ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2951/2566
แดง อ39/2568

ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่ม ศปปส. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2951/2566
แดง อ39/2568
ผู้กล่าวหา
  • ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่ม ศปปส.

ความสำคัญของคดี

“จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง ประชาชนวัยอายุ 55 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าร่วม #ม็อบ25กรกฎา แห่เทียนไล่นายกฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 โดยมีระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวโทษ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นโดยเฉพาะคนที่เห็นต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ศรีวงษ์ หลักคำ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายคำฟ้องมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ว่าจำเลยได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีถ้อยคำกล่าวถึงพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 9 เป็นคนหมกมุ่นเรื่องเพศ เอารัดเอาเปรียบประชาชน ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ทุกข์สุขของประชาชน อันเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่ 3 เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งเป็นการปลุกปั่นทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2951/2566 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 06.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายเข้าจับกุม “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง อายุ 55 ปี ที่บ้านพัก โดยแสดงหมายจับของศาลอาญาที่ 1532/2566 ลงวันที่ 16 พ.ค. 2566ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และแจ้งว่า จะนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

    ทั้งนี้ การระดมกำลังตำรวจ ปอท. หลายนายบุกเข้าจับกุมจินนี้ที่บ้านพักในครั้งนี้ ไม่เคยมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อนแต่อย่างใด

    เวลา 08.42 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจินนี่ถึง บก.ปอท. โดยทนายความได้ติดตามไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จึงพบว่า คดีนี้มีระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองบังคับการ 3 บก.ปอท. เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 ให้ดำเนินคดีจินนี่ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าร่วม #ม็อบ25กรกฎา แห่เทียนไล่นายกฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565

    บันทึกการจับกุมระบุว่า ตำรวจ ปอท.ได้รับแจ้งจากสายลับถึงสถานที่พักของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 16 พ.ค. 2566 จึงได้ดำเนินการขอออกหมายค้นจากศาลอาญาธนบุรี โดยศาลอนุมัติหมายคันลงวันที่ 11 ก.ค. 2566 เจ้าหน้าที่จึงเดินทางไปค้นบ้านพักของผู้ต้องหาในวันถัดมา (12 ก.ค. 2566) เมื่อพบจินนี่อยู่ที่บ้านพักจึงได้แสดงหมายค้น พร้อมทั้งหมายจับ จากนั้นได้เข้าตรวจค้นบ้านพักและตรวจยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ รวม 2 รายการ

    ต่อมา พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาจินนี่ โดยบรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ระพีพงษ์พบว่า มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทำการไลฟ์สดพูดจาหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ และคลิปวิดิโอดังกล่าวปรากฏภาพจินนี่ จากการสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของจินนี่ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    จินนี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน โดยไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม

    ในช่วงเวลา 13.00 น. หลังตำรวจทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้นำตัวจินนี่ไปขอฝากขังที่ศาลอาญา โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อทันที โดยมีใจความสำคัญระบุว่า คดีนี้พนักงานสอบสวน ไม่เคยออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน อีกทั้งในคดีนี้ ผู้ต้องหามีหนทางที่จะต่อสู้คดีได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และผู้ต้องหาประสงค์จะนำพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นหลักฐานนำเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการต่อสู้คดี โดยผู้ต้องหาประสงค์ที่จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

    และในบันทึกการจับกุม เป็นพฤติการณ์แห่งคดีที่เป็นการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังไม่มีการพิสูจน์โดยศาล และเป็นการระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอยเคลือบคลุมเท่านั้น โดยการจะกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญานั้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวหาได้

    นอกจากนี้ ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และเป็นเพียงบุคคลธรรมดาไม่ได้มีอิทธิพลที่จะสามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานทั้งหมดก็ได้อยู่ในการรวบรวมและครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น และขณะจับกุมในคดีนี้ ผู้ต้องหาก็ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีการต่อสู้ขัดขืน จึงย่อมได้รับการสันนิษฐานตามมาตรา 66 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี

    ต่อมาในเวลา 14.53 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจินนี่ในระหว่างสอบสวน ระบุให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางประกัน ทั้งนี้ ศาลไม่ได้ระบุเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวใด ๆ เพิ่มเติม นัดรายงานตัวในวันที่ 29 ส.ค. 2566

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.3 บก.ปอท. และคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 12 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57392)

  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา กล่าวหาว่า จินนี่ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 25 ก.ค. 2565 โดยมีถ้อยคำกล่าวถึงพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 เป็นคนหมกมุ่นเรื่องเพศ เอารัดเอาเปรียบประชาชน ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ทุกข์สุขของประชาชน เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ ทั้งเป็นการปลุกปั่นทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จนอาจนำมาสู่ความเกลียดชัง กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    ท้ายคำฟ้องอัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา อ้างเหตุว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทั้งขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นของศาลอาญากรุงเทพใต้อีก 2 คดี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2951/2566 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/72263)
  • จินนี่เดินทางไปศาลเพื่อรายงานตัวและรับทราบคำฟ้อง โดยนายประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี หลังศาลสอบคำให้การ จินนี่ให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ก่อนให้ประกันระหว่างพิจารณาวางหลักประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
  • จินนี่พร้อมทนายความเดินทางมาศาลตามนัด ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังก่อนถามคำให้การอีกครั้ง จินนี่ให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงมีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 7 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด จำเลยอ้างพยานบุคคลรวมจำเลย 2 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 26-28 พ.ย. 2567
  • ก่อนเริ่มสืบพยานในนัดแรก จินนี่แถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาล ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น.
  • ที่ห้องพิจารณาคดี 908 จินนี่เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมครอบครัว โดยในวันนี้ห้องพิจารณามีการสืบพยานคดีอื่นอยู่ด้วย

    เวลา 10.00 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยเรียกให้จำเลยลุกขึ้นแสดงตัวก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี

    พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ นับว่าเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง แม้จำเลยอ้างว่าสำนึกในความผิดแล้วก็ไม่ควรรอการลงโทษ นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้อีก 2 คดี

    .

    ภายหลังการฟังคำพิพากษา จินนี่ฝากทรัพย์สินส่วนตัวไว้กับลูกสาวกล่าวว่า ตัวเองจะไม่ร้องไห้ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปที่ใต้ถุนศาลเพื่อรอฟังคำสั่งประกันตัว

    ต่อมา 17.15 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยจะต้องติดตามผลคำสั่งต่อไปอีก 2 – 3 วัน ทำให้จินนี่ถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางในเย็นวันนั้นทันที
    .
    สำหรับจินนี่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 7 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 คดีเดียว, คดีดูหมิ่นศาล 2 คดี ที่เหลือเป็นคดีเกี่ยวกับการชุมนุม

    จินนี่เคยถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 2 ครั้ง ในคดีดูหมิ่นศาล โดยครั้งแรก กรณีถูกดำเนินคดีปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 โดยจินนี่ และ “มานี” เงินตา คำแสน ไม่ได้รับการประกันตัว และถูกคุมขังในระหว่างสอบสวน ก่อนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 3 ก.ย. 2565 รวมถูกคุมขัง 9 วัน คดีนี้ต่อมาทั้งคู่ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน แต่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    ครั้งที่ 2 เธอถูกคุมขังจากการไม่ได้ประกันตัวในระหว่างสอบสวน คดีปราศรัยเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัว “ไบรท์” ชินวัตร ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อช่วงปี 2565 รวมระยะการถูกคุมขัง 20 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวในวันที่ 14 ธ.ค. 2565 คดีนี้ต่อมาจินนี่ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 1 ปี และได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    รวมโทษใน 3 คดีของจินนี่ เป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/72263)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 15-01-2025

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์