ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.308/2566
แดง อ.923/2566

ผู้กล่าวหา
  • ธรณินทร์ รักษ์ธนบดี (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.308/2566
แดง อ.923/2566
ผู้กล่าวหา
  • ธรณินทร์ รักษ์ธนบดี

ความสำคัญของคดี

“เซ็นเตอร์” (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโทวัย 29 ปี ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการฉีดน้ำแรงดันสูง ในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ประจวบ ศรีสวัสดิ์ พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 15 -17 ต.ค. 2563 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาใส่ความพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อบุคคลที่สามและประชาชนทั่วไป ด้วยการประกาศโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพหรือตัวอักษร ที่ทำให้ปรากฏทางเฟซบุ๊ก ที่ประชาชนสามารถเปิดเข้าไปดูอ่านและทราบข้อความดังกล่าวได้

ข้อความดังกล่าวเป็นการโฆษณา ละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากประชาชน และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ อ.308/2566 ลงวันที่ 29 มี.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • “เซ็นเตอร์” (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโท เดินทางไปยัง สภ.เมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยทนายความ เนื่องจากเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 เขาได้รับหนังสือเชิญให้ไปพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม โดยไม่ใช่เป็นหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด หลังจากเคยเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพียงลำพังมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในช่วงต้นปี 2564 โดยไม่ทราบว่าขั้นตอนทางกฎหมายในตอนนั้นคืออะไร ทราบเพียงสาเหตุจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 2 ข้อความ ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2563

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเซ็นเตอร์เดินทางไปถึง พ.ต.ท.มนู หรศาสตร์ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองพิษณุโลก ได้แจ้งข้อกล่าวหาเซ็นเตอร์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากพฤติการณ์การโพสต์ข้อความดังกล่าว ซึ่งเซ็นเตอร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคม 2564 เซ็นเตอร์ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก ว่าเขาได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 และให้เดินทางไปพบตำรวจเพื่อดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย

    เซ็นเตอร์จึงเดินทางไปยัง สภ.เมืองพิษณุโลก โดยไม่ได้มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจไปด้วย ก่อนถูกชุดสืบสวนพาไปยังห้องสืบสวนเพื่อทำการสอบประวัติ และนำเอกสารยินยอมให้รหัสผ่านเข้าเฟซบุ๊กแก่ตำรวจมาให้ลงชื่อ พร้อมระบุว่า ถ้าหากให้ความร่วมมือก็จะทำให้คดีของเขาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เขาจึงยินยอมเซ็นเอกสารและให้ตำรวจตรวจสอบโทรศัพท์ส่วนตัว โดยไม่ได้มีคำสั่งศาลในการเข้าถึงข้อมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อย่างใด

    หลังจากนั้นเซ็นเตอร์ถูกส่งตัวให้พนักงานสอบสวน พร้อมกับเอกสารที่ชุดสืบสวนจัดทำก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้พยายามสอบถามความหมายของถ้อยคำที่เขาโพสต์ในเฟซบุ๊กจำนวน 2 ข้อความ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงกระสุนยางและฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563

    เขาได้พยายามอธิบายให้พนักงานสอบสวนฟังถึงสาเหตุที่โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่พนักงานสอบสวนพูดในทำนองว่า หากให้การอย่างนี้ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ก่อนจะได้มีการแนะนำเรื่องคำให้การ ทำให้เซ็นเตอร์ให้การไปในทำนองที่ว่าไม่ได้มีเจตนาในการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด และได้สำนึกผิดในการกระทำของตนเองแล้ว

    จากนั้นตำรวจบอกให้เซ็นเตอร์ไปกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน โดยมีตำรวจหนึ่งนายเป็นคนพาเขาไปและถ่ายภาพไว้

    เซ็นเตอร์ให้ความเห็นว่า ในวันนั้นเขาถูกสอบสวนตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น โดยเขาไม่เคยได้รับแจ้งว่า เขามีสิทธิตามกฎหมายอย่างไรบ้าง และไม่ทราบว่าขั้นตอนทางกฎหมายในวันดังกล่าวคืออะไร จนต่อมาภายหลังจึงได้รู้ว่าน่าจะเป็นการเรียกไปสอบปากคำในฐานะ “พยาน”

