ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1257/2567
แดง อ.485/2568

ผู้กล่าวหา
  • อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1257/2567
แดง อ.485/2568
ผู้กล่าวหา
  • อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)

ความสำคัญของคดี

“พิมพ์” แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัยเรียกร้องให้ สว. และ สส. เคารพเสียงของประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในการชุมนุม ‘Respect My Vote’ ที่บริเวณหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 โดยมี อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส. เข้าแจ้งความกล่าวหาว่า เนื้อหาคำปราศรัยพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น โดยเฉพาะคนที่เห็นต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สุปราณี จิตรทหาร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 จำเลยได้ขึ้นเวทีเข้าร่วมกล่าวคำปราศรัยในงานชุมนุมสาธารณะ “Respect my vote สว. และ สส. ต้องเคารพเสียงประชาชนและเสียงของตนเอง” ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยได้กล่าวถ้อยคำพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 10) ในทางที่ไม่เหมาะสม และเป็นความผิดต่อกฎหมาย ต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมฟังคำปราศรัยของจำเลยประมาณ 600 คน

คำปราศรัยของจำเลยทำให้ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมฟังคำปราศรัยในบริเวณที่เกิดเหตุ สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 แลtมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่สร้างมลทินมัวหมอง เซาะกร่อนบ่อนทำลายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง อันเป็นการเสื่อมเสียต่อพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1257/2567 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2567)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สน.ปทุมวัน "พิมพ์" แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เดินทางไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัยในเวทีเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคารพเสียงของประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในการชุมนุม ‘Respect My Vote’ ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566

    คดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2566 อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ สน.ปทุมวัน โดยอ้างว่าได้พบคลิปวีดิโอที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีแทนฤทัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมปราศรัยที่มีเนื้อหากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทางที่เสื่อมเสียพระเกียรติ

    ต่อมา แทนฤทัยได้รับการติดต่อจากตำรวจ สน.ปทุมวัน ว่าได้ออกหมายเรียกให้เธอมาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แม้เธอยังไม่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว แต่ก็นัดหมายเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน

    บริเวณหน้า สน.ปทุมวัน พบการตั้งจุดตรวจคนเข้าสถานีอย่างเข้มงวด โดยประชาชนผู้เข้าใช้บริการจะต้องลงชื่อก่อนเข้าไปในตัวอาคาร นอกจากนี้ยังมีการตั้งรั้วกั้นในบริเวณโดยรอบของสถานีตำรวจ และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินตรวจตรา และถ่ายภาพตลอดบริเวณสถานีตำรวจ

    ต่อมา เวลา 10.15 น. แทนฤทัยได้เดินทางมาพร้อมกับทนายความเพื่อเข้าพบ พ.ต.ท.แดนชัย ทูลอ่อง รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน

    บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า ในวันที่ 14 ก.ค. 2566 ผู้ต้องหาได้ขึ้นปราศรัยโดยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทำนองว่าไม่มีสถาบันใดอยู่เหนือสถาบันประชาชน และกล่าวเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคารพเสียงของประชาชนและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

    ก่อนที่จะเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา แทนฤทัยได้ขอให้พนักงานสอบสวนแก้ไขบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาในส่วนของอานนท์ที่เข้ามากล่าวโทษเธอในคดีนี้ โดยเปลี่ยนจากข้อความว่าผู้กล่าวหาไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ต้องหาในคดีนี้มาก่อน เป็นผู้กล่าวหาเป็นกลุ่มคนที่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ต้องหาและเพื่อน ๆ โดยมีการพยายามหาเรื่อง และข่มขู่เธอบนโซเชียลมีเดียมาก่อน ตลอดจนการแจ้งความในคดีนี้ก็สืบเนื่องมาจากผู้กล่าวหาเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง

    นอกจากนั้น พบว่าในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนระบุว่าอานนท์ กลิ่นแก้ว เป็น “ผู้เสียหาย” ในคดีนี้อีกด้วย

    แทนฤทัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนเปิดเผยความรู้สึกว่า “คดีนี้เป็น 112 คดีแรกของเรา จริง ๆ คิดว่าคดีน่าจะมาไวกว่านี้นานแล้ว แต่ก็เตรียมใจไว้แล้วค่ะ”

    นอกจากนี้เธอยังได้กล่าวถึงกิจกรรมชุมนุมในวันที่ 14 ก.ค. ว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามข้อกล่าวหา ในการปราศรัยครั้งนั้น เป็นเพียงการเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจให้ฟังเสียงของประชาชนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ เธอเคยถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว 4 คดี แต่ไม่เคยถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 มาก่อน

    การชุมนุมซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในวันที่ 14 ก.ค. 2566 หรือม็อบ ‘Respect My Vote’ ซึ่งเป็นการนัดหมายของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชน ภายหลังวันที่ 13 ก.ค. 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันในรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากการประชุมในวันดังกล่าว

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 7 ส.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58117)

  • แทนฤทัยเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนในนัดส่งตัวให้อัยการ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 นัดฟังคำสั่งในวันที่ 23 เม.ย. 2567
  • ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นฟ้องแทนฤทัย ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    สุปราณี จิตรทหาร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 จำเลยได้ขึ้นเวทีเข้าร่วมกล่าวคำปราศรัยที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยได้กล่าวถ้อยคำพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 10) ในทางที่ไม่เหมาะสม และเป็นความผิดต่อกฎหมาย ต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมฟังคำปราศรัยของจำเลยประมาณ 600 คน

    โจทก์กล่าวหาว่า คำปราศรัยของจำเลยทำให้ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมฟังคำปราศรัยในบริเวณที่เกิดเหตุ สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 แลtมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่สร้างมลทินมัวหมอง เซาะกร่อนบ่อนทำลายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง อันเป็นการเสื่อมเสียต่อพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

    ในท้ายคำฟ้อง โจทก์ยังระบุขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี

    ภายหลังศาลรับฟ้อง นายประกันได้ยื่นขอประกันตัวแทนฤทัย โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    ต่อมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ส.ค. 2567

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.1257/2567 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/68257)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงประสงค์สืบพยานบุคคล 8 ปาก จำเลยแถลงประสงค์สืบพยานบุคคล 4 ปาก นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 4,5 มี.ค. 2568 สืบพยานจำเลยวันที่ 6 มี.ค. 2568
  • เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณาที่ 604 แทนฤทัยพร้อมกับเพื่อนและทนายความเดินทางมาถึงศาล ทางด้านอัยการก็ได้นำพยานสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) มาปรากฏตัวต่อศาลแล้วด้วยเช่นกัน

    เวลา 09.38 น. ศาลออกนั่งพิจารณา โดยเริ่มดำเนินอ่านคำพิพากษาคดีก่อนหน้า จากนั้นจึงเรียกแทนฤทัยและทนายความไปพูดคุยบริเวณหน้าบัลลังก์ถึงแนวทางคำให้การ ก่อนให้ตัดสินใจอีกครั้ง

    แทนฤทัย ทนายความ และเพื่อนจำเลย ได้ออกมาปรึกษากันถึงแนวทางคดีกันอีกครั้งที่หน้าห้องพิจารณา จนเวลาประมาณ 10.00 น. อานนท์ กลิ่นแก้ว ผู้กล่าวหา ได้เดินทางมายังห้องพิจารณา

    ต่อมาเวลา 10.09 น. ศาลได้ออกนั่งพิจารณาอีกครั้ง และแทนฤทัยแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพ จากนั้นศาลจึงแจ้งว่าจะพิพากษาเลยในวันนี้ ขอให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ และได้ออกจากห้องพิจารณาเพื่อทำคำพิพากษา ในระหว่างที่ศาลจัดทำคำพิพากษา อัยการโจทก์และพยานทั้งสองก็ได้ออกจากห้องพิจารณาไป

    ต่อมาเวลา 10.51 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาอีกครั้ง และอ่านคำพิพากษาโดยสรุปใจความได้ว่า

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจําคุก 1 ปี 6 เดือน

    พิเคราะห์คำร้องประกอบคำรับสารภาพ เห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน อยู่ในวัยกำลังศึกษา อายุยังน้อยและกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การจำคุกจึงไม่เป็นผลดีกับจำเลยและสังคม โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้ทำกิจกรรมบริการสาธารณะเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

    ส่วนคำขอของอัยการโจทก์ที่ให้นับโทษต่อในคดีของศาลแขวงปทุมวัน (คดีชุมนุม “ราษฎรหยุดAPEC2022”) ไม่สามารถนับโทษต่อได้ เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลลงโทษปรับ และคดีนี้พิพากษารอการลงโทษ

    สำหรับ พิมพ์ แทนฤทัย เป็นนักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ก่อนหน้านี้เธอเคยถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองมาแล้วทั้งหมด 5 คดี โดยมีคดีนี้เป็นคดีเดียวที่มีข้อหาตามมาตรา 112

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/73521)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“พิมพ์” แทนฤทัย แท่นรัตน์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“พิมพ์” แทนฤทัย แท่นรัตน์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 04-03-2025

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์