สรุปความสำคัญ

"บิ๊ก" เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และเบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม “ราษฎรไม่ไว้วางใจมึง” ที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 โดยมี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิก ศปปส. เป็นผู้กล่าวหาให้ดำเนินคดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • เบนจา อะปัญ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

24 ก.ค. 2566 ที่ สน.ลุมพินี เกียรติชัยพร้อมด้วยทนายความเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังได้รับหมายเรียกลงวันที่ 11 ก.ค. 2566 โดยมี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มสมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา

พ.ต.ต.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ พนักงานสอบสวน ระบุว่า หลังเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 เกียรติชัยได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกีดขวางทางสาธารณะ ร่วมกับผู้ชุมนุมรวม 16 คน จากการเข้าร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 คณะพนักงานสอบสวนคดีเกี่ยวกับความมั่นคง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้พิจารณาข้อความที่ได้จากการถอดเทปปราศรัยของเกียรติชัย แล้วเห็นว่ามีข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติม

พนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์โดยระบุคำปราศรัยจากการถอดเทปของเกียรติชัยโดยละเอียด รวม 3 หน้าครึ่งของกระดาษเอสี่ มีใจความสรุปกล่าวถึง การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย อย่างเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดกษัตริย์ มาตรา 16 รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้กฎหมายมาตรา 112 จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน และประเด็นเรื่องปัญหาของวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์

เกียรติชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า “ค.” และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 21 ส.ค. 2566 หลังใช้เวลาสอบปากคำราว 1 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนให้เดินทางกลับ

ต่อมา วันที่ 18 ส.ค. 2564 เบนจาพร้อมด้วยทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” เช่นเดียวกับเกียรติชัย

พ.ต.ต.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ สว.(สอบสวน) สน.ลุมพินี ระบุว่า ภายหลังการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 ที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีเกี่ยวกับความมั่นคง บช.น. ได้พิจารณาข้อความที่ได้จากการถอดเทปปราศรัยของเบนจาที่ปราศรัยเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 แล้วมีมติว่า การที่เบนจาขึ้นปราศรัยด้วยข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้บรรยายพฤติการณ์โดยระบุข้อความจากการถอดเทปคำปราศรัยของเบนจาโดยละเอียด รวม 2 หน้าครึ่งของกระดาษเอสี่ มีใจความสรุปกล่าวถึง ความหวังและความฝันของตนที่จะเห็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากการเป็นนายกฯ จากการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอยากเห็นประชาธิปไตยเบ่งบาน คนทุกคนเท่าเทียมกันและไม่มีใครเหนือกว่าใคร และกล่าวย้ำถึงอำนาจที่แท้จริงว่าเป็นของประชาชนทุกคน มิใช่ สส., สว., นายทุน, ขุนศึก หรือศักดินาแต่อย่างใด และกล่าวถึงความเกี่ยวโยงของ นายทุน ขุนศึก และศักดินา ที่คอยค้ำจุนกันและกัน โดยมีข้อความบางตอนที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เบนจาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.ลุมพินี ลงวันที่ 24 ก.ค. และ 18 ส.ค. 2566, https://tlhr2014.com/archives/57788 และ https://tlhr2014.com/archives/58436)

ภูมิหลัง

  • เบนจา อะปัญ
    สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผันตัวจากเยาวชนที่สนใจในประเด็นเรื่องสิทธิและการเมืองตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สู่การเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวเมื่อเริ่มต้นก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

    (อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/24286)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์