    หลังจากครั้งนั้น ตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก ยังได้ติดต่อทางโทรศัพท์ให้เซ็นเตอร์ไปให้การเพิ่มเติมอีก และต่อมายังติดต่อให้เขามาพบ ธรณินทร์ รักษ์ธนบดี ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนชั้นประถมและเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งผู้กล่าวหาได้ให้เขาแสดงความสำนึกผิด โดยการโพสต์พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 อย่างละ 7 วัน วันละ 2 โพสต์ พร้อมกับแท็กผู้กล่าวหา และแน่งน้อย อัศวกิตติกร ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ใหญ่ของฝ่ายผู้กล่าวหาด้วย ซึ่งเขาก็ยินยอมทำตาม

    แต่สุดท้ายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปแล้วกว่า 1 ปี โดยเซ็นเตอร์คิดว่าเรื่องราวทั้งหมดจะจบลงแล้ว เพราะไม่ได้มีการติดต่อจากทางตำรวจมาอีก เซ็นเตอร์ก็ถูกดำเนินคดีในที่สุด

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองพิษณุโลก ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/54968)
  • เซ็นเตอร์พร้อมทนายความเดินทาง สภ.เมืองพิษณุโลก อีกครั้ง ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมายแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อีก 1 ข้อหา เซ็นเตอร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำสำนวนการสอบสวน พร้อมผู้ต้องหาส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกในวันเดียวกันนั้น โดยอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 29 มี.ค. 2566

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.เมืองพิษณุโลก ลงวันที่ 27 ก.พ. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54968)
  • เซ็นเตอร์เดินทางเข้ารายงานตัวตามนัดของอัยการและรับคำฟ้องที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก หลังพนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก ยื่นฟ้องเซ็นเตอร์ต่อศาล ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    อัยการบรรยายฟ้องกล่าวหาว่า เซ็นเตอร์โพสต์ 2 ข้อความ เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการฉีดน้ำแรงดันสูง อันเป็นการโฆษณา ละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากประชาชน

    ตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์ขอคัดค้านการประกันตัวของจำเลย เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ

    เวลาประมาณ 10.00 น. เซ็นเตอร์ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังของศาล ระหว่างนั้นศาลได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาสอบถามว่า จำเลยมีทนายความหรือไม่ จำเลยระบุว่ามีทนายความแล้ว ศาลจึงได้สอบถามว่าจะให้การอย่างไร จำเลยระบุว่า ขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์

    จากนั้นทนายความได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยด้วยหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาตามคำร้องขอ ในเวลา 11.45 น. โดยไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัวเพียงแต่ให้มาตามนัดหมาย และกำหนดวันนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 มิ.ย. 2566

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ อ.308/2566 ลงวันที่ 29 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54968)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้เซ็นเตอร์ฟัง ก่อนถามคำให้การ ซึ่งเซ็นเตอร์ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามที่โจทก์ฟ้อง และศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและรายงานต่อศาลเพื่อประกอบดุลพินิจในการจัดทำคำพิพากษา ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 ต.ค. 2566 โดยศาลระบุว่า ต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ตรวจด้วย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60303)
  • เซ็นเตอร์ ญาติ และทนายความ เดินทางมาตามนัด โดยศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ก่อน และให้ผู้ที่เดินทางมาในคดีอื่นรอคอยอยู่ภายนอกห้อง

    ศาลอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่เมื่อพิจารณาประวัติการทำงาน การศึกษา พฤติการณ์จากรายงานการสืบเสาะ พบว่า จำเลยทำคุณความดี และคุณประโยชน์ต่อสังคม แต่รับข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นความเท็จเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยได้กระทำการขออภัยโทษต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ประกอบกับไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลย พิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี รายงานตัวต่อนักจิตวิทยาสังคมของศาล 4 ครั้งในระยะเวลา 1 ปี

    คดีนี้ นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 เท่าที่ทราบข้อมูลในช่วงหลังการชุมนุมปี 2563 ซึ่งศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษเอาไว้ โดยก่อนหน้านี้ มีคดีของ “โอม” ชลสิทธิ์ ชาวสวนยาง ผู้ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ภาพวาดล้อเลียนลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ และคดีของ “โจ” ช่างประจำอู่รถ ผู้ถูกกล่าวหาจากกรณีแชร์โพสต์จากเพจเยาวชนปลดแอก ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดลำปาง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60303)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เซ็นเตอร์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เซ็นเตอร์ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 04-10-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์