สรุปความสำคัญ

“เซ็นเตอร์” (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโทวัย 29 ปี ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการฉีดน้ำแรงดันสูง ในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เซ็นเตอร์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • เซ็นเตอร์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

6 ธ.ค. 2565 “เซ็นเตอร์” (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโท เดินทางไปยัง สภ.เมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยทนายความ เนื่องจากเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 เขาได้รับหนังสือเชิญให้ไปพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม โดยไม่ใช่เป็นหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด หลังจากเคยเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพียงลำพังมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในช่วงต้นปี 2564 โดยไม่ทราบว่าขั้นตอนทางกฎหมายในตอนนั้นคืออะไร ทราบเพียงสาเหตุจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 2 ข้อความ ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2563

อย่างไรก็ตาม เมื่อเซ็นเตอร์เดินทางไปถึง พ.ต.ท.มนู หรศาสตร์ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองพิษณุโลก ได้แจ้งข้อกล่าวหาเซ็นเตอร์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากพฤติการณ์การโพสต์ข้อความดังกล่าว ซึ่งเซ็นเตอร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม 2564 เซ็นเตอร์ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก ว่าเขาได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 และให้เดินทางไปพบตำรวจเพื่อดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย

เซ็นเตอร์จึงเดินทางไปยัง สภ.เมืองพิษณุโลก โดยไม่ได้มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจไปด้วย ก่อนถูกชุดสืบสวนพาไปยังห้องสืบสวนเพื่อทำการสอบประวัติ และนำเอกสารยินยอมให้รหัสผ่านเข้าเฟซบุ๊กแก่ตำรวจมาให้ลงชื่อ พร้อมระบุว่า ถ้าหากให้ความร่วมมือก็จะทำให้คดีของเขาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เขาจึงยินยอมเซ็นเอกสารและให้ตำรวจตรวจสอบโทรศัพท์ส่วนตัว โดยไม่ได้มีคำสั่งศาลในการเข้าถึงข้อมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อย่างใด

หลังจากนั้นเซ็นเตอร์ถูกส่งตัวให้พนักงานสอบสวน พร้อมกับเอกสารที่ชุดสืบสวนจัดทำก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้พยายามสอบถามความหมายของถ้อยคำที่เขาโพสต์ในเฟซบุ๊กจำนวน 2 ข้อความ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงกระสุนยางและฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563

เขาได้พยายามอธิบายให้พนักงานสอบสวนฟังถึงสาเหตุที่โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่พนักงานสอบสวนพูดในทำนองว่า หากให้การอย่างนี้ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ก่อนจะได้มีการแนะนำเรื่องคำให้การ ทำให้เซ็นเตอร์ให้การไปในทำนองที่ว่าไม่ได้มีเจตนาในการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด และได้สำนึกผิดในการกระทำของตนเองแล้ว

จากนั้นตำรวจบอกให้เซ็นเตอร์ไปกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน โดยมีตำรวจหนึ่งนายเป็นคนพาเขาไปและถ่ายภาพไว้

เซ็นเตอร์ให้ความเห็นว่า ในวันนั้นเขาถูกสอบสวนตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น โดยเขาไม่เคยได้รับแจ้งว่า เขามีสิทธิตามกฎหมายอย่างไรบ้าง และไม่ทราบว่าขั้นตอนทางกฎหมายในวันดังกล่าวคืออะไร จนต่อมาภายหลังจึงได้รู้ว่าน่าจะเป็นการเรียกไปสอบปากคำในฐานะ “พยาน”

หลังจากครั้งนั้น ตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก ยังได้ติดต่อทางโทรศัพท์ให้เซ็นเตอร์ไปให้การเพิ่มเติมอีก และต่อมายังติดต่อให้เขามาพบ ธรณินทร์ รักษ์ธนบดี ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนชั้นประถมและเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งผู้กล่าวหาได้ให้เขาแสดงความสำนึกผิด โดยการโพสต์พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 อย่างละ 7 วัน วันละ 2 โพสต์ พร้อมกับแท็กผู้กล่าวหา และแน่งน้อย อัศวกิตติกร ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ใหญ่ของฝ่ายผู้กล่าวหาด้วย ซึ่งเขาก็ยินยอมทำตาม

แต่สุดท้ายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปแล้วกว่า 1 ปี โดยเซ็นเตอร์คิดว่าเรื่องราวทั้งหมดจะจบลงแล้ว เพราะไม่ได้มีการติดต่อจากทางตำรวจมาอีก เซ็นเตอร์ก็ถูกดำเนินคดีในที่สุด

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองพิษณุโลก ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/54968)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์