอบสวนเสร็จสิ้น สถาพรได้ถูกควบคุมตัวที่ สน.ฉลองกรุง ข้ามคืน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/55055)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา โดยคัดค้านการประกันตัว ระบุว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา อาจมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง และผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีกได้

    หลังศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง และทนายความได้ยื่นขอประกันตัว ต่อมา เวลา 16.00 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสถาพรในชั้นสอบสวน ระบุคำสั่งว่า “อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดี เว้นแต่ว่าโจทก์จะฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า ให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท” โดยได้รับความช่วยเหลือหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ศาลนัดให้สถาพรมารายงานตัวในวันที่ 22 พ.ค. 2566 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 4 เม.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/55055)
  • หลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 มีความเห็นสั่งฟ้องสถาพรในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันนี้จึงได้ยื่นฟ้องสถาพรต่อศาลอาญา

    พนักงานอัยการบรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 ขณะขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 เสด็จผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถาพรซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวและหันหน้าเข้าหาขบวนเสด็จ ได้แสดงออกให้ประชาชนทั่วไปเห็นและได้ยินโดยชัดแจ้ง โดยการชูมือทั้งสองข้างขึ้น มือข้างขวาชูนิ้วกลาง ซึ่งคนทั่วไปมักจะใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคําด่าที่หยาบคาย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น จาบจ้วง ล่วงเกิน และมือข้างซ้ายชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ที่ได้แสดงออกในการจัดกิจกรรมต่อต้านสถาบันกษัตริย์ แล้วตะโกนคําด่า จํานวน 4 ครั้ง ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นหรือได้ยินเข้าใจได้ว่า สถาพรได้แสดงต่อและตะโกนคําด่ารัชกาลที่ 10

    อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวของสถาพรเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย ทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

    ท้ายคำฟ้องอัยการได้คัดค้านการประกันตัวระหว่างพิจารณา อ้างเหตุว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงจำเลยจะหลบหนี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1835/2566 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56999)
  • สถาพรซึ่งเข้ารายงานตัวตามสัญญาประกันได้รับแจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องแล้ว จากนั้นศาลได้สอบคำให้การเบื้องต้น สถาพรให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 ก.ย. 2566 เวลา 13.30 น. จากนั้นสถาพรเดินทางกลับโดยไม่ต้องยื่นประกันตัวระหว่างพิจารณา เนื่องจากในชั้นฝากขัง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56999)
  • ทนายจําเลยยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากได้รับแจ้งจากจําเลยทางโทรศัพท์ว่า มีอาการป่วยไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ โจทก์แถลงไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 9 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1835/2566 ลงวันที่ 11 ก.ย. 2566)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ติดใจนำพยานบุคคลเข้าสืบ 9 ปาก ใช้เวลา 2 นัด จำเลยและทนายจำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จำเลยได้ชูนิ้วมือแสดงสัญลักษณ์จริง แต่ไม่ได้กล่าวถ้อยคำหยาบคาย หมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นตามที่โจทก์ฟ้อง ประสงค์สืบพยานจำเลย 1 ปาก ศาลนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 26-28 พ.ย. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1835/2566 ลงวันที่ 9 ต.ค. 2566)
  • ก่อนเริ่มสืบพยานในนัดแรก สถาพรแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง ทนายจำเลยขอยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพภายใน 30 วัน ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจความประพฤติจำเลย และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1835/2566 ลงวันที่ 26 พ.ย. 2567)
  • เวลา 09.44 น. สถาพรเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 806 โดยเขาขึ้นรถไฟจากอุดรธานีมาถึงกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อวาน และเข้าพักในโรงแรมใกล้ศาลอาญา ก่อนหอบหิ้วกระเป๋าสะพายและถุงบรรจุสัมภาระหลายใบขึ้นวินมอเตอร์ไซค์มาศาลในตอนเช้า

    ผู้พิพากษาอ่านคำฟ้องและรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยฟังโดยย่อ ก่อนอ่านคำพิพากษา สรุปได้ดังนี้

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยเคยรับโทษจำคุก 2 ปี ในความผิดฐานอื่นมาก่อนตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดอุดรธานี และพ้นโทษจำคุกเมื่อ 8 เม.ย. 2558 ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน และมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ แม้จำเลยพ้นโทษมาแล้วเกินกว่า 5 ปี แต่ความผิดในครั้งหลังมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่จะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้

    ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ ปริญญา ปิ่นเพชร และ เพียงตา บุญไพรัตน์สกุล

    หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น สถาพรได้ฝากสัมภาระที่นำติดตัวมาไว้กับทนายความ ก่อนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะเข้ามาใส่กุญแจมือและควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลระหว่างรอทนายความและนายประกันยื่นประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์

    ต่อมาเวลา 17.15 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทำให้วันนี้สถาพรต้องเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในทันที โดยต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน ศาลอุทธรณ์จึงจะมีคำสั่งตามคำร้องดังกล่าว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/72268)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สถาพร (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สถาพร (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ปริญญา ปิ่นเพชร
  2. เพียงตา บุญไพรัตน์สกุล

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 15-01-2025

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์