สรุปความสำคัญ

“จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง ประชาชนวัยอายุ 55 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าร่วม #ม็อบ25กรกฎา แห่เทียนไล่นายกฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 โดยมีระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวโทษ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นโดยเฉพาะคนที่เห็นต่างทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

12 ก.ค. 2566 เวลาประมาณ 06.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายเข้าจับกุม “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง อายุ 55 ปี ที่บ้านพัก โดยแสดงหมายจับของศาลอาญาที่ 1532/2566 ลงวันที่ 16 พ.ค. 2566ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และแจ้งว่า จะนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

ทั้งนี้ การระดมกำลังตำรวจ ปอท. หลายนายบุกเข้าจับกุมจินนี้ที่บ้านพักในครั้งนี้ ไม่เคยมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อนแต่อย่างใด

เวลา 08.42 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจินนี่ถึง บก.ปอท. โดยทนายความได้ติดตามไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จึงพบว่า คดีนี้มีระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองบังคับการ 3 บก.ปอท. เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 ให้ดำเนินคดีจินนี่ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ25กรกฎาคม แห่เทียนไล่นายกฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565

บันทึกการจับกุมระบุว่า ตำรวจ ปอท.ได้รับแจ้งจากสายลับถึงสถานที่พักของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 16 พ.ค. 2566 จึงได้ดำเนินการขอออกหมายค้นจากศาลอาญาธนบุรี โดยศาลอนุมัติหมายคันลงวันที่ 11 ก.ค. 2566 เจ้าหน้าที่จึงเดินทางไปค้นบ้านพักของผู้ต้องหาในวันถัดมา (12 ก.ค. 2566) เมื่อพบจินนี่อยู่ที่บ้านพักจึงได้แสดงหมายค้น พร้อมทั้งหมายจับ จากนั้นได้เข้าตรวจค้นบ้านพักและตรวจยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ รวม 2 รายการ

ต่อมา พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาจินนี่ โดยบรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ระพีพงษ์พบว่า มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทำการไลฟ์สดพูดจาหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ และคลิปวิดิโอดังกล่าวปรากฏภาพจินนี่ จากการสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของจินนี่ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

จินนี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน โดยไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม

ในช่วงเวลา 13.00 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวจินนี่ไปขอฝากขังที่ศาลอาญา โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อทันที ต่อมาในเวลา 14.53 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจินนี่ในระหว่างสอบสวน ระบุให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางประกัน ทั้งนี้ ศาลไม่ได้ระบุเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวใด ๆ เพิ่มเติม

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.3 บก.ปอท. และคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 12 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57392)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์